ข้ามไปเนื้อหา

ข้อห้ามเรื่องการระบุชื่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้อห้ามเรื่องการระบุชื่อ
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม避諱
อักษรจีนตัวย่อ避讳
ชื่อภาษาเวียดนาม
จื๋อโกว๊กหงือkỵ húy
ฮ้าน-โนม忌諱
ชื่อภาษาเกาหลี
ฮันกึล
피휘
ฮันจา
避諱
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
คันจิ避諱
ฮิรางานะひき
การถอดเสียง
เฮ็ปเบิร์นปรับปรุงhiki

ข้อห้ามเรื่องการระบุชื่อ เป็นข้อห้ามทางวัฒนธรรมที่ห้ามการพูดหรือการเขียนชื่อตัวของบุคคลสำคัญที่ได้รับการยกย่อง โดยเฉพาะในประเทศจีนและภายในเขตวัฒนธรรมจีน ข้อห้ามนี้บังคับใช้โดยกฎหมายหลายฉบับตลอดประวัติศาสตร์จีนสมัยราชวงศ์ แต่ต้นกำเนิดทางวัฒนธรรมและอาจจะทางศาสนาอาจมีมาตั้งแต่ก่อนยุคราชวงศ์ฉิน การไม่เคารพข้อห้ามเรื่องการระบุชื่อที่เหมาะสมจะถือว่าเป็นผู้ขาดการศึกษาและความเคารพ และนำความอับอายมาสู่ทั้งผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำด้วย

ประเภท

[แก้]
  • ข้อห้ามเรื่องการระบุชื่อของรัฐ (國諱 กั๋วฮุ่ย guóhuì) ทำให้ไม่สามารถใช้ชื่อตัวของจักรพรรดิและบรรพบุรุษของพระองค์ได้ ตัวอย่างเช่นในยุคราชวงศ์ฉิน ต้องหลีกเลี่ยงการระบุชื่อตัวของจิ๋นซีฮ่องเต้คือเจิ้ง Zhèng (< *OC B-S: *teŋ-s) และเดือนแรกของปีที่เรียกว่า เจิ้งเยฺว่ (正月; Zhèngyuè) ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีออกเสียงเป็น เจิงเยฺว่ Zhēngyuè (OC B-S: *teŋ, เหมือนกับ ที่มีความหมายว่า "ออกเดินทางไกล, ไปทำศึก")[1] จากนั้นก็มีการเปลี่ยนคำเรียกเป็น ตฺวานเยฺว่ (端月; Duānyuè < OC, B-S *tˤor]) กฎหมายได้เพิ่มความเข้มงวดให้กับข้อห้ามนี้ ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงหากเขียนพระนามของจักรพรรดิโดยไม่มีการดัดแปลง ในปี ค.ศ. 1777 หวาง ซีโหว (王錫侯) วิพากย์วิจารณ์พจนานุกรมคังซีในพจนานุกรมของตน และเขียนพระนามของจักรพรรดิคังซีโดยไม่ละเว้นขีดใด ๆ ในตัวอักษรออกตามที่กำหนดไว้ ความไม่เคารพนี้เป็นผลทำให้หวาง ซีโหวและครอบครัวต้องโทษประหารชีวิตและถูกริบทรัพย์สิน (แม้ว่าญาติของหวาง ซีโหวทั้งหมดได้รับพระราชทานอภัยโทษและรอดพ้นจากโทษประหารชีวิต)[2] ข้อห้ามเรื่องการระบุชื่อประเภทนี้ไม่ปรากฏให้เห็นอีกในประเทศจีนสมัยใหม่
  • ข้อห้ามเรื่องการระบุชื่อของตระกูล (家諱 เจียฮุ่ย) ทำให้ไม่สามารถใช้ชื่อของบรรพบุรุษของตน โดยทั่วไปจะหลีกเลี่ยงการใช้ชื่อบรรพบุรุษที่ย้อนกลับไปเจ็ดชั่วรุ่น ในเอกสารทางการทูตและจดหมายระหว่างตระกูลมีการบังคับใช้ข้อห้ามเรื่องการระบุชื่อของแต่ละตระกูล
  • ข้อห้ามเรื่องการระบุชื่อของปราชญ์ (聖人諱 เชิ่งเหรินฮุ่ย) ทำให้ไม่สามารถใช้ชื่อของบุคคลที่เป็นที่เคารพนับถือ เช่นการเขียนชื่อของขงจื๊อเป็นข้อห้ามในยุคราชวงศ์จิ้น

วิธีการหลีกเลี่ยงข้อห้าม

[แก้]
การหลีกเลี่ยงข้อห้ามเรื่องการระบุชื่อ: ตัวอย่างการละเว้นขีดของอักษร ขีดสุดท้ายของแต่ละตัวอักษรในชื่อตัวของจักรพรรดิคังซีคือ "玄" (เสฺวียน xuán) และ "燁" (เย่ yè) ถูกละเว้น หากไม่ทำเช่นนี้จะต้องโทษประหารชีวิตเช่นเดียวกับกรณีของหวาง ซีโหว

มีสามวิธีในการหลีกเลี่ยงการใช้ตัวอักษรที่เป็นข้อห้าม:

  • เปลี่ยนตัวอักษรเป็นตัวอื่น มักใช้อักษรที่เป็นคำไวพจน์ (คำพ้องความหมาย) หรืออักษรที่มีเสียงคล้ายกันกับอักษรที่ต้องหลีกเลี่ยง ตัวอย่างเช่น ประตูเสฺวียนอู่ (玄武門 เสฺวียนอู่เหมิน; ประตูเต่าดำ) ของพระราชวังต้องห้ามถูกเปลี่ยนชื่อเป็นประตูเฉินอู่ (神武門 เฉินอู่เหมิน; ประตูพลังเทพ) เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ตัวอักษรจากพระนามของจักรพรรดิคังซีคือเสฺวียนเย่ (玄燁)
  • ปล่อยให้ตัวอักษรว่างไป
  • ละเว้นเส้นขีดในตัวอักษร นิยมละเว้นเส้นขีดสุดท้าย

อ้างอิง

[แก้]
  1. Zhang Shoujie, Historical Records' Correct Meanings - Shiji Zhengyi (史記正義), "Vol. 6", Siku Quanshu version, p. 79 of 179; quote: 「正音政周正建子之正也始皇以正月旦生於趙因為政後以始皇諱故音征」; แปล: "正 ออกเสียงเหมือน 政 (เจิ้ง zhèng < MC *t͡ɕiᴇŋH < OC *teŋ-s) 正 เดียวกันนี้อยู่ในเดือน 正建子 เจิ้งเจี้ยนจื่อ zhèngjiànzǐ ของปฏิทินยุคราชวงศ์โจว ปฐมจักรพรรดิประสูติในเดือน 正 ในรัฐจ้าว ดังนั้นภายหลังการออกเสียง 政 กลายเป็นชื่อต้องห้ามของปฐมจักรพรรดิ ด้วยเหตุนี้ [正] ต้องออกเสียงเหมือน 征 (เจิง zhēng < MC *t͡ɕiᴇŋ < OC *teŋ)."
  2. Cary Academy: The Qing Glory Days

อ่านเพิ่มเติม

[แก้]
  • 陳垣 [Chen Yuan],《史諱舉例》 [Examples of Taboos in History] - the pioneering work in the field, written during the early 20th century, numerous editions