ครูบาคำหล้า สังวโร
ครูบาคำหล้า สังวโร ( สังวโร ภิกขุ) | |
---|---|
![]() | |
ชื่ออื่น | อาจารย์หล้า |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 23 มกราคม พ.ศ. 2461 (71 ปี) |
มรณภาพ | 8 มกราคม พ.ศ. 2533 |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดพระธาตุขุนห้วยสวด จังหวัดพะเยา |
อุปสมบท | 28 ธันวาคม พ.ศ. 2481 |
พรรษา | 51 |
ครูบาคำหล้า เป็นพระมหาเถระแห่งล้านนา ผู้ที่บูรณะพระธาตุสำคัญหลายแห่ง เช่น พระธาตุดอยตุง วัดพระธาตุดอยจอมสักสังวราราม พระธาตุดอยเขาควาย จังหวัดเชียงราย เจดีย์วัดนาหนุน จังหวัดน่าน ฯลฯ
ประวัติ
[แก้]ครูบาคำหล้า สังวโร เกิดเมื่อวันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2460 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2461) ที่บ้านเลขที่ 16 หมู่ที่ 14 ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรคนสุดท้ายของใจ และน้อย สุภายศ เมื่ออายุ 8 ปี ได้ศึกษาชั้นประถม 1 ที่โรงเรียนจำรูญราษฎร์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย พออายุ 9 ปี ได้เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะ พ่อแม่จึงนำไปถวายตัวเป็นลูกศิษย์ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย ซึ่งขณะนั้นท่านพำนัก ณ วัดเชียงยืน (วัดสันโค้งหลวง) อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย [1]
มีพี่น้องร่วมสายโลหิตห้าคน ดังนี้
- บุญปั๋น เนตรสุวรรณ
- สุจา วิจิตรรัตน์
- สุข สุภายศ
- สุวรรณ สุรัตน์
- คำหล้า สํวโร[2]
ท่านเป็นคนสุดท้องจึงได้นามว่า “คำหล้า”
บรรพชา
[แก้]ครูบาศรีวิชัย ได้ทำการบรรพชาให้ครูบาคำหล้า ณ วัดเชียงยืน ประมาณ พ.ศ. 2470 หลังจากบูรณะพระธาตุดอยตุงเสร็จแล้ว ครูบาศรีวิชัยก็ธุดงค์กลับลำพูน ครูบาคำหล้าได้พำนักที่วัดเชียงยืน หลังจากนั้นท่านก็ได้เรียนหนังสือจนจบชั้นประถม 4 จึงเข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จึงลาออกจากการเป็นนักเรียน ด้านปริยัติธรรมท่านสอบได้นักธรรมชั้นตรี ที่วัดเจ็ดยอด อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ท่านยังได้ศึกษาอักษรพื้นเมือง(อักษรธรรมล้านนา หรือตั๋วเมือง) กับพระครูปัญญา ที่วัดฮ่างต่ำ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เป็นเวลา 3 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2477 - พ.ศ. 2479) [3]
อุปสมบทเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ณ พัทธสีมาวัดมุงเมือง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมีพระครูพุทธิสารเวที (แฮด เทววังโส) เจ้าคณะจังหวัดในขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ โดยได้รับฉายาว่า “ฐิตสํวโร” ครูบาคำหล้าเป็นพระที่มีปฏิปทาคล้ายกับครูบาศรีวิชัยมาก เช่น การไม่ฉันเนื้อ การถือฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ชอบธุดงค์ และสร้างถาวรวัตถุทั้งศาสนสถาน และสาธารณสถาน ครูบาคำหล้า สังวโร เคยธุดงค์ข้ามไปในเขตเมืองเชียงตุง เมืองพะยาก เมืองเชียงรุ่ง เมืองเลน และเคยจำพรรษาที่เมืองผง(เมืองพง) สหภาพพม่า เป็นเวลา 3 ปี ท่านได้สร้างถาวรวัตถุมากมายในเขตจังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยาและจังหวัดน่าน รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง ใน พ.ศ. 2496 ท่านได้รับนิมนต์จากพระพิมลธรรม (อาสภมหาเถระ) วัดมหาธาตุ ให้ไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 3 เดือน [4]
สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานแผ่นดินล้านนา
[แก้]ศาสนสถานที่ครูบาคำหล้า สํวโร สร้างนั้น ผู้ออกแบบและร่วมสร้าง ได้แก่ ครูบาอินถา สุทนฺโต ซึ่งเป็นสหธรรมมิกของครูบาคำหล้า ศาสนสถานที่สำคัญที่ครูบาคำหล้าได้บูรณะซ่อมแซม ได้แก่
- สร้างวัดพระธาตุดอยจอมสักสังวราราม ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
- พระธาตุดอยเขาควาย ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
- สร้างเจดีย์วัดพระธาตุจอมทอง ตำบลปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
- วัดพระธาตุจอมจ้อ ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
- สร้างพระธาตุศรีมหาโพธิ์ วัดพระศรีมหาโพธิ์ ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
- สร้างเจดีย์เด่นหล้าจอมสวรรค์ ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย
- สร้างเจดีย์วัดกู่แก้ว ตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
- สร้างวิหารวัดพระธาตุจอมสวรรค์ บ้านสันขี้เหล็ก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
- สร้างเจดีย์และวิหาร วัดพระธาตุปูล้าน ตำบลไม้ยา อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย
- สร้างเจดีย์ป่าตาล ตำบลป่าตาล อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย
- สร้างเจดีย์ปูขวาง ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
- สร้างเจดีย์วัดนาซาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
- สร้างเจดีย์ขุนบง ตำบลสบบง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
- บูรณะพระธาตุวัดพระธาตุเจดีย์คำ ตำบลเจดีย์คำ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
- สร้างวิหารพระเจ้านั่งดิน ตำบลเวียง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
- สร้างเจดีย์วัดพระแก้ว ตำบลเวียง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
- สร้างเจดีย์และวิหารวัดพระธาตุภูซาง ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
- บูรณะพระอุโบสถวัดบ้านแก ตำบลป่าสัก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ในปี พ.ศ. 2520
- สร้างพระธาตุและวิหารวัดขิงแกง ตำบลจุน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา
- สร้างวิหารวัดสะเกิน ตำบลยอด อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน
- เจดีย์วัดนาหนุน ตำบลแสนทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน [5]
สาธารณสมบัติที่สำคัญที่ครูบาคำหล้า สํวโร สร้างคือ สะพานข้ามแม่น้ำพุง ตำบลป่าแงะ อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย เป็นต้น
มรณภาพ
[แก้]ครูบาคำหล้า สังวโร ท่านได้เลิกสร้างศาสนสถานโดยเข้าไปจำพรรษาในสำนักสงฆ์ขุนห้วยสวด บ้านแวนโค้ง ตำบลฝายกวาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นบริเวณป่าลึกห่างไกลจากการคมนาคมเพื่อบำเพ็ญเพียร ปลายปี พ.ศ. 2532 ครูบาคำหล้า สํวโร ได้ล้มป่วยด้วยโรคลำไส้อักเสบ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเชียงคำ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงรายหลายครั้ง แต่อาการก็ไม่ทุเลาลง ท่านถึงแก่มรณภาพ ณ ตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2533 ศพของครูบาคำหล้า ฌาปนกิจ ณ สำนักสงฆ์ขุนห้วยสวด บ้านแวนโค้ง ตำบลฝายกวาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2535[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประวัติพระอริยะสงฆ์แห่งเชียงราย-พะเยาโดยสังเขป
- ↑ "ชีวประวัติของครูบาคำหล้า ฐิตสํวโร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-08-04.
- ↑ ประวัติพระอริยะสงฆ์แห่งเชียงราย-พะเยาโดยสังเขป
- ↑ ประวัติพระอริยะสงฆ์แห่งเชียงราย-พะเยาโดยสังเขป
- ↑ "ชีวประวัติของครูบาคำหล้า ฐิตสํวโร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-08-04.
- ↑ ประวัติ ครูบาคำหล้า สังวโร
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ครูบาคำหล้า สังวโร สำนักสงฆ์ห้วยขุนสวด จ.พะเยา เก็บถาวร 2013-03-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน