คนไม่สะอาด อำนาจ อิทธิพล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คนไม่สะอาด อำนาจ อิทธิพล
กำกับสตีเว่น โซเดอเบิร์ก
เขียนบทสตีเฟ่น กาแกน
อำนวยการสร้างเอ็ดเวิร์ด ชวิก
มาร์แชลล์ เฮอร์สโควิตซ์
ลอร่า บิ๊กฟอร์ด
นักแสดงนำไมเคิล ดักลาส
เบนิซิโอ เดล โทโร่
แคเธอรีน ซีตา-โจนส์
ดอน ชีเดิล
เดนนิส เควด
โทเฟอร์ เกรซ
หลุยส์ กุซแมน
ซัลมา ฮาเยก (นักแสดงรับเชิญ)
กำกับภาพสตีเว่น โซเดอเบิร์ก
ตัดต่อสตีเฟ่น เมอเรียน
ดนตรีประกอบคลิฟฟ์ มาร์ติเนซ
ผู้จัดจำหน่ายยูเอสเอ ฟิล์มส์
วันฉายสหรัฐ 5 มกราคม 2001
ไทย 5 เมษายน ปีเดียวกัน
ความยาว147 นาที
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
สแปนิช
ทุนสร้าง46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำเงิน207,515,725 ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

คนไม่สะอาด อำนาจ อิทธิพล (อังกฤษ: Traffic) เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด นำแสดงโดย ไมเคิล ดักลาส, เบนิซิโอ เดล โทโร่, แคเธอรีน ซีตา-โจนส์, ดอน ชีเดิล, เดนนิส เควด กำกับการแสดงโดย สตีเว่น โซเดอเบิร์ก

เนื้อเรื่อง[แก้]

ที่ทะเลทราย พรมแดนระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก ฮาเวียร์ โรดวิเกวซ (เบนิซิโอ เดล โทโร่) นายตำรวจหนุ่มตงฉินชาวเม็กซิกัน และมาโนโล ซานเชส (เจคอบ วาร์กัซ) คู่หูอยู่ระหว่างการจับกุมแก๊งค์ค้ายาเสพย์ติดทั้งคู่สังกัดอยู่ในกรมตำรวจ ที่มี นายพลซาลาซ่า (โธมัส มิเลียน) ซึ่งเมื่อทั้งคู่สามารถจับแก๊งค์ค้ายาได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้นายพลซาลาซ่ากระเทือนเท่านั้น เพราะแก๊งค์ค้ายาเหล่านี้ก็ตกอยู่ภายใต้การคุ้มครองของนายพลซาลาซ่า และเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความลุ่มหลง และละโมบ ฮาเวียร์จึงพยายามที่จะต่อต้าน แต่ยิ่งต่อต้านมากเท่าใด เขาก็พบว่า ตัวเองและเพื่อนคู่หู ถลำลึกลงไปในวังวนของความฉ้อฉลมากขึ้นเท่านั้น

ขณะเดียวกันที่อเมริกา อัยการศาลสูงแห่งนครชิคาโก้ โรเบิร์ต เวคฟิล์ด (ไมเคิล ดักลาส) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำแห่งการต่อต้านยาเสพย์ติดรายใหม่ เวคฟิล์ด จึงพร้อมที่จะลุยขจัดกลุ่มค้ายาเสพติดอย่างเต็มที่ โดยขอความร่วมมือจากทางการเม็กซิโก อย่างไรก็ดี ที่บ้าน เขาและภรรยา - บาบาร่า (เอมี่ เออร์วิ่ง) ต้องพบว่าลูกสาววัยรุ่นของเขา คือ แคโรไลน์ (อีริคก้า คริสเตนเซ่น) กำลังติดยาเสพย์ติดอย่างหนัก

ขณะเดียวกันที่ซาน ดิอาโก ตำรวจนอกเครื่องแบบแห่งหน่วยต่อต้านยาเสพติดแห่งอเมริกา (DEA) มอนเทล กอร์ดอน (ดอน ชีดเดิล) และ เรย์ แคสโทร (หลุยส์ กุซแมน) กำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อช่วยเหลือทางการรวบตัวกลุ่มค้ายาเสพย์ติด ที่ชื่อว่า โอเบรกอน (เบนจามิน แบรด) ระหว่างนั้น พวกเขาสามารถจับกุมนักลักลอบขนส่งยาเสพย์ติดระดับกลางแถวชื่อ เอดูอาร์โด รูอิซ (มิเกล เฟอร์เร่อ) ได้ ซึ่งผลการตามจับรูอิซ ได้นำพวกเขาไปสู่เจ้าพ่อค้ายาผู้มั่งคั่งและมีชื่อเสียง คาร์ลอส อยาล่า (สตีเว่น บราวเออร์) ในบ้านของเขาแถบชานเมือง การถูกจับของคาร์ลอส สร้างความตกใจให้กับคนรอบข้างของเขาเป็นอันมาก โดยเฉพาะภรรยาสาวที่กำลังตั้งท้อง เฮเลน่า (แคทเธอรีน ซีต้า-โจนส์) ด้วยความช่วยเหลือของ อาร์นี่ เม็ทซ์เกอร์ (เดนนิส เคว้ด) ทนายความ เฮเลน่าตั้งใจว่า เธอจะต้องนำตัวคาร์ลอสออกจากคุกให้ได้ ไม่ว่าวิธีใด แม้ว่าจะต้องเข้าดูแลธุรกิจแทนสามีก็ตาม

เบื้องหลังและความสำเร็จ[แก้]

Traffic เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาแบบภาพยนตร์อิสระ ใช้ทุนสร้างต่ำ โดยใช้การดำเนินเรื่องแบบภาพยนตร์สารคดี บทภาพยนตร์เขียนขึ้นโดย สตีเฟ่น กาแกน นักเขียนบทชาวอังกฤษ ซึ่งดัดแปลงมาจากบทภาพยนตร์ที่ฉายทางโทรทัศน์ของอังกฤษก่อนหน้านี้ชื่อ Traffik ซึ่งเขียนมาจากประสบการณ์ของตนเองที่เคยติดยาเสพย์ติดมาก่อนมาถ่ายทอดเรื่องราว และกำกับการแสดงโดย สตีเว่น โซเดอเบิร์ก ผู้กำกับชาวอเมริกัน ที่ประสบความสำเร็จมาก่อนกับภาพยนตร์อิสระหลายเรื่องก่อนหน้านี้

โดยภาพยนตร์แบ่งเนื้อเรื่องออกเป็น 3 เรื่อง ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนั้นผู้คนล้วนแต่ไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่ดำเนินเรื่องไปพร้อม ๆ กัน และดูเหมือนว่าจะมีอะไรบางอย่างเกี่ยวพันกัน

ได้รับการวิจารณ์ไปในทางที่ดีแทบทั้งสิ้น เช่น ในเว็บไซต์IMDbได้ให้คะแนนถึง 7.8 ดาวจากทั้งหมด 10 ดาว ในส่วนของนักวิจารณ์ชาวไทยอย่าง สนานจิตต์ บางสะพาน ได้ให้คะแนนไปทั้งหมด 4 ดาว และเขียนไว้ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ว่า

Traffic คือหนัง ยอดเยี่ยมที่สุดของปี 2000 สำหรับหนัง 5 เรื่องสุดท้ายที่เข้าชิงออสการ์เหนือชั้นกว่า Gladioator ชนิดที่ไม่เห็นฝุ่น

พร้อมกับเขียนกระทบกระเทียบกับสถานการณ์ยาเสพย์ติดในประเทศไทย และวิจารณ์ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้นต้องไปดู[1]

ขณะที่สิทธิรักษ์ ตุลาพิทักษ์ นักวิจารณ์ชาวไทยอีกคนได้คะแนนภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ 3 ดาวครึ่ง และเขียนไว้ในสื่อฉบับเดียวกันนี้ว่า

ความน่าทึ่งของหนังเรื่องนี้อยู่ที่การวางรายละเอียดที่สอดประสานและเรียงร้อยเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืนพอเหมาะ แม้ 3 เรื่องหลักของตัวละครเอกสามคนจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยงโยงกันและกัน หากก็มี "ยาเสพย์ติด" คือคำตอบสุดท้ายที่ทำให้ตัวละครทั้งสามคนเปลี่ยนความคิด-จากจุดเริ่มต้นของแต่ละคน อีกทั้งเป็นการเปลี่ยนชนิดยืนกันคนละฟากจากตอนต้นเรื่องกันเลยทีเดียว แม้ทั้งสามเรื่องหลักจะแยกประเด็นคนละส่วน แต่ในรายละเอียดของแต่ละเรื่องยังสอดแทรกและมีส่วนย่อย ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจที่พยายามทำหน้าที่ให้สมกับการเป็นผู้รักษากฎหมาย หรือทนายเลวที่มองเห็นธุรกิจและอำนาจเป็นสิ่งที่น่าลิ้มลอง

[2]

Traffic ประสบความสำเร็จอย่างมากเมื่อเข้าฉาย จนกลายเป็นกระแสวิจารณ์ไปในสังคมอเมริกันอยู่ในระยะที่เข้าฉายถึงเรื่องราวเกี่ยวกับยาเสพย์ติดและการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ภาพยนตร์มีความโด่นเด่นอย่างมากกับการแสดงของ เบนนิซิโอ เดล โทโร่ ที่รับบทเป็นนายตำรวจหนุ่มตงฉินที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์กดดันภายในจิตใจตนเองระหว่างความถูกกับความผิด ได้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำประจำปี 2000 5 สาขา ได้รางวัลไป 2 สาขา คือ นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม คือ เบนนิซิโอ เดล โทโร่ และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และเข้าชิงรางวัลออสการ์ปีเดียวกันนั้นถึง 5 รางวัล ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และตัดต่อยอดเยี่ยม ซึ่งสามารถคว้าไปได้ถึง 4 รางวัลด้วยกัน ขาดเพียงแค่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเท่านั้นที่ตกเป็นของ Gladiator ซึ่งเป็นภาพยตร์ฟอร์มใหญ่แห่งปี

อีกทั้งยังสร้างปรากฏการณ์ให้แก่วงการภาพยนตร์ด้วย คือ เป็นครั้งแรกที่มีภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเข้าชิงพร้อมกันถึง 2 เรื่องจากผู้กำกับคนเดียวกัน คือ สตีเว่น โซเดอเบิร์ก ซึ่งอีกผลงานอีกเรื่องของโซเดอเบิร์กที่ได้เข้าชิง คือ Erin Brockovich

ในสหรัฐอเมริกา ภาพยนตร์ออกฉายในวันที่ 5 มกราคม 2001 ในประเทศไทยวันที่ 5 เมษายน ปีเดียวกัน และออกจำหน่ายและให้เช่าเป็นวิดีโอ, วีซีดีและดีวีดี โดย บริษัท แมงป่อง จำกัด

รางวัลออสการ์[แก้]

สาขา ผล ผู้ได้รางวัล
ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เข้าชิง
-
ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ชนะเลิศ สตีเว่น โซเดอเบิร์ก
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ชนะเลิศ เบนิซิโอ เดล โทโร่
บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ชนะเลิศ สตีเฟ่น กาแกน
ตัดต่อยอดเยี่ยม ชนะเลิศ สตีเฟ่น เมอเรียน

อ้างอิง[แก้]

  1. บทวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
  2. บทวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]