ผู้ใช้:EngAraya/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ระบบราชการ (Bureaucracy)

ความหมายของระบบราชการ[แก้]

ระบบราชการ (อังกฤษ: Bureaucracy) ซึ่งในความหมายของแม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ที่เป็นผู้คิดค้นคำนี้นั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะองค์การภาครัฐอย่างที่สังคมไทยคุ้นเคยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงองค์การภาคเอกชนด้วย เพราะในความหมายของ แม็กซ์ เวเบอร์ นั้นหมายถึง องค์การที่มีขนาดใหญ่ มีโครงสร้างที่สลับซับซ้อน มีระบบการบังคับบัญชาตามลำดับชั้น เต็มไปด้วยกฏเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับและขั้นตอนในการทำงานตัวบุคคลกับองค์กรแยกออกจากกัน หรือองค์กรไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของบุคลากร การรับคนเข้าทำงานและการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งเป็นไปตามระบบคุณธรรม มาจากความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญที่ตรงกับภาระหน้าที่ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์[1]


ประวัติความเป็นมาของระบบราชการ[แก้]

      ประวัติของระบบราชการมียาวนาน อาจสืบค้นไปได้ในสมัยอียิปต์โบราณที่มีฟาโรห์และข้าราชการที่ทำงานรับใช้ฟาโรห์ ส่วนในเอเชียมีระบบราชการเก่าแก่ซึ่งสามารถสืบค้นได้ในสมัยจีนโบราณ ซึ่งในสมัยจีนโบราณนั้นมีหลักฐานคือ มีการสอบเข้าทำงานราชการตามระบบคุณธรรม ซึ่งในประเทศจีนยึดถือเป็นแบบอย่างยืนยาวมากกว่า 2,500 ปี เราเรียกระบบราชการในสมัยปัจจุบันว่า ระบบราชการสมัยใหม่ ซึ่งถือกําเนิดในยุโรปเมื่อศตวรรษที่17 ถือเป็นเครื่องมือของกษัตริย์ในการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางและต่อต้านอำนาจขุนนาง เพราะในอดีตขุนนางสามารถเก็บภาษีจากราษฎร และส่งบางส่วนให้แก่กษัตริย์เท่านั้น กษัตริย์จะไม่มีทางรู้ว่าขุนนางคนหนึ่งมีความร่ำรวยแค่ไหน แต่ระบบราชการ ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของกษัตริย์ที่จะสร้างความจงรักภักดีในพระองค์ เพราะข้าราชการเป็นตัวแทนของกษัตริย์ เป็นบุคคลที่ทำงานให้กษัตริย์จงรักภักดีต่อกษัตริย์์ไม่เหมือนขุนนางที่คอยจะจ้องช่วงชิงอำนาจจากกษัตริย์ ระบบราชการสมัยใหม่นี้มีลักษณะสําคัญคือ ข้าราชการ ซึ่งเป็นคนที่จะได้รับเงินเดือน การได้รับเงินเดือน ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สําคัญต่อระบบอำนาจที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เพราะข้าราชการจะเป็นคนเก็บภาษีส่งไปให้กษัตริย์หรือส่วนกลาง แล้วกษัตริย์หรือส่วนกลางจะเป็นผู้จัดสรรว่าแต่ละท้องถิ่นจะได้รับงบประมาณเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งถือว่าเป็นการตัดอำนาจของขุนนางท้องถิ่นเดิม เพราะขุนนางท้องถิ่นจะเก็บภาษีตามอำเภอใจไม่ได้แล้ว ซึ่งเป็นการเสริมอำนาจของส่วนกลางมากขึ้น นอกจากนี้ยังกล่าวได้ว่า ข้าราชการเป็นองค์การที่มีขนาดใหญ่ มีการบริหารงานที่สลับซับซ้อนและต้องการความเชี่ยวชาญในการบริหารงานเฉพาะด้าน กลุ่มราชการหรือระบบราชการ ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการปกครองของรัฐบาล คำว่าระบบราชการ (Bureaucracy) มาจากคำศัพท์ในภาษาฝรั่งเศสว่า Bureau แปลว่า โต๊ะเขียนหนังสือ ส่วน Kratia  คือ การปกครอง มีผู้ให้คำจำกัดความของคำว่า ระบบราชการไว้มากมาย ซึ่งระบบราชการจะต้องประกอบไปด้วย[2] 
    1. เป็นงานสาธารณะที่ปฏิบัติงานโดยต้องอาศัยอำนาจตามตัวบทกฎหมายเพื่อที่จะทำงานให้บรรลุจุดมุ่งหมายของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้การทำงานของข้าราชการในแบบดั้งเดิม จึงเป็นการทำงานตามใบสั่งมากกว่าจะเป็นการทำงานในลักษณะที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์[3] 
    2. เป็นองค์การที่มีการจัดอำนาจหน้าที่หรือลำดับขั้นการบังคับบัญชาที่สลับซับซ้อน มีการแบ่งงานกันทำตามความต้องการเฉพาะด้านที่มีความซับซ้อนตามความชำนาญเฉพาะด้าน และมีกฎระเบียบข้อบังคับ[3] 
    3. มีการใช้ระบบคุณธรรม คือ การวัดประสิทธิภาพ และความสามารถด้านความยุติธรรม โดยไม่ใช้ชาติตระกูล ระบบอุปถัมภ์หรือความสัมพันธ์ส่วนบุคคล[3] 
    4. ต้องเป็นการบริหารงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีหนทางที่เอื้ออำนวยให้เกิดประสิทธิภาพ ในการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นความประหยัด ความรวดเร็ว ในปัจจุบันได้มีการประยุกต์นำวิธีการปฏิบัติงานของเอกชนมาใช้ในวงการราชการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การนำหลักปฏิบัติ 5 ส. มาใช้ในการปฏิบัติงาน เป็นต้น[3]

ความสำคัญของระบบราชการ[แก้]

      เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ระบบราชการนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง แม้ประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติ จะเป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณะ แต่ระบบราชการจะเป็นผู้นำนโยบายสาธารณะนั้นไปปฏิบัติโดยมุ่ง “การบำบัดทุกข์บำรุงสุข”ของประชาชน เพื่อให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข เพื่อบ้านเมืองจะได้มีความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยซึ่งเป็นเป้าหมายที่มาแต่โบราณ และขยายไปถึงการทำนุบำรุงราษฎรให้สมบูรณ์พูนสุข ปราศจากภัยจากต่างชาติหรือโจรผู้ร้าย นอกจากนั้นระบบราชการยังต้องบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และนำพาประเทศชาติไปสู่การพัฒนาที่ดียิ่งๆขึ้น ดังนั้น ระบบราชการจึงมิได้บริหารประเทศเพื่อรักษาเอกราช ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นตัวเคลื่อนไหวและเป็นตัวกระตุ้นในการพัฒนาชาติ หรือเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงด้วย และนอกจากระบบราชการจะมีหน้าที่นำนโยบายไปปฏิบัติแล้ว ในความเป็นจริง ระบบราชการยังมีบทบาทในการทำนโยบายสาธารณะร่วมกับฝ่ายการเมืองอีกด้วย[4]

หลักการทั่วไปในการจัดระเบียบบริหารราชการ[แก้]

      ตามปกติหลักการทั่วไปในการจัดระเบียบบริหารราชการของประเทศต่างๆ ในปัจจุบันมีใช้กันอยู่ 3 หลัก คือ หลักการรวมอำนาจ หลักการแบ่งอำนาจ และหลักการกระจายอำนาจ[5]

หลักการรวมอำนาจ[แก้]

      เป็นหลักในการจัดระเบียบบริหารราชการโดยการรวมอำนาจการบริหารไว้ที่ส่วนราชการต่างๆ ในส่วนกลาง อันได้แก่ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ โดยส่วนราชการ ในส่วนกลางจะแต่งตั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีสายบังคับบัญชาเป็นลำดับขั้นออกไปปฏิบัติงาน ในทุกส่วนของประเทศ ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาและวินิจฉัยสั่งการจากส่วนกลาง อำนาจและความรับผิดชอบสูงสุดจึงอยู่กับผู้บังคับบัญชาในส่วนกลาง ซึ่งได้แก่ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี และข้าราชการและเจ้าหน้าที่ระดับรองๆลงมา[6] หลักการรวมอำนาจในการบริหารไว้ที่ส่วนกลางมีข้อดีหลายประการ เช่น การรวมอำนาจในการบริหารเป็นวิธีการที่จะอำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้เสมอภาคกันทั่วประเทศ และรักษาไว้ซึ่งเอกภาพในการบริหาร เพื่อให้ประสานและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วประเทศ เนื่องจากอำนาจในการควบคุมบัญชาและสั่งการรวมอยู่ในศูนย์กลางเดียวกัน และการบริหารราชการส่วนกลางมีเจ้าหน้าที่ที่คอยปฏิบัติตามคำสั่งทั่วประเทศ จึงทำให้เกิดเอกภาพหรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการบริหารเป็นอย่างดี[7]

หลักการแบ่งอำนาจ[แก้]

      เป็นหลักในการจัดระเบียบการบริหารราชการโดยราชการบริหารส่วนกลาง ได้แบ่งอำนาจในการบริหารราชการบางส่วนไปให้หน่วยราชการหรือตัวแทนของราชการบริหารส่วนกลางได้มีอำนาจในการตัดสินใจ การบังคับบัญชา รวมทั้งการวินิจฉัยสั่งการแทนราชการบริหารส่วนกลางในระดับหนึ่ง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่หน่วยงานบริหารราชการส่วนกลางที่เป็นตัวแทนไปปฏิบัติงานประจำในเขตการปกครองส่วนภูมิภาคต่างๆของประเทศเพื่อดำเนินการงานในกิจการบางอย่างที่ไม่ได้เกี่ยวกับประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียของส่วนรวมได้ตามระเบียบแบบแผนที่กำหนดไว้[8] และการปฏิบัติของภูมิภาคนั้นจะต้องให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อนโยบายของส่วนกลางหรือของคณะรัฐมนตรี หรือตัวบทกฎหมายของประเทศ การบริหารราชการส่วนภูมิภาค มี 2 ระดับ คือ จังหวัด และอำเภอ การแบ่งอำนาจการปกครองจึงเป็นการที่ราชการบริหารส่วนกลางแบ่งอำนาจหน้าที่ที่เป็นของราชการส่วนกลางบางส่วนให้เจ้าหน้าที่ส่วนกลางที่ส่งไปประจำยังราชการส่วนภูมิภาค แต่เจ้าหน้าที่ที่ส่งไปประจำราชการส่วนภูมิภาคนั้น ผู้แต่งตั้งและมีอำนาจในการบังคับบัญชายังเป็นราชการส่วนกลาง[9]

หลักการกระจายอำนาจ[แก้]

      เป็นหลักในการจัดระเบียบบริหารราชการโดยการกระจายหรือโอนอำนาจในการบริหารไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปดำเนินการโดยตรง โดยมีความเป็นอิสระ มีงบประมาณและรายได้เป็นของท้องถิ่นเอง มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเป็นของท้องถิ่นเอง ในการดำเนินกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายให้[10] โดยราชการส่วนกลางมีบทบาทแต่เพียงกำกับดูแลองค์กรและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกรอบของกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ แต่มิได้เข้าไปบังคับบัญชาหรือสั่งการแต่อย่างใด และในการกระจายอำนาจการปกครอง เชื่อกันว่าจะเป็นหลักการที่จะทำให้ผู้รับบริการจะได้รับบริการสาธารณะที่ตรงกับความประสงค์ และทันกับความต้องการอย่างแท้จริง เพราะผู้ให้บริการซึ่งได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าราชการส่วนกลางจึงได้รับรู้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนและสามารถที่จะจัดทำบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของราษฎรได้ดีกว่าและตรงกับความต้องการได้มากกว่า[11]

ข้าราชการการเมืองกับข้าราชการประจำ[แก้]

         โดยแท้จริงแล้ว ข้าราชการการเมืองจะแยกออกจากข้าราชการประจำอย่างเด็ดขาด ซึ่งจะมีความสัมพันธ์ที่อยู่ภายใต้กรอบของนโยบายตามที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยทั้งสองฝ่ายจะไม่ก้าวก่าย ในบทบาทภารกิจที่ได้รับมอบหมาย กล่าวคือ “ข้าราชการการเมือง จะต้องยอมรับ เคารพในขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของข้าราชการประจำ ขณะเดียวกันข้าราชการการเมืองจะต้องมีความเข้มแข็ง ที่จะควบคุมข้าราชการประจำให้ปฏิบัติงานอยู่ในขอบเขตและเงื่อนไขภายใต้บริบทการบริหารราชการตามระบอบประชาธิปไตย นอกจากนั้นข้าราชการประจำต้องเข้าใจและไม่ล้ำเส้นในภารกิจของข้าราชการการเมือง” หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ของข้าราชการการเมืองกับข้าราชการประจำนั้น เป็นความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิดจนบางครั้งมีการเหลื่อมล้ำกันไปมา ส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายการเมืองทำการล้ำเส้นแบ่งของฝ่ายข้าราชการประจำจนเป็นข้อขัดแย้ง[12] และถึงแม้ว่าข้าราชการจะเป็นบุคคลธรรมคนหนึ่งที่อาจจะมีผลประโยชน์ และต้องการแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ตามขอบเขตที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ข้าราชการจะต้องไม่นำอำนาจหน้าที่ของตัวเองเข้าไปพัวพันกับการเมือง
        ด้วยเหตุนี้ข้าราชการจึงต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างยุติธรรม ไม่พึ่งพิงกับพรรคการเมือง ไม่สนใจต่ออำนาจทางการเมือง แต่สิ่งที่เราเห็นคือ การที่ระบบราชการอิงแอบกับอำนาจทางการเมือง ทำให้ข้าราชการมีอำนาจมากขึ้น ในขณะเดียวกันนักการเมืองก็มีอำนาจมากขึ้นด้วย ข้าราชการที่ไม่สุจริตชอบเข้าข้างนักการเมืองเพื่อหวังผลในหน้าที่การงาน เงิน หรืออำนาจในการตอบแทน ส่วนนักการเมืองก็ต้องการการกรุยทางจากข้าราชการเพื่อเอื้อและให้ความสะดวกแก่การแสวงหาอำนาจของนักการเมือง[13]

อำนาจหน้าที่ของระบบราชการ[แก้]

1.อำนาจหน้าที่ในการนำกฎหมายและนโยบายไปปฏิบัติ เป็นอำนาจหน้าที่ที่ระบบราชการที่จะนำกฎหมายไปบังคับใช้ และนำนโยบายไปปฏิบัติให้ปรากฏเป็นจริงจนบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ สืบเนื่องมาจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือผู้นำฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรีนั้นดำรงตำแหน่งในเวลาที่จำกัด ดังนั้นโดยทั่วไปจึงไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่มีเวลา ไม่คุ้นเคยกับภูมิหลังของปัญหาต่างๆ และไม่มีสมรรถภานะที่จะนำกฎหมายและนโยบายไปปฏิบัติให้เป็นผลด้วยตนเอง ตรงกันข้ามกับข้าราชการประจำซึ่งจะเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ เพราะนอกจากจะเป็นผู้ที่สรรหามาอย่างดี มีความรู้ และยังปฏิบัติตามแนวความคิดการแบ่งงานกันทำ[14] อีกทั้งระบบราชการนั้นยังมีบทบาทในการสร้างชาติ การเปลี่ยนแปลงระบบ เพื่อความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมหรือการพัฒนาประเทศชาตินั่นเอง

2.อำนาจหน้าที่ในการกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับ เนื่องจากระบบราชการรับเอาเพียงนโยบายหรือแนวทางกว้างๆมาบริหารจัดการกับภารกิจที่สลับซับซ้อนมากมาย และต้องเกี่ยวข้องกับทั้งตัวข้าราชการประจำซึ่งมีจำนวนนับล้านคนเช่นในกรณีของประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็ต้องให้บริการแก่ประชาชนทั้งประเทศ[14] ดังนั้นระบบราชการจึงมีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชน หรือนิติบุคคลกระทำการบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบในทางที่ไม่ดีต่อสังคม หรือส่งเสริมสนับสนุนกระทำการบางอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ห้ามขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในสภาวะน้ำท่วม เป็นต้น

3.อำนาจหน้าที่ในการให้บริการประชาชน ระบบราชการจะแบ่งโครงสร้างออกเป็นกระทรวง ทบวง กรมและหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำหน้าที่เฉพาะด้านในการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความเชี่ยวชาญขององค์การและข้าราชการที่สังกัดในองค์การนั้น เช่น กระทรวงศึกษาธิการมีโรงเรียนต่างๆ เป็นหน่วยงานทำหน้าที่ในการจัดการศึกษา แต่ยังมีหลายหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ซึ่งอาจเห็นว่าเป็นประโยชน์เฉพาะบางกลุ่ม ไม่ใช่สำหรับคนส่วนใหญ่แต่ก็เป็นสิ่งที่ระบบราชการมีความจำเป็นต้องดำเนินบทบาทหน้าที่นั้น เช่น กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ ทำหน้าที่ในการรายงานสภาวะน้ำขึ้น น้ำลง เวลาดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก[15] รวมทั้งการดูแลสงเคราะห์คนยากจน คนพิการ การก่อสร้างถนนหนทาง เป็นต้น

4.อำนาจหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลความต้องการของประชาชน การทราบถึงข้อเรียกร้อง ความต้องการของประชาชนในด้านต่างๆ ไม่เพียงจะช่วยทำให้หน่วยงานราชการรีบเร่งปรับปรุงแก้ไข หรือดำเนินการจัดหาตรงตามที่ต้องการอันเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การแสวงหามาตรการหรือแนวทางแก้ไขในระยะยาวด้วยการนำข้อมูลที่รวบรวมมาได้ นำเสนอแก่ฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายหรือนำเสนอแก่รัฐบาลเพื่อกำหนดนโยบายต่อไป[15]ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่ของระบบราชการจึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของประชาชน

อ้างอิง[แก้]

  1. บูฆอรี ยีหมะ. (2559). ความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 181-182.
  2. ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร. (2559). รัฐศาสตร์. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.หน้า 150.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร. (2559). รัฐศาสตร์. หน้า 151.
  4. คณะกรรมการกลุ่มผลิตชุดวิชาหลักพื้นฐานทางรัฐศาสตร์. (2546). หลักพื้นฐานทางรัฐศาสตร์. สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. หน้า 309.
  5. โครงสร้างและปัญหาอุปสรรคในระบบราชการไทย. สืบค้นเมื่อ 02-04-2560.
  6. https://www.slideshare.net/ewsarana/5-4582982. สืบค้นเมื่อ 02-04-2560.
  7. สมาน รังสิโยกฤษฏ์. (2530). การบริหารราชการ. สวัสดิการสำนักงาน ก.พ. หน้า 14.
  8. คณะกรรมการกลุ่มผลิตและบริหารชุดวิชาการบริหารภาครัฐ. (2552). การบริหารภาครัฐ. สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. ISBN 974-645-746-2. หน้า 153.
  9. การบริหารราชการแผ่นดิน. สถาบันพระปกเกล้า. สืบค้นเมื่อ 03-04-2560.
  10. การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นของประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 03-04-2560.
  11. คณะกรรมการกลุ่มผลิตและบริหารชุดวิชาการบริหารภาครัฐ. (2552). การบริหารภาครัฐ. สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. ISBN 974-645-746-2. หน้า 145.
  12. การเมืองกับราชการประจำ. วารสารข้าราชการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. สืบค้นเมื่อ 08-04-2560.
  13. ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร. (2559). รัฐศาสตร์. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 152.
  14. 14.0 14.1 คณะกรรมการกลุ่มผลิตชุดวิชาหลักพื้นฐานทางรัฐศาสตร์.หลักพื้นฐานทางรัฐศาสตร์. หน้า 311-312.
  15. 15.0 15.1 บูฆอรี ยีหมะ.ความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์. หน้า 183-184.

บรรณานุกรม[แก้]

  • ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร. (2559). รัฐศาสตร์. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 974-13-3296-3.
  • บูฆอรี ยีหมะ. (2559). ความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 978-616-413-415-7.
  • คณะกรรมการกลุ่มผลิตชุดวิชาหลักพื้นฐานทางรัฐศาสตร์. (2546). หลักพื้นฐานทางรัฐศาสตร์. สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. ISBN 974-645-329-7.