พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี)
พระยาภูมีเสวิน | |
---|---|
ข้อมูลพื้นฐาน | |
ชื่อเกิด | จิตร จิตตเสวี |
เกิด | 13 มิถุนายน พ.ศ. 2432 |
ที่เกิด | จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 5 มกราคม พ.ศ. 2519 (86 ปี) |
แนวเพลง | นาฏศิลป์ |
อาชีพ | นักดนตรี, โปรดิวเซอร์เพลง, นักแต่งเพลง |
ช่วงปี | พ.ศ. 2449 - 2519 |
พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) เป็นบุตรหลวงคนธรรพวาที (จ่าง จิตตเสวี) มารดาชื่อ เทียบ เกิดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2432 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน เริ่มเรียนซอด้วงจากบิดาตั้งแต่อายุ 6 ปี จนออกวงได้เมื่ออายุ 8 ปี และหัดเล่นดนตรีอีกหลายชนิด จนสามารถเล่นดนตรีได้รอบวง ที่ชำนาญเป็นพิเศษ คือ ซอสามสายและขลุ่ย
ประวัติ
[แก้]ตั้งแต่ พ.ศ. 2449 ได้รับราชการเป็นมหาดเล็กในสังกัดกระทรวงวัง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ และได้ฝึกดนตรีเพิ่มเติมจากพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) จนได้รับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในการตีฆ้องวงเล็ก เมื่อตามเสด็จไปภาคใต้ เมื่อ พ.ศ. 2452 ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งหลวงสิทธิ์นายเวร เมื่อ พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน น.ส. เอื้อน ศิลปีเป็นคู่สมรส และได้เลื่อนเป็นพระยาภูมีเสวิน เมื่อพ.ศ. 2468
นอกจากฝีมือในการบรเลงดนตรี ท่านยังมีความสามารถในทางนาฏศิลป์ เคยแสดงโขนเป็นตัวอินทรชิตหลายครั้ง และบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับดนตรีไว้ เช่น หลักการสีซอสามสาย พระราชพิธีเห่กล่อมพระบรรทม ผลงานการแต่งเพลงของท่านได้แก่ โหมโรงภูมิทองสามชั้น สอดสีเถา จำปาทองเถา และทางเดี่ยวซอสามสายอีกหลายเพลง ได้แก่ ต้นเพลงฉิ่ง ขับไม้บัณเฑาะว์ ทะแย นกขมิ้น ปลาทอง บรรทมไพร พญาครวญ พญาโศก แสนเสนาะ ทยอยเดี่ยว เชิดนอก และกราวในเถา ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ 5 มกราคม พ.ศ. 2519 รวมอายุได้ 86 ปี
สิ่งสืบเนื่อง
[แก้]พระยาภูมีเสวินเป็นครูซอสามสายคนแรกที่นำองค์ความรู้ทางซอสามสายมาบูรณาการให้เป็นระบบ ท่านได้คิดระบบการฝึกคันชัก การใช้นิ้วแบบต่าง ๆ ตลอดจนกำหนดเพลงซอสามสายแบบ 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง และขั้นสูง โดยเน้นการสร้างพื้นฐานและพัฒนาทักษะของผู้เรียนเป็นสำคัญ วงการดนตรีไทยจึงเรียกว่า สำนักซอสามสายพระยาภูมีเสวิน ลูกศิษย์ของท่านล้วนเป็นครูซอสามสายที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น ครูเตือน พาทยกุล ครูเจริญใจ สุนทรวาทิน ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ครูเฉลิม ม่วงแพรศรี และครูศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา สำหรับศิษย์เอกที่ได้รับการถ่ายทอดไว้ทั้งหมดคือ ศาสตราจารย์อุดม อรุณรัตน์ (พ.ศ. 2478-2549) ที่นอกจากเรียนซอสามสายกับพระยาภูมีเสวินแล้วยังได้เรียนซอสามสายเพิ่มเติมกับ อาจารย์ภาวาส บุนนาค (พ.ศ. 2467-2537) อดีตรองราชเลขาธิการ เป็นศิษย์เอกซอสามสายของครูเทวาประสิทธ์ พาทยโกศล (พ.ศ. 2450-2516) ครูในสายขุนนาง ศาสตราจารย์อุดมได้ต่อยอดการเรียนซอสามสายของสำนักพระยาภูมีเสวิน โดยเพิ่มเพลงในขั้นพื้นฐาน ขั้นกลางและขั้นสูง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน ท่านได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งหมดของซอสามสายให้กับศาสตราจารย์พงษ์ศิลป์ อรุณรัตน์บุตรชายของท่าน ซึ่งเป็นผู้เดียวที่ได้เพลงซอสามสายทั้งสายราชสำนักและสายขุนนางอย่างครบถ้วน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2503 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[1]
- พ.ศ. 2464 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.)[2]
- พ.ศ. 2464 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[3]
- พ.ศ. 2463 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์ (ว.ภ.) (ฝ่ายหน้า)[4]
- พ.ศ. 2457 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์วชิรมาลา (ว.ม.ล.)[5]
- พ.ศ. 2468 – เหรียญศารทูลมาลา (ร.ศ.ท.)[6]
- พ.ศ. 2464 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 3 (ว.ป.ร.3)[7]
- พ.ศ. 2454 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 6 (ร.จ.ท.6)[8]
- พ.ศ. 2454 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 (ร.ร.ศ.6)
- พ.ศ. 2475 – เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี (ร.ฉ.พ.)
อ้างอิง
[แก้]- พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี)เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ศาสตราจารย์พงษ์ศิลป์ อรุณรัตน์. (2558). เสียงเสนาะซอสามสาย : การบันทึกเสียงพร้อมบทวิเคราะห์และโน้ตสากล (Melodious Sound of Saw Sam Sai : Recording, Analytical Program Notes and Music Notaion). สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.). เข้าถึงจาก Linkเก็บถาวร 2022-01-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๑๐๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๕๐, ๑๔ ธันวาคม ๒๕๐๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๔๗๔, ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๖๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๙๖, ๒๙ มกราคม ๒๔๖๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศความชอบผู้รับพระราชทานตราวัลลภาภรณ์, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๒๓๖, ๒ มกราคม ๒๔๖๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตราวชิรมาลา, เล่ม ๓๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๕, ๔ เมษายน ๒๔๕๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๕๑, ๒ พฤษภาคม ๒๔๖๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๓๘๕, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๗๐๘, ๙ กรกฎาคม ๑๓๐