นกอีแจว
นกอีแจว | |
---|---|
![]() | |
ชุดขนในฤดูผสมพันธุ์ของนกอีแจว มีขนหางคู่กลางยาว หน้าและปีกสีขาว ขนต้นคอสีทองเรียบ | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Charadriiformes |
วงศ์: | Jacanidae |
สกุล: | Hydrophasianus |
สปีชีส์: | H. chirurgus |
ชื่อทวินาม | |
Hydrophasianus chirurgus (Scopoli, 1786) | |
![]() | |
แหล่งกระจายพันธุ์ของนกอีแจว (H. chirurgus) | |
ชื่อพ้อง | |
Parra chinensis |
นกอีแจว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hydrophasianus chirurgus;อังกฤษ: pheasant-tailed jacana) เป็นนกชนิดเดียวในสกุลนกอีแจว (Hydrophasianus) ลักษณะเฉพาะคือมีชุดขนนอกฤดูและในฤดูผสมพันธุ์แตกต่างกันที่สีขนและความยาวของหาง โดยตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ตัวเมียหนึ่งตัวจะจับคู่ผสมพันธุ์กับเพศผู้หลายตัวและทำรังหลายรังในบริเวณเดียวกันในแบบฮาเร็ม ลูกหลายครอกถูกเลี้ยงโดยตัวผู้หลายตัว ลักษณะเด่นร่วมเช่นเดียวกับนกในวงศ์นกพริกและนกอีแจว (Jacanidae) คือ มีนิ้วตีนและเล็บตีนยาวเพื่อช่วยพยุงตัวขณะเดินบนใบพืชลอยน้ำในถิ่นอาศัยหนองน้ำตื้น บางครั้งอาจว่ายน้ำหรือลุยน้ำที่ลึกถึงต้นขาขณะหาอาหาร นกอีแจวกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นหลัก พบได้ตามแหล่งน้ำจืดในเอเชียเขตร้อน ตั้งแต่เยเมนทางตะวันตกไปจนถึงฟิลิปปินส์ทางตะวันออกและอาจอพยพในบางช่วงตามฤดูกาล เป็นนกชนิดเดียวในวงศ์ที่อพยพเป็นระยะทางไกล
อนุกรมวิธาน[แก้]
| |||||||||||||||||||||||||||||||||
แผนผังวิวัฒนาการชาติพันธุ์อย่างย่อ แสดงความสัมพันธ์ในวงศ์ Jacanidae ของสกุลต่าง ๆ อ้างอิงการศึกษาลำดับยีน จากไมโตคอนเดรีย [3] |
นกอีแจว (Hydrophasianus chirurgus) ถูกอธิบายโดยนักสำรวจชาวฝรั่งเศสปิแอร์ ซอนเนอร์ (Pierre Sonnerat) ในปีค.ศ.1776 ในหนังสือการเดินทางสู่นิวกินี (Voyage à la Nouvelle Guinée) ซึ่งรวมภาพประกอบของนกที่เขาเรียกว่า "ศัลยแพทย์แห่งเกาะลูซอน" (Le Chirurgien de l'Isle de Luzon) อธิบายถึงนกที่มีนิ้วเท้ายาว มีส่วนขยายของขนหางยาวคล้ายกับมีดที่ใช้ในการถ่ายเลือดโดยศัลยแพทย์ในยุคนั้น[4][5] จากคำอธิบายนี้ (Le Chirurgien) นกอีแจวได้รับชื่อทวินามโดยจิโอวานนี สโคโปลี (Giovanni Scopoli) ในปีค.ศ.1787 ในหนังสือ การอธิบายพืชและสัตว์อย่างละเอียดเล่มที่ 2 (Deliciae florae et faunae Insubricae, Pars II) ซึ่งนกอีแจวถูกจัดในสกุล Tringa และชื่อเฉพาะ chirurgus (ชื่ิอทวินาม:Tringa chirurgus)[6] ต่อมานกอีแจวถูกจัดในสกุล Parra (และมีชื่อพ้อง Parra luzonensis) ร่วมกับนกอีแจวชนิดอื่น ๆ และต่อมาสกุลในวงศ์นกอีแจวและนกพริก (ต่อมาเรียกว่า Parridae) ก็แยกจากกันเป็นหลายสกุล[7]
ชื่อสกุล Hydrophasianus ของนกอีแจวหมายถึง "ไก่ฟ้าน้ำ" หรือ "ไก่น้ำ" ถูกสร้างขึ้นโดยโยฮันน์ เกออก วากเลอร์ (Johann Georg Wagler) ในปีค.ศ. 1832 เพื่อแยกนกอีแจวออกจากนกอีแจวอื่นและนกพริก เนื่องจากนกอีแจว (H. chirurgus) มีความโดดเด่น[8][9] คือ
- จะงอยปากแหลมเรียวยาว
- ไม่มีแถบกระจังหน้าผาก (lappet)
- นิ้วตีนหลังที่สั้นกว่านกสกุลนกพริก (Metopidius)
- ขนปลายปีก (primary) นอกสุดสองเส้นรูปใบหอก และขนปลายปีกเส้นที่สี่ชี้แหลม
- ขนสองชุดนอกฤดูและในฤดูผสมพันธุ์แตกต่างกัน
สกุลนกอีแจว (Hydrophasianus) มีสมาชิกเพียงชนิดเดียว (monotypic genus) คือ นกอีแจว
ชื่ออื่น[แก้]
ลักษณะทางสรีรวิทยา[แก้]
เป็นนกขนาดเล็ก ปลายปากถึงโคนหางยาว 30 เซนติเมตร จะงอยปากแหลมตรง ปีกแต่ละข้างมีเดือยยื่น[10] ตัวเมียจะมีขนาดโตกว่าตัวผู้เล็กน้อย สีของปาก ขา และนิ้วเป็นสีเทาอมฟ้า หน้าผาก รอบตาและคอด้านล่างสีขาว กระหม่อมสีน้ำตาล คอด้านบนสีเหลือง สลับแถบสีดำขั้นกลางระหว่างคอสองด้าน ปีกสีขาวตัดกับสีของลำตัวด้านบนน้ำตาลดำ[11] และลำตัวด้านล่างซึ่งมีสีดำเป็นมันชัดเจน[10] ขณะบินปีกขาวปลายปีกดำ[11]
นิ้วตีนที่ยาวมากและเล็บตีนยาวช่วยในการกระจายน้ำหนักตัว ทำให้สามารถเดินบนกอพืชลอยน้ำ ใบพืชลอยน้ำหรือใบบัวที่ลอยอยู่เหนือน้ำเพื่อหาอาหารได้ นิ้วตีน 4 นิ้ว ด้านหน้า 3 นิ้ว และด้านหลัง 1 นิ้ว[12]
นกอีแจวมีลักษณะโดดเด่นมากที่สีขนและขนหางที่ยาว ซึ่งยาวที่สุดในวงศ์นกพริกและนกอีแจว และเป็นชนิดเดียวในวงศ์มีชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์และในฤดูผสมพันธุ์ที่แตกต่างกัน โดยเปลี่ยนขนเมื่อใกล้ฤดูผสมพันธุ์ ชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์ หน้าผากถึงท้ายทอยน้ำตาลเข้ม หน้าและคอขาวมีแถบตาต่อเนื่องถึงแถบอกสีดำ ข้างคอเหลือง ลำตัวด้านบนน้ำตาล ลำตัวด้านล่างขาว คล้ายนกพริกที่ยังไม่เต็มวัย แต่ขณะบินปีกขาวปลายปีกดำ ส่วนชุดขนในฤดูผสมพันธุ์ ขนหางคู่กลางจะยื่นยาวออกไปอีก 25 เซนติเมตร ยาวมากกว่าปกติถึง 10 เท่า[10] เป็นที่มาของชื่อนกอีแจวในภาษาอังกฤษ นกอีแจวหางไก่ฟ้า (pheasant-tailed jacana)
การวัดขนาด[แก้]
การวัดขนาดนกตามมาตรฐานจากการศึกษาตัวอย่างมีชีวิตในช่วงฤดูผสมพันธุ์ในประเทศไทย โดยเฉลี่ยจากตัวผู้ 17 ตัว และตัวเมีย 4 ตัว ร่วมกับข้อมูลบางส่วนของการวัดส่วนหัวจาก Rasmussen and Anderton (2005)[13] (จากปลายจะงอยปากถึงด้านหลังของกะโหลก)
ขนาดนกในช่วงฤดูผสมพันธุ์ | ||
---|---|---|
ตัวผู้ | ตัวเมีย | |
น้ำหนัก (กรัม) | 129.2 | 140.7 |
จะงอยปาก (เซนติเมตร) | 2.89 | 3.12 |
ปีก (เซนติเมตร) | 24.76 | 25.83 |
กระดูกข้อเท้า (เซนติเมตร) | 5.72 | 6.33 |
หาง (เซนติเมตร) | 25.75 | 28.34 |
หัว (เซนติเมตร) | 5.3-5.5 | 5.8-6.3 |
ความยาว (เซนติเมตร) | 45.91 | 50.27 |
พฤติกรรม[แก้]
มักอาศัยตามแหล่งน้ำ เพื่อหากินอาหารที่จับและจิกกินตามผิวน้ำ อาหารได้แก่สัตว์น้ำเล็ก ๆ รวมทั้งแมลงต่าง ๆ[14] และพืชน้ำบางชนิดบางส่วน[10]เช่น เมล็ดพืช ราก[15] สามารถว่ายน้ำได้คล่อง[12] และบินได้ไกลในการอพยพ แต่ในแหล่งน้ำมักบินไม่นานเพื่อหลบหนี เป็นนกที่ไม่ได้พบเห็นโดยทั่วไป ในฤดูหนาวอาจรวมเป็นกลุ่มได้ถึง 50–100 ตัว[15]
เสียงร้อง "มี-อู่ย" หรือ "แจว-แจว"[11][16][15]
การผสมพันธุ์และทำรัง[แก้]
ผสมในช่วงเดือนพฤษภาคม–สิงหาคม นกอีแจวตัวเมียเป็นฝ่ายเกี้ยวพาราสี[10] โดยเมื่อเลือกคู่แล้ว นกตัวเมียเดินหาจุดที่เหมาะสมในการรับน้ำหนักนกสองตัว โดยยืนก้มหัวและยกก้นขึ้น นกตัวผู้จะร่อนลงบนหลังของตัวเมียและกระพือปีกในการทรงตัวขณะผสมพันธุ์[16][17]
นกอีแจวตัวเมียหลังจากเลือกคู่และผสมพันธุ์แล้วจะหาที่วางไข่ ตัวเมียเป็นฝ่ายทำรังแบบง่าย ๆ ส่วนมากใช้จอกหูหนู และพืชจำพวกสาหร่ายมากองรวมกันอย่างลวก ๆ บนแพจอกหูหนู หรือพืชลอยน้ำ วางไข่ครอกละประมาณ 3–4 ฟอง[10] ไข่สีเขียวสนิมทองแดง (เขียวอมฟ้า) แกมจุดดำน้ำตาล บางครั้งอาจพบไข่บางใบมีสีฟ้าน้ำทะเล[18][19] การวางไข่ของตัวเมียแต่ละฟองห่างกันประมาณ 24 ชั่วโมง จากนั้นเมื่อครบ 4 ฟอง ตัวเมียปล่อยให้นกอีแจวตัวผู้ซึ่งมีรูปร่างขนาดที่เล็กกว่ารับภาระฟักไข่และเลี้ยงลูกตามลำพัง ส่วนตัวเมียจะไปจับคู่ใหม่ ซึ่งอาจมีการจับคู่ตัวผู้ถึง 4–10 ตัวในช่วงเวลาฤดูผสมพันธุ์หนึ่ง ๆ [10] (เรียก polyandry)
ในปากีสถาน นกตัวเมียจับคู่ 2 ครั้ง[20] ในประเทศไทยพบว่านกตัวเมียใช้เวลา 17–21 วันในการจับคู่วางไข่ครั้งต่อไป[21] ในประเทศจีนพบว่าตัวเมียใช้เวลา 9–12 วันและจับคู่ตัวผู้ประมาณ 7–10 ตัวในหนึ่งฤดูกาล[22]
พฤติกรรมของนกตัวเมียที่จับคู่กับตัวผู้หลายตัวนี้ยังพบได้ในญาติร่วมวงศ์อย่างนกพริก วงศ์นกคุ่มอืด รวมไปถึงนกในเครือญาตินกชายเลนที่ตัวเมียมีสีสันสวยงามกว่าตัวผู้อย่าง นกโป่งวิด และนกลอยทะเล
การกกไข่[แก้]
ในช่วงสองสามวันแรกของการฟักไข่นกอีแจวตัวเมียอาจช่วยปกป้องรัง และบินไล่นกน้ำอื่น ๆ ที่เข้ามาใกล้เกินไป อาจเกิดการต่อสู้ปกป้องในระยะประชิดรังโดยการหนีบจะงอยปากนกตัวอื่นและโจมตีด้วยปีกทั้งสองข้าง นกอีแจวตัวผู้มักออกหาอาหารในตอนเช้าและตอนเย็น และนั่งกกอยู่ที่รังในช่วงที่ร้อนที่สุดของวัน[23]
นกอีแจวตัวผู้ อาจขยับหรือลากไข่ไปรอบ ๆ โดยกดไข่ด้วยจะงอยปากกับอก หรือระหว่างปีกและลำตัว เมื่อถูกรบกวนนกตัวผู้อาจผลักไข่ให้ลอยน้ำไปยังบนกลุ่มพืชลอยน้ำใกล้เคียง[24] หรืออาจย้ายรังไปที่ใหม่เป็นระยะห่างประมาณ 15 เมตร[25] บางครั้งนกตัวผู้อาจแสดงอาการปีกหักหรือวิ่งหนีในระยะที่ีห่างจากรังเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ล่า
มีระยะเวลาฟักไข่ 22–28 วัน ไข่อาจตกเป็นเหยื่อของนกกระสา และลูกนกถูกล่าโดยนกอื่นเช่น เหยี่ยวขาว[26]
ลูกนกมีขนสีเหลืองอ่อนประกอบลายพรางคล้ายลูกไก่ แต่มีขาและตีนที่ใหญ่โต เมื่อภัยมาพ่อนกจะส่งเสียงร้อง แจ๊ว ๆ แจว ๆ เพื่อให้ลูกดำน้ำแล้วใช้ปลายปากโผล่สำหรับหายใจได้ยาวนาน
ถิ่นอาศัยและนิเวศวิทยา[แก้]
นกอีแจว (H. chirurgus) มีถิ่นอาศัยตามแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่[10] เช่น บึง หนอง ทะเลสาบ ที่มีพืชน้ำลอยตัวมากพอ[11] ในปากีสถาน[20] เนปาล อินเดียเขตร้อน ศรีลังกา[27] ไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่า ไทย คาบสมุทรมลายู บอร์เนียวใต้ หมู่เกาะฟิลิปปินส์ จีนตอนใต้ และเกาะไต้หวัน[28][12][16]
นกอีแจวมีถิ่นอาศัยส่วนใหญ่ทับซ้อนกับนกพริก ยกเว้นในศรีลังกาที่พบเฉพาะนกอีแจว
นกอีแจวที่อพยพส่วนมากเป็นประชากรในทางใต้ของจีนและแถบเทือกเขาหิมาลัย และมักอพยพไปยังแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียตอนใต้ตามลำดับ ในหนานจิงนกอีแจวเริ่มอพยพในเดือนพฤศจิกายนและกลับมาในฤดูร้อนประมาณสัปดาห์ที่สามของเดือนเมษายน นกบางตัวเมื่อมาถึงมีขนชุดนอกฤดูผสมพันธุ์[29] ประชากรนกอีแจวที่อาศัยบนเกาะไต้หวันถูกระบุว่าใกล้สูญพันธุ์ บางครั้งประชากรนกในฤดูร้อนอาจแยกย้ายกันไปหลายทิศทางและมีบันทึกว่าเป็นนกนกพลัดหลงในโซโคตรา[30] กาตาร์ [31] ออสเตรเลียและทางตอนใต้ของญี่ปุ่น นกอีแจวมีแนวโน้มที่จะพบได้ทั่วไปในที่ราบระดับความสูงที่ไม่มาก แต่บางครั้งมีบันทึกว่าพบบนเทือกเขาหิมาลัยในฤดูร้อนที่ความสูง 3,650 เมตร ในแคชเมียร์ และที่ความสูง 3,800 เมตร ในลาหูล (Lahaul)[32][33][34]
ในประเทศไทย[แก้]
นกอีแจวเป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์[10][35][36] และตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2535 นกอีแจวเป็นสัตว์คุ้มครองบัญชีรายชื่อ ปี 2546 ในลำดับที่ 838[10][37][38]
ในประเทศไทยพบนกอีแจวในบึงบอระเพ็ด[10][12] ด้วยพฤติกรรมนกตัวเมียหนึ่งตัวจะจับคู่ผสมพันธุ์กับนกตัวผู้หลายตัวในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ปล่อยให้พ่อนกต้องฟักไข่และเลี้ยงดูลูกนกตามลำพัง แผงขนคอสีทอง และหางที่ยาวมาก จึงมักเรียกนกอีแจวว่า "ราชินีบึงบอระเพ็ด" หรือ "ราชินีแห่งนกน้ำ"[39][12][40] แหล่งน้ำอื่นที่พบได้แก่ จังหวัดพะเยา จังหวัดเชียงใหม่ ทะเลสาบสงขลา[41] ภาคใต้ตอนล่างเช่น ทะเลน้อยในจังหวัดพัทลุง[42][43]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ แม่แบบ:Url=https://www.iucnredlist.org/details/22693543/0
- ↑ Viscount Walden, Arthur (1877). "A list of the bird known to inhabit the Philippine Archipelago". Transactions of the Zoological Society of London. 9 (2): 125–252. doi:10.1111/j.1096-3642.1875.tb00238.x.
- ↑ Whittingham, L.A.; Sheldon, F.H.; Emlen, S.T. (2000). "Molecular phylogeny of jacanas and its implications for morphologic and biogeographic evolution" (PDF). The Auk. 117 (1): 22–32. doi:10.1642/0004-8038(2000)117[0022:MPOJAI]2.0.CO;2.
- ↑ Hoffmann, Alfred (1950). "Zur Brutbiologie des polyandrischen Wasserfasans Hydrophasianus chirurgus". Scop. Ornithol. Ber. (in German). 2: 119–126.
- ↑ Sonnerat, Pierre (1776). Voyage à la Nouvelle Guinée : dans lequel on trouve la description des lieux, des observations physiques & morales, & des détails relatifs à l'histoire naturelle dans le regne animal & le regne végétal. Paris: Chez Ruault. pp. 82–84.
- ↑ Scopoli, Giovanni Antonio (1787). Deliciae florae et faunae Insubricae. Pars II[ลิงก์เสีย] (PDF). p. 92.
- ↑ Blanford, W.T. (1898). The Fauna of British India. Birds. Volume IV. Calcutta: Taylor and Francis. pp. 219–221.
- ↑ Baker, E.C. Stuart (1929). The Fauna of British India. Birds. Volume VI (2 ed.). London: Taylor and Francis. pp. 42–43.
- ↑ Mitchell, P. Chalmers (1905). "On the anatomy of Limicoline birds; with special reference to the correlation of modification". Proceedings of the Zoological Society of London. 2: 155–169.
- ↑ 10.00 10.01 10.02 10.03 10.04 10.05 10.06 10.07 10.08 10.09 10.10 "ข้อมูลนกบึงบอระเพ็ด". 123.242.166.5.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 "นกอีแจว Pheasant-tailed Jacana ( Hydrophasianus chirurgus (Scopoli, 1786) )". www.lowernorthernbird.com.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 ""อีแจว"ราชินีแห่งนกน้ำ ไอดอล"เรยา"บึงบอระเพ็ด". www.thairath.co.th. 2011-09-13.
- ↑ Rasmussen, P.C.; Anderton, J. (2005). Birds of South Asia. The Ripley guide. Volume 2. Smithsonian Institution and Lynx edicions. p. 150.
- ↑ OwYong, Alan (2020-02-17). "Feeding behaviour of Pheasant-tailed Jacana, Hydrophasianus chirurgus". Singapore Bird Group (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ 15.0 15.1 15.2 "Hydrophasianus chirurgus (Scopoli, 1786)". India Biodiversity Portal.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 "นกอีแจว - eBird". ebird.org.
- ↑ "Pheasant-tailed Jacana Macaulay Library ML714944". macaulaylibrary.org (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Livesey, T.R. (1921). "Eggs of the Pheasant-tailed Jacana (H. chirurgus)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 27 (4): 954.
- ↑ Inglis, C.M. (1920). "Abnormal coloured egg of the Pheasant-tailed Jacana (Hydrophasianus chirurgus)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 27 (2): 403.
- ↑ 20.0 20.1 Khan, Zahid Iqbal; Mughal, Mohammad Shareef (2014-11-03). "The Breeding Biology of Pheasant Tailed Jacana, Hydrophasianus chirurgus in Wetlands of Pakistan". Journal of Bioresource Management (ภาษาอังกฤษ). 1 (2): 5. doi:10.35691/JBM.4102.0010. ISSN 2309-3854.
- ↑ Thong-aree, Siriporn; Khobkhet, Obas; Lauhachinda, Virayuth; Pong-umpai, Somnuk (1995). "Breeding biology of Pheasant-tailed Jacana Hydrophasianus chirurgus in central Thailand" (PDF). Nat. Hist. Bull. Siam Soc. 43: 289–302.
- ↑ Hoffmann, Alfred (1949). "Über die Brutpflege des polyandrischen Wasserfasans, Hydrophasianus chirurgus (Scop.)". Zoologische Jahrbücher (ภาษาเยอรมัน). 78: 367–403.
- ↑ Chen, Te-Chih; Lin, Yao-Sung; Ding, Tzung-Su (2008). "Time Budget of Polyandrous Pheasant-Tailed Jacana (Hydrophasianus chirurgus) during Breeding Season in Taiwan". Taiwania. 53 (2): 107–115. doi:10.6165/tai.2008.53(2).107.
- ↑ Serrao, J.S; Shekhar, P.B. (1962). "Pheasant-tailed Jacanas at Kalina". Newsletter for Birdwatchers. 2 (1): 4–6.
- ↑ Hoffmann, Alfred (1950). "Zur Brutbiologie des polyandrischen Wasserfasans Hydrophasianus chirurgus". Scop. Ornithol. Ber. (ภาษาเยอรมัน). 2: 119–126.
- ↑ Thong-aree, Siriporn; Khobkhet, Obas; Lauhachinda, Virayuth; Pong-umpai, Somnuk (1995). "Breeding biology of Pheasant-tailed Jacana Hydrophasianus chirurgus in central Thailand" (PDF). Nat. Hist. Bull. Siam Soc. 43: 289–302.
- ↑ Dinesh E. Gabadage, et al (2015). Avifaunal diversity in the peripheral areas of the Maduruoya National Park in Sri Lanka: With conservation and management implications. Journal of Asia-Pacific Biodiversity 08(02):121 - 132.
- ↑ "Hydrophasianus chirurgus (Pheasant-tailed Jacana) - Avibase". avibase.bsc-eoc.org.
- ↑ Hoffmann, Alfred (1949). "Über die Brutpflege des polyandrischen Wasserfasans, Hydrophasianus chirurgus (Scop.)". Zoologische Jahrbücher (in German). 78: 367–403.
- ↑ Demey, Ron, ed. (2005). "Recent report". Bulletin of the African Bird Club. 12 (1): 71.
- ↑ Balmer, D.; Betton, K., eds. (2006). "Around the region". Sandgrouse. 28 (2): 184–192.
- ↑ Betterton, F.A. (1947). "The altitudinal limit of the Pheasant-tailed Jacana [Hydrophasianus chirurgus (Scopoli)]". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 47 (2): 384.
- ↑ Ali, Salim; Ripley, S. Dillon (1980). Handbook of the Birds of India and Pakistan. Volume 2. Megapodes to Crab Plover (2 ed.). Oxford University Press. pp. 199–200.
- ↑ Whistler, Hugh (2008-04-03). "VIII.-The Birds of Lahul, N.W. Himalaya". Ibis (ภาษาอังกฤษ). 67 (1): 152–208. doi:10.1111/j.1474-919X.1925.tb02913.x.
- ↑ "นกอีแจว Pheasant-tailed Jacana". Birds of Thailand: Siam Avifauna.
- ↑ "นกอีแจว Pheasant-tailed Jacana – ภาพถ่ายนกทุกชนิดที่พบในประเทศไทย".
- ↑ "สัตว์ป่าคุ้มครอง - โลกสีเขียว". www.verdantplanet.org.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 109 ตอนที่ 15.
- ↑ "บึงบอระเพ็ด". https://www.bangkokbiznews.com/.
- ↑ "นก'หลายผัว หลายเมีย'". https://www.posttoday.com สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2564.
- ↑ Siriporn Thong-aree, Obas Khobkhet, Virayuth Lauhachinda and Somnuk Pong-umpai. (1995) Breeding Biology of Pheasant-tailed Jacana Hydrophasianus Chirurgus in Central Thailand.
- ↑ "ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าทะเลน้อย". paro6.dnp.go.th.
- ↑ "ยินดีต้อนรับสู่จังหวัดพัทลุง www.phatthalung.go.th โดยสำนักงานจังหวัดพัทลุง". www.phatthalung.go.th.