การรับมือ (จิตวิทยา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในสาขาจิตวิทยา การรับมือ (อังกฤษ: coping) เป็นการตั้งใจพยายามแก้ปัญหาส่วนตัวหรือกับคนอื่น แล้วเอาชนะ ลด หรืออดทนความเครียดหรือความรู้สึกขัดใจของตน[1][2][3][4] ประสิทธิผลของความพยายามขึ้นอยู่กับรูปแบบความเครียดหรือความขัดแย้ง บุคคลอื่น และสถานการณ์อื่น ๆ

กลไกการรับมือทางใจเรียกอย่างสามัญในภาษาอังกฤษว่า coping strategies (กลยุทธ์การรับมือ) หรือ coping skills (ทักษะการรับมือ)[5] เป็นสิ่งที่ไม่รวมกลยุทธ์ใต้สำนึก (เช่น กลไกป้องกันตน [defence mechanism])

คำทั่วไปหมายถึงกลยุทธ์รับมือที่เป็นการปรับตัวที่ดี (adaptive) หรือว่าเป็นแบบสร้างสรรค์ ซึ่งก็คือ ช่วยลดความเครียด โดยกลยุทธ์บางอย่างพิจารณาว่า เป็นการปรับตัวผิด (maladaptive) คือ เพิ่มความเครียด การรับมือแบบผิด ๆ อาจจะเรียกได้ว่า เป็นการไม่รับมือ นอกจากนั้นแล้ว เป็นคำที่หมายถึงปฏิกิริยา คือเป็นการรับมือตอบสนองต่อตัวสร้างความเครียด (stressor) เทียบกับการรับมือล่วงหน้า (proactive coping) ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อดักตัวก่อความเครียดที่จะเกิดในอนาคต การรับมือส่วนหนึ่งควบคุมโดยบุคลิกภาพคือลักษณะที่เป็นนิสัย แต่ส่วนหนึ่งก็คุมโดยสถานการณ์ทางสังคม โดยเฉพาะธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมที่ก่อความเครียด[6]

รูปแบบการรับมือ[แก้]

มีกลยุทธ์การรับมือเป็นร้อย ๆ[6] แต่การจัดเป็นลำดับชั้นโดยเป็นหมวดหมู่ยังไม่มีมติร่วมกัน การแยกแยะหมวดหมู่มักจะทำแบบเป็นคู่ ๆ เช่น มีปัญหาเป็นศูนย์ หรือมีอารมณ์เป็นศูนย์, สู้หรือหนี, โดยการรู้คิดหรือโดยพฤติกรรม หนังสือเรียนจิตวิทยาเล่มหนึ่งกำหนดชนิดกลยุทธ์การรับมือไว้ 4 อย่างแบบกว้าง ๆ คือ[1]

  • เพ่งการประเมิน (appraisal-focused) - เพื่อค้านความคิดสมมุติของตนเอง เป็นการปรับตัวโดยความคิด (adaptive cognitive)
  • เพ่งปัญหา (problem-focused) - เพื่อลดหรือกำจัดตัวก่อความเครียด เป็นการปรับตัวโดยพฤติกรรม (adaptive behavioral)
  • เพ่งอารมณ์ (emotion-focused) - เพื่อเปลี่ยนปฏิกิริยาทางอารมณ์ของตนเอง
  • เพ่งสิ่งที่ทำ (occupation-focused) - เพื่อทำอะไรนาน ๆ ที่ให้การตอบสนองที่ดี
กลยุทธ์เพ่งการประเมิน

กลยุทธ์เพ่งการประเมินเป็นการเปลี่ยนความคิดของตน ยกตัวอย่างเช่น ปฏิเสธความจริง (denial) หรือแยกตัวจากปัญหา (distancing) หรือเมื่อเปลี่ยนวิธีคิดถึงปัญหาโดยเปลี่ยนเป้าหมายและค่านิยมของตน เช่น เห็นความน่าขันในสถานการณ์เช่น "มีคนที่แนะว่า มุกตลกอาจมีบทบาทสำคัญเป็นตัวลดความเครียดในหญิงมากกว่าชาย" (คือ เปลี่ยนปัญหาหญิงเครียดกว่าชายไปเป็นเรื่องขำ ๆ)[7]

กลยุทธ์เพ่งปัญหา

ส่วนคนที่ใช้กลยุทธ์เพ่งปัญหาจะพยายามจัดการเหตุของปัญหา โดยหาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาแล้วเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ในการจัดการปัญหา เป็นกลยุทธ์เพื่อเปลี่ยนหรือกำจัดตัวก่อความเครียด ศาสตราจารย์จิตวิทยาทรงอิทธิพลที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ดร. ลาซารัส และเพื่อนร่วมงานได้กำหนดกลยุทธ์ว่า เป็นการเข้าควบคุม การหาข้อมูล และการประเมินส่วนได้ส่วนเสีย

กลยุทธ์เพ่งอารมณ์

ส่วนกลยุทธ์เพ่งอารมณ์รวมทั้งการ

  • คลายอารมณ์
  • หันไปสนใจเรื่องอื่น
  • จัดการความโกรธ

กลยุทธ์นี้ "มุ่งจัดการอารมณ์ที่ตามมากับการรับรู้ความเครียด"[8] ส่วนดร. ลาซารัสกำหนดกลยุทธ์ว่าเป็น[9]

  • การไม่ยอมรับ (disclaiming)
  • การหลีกเลี่ยงหนีปัญหา (escape-avoidance)
  • การรับผิดชอบ
  • การควบคุมตนเอง
  • การประเมินใหม่ในแง่ดี

กลยุทธ์นี้ บรรเทาความเครียดโดยลดมันให้ต่ำที่สุด หรือป้องกันอารมณ์ที่จะมากับตัวก่อความเครียด[10] โดยประยุกต์ใช้ได้หลายแบบ เช่น[10][11]

  • หาคนสนับสนุน/ช่วย
  • ประเมินตัวก่อความเครียดในแง่ดี
  • ยอมรับผิดชอบ
  • หลีกเลี่ยง
  • ควบคุมตนเอง
  • แยกตัวจากปัญหา (distancing)

กลยุทธ์นี้มุ่งเปลี่ยนความหมายของตัวสร้างความเครียดหรือย้ายความสนใจไปในเรื่องอื่น[11] ยกตัวอย่างเช่น การประเมินใหม่พยายามหาความหมายที่ดีเกี่ยวกับเหตุของตัวก่อความเครียดเพื่อลดอารมณ์ที่เกิดตอบสนอง การหลีกเลี่ยงความทุกข์ทางใจเป็นการหันไปสนใจเรื่องอื่นจากความรู้สึกไม่ดีที่สัมพันธ์กับตัวก่อทุกข์ เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะกับตัวก่อความเครียดที่เหมือนจะควบคุมไม่ได้ (เช่น การได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคระยะสุดท้าย หรือการสูญเสียบุคคลที่รัก)[10]

กลไกการรับมือเพ่งที่อารมณ์บางอย่าง เช่น การหลีกเลี่ยง สามารถบรรเทาความทุกข์ระยะสั้น ๆ แต่ว่า อาจจะก่อความเสียหายถ้าใช้ในระยะยาว ส่วนกลไกเชิงบวกอื่น ๆ เช่น การหาคนสนับสนุน และการประเมินใหม่ในแง่ดี สัมพันธ์กับผลที่ดีกว่า[12] การรับมือโดยวิธีทางอารมณ์ (Emotional approach coping) เป็นรูปแบบการรับมือโดยเพ่งอารมณ์อย่างหนึ่ง ที่การแสดงและการประมวลอารมณ์นำมาใช้อย่างปรับตัวได้เพื่อบริหารการตอบสนองต่อตัวก่อความเครียด[13]

โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์จะใช้กลยุทธ์รับมือทั้งสามอย่างผสมผเสกัน และทักษะการรับมือปัญหาปกติจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา วิธีทั้งหมดนี้สามารถมีประโยชน์ได้ แต่ก็มีนักวิชาการที่อ้างว่าผู้ที่ใช้กลยุทธ์เพ่งปัญหาจะปรับตัวในชีวิตได้ดีกว่า[14] เพราะว่า กลยุทธ์อาจช่วยให้รู้สึกว่าสามารถควบคุมปัญหาของตนได้ดีกว่า เทียบกับวิธีเพ่งอารมณ์ที่บางครั้งทำให้รู้สึกว่าควบคุมเหตุการณ์ได้น้อย ซึ่งถือเป็นการรับมือแบบปรับตัวได้ไม่ดี ดร. ลาซารัสแนะให้สังเกตความเชื่อมกันระหว่างแนวคิดเรื่องการประเมินใหม่เพื่อป้องกันตน (defensive reappraisals) หรือการรับมือด้วยความคิด กับแนวคิดของฟรอยด์เรื่องการป้องกันอัตตา (ego-defenses)[9] ดังนั้น กลยุทธ์การรับมือจึงมีส่วนคาบเกี่ยวกับกลไกป้องกันตน

เทคนิคบวก (ที่เป็นการปรับตัวหรือการรับมือที่สร้างสรรค์)[แก้]

กลยุทธ์การรับมือที่ดีอันหนึ่ง เป็นการคาดหมายหรือการเตรียมป้องกันปัญหา ซึ่งเรียกว่า การรับมือล่วงหน้า (proactive coping)[8] การคาดหมายเป็นการลดความเครียดในเรื่องอะไรที่ยาก โดยคาดว่ามันจะเป็นอย่างไรแล้วเตรียมตัวรับมือกับมัน[15]

กลยุทธ์ที่ดีอีกสองอย่างก็คือ การรับมือทางสังคม (social coping) เช่น การหาคนสนับสนุน และการรับมือแบบเพ่งความหมาย ที่บุคคลพยายามหาความหมายจากประสบการณ์เครียด[8] การทานอาหาร การออกกำลังกาย และการนอนหลับให้พอเพียง ล้วนมีส่วนช่วยบริหารความเครียด และแม้แต่ความแข็งแรงของร่างกายและเทคนิคการผ่อนคลายเช่น progressive muscle relaxation ที่ผู้บำบัดสอนให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อในทุก ๆ ส่วนของร่างกาย ก็มีส่วนเช่นกัน[16]

วิธีที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่สามารถใช้กับเหตุการณ์ที่ก่อความเจ็บปวดก็คือมุกตลก คือ แม้ว่าเราจะรู้สึกไปตามเหตุการณ์ตามที่ควรจะเป็น แต่ก็เอาชนะมันโดยเปลี่ยนมันให้เป็นเรื่องตลกและน่าขัน[17]

เมื่อรับมือกับความเครียด สำคัญที่จะจัดการเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางกาย ทางใจ และทางสังคม ทุกคนควรรักษาสุขภาพและรู้จักผ่อนคลายเมื่อเกิดความเครียด ส่วนทางจิตใจ เป็นเรื่องสำคัญที่จะคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ในเชิงบวก ให้คุณค่าตัวเอง บริหารการใช้เวลาได้ดี วางแผนและคิดถึงอนาคต และแสดงอารมณ์ ทางสังคม เราควรจะคุยกับคนอื่นและหาทำสิ่งใหม่ ๆ โดยใช้กลยุทธ์ง่าย ๆ เหล่านี้ การตอบสนองต่อความเครียดในชีวิตจะง่ายขึ้น[18][19]

เทคนิคเชิงลบ (เป็นการปรับตัวผิดหรือเป็นการไม่รับมือ)[แก้]

เทียบกับวิธีการรับมือที่เป็นการปรับตัวที่ดีซึ่งช่วยเพิ่มสมรรถภาพในชีวิต เทคนิคที่เป็นการปรับตัวผิดแม้จะช่วยลดอาการของปัญหาแต่ก็จะช่วยรักษาและเสริมแรงปัญหานั้น เทคนิคที่ปรับตัวผิดจะมีประสิทธิผลในระยะสั้นเท่านั้นไม่เหมือนการรับมือระยะยาว ตัวอย่างของกลยุทธ์การรับมือที่เป็นการปรับตัวผิดรวมทั้งการแยกตัวทางใจจากสิ่งแวดล้อมหรือความจริง (dissociation) การเพิ่มความไวปฏิกิริยาต่อสิ่งก่อความเครียด (sensitization) พฤติกรรมที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยแต่ไม่ช่วยแก้ปัญหา (safety behaviors) การหนีไม่ประสบกับเหตุการณ์/ตัวก่อความเครียดที่อาจก่อปัญหา (avoidance coping) และการหนีจากความจริงที่ต้องประสบในชีวิต (escape) รวมทั้งการใช้สารเสพติด กลยุทธ์เหล่านี้ขัดขวางการเรียนรู้ที่จะแยกความวิตกกังวลออกจากเหตุการณ์ที่กลายมาเป็นเรื่องสัมพันธ์กัน เป็นการปรับตัวไม่ดีที่ช่วยดำรงความผิดปกติทางจิต

การแยกตัว (dissociation) เป็นความสามารถของใจที่จะแยกและจัดแบ่งส่วนของความคิด ความจำ และอารมณ์ ซึ่งบ่อยครั้งสัมพันธ์กับความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PSD) การทำให้ไว (sensitization) เกิดขึ้นเมื่อบุคคลพยายามเรียนรู้ ฝึกซ้อม หรือคาดการณ์เหตุการณ์ที่กลัว โดยเป็นความพยายามเพื่อป้องกันเหตุการณ์เหล่านั้นไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก แต่ความจริงทำให้เกิดความระมัดระวังเกินไปและความวิตกกังวลที่ซ้ำ ๆ พฤติกรรมที่ทำให้รู้สึกปลอดภัย (safety behavior) เกิดขึ้นเมื่อบุคคลที่มีโรควิตกกังวลกลายมาพึ่งอะไรบางอย่าง หรือคนบางคน เพื่อรับมือความวิตกกังวลที่มีเกิน การรับมือแบบหลีกเลี่ยง (avoidance coping) เกิดขึ้นเมื่อบุคคลเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้วิตกกังวลโดยทุกวิถีทาง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สามัญที่สุด การหนี (escape) คล้ายกับการหลีกเลี่ยง ซึ่งเกิดในคนไข้โรคตื่นตระหนกหรือโรคกลัวอะไรบางอย่าง ผู้ต้องการหนีจากเหตุการณ์ทันทีที่รู้สึกวิตกกังวล[20]

ตัวอย่างอื่น ๆ[แก้]

ตัวอย่างอื่น ๆ ของกลยุทธ์การรับมือรวมทั้ง[21] คนคุยที่ช่วยบรรเทาทุกข์ อุปกรณ์ช่วยบรรเทาทุกข์ การหันไปสนใจสิ่งอื่น การปฏิเสธว่ามีปัญหา การใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในทางที่ผิด การโทษตัวเอง และการอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร (behavioral disengagement)[22]

หลายคนคิดว่า การนั่งสมาธิ/การเจริญกรรมฐาน "ไม่ใช่เพียงสงบอารมณ์ของเราเท่านั้น แต่ ... ทำให้เรารู้สึกเป็นหนึ่งเดียว" และอีกด้วยก็คือ "การสวดมนต์ที่คุณพยายามได้ความสงบและสันติภาพในภายใน"[23]

การรับมือโดยไม่พยายาม (low-effort coping) หมายถึงปฏิกิริยาของชนกลุ่มน้อยเมื่อพยายามจะเข้ากับวัฒนธรรมของคนกลุ่มใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนที่เป็นชนกลุ่มน้อยอาจเรียนรู้ที่จะพยายามให้น้อยที่สุดเพราะคิดว่าคนกลุ่มใหญ่กีดกันตนโดยความเดียดฉันท์[24]

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ตามประวัติ[แก้]

ความแตกต่างระหว่างเพศ[แก้]

ชายกับหญิงอาจมีตัวก่อความเครียดและกลยุทธ์รับมือที่แตกต่างกัน มีหลักฐานว่า ชายมักจะเครียดเพราะเหตุอาชีพ เทียบกับหญิงที่มักจะเครียดเพราะปัญหาความสัมพันธ์กับคนอื่น[25] งานศึกษาต้น ๆ แสดงว่า "มีความแตกต่างระหว่างเพศในเรื่องแหล่งก่อความเครียด แต่ว่า ความแตกต่างระหว่างเพศในการรับมือค่อนข้างจะน้อยเมื่อควบคุมแหล่งก่อความเครียดแล้ว"[26] โดยปี 2552 ได้ยืนยันว่ามี "ความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างชายหญิงในกลยุทธ์รับมือเมื่อศึกษาบุคคลต่าง ๆ ในสถานการณ์คล้าย ๆ กัน"[27]

โดยทั่วไปแล้ว งานศึกษาชี้ว่า หญิงมักจะใช้การรับมือโดยเพ่งที่อารมณ์ และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดโดยดูแลลูกและหาเพื่อน (tend-and-befriend) เทียบกับชายที่มักใช้การรับมือเพ่งที่ปัญหา และมีปฏิกิริยาแบบสู้หรือหนี (fight-or-flight) ซึ่งอาจเป็นเพราะมาตรฐานสังคมสนับสนุนให้ชายเป็นตัวของตัวเองมากกว่า และสนับสนุนให้หญิงเกื้อกูลกันมากกว่า ทฤษฎีอีกอย่างที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ก็คือเป็นเรื่องทางพันธุกรรม แต่ระดับอิทธิพลที่ปัจจัยทางพันธุกรรมเทียบกับทางสังคมมีต่อพฤติกรรม ก็ยังไม่มีข้อยุติ[28]

มูลฐานทางสรีรภาพ[แก้]

ฮอร์โมนอาจมีบทบาทในการบริหารความเครียด ฮอร์โมนความเครียดคือคอร์ติซอล พบว่าเพิ่มขึ้นในชายในสถานการณ์ที่ก่อความเครียด แต่ว่าในหญิง ระดับฮอร์โมนกลับลดลง แต่สมองส่วนระบบลิมบิกทำงานเพิ่มขึ้น นักวิจัยจำนวนมากเชื่อว่า ผลเช่นนี้เป็นเหตุที่ชายมีปฏิกิริยาสู้หรือหนี (fight-or-flight) ต่อความเครียด เทียบกับหญิงที่มีปฏิกิริยาดูแลลูกและหาเพื่อน (tend-and-befriend)[29] เพราะปฏิกิริยาสู้หรือหนีทำให้ระบบประสาทซิมพาเทติกทำงาน มีผลเป็นการเพิ่มระดับสมาธิและอะดรีนาลีน (อีพิเนฟริน) และนัยตรงกันข้ามปฏิกิริยาดูแลลูกและหาเพื่อนหมายถึงความโน้มเอียงที่หญิงจะปกป้องลูกและญาติ แม้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะสนับสนุนทฤษฎีทางพันธุกรรม แต่ไม่ควรเข้าใจว่า โดยทั่วไปแล้ว หญิงจะไม่มีปฏิกิริยาสู้หรือหนี หรือว่าชายจะไม่มีพฤติกรรมดูแลลูกและหาเพื่อน

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Weiten W, Lloyd MA (2008). Psychology Applied to Modern Life (9th ed.). Wadsworth Cengage Learning. p. 96. ISBN 0-495-55339-5.
  2. Snyder, C.R., บ.ก. (1999). Coping: The Psychology of What Works. New York: Oxford University Press. p. 9. ISBN 0-19-511934-7.
  3. Cummings, E. Mark; Greene, Anita L.; Karraker, Katherine H., บ.ก. (1991). Life-span Developmental Psychology: Perspectives on Stress and Coping. p. 92. ISBN 978-0-8058-0371-6.
  4. Lazarus RS, Folkman S (1984). Stress, Appraisal, and Coping. p. 141. ISBN 0-8261-4191-9.
  5. Zeidner M, Endler NS, บ.ก. (1996). Handbook of Coping: Theory, Research, Applications. New York: John Wiley. p. 314. ISBN 0-471-59946-8.
  6. 6.0 6.1 Carver, Charles S.; Connor-Smith, Jennifer (2010). "Personality and Coping". Annual Review of Psychology. 61: 679–704. doi:10.1146/annurev.psych.093008.100352. PMID 19572784.
  7. Worell, J (2001). Encyclopedia of Women and Gender. Vol. I. p. 603. ISBN 978-0-12-227246-2.
  8. 8.0 8.1 8.2 Brannon, Linda; Feist, Jess (2009). "Personal Coping Strategies". Health Psychology: An Introduction to Behavior and Health: An Introduction to Behavior and Health (7th ed.). Wadsworth Cengage Learning. pp. 121–3. ISBN 978-0-495-60132-6.
  9. 9.0 9.1 Robinson, Jenefer (2005). Deeper Than Reason: Emotion and Its Role in Literature, Music, and Art. p. 438. ISBN 978-0-19-926365-3.
  10. 10.0 10.1 10.2 Carver, CS (29 กันยายน 2010). "Coping". ใน Contrada RJ, Baum A (บ.ก.). The Handbook of Stress Science: Biology, Psychology, and Health. New York: Springer Publishing. pp. 220–229. ISBN 978-0-8261-1471-6.
  11. 11.0 11.1 Folkman, S.; Lazarus, R. S. (1988). "Coping as a mediator of emotion". Journal of Personality and Social Psychology. 54 (3): 466–75. doi:10.1037/0022-3514.54.3.466. PMID 3361419.
  12. Ben-Zur, H. (2009). "Coping styles and affect". International Journal of Stress Management. 16 (2): 87–101. doi:10.1037/a0015731.
  13. Stanton, A. L.; Parsa, A.; Austenfeld, J. L. (2002). Snyder, C. R.; Lopez, S. J. (บ.ก.). Oxford Handbook of Positive Psychology. New York: Oxford University Press. pp. 16–17. ISBN 978-0-19-986216-0.
  14. Taylor, Shelley E. (12 สิงหาคม 2005). Health Psychology (6th ed.). McGraw-Hill Higher Education. p. 193. ISBN 978-0-07-310726-4. LCCN 2005-047901.
  15. Skynner, Robin; Cleese, John (1994). Life and How to Survive It. London. p. 55. ISBN 978-0-7493-1108-7.
  16. Madders, Jane (1981). Stress and Relaxation (Reprint ed.). Dunitz, Martin. pp. 24–5. ISBN 978-0-906348-25-3.
  17. Skynner, Robin; Cleese, John (1994). Life and How to Survive It. London. pp. 53–6. ISBN 978-0-7493-1108-7.
  18. Lane, Daniel. "Anxiety Strategies". Perth Brain Centre. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2015.
  19. "Tips to Manage Anxiety and Stress". Anxiety & Depression Association of America. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2015.
  20. Jacofsky, Matthew. "The Maintenance of Anxiety Disorders: Maladaptive Coping Strategies". Southern Arizona Behavioral Health Services. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มีนาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2011.
  21. Stoeber, Joachim; Janssen, Dirk P. (2011). "Perfectionism and coping with daily failures: Positive reframing helps achieve satisfaction at the end of the day". Anxiety, Stress & Coping. 24 (5): 477–97. doi:10.1080/10615806.2011.562977. PMID 21424944.
  22. Albertus, Sargent. "Basic Coping Strategies For Stress". Stress Treatment. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 มิถุนายน 2017. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2015.
  23. Skynner, Robin; Cleese, John (1994). Life and How to Survive It. London. p. 355. ISBN 978-0-7493-1108-7.
  24. Ogbu, John U. (1991). "Minority coping responses and school experience". The Journal of Psychohistory. 18 (4): 433–56. ISSN 0145-3378.
  25. Davis, Mary C.; Matthews, Karen A.; Twamley, Elizabeth W. (1999). "Is life more difficult on mars or venus? A meta-analytic review of sex differences in major and minor life events". Annals of Behavioral Medicine. 21 (1): 83–97. doi:10.1007/BF02895038. PMID 18425659.
  26. Billings, Andrew G.; Moos, Rudolf H. (1981). "The role of coping responses and social resources in attenuating the stress of life events". Journal of Behavioral Medicine. 4 (2): 139–57. doi:10.1007/BF00844267. PMID 7321033.
  27. Brannon, Linda; Feist, Jess (2009). Health Psychology: An Introduction to Behavior and Health: An Introduction to Behavior and Health (7th ed.). Wadsworth Cengage Learning. p. 125. ISBN 978-0-495-60132-6.
  28. Washburn-Ormachea, Jill M.; Hillman, Stephen B.; Sawilowsky, Shlomo S. (2004). "Gender and Gender-Role Orientation Differences on Adolescents' Coping with Peer Stressors". Journal of Youth and Adolescence. 33 (1): 31–40. doi:10.1023/A:1027330213113.
  29. Wang, J.; Korczykowski, M.; Rao, H.; Fan, Y.; Pluta, J.; Gur, R. C.; McEwen, B. S.; Detre, J. A. (2007). "Gender difference in neural response to psychological stress". Social Cognitive and Affective Neuroscience. 2 (3): 227–39. doi:10.1093/scan/nsm018. PMC 1974871. PMID 17873968.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]