พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม)
พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม) | |
---|---|
คำนำหน้าชื่อ | พระเดชพระคุณ |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 (96 ปี) |
มรณภาพ | 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558 |
นิกาย | มหานิกาย |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดปากน้ำ กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 |
พรรษา | 61 |
ตำแหน่ง | รองเจ้าอาวาส และพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดปากน้ำ |
พระราชพรหมเถร นามเดิม วีระ อุตตรนที ฉายา คณุตฺตโม เป็นรองเจ้าอาวาสและพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดปากน้ำ
ประวัติ
[แก้]ก่อนบวช
[แก้]พระราชพรหมเถร มีนามเดิมว่า วีระ อุตตรนที และในภาษาญี่ปุ่นว่า คูนิโอ คาวาคิตะ (ญี่ปุ่น: 河北国雄; โรมาจิ: Kawakita Kunio) บิดาท่านเป็นชาวญี่ปุ่นนามว่า เอตะ คาวาคิตะ มารดาท่านเป็นชาวไทยนามว่า นางสน อุตตรนที ท่านเกิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 ที่ข้างวัดมอญ ตำบลท่าข้าม อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันล้วนเป็นชาย 5 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 2 พี่น้องร่วมบิดามารดาประกอบด้วยดังนี้
- นายสนิท อุตตรนที (เสียชีวิตแล้ว)
- พระราชพรหมเถร
- นายณรงค์ อุตตรนที (เสียชีวิตแล้ว) มีบุตรธิดา 3 คนคือ
- นส.อภิษฎา อุตตรนที
- นายวรพจน์ อุตตรนที
- ดร.ฑกลชัย อุตตรนที
- นายหาญ อุตตรนที (เสียชีวิตแล้ว) มีบุตรคนเดียวคือนายธีรพจน์ อุตตรนที (เสียชีวิตแล้ว) มีบุตร 2คน บุตรนายธีรพจน์ยังมีชีวิตอยู่
- รศ.ดร.เดโช อุตตรนที (เสียชีวิตแล้ว)
การศึกษาเมื่อเยาว์วัย
[แก้]ครอบครัวของเด็กชายวีระ อยู่ที่บางขุนเทียนได้ไม่นานนัก ก็ย้ายไปอยู่สี่พระยา เมื่อเจริญวัยเข้าเกณฑ์การเรียน บิดามารดาก็ส่งไปเข้าเรียนในโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นของสมาคมญี่ปุ่นในประเทศไทย เรียนอยู่ได้ 6 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2474 ก็เรียนจบชั้นประถมปีที่ 6 ของโรงเรียน มีความสามารถอ่าน เขียน และพูดภาษาญี่ปุ่นได้ดี ด้วยความขยันหมั่นเพียรมาตั้งแต่เด็ก จึงไม่มีอุปสรรคใดๆ ต่อจากนั้นก็ได้เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2481 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเข้าเรียนต่อเตรียมปริญญาธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 2 จนถึง พ.ศ. 2483 จากนั้นจึงเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนในสาขานิติศาสตร์ สอบได้ที่ 1 ใน พ.ศ. 2484 ขณะเรียนอยู่นั้นก็ได้ทำงานไปด้วยในสถานทูตญี่ปุ่น
แต่ชีวิตการศึกษาในมหาวิทยาลัยของคฤหัสถ์วีระ ต้องยุติลงภายหลังจากขึ้นปีการศึกษาที่ 2 เมื่อสหรัฐประกาศสงครามกับประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 อันเป็นการเริ่มสงครามโลกครั้งที่สองในภูมิภาคตะวันออกไกล
การอาชีพ
[แก้]เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงแล้ว คฤหัสถ์วีระไม่ได้กลับเข้าไปศึกษาต่อ แต่ได้ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าขาย สั่งและส่งสินค้าเข้าและออกจากประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ด้วยความขยันขันแข็ง เอาใจใส่ในหน้าที่ การค้าขายจึงเจริญขึ้นเป็นลำดับ ในระยะเวลาประมาณ 10 ปีนั้น
พบหลวงพ่อวัดปากน้ำ
[แก้]ครั้งที่คฤหัสถ์วีระจะได้พบหลวงพ่อวัดปากน้ำนั้น เป็นปี พ.ศ. 2496 ขณะนั้นอายุได้ 34 ปี วันหนึ่งได้ขึ้นรถเมล์สายตลาดพลู นั่งไปเพลิน ๆ ไม่ได้มีจุดหมาย และได้ปรารภกับตนเองว่า "ในชีวิตนี้คนเราต้องการอะไรกัน" คำตอบคือ "ความสุข" ก็แล้วความสุขนั้นคืออย่างไร จะให้มีจะให้รู้เห็นเป็นได้อย่างไร ปรารภอยู่ดังนั้น รถเมล์ก็วิ่งมาถึงตลาดพลู ที่นั่นคฤหัสถ์วีระได้ลงเรือจ้างที่แล่นไปตามคลองบางกอกน้อย เรือจ้างคิดว่า คฤหัสถ์วีระจะไปรับพระของขวัญของหลวงพ่อที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ จึงได้พาขึ้นท่าเรือที่เรียกกันว่า ท่าไฟไหม้ ข้างวัดปากน้ำ
เมื่อเรือจอดเทียบท่า คฤหัสถ์วีระก็ขึ้นจากเรือ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทราบว่าขึ้นไปทำไม และก็ได้เดินชมวัดอยู่ แล้วคฤหัสถ์วีระก็ได้เห็นพระภิกษุท่านหนึ่ง ดูน่าเลื่อมใส กำลังฉันภัตตาหารเพลอยู่ ความสง่า องอาจ และบุญราศีของท่าน ทำให้ต้องคิดว่าพระภิกษุท่านนั้นคงจะเป็นพระนักปฏิบัติผู้เคร่งครัดอย่างแน่นอน เมื่อฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ท่านก็นั่งสนทนากับญาติโยมทั้งหลายที่ไปหานั้น ด้วยปฏิสันถารอันดี พูดจาฉะฉาน โต้ตอบธรรมะได้ลึกซึ้งเป็นพิเศษ
หลวงพ่อพระราชพรหมเถรสนใจในเรื่องวิปัสสนากัมมัฏฐานมาตั้งแต่เด็ก ฟังธรรมที่วัดหัวลำโพง วัดแก้วแจ่มฟ้า วัดมหาพฤฒาราม มีความสนใจในเรื่องนรก สวรรค์ นิพพาน ว่ามีจริงหรือไม่ จะไปดูด้วยวิธีใด ปรารถนาจะพิสูจน์ในเรื่องนี้ ก็ประจวบเหมาะในครั้งนี้ ได้ถือโอกาสขึ้นไปนั่งคุยกับพระอาจารย์ท่านนั้น จึงได้รู้ว่าท่านคือ หลวงพ่อวัดปากน้ำ ผู้ค้นพบพระสัทธรรมวิชชาธรรมกายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะนั้นท่านมีสมณศักดิ์เป็นพระภาวนาโกศลเถร ท่านก็ได้บอกว่า หากสนใจเรื่องนี้ให้มานั่งกัมมัฏฐาน และท่านได้แนะนำหลายอย่างเกี่ยวกับวิธีนั่งภาวนา
เป็นอันว่าคฤหัสถ์วีระในวันนั้นได้ทราบวิธีปฏิบัติจากท่านโดยละเอียด ก่อนจะกราบลาท่านกลับ ท่านบอกว่าให้มาวันพฤหัสบดี ด้วยความต้องการจะพิสูจน์ทดลอง คฤหัสถ์วีระก็ได้กลับไปพบท่านใหม่อีก
บรรลุธรรมกาย
[แก้]คฤหัสถ์วีระได้มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานกับหลวงพ่อวัดปากน้ำอยู่ 18 วัน ก็ได้เห็นตามที่อยากรู้นั้น แต่ในขณะนั้น ยังสงสัยอยู่ในใจว่า ที่เห็นนั้นเป็นจริงหรือว่าเป็นมโนภาพ คิดเอาเอง ก็พลันได้ยินหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านว่า "ถ้าเราไปคิดเอาเอง เรานึกเท่าไหร่มันก็ไม่เห็น แต่นี่เราเป็นสมาธิ แล้วมันเป็นวิปัสสนา ถ้าเรานั่งมันก็จะเห็นขึ้นมาเอง" หลวงพ่อวัดปากน้ำได้สอนศิษย์คนใหม่ของท่านในพระสัทธรรมและแก่นแห่งพระศาสนา เมื่อได้เห็นแล้ว ท่านพระอาจารย์ก็ได้กล่าวกับศิษย์ของท่านว่า
ที่บรรพบุรุษของเราได้อุตส่าห์เสียสละเลือดเนื้อก็เพื่อจะปกป้องพุทธศาสนา ซึ่งมีของจริงอย่างนี้
คฤหัสถ์วีระเมื่อได้มาปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อวัดปากน้ำแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใสมากขึ้นตามลำดับ เมื่อใจสบายแล้วจึงได้นึกทบทวนว่า "ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจเรานี้เอง เมื่อใจหยุดก็เกิดความสงบ ครั้นสงบแล้วก็เป็นสุข ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า "นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าการหยุดนิ่งไม่มี"
นับแต่นั้นมา คฤหัสถ์วีระก็ได้ไปนมัสการหาหลวงพ่อวัดปากน้ำโดยสม่ำเสมอ บางครั้งก็พำนักค้างแรมที่วัดเพื่อปฏิบัติธรรม บางวันหลวงพ่อก็เรียกเข้าไปนั่งภาวนากับท่าน และสอนการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างละเอียด คฤหัสถ์วีระปฏิบัติจนได้ธรรมกาย ผ่านครบทั้ง 18 กายแล้ว หลวงพ่อก็ได้สอนวิชชาธรรมกายขั๊นสูงให้ ซึ่งท่านก็สามารถปฏิบัติได้
อุปสมบท
[แก้]คฤหัสถ์วีระเมื่อได้เห็นของจริงในพระพุทธศาสนาเช่นนี้แล้ว จึงได้ตัดสินใจสละเพศคฤหัสถ์เข้าครองผ้ากาสาวพัสตร์ เข้าบรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 โดยมีพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็นที่พระภาวนาโกศลเถร เป็นองค์อุปัชฌาย์ และมีพระครูปัญญาภิรัต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ กับพระครูพิพัฒน์ธรรมคณี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า คณุตฺตโม
เผยแผ่วิชชาธรรมกาย
[แก้]เมื่อท่านได้บวชเรียนแล้ว ก็ได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานตามแนววิชชาธรรมกาย กับหลวงพ่อวัดปากน้ำมาโดยตลอด ได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พระศาสนาให้เจริญถาวรสืบไป ทั้งในและนอกประเทศ
พระราชพรหมเถรเป็นผู้สืบทอดวิชชาธรรมกายโดยตรงจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านได้ทำหน้าที่เผยแพร่พระสัทธรรมวิชชาธรรมกายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ ทั้งในวัดปากน้ำภาษีเจริญ ที่หอสังเวชนียมงคลเทพนิรมิต ในโครงการธรรมปฏิบัติเพื่อประชาชน วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และที่วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ซึ่งท่านเป็นพระอาจารย์ควบคุมการปฏิบัติพระกรรมฐานอยู่ และดำเนินการอยู่อย่างเข้มแข็ง
พระราชพรหมเถร เป็นครูอาจารย์ผู้ประเสริฐของศิษยานุศิษย์ และท่านได้สอนอบรมตักเตือนศิษย์ทั้งหลายด้วยความเมตตาโดยตลอด ท่านสอนหลักธรรมให้ปฏิบัติเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของทุกคน ทั้งในระหว่างการเรียนปฏิบัติพระกรรมฐานและในชีวิตประจำวัน
เผยแผ่พระศาสนาสู่ต่างประเทศ
[แก้]โดยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมเถร มีความชำนาญในด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส จึงทำให้งานเผยแพร่พระสัทธรรมวิชชาธรรมกายได้ดำเนินไปด้วยดี พร้อมกับมีการจัดพิมพ์การปฏิบัติสมถวิปัสสนากรรมฐานตามแนววิชชาธรรมกายเป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน เผยแพร่ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน และญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการดำเนินงานสอนพระสัทธรรมวิชชาธรรมกาย และจัดตั้งวัดไทยขึ้นเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาแพร่หลายสู่พลโลกอย่างกว้างขวาง
ตำแหน่งและสมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2508
- ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระครูภาวนาภิรม,วิ.
- ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
- พ.ศ. 2513
- ปรับพัดยศสมณศักดิ์ให้ตรงตามตำแหน่ง เป็นพระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามเดิม
- ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้ง เป็นรองเจ้าอาวาสและพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
- ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์
- พ.ศ. 2515 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระภาวนาโกศลเถร,สย.วิ.[1]
- พ.ศ. 2522 ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญ
- พ.ศ. 2546 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชพรหมเถร,วิ. สมถวิปัสสนาธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[2]
มรณภาพ
[แก้]- พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม) มรณภาพเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เวลาประมาณ 21.19 น. ณ โรงพยาบาลเลิดสิน เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 89, ตอนที่ 202, 31 ธันวาคม2515, ฉบับพิเศษ หน้า 5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 121, ตอนที่ 3 ข, 29 กุมภาพันธ์ 2547, หน้า 10