การบุกครองโปแลนด์ของสหภาพโซเวียต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การบุกครองโปแลนด์ของสหภาพโซเวียต
ส่วนหนึ่งของ การบุกครองโปแลนด์
ในสงครามโลกครั้งที่สอง
Soviet forces marching through Poland in 1939
กองทัพโซเวียตเคลื่อนทัพผ่านแนวชายแดนโปแลนด์-โซเวียต
สถานที่
ผล สหภาพโซเวียตได้รับชัยชนะ
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
ภาคตะวันออกของโปแลนด์ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
คู่สงคราม
โปแลนด์ สหภาพโซเวียต
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
แอดวาร์ด รึดซ์-ชมิกวือ มิคาอิล โควัลยอฟ
(แนวรบเบลารุส)
แซมยอน ติโมเชนโก
(แนวรบยูเครน)
กำลัง
มากกว่า 20,000 นาย
กองกำลังป้องกันชายแดนประมาณ 20 กองพัน[1] และบางส่วนของกองทัพโปแลนด์[2]
ประมาณการตั้งแต่ 466,516 นาย[3] ไปจนถึงมากกว่า 800,000 นาย[2]
33+ กองพลทหารราบ
11+ กองพลน้อยทหารราบ
ความสูญเสีย

ประมาณการจำนวนเสียชีวิต 3,000 นาย และได้รับบาดเจ็บ 20,000 นาย[4] ไปจนถึงเสียชีวิตหรือสูญหาย 7,000 นาย[1]

  • นับรวมเชลยศึกชาวโปแลนด์อีกประมาณ 2,500 นาย ซึ่งถูกประหารในการแก้แค้นหรือโดยกลุ่มองค์การชาตินิยมชาวยูเครน[4]
  • 250,000 นาย[1]

ประมาณการตั้งแต่ผู้เสียชีวิต 737 นาย และประสบความสูญเสียทั้งหมดไม่เกิน 1,862 นาย (ประมาณการโดยฝ่ายโซเวียต)[4][5]

  • เสียชีวิตและสูญหาย 1,475 นาย และได้รับบาดเจ็บ 2,383[6]
  • เสียชีวิตหรือสูญหาย 2,500 นาย[2]
  • เสียชีวิต 3,000 นาย และได้รับบาดเจ็บน้อยกว่า 10,000 นาย (ประมาณการโดยฝ่ายโปแลนด์)[4]

การบุกครองโปแลนด์ของสหภาพโซเวียต เป็นปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งเริ่มขึ้นโดยปราศจากการประกาศสงคราม เมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1939 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สิบหกวันหลังจากการเริ่มต้นบุกครองโปแลนด์โดยนาซีเยอรมนี การบุกครองดังกล่าวจบลงด้วยชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองทัพแดง เมื่อต้นปี ค.ศ. 1939 สหภาพโซเวียตพยายามที่จะสร้างพันธมิตรต่อต้านนาซีเยอรมนี โดยเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส โปแลนด์ และโรมาเนีย แต่ประสบกับอุปสรรคหลายประการ รวมถึงการปฏิเสธที่จะยอมให้มีการเคลื่อนกำลังกองทัพโซเวียตผ่านดินแดนของประเทศเหล่านั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงร่วมกัน[7] เมื่อการเจรจากับประเทศเหล่านี้ประสบความล้มเหลว สหภาพโซเวียตจึงเปลี่ยนสถานะต่อต้านเยอรมนีของตน และเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 1939 ได้มีการร่วมลงนามในสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพกับนาซีเยอรมนี ซึ่งนำไปสู่การบุกครองโปแลนด์ ทั้งโดยนาซีเยอรมนีและโดยสหภาพโซเวียต[8] รัฐบาลโซเวียตประกาศว่า การกระทำของตนเป็นการปกป้องชาวยูเครนและชาวเบลารุส ซึ่งอาศัยอยู่ทางตะวันออกของโปแลนด์ เนื่องจากรัฐโปแลนด์ได้ล่มสลายลงในการเผชิญหน้ากับการโจมตีจากเยอรมนี และไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้กับพลเมืองของตนได้[9][10]

กองทัพแดงได้บรรลุเป้าหมายของตนได้อย่างรวดเร็ว และมีกำลังพลเหนือกว่าการต้านทานของฝ่ายโปแลนด์อย่างมาก[1] ทหารโปแลนด์กว่า 230,000 นายหรือกว่านั้น[11] ถูกจับเป็นเชลยศึก[12] รัฐบาลโซเวียตได้ผนวกเอาดินแดนที่ได้รับมาใหม่ภายใต้การปกครองของตน และในเดือนพฤศจิกายน ได้ประกาศว่าพลเมืองชาวโปแลนด์ 13.5 ล้านคน ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตยึดครองดังกล่าว กลายเป็นพลเมืองโซเวียตแล้ว รัฐบาลโซเวียตได้ปราบปรามการต่อต้านโดยการประหารและจับกุมประชาชนนับพัน[13] และได้ส่งพลเมืองจำนวนมากไปยังไซบีเรีย หรือส่วนอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกลของสหภาพโซเวียต ระหว่างการเนรเทศครั้งใหญ่สี่ครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 1939 ถึง 1941

การบุกครองของโซเวียต ซึ่งโปลิตบูโร เรียกว่าเป็น “การทัพเพื่อการปลดปล่อย” นำมาซึ่งการต่อต้านจากชาวโปลนับล้าน ชาวยูเครนตะวันตก และชาวบาเลรุสเซียน นำไปสู่สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน และสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต[14] ระหว่างการคงอยู่ของสาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ การบุกครองดังกล่าวถือเป็นข้อห้ามกล่าวถึง และเกือบจะถูกลบไปจากหน้าประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของ "มิตรภาพนิรันดร" ระหว่างสมาชิกของค่ายตะวันออก[15]

เบื้องหลัง[แก้]

การจัดวางกำลังพลของกองทัพโปแลนด์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 กองกำลังโปแลนด์ส่วนใหญ่ถูกจัดวางติดกับชายแดนเยอรมัน ขณะที่ชายแดนที่ติดกับโซเวียตส่วนใหญ่จะถูกถอนกำลังออกมา

ปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 สหภาพโซเวียตพยายามที่จะสร้างพันธมิตรต่อต้านเยอรมนีกับสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม การเจรจาต่าง ๆ ประสบกับความยากลำบาก สหภาพโซเวียตยืนยันในเขตอิทธิพลของตนลากจากฟินแลนด์ไปจนถึงโรมาเนีย และต้องการความช่วยเหลือทางทหารนอกจากประเทศที่ถูกโจมตีโดยตรงแล้ว แต่ยังรวมถึงทุกประเทศที่โจมตีประเทศในเขตอิทธิพลนี้ด้วย[16] นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเจรจากับฝรั่งเศสและอังกฤษ ความต้องการของสหภาพโซเวียตในการยึดครองรัฐบอลติก (ลัตเวีย เอสโตเนีย และลิทัวเนีย) ก็ได้ปรากฏให้เห็นออกมาอย่างชัดเจนแล้ว[17] นอกจากนี้ ฟินแลนด์ ยังถูกรวมไปอยู่ในเขตอิทธิพลของโซเวียตเช่นเดียวกัน[18] และท้ายที่สุด สหภาพโซเวียตยังได้ต้องการสิทธิที่จะส่งกองทัพเข้าไปยังโปแลนด์ โรมาเนีย และรัฐบอลติก เมื่อสหภาพโซเวียตรู้สึกว่าความมั่นคงของตนถูกคุกคาม ทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ปฏิเสธข้อเสนอนั้น ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของโปแลนด์ โจเซฟ เบค ได้ชี้แจงว่า เมื่อสหภาพโซเวียตส่งทหารเข้ามาในดินแดนของตนแล้ว ทหารเหล่านั้นอาจไม่ได้ถูกเรียกกลับประเทศของตนอีกเลยก็เป็นได้[7] สหภาพโซเวียตไม่ไว้วางใจในความมั่นคงร่วมกันอย่างมีเกียรติของอังกฤษและฝรั่งเศส นับตั้งแต่ทั้งสองประเทศประสบความล้มเหลวที่จะป้องกันชัยชนะของฟาสซิสต์ ใน สงครามกลางเมืองสเปน หรือป้องกันเชโกสโลวาเกียจากนาซีเยอรมนีนอกจากนี้ สหภาพโซเวียตยังสงสัยว่าฝ่ายพันธมิตรตะวันตกอาจต้องการให้สหภาพโซเวียตรบกับเยอรมนีอย่างโดดเดี่ยว ขณะที่พวกตนคอยเฝ้ามองอยู่โดยไม่ช่วยเหลืออะไร[19] และด้วยความกังวลดังกล่าว สหภาพโซเวียตจึงหันไปเจรจากับเยอรมนีแทน

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1939 สหภาพโซเวียตได้ลงนามในกติกาสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ กับนาซีเยอรมนี ซึ่งทำให้ฝ่ายพันธมิตรประหลาดใจมาก รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ประกาศว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาไม่รุกรานระหว่างกัน แต่ในข้อตกลงลับของสนธิสัญญานั้น เป็นการตกลงแบ่งโปแลนด์ และยุโรปตะวันออกให้อยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียต กติกาสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ ซึ่งกล่าวว่าเป็นใบเบิกทางสำหรับการทำสงคราม และเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจของฮิตเลอร์ในการบุกครองโปแลนด์[7][20]

การแบ่งยุโรปตะวันออก ซึ่งได้รับการตกลงไว้ในกติกาสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอป แต่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงในภายหลัง

สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นการเพิ่มพื้นที่ป้องกันเพิ่มเติมทางด้านตะวันตก[21] นอกจากนั้น ยังได้เป็นการเพิ่มเติมดินแดน ซึ่งเคยถูกผนวกเข้ากับโปแลนด์เมื่อยี่สิบปีก่อนคืน และเป็นการรวมประชากรชาวยูเครนตะวันตก ชาวยูเครนตะวันออกและชาวเบลารุสเข้าด้วยกันภายใต้รัฐบาลโซเวียต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประชากรดังกล่าวนี้อาศัยอยู่ภายในรัฐเดียวกัน[22] ผู้นำโซเวียต โจเซฟ สตาลิน มองเห็นประโยชน์จากการทำสงครามในยุโรปตะวันตก ซึ่งอาจเป็นการบั่นทอนกำลังของศัตรูทางอุดมการณ์ของเขา และเป็นการขยายดินแดนใหม่ต่อการแพร่ขยายของคอมมิวนิสต์[23]

ไม่นานหลังจากการบุกครองโปแลนด์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 ผู้นำนาซีได้กระตุ้นให้สหภาพโซเวียตได้ปฏิบัติตามข้อตกลง และโจมตีโปแลนด์จากทางตะวันออก เอกอัครทูตเยอรมนีแห่งกรุงมอสโก เฟรดริช เวอร์เนอร์ ฟอน เดอร์ ชูเลนบูร์ก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของโซเวียต วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ ได้แลกเปลี่ยนการเจรจาทางการทูตในประเด็นดังกล่าว[9]

เมื่อนั้นโมโลตอฟได้ใช้สถานการณ์ทางการเมืองกับสถานการณ์ดังกล่าว และกล่าวว่า รัฐบาลโซเวียตได้มีความตั้งใจที่จะถือเอาโอกาสที่กองทัพเยอรมันรุกเข้าไปมากขึ้น เพื่อที่จะประกาศว่าโปแลนด์กำลังล่มสลาย และเป็นความจำเป็นของสหภาพโซเวียตที่จะให้ความช่วยเหลือชาวยูเครนและชาวรัสเซียขาว ซึ่งถูกคุกคามโดยเยอรมนี การอ้างเหตุผลนี้เป็นการเข้าแทรกแซงของสหภาพโซเวียต ซึ่งสามารถแก้ตัวต่อหน้ามวลชนจำวนมาก และเป็นการล้างภาพลักษณ์ของผู้บุกครองอีกด้วย

— เฟรดริช เวอร์เนอร์ ฟอน เดอร์ ชูเลนบูร์ก เอกอัครทูตเยอรมันแห่งกรุงมอสโก ส่งโทรเลขมายังกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี 10 กันยายน 1939 [24]

สาเหตุที่สหภาพโซเวียตชะลอการเข้าสู่สงครามของตนมีหลายเหตุผลด้วยกัน ทั้งเนื่องจากกองทัพของตนกำลังอยู่ระหว่างข้อพิพาทตามแนวชายแดนกับญี่ปุ่น ทำให้สหภาพโซเวียตต้องใช้เวลาระดมพลเข้าสู่กองทัพแดง และเห็นข้อได้เปรียบทางการทูตในการรอจนกว่าโปแลนด์จะพ่ายแพ้ ก่อนที่กองทัพของตนจะเคลื่อนทัพ[25][26] เมื่อวันที่ 17 กันยายน 1939 โมโลตอฟประกาศทางวิทยุว่า สนธิสัญญาทุกฉบับระหว่างสหภาพโซเวียตกับโปแลนด์ทั้งหมดเป็นโมฆะ เนื่องจากถือว่ารัฐบาลโปแลนด์ได้ละทิ้งประชาชนของตน และนับเป็นความสิ้นสุดของความเป็นรัฐ นอกเหนือจากนั้น ฝ่ายโซเวียตอาจประเมินว่าฝรั่งเศสและอังกฤษได้ให้ความช่วยเหลือโปแลนด์ตามสัญญา และส่งกองกำลังโพ้นทะเลภายในสองสัปดาห์ผ่านทางโรมาเนีย วันที่แน่นอนของการบุกครองจะต้องคำนวณโดยวันที่ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรประกาศสงครามกับเยอรมนี บวกด้วย 14 วัน ซึ่งเป็นวันที่ 17 กันยายน 1939 และเมื่อตนยังไม่เห็นการเข้าช่วยเหลือของกองทัพฝรั่งเศส-อังกฤษมาถึงโรมาเนียเลย สหภาพโซเวียตจึงตัดสินใจที่จะโจมตี

สตาลินไม่ปรารถนาที่จะช่วยเหลือนาซีเยอรมนีในการทำสงครามของตน ซึ่งอาจเป็นการกระตุ้นสถานการณ์ ดังที่ยุทธศาสตร์ของเขาตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าควรจะปล่อยให้รัฐทุนนิยมตะวันตกและนาซีเยอรมนีทำสงครามระหว่างกัน ก่อนที่เขาจะสามารถสู้กับทั้งสองฝ่ายได้ ทางด้านฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรล้มเหลวที่จะช่วยเหลือโดยการส่งกองกำลังโพ้นทะเล หรือการเริ่มต้นการรุกเต็มรูปแบบทางด้านตะวันตกของเยอรมนี หรือแม้กระทั่งการทิ้งระเบิดในเขตอุตสาหกรรมทางภาคตะวันตกของเยอรมนี ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับสตาลิน จากปรารถนาของเขาที่ต้องการให้เกิดการหลั่งเลือดระหว่างศัตรูของคอมมิวนิสต์ทั้งสองฝ่าย และในวันเดียวกัน กองทัพแดงได้ข้ามแนวชายแดนเข้าสู่โปแลนด์[4][25]

การทัพ[แก้]

สถานการณ์การรบหลังวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1939
เส้นกำหนดแบ่งเขตยึดครองระหว่างกองกำลังเยอรมันและโซเวียต หลังการบุกครองโปแลนด์ร่วมกันในเดือนกันยายน 1939
นายพล ไฮนซ์ กูเดเรียน (กลาง) และแซมยอน คริโวเชย์น (ขวา) ที่การเดินขบวนฉลองทั่วไปในเมืองเบรสต์

กองทัพแดงเข้าสู่ภาคตะวันออกของโปแลนด์ ประกอบด้วย 7 กองทัพสนาม มีกำลังพลระหว่าง 450,000 – 1,000,000 นาย[4] ถูกจัดวางกำลังเป็นสองแนวรบ: แนวรบเบลารุส ภายใต้การบังคับบัญชาของมิคาอิล โควัลยอฟ และแนวรบยูเครน ภายใต้การบังคับบัญชาของเซมิออน ตีโมเชนโค[4] เมื่อถึงเวลานี้ กองทัพโปแลนด์ประสบความล้มเหลวที่จะป้องกันแนวชายแดนทางด้านตะวันตกของตน และในการตอบสนองต่อการโจมตีโต้กลับในยุทธการแห่งบซูรา ซึ่งแต่เดิมแล้ว กองทัพโปแลนด์ได้จัดเตรียมแผนการรับมือกับภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตไว้เรียบร้อยแล้ว แต่พวกเขาไม่พร้อมที่จะรับมือกับการโจมตีจากทั้งสองด้านพร้อมกัน และนักยุทธศาสตร์ทางทหารของโปแลนด์ยังเชื่ออีกด้วยว่าไม่มีหนทางที่จะต้านทานการบุกครองจากเยอรมนีและสหภาพโซเวียตพร้อมกันได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีความเชื่อเช่นนั้น แต่กองทัพโปแลนด์ก็ยังไม่ได้พัฒนาแผนการอพยพในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น[27] ในช่วงเวลาที่กองทัพโซเวียตบุกครอง ผู้บัญชาการระดับสูงของโปแลนด์ส่งกองกำลังของตนส่วนใหญ่ไปป้องกันแนวชายแดนทางด้านตะวันตก และเหลือกองกำลังป้องกันแนวชายแดนทางด้านตะวันออกเพียง 20 กองพัน ซึ่งประกอบด้วยกองกำลังป้องกันชายแดนราว 20,000 นาย (Korpus Ochrony Pogranicza) ภายใต้การบังคับบัญชาของนายพล วิลเฮล์ม ออร์ลิค เร็คเคมันน์[1][4]

ในตอนแรก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของโปแลนด์ จอมพลแอดวาร์ด รึดซ์-ชมิกวือ สั่งให้กองกำลังชายแดนต้านทานกองทัพโซเวียต แต่ในภายหลัง เขาเปลี่ยนใจหลังจากที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรี เฟลิคแจน สลาวอจ สคลาวคอฟสกี และสั่งการให้กองกำลังเหล่านั้นล่าถอยและจู่โจมกองทัพโซเวียตในการป้องกันตัวเองเท่านั้น[1][5]

พวกโซเวียตได้มาถึงเราแล้ว ผมได้ออกคำสั่งให้มีการล่าถอยไปยังโรมาเนียและฮังการีด้วยเส้นทางที่สั้นที่สุด อย่าสู้กับพวกบอลเชวิค นอกเหนือจากว่ากองกำลังเหล่านั้นโจมตีคุณหรือพยายามปลดอาวุธกองกำลังของคุณ ภารกิจเพื่อกรุงวอร์ซอและเมืองอื่น ๆ จะยังคงเป็นการป้องกันไม่ให้ตกอยู่ในเงื้อมมือของฝ่ายเยอรมัน - ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เมืองที่ถูกยึดครองโดยพวกบอลเชวิคควรจะเจรจาในการถอนทหารประจำการไปยังฮังการีหรือโรมาเนียด้วย

— แอดวาร์ด รึดซ์-ชมิกวือ ผู้บัญชาการสูงสุดกองกำลังติดอาวุธโปแลนด์ 17 กันยายน 1939[28]

ชุดคำสั่งที่ขัดแย้งกันสองชุดทำให้เกิดความสับสนในกองทัพโปแลนด์[4] และเมื่อกองทัพแดงโจมตีกองกำลังโปแลนด์ ก็นำไปสู่การกระทบกระทั่งและยุทธการขนาดเล็กขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้[1] การตอบสนองของผู้ที่ไม่ใช่เชื้อสายโปลได้ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก ในบางกรณี อย่างเช่น ชาวยูเครน ชาวเบลารุส[29] และชาวยิว[30] ซึ่งให้การต้อนรับกองกำลังฝ่ายบุกครองเยี่ยงผู้ปลดปล่อย องค์การชาตินิยมชาวยูเครน ได้ถูกก่อตั้งขึ้น เพื่อต่อสู้กับชาวโปล และภารดรคอมมิวนิสต์ได้ก่อการปฏิวัติในท้องถิ่น อย่างเช่นที่ Skidel[4]

แผนการเริ่มต้นในการล่าถอยของกองทัพโปแลนด์ คือ การล่าถอยและรวมกำลังใหม่ในเขตหัวสะพานโรมาเนีย ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของโปแลนด์ใกล้กับแนวชายแดนที่ติดกับโรมาเนีย โดยมีแนวคิด คือ การปรับใช้ตำแหน่งป้องกันที่นั่นและรอคอยการโจมตีของอังกฤษและฝรั่งเศสจากทางตะวันตกตามที่สัญญาเอาไว้ แผนการนี้คาดว่าเยอรมนีจะลดการปฏิบัติการในโปแลนด์ เพื่อที่จะนำกำลังของตนไปสู้ในแนวรบที่สอง[4] ฝ่ายสัมพันธมิตรคาดหวังว่ากองทัพโปแลนด์จะยื้อเวลาได้หลายเดือน แต่การโจมตีของสหภาพโซเวียตทำให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง

ผู้นำทางการเมืองและทางทหารของโปแลนด์รู้ดีว่าตนกำลังพ่ายแพ้สงครามกับเยอรมนี และการโจมตีจากสหภาพโซเวียตยิ่งเป็นการตอกย้ำในประเด็นนี้[4] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโปแลนด์ปฏิเสธที่จะยอมจำนนหรือเจรจาสันติภาพกับเยอรมนี แต่กลับสั่งการให้กองทหารทั้งหมดอพยพจากโปแลนด์ และรวมกำลังใหม่ในฝรั่งเศส[4] ส่วนรัฐบาลโปแลนด์ได้หลบหนีข้ามพรมแดนไปยังโรมาเนีย เมื่อราวเที่ยงคืนของวันที่ 17 กันยายน 1939 ผ่านจุดผ่านแดนที่ Zaleszczyki กองทัพโปแลนด์ยังคงดำเนินการเคลื่อนทัพมุ่งหน้าไปยังเขตหัวสะพานโรมาเนีย โดยได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการโจมตีของกองทัพเยอรมันทางด้านหนึ่ง และการปะทะกับกองทัพโซเวียตจากอีกด้านหนึ่ง หลายวันหลังจากคำสั่งอพยพได้ประกาศออกมา กองทัพเยอรมันสามารถทำลายกองทัพคราคอฟ (Army Kraków) และกองทัพลูบลิน (Army Lublin) ได้ที่ยุทธการแห่งโทมาสซอฟ ลูเบลสกี ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 กันยายน[31]

กองทัพโซเวียตมักจะพบกับกองกำลังเยอรมัน ซึ่งกำลังมุ่งหน้ามาจากทิศทางตรงกันข้าม และมีตัวอย่างของการร่วมมือกันหลายครั้งระหว่างทั้งสองกองทัพในการรบ เช่น เมื่อกองทัพเยอรมันเคลื่อนผ่านป้อมปราการเบรสต์ ซึ่งถูกทำลายลง หลังจากยุทธการแห่ง Brześć Litewski ไปยังกองพลน้อยรถถังที่ 29 แห่งสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 17 กันยายน[32] นายพลเยอรมัน ไฮนซ์ กูเดเรียน และนายพลจัตวาโซเวียต แซมยอน คริโวเชย์น ได้มีการจัดขบวนฉลองชัยชนะร่วมกันในเมืองนั้น[32] ลวีฟยอมจำนนเมื่อวันที่ 22 กันยายน ไม่กี่วันหลังจากที่กองทัพเยอรมันยุติปฏิบัติการปิดล้อม และกองทัพโซเวียตได้มาดำเนินการต่อ[33][34] กองทัพโซเวียตได้ยึดเมืองวิลโน เมื่อวันที่ 19 กันยายน หลังจากการสู้รบเป็นเวลาสองวัน และยึดเมืงกรอดโนได้เมื่อวันที่ 24 กันยายน หลังจากการรบเป็นเวลาสี่วัน เมื่อวันที่ 28 กันยายน กองทัพแดงได้มาถึงแนวแม่น้ำนารอว์ บี๊กตะวันตก วิสตูล่าและซาน - ซึ่งเป็นแนวชายแดนซึ่งได้ตกลงไว้ในการบุกครองร่วมกับกองทัพเยอรมัน และการต้านทานของโปแลด์ ซึ่งถูกปิดล้อมในเขตป้องกันซาร์นี โวลฮีเนีย ใกล้กับแนวชายแดนโปแลนด์-โซเวียตเดิม ได้ทำการรบไปจนถึงวันที่ 25 กันยายน

ถึงแม้ว่ากองทัพโปแลนด์จะได้รับชัยชนะทางยุทธวิธีได้ในยุทธการแห่ง Szack เมื่อวันที่ 28 กันยายนก็ตาม แต่ผลของการรบที่ใหญ่กว่าไม่เป็นที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด[35] อาสาสมัครพลเรือน ทหารชาวบ้านและทหารที่ล่าถอยกลับมาได้ทำการรบต้านทานในกรุงวอร์ซอ ไปจนถึงวันที่ 28 กันยายน ปราการมอดลิน ทางตอนเหนือของกรุงวอร์ซอ ยอมจำนนเมื่อวันที่ 29 กันยายน ในวันที่ 1 ตุลาคม กองทัพโซเวียตขับไล่กองทัพโปแลนด์ให้ล่าถอยไปจนถึงเขตป่าในยุทธการแห่ง Wytyczno ซึ่งเป็นหนึ่งในการเผชิญหน้าโดยตรงครั้งสุดท้ายของการทัพดังกล่าว[36]

ทหารประจำการบางแห่งได้ป้องกันที่มั่นของตนหลังจากที่ส่วนอื่น ๆ ได้ยอมจำนนไปแล้ว แต่กองกำลังสุดท้ายของโปแลนด์ที่ยอมจำนน คือ กลุ่มปฏิบัติการอิสระโปลิเซ่ นายพลฟรานซิสเซ็ค คลีเบิร์ก (Samodzielna Grupa Operacyjna "Polesie") ในวันที่ 6 ตุลาคม หลังจากยุทธการแห่งค็อก ใกล้กับเมืองลูบลิน เป็นเวลาสี่วัน และเป็นจุดสิ้นสุดของการบุกครอง

กองทัพโซเวียตได้รับชัยชนะ ในวันที่ 31 ตุลาคม วียาเชสลาฟ โมโลตอฟได้รายงานต่อรัฐสภาสูงสุดของโซเวียต ว่า: "หลังจากการโจมตีสั้น ๆ ของกองทัพเยอรมัน และตามด้วยการรุกของกองทัพแดง เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการทำลายสิ่งมีชีวิตอันอัปลักษณ์ซึ่งหลงเหลืออยู่จากสนธิสัญญาแวร์ซาย"[37]

ปฏิกิริยาของฝ่ายสัมพันธมิตร[แก้]

ปฏิกิริยาของฝรั่งเศสและอังกฤษยังคงเงียบกริบ นับตั้งแต่ไม่มีประเทศใดที่ต้องการเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียตในสถานการณ์เช่นนี้[38] ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันระหว่างโปแลนด์-อังกฤษ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1939 อังกฤษได้ให้สัญญาจะช่วยเหลือโปแลนด์หากถูกโจมตีจากอำนาจในทวีปยุโรป แต่เมื่อเอกอัครราชทูตโปแลนด์ เอ็ดเวิร์ด เบอร์นาร์ด แรคซินสกี ได้เตือนความจำของเลขาธิการแห่งรัฐด้านกิจการต่างประเทศและเครือจักรภพ อี. เอฟ. แอล. วูด เอร์ลที่หนึ่งแห่งฮาลิแฟกซ์ เขากลับตอบอย่างทื่อ ๆ ว่า เป็นธุระของอังกฤษหรือที่จะประกาศสงครามกับสหภาพโซเวียต[38] นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เนวิลล์ เชมเบอร์แลนด์ พิจารณาให้มีการพิจารณาสาธารณะในการฟื้นฟูสถานภาพรัฐของโปแลนด์ แต่ในตอนท้าย ก็กลายเป็นเพียงการแถลงการตำหนิเพียงเล็กน้อยเท่านั้น[38]

ฝรั่งเศสเองก็ได้ให้สัญญากับโปแลนด์ รวมไปถึงการมอบความช่วยเหลือทางอากาศ แต่กลับไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ครั้นเมื่อกองทัพโซเวียตเคลื่อนทัพเข้าสู่โปแลนด์ ฝรั่งเศสและอังกฤษได้ตัดสินว่าตนไม่อาจให้ความช่วยเหลือโปแลนด์ได้ในระยะเวลาอันสั้น และเริ่มต้นวางแผนสำหรับชัยชนะในระยะยาวแทน ฝรั่งเศสได้ดำเนินการรุกในแคว้นซาร์เพียงเล็กน้อย เมื่อต้นเดือนกันยายน แต่หลังจากความพ่ายแพ้ของโปแลนด์ กองทัพฝรั่งเศสก็ล่าถอยกลับไปยังแนวมากิโนต์ ในวันที่ 4 ตุลาคม[39] ชาวโปลจำนวนมากไม่พอใจกับการให้ความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยจากฝ่ายพันธมิตรตะวันตก ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีการทรยศโดยชาติตะวันตก

ผลจากการรบ[แก้]

"สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพฉบับที่สอง" เป็นชื่อเรียกของ สนธิสัญญามิตรภาพและพรมแดนระหว่างเยอรมนี-โซเวียต ซึ่งได้รับการลงนามในวันที่ 28 กันยายน 1939 แผนที่ของโปแลนด์ลงนามโดยสตาลินและริบเบนทรอพ ได้ปรับปรุงแนวชายแดนเยอรมนี-โซเวียตใหม่หลังจากการบุกครองโปแลนด์ร่วมกัน
เชลยศึกชาวโปลถูกจับกุมตัวโดยกองทัพแดง หลังจากการบุกครองโปแลนด์ของสหภาพโซเวียต
ตำรวจและพลเมืองชาวโปล ซึ่งถูกตราหน้าว่าเป็น "ศัตรูของประชาชน" ถูกจับกุมตัวโดยกองทัพแดง หลังจากการบุกครองโปแลนด์ของสหภาพโซเวียต
บันทึกของ ลัฟเรนตีย์ เบรียา ได้รับการรับรองจากสมาชิกของโปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต – เป็นเอกสารสำคัญในการตัดสินใจสังหารหมู่เชลยศึกนายทหารชาวโปล ลงวันที่ 5 มีนาคม 1940; จากภาพแสดงให้เห็นหน้าแรกของเอกสาร ซึ่งกล่าวถึงขบวนการเคลื่อนไหวภายในนายทหารโปแลนด์ที่ถูกจับกุมตัว
ส่วนหน้าที่สองเป็นการแนะนำให้หน่วยพลาธิการประชาชนเพื่อกิจการภายใน ในการใช้ "บทลงโทษขั้นเด็ดขาด:ยิงทิ้ง" เชลยศึกกว่า 25,700 นาย
โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อของโซเวียตพรรณนาถึงการบุกครองของกองทัพแดงเข้าไปในยูเครนตะวันตก ว่าเป็นการปลดปล่อยชาวยูเครน ข้อความในภาษายูเครนสามารถอ่านได้ว่า: "เราได้ยื่นมือมายังพี่น้องของเรา เพื่อให้พี่น้องเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนและปลดปล่อยตนเองจากการปกครองด้วยแส้ ซึ่งกินเวลามานานกว่าศตวรรษ"

ในเดือนตุลาคม 1939 โมโลตอฟได้รายงานสภาสูงของโซเวียต ว่ากองทัพโซเวียตเสียชีวิตทหารไป 737 นาย และได้รับความสูญเสีย 1,862 นายระหว่างการทัพ แต่ผู้เชี่ยวชายชาวโปแลนด์อ้างว่ามีทหารเสียชีวิตสูงถึง 3,000 นาย และบาดเจ็บราว 8,000-10,000 นาย ส่วนทางฝ่ายโปแลนด์ มีทหารเสียชีวิตในการรบกับสหภาพโซเวียตราว 6,000-7,000 นาย และถูกจับเป็นเชลยศึกราว 230,000-450,000 นาย[1][40] ทหารโซเวียตมักจะไม่ให้เกียรติในเงื่อนไขการยอมจำนน พวกเขาให้สัญญาทหารโปแลนด์ว่าจะมอบอิสรภาพให้ แต่กลับเข้าจับกุมในทันทีที่วางปืนลง[4]

สหภาพโซเวียตล้มเลิกการรับรองรัฐโปแลนด์นับตั้งแต่เริ่มต้นการบุกครองแล้ว[9][10] ผลที่ตามมา คือ รัฐบาลของทั้งสองไม่เคยประกาศสงครามอย่างเป็นทางการระหว่างกัน ฝ่ายโซเวียตไม่ได้จัดเชลยศึกที่เป็นทหารโปแลนด์ว่าเป็นเชลยศึก แต่จัดว่าเป็นกบฏต่อรัฐบาลใหม่อันชอบธรรมของยูเครนตะวันตกและเบโลรุสเซียตะวันตก ฝ่ายโซเวียตสังหารเชลยศึกชาวโปแลนด์นับหมื่นนาย บางคนอย่างเช่น นายพลโจเซฟ ออลซีนา วิลซินสกี ผู้ซึ่งถูกจับกุมตัว สืบสวน และถูกยิงเมื่อวันที่ 22 กันยายน นับเป็นการประหารระหว่างการทัพเลยทีเดียว[41][42] ในวันที่ 24 กันยายน ทหารโซเวียตสังหารเจ้าหน้าที่ 42 คนและคนไข้ของโรงพยาบาลทหารโปแลนด์ในหมู่บ้านกราโบวิค ใกล้กับ Zamość[43] ฝ่ายโซเวียตยังได้ประหารนายทหารทุกนายที่สามารถจับกุมตัวได้ภายหลังยุทธการแห่ง Szack นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 1939[35] ทหารโปแลนด์และพลเรือนมากกว่า 20,000 นายเสียชีวิตในการสังหารหมู่คาทิน[4][32]

ในการควบคุมตัวในเรือนจำของโซเวียต ได้มีการทรมานผู้ต้องขังกกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมืองขนาดเล็ก ในเมือง Bobrka ผู้ต้องขังถูกราดด้วยน้ำต้มเดือด ใน Przemyslany ผู้ต้องขังถูกตัดจมูก หูและนิ้ว รวมไปถึงควักลูกตาออก ในเมือง Czortkow สตรีในเมืองถูกตัดเต้านมออกจากร่าง และในเมือง Drohobycz ได้มีการพบเหยื่อถูกมัดติดกันด้วยลวดหนาม ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน Sambor, Stanislawow, Stryj และ Zloczow[44] รวมไปถึงเมื่อในเมือง Czortków และระหว่างการลุกฮือขึ้นโดยชาวโปแลนด์ท้องถิ่น เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1940 ได้ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงโดยฝ่ายโซเวียต

นักประวัติศาสตร์อย่างเช่น แจน ที. กรอส ได้บันทึกไว้ว่า:

"เราไม่สามารถหลีกหนีข้อสรุปที่ว่า: ระบบความปลอดภัยของรัฐโซเวียตทรมานผู้ต้องขังในเรือนจำของตนไม่เพียงแต่ต้องการบีบคั้นให้มีการสารภาพเท่านั้น แต่รวมไปถึงทำให้พวกเขาเหล่านั้นเสียชีวิตลงด้วย ไม่ใช่ว่าหน่วยเอ็นเควีดีจะมีความซาดิสต์ แต่ถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว การทรมานนี้เป็นพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและมีระเบียบ" [45]

ฝ่ายโปแลนด์และสหภาพโซเวียตได้สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1941 หลังจากข้อตกลงซิคอร์สกี-เมย์สกี แต่สหภาพโซเวียตได้ยุติความสัมพันธ์ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1943 หลังจากที่รัฐบาลโปแลนด์และทหารนาซีเยอรมันที่สโมเลนสค์ที่ตรวจการอยู่ได้ตรวจสอบ เมื่อได้ค้นพบหลุมมรณะที่ Katyn[46] หลังจากนั้น ฝ่ายโซเวียตได้พยายามวิ่งเต้นฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกให้ยอมรับรัฐบาลนิยมโซเวียตของ วานดา วาซิลลีว์สกา ในกรุงมอสโก[47]

ในวันที่ 28 กันยายน 1939 สหภาพโซเวียตและเยอรมนีได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขลับของสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ โดยยกลิทัวเนียให้อยู่ในเขตอิทธิพลของโซเวียต และเลื่อนแนวชายแดนในโปแลนด์มาทางด้านตะวันออก โดยยกให้เป็นดินแดนของเยอรมนีมากขึ้น[2] จากการจัดการดังกล่าว มักจะถูกพิจารณาว่าเป็นการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่สี่ในประวัติศาสตร์[4] สหภาพโซเวียตได้ครอบครองดินแดนฝั่งตะวันออกเกือบทั้งหมดของแม่น้ำพิซา นาโรว์ บั๊กตะวันตกและซาน ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 200,000 ตารางกิโลเมตร มีพลเมืองชาวโปแลนด์อาศัยอยู่ 13.5 ล้านคน[5]

กองทัพแดงได้หว่านความสับสนให้กับชาวบ้านท้องถิ่น โดยกล่าวอ้างว่าพวกเขามายังโปแลนด์ เพื่อช่วยป้องกันภัยจากนาซี[48] การบุกครองของพวกเขาสร้างความประหลาดใจให้กับประชาคมโปแลนด์และผู้นำ ซึ่งยังไม่ได้แนะนำวิธีการรับมือกับภัยการบุกครองของสหภาพโซเวียตเลย พลเมืองชาวโปแลนด์และชาวยิวอาจเลือกที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียตมากกว่าอยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมนี[49] อย่างไรก็ตาม ฝ่ายโซเวียตได้พยายามสอดแทรกแนวคิดของตนลงไปในวิถีชีวิตท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว และยังได้เริ่มการริบทรัพย์ การยึดในเป็นของรัฐบาล และกระจายทรัพย์สินของเอกชนและของรัฐโปแลนด์ทั้งหมดเสียใหม่[50] ระหว่างการยึดครองเป็นระยะเวลานานสองปี ฝ่ายโซเวียตได้จับกุมพลเมืองชาวโปแลนด์กว่า 100,000 คน[51] และเนรเทศชาวโปแลนด์เป็นจำนวนระหว่าง 350,000–1,500,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิต 250,000–1,000,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมือง[52]

ดินแดนซึ่งถูกผนวกโดยสหภาพโซเวียต[แก้]

จากจำนวนประชากร 13.5 ล้านคนซึ่งอาศัยอยู่ในเขตยึดครองโปแลนด์ของสหภาพโซเวียต เชื้อชาติโปลเป็นเชื้อชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แต่ชาวเบลารุสและชาวยูเครนเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนคิดเป็น 50% ของจำนวนประชากรทั้งหมด การผนวกดินแดนในครั้งนี้ไม่ได้รวมเอาเชื้อชาติเบลารุสหรือชาวยูเครนทั้งหมด มีบางส่วนที่อาศัยอยู่ในเขตยึดครองของเยอรมนีทางตะวันตก แม้กระนั้น ก็สามารถทำให้เกิดการรวมตัวกันของชนส่วนใหญ่ของประชากรทั้งสองเชื้อชาติ และเกิดเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเบลารุส และสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน ซึ่งขยายเพิ่มขึ้นมา

โฆษณาชวนเชื่อของโซเวียตต่อประชากรชาวยูเครนตะวันตก ภาษายูเครนอ่านได้ว่า: “ตัวเลือกของผู้ใช้แรงงาน! จงลงคะแนนเพื่อที่จะรวมยูเครนตะวันตกกับโซเวียตยูเครน เพื่อการรวมตัวกัน อิสระและความเจริญ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน จงทำลายเขตกั้นระหว่างยูเครนตะวันตกกับโซเวียตยูเครน ขอให้สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครนจงเจริญ!"

ในวันที่ 26 ตุลาคม 1939 การเลือกตั้งสภาเบลารุสและสภายูเครนถูกจัดขึ้น ในการรับรองการผนวกดินแดนดังกล่าวให้เป็นการสมเหตุสมผล ชาวเบลารุสและชาวยูเครนในโปแลนด์มักจะถูกเบียดขับให้เกิดความเป็นต่างด้าวมากขึ้น โดยนโยบายของรัฐบาลโปแลนด์ และการสลายขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีความจงรักภักดีน้อยมากต่อรัฐโปแลนด์[53][54] อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ชาวเบลารุสเซียนและชาวยูเครนทั้งหมดที่เชื่อในความรับผิดชอบจากการปกครองของโซเวียต หลังจากทุพภิกขภัยชาวยูเครนแห่งปี 1932-1933[48] ในทางปฏิบัติแล้ว คนจนมักจะให้การต้อนรับพวกโซเวียต และพวกผู้ดีชั้นสูงจะเข้าร่วมกับการต่อต้าน ถึงแม้ว่าจะสนับสนุนให้มีการรวมชาติใหม่ก็ตาม[53][55]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 Edukacja Humanistyczna w wojsku เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. 1/2005. Dom wydawniczy Wojska Polskiego. (Humanist Education in the Army.) 1/2005. Publishing House of the Polish Army. Retrieved 28 November 2006. (โปแลนด์)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Kampania wrześniowa 1939 (September Campaign 1939) from PWN Encyklopedia. Internet Archive, mid-2006. Retrieved 16 July 2007. (โปแลนด์)
  3. Colonel-General Grigory Fedot Krivosheev, Soviet casualties and combat losses in the twentieth century.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 4.13 4.14 4.15 George Sanford, p. 20–24.
  5. 5.0 5.1 5.2 Gross, p. 17.
  6. Piotrowski, p. 199.
  7. 7.0 7.1 7.2 Anna M. Cienciala (2004). The Coming of the War and Eastern Europe in World War II เก็บถาวร 2012-08-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (University of Kansas). Retrieved 15 March 2006.
  8. ทูตเยอรมนีได้กระตุ้นให้สหภาพโซเวียตเข้าตีโปแลนด์จากทางตะวันออกนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น. Roberts, Geoffrey (1992). การตัดสินใจของสหภาพโซเวียตในการลงนามสนธิสัญญากับนาซีเยอรมนี. Soviet Studies 44 (1), 57–78; The Reich Foreign Minister to the German Ambassador in the Soviet Union (Schulenburg) เก็บถาวร 2007-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน @ โครงการเอวาลอน และเอกสารบางส่วน สหภาพโซเวียตไม่เต็มใจที่จะเข้าแทรกเหตุการณ์เมื่อกรุงวอร์ซอยังไม่ถูกตีแตก การตัดสินใจของโซเวียตในการบุกครองนภาคตะวันออกของโปแลนด์ได้รับการรับรองให้อยู่ในเขตอิทธิพลของโซเวียต หลังจากที่ได้เจรจากับเอกอัครทูตเยอรมนี ฟรีดริช เวอร์เนอร์ ฟอน เดอร์ ชูเลนบูร์ก เมื่อวันที่ 9 กันยายน แต่การบุกครองถูกเลื่อนออกไปเป็นเวลามากกว่าหนึ่งสัปดาห์. Roberts, Geoffrey (1992). The Soviet Decision for a Pact with Nazi Germany. Soviet Studies 44 (1), 57–78; The German Ambassador in the Soviet Union (Schulenburg) to the German Foreign Office เก็บถาวร 2007-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน @ โครงการเอวาลอน. หน่วยข่าวกรองโปแลนด์เริ่มจับตามองแผนการของโซเวียต เมื่อวันที่ 12 กันยายน.
  9. 9.0 9.1 9.2 โทรเลขส่งโดยชูเลนบูร์ก เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหภาพโซเวียต จากมอสโกถึงกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี: No. 317 เก็บถาวร 2009-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 10 กันยายน 1939, No. 371 เก็บถาวร 2007-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 16 กันยายน 1939, No. 372 เก็บถาวร 2007-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 17 กันยายน 1939. โครงการเอวาลอน สถาบันกฎหมายเยล. Retrieved 14 November 2006.
  10. 10.0 10.1 1939 wrzesień 17, Moskwa Nota rządu sowieckiego nie przyjęta przez ambasadora Wacława Grzybowskiego เก็บถาวร 2017-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (จดหมายจากรัฐบาลโซเวียตถึงรัฐบลโปแลนด์ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 1939 ปฏิเสธโดยเอกอัครทูตโปแลนด์ Wacław Grzybowski). Retrieved 15 November 2006; Degras, pp. 37–45. (โปแลนด์)
  11. M.I.Mel'tyuhov. Stalin's lost chance. The Soviet Union and the struggle for Europe 1939–1941, p.132. Мельтюхов М.И. Упущенный шанс Сталина. Советский Союз и борьба за Европу: 1939–1941 (Документы, факты, суждения). — М.: Вече, 2000.
  12. obozy jenieckie żołnierzy polskich เก็บถาวร 2013-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ค่ายกักกันทหารโปแลนด์). Encyklopedia PWN. Retrieved 28 November 2006. (โปแลนด์)
  13. Rummel, p.130; Rieber, p. 30.
  14. Rieber, p 29.
  15. Ferro, Marc (2003). The Use and Abuse of History: Or How the Past Is Taught to Children. London, New York: Routledge. ISBN 978-0-415-28592-6.
  16. Shaw, p 119; Neilson, p 298.
  17. "Natural Enemies: The United States and the Soviet Union in the Cold War 1917-1991" by Robert C. Grogin 2001 Lexington Books page 28
  18. "Scandinavia and the Great Powers 1890-1940"Patrick Salmon 2002 Cambridge University Press
  19. Kenez, pp. 129–31.
  20. Davies, Europe: A History, p. 997.
  21. James F. Dunnigan, p. 132.
  22. Sanford, pp. 20–25; Timothy Snyder, p. 77.
  23. Michael Gelven, p.236.
  24. "The Avalon Project at Yale Law School; The German Ambassador in the Soviet Union, (Schulenburg) to the German Foreign Office, Telegram VERY URGENT Moscow, September 10, 1939-9:40 p. m. STRICTLY SECRET". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-07. สืบค้นเมื่อ 2009-07-12.
  25. 25.0 25.1 Steven J. Zaloga, p 80.[ลิงก์เสีย]
  26. Weinberg, p. 55.
  27. Szubański, Plan operacyjny "Wschód".
  28. Sowiety wkroczyły. Nakazuję ogólne wycofanie na Rumunię i Węgry najkrótszymi drogami. Z bolszewikami nie walczyć, chyba w razie natarcia z ich strony albo próby rozbrojenia oddziałów. Zadania Warszawy i miast które miały się bronić przed Niemcami - bez zmian. Miasta do których podejdą bolszewicy powinny z nimi pertraktować w sprawie wyjścia garnizonów do Węgier lub Rumunii. Andrzej M. Kobos, "Agresja albo nóż w plecy" เก็บถาวร 2016-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (โปแลนด์)
  29. Piotrowski, p 199.
  30. Gross, pp. 32–33.
  31. Taylor, p. 38.
  32. 32.0 32.1 32.2 Benjamin B. Fischer, ""The Katyn Controversy: Stalin's Killing Field เก็บถาวร 2010-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", Studies in Intelligence, Winter 1999–2000. Retrieved 16 July 2007.
  33. Artur Leinwand (1991). "Obrona Lwowa we wrześniu 1939 roku". Instytut Lwowski. Retrieved 16 July 2007. (โปแลนด์)
  34. Ryś, p 50. [1] เก็บถาวร 2008-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  35. 35.0 35.1 Szack. Encyklopedia Interia. Retrieved 28 November 2006. (โปแลนด์)
  36. Orlik-Rückemann, p. 20.
  37. Moynihan, p. 93; Tucker, p. 612.
  38. 38.0 38.1 38.2 Prazmowska, pp. 44–45.
  39. Jackson, p. 75.
  40. Отчёт Украинского и Белорусского фронтов Красной Армии Мельтюхов, с. 367. [2] เก็บถาวร 2022-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 17 July 2007. (รัสเซีย)
  41. Sanford, p. 23; (โปแลนด์) Olszyna-Wilczyński Józef Konstanty เก็บถาวร 2008-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Encyklopedia PWN. Retrieved 14 November 2006.
  42. Śledztwo w sprawie zabójstwa w dniu 22 września 1939 r. w okolicach miejscowości Sopoćkinie generała brygady Wojska Polskiego Józefa Olszyny-Wilczyńskiego i jego adiutanta kapitana Mieczysława Strzemskiego przez żołnierzy b. Związku Radzieckiego. (S 6/02/Zk) Polish Institute of National Remembrance. Internet Archive, 16.10.03. Retrieved 16 July 2007. (โปแลนด์)
  43. Rozstrzelany Szpital เก็บถาวร 2009-03-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Executed Hospital). Tygodnik Zamojski, 15 September 2004. Retrieved 28 November 2006. (โปแลนด์)
  44. Gross, p. 181
  45. Gross, p. 182
  46. บันทึกของฝ่ายโซเวียต unilaterally severing Soviet-Polish diplomatic relations, 25 April 1943. English translation of Polish document. เก็บถาวร 2008-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved 19 December 2005; Sanford, p. 129.
  47. Sanford, p. 127; Martin Dean Collaboration in the Holocaust. Retrieved 15 July 2007.
  48. 48.0 48.1 Davies, Europe: A History, pp. 1001–1003.
  49. Gross, pp. 24, 32–33.
  50. Piotrowski, p.11
  51. Represje 1939-41 Aresztowani na Kresach Wschodnich เก็บถาวร 2006-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Repressions 1939–41. Arrested on the Eastern Borderlands.) Ośrodek Karta. Retrieved 15 November 2006. (โปแลนด์)
  52. Rieber, pp. 14, 32–37.
  53. 53.0 53.1 Marek Wierzbicki, Stosunki polsko-białoruskie pod okupacją sowiecką (1939–1941) เก็บถาวร 2008-06-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. "Białoruskie Zeszyty Historyczne", Biełaruski histaryczny zbornik, 20 (2003), p. 186–188. Retrieved 16 July 2007. (โปแลนด์)
  54. Norman Davies, Boże Igrzysko (God's Playground), vol 2, pp. 512–513.
  55. Andrzej Nowak, The Russo-Polish Historical Confrontation, Sarmatian Review, January 1997, Volume XVII, Number 1. Retrieved 16 July 2007.