ข้ามไปเนื้อหา

ประพาศ ศกุนตนาค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประพาศ ศกุนตนาค
เกิด24 ธันวาคม พ.ศ. 2475
เสียชีวิต26 ธันวาคม พ.ศ. 2567 (92 ปี)
โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสสุปรียา ศกุนตนาค
บุตร4 คน
โทรทัศน์ทองคำรางวัลเกียรติยศคนทีวี (พ.ศ. 2554)

พลตรี ประพาศ ศกุนตนาค (24 ธันวาคม พ.ศ. 2475 – 26 ธันวาคม พ.ศ. 2567) อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549[1] และเป็นบิดาของ พลเอก ศานติ ศกุนตนาค หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา และ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4[2]

วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก
video icon ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ, วิดีโอยูทูบ

ประวัติ

[แก้]

พลตรี ประพาศ เกิดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นบุตรของขุนเหมสมาหาร (ประพงศ์ ศกุนตนาค) อดีตนายอำเภอสีคิ้วที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีกบฏบวรเดช และนางเหมสมาหาร (พริ้ง ศรีเพ็ญ) เป็นหลานปู่ของหลวงสรรพกิจโกศล (ปาน) อดีตนายอำเภอพุทไธสง ต้นสกุล "ศกุนตนาค"[3]

พล.ต.ประพาศ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์, โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย, โรงเรียนเตรียมนายร้อย รุ่นที่ 17[3] และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) รุ่นที่ 10 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม[4]

การทำงาน

[แก้]

ราชการทหารและการเมือง

[แก้]

พลตรี ประพาศ รับราชการอยู่ในเหล่าทหารสื่อสารมาโดยตลอด หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนวิชาทหารในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า[3] เป็นระยะเวลา 18 ปี โดยเป็นอาจารย์ผู้สอนของนายทหารผู้มีบทบาทสำคัญในประเทศ เช่น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอก อุดมเดช สีตบุตร เป็นต้น[5]ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ขณะดำรงยศ พันเอก ได้รับตำแหน่งโฆษกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ต่อมาในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ขณะดำรงยศพลตรีได้รับตำแหน่ง โฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พลตรี ประพาศ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2549[6]

ผู้ประกาศข่าวและผู้บรรยาย

[แก้]

พลตรี ประพาศ เป็นผู้ประกาศข่าวของช่อง 5 ในยุคแรกร่วมกับเสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์ และสุชาติ นาทะพันธุ์[7][8] รวมถึงยังเป็นผู้ประกาศข่าวของช่อง 7 ยุคก่อตั้งสถานีที่ยังคงอยู่ในความดูแลของ ททบ.5 และยังออกอากาศเป็นภาพขาวดำอยู่

พลตรี ประพาศ ยังมีความแม่นยำเรื่องของงานพระราชพิธี ราชาศัพท์ และการออกเสียงพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์อย่างถูกต้อง ทุกพระองค์ จึงเป็นผู้วางระเบียบวิธีการในการอ่านข่าวในพระราชสำนักของผู้ประกาศข่าวทุกสถานี เป็นผู้ฝึกสอนผู้ประกาศข่าว เรื่องหลักการใช้ภาษาไทย การอ่านออกเสียงให้ถูกต้อง อีกทั้งเป็นวิทยากรอบรมเรื่องการประกาศข่าว ให้กับกรมประชาสัมพันธ์ ททบ.5 และหน่วยงานจำนวนมาก ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 40 ปี[9]

หลังเกษียณอายุราชการ พลตรี ประพาศ ได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก และได้รับโอกาสให้เป็นผู้บรรยายงานพระราชพิธีและรัฐพิธีที่ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยหลายครั้ง โดยงานที่เขาภูมิใจที่สุดคือได้เป็นหัวหน้าคณะผู้บรรยายในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2549 ต่อมาได้ทำหน้าที่เดียวกันในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 และพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 ตามลำดับ[5]

ด้านการละครและดนตรี

[แก้]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 พลตรี ประพาศ ขณะมียศเป็นพันตรี ได้มีโอกาสแสดงละครเวทีเฉพาะพระพักตร์และละครโทรทัศน์หลายเรื่องด้วยกัน โดยเรื่องที่สร้างชื่อเสียงได้แก่ สี่แผ่นดิน ในปี พ.ศ. 2517 ซึ่งเขารับบทเป็นคุณเปรม แสดงคู่กับพัชรา ชินพงสานนท์ ร่วมด้วยสุมาลี ชาญภูมิดล (ต่อมาสมรสกับ ชูศักดิ์ สุธีรธรรม) และรจิต ภิญโญวนิชย์ กำกับการแสดงโดย สุพรรณ บูรณะพิมพ์[5][10]

นอกจากนี้พลตรี ประพาศ ยังเป็นนักดนตรีที่เล่นดนตรีไทยได้หลายชิ้น สามารถร้องเพลงไทย และขับเสภาได้ไพเราะ จนได้รับคำชมจากหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เขามีโอกาสแสดงดนตรีและขับเสภาในงานสำคัญต่าง ๆ หลายครั้ง อีกทั้งยังเป็นเจ้าของเสียงขับเสภาในละครโทรทัศน์แนวจักร ๆ วงศ์ ๆ หลายเรื่อง เช่น ยอพระกลิ่น, แก้วหน้าม้า, นางสิบสอง, โกมินทร์, ปลาบู่ทอง, ดาบเจ็ดสีมณีเจ็ดแสง และขวานฟ้าหน้าดำ เป็นต้น[5][11] เขายังเป็นผู้ก่อตั้งสำนักสยามเสภานุรักษ์ และเป็นผู้ควบคุมหลักของชมรมดนตรีไทยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในการแสดงถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันปิยมหาราชของทุกปีด้วย[3]

โฆษกคณะปฏิวัติ

[แก้]

พลตรี ประพาศ ได้รับฉายาว่าเป็น "โฆษกคณะปฏิวัติ" เช่นเดียวกับอาคม มกรานนท์ เนื่องจากมักเป็นผู้ที่อ่านประกาศของคณะรัฐประหารหรือคณะปฏิรูปหรือเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงของชาติหลายครั้ง เช่น เป็นผู้อ่านประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2534, ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535[12] และอ่านประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2549 เป็นต้น[5]

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

พลตรี ประพาศ สมรสกับสุปรียา (สกุลเดิม: กล้าหาญ, ถึงแก่กรรมแล้ว) มีบุตร 4 คน ได้แก่ พลเอก ศานติ ศกุนตนาค หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาของกองทัพบก และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4, ปิยะ ศกุนตนาค ผู้อำนวยการโรงเรียนศิริมงคลศึกษา[13], ปวรัตน์ และสุพัตรา[3]

พลตรีประพาศเคยเลี้ยงไก่ชนประมาณ 100 ตัว ซึ่งรวมถึงไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาว รวมถึงมีความชื่นชอบในไม้ประดับ, พระเครื่อง, รถจิ๊ป ส่วนโรคประจำตัวได้แก่ เบาหวาน, น้ำท่วมปอด และหัวใจ เขาถูกฝังอุปกรณ์ช่วยการเต้นของหัวใจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 และต้องไปตรวจการทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าวทุก 6 เดือน[5]

ถึงแก่อนิจกรรม

[แก้]

พลตรี ประพาส ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร สิริอายุ 92 ปี 2 วัน[14] ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร กำหนดสวดพระอภิธรรมระหว่างวันที่ 3-9 มกราคม พ.ศ. 2568 และกำหนดจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 12 มกราคม ปีเดียวกัน[15]

รางวัล

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549
  2. UANTRONGTON, PIYAWAN (2024-12-26). "สิ้น "พลตรี ประพาศ ศกุนตนาค" เจ้าของเสียง "โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง"". www.komchadluek.net.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 บทบาทการส่งเสริมดนตรีไทยของพลตรีประพาศ ศกุนตนาค
  4. "พลตรีประพาศ ศกุนตนาค เมื่อ 'รู้รัก' จึงสมัครเข้ามาเล่น | Kotavaree" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 ""เสียงอย่างนี้หาไม่ได้อีกแล้ว" เปิดเส้นทางนักขับเสภาระดับตำนาน ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ถึงกับคอนเฟิร์ม!!". mgronline.com. 2019-09-06.
  6. "ประธานสภานิติบัญญัติฯ "มีชัย ฤชุพันธุ์" หรือ "ชัยอนันต์ สมุทวณิช"!?". mgronline.com. 2006-10-12.
  7. การวิเคราะห์วิวัฒนาการทางบุคลิกภาพของผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ - วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  8. "ในโลกดนตรีของ เสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์ ...ที่คุณอยากรู้ | OK NATION". www.oknation.net (ภาษาอังกฤษ).
  9. "พลตรีประพาศ ศกุนตนาค เจ้าของเสียง "โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง" เสียชีวิตในวัย 92 ปี". pptvhd36. 2024-12-26.
  10. "สี่แผ่นดิน - อิฉันรักพระเจ้าแผ่นดิน". mgronline.com. 2011-11-30.
  11. "พลตรีประพาศ ศกุนตนาค เมื่อ 'รู้รัก' จึงสมัครเข้ามาเล่น | Kotavaree".
  12. มติชนสุดสัปดาห์ (2016-11-13). "บทความพิเศษ : ความจริงที่หายไปในพฤษภา'35 (ตอน13) - มติชนสุดสัปดาห์".
  13. ผู้บริหารโรงเรียนศิริมงคลศึกษา
  14. "สิ้น "พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค" เจ้าของเสียง โปรดฟังอีกครั้ง". Thai PBS.
  15. "สิ้นแล้ว พล.ต. ประพาศ ศกุนตนาค โฆษกคณะรัฐประหารยุค รสช.-คมช. เสียชีวิต". THE STANDARD. 2024-12-26.
  16. "พลิกโผ "โตโน่" คว้านำชายโทรทัศน์ทองคำ "ชมพู่" ซิวนำหญิง ส่วน "เมย์ เฟื่องฯ" โกยตู้มเข้างาน". mgronline.com. 2012-02-12.
  17. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๘ ข หน้า ๙, ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
  18. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๒๐๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๖
  19. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน เก็บถาวร 2022-07-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๓๗ ง หน้า ๒, ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๖
  20. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐๕๒, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]