ข้ามไปเนื้อหา

ตำบลบ้านระกาศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำบลบ้านระกาศ
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันTambon Ban Rakat
ประเทศไทย
จังหวัดสมุทรปราการ
อำเภอบางบ่อ
พื้นที่
 • ทั้งหมด25 ตร.กม. (10 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2563)
 • ทั้งหมด6,814 คน
 • ความหนาแน่น272.56 คน/ตร.กม. (705.9 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 10560
รหัสภูมิศาสตร์110202
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

บ้านระกาศ เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มีเนื้อที่ประมาณ 25 ตารางกิโลเมตรหรือ 15,625 ไร่ ภาษาท้องถิ่นคือภาษาไทยภาคกลาง ประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา จำนวนหมู่บ้าน 10 หมู่บ้าน

ชื่อตำบล

[แก้]

ชื่อ "บ้านระกาศ" นั้นมาจากการเขียนด้วยตัวสะกดแบบดั้งเดิมก่อนมีการปรับปรุงการเขียนภาษาไทยว่า "บ้านระกาด" ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการเรียกเพี้ยนมาจากชื่อ บ้านตะกาด โดยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

  • ตะกาด ๑ (น.) ที่ดินซึ่งอยู่หลังหาดชายทะเลขึ้นไป แต่มีน้ำเค็มซึมขึ้นไปถึงได้
  • ตะกาด ๒ (น.) ชื่อกุ้งขนาดเล็กหลายชนิดในวงศ์ Penaeidae เช่น ชนิด Metapenaeus affinis พบในบริเวณน้ำกร่อยและชายฝั่งทะเล, ชันกาด [ชัน-นะ-กาด] ตะเข็บ หรือ หัวมัน ก็เรียก

เมื่อรวมกันแล้วชื่อ บ้านระกาด หรือ บ้านตะกาด นั้น น่าจะหมายถึงพื้นที่ที่น้ำเค็มซึมขึ้นไปถึงและมีกุ้งตะกาดอยู่มาก จึงเรียกว่า "บ้านตะกาด" ซึ่งภายหลังเพี้ยนเป็น บ้านระกาด และกลายเป็น บ้านระกาศ เมื่อมีการปรับปรุงการเขียนภาษาไทยในที่สุด

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ตำบลบ้านระกาศเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอบางบ่อในจังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีลำคลองธรรมชาติไหลผ่าน มีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนาข้าว เลี้ยงสัตว์น้ำ ทอเสื่อกก เป็นต้น

สันนิษฐานว่า เมื่อสมัยพระเจ้าทรงธรรม โปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคลองสำโรงเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง จากสำโรง (ปัจจุบันเป็นตำบลอยู่ในอำเภอพระประแดงและอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ) ถึงท่าสะอ้าน (ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา) ต่อมามีผู้คนเริ่มอพยพมาอาศัยตามลำคลอง โดยมาตั้งกลุ่มเครือญาติ (สกุล) ตามลำคลองเล็ก ๆ ตลอดแนวลำคลองสำโรงและบริเวณใกล้เคียง

เมื่อสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาให้พม่าครั้งที่ 2 มีการอพยพจากอยุธยามาตั้งรกรากที่บ้านระกาศ โดยพื้นที่นี้ก็เรียกว่า "บ้านระกาด" อยู่ก่อนแล้ว ต่อมามีคนอพยพจากหลายถิ่นมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านระกาศ เช่น ชาวบางน้ำผึ้งพระประแดง มาอยู่ที่เกาะล่าง ใช้นามสกุล "น้ำผึ้ง" ชาวบางหญ้าแพรก มาอยู่บริเวณหมู่ที่ 6 ชาวปากลัด มาอยู่ที่บางนางเพ็ง ชาวลาวพานทอง มาอยู่ที่เกาะอินโดจีน (เปรียบเทียบกับอินโดจีนของฝรั่งเศสที่ทำงานเป็นเวลาพักเป็นเวลา) ชาวตำบลพิมพา อำเภอบางปะกง (จังหวัดฉะเชิงเทรา) ชาวจีนและชาวรามัญ (มอญ) มาอยู่เลียบคลองสำโรง บริเวณหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 3

วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

จากข้อมูลในคำประพันธ์ นิราศเมืองแกลง ของสุนทรภู่ ที่ได้บันทึกการเดินทางผ่านบ้านระกาศ ช่วงต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประมาณปี พ.ศ. 2349 ชี้ให้เห็นว่าบ้านระกาศมีมาก่อนหน้านั้นแล้วดังนี้

"ถึงหย่อมย่านบ้านระกาดต้องลงถ่อ ค่อยลอยรอเรียงลำตามน้ำไหล
จนล่วงเข้าหัวป่าพนาลัย ล้วนเงาไม้มืดคล้ำในลำคลอง
ระวังตัวกลัวตอคะเคียนขวาง เป็นเยี่ยงอย่างผู้เฒ่าเล่าสนอง
ว่าผีสางสิงนางตะเคียนคะนอง ใครถูกต้องแตกตายลงหลายลำ
พอบอกกันยังมิทันจะขาดปาก เห็นเรือจากแจวตรงหลงถลำ
กระทบผางตอนางตะเคียนตำ ก็โคลงคว่ำล่มลงในคงคา
พวกเรือพี่สี่คนขนสยอง ก็เลยล่องหลีกทางไปข้างขวา
พ้นระวางนางรุกขฉายา ต่างระอาเห็นฤทธิ์ประสิทธิ์จริง
ขอนางไม้ไพรพฤกษ์เทพารักษ์ ขอฝากภัคินีน้อยแม่น้องหญิง
ใครสามารถชาติชายจะหมายชิง ให้ตายกลิ้งลงเหมือนตอที่ตำเรือฯ"

เรื่องเล่าอื่น ๆ

[แก้]

อีกนัยหนึ่งจากบันทึกไว้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส (ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ) มักจะธุดงค์จากวัดน้อยมาทางไร่พริก ผ่านบ้านระกาศเป็นประจำทุกปี โดยมีพระผู้ติดตามประมาณ 300 รูป

มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งหลวงพ่อปานเดินทางธุดงค์มาพักที่บ้านระกาศริมหนองพลูใหญ่ (บริเวณหมู่ที่ 7–9) ประชาชนได้ข่าวก็นำอาหารมาถวายเป็นการทำบุญ ด้วยเหตุว่าถ้วยชามที่นำมาถวายนั้นมีมาก ประชาชนจึงเถียงกันไม่รู้จบว่าเป็นของใคร หลวงพ่อท่านจึงติงว่า อย่าถกเถียงกัน แต่ประชาชนไม่ยอมเลิกเถียงกัน หลังจากนั้นท่านจึงเพียงแต่ผ่านเท่านั้นไม่พักที่แห่งนี้อีก เปลี่ยนไปพักที่หลังทุ่งบางวัว เมืองฉะเชิงเทรา และอาศัยชาวบ้านแถบนั้นแทน

มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า หลวงพ่อเป็นผู้กล่าวคำว่าร้ายกาจ เรียกว่า บ้านร้ายกาจ ก่อนจะเพี้ยนเป็น บ้านระกาศ แต่ความจริงท่านเพียงแต่ติงเรื่องการถกเถียงกันเท่านั้น

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

ตำบลบ้านระกาศตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอ มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงเรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลบางบ่อ ตำบลเปร็ง ตำบลคลองสวน และตำบลบางพลีน้อย (อำเภอบางบ่อ)
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลบางพลีน้อย (อำเภอบางบ่อ)
  • ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลบางพลีน้อย (อำเภอบางบ่อ) ตำบลหอมศีล (อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา) ตำบลคลองด่าน และตำบลบางบ่อ (อำเภอบางบ่อ)
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลบางบ่อ (อำเภอบางบ่อ)

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

ตำบลบ้านระกาศแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็น 10 หมู่บ้าน ได้แก่

1. หมู่ที่ 1 บ้านปีกกา 6. หมู่ที่ 6 บ้านคลองระกาศหรือบ้านระกาศ
2. หมู่ที่ 2 บ้านบางนางเพ็ง 7. หมู่ที่ 7 บ้านคลองระกาศ บ้านคลองบ้านระกาศ หรือบ้านเกาะบน
3. หมู่ที่ 3 บ้านระกาศหรือบ้านบางนางเพ็ง 8. หมู่ที่ 8 บ้านคลองบางกงหรือบ้านเล้าหมู
4. หมู่ที่ 4 บ้านคลองใหญ่หรือบ้านวัดระกาศ 9. หมู่ที่ 9 บ้านคลองปิ่นแก้ว
5. หมู่ที่ 5 บ้านคลองระกาศ บ้านระกาศ หรือบ้านเกาะล่าง 10. หมู่ที่ 10 บ้านคลองไทรโยค

การคมนาคม

[แก้]

ทางบก

[แก้]

ถนนสายหลัก ได้แก่

ทางน้ำ

[แก้]

ลำคลองสำคัญ ได้แก่

คลองพระยาศรีพิพัฒน์ คลองปีกกา คลองหัวแม่ชี้ คลองอ้อม คลองโคร่งคร่าง คลองชวดตาลึก
คลองแขวงเชย คลองหม้อข้าวหม้อแกง คลองไข่นก คลองหลุมโพรง คลองเล้าหมู คลองชวดตาแอบ
คลองชวดกวาด คลองปิ่นแก้ว คลองเล้าหมูล่าง คลองบ้านระกาศ คลองบางนางเพ็ง คลองสำโรง
คลองไทรโยค คลองปลัดสาย คลองบางกง คลองบางคอแหลม คลองบางกระยาง คลองชวดตาน้อย
คลองขวาง คลองชวดตาช้าง คลองตาโฮ่ คลองลัดยายเต่า คลองศาลา คลองบางคา
คลองชวดใหญ่ คลองลัดตะกาด คลองสายทอง คลองควาย คลองชวดตายศ คลองลัดวัด

สถานที่สำคัญ

[แก้]
  • วัดบ้านระกาศ
    • สันนิษฐานว่าก่อตั้งประมาณ พ.ศ. 2320 ถือเป็นวัดเก่าวัดหนึ่ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดคือ
  • วัดบางนางเพ็ง
    • เดิมชื่อว่าวัดดอน ก่อนจะเปลี่ยนเป็น "วัดบางอีเพ็ง" และภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดบางนางเพ็ง" ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2473 เป็นวัดของชาวรามัญ (มอญ) เนื่องด้วยชาวบ้านที่อยู่บริเวณวัดนี้ย้ายถิ่นฐานมาจากที่อื่น เช่น ลาดกระบัง, บางพลีใหญ่, ตำบลกิ่งแก้ว, จังหวัดปทุมธานี ซึ่งส่วนมากเป็นชาวรามัญ
  • โรงเรียนชุมชนบ้านระกาศ
    • ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 เป็นโรงเรียนประชาบาลประเภทนายอำเภอจัดตั้ง ดำรงอยู่ด้วยเงินศึกษาพลี อาศัยศาลาการเปรียญวัดบ้านระกาศเป็นสถานที่เรียนชั่วคราว ก่อนจะก่อสร้างอาคารเรียนเอกเทศขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2480
  • โรงเรียนวัดบางนางเพ็ง
    • ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2479 เดิมชื่อโรงเรียนประชาบาลตำบลบ้านระกาศ 2
  • โรงเรียนคลองบ้านระกาศ
    • ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2483 เดิมชื่อว่าโรงเรียนประชาบาลคลองบ้านระกาศ 3 สร้างขึ้นโดยรับบริจาคที่ดินจากนายฉิว แป้นเหมือน ต่อมา นายวาด วัฒนานนท์ ได้บริจาคที่ดินเพิ่มเติม
  • โรงเรียนตลาดบางพลีน้อย
    • ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 เดิมตั้งอยู่บนที่ดินของขุนเปรมพลีเขต ก่อนจะย้ายมาตั้ง ณ ที่ตั้งปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2498 บนที่ดินของนางสงวน ยืนยง
  • สถานีอนามัย หมู่ที่ 3
  • สถานีอนามัย หมู่ที่ 8 (การเดินทางจะต้องอาศัยเรือเท่านั้น เนื่องจากไม่มีถนนเข้าถึง)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]