การใช้ดนตรีเป็นกลยุทธ์รับมือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การใช้ดนตรีเป็นกลยุทธ์รับมือ (อังกฤษ: Music as a coping strategy) เป็นการใช้ดนตรี ไม่ว่าจะโดยฟังหรือเล่น เพื่อลดอาการของความเครียดทางกายใจ และลดตัวความเครียดเองด้วย การใช้ดนตรีรับมือกับความเครียดเป็นตัวอย่างกลยุทธ์การรับมือที่เพ่งอารมณ์ โดยมองว่าเป็นการปรับตัวที่ดี (adaptive) เพราะลดหรือกำจัดความรู้สึกที่เกิดขึ้นตอบสนองต่อความเครียด ไม่ใช่จัดการตัวก่อความเครียดโดยตรง ผู้ที่สนับสนุนการบำบัดเช่นนี้อ้างว่า การใช้ดนตรีช่วยลดระดับความเครียดที่คนไข้รู้สึก และยังลดลักษณะที่วัดได้ทางชีวภาพ เช่น ระดับฮอร์โมนอีพิเนฟรินและคอร์ติซอล ซึ่งหลั่งเมื่อเครียดอีกด้วย[1] นอกจากนั้นแล้ว โปรแกรมบำบัดด้วยดนตรียังมีหลักฐานที่ทำซ้ำได้ว่า ช่วยลดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลโดยระยะยาว[2]

ทฤษฎีหลัก[แก้]

ในสาขาจิตวิทยา กลยุทธ์การรับมือ (coping strategy) เป็นเทคนิคหรือการปฏิบัติอะไรอย่างหนึ่งที่มุ่งลดหรือบริหารผลลบที่มากับความเครียด คือ แม้ว่าความเครียดจะเป็นการตอบสนองทางชีวภาพตามธรรมชาติ แต่นักชีววิทยาและจิตวิทยาได้แสดงหลักฐานอย่างซ้ำ ๆ ว่า ความเครียดมากเกินสามารถมีผลลบต่อความอยู่เป็นสุขทั้งทางกายใจ[3] ดังนั้น ความจำเป็นเพื่อหาวิธีที่ช่วยรับมือและลดระดับความเครียดที่ไม่ถูกสุขภาพเป็นเรื่องชัดเจน มีกลยุทธ์การรับมือเป็นร้อย ๆ และการใช้ดนตรีก็เป็นวิธีเฉพาะอย่างหนึ่งเพื่อช่วยต้านผลลบของความเครียด[4] และเพราะมีกลยุทธ์มากถึงขนาดนี้ นักจิตวิทยาจึงได้แบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 3 หมวด คือ[5]

  1. เพ่งการประเมินใหม่ (Appraisal) มุ่งเปลี่ยนความคิด เพราะว่า ความเครียดกำจัดได้โดยการให้เหตุผล เปลี่ยนค่านิยม เปลี่ยนรูปแบบการคิด หรือใช้มุกตลก
  2. เพ่งปัญหา (Problem) มุ่งเปลี่ยนเหตุของความเครียดโดยตรง ซึ่งอาจจะเป็นการกำจัดหรือปรับตัวให้เข้ากับตัวสร้างความเครียด
  3. เพ่งอารมณ์ (Emotion) มุ่งเปลี่ยนปฏิกิริยาทางอารมณ์ต่อตัวก่อความเครียด เช่นการเจริญสมาธิ/กรรมฐาน การหันไปสนใจสิ่งอื่น การปล่อยอารมณ์ การลดความเครียดอิงสติ (MBSR) เป็นต้น[6]

เพราะว่าการรับมือโดยใช้ดนตรีมุ่งเปลี่ยนปฏิกิริยาทางอารมณ์ของบุคคลต่อเหตุการณ์บางอย่าง จึงจัดว่าเป็นกลยุทธ์การรับมือที่เพ่งอารมณ์ คือแทนที่จะพยายามเปลี่ยนหรือกำจัดตัวสร้างความเครียดโดยตรง การรับมืออาศัยการเปลี่ยนปฏิกิริยาทางอารมณ์และทางใจของบุคคลต่อตัวสร้างความเครียด โดยลดอาการความเครียดที่มีต่อสรีรภาพ หรือโดยบรรเทาการตอบสนองทางอารมณ์ที่มีต่อความเครียด

หลักฐานสำคัญ[แก้]

นักจิตวิทยาและผู้รักษาพยาบาลเร็ว ๆ นี้ได้เริ่มให้เวลาและความสนใจต่อการใช้ดนตรีเป็นกลยุทธ์การรับมือ และผลที่มีต่อคนไข้ ในวรรณกรรมในเรื่องดนตรีและความเครียด หลักฐานเชิงประสบการณ์ที่พบมักจัดกลุ่มเข้าด้วยกันตามวิธีที่ได้ข้อมูล ซึ่งมีอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ คือ ได้ข้อมูลจากคำตอบของคนไข้ หรือว่าได้โดยวิธีวัดทางสรีรภาพ แม้ว่าจะใช้วิธีการที่แตกต่างกัน งานศึกษาโดยมากแสดงว่า ดนตรีแบบต่าง ๆ สัมพันธ์กับผลต่าง ๆ ต่ออารมณ์ของคนที่ซึมเศร้าหรือเครียด

หลักฐานจากคำตอบคนไข้[แก้]

วิธีการเก็บข้อมูลที่นิยมอย่างหนึ่งก็คือเก็บคำตอบจากคนไข้ ซึ่งไม่ต้องใช้ข้อมูลทางกายภาพที่อาจไม่สะดวกเก็บในบางกรณี ซึ่งเป็นข้อมูลทางใจที่เป็นอัตวิสัย เพราะว่าไม่ต้องวัดอะไรที่ร่างกายแต่เป็นการถามคำถามประเภทว่า "คุณรู้สึกอย่างไร" เพื่อได้คำตอบ<[7] หลังจากได้ข้อมูล ก็จะมีการวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อหาสหสัมพันธ์ระหว่างกลไกการรับมือและผลของมันต่อการตอบสนองต่อความเครียด เป็นวิธีที่นิยมสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ผลเปลี่ยนเพราะเหตุความตื่นกลัวของคนไข้ ผู้สนับสนุนวิธีนี้อ้างว่า ถ้าถามเด็กด้วยคำถามทั่วไปที่ไม่น่ากลัว เด็กจะรู้สึกสบายใจบอกระดับความเครียดของตนเองตามที่รู้สึก งานศึกษาด้วยวิธีเช่นนี้แสดงหลักฐานว่า ดนตรีมีประสิทธิผลลดระดับความเครียดที่คนไข้รู้สึก

ผลต่อความบาดเจ็บทางใจ[แก้]

ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) เป็นความผิดปกติทางความเครียดที่เกิดจากปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่รุนแรงเนื่องจากเหตุการณ์เครียดสะเทือนใจในอดีต PTSD เกือบทั้งหมดเกิดจากประสบการณ์สะเทือนใจในอดีต อาจจะมีตัวจุดชนวนเช่น ภาพ เสียง หรือรายละเอียดทางประสาทสัมผัสอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับประสบการณ์ ซึ่งอาจสร้างความเครียด ความตื่นตระหนก หรือความวิตกกังวลอย่างรุนแรง PTSD เป็นเรื่องสามัญในกลุ่มทหารผ่านศึก และสามารถวินิจฉัยบ่อยครั้งได้ในผู้ที่ถูกข่มขืนหรือถูกทำร้ายอย่างทารุณอย่างอื่น ๆ[8]

ถ้าคนไข้ PTSD สัมพันธ์เพลง ๆ หนึ่งกับความจำสะเทือนใจ เพลงจะจุดชนวนการตอบสนองเป็นความเครียด/ความวิตกกังวลมากกว่าปกติ[9] แม้ว่าจะฟันธงไม่ได้ว่าเพลงเป็นปัจจัยเดียวที่จุดชนวนความเครียดและความตื่นตระหนก แต่ว่าเพลงเป็นสิ่งที่จำได้ง่ายเพราะมีจังหวะ มีเสียงทำนอง หรือเนื้อเพลงที่จำได้ง่าย แต่ว่า การสัมพันธ์เพลงกับการตอบสนองทางใจไม่ใช่เป็นเรื่องแน่นอนว่าจะทำให้คิดถึงความจำที่ไม่ดี เพราะว่า เพลงบ่อยครั้งสัมพันธ์กับความจำที่สุขใจ ยกตัวอย่างเช่น มีหลักฐานที่แสดงว่าการให้ไอพอดที่มีเพลงเก่า ๆ ต่อคนที่อยู่ในสถานพยาบาล เป็นวิธีการลดความเครียดสำหรับผู้สูงวัยได้อย่างหนึ่ง[10]

มีการใช้ดนตรีบำบัดภาวะสมองเสื่อมโดยใช้วิธีคล้ายกับการบริหาร PTSD แต่ว่า จะเน้นการหาดนตรีที่จุดชนวนความจำหรือความรู้สึกที่ดี ๆ แทนที่จะจุดชนวนอารมณ์เชิงลบ[9] หลังจากที่คนไข้ฟังดนตรี จะเห็นอารมณ์และลักษณะที่ปิดใจและเหินห่าง เปลี่ยนเป็นดีใจ เปิดใจ และมีความสุข มีหลักฐานแบบบอกเล่า (anecdotal) มากมายที่แสดงประสิทธิผลของดนตรีในเรื่องนี้

ยกตัวอย่างเช่น ไม่ว่าจะเป็น PTSD หรือภาวะสมองเสื่อม ถ้าคนไข้มีคนรักที่เสียชีวิตไป เขาก็อาจจะสัมพันธ์เพลงบางเพลงกับคน ๆ นั้น และการได้ยินเสียงเพลงก็อาจทำให้ระลึกถึงความสุขหรือความเศร้าที่ลึกซึ้ง นอกจากนั้นแล้ว ถ้ามีความสัมพันธ์บางอย่าง เช่นกับคู่สมรส เมื่อเปิดเพลงที่ใช้ในงานสมรส ก็อาจให้เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่รุนแรง ซึ่งสามารถจุดชนวนความทรงจำและความเครียดที่ทำให้ทุกข์ แต่เพลงใดเพลงหนึ่งจากความทรงจำนั้นอาจจะจุดชนวนอะไรก็ได้

ผลของดนตรีต่อคนไข้สมองเสื่อมพบว่าช่วยให้คนไข้ออกจากลักษณะเหมือนสงวนท่าที และทำให้ร้องเพลงและเกิดความสุข เทียบกับบุคลิกที่ปิดใจและเหินห่างโดยทั่วไป[11] คนไข้อาจจะถึงกับตะโกนเพราะความสุขที่ได้ในการฟังเพลงที่เคยได้ยินในวัยเด็ก ในงานทดลอง หลังจากที่คนไข้ฟังเพลงที่ตนชอบ ก็จะมีการสัมภาษณ์ซึ่งคนไข้จะแสดงความกระตือรือร้น เพราะว่ามีความสุขที่ได้ฟังเพลง และก็จะพูดว่าตนชอบเพลงนี้แค่ไหนและพูดถึงความทรงจำที่เพลงทำให้นึกถึง[9]

ความเครียดและดนตรีในวงการแพทย์[แก้]

การใช้ดนตรีเป็นกลยุทธ์การรับมือสามารถประยุกต์ใช้ในวงการแพทย์ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ที่ฟังเพลงในช่วงการผ่าตัดหรือในช่วงฟื้นตัวพบว่าระดับความดันกลับไปสู่ปกติได้เร็วกว่าคนไข้ที่ไม่ฟัง นอกเหนือไปจากการรู้สึกว่าสถานการณ์ควบคุมได้และความเป็นอยู่ที่ดี[12] งานศึกษายังแสดงอีกด้วยว่า สมาชิกครอบครัวหรือพ่อแม่ของคนไข้จะเครียดน้อยลงเมื่อฟังเพลงขณะที่รอ และวิตกกังวลน้อยลงเรื่องผลการผ่าตัด[13]

การฟังเพลงก็มีประโยชน์ด้วยในการรักษาโรคมะเร็งในเด็ก[14] คือ โดยใช้ในเค้สเหล่านี้โดยเป็นเทคนิคล่อความสนใจเช่นที่ทำในการบำบัดโดยเล่น (play therapy) ซึ่งมุ่งล่อคนไข้ให้สนใจเรื่องอื่นนอกจากความรู้สึกเจ็บหรือเครียดเมื่อกำลังรักษา ให้ไปในกิจกรรมที่เพลิดเพลิน โดยเปลี่ยนความสนใจทำให้เจ็บน้อยลง ซึ่งสามารถใช้ได้ด้วยกับผู้สูงอายุในสถานรักษาพยาบาลหรือสถานที่ดูแล คือ การบำบัดด้วยดนตรีในสถานที่เหล่านี้ลดความก้าวร้าวและความกระวนกระวายของผู้สูงอายุ[13] แต่เพราะว่า ผลการศึกษาเหล่านี้หลายงานอาศัยคำตอบจากคนไข้โดยมาก จึงมีปัญหาว่า ดนตรีมีผลลดระดับความเครียดจริง ๆ เท่าไร[15]

การใช้ดนตรีเป็นกลยุทธ์การรับมือได้ลองใช้กับคนไข้มะเร็งหลายครั้ง และดูมีอนาคตที่ดี เช่น งานศึกษาหนึ่งทดลองกับคนไข้ 113 คนที่กำลังปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell transplant) โดยแยกคนไข้ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งประพันธ์เนื้อเพลงเกี่ยวกับชีวิตขของตนแล้วสร้างมิวสิกวิดีโอของตัวเอง และให้กลุ่มอื่นฟังการอ่านหนังสือ ผลแสดงว่า กลุ่มมิวสิกวิดีโอมีทักษะการรับมือและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีกว่าโดยเปรียบเทียบ โดยเปลี่ยนความสนใจจากความเจ็บและความเครียดที่มากับการรักษา และให้โอกาสแสดงความรู้สึกของตน[16]

งานวิจัยอีกงานหนึ่งที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาแสดงการปรับปรุงอย่างน่าแปลกใจในการรักษาเด็กหญิงคนหนึ่งที่เกิดมาพูดไม่ได้ นักบำบัดจะมาหาเธอเพื่อร้องเพลงกับเธอ เพราะว่านั่นเป็นสิ่งเดียวที่เธอทำได้ และการร้องเพลงทำให้เธอพูดได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะการร้องเพลงและการพูดคล้ายกันโดยธรรมชาติ และช่วยสร้างการเชื่อมต่อทางวงจรประสาทในสมอง[17] ในโรงพยาบาลเดียวกัน นักบำบัดจะไปเยี่ยมเด็ก ๆ ทุกวันและเล่นดนตรีกับเด็ก โดยทั้งร้องเพลงและใช้เครื่องดนตรี ดนตรีทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ช่วยลดความเครียดที่มากับการรักษา และให้เด็กสนใจสิ่งอื่นนอกจากสภาพแวดล้อมของเขา

นอกจากนั้นแล้ว กลยุทธ์การรับมือของครอบครัวและผู้ดูแลก็สำคัญมากสำหรับผู้ที่มีโรคหนักหรือร้ายแรง เพราะว่า บุคคลเหล่านี้ต้องดูแลคนที่ตนรักโดยหลัก นอกจากจะเครียดเพราะเห็นคนที่รักเป็นทุกข์แล้ว นักบำบัดได้ช่วยสมาชิกครอบครัวเหล่านี้ โดยร้องเพลงและเล่นเครื่องดนตรี เพื่อให้สนใจสิ่งอื่นนอกจากเรื่องเครียดเมื่อช่วยคนที่รักในการบำบัดรักษา และเหมือนกับที่ปรากฏในคนไข้เอง การบำบัดด้วยดนตรีช่วยให้คนดูแลสามารถรับมือกับอารมณ์และสถานการณ์เครียดในชีวิตประจำวันได้[18]

หลักฐานทางสรีรภาพ[แก้]

งานศึกษาอื่น ซึ่งตรวจสอบการตอบสนองของบุคคลต่อความเครียดในรูปแบบที่เข้มข้นกว่า แสดงว่า การใช้ดนตรีสามารถบรรเทาผลทางสรีรภาพที่บ่อยครั้งสัมพันธ์กับความเครียด เช่น ลดความดันโลหิตหรืออัตราหัวใจ[12][1] วรรณกรรมโดยมากตรวจสอบการใช้ดนตรีเป็นกลยุทธ์รับมือโดยใช้เครื่องมือวัดเช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) หรือเครื่องวัดหัวใจ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับผลทางสรีรภาพที่ชัดเจนกว่า[12] ในงานศึกษาเหล่านี้ ผู้ร่วมการทดลองมักจะประสบกับตัวก่อความเครียดแล้วให้ฟังดนตรี ในขณะที่นักวิจัยวัดความเปลี่ยนแปลงทางสรีรภาพ และบางงานแสดงว่า การใช้ดนตรีที่เย็น ๆ หรือที่ชอบ สามารถลดความตึงเครียดและความวิตกกังวลในผู้ใหญ่[19] ซึ่งเกิดบ่อยกว่าและเห็นชัดกว่าในช่วงกลับคืนสู่ภาวะธำรงดุล แต่มีประสิทธิผลน้อยกว่าเมื่อกำลังเผชิญกับความเครียด[12]

ส่วนงานศึกษาอื่นก่อให้เกิดสถานการณ์เครียด เช่นให้วิ่งบนสายพาน ในขณะที่ให้ฟังดนตรีประเภทต่าง ๆ งานศึกษาเช่นนี้แสดงว่า อัตราการหายใจของผู้ร่วมการทดลองสูงกว่าเมื่อฟังเพลงที่เร็วกว่า ถ้าเทียบกับไม่ฟังหรือฟังเพลงกล่อมประสาท[20] นอกจากจะเพิ่มอัตราการหายใจแล้ว การฟังเพลงยังมีผลทางสรีรภาพอื่น ๆ อีกด้วย โดยรวม ๆ แล้ว งานศึกษาแสดงว่า ดนตรีมีประสิทธิผลในการลดผลของความเครียดต่อร่างกายมนุษย์ ซึ่งอาจเปลี่ยนอัตราหัวใจเต้น อัตราการหายใจ หรือแม้แต่ลดความรู้สึกอ่อนเปลี้ย นี่อาจจะเห็นในเพลงที่มีจังหวะและเสียงสูงต่ำที่ไม่เท่ากัน เช่น เสียงต่ำมีผลสงบระงับต่อร่างกาย ในขณะที่เสียงสูงมักจะเป็นตัวก่อความเครียดต่อร่างกาย[13] นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการเสนอด้วยว่า ถ้าคนไข้สามารถเลือกเพลงฟังในช่วงฟื้นสภาพ การกลับเป็นปกติจะเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพดีกว่า เทียบกับถ้ามีการกำหนดประเภทดนตรีที่ตนไม่ชอบ[1]

ดังนั้น ถ้าใช้วิธีการเก็บหลักฐานแบบปรวิสัย เช่น EKG นักวิจัยก็จะสามารถกำจัดค่าบิดเบือนบางอย่างที่สัมพันธ์กับวิธีการตรวจสอบที่ถามคนไข้ และให้ค่าสหสัมพันธ์ที่ชัดเจนกว่าระหว่างการใช้ดนตรีกับผลต่อการตอบสนองต่อความเครียด[12]

เทคนิคโดยเฉพาะ[แก้]

มีเทคนิคเฉพาะอย่างหนึ่งในการใช้ดนตรีเป็นกลยุทธ์ ซึ่งก็คือการเลือกฟังประเภทดนตรีที่สัมพันธ์กับระดับความเครียดที่ต่ำกว่า ยกตัวอย่างเช่น (ในประเทศตะวันตก) มีการเสนอว่าการฟังดนตรีคลาสสิกหรือการเลือกเพลงฟังเองสามารถลดระดับความเครียดในผู้ใหญ่[1] ส่วนดนตรีที่เร็ว เสียงดัง หรือที่มองโลกในแง่ร้ายอาจเพิ่มระดับความเครียด แต่ว่า คนหลายคนก็พบว่า การระบายอารมณ์จะเพิ่มขึ้นเมื่อฟังดนตรีที่เร่าร้อนเช่นนี้ ส่วนดนตรีแอมเบียนต์สัมพันธ์กับความสงบและการทบทวนความคิดความรู้สึกของตนเอง และเมื่อฟังเพลงที่เลือกเอง จะทำให้รู้สึกว่าสามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ ซึ่งอาจเป็นความรู้สึกที่บุคคลนั้นไม่ค่อยมีในช่วงนั้นของชีวิต ดังนั้น การให้ความรู้สึกว่าควบคุมเหตุการณ์ได้ อาจเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับบุคคลที่กำลังรับมือกับความเครียด

ด้วยแนวคิดเยี่ยงนี้ มีเทคนิคโดยเฉพาะหลายอย่างเพื่อลดความเครียดและผลเกี่ยวกับความเครียด รวมทั้ง[7]

  • ฟังดนตรีคลาสสิก
  • ฟังดนตรีที่เลือกเพื่อช่วยให้รู้สึกว่าสามารถควบคุมชีวิตได้
  • ฟังเพลงที่ทำให้นึกถึงความทรงจำที่เป็นสุข
  • ฟังเพลงที่ไม่ทำให้นึกถึงความทรงจำที่เศร้า
  • ฟังเพลงโดยเป็นวิธีสร้างความผูกพันในกลุ่มสังคม
  • ไม่ฟังเพลงที่ดังหรือเปี่ยมไปด้วยความโกรธ เช่น เฮฟวีเมทัล

เทคนิคโดยเฉพาะอีกอย่างที่ใช้ได้ก็คือใช้เป็นเครื่องย้อนเวลาในความจำ ด้วยวิธีนี้ ดนตรีช่วยให้หนีไปสู่ความจำที่ดีหรือไม่ดีแล้วจุดชนวนการตอบสนองเพื่อรับมือ มีการเสนอว่า ดนตรีสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการประสบความรู้สึกในความทรงจำจากอดีตอีก ดังนั้น การเลือกดนตรีที่รู้สึกดีอาจจะเป็นวิธีการลดความเครียดอย่างหนึ่ง[7]

เทคนิคหนึ่งที่เริ่มใช้มากขึ้นก็คือการบำบัดด้วยเสียงแบบ vibroacoustic คือ ในช่วงการบำบัด คนไข้จะนอนลาดหลังบนที่นอนซึ่งมีลำโพงอยู่ข้างใน ที่ส่งคลื่นเสียงความถี่ต่ำ ซึ่งคล้ายกับนั่งบนลำโพง subwoofer ซึ่งพบว่ามีประโยชน์ต่อโรคพาร์คินสัน ไฟโบรไมอัลเจีย และโรคซึมเศร้า และก็ยังมีงานวิจัยที่ทำอยู่เพื่อตรวจดูว่า มีประโยชน์ต่อคนไข้โรคอัลไซเมอร์ขั้นอ่อนหรือไม่[21]

ข้อขัดแย้ง[แก้]

งานวิจัยที่หาหลักฐานเชิงประสบการณ์เพื่อแสดงสหสัมพันธ์ระหว่างการฟังดนตรีกับการลดการตอบสนองต่อความเครียด ถูกวิจารณ์ว่ามีขนาดตัวอย่างน้อยเกินไป[15] อีกอย่างก็คือเป็นการศึกษาที่ไม่ได้เป็นเรื่องการตอบสนองต่อตัวสร้างความเครียดอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ โดยอ้างว่า เพราะไม่ได้กำหนดตัวสร้างความเครียดโดยเฉพาะในงานมากมาย จึงยากที่จะกำหนดว่า การตอบสนองต่อความเครียดลดลงเพราะเหตุดนตรีหรือเพราะเหตุอื่น ๆ[22]

ส่วนข้อวิจารณ์ทางทฤษฎีของการรับมือเช่นนี้ก็คือมันเป็นกลยุทธ์ระยะสั้น และไม่สามารถมีผลคงยืนในระยะยาว โดยอ้างว่า แม้ดนตรีจะมีประสิทธิผลลดความรู้สึกว่าเครียดของคนไข้ แต่อาจจะไม่ได้ทำอะไรต่อเหตุจริง ๆ ของการตอบสนองแบบเครียด[23] เพราะว่าเหตุที่เป็นมูลของความเครียดไม่ได้แก้ และดังนั้น การตอบสนองแบบเครียดก็อาจจะกลับคืนมาหลังการบำบัดได้จบลง ผู้ที่มีแนวคิดนี้สนับสนุนให้ใช้กลยุทธ์รับมือเพ่งที่ปัญหา ที่จัดการตัวก่อความเครียดที่มีผลโดยตรง

สรุปเนื้อความ[แก้]

การใช้ดนตรีเป็นกลยุทธ์รับมือต่อความเครียดมีหลักฐานว่ามีผลต่อการตอบสนองทางความเครียดของมนุษย์ โดยหลักฐานแสดงว่าลดความรู้สึกว่าเครียด และลดอาการปรากฏทางกายของความเครียดอื่น ๆ ด้วย เช่น อัตราหัวใจเต้น ความดันโลหิต และระดับฮอร์โมนที่ปล่อยเมื่อเครียด ดูเหมือนว่าดนตรีประเภทต่าง ๆ จะมีผลต่าง ๆ ต่อระดับความเครียด โดยดนตรีคลาสสิกและที่เลือกเองจะมีประสิทธิผลดีที่สุด แต่ว่า แม้จะมีหลักฐานเช่นนี้ ก็ยังมีนักวิชาการเป็นจำนวนมากที่ตั้งข้อสงสัยต่อประสิทธิผลของการรับมือด้วยกลยุทธ์นี้ ถึงอย่างนั้น กลยุทธ์ก็ยังอาจเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งสำหรับคนไข้ที่ต้องการหาการแก้/บรรเทาปัญหาที่ง่ายและไม่แพงเพื่อช่วยตอบสนองต่อความเครียด

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Elise, Labbe; และคณะ (2007). "Stress and Coping: The Effectiveness of Different Types of Music". Applied Psychophysiology and Feedback. 32 (3): 163–168.
  2. Yehuda, Nechama (2011). "Music and Stress". The Journal of Adult Development. 18: 85–94. doi:10.1007/s10804-010-9117-4.
  3. Sapolsky, Robert M (1998-04-15). Freeman, WH (บ.ก.). Why Zebras Don't Get Ulcers: An Updated Guide To Stress, Stress Related Diseases, and Coping (2nd ed.). ISBN 978-0-7167-3210-5.
  4. Carver, Charles S.; Connor-Smith, Jennifer (2010). "Personality and Coping". Annual Review of Psychology. 61: 679–704. doi:10.1146/annurev.psych.093008.100352. PMID 19572784.
  5. Weiten, W; Lloyd, M.A. (2008). Psychology Applied to Modern Life (9th ed.). Wadsworth Cengage Learning. ISBN 0-495-55339-5.
  6. Alidina, Shamash (2015). The Mindful Way Through Stress. New York, NY: The Guilford Press. ISBN 978-1-4625-0940-9.
  7. 7.0 7.1 7.2 Hanser, S. B.; Thompson, L. W. (1 November 1994). "Effects of a Music Therapy Strategy on Depressed Older Adults". Journal of Gerontology. 49 (6): P265–P269. doi:10.1093/geronj/49.6.p265. PMID 7963281.
  8. "PTSD". US Department of Veterans Affairs. สืบค้นเมื่อ 2015-04-09.
  9. 9.0 9.1 9.2 "Research News: Music Therapy Program Helps Relieve PTSD Symptoms". Health Services Research & Development, U.S. Department of Veterans Affairs. 2014-01-06.
  10. Music and Memories
  11. "For Elders With Dementia, Musical Awakenings". NPR. 2012-04-18.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 Allen, K.; และคณะ (2001). "Normalization of Hypertensive Responses During Ambulatory Surgical Stress by Perioperative Music". Psychosomatic Medicine. 63 (3): 487–492. doi:10.1097/00006842-200105000-00019. PMID 11382277.
  13. 13.0 13.1 13.2 Kent, Dawn. "Effect of Music on the Human Mind and Body". สืบค้นเมื่อ 2016-04-10.
  14. Hanser, Suzanne B; Standley, Jayne M (1995). "Music Therapy Research and Applications in Pediatric Oncology Treatment". The Journal of Pediatric Oncological Nursing (12). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-16. สืบค้นเมื่อ 2016-11-08.
  15. 15.0 15.1 Thoma, MV; La Marca, R; Brönnimann, R; Finkel, L; Ehlert, U; และคณะ (2013). "The Effect of Music on the Human Stress Response". PLoS ONE. 8 (8): e70156. doi:10.1371/journal.pone.0070156.
  16. "Music plays a role in cancer coping skills, study finds | CTCA". www.cancercenter.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-24. สืบค้นเมื่อ 2016-04-21. The study showed that the patients who participated in the music therapy group possessed better coping skills and experienced improved social interactions, compared to their audiobook-listening counterparts
  17. "Music therapy helps patients cope with illness, regain health — UNC School of Medicine". UNC School of Medicine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-12. สืบค้นเมื่อ 2016-04-21.
  18. "Families Coping with Terminal Illness through Music". trauma.blog.yorku.ca. สืบค้นเมื่อ 2016-04-21.
  19. Jiang, Jun; และคณะ (2013). "The effects of sedative and stimulative music on stress reduction depend on music preference". The Arts in Psychotherapy. 40 (2): 201–205. doi:10.1016/j.aip.2013.02.002.
  20. Brownley, Kimberly; และคณะ (1995). "Effects of music on physiological and affective responses to graded treadmill exercise in trained and untrained runners". International Journal of Psychophysiology. 19: 193–201. doi:10.1016/0167-8760(95)00007-f.
  21. "Music as medicine". American Psychiatric Association. สืบค้นเมื่อ 2016-04-19.
  22. Pelletier, Cori L. (2004). "The Effect of Music on Decreasing Arousal Due to Stress: A Meta-Analysis". Journal of Music Therapy. 41: 192–214. doi:10.1093/jmt/41.3.192.
  23. Iwanaga, M.; Ikeda, M.; Iwaki, T. (1 September 1996). "The Effects of Repetitive Exposure to Music on Subjective and Physiological Responses". Journal of Music Therapy. 33 (3): 219–230. doi:10.1093/jmt/33.3.219.