พระราชวัชรโพธิคุณ (โพธิ์ จนฺทสโร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชวัชรโพธิคุณ,วิ.

(โพธิ์ จนฺทสโร)
ชื่ออื่นอาจารย์โพธิ์
ส่วนบุคคล
เกิด20 ธันวาคม พ.ศ. 2475 (91 ปี)
นิกายมหานิกาย
การศึกษานักธรรมชั้นตรี
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่ธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) สุราษฎร์ธานี
อุปสมบท11 พฤษภาคม พ.ศ. 2496
พรรษา71
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล

พระราชวัชรโพธิคุณ,วิ.(โพธิ์ จนฺทสโร) เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม​ ตำบลเลม็ด อำเภอไชยาจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ประวัติ[แก้]

พระราชวัชรโพธิคุณ,วิ. มีนามเดิมว่า โพธิ์ ขวัญละไม เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่บ้านละไม ตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง ๙ คน ของ นายสิน ขวัญละไม – นางดำ สมวงศ์ จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดละไม

อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ณ พัทธสีมาวัดละไม โดยมี พระครูทีปาจารคุณารักษ์ (มี อินฺทสุวณฺโณ) เจ้าคณะอำเภอเกาะสมุย เจ้าอาวาสวัดสำเร็จ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูประยุตธรรมโสภิต (ทองไหล สิริวฑฺฒโณ) เจ้าคณะตำบลหน้าเมือง เจ้าอาวาสวัดละไม เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระครูพิทักษ์ทีปาจารย์ (นาค มุนินาโค) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสำเร็จ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่าจนฺทสโร

เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาแรกที่วัดละไม กับ พระครูประยุตธรรมโสภิต ต่อมาได้ไปศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน กับ พระครูสมถกิตติคุณ (แดง ปิยสีโล) วัดบุณฑริการาม ๑ พรรษา และ หลวงพ่อแดง ติสฺโส วัดแหลมสอ อีก ๙ พรรษา และมีโอกาสตามหลวงพ่อแดง วัดแหลมสอ ไปสวนโมกข์ครั้งแรก ปี ๒๔๙๘ แต่ไม่พบท่านอาจารย์พุทธทาส ต่อมาไปอีกหลายครั้ง พักสวนโมกข์ครั้งละเดือน สองเดือนบ้าง มาอยู่ที่สวนโมกข์ แล้วก็เกาะสมุย ท่านอาจารย์พุทธทาสก็มอบหนังสือคราวละเล่ม ทุกคราว

เมื่อท่านอาจารย์พุทธทาสกำลังสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ ปี ๒๕๐๖ ได้มีจดหมายย่อๆ ว่า “คุณโพธิ์...มาช่วยทำงานเสียสละเพื่อส่วนรวมกันบ้าง ที่สวนโมกข์” จึงตัดสินใจไปอยู่ช่วยงานเผยแผ่พุทธศาสนาที่สวนโมกขพลาราม ตั้งแต่บัดนั้นตราบจนปัจจุบัน และได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดูแลวัดธารน้ำไหล เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เมื่อคราวท่านอาจารย์พุทธทาสมีอายุครบ ๘๐ ปี อันเป็นแบบอย่างให้พระภาวนาโพธิคุณ ดำเนินรอยตามด้วยการลาออกจากเจ้าอาวาสเมื่อ ธันวาคม ๒๕๕๕ จนมีเหตุปัจจัยให้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสอีกครั้งในปี ๒๕๖๑

พระราชวัชรโพธิคุณ,วิ. มีความตั้งใจตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเกิด เมื่อเห็นความเจริญจากการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่อาจส่งผลต่อเอกลักษณ์และวัฒนธรรมอันดีงามที่มาแต่เดิม แม้จบการศึกษา ป. ๔ แต่เรียนรู้ฝึกฝนด้วยตนเองจนสามารถบรรยาย/สอนเป็นภาษาอังกฤษได้ จึงหาทางชักชวนชาวต่างชาติให้มาปฏิบัติธรรม มาสนใจพุทธศาสนา ด้วยการจัดอบรมฝรั่งที่วัดแหลมสอ ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากท่านอาจารย์พุทธทาสให้สร้าง “สวนโมกข์นานาชาติ” เมื่อปี ๒๕๓๐ เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมสำหรับชนทุกชาติ และได้กลับมาสานงานต่อที่แผ่นดินเกิด ด้วยการก่อตั้ง “ทีปภาวันธรรมสถาน” เปิดการอบรมครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๘

ปัจจุบัน พระราชวัชรโพธิคุณ,วิ. ยังนำสมาธิภาวนาที่ สวนโมกขพลาราม, ธรรมนาศรมนานาชาติ และ ทีปภาวันธรรมสถาน เกาะสมุย เป็นประจำทุกเดือน

พระสังฆาธิการ[แก้]

รางวัลเกียรติคุณ[แก้]

สมณศักดิ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี. ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓. รายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี. ครั้งที่ ๒/๒๕๕๓. อินเทอร์เน็ต. เข้าถึงเมื่อ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๕.
  2. สำนักกรรมาธิการ ๓ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ๒๕ กันยายน ๒๕๕๓. พิธีมอบรางวัลพุทธคุณูปการ. เข้าถึงได้จาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/574407 อินเทอร์เน็ต. เข้าถึงเมื่อ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๕.
  3. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์". ราชกิจจานุเบกษา. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. p. 12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  4. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์". ราชกิจจานุเบกษา. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. p. 14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-11-20. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  5. "พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์". ราชกิจจานุเบกษา. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. p. 6. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-11-18. สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)