อุดม อรุณรัตน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุดม อรุณรัตน์
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดอุดม อรุณรัตน์
เกิด27 มีนาคม พ.ศ. 2478
ที่เกิดเมืองกรุงเก่า ประเทศสยาม
เสียชีวิต12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 (70 ปี)
แนวเพลงนาฏศิลป์
อาชีพนักดนตรี, โปรดิวเซอร์เพลง, นักแต่งเพลง
ช่วงปีพ.ศ. 2489 - 2549

ศาสตราจารย์เกียรติคุณอุดม อรุณรัตน์ (27 มีนาคม พ.ศ. 2478 – 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549)

ประวัติ[แก้]

ศาสตราจารย์เกียรติคุณอุดม อรุณรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2478 ที่ตำบลศาลาลอย อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อจำปี มารดาชื่อแถม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาสองคน คือ สมบัติ อรุณรัตน์ และสมนึก โพธิ์สามต้น

ศาสตราจารย์เกียรติคุณอุดมสมรสกับพนิดา อรุณรัตน์ (สกุลเดิม สนั่นนาม) มีบุตรธิดาสามคน คือ ปองประภา อรุณรัตน์, สนั่นนาม อรุณรัตน์ และศาสตราจารย์พงษ์ศิลป์ อรุณรัตน์ (อาจารย์ประจำภาควิชานาฎยสังคีต คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณอุดมเริ่มรับราชการครูสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 โดยเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนสุวรรณพลับพลาพิทยาคม โรงเรียนวัดปากน้ำพิทยาคม และโรงเรียนวัดราชาธิวาส โดยทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษสอนดนตรีไทยให้กับคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรควบคู่ไปด้วย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2519 ได้โอนย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำภาคคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมกับรองศาสตราจารย์เด่นดวง พุ่มศิริก่อตั้งภาควิชานาฎยสังคีตขึ้นในปี พ.ศ. 2522 และสร้างผลงานทางวิชาการไว้มากมาย จนได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ในวิชาสังคีตศิลป์ไทย เมื่อปี พ.ศ. 2537 นับเป็นคนแรกของทบวงมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์พิเศษดนตรีไทยให้กับชมรมดนตรีไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างปี พ.ศ. 2510-2517 ชมรมดนตรีไทยที่โรงเรียนพณิชยการพระนครระหว่างปี พ.ศ. 2523-2527 และชมรมดนตรีไทยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เขตปทุมวัน ระหว่างปี พ.ศ. 2519-2523

ศาสตราจารย์เกียรติคุณอุดมเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2538 ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางดนตรีไทยประจำวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่สอนวิชาดนตรีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้แก่นักศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาบัณฑิตจนถึงระดับดุษฎีบัณฑิต ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานวิชาการของหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนการเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเกี่ยวกับดนตรีตามสถาบันต่าง ๆ และยังคงศึกษาค้นคว้าทางวิชาการเพื่อใช้สำหรับการศึกษาแก่อนุชนรุ่นหลังอีกหลายเรื่อง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณอุดมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความสันทัดจัดเจนอย่างสูง ในด้านฝีมือทางซอสามสาย เป็นที่ประจักษ์และยอมรับกันในวงการดนตรีไทย พ.ศ. 2527 เดินทางไปเป็นวิทยากรสาธิตซอสามสาย ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน โดยได้บันทึกเพลงตับมโหรีของเก่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ่า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บันทึกเสียงเพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2529 ใน พ.ศ. 2534 เป็นวิทยากรรับเชิญไปบรรยายและสาธิตซอสามสาย ณ สภาบันภาษาและวัฒนธรรมตะวันออกแห่งชาติ (INALCO) กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 3 เดือน และ พ.ศ. 2537 เป็นศาสตราจารย์รับเชิญไปสอนดนตรีไทยแก่นักศึกษาระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ประเทศออสเตรเลีย เป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา และร่วมงานกับวงดนตรีฟองน้ำ ในระหว่างปี พ.ศ. 2531-2535 ทั้งด้านงานบันทึกเสียงและงานเผยแพร่ต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงค์โปร์ และฝรั่งเศส

การศึกษาด้านดนตรี[แก้]

  • เริ่มเรียนดนตรีจากบิดาซึ่งมีความสันทัดจัดเจนในทางเป่าขลุ่ย ต่อมาได้เรียนจะเข้กับครูเรือง เกษมสุข (ไม่ทราบปีเกิดและปีที่ถึงแก่กรรม) ในช่วงพ.ศ. ๒๔๘๙-๒๔๙๙ ซึ่งเป็นครูเครื่องสายที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสามารถเรียนจนจะเข้จนแตกฉาน สามารถบรรเลงเพลงเดี่ยวกราวในซึ่งเป็นเพลงสูงสุดในกระบวนเพลงเดี่ยว
  • ศึกษาซอสามสายจากพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) (พ.ศ. ๒๔๓๗-๒๕๑๙) ผู้เชี่ยวชาญซอสามสายตามแบบราชสำนัก ซึ่งเป็นทางซอสามสายที่เก่าแก่สามารถสืบค้นตัวบุคคลที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ โดยท่านได้เป็นศิษย์เอกของพระยาภูมีเสวินได้รับการถ่ายทอดทางซอสามสายทั้งเพลงและเทคนิคการบรรเลงไว้จนหมด
  • ศึกษาทฤษฎีและดนตรีไทยวิเคราะห์จากอาจารย์ภาวาส บุนนาค(พ.ศ. ๒๔๖๗-๒๕๓๗) อดีตรองราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ จนได้แนวความคิดมาสำหรับในการวิจัยกะโหลกซอสามสายด้วยกะลาดัดจนเป็นผลสำเร็จ เหมือนกับของโบราณที่ได้ทำไว้ รวมทั้งได้รับการถ่ายทอดทางเดี่ยวซอสามสายของครูเทวาประสิทธ์ พาทยโกศล ซึ่งเป็นทางซอสามสายที่ได้รับการสืบทอดมาจากพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร)
  • ศึกษาภาษาบาลีสันสกฤตกับนาวาอากาศเอกแย้ม ประพัฒน์ทอง (พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๕๒๙) จนสามารถเขียนตำราเรื่องดุริยางคดนตรีจากพระพุทธศาสนา
  • ศึกษาวิธีการดีดพิณน้ำเต้ากับอาจารย์กมล เกตุศิริ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๑๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๔๔, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๗
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๕๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๓๔, ๑๔ เมษายน ๒๕๒๙