พระราชอุดมมงคล (เอหม่อง อุตฺตมรมฺโภ)
พระราชอุดมมงคล (เอหม่อง อุตฺตมรมฺโภ) | |
---|---|
ชื่ออื่น | หลวงพ่ออุตตมะ |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | วันอาทิตย์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 ปีจอ จ.ศ. 1272 ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2453 (97 ปี) |
มรณภาพ | 18 ตุลาคม พ.ศ. 2549 |
นิกาย | มหานิกาย (รามัญนิกาย) |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดวังก์วิเวการาม จังหวัดกาญจนบุรี |
อุปสมบท | จ.ศ. 1291 (พ.ศ. 2472) |
พรรษา | 77 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม |
พระราชอุดมมงคล (หลวงพ่ออุตตมะ) (พ.ศ. 2453 - 18 ตุลาคม พ.ศ. 2549) พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพระภิกษุที่ได้ความเคารพเลื่อมใสในหมู่คนไทยเชื้อสายมอญและชาวพุทธทั่วไป เป็นพระนักเดินธุดงคกรรมฐาน ออกเดินธุดงค์ไปบำเพ็ญธรรมอยู่บนเขา หลายครั้งเป็นเวลานาน
ประวัติ
[แก้]หลวงพ่ออุตตมะ เดิมชื่อ เอหม่อง (พม่า: အေမောင်) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2453 ที่หมู่บ้านโมกกะเนียง ตำบลเกลาสะ อำเภอเย่ จังหวัดเมาะลำเลิง ประเทศพม่า เป็นบุตรคนโตในครอบครัวเชื้อสายมอญ จำนวน 12 คน ของนายโง และนางทองสุก หลังเรียนหนังสือจบจากพม่าเมื่ออายุ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเกลาสะ ได้ศึกษาภาษาบาลี และพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นโท อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเกลาสะ ได้รับฉายาว่า อุตตมรัมโภ แปลว่า ผู้มีความพากเพียรอันสูงสุด โดยได้ตั้งเจตจำนงที่จะบวชไม่สึกจนตลอดชีวิต
เมื่อ พ.ศ. 2475 อุตตมรัมโภภิกขุสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนวัดปราสาททอง อำเภอเย่ จังหวัดเมาะลำเลิง ต่อมา พ.ศ. 2484 สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ในประเทศพม่า ที่สำนักเรียนวัดสุขการี อำเภอสะเทิม จังหวัดสะเทิม อุตตมรัมโภภิกขุจึงได้เดินทางไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานที่วัดตองจอย และวัดป่าเลไลยก์ จนมีความรู้ความสามารถในเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนวิชาไสยศาสตร์และพุทธาคมเป็นอย่างดี และชอบออกเดินธุดงค์ไปตามที่ต่าง ๆ ในประเทศพม่า
อุตตมรัมโภภิกขุเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกทางจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2486 โดยเดินธุดงค์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนดอก ก่อนจะออกธุดงค์ไป แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงราย น่าน กาญจนบุรี
เนื่องจากเหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศพม่าขณะนั้น อุตตมรัมโภภิกขุจึงเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยอีกครั้งทางหมู่บ้านอีต่อง ตำบลปิล็อก อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเกาะ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีคนมาแจ้งข่าวว่าที่สังขละบุรีมีชาวมอญจากบ้านเดิมของท่าน อพยพเข้าเมืองไทยและต้องการนิมนต์ท่านไปเยี่ยม ท่านได้พบกับชาวมอญที่อพยพมาจากโมกกะเนียง เจ้าคะเล และมะละแหม่ง และพาชาวมอญเหล่านี้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านวังกะล่าง ถือเป็นจุดกำเนิดของชุมชนชาวมอญในสังขละบุรี
ในปี พ.ศ. 2499 หลวงพ่ออุตตมะร่วมกับชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญ ได้พร้อมใจกันสร้างศาลาวัดขึ้น มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า วัดหลวงพ่ออุตตมะ ตั้งอยู่บนเนินสูงในบริเวณที่เรียกว่าสามประสบ เพราะมีแม่น้ำ 3 สายไหลมาบรรจบกันคือแม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ แม่น้ำรันตี ในปี พ.ศ. 2505 ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาให้ใช้ชื่อว่า "วัดวังก์วิเวการาม" ซึ่งตั้งตามชื่ออำเภอวังกะ ในวัดมีการก่อสร้างเจดีย์จำลองแบบจากมหาโพธิวิหาร เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2518 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2529
ต่อมาทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ก่อสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่งเมื่อกักเก็บน้ำในปี พ.ศ. 2527 น้ำในเขื่อนเขาแหลมจะท่วมตัวอำเภอเก่ารวมทั้งหมู่บ้านชาวมอญ ทางวัดจึงได้ย้ายมาอยู่บนเนินเขาในที่ปัจจุบัน โดยทางราชการได้ช่วยเหลือในการอพยพผู้คนซึ่งมีอยู่ราว 1,000 หลังคาเรือน บนพื้นที่ 1,000 ไร่เศษ ส่วนบริเวณวัดหลวงพ่ออุตตมะเดิม ปัจจุบันจมอยู่ใต้น้ำ และมีชื่อเสียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว Unseen Thailand เป็นที่รู้จักในชื่อว่า วัดใต้น้ำ สังขละบุรี
ลำดับสมณศักดิ์
[แก้]- ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสังฆรักษ์
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2512 พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูอุดมสิทธาจารย์[1]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระอุดมสังวรเถร[2]
- 5 ธันวาคมพ.ศ. 2534 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชอุดมมงคล พหลนราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]
มรณภาพ
[แก้]หลวงพ่ออุตตมะเข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ด้วยโรคไต โรคหัวใจ โรคปอด สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ท่านไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถลืมตาเองได้เป็นเวลากว่า 1 ปี จนกระทั่งเกิดอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง และมรณภาพจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตจากภาวะปอดอักเสบ เมื่อเวลา 7.22 น. ของวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2549 อายุรวม 97 ปี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณสักดิ์, เล่ม 86, ตอนที่ 118 ฉบับพิเศษ, 31 ธันวาคม 2512, หน้า 7
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณสักดิ์, เล่ม 98, ตอนที่ 206 ฉบับพิเศษ, 17 ธันวาคม 2524, หน้า 4
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณสักดิ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 108, ตอนที่ 213 ฉบับพิเศษ, 6 ธันวาคม 2534, หน้า 4
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วัดใต้น้ำ สังขละบุรี เก็บถาวร 2020-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- หลวงพ่ออุตตมะ ประทีปแห่งไทยรามัญ เก็บถาวร 2008-07-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน