ข้ามไปเนื้อหา

แป้งพม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ทานาคา)
หญิงชาวพม่าทาแป้งพม่า

แป้งพม่า หรือ ทานาคา (พม่า: သနပ်ခါး สนป์ขา:; อักษรโรมัน: thanaka หรือ thanakha; ออกเสียง: [θənəkʰá] ตะนะค่า) เป็นแป้งสีนวล ทำจากกาบไม้บด ชาวพม่าทุกเพศทุกวัยใช้ผัดหน้าตลอดจนแขนขาและลำตัวจนเป็นเอกลักษณ์[1][2][3] แป้งพม่ายังแพร่หลายมาถึงประเทศข้างเคียง รวมถึงประเทศไทยด้วย[2][3][4]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

วรรณกรรมเรื่องแรกสุดที่เอ่ยถึงแป้งพม่า คือ กลอนเรื่องหนึ่งซึ่งพระชายาพระองค์หนึ่งของพระเจ้าราชาธิราชแห่งรามัญประเทศทรงนิพนธ์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 14[5] วรรณกรรมอีกเรื่องซึ่งชีนมหารัฐสาระ (Shin Maharatthasara) พระภิกษุชาวพม่า ประพันธ์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ก็กล่าวถึงแป้งพม่าเช่นกัน[5]

วิธีการผลิต

[แก้]

ต้นไม้หลายชนิดใช้ทำแป้งพม่าได้ ต้นไม้เหล่านี้มีดาษดื่นในภาคกลางของพม่า เช่น ต้นแก้ว (Murraya spp. (thanaka)) และต้นมะขวิด (Limonia acidissima)[6] ต้นไม้เหล่านี้ต้องมีอายุอย่างน้อยสามสิบห้าปี แล้วจึงจะพิจารณาอีกทีว่า เหมาะสมจะตัดมาทำแป้งใช้หรือยัง แป้งพม่าทำโดยใช้เปลือก เนื้อ หรือรากไม้ดังกล่าวบดหรือฝนกับแท่นหินผสมกับน้ำ[2][6][4] แท่นหินนั้นมีช่องให้น้ำซึมผ่านออกไปด้านข้างได้ ที่สุดแล้วจะได้แป้งมีเนื้อเหลวเอาไว้ทา[4]

แป้งพม่าที่นิยมที่สุดมีสองชนิด คือ แป้งชเวโบ (Shwebo thanaka) แพร่หลายมาจากเขตซะไกง์ และแป้งชีนมะดอง (Shinmadaung thanaka) แพร่หลายมาจากเขตมะกเว นอกจากนี้ ปัจจุบันแป้งเมาะแม (Maukme thanaka) จากภาคใต้ของรัฐชาน ก็ได้รับการทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกขายเป็นคู่แข่งรายใหม่ เดิมขายเฉพาะไม้ไปบดใช้เอง แต่ปัจจุบันมีรูปแบบที่บดเป็นของเหลวหรือทำเป็นแป้งฝุ่นขายแล้ว

การใช้

[แก้]

สตรีในพม่าใช้แป้งนี้มานานกว่าสองพันปี[4] ชาวพม่าจะทาแป้งพม่าบนใบหน้าให้น่าดูชม ปรกติแล้วมักแต้มเป็นจุด ๆ บนแก้ม หรือใช้นิ้วจุ้มป้ายเป็นริ้วบนแก้ม หรือทาเป็นวงบนแก้ม และมักทาสันจมูกด้วย[4] แป้งนี้ยังใช้กับอวัยวะร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า

ที่แป้งได้รับความนิยมเพราะมีกลิ่นหอมดังไม้จันทน์[2][7] นอกจากเพื่อเป็นเครื่องสำอางดังกล่าวแล้ว แป้งพม่ายังมีสรรพคุณให้ความเย็นและป้องกันแดดเผา[1] อนึ่ง เชื่อกันว่า แป้งพม่าช่วยขจัดสิวเสี้ยน ทำให้ผิวนุ่มขึ้น[4] ทั้งยังป้องกันเชื้อรา เพราะมีสารออกฤทธิ์ คือ คูมาริน (coumarin) และมาร์เมซิน (marmesin)[2]

ระเบียงภาพ

[แก้]
การทาแป้งพม่า
อุตสาหกรรมแป้งพม่า

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Streissguth, Thomas (2007). Myanmar in Pictures. Twenty-First Century. pp. 44, 73. ISBN 0-8225-7146-3. สืบค้นเมื่อ 2008-01-21.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Mabberley, D J (1997). The Plant-Book: A Portable Dictionary of the Vascular Plants. Cambridge University Press. p. 470. ISBN 0-521-41421-0. สืบค้นเมื่อ 2008-01-21.
  3. 3.0 3.1 Kemp, Charles; Lance Andrew Rasbridge (2004). Refugee and Immigrant Health: A Handbook for Health Professionals. Cambridge UniversityPress. p. 98. ISBN 0-521-53560-3. สืบค้นเมื่อ 2008-01-21.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 Moe, J (17 September 2008). "Thanaka withstands the tests of time". Mizzima News. สืบค้นเมื่อ 2008-12-06.
  5. 5.0 5.1 Yeni (5 August 2011). "Beauty That's More Than Skin Deep". The Irrawaddy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-06. สืบค้นเมื่อ 7 August 2011.
  6. 6.0 6.1 Köllner, Helmut & Axel Bruns (1998). Myanmar (Burma). Hunter Publishing. p. 18. ISBN 3-88618-415-3. สืบค้นเมื่อ 2008-01-21.
  7. Baker, William; IraBruce Nadel (2004). Redefining the Modern. Fairleigh Dickinson University Press. p. 24. ISBN 0-8386-4013-3. สืบค้นเมื่อ 2008-01-21.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]