กลุ่มอาการมือแปลกปลอม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลุ่มอาการมือแปลกปลอม
(Alien hand syndrome)
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-9781.8
MeSHD055964

กลุ่มอาการมือแปลกปลอม (อังกฤษ: alien hand syndrome, Dr Strangelove syndrome[1]) หรือ กลุ่มอาการมือต่างดาว เป็นความผิดปกติทางประสาทที่มือของคนไข้เหมือนกับมีใจเป็นของตน เป็นกลุ่มอาการที่มีการรายงานมากที่สุดในกรณีที่คนไข้ได้รับการตัด corpus callosum[2] ออก ซึ่งบางครั้งใช้เป็นวิธีบรรเทาอาการเกี่ยวกับโรคลมชัก (epilepsy) ชนิดรุนแรง แต่ก็เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นด้วยในกรณีอื่น ๆ เช่นการผ่าตัดสมอง โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อ เนื้องอก หลอดเลือดโป่งพอง และโรคสมองเสื่อมบางชนิดเช่นโรคอัลไซเมอร์ และ Creutzfeldt-Jakob disease[3] ถึงอย่างนั้น ตั้งแต่ได้รับการค้นพบ ก็มีกรณีผู้ป่วยเพียงแค่ 40–50 กรณีเท่านั้นที่ได้รับการบันทึกไว้[4] เขตสมองที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการนี้ก็คือสมองกลีบหน้า สมองกลีบท้ายทอย และสมองกลีบข้าง[5]

ประวัติ[แก้]

กรณีแรกสุดที่รับการกล่าวถึงในเอกสารทางการแพทย์ปรากฏในรายงานที่บันทึกโดยละเอียดพิมพ์เป็นภาษาเยอรมันในปี ค.ศ. 1908 โดยจิตแพทย์ชาวเยอรมันที่โด่งดังคือ ดร.เคิรต์ โกลด์สตีน[6] ในรายงานนั้น ดร.โกลด์สตีนได้พรรณนาถึงหญิงถนัดมือขวาคนหนึ่งที่ประสบกับโรคหลอดเลือดสมองที่มีผลเสียหายต่อกายด้านซ้ายของเธอ ที่เธอได้ฟื้นตัวเป็นบางส่วนแล้วเมื่อเขาได้พบกับเธอ ถึงแม้กระนั้น แขนซ้ายของเธอดูเหมือนว่าจะเป็นของ ๆ อีกบุคคลหนึ่งและมักจะทำกิริยาต่าง ๆ ที่เป็นอิสระจากเจตนาของเธอ

เธอบ่นถึงความรู้สึกแปลกปลอมที่มีเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอย่างมีเป้าหมายของมือซ้ายของเธอ และยืนยันว่า "คนอื่น" เป็นคนขยับมือซ้ายนั้น และเธอเองไม่ได้เคลื่อนมือนั้น ดร.โกลด์สตีนรายงานว่า "เพราะเหตุนั้น ในตอนแรก คนไข้จึงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทแบบระแวง (paranoia)"

เวลาที่มือซ้ายของเธอฉวยจับสิ่งของ เธอก็ไม่สามารถที่จะปล่อยมือตามใจได้ ความรู้สึกทางกายด้านซ้ายของเธอมีความบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับความรู้สึกเกี่ยวข้องกับตำแหน่งทิศทางของแขนขา เธอมีการเคลื่อนไหวที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมากบางอย่างในมือซ้าย เช่นการเช็ดหน้าหรือขยี้ตา แม้ว่าจะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ปกติเธอต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งเพื่อที่จะทำอะไรที่เป็นของง่าย ๆ ด้วยแขนข้างซ้ายเพื่อทำตามคำสั่งที่ให้กับเธอ ถึงอย่างนั้น การเคลื่อนไหวอย่างนั้นก็เป็นไปอย่างช้า ๆ และบางครั้งก็ไม่สมบูรณ์ แม้ว่าการเคลื่อนไหวแบบเดียวกันจะเป็นไปอย่างง่ายดายแต่ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจจิตใจในขณะที่ควบคุมโดย "คนแปลกหน้า" (หรือบุคคลอื่น)

โดยใช้สังเกตการณ์เหล่านี้เป็นฐาน ดร.โกลด์สตีนได้ค้นคิด "หลักของภาวะเสียการรู้ปฏิบัติ" (doctrine of motor apraxia) ซึ่งเขากล่าวถึงกระบวนการเกิดขึ้นของการกระทำที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ และได้อธิบายสังเกตการณ์เหล่านี้ โดยใช้หลักเกณฑ์ที่ค้นคิดขึ้น ที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้เวลาสถานที่และแผนที่ในสมองที่เป็นแบบจำลองของเวลาสถานที่ รวมประเด็นเกี่ยวกับความทรงจำ เจตนาความจำนงค์ใจ และกระบวนการรับรู้ระดับสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไปอย่างอื่น ๆ

ดร. โกลด์สตีนเชื่อว่า องค์รวมที่มาสัมพันธ์กันทั้งหมดเกี่ยวกับกาลเวลาสถานที่ที่มีการรับรู้ทั้งหมดทั้งจากภายในกาย (โดย interoception) และทั้งจากภายนอกกาย (โดย exteroception) มีความสำคัญทั้งในการรับรู้วัตถุต่าง ๆ ทั้งในการกระทำต่าง ๆ ทางกายที่มีเป้าหมาย โดยสัมพันธ์กับพื้นที่รอบ ๆ ตัวและวัตถุที่รับรู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ในเอกสารคลาสสิกที่สำรวจกลุ่มอาการหลงผิดมากมายหลายอย่างที่เกิดขึ้นเพราะพยาธิในสมองโดยเฉพาะ นอร์แมน เกชวินด์ ได้กล่าวไว้ว่า ดร.โกล์ดสไตน์ "อาจจะเป็นบุคคลแรกที่เน้นความไม่เป็นเอกภาพของบุคลิกภาพในคนไข้ที่ได้รับการตัด corpus callosum[2] ออก และผลทางจิตใจที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากการผ่าตัดนั้น"[7]

ความคล้ายคลึงกับ anarchic hand syndrome[แก้]

กลุ่มอาการมือไร้กฏบังคับ (anarchic hand syndrome) และ กลุ่มอาการมือต่างดาว (alien hand syndrome) มีความคล้ายคลึงกันแต่เป็นความผิดปกติที่แตกต่างกัน ในกรณีทั้งสอง จะมีการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้ตั้งใจแต่มีเป้าหมาย ที่เกิดขึ้นเองของมือและแขน และมีความเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างด้านซ้ายขวาของกาย คนไข้ปกติจะได้รับการวินิจฉัยว่ามีมือไร้กฏบังคับแทนมือต่างดาวถ้าอาการมักจะเกี่ยวข้องกับความบกพร่องในการเคลื่อนไหว (motor impairments) แต่คนไข้ยังยอมรับว่ามือที่มีความบกพร่องนั้นเป็นของตนแต่ว่าเบื่อหน่ายกับการกระทำที่ไม่ได้ตั้งใจของมือนั้น[8] ส่วนคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีมือต่างดาวมักจะปรากฏความบกพร่องทางประสาทสัมผัส และมักจะแยกตนเองออกจากมือและการกระทำของมือ โดยบ่อยครั้งกล่าวว่า การกระทำของมือนั้นไม่ใช่เป็นของตน[9]

อาการ[แก้]

คนไข้ที่มีอาการมือต่างดาวยังมีความรู้สึกปกติในมือและขา แต่มีความเชื่อว่า ถึงแม้ว่ามือนั้นจะยังเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายของตน แต่มีความประพฤติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากความประพฤติปกติของตน คือ คนไข้สูญเสียความรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวมีเป้าหมายของมือนั้นเป็นของตน แม้ว่าจะยังรู้สึกว่ามือนั้นยังเป็นของตนอยู่ และคนไข้รู้สึกว่า ตนไม่สามารถจะควบคุมการเคลื่อนไหวของมือต่างดาวได้ คือรู้สึกว่า มือนั้นสามารถทำการได้โดยตนเอง เป็นอิสระจากการควบคุมใต้อำนาจจิตใจของคนไข้ มือนั้นเหมือนกับว่า มีเจตนาความจงใจที่เป็นของตนเอง

"ความประพฤติต่างดาว" สามารถแยกได้จากรีเฟล็กซ์ (ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางกายนอกอำนาจจิตใจ) คือความประพฤติต่างดาวนั้นสามารถมีเป้าหมายหลายหลาก แต่รีเฟล็กซ์เกิดขึ้นแบบเดียวเป็นแบบบังคับ บางครั้ง คนไข้จะไม่รู้ว่ามือต่างดาวนั้นกำลังทำอะไรอยู่จนกระทั่งคนอื่นบอกคนไข้ หรือว่า จนกระทั่งมือนั้นทำอะไรที่เรียกร้องให้คนไข้สนใจพฤติกรรมของมือนั้น คนไข้มีความรู้สึกแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างพฤติกรรมของมือทั้งสอง คือคนไข้พิจารณามือที่มีปัญหาว่า "เอาแต่ใจ" และบางครั้ง "ดื้อ" และโดยทั่ว ๆ ไปไม่ได้อยู่ในอำนาจจิตใจ ในขณะที่มือที่ไม่มีปัญหาเป็นปกติเป็นมือที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจของตน บางครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนไข้ที่มีความเสียหายที่ไม่มีการฟื้นฟูใน corpus callosum[2] ที่เชื่อมต่อซีกสมองซ้ายขวา มือทั้งสองจะปรากฏว่า ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกัน

ประสาทแพทย์ชาวฝรั่งเศสชื่อว่า ฟราซัว เรอร์มิตต์ ได้พรรณนาถึงกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกันที่คนไข้ไม่มีความยับยั้งใจในการใช้วัตถุต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัว[10][11] คือ คนไข้ไม่สามารถระงับตนเองจากพฤติกรรมการใช้สิ่งของที่อยู่รอบตัวตามที่ของนั้นจะใช้ได้ (เช่นเมื่อคนไข้เห็นลูกบิดประตู ก็จะต้องบิดลูกบิดนั้นโดยที่ห้ามตนเองไม่ได้)

กลุ่มอาการนี้ ซึ่งเรียกว่า utilization behavior[12] มักเกิดขึ้นเมื่อคนไข้มีความเสียหายในสมองกลีบหน้าอย่างกว้างขวาง และอาจจะคิดได้ว่า เป็นกลุ่มอาการมือต่างดาวที่เกิดขึ้นทั้งในสองด้านของร่างกาย คือคนไข้ถูกควบคุมพฤติกรรมอย่างไม่สามารถระงับใจได้โดยตัวแปรในสิ่งแวดล้อม (เช่นมีแปรงผมอยู่บนโต๊ะข้างหน้า ทำให้คนไข้เริ่มแปรงผม) และไม่สามารถยับยั้งหรือห้ามโปรแกรมปฏิบัติการในสมองที่สัมพันธ์กับวัตถุภายนอกที่อยู่รอบ ๆ ตัว ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นในสมองกลีบหน้าทั้งสองซีก และเกิดอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก คนไข้อาจสูญเสียความสามารถในการกระทำที่มีความตั้งใจที่เกิดขึ้นในตน และต้องอาศัยตัวแปรต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง เพื่อที่จะช่วยนำการกระทำของคนไข้ในสังคมสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป ซึ่งเป็นอาการที่เรียกว่า กลุ่มอาการต้องอาศัยสิ่งแวดล้อม (Environmental Dependency Syndrome)[13]

เพื่อที่จะรับมือกับอาการมือต่างดาว คนไข้บางพวกจะเริ่มตั้งชื่อให้กับมือที่มีปัญหา[14] ชื่อเหล่านี้มักเป็นชื่อที่ไม่ดี จากชื่อย่อม ๆ เช่น "ไอ้ตัวทะลึ่ง" จนกระทั่งถึงชื่อที่รุนแรงยิ่งขึ้นไปเช่น "ไอ้สัตว์ประหลาดจากดวงจันทร์"[15] ยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยดูดี้และแจงโควิกพรรณนาถึงคนไข้คนหนึ่งซึ่งเรียกมือต่างดาวของเธอว่า "ทารกโจเซ็ฟ" เมื่อมือนั้นกระทำการแบบขี้เล่นแต่สร้างปัญหาเช่นบีบหัวนมของเธอ (ซึ่งเหมือนกับทารกกัดนมแม่เมื่อกำลังดูดนม ดังนั้น เธอจึงเรียกมือของเธอด้วยชื่อนั้น) เธอก็จะรู้สึกขำและจะบอกทารกโจเซ็ฟว่า "หยุดซนนะ"[15] ส่วนนักวิจัยโบเก็นเสนอว่า บุคลิกภาพบางอย่างของคนไข้เช่น บุคลิกหรูหราที่มีสีสัน มักจะนำไปสู่การตั้งชื่อของมือที่มีปัญหานั้น[16]

เหตุในสมองที่สัมพันธ์กับโรค[แก้]

งานวิจัยด้วยการสร้างภาพทางสมอง (neuroimaging) และทางพยาธิวิทยาแสดงว่า รอยโรคที่สมองกลีบหน้า โดยเฉพาะที่อยู่ทางด้านหน้า และ corpus callosum[2] เป็นเหตุเกิดทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการมือต่างดาวมากที่สุด[3] เขตสมองเหล่านี้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการวางแผนพฤติกรรมและเป็นวิถีประสาทช่วงสุดท้ายก่อนที่พฤติกรรมจะเกิดขึ้น[17]

อาการที่เกิดจากรอยโรคที่ corpus callosum รวมการเคลื่อนไหวของมือที่ไม่ถนัดโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยที่คนไข้มักจะมีความขัดแย้งกันระหว่างมือทั้งสอง คือ มือหนึ่งจะทำงานเป็นปฏิปักษ์กับอีกมือหนึ่ง[16] ตัวอย่างเช่น คนไข้คนหนึ่งยกบุหรี่ขึ้นมาที่ปากของตนด้วยมือที่ไม่มีปัญหาอะไร (คือมือขวาที่เธอถนัด) หลังจากนั้น มือต่างดาวข้างซ้ายที่ไม่ใช่มือถนัดก็จับตัวบุหรี่นั้น ดึงบุหรี่ออกจากปาก แล้วโยนมันทิ้งก่อนที่มือขวาที่ถนัด ที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ จะจุดบุหรี่นั้นได้ ดังนั้น คนไข้จึงคาดการณ์ว่า "ดิฉันเดาว่า 'เขา' คงไม่ต้องการให้ดิฉันสูบบุหรี่ม้วนนั้น" ส่วนคนไข้อีกคนหนึ่ง กำลังติดกระดุมเสื้อของตนด้วยมือถนัดที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ ในขณะที่มือที่ไม่ถนัดเป็นมือต่างดาวก็พยายามจะถอดกระดุมเสื้อ

ส่วนอาการที่เกิดจากรอยโรคที่สมองกลีบหน้ามักจะมีผลต่อมือที่ถนัด แต่ก็มีผลต่อมือข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับซีกสมองกลีบหน้าด้านใน (medial) ที่เกิดความเสียหาย และมักจะมีผลเป็น grasp reflex[18], การลูบคลำวัตถุที่บังคับไม่ได้ และความยากลำบากในการปล่อยวัตถุที่อยู่ในมือ[17]

แต่ในกรณีโดยมาก อาการมือต่างดาวแบบคลาสสิกเกิดจากความเสียหายในสมองกลีบหน้าด้านใน (medial) พร้อมกับ corpus callosum[2][14] ในคนไข้พวกนี้ เหตุหลักของความเสียหายก็คือเนื้อคอร์เทกซ์ตายเหตุขาดเลือด (infarction) ที่มีในซีกสมองข้างเดียวหรือสองข้างในเขตที่หลอดเลือดแดง anterior cerebral artery หรือหลอดเลือดอื่น ๆ ที่สืบเนื่องกันเป็นทางส่งเลือด[17] หลอดเลือดแดง anterior cerebral artery ส่งเลือดพร้อมด้วยออกซิเจนไปยังส่วนด้านใน (medial) ต่าง ๆ โดยมากของสมองกลีบหน้าและไปยัง 2/3 ส่วนหน้าของ corpus callosum[2][19] และเนื้อคอร์เทกซ์ตายอาจจะมีผลเป็นความเสียหายในจุดต่าง ๆ ที่ต่อเนื่องกันในสมองที่รับเลือดมาจากหลอดเลือดนั้น เพราะว่าความเสียหายต่อสมองกลีบหน้าด้านในมักจะเกิดพร้อมกับรอยโรคใน corpus callosum อาการของโรคที่เกิดจากสมองกลีบหน้าอาจจะเป็นไปพร้อมกับอาการของโรคที่เกิดจากรอยโรคใน corpus callosum แต่ความเสียหายที่จำเพาะเจาะจงต่อ corpus callosum เท่านั้น มักจะไม่มีอาการของโรคที่เกิดจากสมองกลีบหน้า[14]

ประเภทย่อย[แก้]

มีประเภทย่อย ๆ ที่แตกต่างกันหลายประเภทของอาการนี้ที่ปรากฏสัมพันธ์กับความบาดเจ็บของสมองส่วนต่าง ๆ

Corpus callosum[แก้]

ความเสียหายต่อ corpus callosum[2] อาจจะก่อให้เกิดการกระทำมีเป้าหมายในมือที่ไม่ถนัดของคนไข้ คือ คนไข้ที่ถนัดขวามีสมองด้านซ้ายเป็นหลักก็จะประสบอาการนี้ในมือซ้าย และคนไข้ที่ถนัดซ้ายมีสมองด้านขวาเป็นหลักก็จะประสบอาการนี้ในมือขวา

ในประเภทย่อยนี้ มือต่างดาวของคนไข้ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อมือดีที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ อาการอื่นที่มักจะพบในคนไข้ประเภทย่อยนี้ก็คือ agonistic dyspraxia และ diagonistic dyspraxia

Agonistic dyspraxia มีอาการเป็นการเคลื่อนไหวอัตโนมัติอย่างบังคับไม่ได้ของมือหนึ่งเมื่อบอกให้คนไข้ทำการด้วยอีกมือหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เมื่อบอกคนไข้ที่มี Corpus callosum เสียหายให้ดึงเก้าอี้มาข้างหน้า มือที่มีปัญหาก็จะผลักเก้าอี้ไปข้างหลังอย่างไม่ลังเลและบังคับไม่ได้[20] ดังนั้น Agonistic dyspraxia จึงมองได้ว่าเป็นการกระทำแข่งขันกันที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจจิตใจระหว่างมือสองมือ มีเป้าหมายในการทำการงานที่ต้องการให้สำเร็จ โดยที่มือที่มีปัญหาแข่งกับมือที่ไม่มีปัญหา เพื่อทำงานมีจุดมุ่งหมายที่ตอนแรกตั้งใจให้มือที่ไม่มีปัญหาทำ

โดยเปรียบเทียบกันแล้ว Diagonistic dyspraxia เป็นการทำการขัดแย้งกันระหว่างมือที่ดีและมือที่มีปัญหาที่ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อจุดประสงค์ของการงานที่มุ่งหมายให้มือที่ไม่มีปัญหาทำ ตัวอย่างเช่น เมื่อคนไข้ได้รับการผ่าตัดที่ corpus callosum เพื่อที่จะลดระดับการชักเหตุโรคลมชัก มือต่างดาวข้างซ้ายของคนไข้คนหนึ่งมักจะทำการเป็นปฏิปักษ์กับมือขวา เช่น ในขณะที่กำลังจะพลิกหน้าหนังสือไปยังหน้าต่อไปด้วยมือขวา มือซ้ายก็พยายามที่จะปิดหนังสือ[21]

ในอีกกรณีหนึ่งของมือต่างดาวที่เกิดจาก corpus callosum คนไข้ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นปฏิปักษ์ของมือทั้งสอง แต่ว่ามีปัญหาจากมือที่มีปัญหาเคลื่อนไหวเลียนแบบมือที่ดีอย่างไม่ได้ตั้งใจ[22] คือ เมื่อบอกคนไข้ให้เคลื่อนไหวมือข้างหนึ่ง มืออีกข้างหนึ่งก็จะทำการเลียนแบบมืออีกข้างหนึ่งอย่างไม่มีเจตนา และเป็นไปอย่างนี้จนกระทั่งเตือนสติคนไข้ให้รับทราบถึงกิริยาของมือที่มีปัญหา แล้วให้คนไข้เลิกทำอาการเลียนแบบนั้น คนไข้คนนี้มีหลอดเลือดโป่งพองที่แตกออก (ruptured aneurysm) ใกล้กับหลอดเลือดแดง anterior cerebral artery ซึ่งมีผลให้มือซ้ายทำการเคลื่อนไหวเลียนแบบมือขวา คนไข้เล่าว่า มือซ้ายมักจะทำการเป็นปฏิปักษ์และเข้าไปควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างที่คนไข้พยายามจะทำด้วยมือขวา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพยายามที่จะจับแก้วน้ำด้วยมือขวาจากด้านขวา มือซ้ายก็จะยื่นออกไปจับแก้วจากด้านซ้าย

งานวิจัยเร็ว ๆ นี้ของเกชวินและคณะ[23] เล่ากรณีของหญิงคนหนึ่งที่มีโรคหัวใจจากหลอดเลือดแดงแข็ง (ICD-10 I25.1) ขั้นรุนแรง คือ ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากการผ่าตัดหัวใจแบบ bypass[24] เธอสังเกตว่า มือซ้ายของเธอเริ่มจะ "มีชีวิตของมันเอง" มือนั้นบางครั้งพยายามปลดกระดุมเสื้อของเธอ บางครั้งพยายามจะบีบคอเธอเมื่อกำลังนอนหลับ และจะทำการต่อสู้กับมือขวาในการตอบโทรศัพท์อย่างไม่มีเจตนา เธอต้องยับยั้งมือที่มีปัญหาด้วยมือขวาโดยใช้กำลังเพื่อป้องกันอันตราย นอกจากนั้นแล้ว มือซ้ายของเธอยังมีอาการ ideomotor apraxia[25] ที่รุนแรงอีกด้วย คือมันยังสามารถที่จะลอกเลียนแบบการกระทำอยู่แต่ต้องทำพร้อมกับมือขวาที่ทำการลอกเลียนแบบไปพร้อม ๆ กัน โดยใช้เครื่อง MRI เกชวินและคณะพบความเสียหายที่ครึ่งหลังของ corpus callosum โดยเว้นครึ่งหน้าและ splenium และยื่นเข้าไปเล็กน้อยใน white matter ของ cingulate cortex ในสมองซีกขวา

สมองกลีบหน้า (สมองด้านหน้า)[แก้]

ความเสียหายด้านใน (medial) ต่อสมองกลีบหน้าซีกเดียวอาจมีผลเป็นการยื่นมือ การจับ และการเคลื่อนไหวมีเป้าหมายอย่างอื่น ๆ ในมือด้านตรงข้าม ถ้าเป็นความเสียหายส่วนหน้าด้านใน (anteromedial) ต่อสมองกลีบหน้า การเคลื่อนไหวมักจะเป็นแบบยื่นไปเพื่อสำรวจ โดยมักจะจับวัตถุภายนอกและใช้วัตถุนั้นตามกิจ ทั้ง ๆ ที่คนไข้ไม่มีความรู้สึกว่าตนเองกำลัง "ควบคุม" การเคลื่อนไหวนั้น ๆ[26] เมื่อจับวัตถุนี้ไว้ในมือแล้ว คนไข้ประเภทมีความเสียหายต่อ "สมองด้านหน้า" นี้ มักมีปัญหาในการปล่อยวัตถุจากมือ และบางครั้งอาจจะใช้มืออีกข้างหนึ่งที่ควบคุมได้ในการดึงนิ้วของมือต่างดาวออกจากวัตถุเพื่อที่จะปล่อยวัตถุนั้น[27] นักวิชาการบางพวก (เช่นประสาทแพทย์ชาวนิวซีแลนด์ชื่อว่า เดเร็ก เด็นนี่-บราวน์) เรียกพฤติกรรมนี้ว่า magnetic apraxia (แปลว่า ภาวะเสียการรู้ปฏิบัติแบบแม่เหล็ก)[28]

โกลด์เบอร์กและบลูม[29]กล่าวถึงหญิงผู้หนึ่งซึ่งมีเนื้อตายเหตุขาดเลือด (infarction) ขนาดใหญ่ด้านหน้าของผิวด้านใน (medial) ของสมองกลีบหน้าซีกซ้าย ที่มีผลเป็นมือต่างดาวข้างขวา คนไข้ไม่ปรากฏว่ามี corpus callosum ที่ขาดหรือที่เสียหายใด ๆ คนไข้มี grasp reflex[18] บ่อย ๆ คือ มือขวาของเธอจะยื่นออกไปแล้วจับวัตถุโดยที่ไม่สามารถจะปล่อย คนไข้ยิ่งพยายามที่จะปล่อยมือเท่าไร มือก็จะจับแน่นขึ้นเท่านั้น แต่ด้วยความพยายามที่มีสมาธิ ในที่สุดคนไข้ก็จะสามารถปล่อยวัตถุนั้นได้ แต่ถ้าไม่ใส่ใจเมื่อไร พฤติกรรมอย่างนี้ก็จะเริ่มขึ้นอีก คนไข้จะปล่อยมือโดยดึงนิ้วของตนเองออกจากวัตถุด้วยมือที่ไม่มีปัญหาโดยใช้กำลังก็ยังได้ นอกจากนั้นแล้ว มือที่มีปัญหาก็จะเกาขาของคนไข้จนกระทั่งว่าต้องใส่เครื่องป้องกันไม่ให้เกิดแผล[29] ส่วนคนไข้อีกคนหนึ่งไม่เพียงแจ้งถึงการจับสิ่งของที่อยู่ใกล้ ๆ โดยไม่ปล่อย แต่ว่ามือต่างดาวนั้นก็ยังจับองคชาตของคนไข้แล้วเริ่มทำการสำเร็จความใคร่ต่อหน้าคนอื่น[30]

สมองกลีบข้างและสมองกลีบท้ายทอย (สมองด้านหลัง)[แก้]

ส่วนประเภทอีกอย่างหนึ่งของกลุ่มอาการมือต่างดาวมีความเกี่ยวข้องกับความเสียหายต่อสมองกลีบข้างหรือ/และสมองกลีบท้ายทอย คือเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจาก "สมองด้านหลัง" อาการแบบนี้มักจะดึงฝ่ามือออกไม่ให้กระทบสัมผัสอะไรนาน ๆ มากกว่าที่จะยื่นออกไปจับวัตถุเพื่อจะให้เกิดการเร้าที่ฝ่ามือเหมือนในอาการที่เกิดจาก สมองด้านหน้า คือ ในกลุ่มอาการที่เกิดจากสมองด้านหน้า การกระทบสัมผัสที่ฝ่ามือหรือหน้านิ้วมีผลเป็นการงอนิ้วกำวัตถุโดยผ่านกระบวนการสัญญาณป้อนกลับเชิงบวก (คือ ตัวกระตุ้นก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ส่งเสริม เพิ่มกำลัง และทรงไว้ซึ่งสัญญาณกระตุ้นที่เริ่มกระบวนการมาตั้งแต่ทีแรก)

ในนัยตรงกันข้าม ในอาการที่เกิดจากสมองด้านหลัง จะมีการหลีกเลี่ยงการกระทบสัมผัสที่ฝ่ามือหรือหน้านิ้วโดยการคลายนิ้วและถอนฝ่ามือออก เป็นกระบวนการสัญญาณป้อนกลับเชิงลบ (นั่นก็คือ ตัวกระตุ้นก็ดี หรือแม้แต่การคำนึงถึงตัวกระตุ้นก็ดี ที่ฝ่ามือ ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวมือและนิ้วที่ลด ขัดขวาง และกำจัดตัวกระตุ้นที่เริ่มกระบวนการนั้น หรือ ในกรณีที่เป็นเพียงแต่การคำนึงถึงการกระทบที่ฝ่ามือหรือนิ้ว ก็จะลดโอกาสที่จะทำให้เกิดการกระทบสัมผัสอย่างนั้น)

การเคลื่อนไหวต่างดาวในกลุ่มอาการที่เกิดจากสมองด้านหลังมักจะมีการประสานงานกันในระดับที่ต่ำกว่า และมักจะปรากฏการเคลื่อนไหวแบบไม่ละเมียดละไมที่กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานงานกันที่ปกติไม่พบในกลุ่มอาการที่เกิดจากสมองด้านหน้า เชื่อกันว่าอาการอย่างนี้เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ (ataxia) ที่เกี่ยวข้องกับการเห็นเนื่องจากว่า อาการจะเกิดขึ้นเพราะมีการเห็นวัตถุทางตาและมีการใส่ใจในวัตถุนั้น อาการเคลื่อนไหวที่ไม่ประสานกันอาจจะเกิดขึ้นเพราะการทำงานขัดแย้งกันระหว่างความโน้มเอียงในการหลีกเลี่ยงการกระทบสัมผัสวัตถุที่นำไปสู่การถอยออกจากวัตถุ และการจับตาที่วัตถุซึ่งมักจะนำไปสู่การเข้าไปหาวัตถุ

แขนขาต่างดาวที่เกิดจากสมองด้านหลังอาจมีอาการ "ลอยขึ้นไปในอากาศ" คือมีการดึงแขนขาออกจากการสัมผัสพื้นผิวของวัตถุโดยการใช้กล้ามเนื้อที่ต่อต้านแรงโน้มถ่วง และมือต่างดาวที่เกิดจากสมองด้านหลังอาจจะปรากฏท่าทางที่เป็นแบบอย่างอย่างหนึ่ง คือ จะมีการยืดนิ้วทั้งหมดออกไปโดยมีการยืดข้อระหว่างนิ้ว (interphalangeal)[31] ออก, มีการยืดในระดับสูง (hyper-extension) ซึ่งข้อที่โคนนิ้ว (metacarpophalangeal) ออก, และมีการดึงฝ่ามือออกจากผิววัตถุต่าง ๆ ที่เข้ามาใกล้หรือดึงขึ้นมาไม่ให้กระทบกับผิวของพื้น ถึงอย่างนั้น การเคลื่อนไหวแบบต่างดาวก็ยังปรากฏโดยมีเป้าหมาย ซึ่งเป็นอาการที่แยกกลุ่มอาการนี้จากการเคลื่อนไหวแขนขานอกอำนาจจิตใจอย่างอื่น ๆ เช่น athetosis[32], chorea[33], หรือกล้ามเนื้อกระตุกรัว (myoclonus[34])

ความคล้ายคลึงกันระหว่างอาการที่เกิดจากสมองส่วนหน้าและสมองส่วนหลัง[แก้]

ในอาการที่เกิดจากทั้งสมองส่วนหน้าและสมองส่วนหลัง การตอบสนองของคนไข้ต่อการที่มือสามารถทำการงานอย่างมีจุดมุ่งหมายเป็นอิสระจากอำนาจจิตใจมีความคล้ายคลึงกัน และในกรณีทั้งสองนั้น อาการมือต่างดาวเกิดขึ้นที่มือตรงข้ามกับซีกสมองที่มีความเสียหาย

ทฤษฎีที่ใช้อธิบาย[แก้]

องค์ประกอบที่เหมือนกันในอาการมือต่างดาวก็คือ คอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ (primary motor cortex) ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของมือถูกแยกออกจากคอร์เทกซ์ก่อนสั่งการ (premotor cortex) แต่ไม่มีความเสียหายในการปฏิบัติการเคลื่อนไหวของมือ

งานวิจัยในปี ค.ศ. 2009 ที่ใช้ fMRI ในการสังเกตลำดับการทำงานของเครือข่ายคอร์เทกซ์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวใต้อำนาจจิตใจของคนปกติ พบ "ลำดับการทำงานจากหน้าไปหลัง จาก supplemental motor area, ผ่าน premotor cortex และ motor cortex, ไปยัง posterior parietal cortex"[35] ดังนั้น ในการเคลื่อนไหวแบบปกติ ความรู้สึกว่าเป็นตน (sense of agency[36]) ที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์กับการทำงานไปตามลำดับ ที่ในตอนแรกเกิดขึ้นที่สมองกลีบหน้าส่วนหน้าด้านใน (anteromedial ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับ supplementary motor complex ในผิวด้านในของซีกสมองส่วนหน้า) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการทำงานของคอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิที่รอยนูนก่อนร่องกลาง (pre-central gyrus ที่ด้านข้างของซีกสมอง) ซึ่งเป็นที่ที่การสั่งการเคลื่อนไหวของมือเกิดขึ้น หลังจากการทำงานของคอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ ที่สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติการ (การเคลื่อนไหว) โดยส่งพลังประสาทเข้าไปในลำเส้นใยประสาทคอร์เทกซ์-ไขสันหลัง (corticospinal tract[37]) ก็จะมีการติดตามด้วยการทำงานใน posterior parietal cortex ซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับการรับสัญญาณป้อนกลับของความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นที่ปลายประสาทเพราะการเคลื่อนไหว และจะมีการแปลผลประสานกับก๊อปปี้สัญญาณ efference copy[38] ที่ได้รับมาจากคอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ จึงมีผลให้การเคลื่อนไหวนั้นปรากฏว่าเป็นของตน ไม่ใช่เป็นการเคลื่อนไหวมีเหตุจากปัจจัยภายนอก

นั่นก็คือ efference copy ยังสมองให้สามารถแยกแยะความรู้สึกทางกายที่เกิดจากการเคลื่อนไหวที่มีกำเนิดจากภายใน และความรู้สึกที่เกิดจากการเคลื่อนไหวที่มีปัจจัยภายนอก ความล้มเหลวของกลไกนี้ อาจส่งผลให้ไม่สามารถแยกแยะระหว่างการเคลื่อนไหวแขนขาที่มีกำเนิดในตน และที่เกิดจากเหตุภายนอก สถานการณ์ที่ผิดปกติเช่นนี้สามารถนำไปสู่การแปลผลที่ผิดพลาดจากความจริงว่า การเคลื่อนไหวที่มีกำเนิดจากภายในจริง ๆ เป็นเหมือนกับการเคลื่อนไหวที่เกิดจากภายนอก ซึ่งเป็นผลมาจากความล้มเหลวในการสร้างความรู้สึกว่าเป็นตน (sense of agency[36]) สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวที่มีกำเนิดในตน

ส่วนงานวิจัยปี ค.ศ. 2007 ซึ่งสำรวจความแตกต่างกันของแบบการทำงานในสมอง ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวต่างดาวเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวที่เป็นปกติ ในคนไข้คนหนึ่งที่มีอาการมือต่างดาว พบว่า การเคลื่อนไหวต่างดาวมีการทำงาน "เป็นต่างหาก" อย่างผิดปกติของคอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิในซีกสมองที่มีความเสียหายซึ่งอยู่ในด้านตรงข้ามกับมือต่างดาว ในขณะที่การเคลื่อนไหวปกติมีกระบวนการทำงานเป็นลำดับดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ คอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิในซีกสมองที่ไม่เสียหายมีการทำงานร่วมกับ premotor cortex ที่อยู่ข้างหน้า และ posterior parietal cortex (ที่อยู่ข้างหลัง) โดยสันนิษฐานว่า premotor cortex ส่งสัญญาณเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวที่ต้องการให้กับคอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ (ที่ทำการสั่งการเคลื่อนไหว) และระบบรับความรู้สึกทางกายส่งสัญญาณเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนั้นให้กับ posterior parietal cortex อย่างทันที

โดยประมวลผลงานวิจัยที่ใช้ fMRI ทั้งสองนี้ ก็จะสามารถตั้งสมมุติฐานได้ว่า พฤติกรรมต่างดาวที่ไม่เป็นไปพร้อมกับความรู้สึกว่าเป็นตน[36] เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานที่เกิดขึ้นเองของคอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ ที่เป็นอิสระจากอิทธิพลก่อนการสั่งการเคลื่อนไหวของ premotor cortex ที่ปกติมีความสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของความรู้สึกว่าเป็นตน[36]เกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนไหวนั้น

และดังที่กล่าวไว้แล้วด้านบน สมมุติฐานนี้ก็สามารถเชื่อมกับความคิดเกี่ยวกับ efference copy และข้อมูลป้อนกลับเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว คือ efference copy เป็นสัญญาณที่มีสมมุติฐานว่า เกิดใน premotor cortex (ที่ปกติเกิดขึ้นในกระบวนการเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายใน) ที่ส่งไปสู่คอร์เทกซ์รับความรู้สึกทางกายในสมองกลีบข้าง ก่อนที่คอร์เทกซ์รับความรู้สึกทางกายจะรับสัญญาณป้อนกลับเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ที่มาจากอวัยวะที่รับสัญญาณสั่งการเคลื่อนไหวนั้น

โดยทั่วไปแล้ว เชื่อกันว่า สมองสามารถรู้จำการเคลื่อนไหวหนึ่งว่าตนเป็นต้นกำเนิด เมื่อสัญญาณ efference copy มีค่าเท่ากับสัญญาณป้อนกลับที่ส่งมาจากอวัยวะ คือ สมองสามารถสัมพันธ์สัญญาณป้อนกลับที่มาจากอวัยวะกับสัญญาณของ efference copy เพื่อที่จะแยกแยกสัญญาณป้อนกลับที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของตนและสัญญาณที่เกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยภายนอก และถ้าสมองไม่สร้าง efference copy ไว้ สัญญาณป้อนกลับที่มากจากอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของตนก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก เพราะว่า สมองไม่สามารถสัมพันธ์การเคลื่อนไหวนั้นกับ efference copy ดังนั้น ความรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวนั้นไม่ได้เกิดจากตนแม้ว่าจริง ๆ แล้วจะเกิดขึ้นในตน (คือการไม่มีความรู้สึกว่าเป็นของตน[36]สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวนั้น) อาจจะเป็นตัวชี้ว่า มีความล้มเหลวในการสร้างสัญญาณ efference copy ที่ปกติแล้วเกิดขึ้นในกระบวนการก่อนการสั่งการ (premotor process) ที่ซึ่งจะมีการวางแผนการเคลื่อนไหวก่อนที่จะเกิดการปฏิบัติการ

เนื่องจากว่า ความรู้สึกว่าเป็นอวัยวะของตนไม่มีความเสียหายในกรณีนี้ และไม่มีคำอธิบายที่ดีว่า อวัยวะของตนนั้นเคลื่อนไหวไปเองอย่างมีเป้าหมายโดยที่ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตน[36]ได้อย่างไร ความไม่ลงรอยกันทางปริชาน (cognitive dissonance[39]) ก็จะเกิดขึ้นซึ่งสามารถแก้ได้โดยสมมุติว่า การเคลื่อนไหวมีเป้าหมายนั้น เกิดจากพลังของมนุษย์ต่างดาว (หรือของคนอื่น) ที่ไม่สามารถจะกำหนดได้ เป็นพลังภายนอกที่สามารถอำนวยการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายในอวัยวะของตนได้

ทฤษฎีการขาดความเชื่อมต่อ[แก้]

มีสมมุติฐานว่า อาการมือต่างดาวเกิดขึ้นเมื่อมีการขาดความเชื่อมต่อกันระหว่างส่วนต่าง ๆ ของสมองที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย[29] คือ เขตต่าง ๆ ในสมองสามารถที่จะสั่งการเคลื่อนไหว แต่ไม่สามารถที่จะสร้างความรู้สึกว่าตนเป็นผู้ควบคุมการเคลื่อนไหวเหล่านั้น ดังนั้น จึงเกิดความเสียหายหรือความสูญเสียของความรู้สึกว่าเป็นตน (sense of agency[36]) ที่ปกติเกิดขึ้นพร้อมกับการเคลื่อนไหวใต้อำนาจจิตใจ คือ มีการแยกออกระหว่างกระบวนการที่ทำการปฏิบัติการเคลื่อนไหวอวัยวะทางกายภาพจริง ๆ และกระบวนการที่สร้างความรู้สึกภายในว่า เป็นผู้ควบคุมการเคลื่อนไหวเหล่านั้นโดยเจตนา โดยที่กระบวนการหลังนี้ปกติก่อให้เกิดความรู้สึกภายในใจว่า เป็นความเคลื่อนไหวที่มีการเกิดขึ้น การควบคุม และการปฏิบัติการโดยตนเองที่กำลังกระทำการเคลื่อนไหวนั้นอยู่[40]

งานวิจัยเร็ว ๆ นี้สำรวจความสัมพันธ์ทางประสาทของการเกิดความรู้สึกว่าเป็นตน (sense of agency[36]) ในกรณีปกติ[41] และดูเหมือนว่า จะมีความสอดคล้องกันระหว่างสัญญาณที่เกิดขึ้นแล้วส่งไปทางประสาทนำออกสู่กล้ามเนื้อในร่างกาย กับสิ่งที่รู้สึกได้ซึ่งเข้าใจว่าเป็นผลในประสาทส่วนปลายที่สืบเนื่องมาจากสัญญาณนำออกที่เป็นตัวสั่งการนั้น แต่ในกลุ่มอาการมือต่างดาว กลไกประสาทที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความสอดคล้องนี้อาจจะเกิดความเสียหาย นี่อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของกลไกทางสมองที่แยกแยะระหว่างสัญญาณป้อนกลับที่เกิดจากการเคลื่อนไหว (re-afference) (คือ ความรู้สึกป้อนกลับเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ตนเองเป็นผู้ให้เกิดขึ้น) และความรู้สึกที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเคลื่อนไหวของอวัยวะเพราะปัจจัยภายนอกเป็นเหตุโดยที่ตนเองไม่ได้ทำอะไร

มีการเสนอว่า กลไกทางสมองอย่างนี้ เป็นไปพร้อมกับการสร้างก๊อปปี้ของสัญญาณสั่งการที่เรียกว่า efference copy (ก๊อปปี้ของสัญญาณส่งออก) แล้วส่งไปในเขตสมองที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับความรู้สึกทางกาย แล้วเปลี่ยนเป็นสัญญาณที่เรียกว่า corollary discharge (ผลที่ควรจะขจัดออก) ซึ่งควรจะมีความสัมพันธ์กับสัญญาณนำเข้าจากประสาทส่วนปลายที่เกิดขึ้นจากการกระทำการตามการสั่งการของสัญญาณที่ส่งออก ดังนั้น สหสัมพันธ์ระหว่างสัญญาณ corollary discharge กับสัญญาณนำเข้าจริงที่ป้อนกลับมาจากประสาทส่วนปลาย ก็จะสามารถใช้ในการตัดสินว่า การกระทำที่ต้องการได้เกิดขึ้นตามที่คาดหวังหรือไม่ เมื่อผลจริงของการกระทำที่ได้รับทางความรู้สึกมีความสอดคล้องกันกับผลที่คาดหวัง การกระทำนั้นก็จะได้รับการระบุว่า เป็นสิ่งที่ตนทำให้เกิด และได้รับการสัมพันธ์กับความรู้สึกว่าเป็นตน[36]

แต่ว่า ถ้ากลไกทางประสาทที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างระบบสั่งการและระบบความรู้สึกเกี่ยวกับการกระทำที่ตนก่อให้เกิดขึ้นมีความเสียหาย ก็จะหวังได้ว่า ความรู้สึกว่าเป็นตน[36]ในการกระทำนั้น จะไม่เกิดขึ้นดังที่กล่าวไว้แล้วในส่วนก่อน ๆ

ทฤษฎีการสูญเสียการควบคุมแบบยับยั้งของผู้กระทำ[แก้]

อีกทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการเสนอเพื่ออธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ เสนอว่า มีระบบประสาทส่วน premotor และส่วน "ผู้กระทำ" ที่แยกออกจากกัน ที่มีส่วนในกระบวนการแปลความตั้งใจในการกระทำไปเป็นการกระทำจริง ๆ[29] คือ ระบบสมองกลีบหน้าส่วนหน้าด้านใน (anteromedial) ส่วนที่เป็น premotor ร่วมการทำงานในกระบวนการอำนวยการกระทำแบบสำรวจหรือเข้าไปหาวัตถุ ที่อาศัยความผลักดันภายในเป็นฐาน โดยการปล่อยหรือลดการควบคุมแบบยับยั้งต่อการกระทำเหล่านั้น

งานวิจัยเร็ว ๆ นี้งานหนึ่งที่รายงานการบันทึกสัญญาณประสาทระดับนิวรอนในสมองกลีบหน้าด้านในในมนุษย์ แสดงการทำงานของนิวรอนที่ระบุในบริเวณนี้ก่อนการเคลื่อนไหวจริง ๆ ของนิ้วที่เป็นไปใต้อำนาจจิตใจ ก่อนถึง 2–3 ร้อยมิลลิวินาที และผู้เขียนสามารถตั้งแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ (computational model) ที่สามารถพยากรณ์เจตนาของการกระทำเมื่อความเปลี่ยนแปลงของอัตราการยิงสัญญาณของกลุ่มนิวรอนในสมองเขตนี้ข้ามขีดเริ่มเปลี่ยน[42] ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นในระบบสมองส่วนนี้ ทำให้เกิดการสูญเสียการควบคุมแบบยับยั้งและนำไปสู่การกระทำเกี่ยวกับการสำรวจและการถือเอาวัตถุที่เป็นไปอย่างอิสระ

ส่วนระบบประสาท premotor ที่ตั้งอยู่ที่จุดเชื่อมระหว่างสมองกลีบขมับ สมองกลีบข้าง และสมองกลีบท้ายทอย ส่วนหลังด้านข้าง (posterolateral) ก็มีทั้งการควบคุมแบบยับยั้งคล้าย ๆ กัน ต่อการกระทำที่ถอยออกจากวัตถุในสิ่งแวดล้อม และทั้งการควบคุมแบบเร้าให้เกิดการกระทำ ที่อาศัยความผลักดันจากสิ่งเร้าในสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่างจากความผลักดันที่เกิดขึ้นในภายใน ระบบสองระบบที่อยู่ในสมองซีกเดียวกันนี้ (คือสมองกลีบหน้าและกลีบสมองส่วนหลัง) แต่ละระบบก่อให้เกิดการทำงานแบบตรงกันข้ามกัน ทำงานร่วมกันโดยการยับยั้งการกระทำตรงกันข้ามกัน โดยสร้างเสถียรภาพระหว่าง การเข้าไปหาวัตถุ (คือความตั้งใจที่จะถือเอา ที่จะแตะต้องและจับเอาวัตถุที่กำลังใส่ใจ) กับการถอยออกจากวัตถุ (คือความตั้งใจที่จะหลีกออก ที่จะหนีห่างออกจากวัตถุที่กำลังใส่ใจ) อันเป็นโปรแกรมพฤติกรรมของอวัยวะด้านตรงข้ามของซีกสมอง[43][44] และโดยร่วมกันแล้ว ระบบเหล่านี้ประกอบประสานกันเป็นระบบ "ผู้กระทำ" ที่ควบคุมอวัยวะทั้งสองข้าง

เมื่อระบบสมองกลีบหน้าส่วนหน้าด้านใน (anteromedial) มีความเสียหาย การเคลื่อนไหวที่ประกอบด้วยจุดมุ่งหมายแต่ไม่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ ที่เข้าไปสำรวจ เข้าไปจับ (เป็นพฤติกรรมที่ นักวิจัยเด็นนี่-บราวน์เรียกว่า "positive cortical tropism ความเบนแบบบวกของคอร์เทกซ์") ก็ถูกปล่อยออก (คือไม่มีการยับยั้ง) ในอวัยวะด้านตรงกันข้ามของซีกสมอง[43][44] นี้เรียกว่า positive cortical tropism เพราะว่าสิ่งเร้าทางประสาทสัมผัส เช่นความรู้สึกสัมผัสที่เกิดขึ้นที่ด้านหน้าของนิ้วหรือฝ่ามือ มีความสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของการเคลื่อนไหวที่เพิ่มหรือยกระดับการเร้าผ่านการเชื่อมต่อป้อนกลับแบบบวก (ดูที่กล่าวมาแล้วด้านบนเกี่ยวกับ "สมองกลีบข้างและสมองกลีบท้ายทอย")

แต่ถ้าระบบประสาทที่จุดเชื่อมระหว่างสมองกลีบขมับ สมองกลีบข้าง และสมองกลีบท้ายท้อย ส่วนหลังด้านข้าง (posterolateral) เกิดความเสียหาย การเคลื่อนไหวประกอบด้วยจุดมุ่งหมายที่อยู่นอกอำนาจจิตใจที่เป็นไปในลักษณะของการปล่อยและการดึงออก เช่นการยกขึ้นหรือการหลีกเลี่ยงโดยสัญชาตญาณ (เป็นพฤติกรรมที่เด็นนี่-บราวน์เรียกว่า "negative cortical tropism ความเบนแบบลบของคอร์เทกซ์") ก็ถูกปล่อยออก (คือไม่มีการยับยั้ง) ในอวัยวะด้านตรงกันข้ามของซีกสมอง[44] นี้เรียกว่า negative cortical tropism เพราะว่าสิ่งเร้าทางประสาทสัมผัส เช่นความรู้สึกสัมผัสที่เกิดขึ้นเนื่องจากด้านหน้าของนิ้วหรือฝ่ามือ มีความสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของการเคลื่อนไหวที่ลดหรือกำจัดการเร้าผ่านการเชื่อมต่อป้อนกลับแบบลบ (ดูที่กล่าวมาแล้วด้านบนเกี่ยวกับ "สมองกลีบข้างและสมองกลีบท้ายทอย")

ระบบผู้กระทำในแต่ละซีกสมองมีความสามารถในการควบคุมแขนขาในด้านตรงข้ามอย่างเป็นอิสระ (จากกันและกัน) แม้ว่า การควบคุมที่มีการประสานงานกันของมือทั้งสองจะเป็นไปโดยปกติเพราะมีการสื่อสารกันระหว่างซีกสมองทั้งสอง โดยการส่งแอกซอนข้าม corpus callosum[2] ในระดับเปลือกสมอง และข้ามเส้นประสาทเชื่อมโยง (commissures) อื่น ๆ ในระดับใต้เปลือกสมอง (subcortical)

ความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งระหว่างซีกสมองทั้งสองข้าง ก็คือการเชื่อมต่อโดยตรง ระหว่างระบบผู้กระทำของซีกสมองหลัก (คือซีกสมองด้านตรงข้ามกับมือที่ถนัด) กับระบบการเข้ารหัส[45]ซึ่งตั้งอยู่โดยหลักในซีกสมองหลัก ที่เชื่อมการกระทำกับกำเนิดของการกระทำ และการกระทำกับการแปลผลเป็นภาษาและความคิดที่ใช้ภาษา นั่นก็คือ ระบบผู้กระทำหลักในสมองที่ไม่มีปัญหาอยู่ในซีกสมองหลักซึ่งมีการเชื่อมต่อกับระบบภาษา มีการเสนอว่า แม้ว่าระบบสั่งการจะได้รับการพัฒนาก่อนระบบภาษาในช่วงพัฒนาการ แต่ว่า ก็จะมีกระบวนการในช่วงพัฒนาการที่ระบบภาษาจะรับการเชื่อมต่อกับระบบสั่งการ เพื่อที่จะสร้างสมรรถภาพการเข้ารหัสความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำโดยใช้ภาษา

เมื่อมีการขาดการเชื่อมต่อกันอย่างสำคัญระหว่างซีกสมองทั้งสองข้างที่เกิดจากความเสียหายที่ corpus callosum[2] ระบบผู้กระทำในซีกสมองหลักที่เชื่อมต่อกับระบบภาษา ซึ่งยังสามารถควบคุมแขนขาที่ถนัดก็จะสูญเสียโดยระดับหนึ่ง ซึ่งความสามารถในการควบคุมโดยตรงและโดยอ้อมซึ่งผู้กระทำที่อยู่ในซีกสมองที่ไม่เป็นใหญ่ และซึ่งแขนขาที่ไม่ถนัด เป็นแขนขาที่ก่อนหน้านั้นตอบสนองและ "เชื่อฟัง" ผู้กระทำหลัก ดังนั้น การกระทำมีจุดมุ่งหมายที่เกิดขึ้นนอกเหนืออิทธิพลของผู้กระทำหลัก ก็สามารถเกิดขึ้นได้ และสมมุติฐานพื้นฐาน (ที่สมองมีอยู่) ว่า มือทั้งสองนั้นมีการควบคุมโดยผู้กระทำหลัก ก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความรู้สึกว่าเป็นตน[36]ที่ปกติเกิดขึ้นเนื่องจากการเคลื่อนไหวของแขนขาที่ไม่ถนัด ก็จะไม่เกิดขึ้นในกรณีนี้ หรือว่า เกิดขึ้นแต่ไม่ปรากฏให้รับรู้ได้ ดังนั้น คนไข้จึงต้องสร้างคำอธิบายใหม่ เพื่อที่จะเข้าใจถึงสถานการณ์ที่ผู้กระทำในซีกสมองที่ไม่เป็นหลักสามารถที่จะก่อให้เกิดการทำงานในแขนขาที่ไม่ถนัด

ในกรณีเช่นนี้ ผู้กระทำที่แยกออกเป็นสองพวกสามารถควบคุมการกระทำที่เกิดขึ้นได้อย่างพร้อม ๆ กันในแขนขาทั้งสองข้าง แต่กลับทำการมีจุดมุ่งหมายที่ตรงกันข้ามกันแม้ว่ามือที่ถนัดก็ยังมีความสืบเนื่องจากผู้กระทำหลัก ที่เชื่อมต่อกับระบบภาษา ที่สามารถจะเข้าถึง (คือรับรู้) ได้ และที่ปรากฏว่า "ยังอยู่ใต้อำนาจจิตใจ" และยังเชื่อฟังต่อเจตนาความมุ่งหวัง คือยังสามารถควบคุมได้โดยความคิด

แต่ในขณะเดียวกัน มือที่ไม่ถนัดกลับได้รับการอำนวยการโดยผู้กระทำที่ไม่มีการเชื่อมต่อกับระบบภาษา ที่มีเจตนาความจงใจที่ผู้กระทำหลักสามารถรู้ได้โดยอ้อมหลังเหตุการณ์เท่านั้น คือมือนั้นขาดการเชื่อมต่อและไม่อยู่ใต้อำนาจของผู้กระทำหลักอีกต่อไป และดังนั้น มือนั้นจึงได้รับการระบุจากผู้กระทำหลักที่เชื่อมต่อกับระบบภาษา ที่สามารถควบคุมได้ ว่ามีผู้กระทำต่างดาว (หรือผู้กระทำอื่น) อีกพวกหนึ่งที่เข้าถึงไม่ได้ และมีความเป็นไปแยกอยู่ออกต่างหาก

เพราะฉะนั้น ทฤษฎีนี้ จึงสามารถอธิบายการเกิดขึ้นของพฤติกรรมต่างดาวในแขนขาที่ไม่ถนัด และความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกันระหว่างแขนขาทั้งสอง เมื่อมีความเสียหายต่อ corpus callosum[2] และอาการมือต่างดาวที่ต่าง ๆ กันที่เกิดจากความเสียหายในสมองกลีบหน้าส่วนหน้าด้านใน และ/หรือในส่วนเชื่อมต่อของสมองกลีบขมับ สมองกลีบข้าง และสมองกลีบท้ายทอย ส่วนหลังด้านข้าง สามารถอธิบายได้โดยความเสียหายในซีกสมองเฉพาะส่วนซึ่งเป็นส่วนประกอบของระบบผู้กระทำส่วนหน้า หรือส่วนหลัง โดยที่อาการต่าง ๆ ของมือต่างดาวที่สัมพันธ์กับความเสียหาย ที่เฉพาะเจาะจง ย่อมเกิดขึ้นที่แขนขาด้านตรงกันข้ามของซีกสมองที่มีความเสียหาย

การบำบัดรักษา[แก้]

ยังไม่มีวิธีรักษากลุ่มอาการมือต่างดาว[46] แต่ว่า สามารถลดและบริหารอาการต่าง ๆ ได้โดยระดับหนึ่งโดยให้ใช้มือต่างดาวทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นให้ถือวัตถุในมือ นอกจากนั้นแล้ว การเรียนรู้เพื่อทำการงานอาจจะฟื้นฟูการควบคุมมือใต้อำนาจจิตใจได้ในระดับที่มีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น คนไข้คนหนึ่งมีอาการมือต่างดาวแบบสมองด้านหน้าเสียหาย และมักจะยื่นมือออกไปจับวัตถุต่าง ๆ (เช่นลูกบิดประตู) เมื่อกำลังเดิน คุณหมอจึงได้ให้ถือไม้เท้าในมือเมื่อเดิน แม้ว่าจริง ๆ แล้วเขาไม่มีความจำเป็นที่จะใช้ไม้เท้าในการทรงตัวหรือในการเดิน แต่เมื่อถือไม้เท้านั้นไว้มั่นในมือต่างดาว มือก็จะไม่ปล่อยแล้วทิ้งไม้เท้าลงเพื่อจะออกไปถือเอาอะไรอย่างอื่นอีก เทคนิคอย่างอื่น ๆ อีกที่ได้ผลมีทั้ง เอามือหนีบไว้ในระหว่างขา หรือตีมือนั้น และการใช้น้ำอุ่น ๆ รด หรือการให้มองหรือแตะที่อื่น[47] นอกจากนั้นแล้ว วูและคณะ[48] ยังพบว่า การใช้สัญญาณเตือนที่น่ารำคาญที่เริ่มทำงานเมื่อมือต่างดาวทำการที่นอกอำนาจจิตใจ ลดช่วงเวลาที่มือต่างดาวนั้นเข้าไปถือเอาวัตถุ

ถ้ามีความเสียหายเพียงข้างเดียวต่อซีกสมอง โดยทั่ว ๆ ไป พฤติกรรมต่างดาวก็จะค่อย ๆ ลดความถี่ลงตามกาลเวลา และการควบคุมที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจก็จะดีขึ้นในมือที่มีปัญหา คือ จริง ๆ แล้ว เมื่ออาการมือต่างดาวเกิดขึ้นโดยฉับพลันเพราะความเสียหายที่ไม่กระจัดกระจายไป (คืออยู่เฉพาะที่) การฟื้นตัวมักจะเกิดขึ้นภายในหนึ่งปี[49] ทฤษฎีหนึ่งที่สามารถอธิบายการฟื้นฟูนี้ได้ ก็คือว่า สภาพพลาสติกของระบบประสาท (neuroplasticity[50]) ในซีกสมองทั้งสองข้างและในระบบประสาทใต้เปลือกสมองที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการให้เกิดการเคลื่อนไหวใต้อำนาจจิตใจ อาจเป็นเหตุในการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างกระบวนการปฏิบัติการกับกระบวนการให้กำเนิดความรู้สึกว่าเป็นตนขึ้นใหม่ แต่กระบวนการเช่นนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจดี

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการแจ้งถึงการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอาการมือต่างดาว เมื่อมีความเสียหายเพียงแค่ซีกเดียวของสมอง[29] และในบางกรณี คนไข้อาจจะต้องใช้วิธีจำกัดการกระทำที่นอกลู่นอกทาง ไม่น่าพึงใจ และบางครั้งทำให้เกิดความอาย ของมือที่มีปัญหา โดยจับแขนของมือนั้นด้วยมือที่ไม่มีปัญหา[29]

โดยอีกวิธีหนึ่ง หมอสอนคนไข้ให้ทำการงานอย่างหนึ่ง เช่นเอามือต่างดาวไปแตะวัตถุหนึ่ง หรือแตะจุดเป้าหมายที่เด่นชัดเทียบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งที่คนไข้สามารถฝึกมือให้เป็นไปตามอำนาจจิตใจโดยอาศัยความตั้งใจและสมาธิ เพื่อที่จะครอบงำพฤติกรรมต่างดาวเสีย เป็นไปได้ว่า วิธีการฝึกเหล่านี้ก่อให้เกิดการจัดระเบียบใหม่ของนิวรอนในระบบ premotor ในซีกสมองที่มีความเสียหาย หรือโดยอีกทฤษฎีหนึ่ง ก็คือ สมองข้างเดียวกันที่ไม่มีปัญหาอาจจะขยายการควบคุมแขนที่มีปัญหาเพิ่มขึ้น

อีกวิธีหนึ่งก็คือการบรรเทาการกระทำของมือต่างดาว และการจำกัดสัญญาณความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มาจากมือนั้น โดยปิดมือโดยเครื่องปกคลุมเช่นอุปกรณ์พยุง (orthosis) เฉพาะกิจที่ทำด้วยโฟม หรือแม้แต่ถุงมือทำครัว (ที่ใช้เพื่อป้องกันความร้อน) คนไข้บางพวกรายงานว่า ได้ใช้อุปกรณ์พยุงที่ห้ามการยึดจับที่ไม่ยอมเลิก[29] หรือยับยั้งมือต่างดาวโดยผูกไว้ที่เสาเตียง[51] แต่ว่า วิธีเหล่านี้จำกัดคนไข้จากการใช้มือที่มีปัญหานั้นในการทำการงานอย่างอื่น ซึ่งอาจจะพิจารณาได้ว่า เป็นวิธีที่จำกัดมากเกินไป และอีกอย่างหนึ่ง ตามทฤษฎีแล้ว วิธีนี้อาจจะทำกระบวนการฟื้นฟูการควบคุมมือต่างดาวนั้นให้เนิ่นช้า คือ สภาพพลาสติกของระบบประสาท (neuroplasticity[50]) ที่เป็นผลจากการฟื้นฟูอาจต้องอาศัยการฝึกควบคุมมือนั้นซ้ำ ๆ กันในการทำกิจต่าง ๆ และอาจต้องอาศัยการเสริมกำลังโดยผ่านประสบการณ์ที่สำเร็จผลในการปราบปรามพฤติกรรมต่างดาวที่เกิดขึ้นในขณะฝึกมือนั้น

ที่ปรากฏในสื่อ[แก้]

  • ในภาพยนตร์ Dr. Strangelove ของ สแตนลีย์ คูบริก ปี ค.ศ. 1964 ตัวละครชื่อเดียวกับภาพยนตร์ที่เล่นโดยปีเตอร์ เซ็ลเลอร์ส มีอาการมือต่างดาว ดังนั้น อาการกลุ่มนี้จึงมักจะเรียกโดยนามของภาพยนตร์นี้
  • ในละครชุดเฮาส์ เอ็ม.ดี.ตอน Both Sides Now (แปลว่า คราวนี้ เอาทั้งสองข้างนะ!) คนไข้มีอาการมือต่างดาว
  • ในนวนิยาย L'Arbre des Possibilitées (ต้นไม้แห่งความเป็นได้) ของเบอร์นารด์ เวอร์เบอร์ นายตำรวจผู้หนึ่งมีมือข้างหนึ่งที่ทำฆาตกรรมในช่วงที่เขามีอาการมือต่างดาว
  • ในหนังสารคดี Dark Matters (เรื่องลึกลับ) ที่ฉายผ่านช่อง Science เล่าถึงอาการมือต่างดาวและถึงความเป็นมาของโรค[52]
  • ในภาพยนตร์ Evil Dead II ตัวละครแอชถูกบีบบังคับให้ตัดมือขวาของตัวเองออกเมื่อมือถูกผีสิง ภายหลังเขาทดแทนมือของตนด้วยเลื่อยยนต์เพื่อสู้กับพวกซอมบี
  • ในละครตลกร้ายชุด "The League of Gentlemen (สันนิบาตสุภาพบุรุษ)" ตอน "The One-Armed Man is King (คนแขนเดียวนั่นแหละเป็นพระราชา)" ผู้ถูกตัดแขนแลนซ์ได้รับแขนมาจากหญิงคนหนึ่งที่มีจิตใจของตนเอง คือแขนนั้นมีพฤติกรรมเหมือนกับแขนของเจ้าของคนก่อน
  • ในภาพยนตร์ "Idle Hands (มือไร้งาน)" ตัวละครแอนตันถูกบีบบังคับให้ตัดมือขวาของตนเองออกเมื่อมือนั้นถูกผีสิงและฆ่าคนโดยที่เขาไม่รู้ตัว[53]
  • มีฉากหนึ่งในภาพยนตร์ของจิม แคร์รี่ย์เรื่อง "ขี้จุ๊เทวดาฮากลิ้ง (Liar Liar)" ที่ตัวร้ายสูญเสียการควบคุมมือขวาของเขาอย่างชั่วคราว แล้วมือนั้นก็เขียนคำว่า "blue (น้ำเงิน)" บนใบหน้าของเขาซ้ำ ๆ กัน
  • ในนวนิยาย "Peace on Earth (สันติสุขบนโลก)" ผู้เขียนสแตนิสลาฟ เล็ม ใช้การผ่าตัด corpus callosum[2]ออก เป็นส่วนสำคัญของโครงเรื่อง

ดูเพิ่ม[แก้]

Split-brain

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. "The Mind's Strange Syndromes". BBC News. September 8, 2000. "จนถึงทุกวันนี้ 'มือไร้กฏบังคับ (anarchic hand)' ก็ยังเป็นอาการที่ได้ชื่อประชานิยมตามภาพยนตร์ของสแตนลีย์ คูบริกในปี ค.ศ. 1964 ว่า 'Dr Strangelove syndrome' ตามชื่อของนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นชื่อของภาพยนตร์ด้วย เป็นตัวละครที่มีมือที่ไม่ยอมฟังใคร"
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 corpus callosum หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า colossal commissure เป็นกลุ่มใยประสาทที่กว้างและแบนใต้เปลือกสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (มีรก) ประเภท eutheria อยู่ที่ ร่อง longitudinal fissure (ที่แบ่งสมองออกเป็น 2 ข้าง) เป็นโครงสร้างที่เชื่อมซีกสมองซ้ายขวาเข้าด้วยกัน และอำนวยให้เขตในสมองทั้งสองซีกสื่อสารกันได้ เป็นส่วน white matter (ส่วนในสมองที่โดยมากประกอบด้วยแอกซอน) ที่ใหญ่ที่สุดในสมองมีแอกซอนส่งเชื่อมซีกสมองถึง 200-250 ล้านแอกซอน
  3. 3.0 3.1 Bellows, A. (2009) . Alien hand syndrome, and other too weird, not to be true stories. New York: Workman Publishing
  4. Bryant, Charles W. (September 12, 2007). "How Alien Hand Syndrome Works". สืบค้นเมื่อ March 19, 2014.
  5. Kloesel, B., Czarnecki, K., Muir, J.J. & Keller, A.S. (2010) . Sequelae of a left-sided parietal stroke: Posterior alien hand syndrome. Neurocase, 16 (6), 488–493 retrieved from http://search.ebscohost.com/login.aspx?direct=true&db=cin20&AN=2010871812&site=ehost-live
  6. Goldstein, K. (1908) . Zur Lehre von der motorischen Apraxie. J. fur Psychol. und Neurol. (Lpz.), XI., 169–187, 270–283.
  7. Geschwind, N. (1965) . Disconnexion syndromes in animals and man. Brain, 88, 237–294, 585–644.
  8. Hertsa, J., Davis, A.S., Barisa, m. & Leman, E.R. (2012) . Atypical sensory alien hand syndrome: A case study. Neuropsychology, 19:1, 71–77 retrieved from http://dx.doi.org/10.1080/09084282.2011.643950
  9. Aboitiz, F., Carrasco, X., Schroter, C., Zaidel, D., Zaidel, E. & M. Lavados. (2003) . The alien hand syndrome: classification of forms reported and discussion of a new condition. Neuro Sci, 24, 252–257 retrieved from http://people.uncw.edu/tothj/PSY595/Aboitiz-The%20Alien%20Hand%20Syndrome-NS-2003.pdf
  10. Lhermitte, F. (1983) . 'Utilization behaviour' and its relation to lesions of the frontal lobes. Brain, 106, 237–255.
  11. Lhermitte, F., Pillon, B., Serdaru, M. (1986) . Human autonomy and the frontal lobes. Part I. Imitation and utilization behavior: a neuropsychological study of 75 patients. Annals of Neurology, 19, 326-334.
  12. utilization behavior (แปลว่า พฤติกรรมการใช้งาน) เป็นความผิดปกติในประสาทพฤติกรรมที่คนไข้จะเข้าไปจับวัตถุที่มองเห็น แล้วเริ่มพฤติกรรมที่เหมาะกับวัตถุนั้นในเวลาและโอกาสที่ไม่เหมาะสม
  13. Lhermitte, F. (1986) . Human autonomy and the frontal lobes. Part II. Patient behavior in complex and social situations: The "environmental dependency syndrome." Annals of Neurology, 19, 335–343.
  14. 14.0 14.1 14.2 Scepkowski, Lisa A.; Cronin-Golomb, Alice (ธันวาคม 2003). "The Alien Hand: Cases, Categorizations, and Anatomical Correlates" (PDF). Behavioral and Cognitive Neuroscience Reviews. Sage Publications. 2 (4): 261–277. doi:10.1177/1534582303260119.
  15. 15.0 15.1 Doody R. S., & Jankovic J. (1992) The alien hand and related signs. J Neurol Neurosurg Psychiatry;55:806-10
  16. 16.0 16.1 Bogen, J. E. (1979) . The callosal syndrome. In K. M. Heilman & E. V. Valenstein (Eds.), Clinical neuropsychology (pp. 295–338) . New York: Oxford University Press
  17. 17.0 17.1 17.2 Caixeta L., Maciel P., Nunes J., Nazareno L., Araújo L., Borges R. J. (2007) . Alien hand syndrome in AIDS Neuropsychological features and physiopathological considerations based on a case report. Dementia & Neuropsychologia;1 (4) :418–421
  18. 18.0 18.1 คือ คนไข้ยื่นมือออกไปจับวัตถุสิ่งของโดยไม่ปล่อย
  19. Giroud, M., & Dumas, R. (1995) . Clinical and topographical range of callosal infarction: a clinical and radiological correlation study. Journal of Neurology, Neurosurgery, & Psychiatry, 59, 238–242.
  20. Caixeta L, Maciel P, Nunes J, Nazareno L, Araújo L, Borges RJ (2007). "Alien hand syndrome in AIDS Neuropsychological features and physiopathological considerations based on a case report" (PDF). Dementia & Neuropsychologia. 1 (4): 418–421. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2016.
  21. Akelaitis, A. I. (1945) . Studies on the corpus callosum. IV. Diagonistic dyspraxia in epileptics following partial and complete section of the corpus callosum. American Journal of Psychiatry, 101, 594–599.
  22. Gottlieb D., Robb K., Day B. (1992) . Mirror movements in the alien hand syndrome. Am J Phys Med Rehabil; 71:297–300.
  23. Geschwind, D. H., Iacoboni, M., Mega, M. S., Zaidel, D. W., Cloughesy, T., & Zaidel, E. (1995) . Alien hand syndrome: Interhemi-spheric motor disconnection due to a lesion in the midbody of the corpus callosum. Neurology, 45, 802–808.
  24. coronary artery bypass surgery หรือเรียกตามภาษาพูดของคนไทยว่า การ bypass เป็นการเอาหลอดเลือดจากส่วนอื่นของร่างกายมาเย็บเข้าที่เส้นเลือดหัวใจเป็นทางเลี่ยง (bypass) ของเส้นหัวใจที่ตีบตันและเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปยังกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อความตายจากโรคหัวใจจากหลอดเลือดแดงแข็ง
  25. ideomotor apraxia หรือ ภาวะเสียการรู้ปฏิบัติแบบ ideomotor เป็นความผิดปกติทางประสาทมีอาการเป็นความไม่สามารถที่จะเลียนแบบการเคลื่อนไหวของมือ และไม่สามารถใช้มือทำท่าทางเหมือนจะใช้เครื่องมือ เช่นทำมือเหมือนกับจะหวีผมของตน แต่ว่าความสามารถในการใช้เครื่องมือเองโดยไม่ต้องบอก เช่นหวีผมในตอนเช้า อาจจะไม่มีปัญหาอะไร แต่บ่อยครั้งก็จะสูญเสียความสามารถนี้ด้วย
  26. Goldberg, G., Mayer, N.H., Toglia, J.U. (1981) . Medial frontal cortex infarction and the alien hand sign. Archives of Neurology, 38, 683–686.
  27. Seyffarth, H. (1950) . The grasp reflex and the instinctive grasp reaction. The physiological basis and diagnostic value. Acta Psychiatrica Scandinavica, 25, Supplement s59, 146–148.
  28. Jasvinder Chawla (December 9, 2020). "Apraxia and Related Syndromes". WebMD. สืบค้นเมื่อ March 2, 2021.
  29. 29.0 29.1 29.2 29.3 29.4 29.5 29.6 Goldberg, Gary; Bloom, Karen K (October 1990). "The alien hand sign. Localization, lateralization and recovery". American Journal of Physical Medicine & Rehabilitation. Williams & Wilkins. 69 (5): 228–238. doi:10.1097/00002060-199010000-00002. PMID 2222983.
  30. Kischka, U., Ettlin, T. M., Lichtenstern, L., & Riedo, C. (1996) . Alien hand syndrome of the dominant hand and ideomotor apraxia of the nondominant hand. European Neurology, 36, 39–42.
  31. ข้อระหว่างนิ้ว (interphalangeal joints) เป็นข้อต่อบานพับ (hinge joints) ในระหว่างกระดูกนิ้ว แต่ละนิ้วยกเว้นนิ้วแม่โป้งมีสองข้อ คือ proximal interphalangeal joints คือระหว่างกระดูกนิ้วชิ้นแรกและกระดูกชิ้นที่สอง และ distal interphalangeal joints คือระหว่างกระดูกชิ้นที่สองและกระดูกชิ้นที่สาม
  32. athetosis มีอาการเป็นความเคลื่อนไหวของนิ้วมือ มือ และนิ้วเท้า และในบางกรณีแขน ขา คอ และลิ้น เป็นความเคลื่อนไหวที่ช้า ๆ อยู่นอกอำนาจจิตใจ เป็นไปแบบคด ๆ รอยโรคที่สมองเป็นเหตุเกิดมากที่สุด โดยเฉพาะที่ corpus striatum
  33. chorea เป็นความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวนอกอำนาจจิตใจ อยู่ในกลุ่มความผิดปกติทางประสาทที่เรียกว่า dyskinesias. chorea เป็นคำมาจากภาษากรีกที่แปลว่า เต้นรำ เพราะว่ามีการเคลื่อนไหวแบบเร็ว ๆ ที่มือและเท้าเหมือนกับการเต้นรำ
  34. กล้ามเนื้อกระตุกรัว (myoclonus) เป็นการกระตุกนอกอำนาจจิตใจของกล้ามเนื้อหรือกลุ่มของกล้ามเนื้อ
  35. Andrew S. Kayser; Felice T. Sun; Mark D'Esposito (22 April 2009). "A comparison of Granger causality and coherency in fMRI‐based analysis of the motor system". Human Brain Mapping. John Wiley & Sons. 30 (11): 3475–3494. doi:10.1002/hbm.20771. PMID 19387980.
  36. 36.00 36.01 36.02 36.03 36.04 36.05 36.06 36.07 36.08 36.09 36.10 ความรู้สึกว่าเป็นตน (sense of agency) เป็นความรู้สึกที่เป็นอัตวิสัยว่า ตนเป็นผู้เริ่ม ผู้ปฏิบัติการ และผู้ควบคุมการกระทำที่เป็นไปตามเจตนา
  37. ลำเส้นใยประสาทคอร์เทกซ์-ไขสันหลัง (corticospinal tract) ส่งข้อมูลจากคอร์เทกซ์ในสมองไปยังไขสันหลัง มีแอกซอนโดยมากจากคอร์เทกซ์สั่งการ (motor cortex)
  38. efference copy เป็นการทำซ้ำของสัญญาณสั่งการเคลื่อนไหวที่ส่งไปจากระบบสั่งการ (motor system) ข้อมูลนี้สามารถใช้ในการเปรียบเทียบกับความรู้สึกที่ได้รับเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่เกิดจากสัญญาณสั่งการนั้น ส่งผลให้สามารถเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจริง ๆ กับการเคลื่อนไหวที่ประสงค์ และให้สามารถกรองผลที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของตนจากการรับรู้ โดยใช้ efference copy กับ internal models สมองก็จะสามารถพยากรณ์ถึงผลของการกระทำหนึ่ง ๆ ได้
  39. ในจิตวิทยาแผนใหม่ ความไม่ลงรอยกันทางปริชาน (cognitive dissonance) เป็นความรู้สึกไม่สบายใจเมื่อมีปริชานคือสิ่งที่รับรู้สองอย่างที่ขัดแย้งกันซึ่งอาจจะเป็นความคิด ความเชื่อ ค่านิยม หรือการตอบสนองทางอารมณ์ ในช่วงที่อยู่ในภาวะที่ไม่ลงรอยกัน คนนั้นอาจจะรู้สึกว่ามีความไม่สมดุล อาจจะเกิดความเบื่อ ความหิวกระหาย ความหวั่นวิตก ความรู้สึกผิด ความโกรธ ความอาย และความวิตกกังวลเป็นต้น
  40. Goldberg, G., Goodwin, M.E. (2011) Alien hand syndrome. Encyclopedia of Clinical Neuropsychology, (eds) Caplan, B., Deluca, J., Kreutzer, J.S., pp. 84–91. http://www.springerreference.com/docs/navigation.do?m=book114
  41. Stephanie Spengler; D. Yves von Cramon; Marcel Brass (10 June 2009). "Control of shared representations relies on key processes involved in mental state attribution". Human Brain Mapping. John Wiley & Sons. 30 (11): 3704–3718. doi:10.1002/hbm.20800. PMID 19517530.
  42. Itzhak Fried; Roy Mukamel; Gabriel Kreiman (February 10, 2011). "Internally Generated Preactivation of Single Neurons in Human Medial Frontal Cortex Predicts Volition" (PDF). Neuron: Cell Press. Elsevier. 69 (3): 548–562. doi:10.1016/j.neuron.2010.11.045.
  43. 43.0 43.1 Denny-Brown, D. (1958) . The nature of apraxia. Journal of Nervous and Mental Diseases, 126, 9-32.
  44. 44.0 44.1 44.2 Denny-Brown, D. (1966) . The Cerebral Control of Movement. (The Sherrington Lectures for 1963) Liverpool: Liverpool University Press.
  45. การเข้ารหัส โดยรวม ๆ ก็คือ การแปลงข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบหนึ่ง ไปเป็นข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เข้ารหัสเสียงดนตรีไปเป็นหลุมเล็ก ๆ บนซีดีที่ใช้เล่นเพลงนั้นได้
  46. Gottlieb D., Robb K., Day B. (1992) . Mirror movements in the alien hand syndrome. Am J Phys Med Rehabil;71:297-300
  47. Nicholas, J. J., Wichner, M. H., Gorelick, P. B., and Ramsey, M. M. (1998) . ‘‘Naturalization’’ of the alien hand: case report. Arch Phys Med Rehabil 79: 113–114
  48. Wu F. Y., Leong C. P., & Su T. L (1999) . Alien hand syndrome: report of two cases. Chang Gung Med J;22:660–5
  49. Chan J. L., & Ross E. D. (1997) . Alien hand syndrome: influence of neglect on the clinical presentation of frontal and callosal variants. Cortex;33:287–99.
  50. 50.0 50.1 สภาพพลาสติกของระบบประสาท (neuroplasticity) เป็นความเปลี่ยนแปลงของวิถีประสาทและไซแน็ปส์ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม, จากกระบวนการต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมและในระบบประสาท, และจากความบาดเจ็บความเสียหายในสมอง ทฤษฎีนี้ได้ทดแทนทฤษฎีก่อนหน้านี้ที่บอกว่า สมองเป็นอวัยวะที่มีความคงที่ทางสรีระภาพ และเป็นทฤษฎีที่ใช้เพื่อการศึกษาว่า สมองเปลี่ยนแปลงไปในช่วงชีวิตหนึ่งอย่างไรและด้วยเหตุอะไร
  51. Banks, G. B., Short, P., Martinez, A. J., Latchaw, R., Ratcliff, G., & Boller, F. (1989) . The alien hand syndrome: Clinical and postmortem findings. Archives of Neurology, 46, 456–459
  52. "Discovery Science- Alien Hand Syndrome". สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2012.
  53. "Idle Hands". IMDB. 1999.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Bellows, Allen (19 พฤศจิกายน 2005). "Alien Hand Syndrome". Damn Interesting. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2011.
  • "Definition of Alien Hand Syndrome". MedicalNet.com. 15 ธันวาคม 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 สิงหาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]