วัดพระธาตุดอยตุง
วัดพระธาตุดอยตุง | |
---|---|
พระธาตุดอยตุง | |
ชื่อสามัญ | วัดพระธาตุดอยตุง |
ที่ตั้ง | ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 57220 |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
ความพิเศษ | พระธาตุประจำปีเกิด ปีกุน |
หมายเหตุ | ทางแคบ ชัน คดเคี้ยว มีโค้งรัศมีแคบจำนวนมาก ควรขับรถด้วยความระมัดระวัง |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดพระมหาชินธาตุเจ้า (ดอยตุง) (ชื่อตามจารึกหินอ่อนที่กรอบประตูพระอุโบสถ) (ไทยถิ่นเหนือ: ) หรือเรียกโดยทั่วไปว่า วัดพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณส่วนที่เรียกว่าหน้าอกของดอยนางนอน ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขา ซึ่งดอยตุงมีระยะทางห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายประมาณ 46 กม. และมีพระธาตุดอยตุงประดิษฐานอยู่บนยอดดอย สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลเนื่องจากพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณสองพันเมตร
ประวัติ
[แก้]ตามตำนานสิงหนติโยนกและตำนานพระธาตุดอยทุงเมืองเชียงแสนกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดอยดินแดง ประทับบนหินก้อนหนึ่งมีรูปทรงเหมือนมะนาวผ่าซีก และทำนายว่าที่นี่จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) และบอกพระอานนท์ว่า หลังพระองค์ปรินิพพาน ให้พระมหากัสสปะนำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานที่นี่
พ.ศ. 1 สมัยพญาอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น องค์ที่ 3 พระมหากัสสปะได้อัญเชิญโกศแก้วปัทมราช บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) มายังเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น แล้วบอกเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าได้ทำนาย พญาอชุตราชยินดี จึงให้สร้างโกศเงิน โกศทองคำเข้าซ้อนโกศแก้วปัทมราช บูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้ แล้วแห่ออกจากเมืองไปยังยอดดอยดินแดง พระมหากัสสปะตั้งโกศประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุบนหินที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ แล้วอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุจมลงในหินประมาณ 8 ศอก พญาอชุตราชขอซื้อที่จากปู่เจ้าลาวจกและย่าเจ้า 1,000 คำ ด้านละ 3,000 วา และถวายครัวมิลักขุ 500 ครัวดูแลพระธาตุ พระมหากัสสปะได้ให้ทำตุง (ทุง) เสายาว 8,000 วา ตุงยาว 7,000 วา กว้าง 500 วา ปักบูชาพระธาตุ จึงเรียกว่า ดอยทุง (ดอยตุง) แต่นั้นมา
กัมมะโลฤๅษีได้มาอยู่อุปัฏฐากพระธาตุบริเวณดอยมุงเมือง ต่อมาแม่กวางตัวหนึ่งมาดื่มน้ำปัสสาวะพระฤๅษี ตั้งท้องเกิดลูกเป็นกุมารีน้อย กัมมะโลฤๅษีเก็บมาเลี้ยง ตั้งชื่อว่านางปทุมมาวติ เมื่ออายุได้ 16 ปี พญาอชุตราชได้มาสู่ขอนางไปเป็นมเหสีด้วยทองคำ 400,000 คำ กัมมะโลฤๅษีให้นำทองคำนั้นไปหล่อเป็นรูปกวางสมมุติเป็นแม่ให้นางปทุมมาวติกราบไหว้ทุกวัน
พ.ศ. 100 สมัยพระองค์มังรายนราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นองค์ที่ 4 ตำนานสิงหนติโยนกว่า พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย 150 องค์ ส่วนตำนานพระธาตุดอยทุงเมืองเชียงแสนว่า สุรเทโวฤๅษีได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย 50 องค์ พระองค์มังรายนราชยินดี ให้ทำโกศเงิน โกศทองคำ โกศแก้วเข้าซ้อนกัน แล้วแห่ออกจากเมืองไปยังยอดดอยทุง (ดอยตุง) ตั้งโกศประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุบนหินที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุสมัยพญาอชุตราช แล้วอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุจมลงในหินประมาณ 7 ศอก พระองค์มังรายนราชให้ก่อเจดีย์ครอบหินสูง 7 ศอก บุเงินจังโก ทองจังโก ประดับแก้ว 7 ประการ ฉลองพระธาตุ 3 เดือน แล้วซื้อครัวมิลักขุ 500 ครัวที่พญาอชุตราชเคยถวายมาถวายพระธาตุอีกครั้ง ปู่เจ้าลาวจกและย่าเจ้าได้อุปัฏฐากพระธาตุ ด้วยอานิสงค์จึงไปจุติเป็นเทวบุตรและเทวธิดาบนสวรรค์
พ.ศ. 219 สมัยพระองค์เพิง กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นองค์ที่ 8 พระมหารักขิตเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมา 9 องค์ พระองค์เพิงให้ทำโกศเงิน โกศทองคำ โกศแก้วเข้าซ้อนกัน แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งบรรจุที่ดอยโยนกปัพพตะ ส่วนหนึ่งบรรจุที่พระธาตุดอยทุง (ดอยตุง) ส่วนหนึ่งบรรจุที่พูกวาวหัวเวียงไชยนารายณ์เมืองมูล แต่เนื่องจากไม่สามารถประดิษฐานในหินที่เดียวกับที่เคยฝังพระบรมสารีริกธาตุได้ เพราะมีการสร้างเจดีย์ครอบทับแล้ว จึงสร้างเจดีย์อีกองค์ทางทิศตะวันออกของเจดีย์องค์เดิม เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนี้ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 221 ฉลองพร้อมกันทุกแห่ง ทำให้พระธาตุดอยทุง (ดอยตุง) มีเจดีย์ 2 องค์
พ.ศ. 270 สุรเทพาฤๅษีได้มาอุปัฏฐากพระธาตุดอยทุง (ดอยตุง) สร้างศาลาอยู่ที่ทางทิศตะวันตก ได้นำพระบรมสารีริกธาตุ 15 องค์มาอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุจมลงในหินรูปร่างเหมือนช้างมูบ (ช้างหมอบ) ประมาณ 5 ศอก แล้วก่อเจดีย์บนหินสูง 7 ศอก สุรเทพาฤๅษีอยู่รักษาอุปัฏฐากพระธาตุ 100 ปีก็จุติยังพรหมโลก คนทั้งหลายเรียกพระธาตุช้างมูบ พ.ศ. 300 กัมปติสโลเทวบุตรได้นำต้นนิโครธจากเมืองกุสินารามาปลูกทางทิศเหนือของพระธาตุช้างมูบ สูง 7 ศอก มีกิ่งก้านสาขา 4 กิ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่ค้นพบหลักฐานที่เก่าถึงยุคสมัยโยนกนครตามที่ตำนานอ้างไว้
สมัยพญามังราย ได้เสด็จขึ้นมาไหว้พระธาตุ และให้เวนทานครัวมิลักขุ 500 ครัวไว้อุปัฏฐากดูแลรักษาพระธาตุ
สมัยพญาไชยสงคราม ได้เสด็จขึ้นมาไหว้พระธาตุ และให้เวนทานครัวมิลักขุ 500 ครัวไว้อุปัฏฐากดูแลรักษาพระธาตุ พร้อมถวายที่ดินด้านละ 3,000 วา
สมัยพญากือนา ได้เสด็จขึ้นมาไหว้พระธาตุ และให้เวนทานครัวมิลักขุ 500 ครัวไว้อุปัฏฐากดูแลรักษาพระธาตุ พร้อมถวายที่ดินด้านละ 3,000 วา
สมัยพระเจ้าติโลกราช ได้เสด็จขึ้นมาไหว้พระธาตุ โปรดฯ ให้ทำเอกสารคัมภีร์เกี่ยวกับบริเวณที่พระธาตุประดิษฐานอยู่ เพื่อ “ตั้งตำนาน” ของพระธาตุ และให้ทำตราหลาบเงินเพื่อเวนทานครัวมิลักขุ 500 ครัวไว้อุปัฏฐากดูแลรักษาพระธาตุ พร้อมถวายที่ดินด้านละ 3,000 วาเช่นเดิม
สมัยพญายอดเชียงราย เชียงใหม่เกิดฝนแล้ง พระราชมารดาจึงถามพลพวกดาบเชียงแสนว่าเมืองเชียงแสนแล้งหรือไม่ พลพวกดาบทูลว่าเมืองเชียงแสนยังฝนตกบริบูรณ์ เพราะมีการสรงน้ำพระธาตุดอยทุง (ดอยตุง) ทำให้เกิดฝนตกลงมา พระราชมารดากับพญายอดเชียงรายจึงปลงพระราชอาชญาให้นำน้ำ 7 รินมาอบด้วยมธุรสต่างๆ ใส่ในไหจีนพร้อมเครื่องสักการะบูชา 2 ไห นำไปสรงน้ำพระธาตุดอยทุงในเดือน 8 เพ็ง (เหนือ) ทำให้เกิดฝนตกทั่วเมืองเชียงใหม่ พญายอดเชียงรายจึงให้ทำตราหลาบเงินเพื่อเวนทานครัวมิลักขุ 500 ครัวไว้อุปัฏฐากดูแลรักษาพระธาตุ พร้อมถวายที่ดินด้านละ 3,000 วาเช่นเดิม พระราชมารดาให้ทานกลอง 1 พร้อมเครื่องบูชากหาปณะพันหนึ่ง
สมัยพญาแก้ว เสด็จมาบำเพ็ญทานศีลในเมืองเชียงแสน พวกน้อยปากเชียงได้นำตำนานวัดดอยทุงและบรรณาการเข้ากราบทูลไหว้สาพญาแก้ว พญาแก้วให้ทำโกศทองคำน้ำหนักพันหนึ่งกับทองคำพันหนึ่งและเครื่องบูชาถวายพระธาตุ พร้อมเวนทานครัวมิลักขุ 500 ครัวไว้อุปัฏฐากดูแลรักษาพระธาตุ ถวายที่ดินด้านละ 3,000 วา
พ.ศ. 2122 นรธามังช่อ มาครองเมืองเชียงใหม่ หมื่นวัดดอยทุงและสังฆโมลีเจ้านำตำนานมหาธาตุและคัมภีร์ที่พระเจ้าติโลกราชให้ทานนั้นกับบรรณาการเข้ากราบทูล นรธามังช่อให้ทำหลาบเงินเวนทานครัวมิลักขุ 500 ครัวไว้อุปัฏฐากดูแลรักษาพระธาตุ[1] [2] [3]
พ.ศ. 2147 บรมบพิตรพระเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน (เจ้าฟ้ากาเผือก) พระมหาสมเด็จราชครูเจ้าวัดพระหลวง พระสังฆโมลี พร้อมอำมาตย์ ได้สร้างรูปหล่อพระฤๅษีกัมมะโลพร้อมคำจารึกคำไหว้พระธาตุบนดอยตุง ตำนานพระธาตุดอยตุงโดยย่อ ตั้งไว้บนบริเวณดอยตุง (ปัจจุบันเก็บรักษาในพิพิธภัรฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน)[4]
ต่อมาพระธาตุดอยตุงทรุดโทรมมาก พ.ศ. 2470 ครูบาศรีวิชัยได้มาบูรณะองค์พระธาตุขึ้นใหม่ โดยสร้างครอบองค์เดิมให้มีทรงแบบเดิม สูงประมาณ 5 เมตร สร้างรูปปั้นเสือไว้ทั้ง 4 มุม สร้างวิหารสำหรับไหว้พระธาตุ 1 หลังพร้อมพระประธานปูนปั้นภายในวิหาร 1 องค์ ใช้ระยะเวลาบูรณะ 4 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2470-2474 ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 3,205 รูเปีย
ภายหลังวิหารกับพระประธานได้ถูกภัยธรรมชาติทำให้ทรุดโทรม ส่วนองค์พระธาตุยังมีสภาพปกติแต่หมองคล้ำไป พ.ศ. 2499 นางทองคำ ฮั่นตระกูลได้รับเป็นเจ้าภาพลงรักปิดทองพระธาตุดอยตุงทั้ง 2 องค์
พ.ส. 2500 องสรภาณมธุรส (บ๋าวเอิง) เจ้าอาวาสวัดสมณานัมบริหาร ร่วมกับนางทองคำ ฮั่นตระกูล สร้างอุโบสถและพระประธาน พร้อมรูปเคารพหมอชีวกโกมารภัจจ์[5]
ในปี พ.ศ. 2516 กระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างพระธาตุองค์ใหม่ครอบพระเจดีย์เดิมไว้ องค์พระธาตุเป็นสีทองขนาดเล็กสององค์ สูงประมาณ 5 เมตร บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม มีซุ้มจระนำสี่ทิศ องค์ระฆังและปลียอดมีขนาดเล็ก ออกแบบโดยนายประกิต (จิตร) บัวบุศย์ การสร้างพระธาตุองค์ใหม่นั้นใช้วิธีหล่อคอนกรีตมาประกอบครอบเจดีย์คู่ทั้งสององค์ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงแบบขององค์พระธาตุดังกล่าวสามารถอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมไว้ภายในได้[6]
ในปี พ.ศ. 2549 กรมศิลปากรมีโครงการรื้อถอนรูปแบบศิลปกรรมของพระธาตุดอยตุงที่กระทรวงมหาดไทยได้ก่อครอบพระธาตุองค์เดิมไว้[7][8] โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นไปตามร้องขอของคนท้องถิ่นไปทางจังหวัด และส่งต่อมายังสำนักโบราณคดีเชียงใหม่ ให้ช่วยฟื้นฟูพระสถูปในสมัยที่ครูบาศรีวิชัยได้บูรณะไว้ตามภาพถ่ายที่ปรากฏอยู่ในวิหารพระธาตุดอยตุง ซึ่งคณะทำงานได้มีการหารือต่อเจ้าคณะอำเภอแม่สายแล้ว และได้ให้นำพระสถูปครอบที่ถอดออกมาไปตั้งไว้ที่วัดน้อยพระธาตุดอยตุงซึ่งอยู่ด้านล่างก่อนขึ้นดอยพระธาตุ จากนั้นจึงทำการบูรณะพระสถูปเจดีย์ให้กลับมาอยู่ในสภาพดั้งเดิมสมัยครูบาศรีวิชัยให้แล้วเสร็จก่อนเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 21 ล้านบาท โดยรวมค่าปรับปรุงภูมิทัศน์ อาทิ ปรับปรุงพื้นที่ลานพระธาตุให้กว้างขึ้น รื้อโรงเก็บวัสดุอุปกรณ์ เคลื่อนย้ายพระสังกัจจายน์และพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางต่างๆ ไปตั้งประดิษฐานในสถานที่ที่เหมาะสม ปรับปรุงภูมิทัศน์ฐานบันไดนาคทางขึ้น เพื่อความสะดวกต่อพุทธศาสนิกชนซึ่งไปนมัสการพระธาตุเป็นจำนวนมากของทุกปี
รูปแบบศิลปกรรม
[แก้]- รูปแบบสมัยล้านนาและการบูรณะของครูบาศรีวิชัย
ส่วนฐาน ฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง ถัดจากฐานเขียงเป็นส่วนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ประดับลูกแก้วอกไก่เพียงเส้นเดียวที่ท้องไม้ (ครูบาศรีวิชัยปรับเป็นลูกแก้วธรรมดา) อยู่ในผัง 8 เหลี่ยม
ส่วนกลาง ส่วนรองรับองค์ระฆังทำเป็นฐานเขียงซ้อนกัน 2 ฐานในผัง 8 เหลี่ยม รองรับบัวปากระฆังและองค์ระฆัง 8 เหลี่ยม (ครูบาศรีวิชัยบูรณะส่วนองค์ระฆังให้สูงขึ้นกว่าเดิม)
ส่วนยอด บัลลังก์แบบชุดฐานบัวรูป 8 เหลี่ยม เหนือบัลลังก์ปั้นรูปกลีบบัวหวายรายรอบรับบัวฝาละมีรูปบัวคว่ำในแผนผังทรงกลม รองรับปล้องไฉน ปลียอด
รูปแบบดังกล่าวเป็นเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยม ศิลปกรรมล้านนาตอนปลายราวพุทธศตวรรษที่ 21 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ได้เสนอว่าพระธาตุดอยตุงเปรียบเทียบรูปแบบได้กับพระธาตุดอยสุเทพที่สร้างขึ้นในสมัยพระเมืองเกษเกล้า โดยมีการทำส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นเหลี่ยม พระธาตุดอยสุเทพเป็น 12 เหลี่ยม ส่วนพระธาตุดอยตุงเป็น 8 เหลี่ยม ซึ่งเชื่อว่าการทำส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นเหลี่ยมนี้ไม่เก่าไปกว่าพระธาตุดอยสุเทพ จึงเชื่อว่าพระธาตุดอยตุงน่าจะสร้างในราวปี พ.ศ. 2129 เพราะมีการพรรณาถึงการทำนุบำรุงพระธาตุดอยตุงถึง พ.ศ. 2129 โดยนรธามังช่อ[9]
- รูปแบบของอาจารย์ประกิต (จิตร) บัวบุศย์
ส่วนฐาน ฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกสูง รับชั้นฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขององค์เจดีย์แต่ละองค์ที่แยกออกจากฐานชั้นล่าง รองรับชุดฐานปัทม์ที่มีลวดบัวลูกแก้วแทรกระหว่างหน้ากระดานท้องไม้ 1 ชุด
ส่วนกลาง องค์พระธาตุทำเป็นทรงเรือนธาตุยกสูงย่อมุม (12 มุม) แต่ละด้านของเรือนฐานทั้ง 4 ด้านทำเป็นซุ้มจระนำยื่นออกมาด้านละ 1 ซุ้ม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนด้านละ 1 องค์
ส่วนยอด เหนือเรือนธาตุขึ้นไปเป็นชุดฐานปัทม์หรือฐานบัวรูป 8 เหลี่ยม รองรับบัวปากระฆังและองค์ระฆังทรงกลม โดยที่องค์ระฆังทำเป็นบัวลูกแก้วรัดอกคั่นกลางองค์ระฆัง ส่วนบนขององค์ระฆังไม่ตั้งบัลลังก์ แต่ทำเป็นปล้องไฉนแบบลูกแก้วกลมขนาดใหญ่ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 3 ชั้น รับปลียอดทรงน้ำเต้า 2 ชั้นและเม็ดน้ำค้างรูปดอกบัวตูม
บริเวณฐานไพทีและฐานเขียงรองรับองค์พระธาตุทั้ง 2 ประดับผิวด้วยกระเบื้องดินเผาผิวเรียบมันปูทะแยง องค์พระธาตุตั้งแต่ชุดฐานปัทม์ถึงเม็ดน้ำค้างประดับด้วยโมเสคสีทองตลอดทั้งองค์ โดยรอบฐานไพทีทำเป็นช่องทางขนาดเล็กเป็นทางประทักษิณภายใน แนวกำแพงแก้วเตี้ย เปิดช่องทางเข้าออกทางด้านท้ายอุโบสถ ตั้งฉัตรที่มุมกำแพงแก้วทั้ง 4 มุม[10]
ระเบียงภาพ
[แก้]-
พระธาตุดอยตุง ลักษณะตามที่กระทรวงมหาดไทยบูรณะไว้เมื่อปี พ.ศ. 2516
-
พระธาตุดอยตุง ขณะทำการรื้อถอนรูปแบบศิลปกรรมที่กระทรวงมหาดไทยสร้างครอบพระธาตุองค์เดิมสมัยที่ครูบาศรีวิชัยได้ซ่อมแซมไว้
-
พระธาตุดอยตุงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปกรรมของเดิมที่ครูบาศรีวิชัยได้ซ่อมแซมไว้
-
ป้ายชื่อวัดพระธาตุดอยตุง
-
ด้านหน้าของพระอุโบสถวัดพระธาตุดอยตุง
-
จารึกหินอ่อนที่กรอบประตูทางเข้าพระอุโบสถ ระบุชื่อวัดว่า "วัดพระมหาชินธาตุเจ้า (ดอยตุง)"
-
ภายในพระอุโบสถ
-
บรรยากาศภายในบริเวณวัดพระธาตุดอยตุง
-
วัดพระธาตุดอยตุงเมื่อมองจากทางอากาศ
ความหมายของตุง
[แก้]ตุง นับเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชาวล้านนา หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง การมีชัยชนะ ในวัดจะมี รอยปักตุง เป็นรอยแยกบนพื้น ยาวประมาณ 1 ฟุต อยู่ด้านหน้าพระธาตุ เชื่อกันว่า เป็นรอยแยกที่ใช้ปักฐานตุงบูชาพระธาตุ สร้างมาประมาณ 1,000 ปีแล้ว พระบรมธาตุดอยตุงเป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนา ทุกปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน 3
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กรมศิลปากร. ประชุมตำนานพระธาตุ ภาคที่ 1 และภาคที่ 2. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางเอิบ อุมาภิรมย์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2513.
- ↑ . ใบลานตำนานโยนกนครเชียงแสน ฉบับวัดเชียงมั่น เชียงใหม่.
- ↑ . ใบลานตำนานสิงหนติโยนก ฉบับวัดลำเปิง เชียงราย.
- ↑ https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1441
- ↑ * สมาคมชาวลำพูน. ครูบาเจ้าศรีวิชัย เล่ม ๓ : ตามรอยการปฏิสังขรณ์ก่อสร้างปูชนียสถานโบราณวัตถุ จังหวัดลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ตาก และสุโขทัย. กรุงเทพฯ : พี.พี.เค.การพิมพ์, 2561. ISBN 978-616-93082-0-1
- ↑ เผยโฉมพระธาตุดอยตุงฉบับล้านนา
- ↑ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2549
- ↑ "ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-03-10.
- ↑ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. "พระธาตุดอยตุง" ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 11 ฉบับที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2533
- ↑ กรมศิลปากร. พระธาตุเจ้าดอยตุง : บันทึกว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนา. กรุงเทพฯ : ถาวรกิจการพิมพ์, 2552. ISBN 978-974-417-978-4
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ที่พักบนดอยตุง เก็บถาวร 2017-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- "พลิกประวัติศาสตร์พระธาตุดอยตุง"[ลิงก์เสีย] หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เผยแพร่โดยสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่
พิกัดแผนที่
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วัดพระธาตุดอยตุง
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์