ข้ามไปเนื้อหา

ค่ายตากสิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ค่ายตากสิน
ส่วนหนึ่งของกองทัพเรือไทย
เมืองจันทบุรี จันทบุรี
ศาลพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าค่ายตากสิน
แผนที่
พิกัด12°37′02″N 102°06′37″E / 12.617351°N 102.110287°E / 12.617351; 102.110287
ประเภทค่ายทหาร
ข้อมูล
เจ้าของ ฝรั่งเศส (พ.ศ. 2436–2447)
สยาม (พ.ศ. 2447–2482)
 ไทย (พ.ศ. 2482–ปัจจุบัน)
ผู้ดำเนินการNaval flag of ไทย กองทัพเรือไทย
ควบคุมโดย หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
ประวัติศาสตร์
สร้างพ.ศ. 2436 (กองทหารฝรั่งเศส)
สร้างโดยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 กองทหารฝรั่งเศส
การใช้งานพ.ศ. 2447 (รัฐบาลสยามและไทย)
พ.ศ. 2507; 60 ปีที่แล้ว (2507) (พระราชทานนาม)

ค่ายตากสิน (อังกฤษ: Taksin Camp) เป็นค่ายทหารที่ตั้งของหน่วยนาวิกโยธิน กองทัพเรือไทย ตั้งอยู่ในตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี

ประวัติ

[แก้]

ค่ายตากสิน แต่เดิมในปี พ.ศ. 2310 พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งในการตั้งค่ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหลังจากเข้าตีเมืองจันทบุรี และตั้งค่ายในการเตรียมกำลังเพื่อกอบกู้ชาติจากพม่าครั้งตอนเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310[1]

จากนั้นใน ร.ศ. 112 หรือ พ.ศ. 2436 ประเทศฝรั่งเศสได้ใช้กำลังในการให้ประเทศไทยยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงในลาวและเขมรส่วนนอก ซึ่งในอดีตเป็นประเทศราชของไทยให้กับประเทศฝรั่งเศส โดยระหว่างกระบวนการต่าง ๆ ทางสนธิสัญญา ฝรั่งเศสได้เข้ามายึดเมืองจันทบุรีของไทยไว้เป็นประกันจนถึงปี พ.ศ. 2448 เนื่องจากมีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ สามารถควบคุมอ่าวสยามที่ต่อเนื่องกับแหลมมลายูของอังกฤษ รวมถึงเป็นเมืองที่เป็นทางผ่านไปยังจัดหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงคือ บ่อพลอย บ่อไพลิน ในพื้นที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ นอกจากนี้ยังมีอู่ต่อเรือที่มีศักยภาพสูงบริเวณปากแม่น้ำจันทบุรีที่สามารถต่อเรือขนาด 300-400 ตัน ซึ่งเป็นการตัดกำลังของไทยในอีกทางหนึ่ง โดยกองทหารฝรั่งเศสได้ตั้งค่ายทหารขึ้นในบริเวณปากน้ำแหลมสิงห์[1]จำนวน 1 กองร้อย[2] และบริเวณบ้านลุ่ม[3] หรือค่ายตากสินในปัจจุบันจำนวน 1 กองพัน[2] ซึ่งคงเหลือหลักฐานทางประวัติศาสตร์อยู่ในค่ายตากสิน ประกอบด้วย อาคารกองรักษาการณ์ อาคารตอนสรรพาวุธและตอนส่งกำลังบำรุง อาคารพัสดุ อาคารคลังแสงหมายเลข 5 และอาคารคลังแสงหมายเลข 6[1]

หลังจากทหารฝรั่งเศสถอนกำลังออกจากเมืองจันทบุรีใน พ.ศ. 2447[2] พื้นที่ของค่ายตากสินถูกใช้งานในด้านต่าง ๆ ตามลำดับ ดังนี้[1]

  • พ.ศ. 2447 หลังจากการฉลองเมือง ได้ทำการย้ายสถานที่ราชการต่าง ๆ จากริมน้ำเข้าไปในค่ายทหารฝรั่งเศส เช่น โรงเรียน ศาลมณฑล ที่ว่าการอำเภอเมือง[2]
  • พ.ศ. 2449 มีการจัดตั้งกองทหารเรือและนำไปประจำการในค่ายทหารฝรั่งเศส ต่อมาได้ปรับมาเป็นที่ทำการของทหารบก คือกองพันกรมทหารพราน[2]
  • พ.ศ. 2472 ใช้งานเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประชาบาล และบ้านพักของข้าราชการฝ่ายปกครอง[1]
  • ไม่ปรากฏปี มีการระบุว่ามีการใช้งานพื้นที่ค่ายตากสินโดยตำรวจตระเวนชายแดนอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะถูกใช้งานต่อโดยนาวิกโยธิน[4]
  • พ.ศ. 2479 ใช้งานเป็นที่ตั้งของกองพันทหารม้าที่ 4 (ม.พัน.4)[1]
  • พ.ศ. 2488 ใช้งานเป็นที่ตั้งของกองพันทหารราบนาวิกโยธินที่ 3 (พัน.นย.3) เนื่องจากการปฏิบัติงานที่โดดเด่นในการทำสงครามอินโดจีน ทำให้รัฐบาลเห็นควรมอบพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศพื้นที่ดังกล่าวให้นาวิกโยธินดูแล ก่อนที่จะถูกยุบหน่วยเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2494 และมีการส่งทหารบกมารักษาการณ์ในพื้นที่จำนวน 1 หมวด[5]
  • พ.ศ. 2497 ใช้งานเป็นที่ตั้งของกองป้องกันพิเศษจันทบุรี อัตรา 1 กองร้อย ใช้พื้นที่อาคารที่พักแบ่งครึ่งร่วมกันกับโรงเรียนพลตำรวจภูธรภาค 2 จนถึงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2499 โรงเรียนพลตำรวจภูธรภาค 2 ได้ย้ายออกไปจากพื้นที่ค่ายตากสิน[5]
  • พ.ศ. 2498 ได้มีการขยายอัตรากำลังกองป้องกันพิเศษเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม จาก 1 กองร้อย เพิ่มขึ้นเป็น 1 กองพัน เป็น กองพันทหารราบที่ 2 นาวิกโยธิน (พัน.ร.2 นย.) ทำให้ พัน.ร.2 นย. ถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาหน่วย[5]
  • พ.ศ. 2507 กองพันทหารราบที่ 2 นาวิกโยธิน ได้รับพระราชทานนามที่ตั้งหน่วยว่า ค่ายตากสิน[5]
นาวิกโยธินจาก พัน.ร.2 กรม ร.1 ค่ายตากสิน ระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ 2012

ต่อมาในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2518 กองกำลังด้านจันทบุรี–ตราด (กจต.) ได้ย้ายกองบัญชาการจากที่ตั้งเดิม ค่ายกรมหลวงชุมพร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มายังค่ายตากสิน[6] และได้ก่อตั้ง กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด เรียกย่อว่า กปช.จต. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2522[7]

จากนั้นได้มีการปรับสถานะกองพันทหารราบที่ 2 นาวิกโยธิน แปรสภาพเป็น กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กรมผสมนาวิกโยธินในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2521 และปัจจุบันแปรสภาพเป็นกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2532[1]

หน่วยภายใน

[แก้]
นาวิกโยธินจาก พัน.ร.2 กรม ร.1 ค่ายตากสิน ระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ 2024

ค่ายตากสิน ประกอบด้วยที่ตั้งทางทหารของกองทัพเรือ ได้แก่

สิ่งอำนวยความสะดวก

[แก้]

ค่ายตากสิน มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามรูปแบบของค่ายนาวิกโยธิน เช่น

  • กองร้อยพยาบาล – สังกัดกองสนับสนุนการช่วยรบ กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด[8]
  • สนามยิงปืนค่ายตากสิน[9] – สังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน
  • ลานจอดอากาศยาน – สังกัดหมวดบิน 41 ฝูงบินทหารเรือ 3141 กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด[8]
  • สระว่ายน้ำลูกตากสิน ค่ายตากสิน – สังกัดกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด

สถานที่สำคัญ

[แก้]

โบราณสถานค่ายทหารฝรั่งเศส

[แก้]

โบราณสถานค่ายทหารฝรั่งเศส สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เป็นกลุ่มโบราณสถานที่ถูกบูรณะฟื้นฟูโดยมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิมร่วมกับกรมศิลปากร ได้ดำเนินสำรวจและศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ซึ่งก่อนหน้านี้ประสบปัญหาตัวอาคารทีทรุดโทรมไปตามกาลเวลาทั้งปัญหาความชื้นและโครงสร้างทรุดตัว และเริ่มการบูรณะในปี พ.ศ. 2551 และทำพิธีเปิดอาคารโบราณสถานหลังการบูรณะโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิด ใช้วงเงินทั้งสิ้น 45 ล้านบาทในการดำเนินการฟื้นฟูบูรณะ ซึ่งได้มาจากเงินบริจาค การขายของที่ระลึก และการสนับสนุนจากเอกอัคราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยที่ประสานงานกับสมาคมชาวฝรั่งเศส-ไทยเพื่อสาธารณประโยชน์ และภาคเอกชนฝรั่งเศสในประเทศไทย[3]

โบราณสถานประกอบด้วยอาคารจำนวน 7 หลังที่ถูกสร้างและใช้งานโดยกองทัพฝรั่งเศสที่ใช้เป็นกองบัญชาการของทหารฝรั่งเศส โดยปรับเป็นแหล่งเรียนรู้[3][10] ดังนี้

  1. อาคารกองรักษาการณ์ทหารฝรั่งเศส ปรับเป็นส่วนจัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  2. อาคารที่พักทหารฝรั่งเศส ปรับเป็นห้องสมุดสำหรับสืบค้นข้อมูล
  3. อาคารคลังพัสดุ ปรับเป็นส่วนจัดแสดงประวัติเมืองจันทบุรีและกระบวนงานการบูรณะโบราณสถานในค่ายตากสิน
  4. อาคารกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส ปรับเป็นส่วนนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศส ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงสมัยรัชกาลที่ 8
  5. อาคารที่คุมขังทหาร ปรับเป็นส่วนจัดแสดงขั้นตอนในการอนุรักษ์โบราณสถาน
  6. อาคารคลังกระสุนดินดำ (คส.5) ปรับเป็นส่วนนำเสนอเรื่องการรบที่เกาะช้าง
  7. อาคารคลังกระสุนดินดำ (คส.6) ปรับเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสในปัจจุบัน

โบราณสถานค่ายทหารฝรั่งเศส สามารถเข้าชมได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายระหว่างเวลา 08.30-16.30 น.[3]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 "ประวัติค่ายตากสิน - โบราณสถานค่ายทหารฝรั่งเศส". www.wangdermpalace.org.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 จดหมายเหตุสมัยฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรี (พ.ศ. ๒๔๓๖- ๒๔๔๗). หอสมุดแห่งชาติ.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "ชุบชีวิตโบราณสถานค่ายตากสิน บทเรียนจากอดีต ร.ศ.112". www.matichon.co.th. สืบค้นเมื่อ 2024-10-07.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "ค่ายทหารฝรั่งเศสที่จันทบุรี เมื่อ รศ.112 (พ.ศ. 2436)". www.thairath.co.th. 2010-09-26.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "ประวิติค่ายตากสิน จันทบุรี". wangdermpalace.org.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "Royal Thai Navy - Detail History". www.ctbdc.navy.mi.th.
  7. "ผบ.ทร. เยี่ยมทหาร กกล.จันทบุรี-ตราด และฉก.นย. ย้ำทำหน้าที่ห้ามประมาท". www.thairath.co.th. 2023-04-23.
  8. 8.0 8.1 "กองร้อยพยาบาล กองสนับสนุนการช่วยรบ กองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด จัดทีมชุดแพทย์ สนับสนุนการฝึกแผนปฏิบัติเมื่ออากาศยานอุบัติเหตุหรือประสบเหตุฉุกเฉิน". phisweb.nmd.go.th. สืบค้นเมื่อ 2024-10-07.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "ฝึกอบรมการใช้อาวุธปืนข้าราชตำรวจ ทบทวนยิงปืนต่อสู้ภายใต้สภาวะกดดัน | TOPNEWS" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-10-07.
  10. "นิทรรศการ - โบราณสถานค่ายทหารฝรั่งเศส". www.wangdermpalace.org.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)