พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา
พระวงศ์เธอ ชั้น 2
พระองค์เจ้าชั้นตรี
ประสูติพ.ศ. 2391
สิ้นพระชนม์9 กันยายน พ.ศ. 2461 (70 ปี)
หม่อมหม่อมบัว รองทรง ณ อยุธยา
หม่อมจวง รองทรง ณ อยุธยา
พระบุตรหม่อมราชวงศ์วลี ทองใหญ่
หม่อมราชวงศ์อุทัยพันธุ์ รองทรง
ราชสกุลรองทรง
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ

มหาอำมาตย์โท นายพันเอก พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา (พ.ศ. 2391 — 9 กันยายน พ.ศ. 2461) เป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ เดิมมีพระยศเป็นหม่อมเจ้า ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น "พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" เมื่อเสด็จไปเป็นเทศาภิบาล ที่มณฑลอุดร

พระประวัติ[แก้]

ประสูติ[แก้]

พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา (เดิม หม่อมเจ้าวัฒนา) เป็นเจ้านายสายบวรราชสกุล พระโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ ประสูติเมื่อปีวอก พ.ศ. 2391 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อทรงพระเยาว์[แก้]

บรรพชา ตามรอยบาทพระศาสดา[แก้]

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระปิตุลา

เมื่อหม่อมเจ้าวัฒนามีชันษาครบเกศากันต์และผนวชเป็นสามเณร ได้เกศากันต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนกับหม่อมเจ้าทั้งปวง แต่เมื่อผนวชแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นปิตุลา ทรงรับไปประทับที่พระตำหนัก ณ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร แล้วเป็นพระธุระทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยประทานตลอดเวลาที่ผนวชอยู่ 1 พรรษา

ฝึกหัดวิชาสุวรรณกิจ[แก้]

เมื่อหม่อมเจ้าวัฒนาทรงลาผนวชแล้วได้ตามเสด็จพระบิดาเข้ามาที่โรงทองในพระบรมมหาราชวังเป็นเนืองนิตย์ ด้วยพระบิดาทรงกำกับราชการในโรงทองหลวง หม่อมเจ้าวัฒนาจึงทรงหัดวิชาช่างทองในสำนักช่างหลวง จนทรงชำนาญวิชาช่างทอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเมตตา ด้วยเสด็จไปทอดพระเนตรเมื่อหัดเป็นช่างทองอยู่นั้น ได้พระราชทานรางวัลทองทศ ทองพิศ เป็นต้นเนือง ๆ

กตัญญูจิตต่อพระบิดา[แก้]

เมื่อหม่อมเจ้าวัฒนามีชันษาครบอุปสมบทก็ได้ผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และประทับอยู่วัดบวรนิเวศเหมือนครั้งผนวชเป็นสามเณร แต่เวลานี้พระบิดาทรงพระชรา ไม่ได้ว่าการโรงทองหลวงเหมือนแต่ก่อน กระทั่งพระบิดาสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2419 ที่วังปากคลองตลาด

ตามพระเชษฐา เข้ารับราชการ[แก้]

สนองงาน กระทรวงวัง[แก้]

เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว หม่อมเจ้าวัฒนามีปรารภที่จะรับราชการเนื่องด้วยวังพระบิดาอยู่ริมคลองตลาด ใกล้กับวังที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม และพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ ประทับอยู่ในเวลานั้น หม่อมเจ้าวัฒนาจึงทรงคุ้นเคยกับทั้ง 2 พระองค์ ตั้งแต่พระบิดายังทรงพระชนม์อยู่ เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม มีหม่อมเจ้าเม้า(กนิษฐภคินีในหม่อมเจ้าวัฒนา)เป็นพระชายา ก็ได้เกี่ยวดองกันอีกขั้นหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2424 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ทรงจัดการตั้งกรมทหารรักษาพระราชวัง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม จึงทรงชวนหม่อมเจ้าวัฒนาเข้ามารับราชการในกรมทหารนั้น ได้มียศเป็น "นายร้อยเอก" ตำแหน่งผู้ตรวจการ ต่อมาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงวัง หม่อมเจ้าวัฒนาก็ทรงดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการในกระทรวงวังด้วย และเป็นหัวหน้าพนักงานกรมวังสำหรับตามเสด็จประพาสหัวเมือง เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคุ้นเคยจนโปรดพระอัธยาศัยสนิทดังปรากฏอยู่ในกระแสรับสั่งซึ่งประกาศเมื่อทรงตั้งเป็นพระองค์เจ้านั้น

หม่อมเจ้าวัฒนารับราชการอยู่ในกรมวังได้ 9 ปี ในระหว่างนั้นได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเสมอชั้นปลัดทูลฉลอง และมียศเป็นนายพันเอก

ประพาส รั้งราชการ[แก้]

เมืองภูวดลสอาง ในแขวงคำม่วน

เมื่อปี พ.ศ. 2434 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เสด็จไปเป็นข้าหลวงสำเร็จราชการประจำมณฑลอุดร และทรงพระกรุณาโปรดเล้าฯ ให้หม่อมเจ้าวัฒนา เป็นตำแหน่งข้าหลวงที่ 2 เสด็จไปรับราชการในมณฑลอุดรด้วย ได้ไปรับราชการเป็นข้าหลวงที่ 2 อยู่ 9 ปี ในระหว่างนี้ได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบหลายคราว และยังทรงดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองภูวดลสอาง พระราชอาณาเขตรในมณฑลอุดร ปัจจุบันคือเมืองมหาไชย (ลาว) (ลาว: ເມືອງມະຫາໄຊ)แขวงคำม่วน สปป.ลาว

เทศาภิบาล มณฑลอุดร[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2442 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เสด็จกลับมารับราชการในกรุงเทพพระมหานคร จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าวัฒนา ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ 1 ให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอุดร แล้วทรงสถาปนาพระยศเลื่อนขึ้นเป็น พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าในปีนั้น มีประกาศกระแสพระราชดำริซึ่งทรงยกย่องความชอบความดี ดังนี้

ศุภมัศดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๔๓ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม มุสิกสังวัจฉร กติกมาศ กาฬปักษ์ จตุตถีดิถี โสรวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ พฤศจิกายนมาศ ทสมมาสาหคุณพิเศษบริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าหม่อมเจ้าวัฒนา ในพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ ได้เข้ารับราชการในกรมทหารล้อมวัง มีตำแหน่งตั้งแต่ปลัดกองจนถึงนายพันเอกบังคับการกองได้รับราชการในกรมวัง เป็นที่สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัยมาช้านาน ภายหลังได้ขึ้นไปราชการในกองพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงมณฑลฝ่ายเหนือ และได้เป็นแม่กองขึ้นไปรักษาราชการเมืองภูวดลสอาง๑จนเสร็จราชการ แล้วประจำอยู่ในมณฑลนั้นถึง ๙ ปี ครั้นเมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เสด็จลงมารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม จึงได้รับตำแหน่งเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลฝ่ายเหนือมาจนบัดนี้ มีพระอัธยาศัยซื่อตรงจงรักภักดีต่อราชการ อดทนต่อความลำบากมิได้มีความย่อหย่อน สมควรที่จะได้เลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็น พระวงษ์เธอ พระองค์เจ้า พระองค์หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนาหม่อมเจ้าวัฒนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า ให้มีคำนำหน้าพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า พระวงษ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา คชนาม ทรงศักดินา ๒,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฝ่ายพระราชวังบวรฯ จงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุขะ พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพศิริ สวัสดิ์พิพัฒมงคล ทุกประการเทอญ

— ราชกิจจานุเบกษา[1]

เมื่อพระองค์เจ้าวัฒนาทรงรับราชการในตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลได้มีพระอุตสาหะจัดราชการในมณฑลนั้นเรียบร้อย และทรงทำนุบำรุงผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นหลายอย่าง กอปรด้วยพระอัธยาศัยซึ่งทรงเมตตาปราณีแก่คนทั้งหลาย และเป็นที่นิยมนับถือของบรรดาข้าราชการตลอดจนราษฎรทั่วทุกจังหวัดในมณฑล เป็นเหตุให้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 1 เมื่อเป็นตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลอยู่นั้น พระองค์เจ้าวัฒนาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอยู่ 6 ปี รวมเวลาเสด็จไปรับราชการอยู่ในมณฑลอุดร 15 ปี

หม่อม[แก้]

พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา มีหม่อม 2 คน คือ

  • หม่อมบัว รองทรง ณ อยุธยา เป็นหม่อมเอก ชาวนครพนม ซึ่งเป็นหลานสาวพระยาพนมนครานุรักษ์ฯ (กา พิมพานนท์) ผู้ว่าราชการเมืองนครพนม มีพระธิดากับหม่อมบัว 1 คน คือ
    • หม่อมราชวงศ์วลี ทองใหญ่ หม่อมในหม่อมเจ้าทองประทาศรี ทองใหญ่, ต่อมา หม่อมในหม่อมราชวงศ์เพิ่ม รองทรง, มีบุตรธิดา 5 คน
      • หม่อมราชวงศ์ปิ่นทอง ทองใหญ่
      • หม่อมราชวงศ์กรองทอง ทองใหญ่
      • หม่อมราชวงศ์แถบทอง ทองใหญ่
      • พลอากาศเอก หม่อมราชวงศ์ศิริพงษ์ ทองใหญ่
      • หม่อมหลวงสิริณ รองทรง (เดิม หม่อมหลวงนงนุช รองทรง)
  • หม่อมจวง รองทรง ณ อยุธยา มีพระโอรสกับหม่อมจวง 1 คน คือ
    • หม่อมราชวงศ์อุทัยพันธุ์ รองทรง สมรสกับล้วน รองทรง ณ อยุธยา มีบุตรี 2 คน คือ
      • หม่อมหลวงรวิวงศ์ รองทรง
      • หม่อมหลวงฉวีพงศ์ รองทรง

จรจากราชการ[แก้]

เมื่อพระชันษาได้ 59 ปี พระองค์เจ้าทรงรู้สึกพระองค์ว่าทรงทุพพลภาพ ไม่ทรงสามารถจะรับราชการให้สมตำแหน่งได้ดังแต่ก่อน จึงทรงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกจากตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยบำนาญมาจนตลอดพระชนม์ชีพ

สิ้นพระชนม์[แก้]

หลังจากพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา ทรงออกจากตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลแล้ว ทรงสร้างวังตั้งตำหนักอยู่ที่ริมคลองแสนแสบใกล้เชิงสะพานเฉลิมโลกในอำเภอปทุมวัน ประทับอยู่หลายปีจึงประชวรด้วยพระโรคชราและสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2461 สิริพระชันษา 71 ปี[2] พระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส พร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรอีก 5 พระองค์ พร้อมกัน

พระกรณียกิจ[แก้]

งานสุวรรณกิจ[แก้]

  • ทรงช่วยพระบิดาว่าราชการโรงทอง ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

งานปกครอง[แก้]

  • พ.ศ. 2424 ทรงเข้ารับราชการในกรมทหารล้อมวัง
  • พ.ศ. 2433 เข้ารับราชการ รองเทศาภิบาลมณฑลอุดร แม่กองรักษาราชการ เมืองภูวดลสอาง
  • พ.ศ. 2436 กลับเข้าเมืองอุดร ดำรงตำแหน่งรองเทศาภิบาลมณฑลอุดร
  • พ.ศ. 2442 เทศาภิบาลมณฑลอุดร
  • พ.ศ. 2449 เกษียณอายุราชการ ทรงกราบบังคมทูลลาออกจากราชการ

งานการศึกษา[แก้]

อาคารหลังแรกของโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล

ตำแหน่ง[แก้]

  • พ.ศ. 2424 -ร้อยเอก ผู้ตรวจการกรมทหารล้อมวัง
  • พ.ศ. 2425 -ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัง

-หัวหน้าพนักงานกรมวัง

  • พ.ศ. 2433 -นายพันเอกทหารบก

-ปลัดทูลฉลองกระทรวงวัง

  • พ.ศ. 2436 -รองเทศาภิบาลมณฑลอุดร
  • พ.ศ. 2442 -เทศาภิบาลมณฑลอุดร

พระเกียรติยศ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน
การขานรับเกล้ากระหม่อม/เพคะ

พระอิสริยยศ[แก้]

  • พ.ศ. 2391 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 : หม่อมเจ้าวัฒนา
  • พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 — 9 กันยายน พ.ศ. 2461 : พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา[3]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เลื่อนกรมแลตั้งกรมพระองค์เจ้า เจ้าพระยา เก็บถาวร 2016-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 17, ตอน 35, 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443, หน้า 481
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์, เล่ม 35, ตอน ง, 15 กันยายน พ.ศ. 2461, หน้า 1373
  3. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศ เลื่อนกรมแลตั้งกรม พระองค์เจ้า เจ้าพระยา เก็บถาวร 2016-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 17, ตอน 35, 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443, หน้า 486-487
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ , เล่ม 21, ตอน 39, 25 ธันวาคม พ.ศ. 2447, หน้า 700
  5. "พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยยศญี่ปุ่น" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 5 (ตอน 22): หน้า 179. 1 ตุลาคม 2431. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ออสเตรีย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 6 (ตอน 21): หน้า 175. 25 สิงหาคม 2432. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

หนังสือ[แก้]

  • หนังสือ วัฒนานุสรณีย์ โดย ชุณห์ศิริ ไชยเอีย พิมพ์ในงานเปิดพระอนุสาวรีย์ พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา พ.ศ. 2557
  • หนังสือ ราชสกุลวงศ์ โดย กรมศิลปากร พ.ศ. 2554
  • หนังสือ ตำนานวังหน้า โดย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  • หนังสือ ศิลปสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม เล่ม ๒ โดย หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี
  • หนังสือ 111 ปี อุดรพิทยานุกูล โดย โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล โดย ชุณห์ศิริ ไชยเอีย พ.ศ. 2556
  • หนังสือ พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี โดย พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒน์ เกษมศรี และรัชนี ทรัพย์วิจิตร พ.ศ. 2543
  • หนังสือ ราชสกุลจักรีวงศ์และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ของธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ พ.ศ. 2515
  • หนังสือ ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่มที่ 5 ตอนตำนานวังเก่า ของกรมศิลปากร ปี 2542
  • ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศ เลื่อนกรมแลตั้งกรม พระองค์เจ้า เจ้าพระยา เก็บถาวร 2016-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 17, ตอน 35, 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443, หน้า 486-487
  • ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศกระทรวงเกษตราธิการ, เล่ม 21, ตอน 30, 23 ตุลาคม พ.ศ. 2447, หน้า 507
  • หนังสือประวัติบุคคลสำคัญ โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ก่อนหน้า พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา ถัดไป
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้บัญชาการ มณฑลเทศาภิบาล มณฑลอุดร
(พ.ศ. 2442 - พ.ศ. 2449 (6 ปี))
พระยาศรีสุริยาราชวรานุวัตร (โพ เนติโพธิ์)