ข้ามไปเนื้อหา

กฎหมายจีนดั้งเดิม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กฎหมายจีนดั้งเดิม (จีน: 繁体中文法律; พินอิน: dǔdāngzhōngwénfǎlǜ, ตู่ตังจงเหวินฝ่าลฺวี่; อังกฤษ: traditional Chinese law) หมายถึง บรรดากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่ใช้บังคับในประเทศจีนนับแต่โบราณกาลมาจนถึง พ.ศ. 2454 อันเป็นปีที่ราชวงศ์ชิงสิ้นสุดลง กฎหมายดั้งเดิมเหล่านี้มีความแตกต่างจากกฎหมายในระบบคอมมอนลอว์ (อังกฤษ: common law system) และระบบซีวิลลอว์ (อังกฤษ: civil law system) อันเป็นระบบกฎหมายสองระบบที่นิยมใช้และมีอิทธิพลมากที่สุดในโลกปัจจุบัน และกฎหมายจีนดั้งเดิมยิ่งต่างไปจากกฎหมายจีนปัจจุบันอย่างถึงที่สุด เนื่องจากกฎหมายจีนดั้งเดิมมีองค์ประกอบสำคัญคือความนิยมกฎหมายและความนิยมลัทธิขงจื้อซึ่งมีอิทธิพลต่อแบบแผนของสังคมและการปกครองของจีนในสมัยโบราณอย่างยิ่ง

ประวัติ

[แก้]

พัฒนาการเริ่มแรก

[แก้]

ในสังคมยุคเริ่มแรกของจีน ชนชั้นบรรดาศักดิ์จะต้องประพฤติปฏิบัติตาม "กฎแห่งจารีต" (จีน: ; พินอิน: lǐ, ลี้) ของตน ส่วนชนชั้นรากหญ้าต้องอยู่ภายในกฎเกณฑ์ที่ชนชั้นบรรดาศักดิ์กำหนดไว้อีกทีหนึ่ง หากฝ่าฝืนจะต้องรับโทษตาม "กฎแห่งโทษทัณฑ์" (จีน: ; พินอิน: xíng, ซิ๋ง) หลักการเช่นนี้ถึงแม้จะส่งผลดีต่อการควบคุมประชากรแต่ก็ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นวรรณะต่าง ๆ อย่างยิ่งยวด

ชนชั้นปกครองยุคเริ่มแรกของราชวงศ์โจวซึ่งเป็นราชวงศ์ลำดับที่สามตามประวัติศาสตร์จีนได้ตรากฎหมายหลายฉบับเพื่อรองรับค่านิยมในความเป็นบุตรหัวปี (อังกฤษ: primogeniture) เช่น ค่านิยมเรื่องความกตัญญู โดยกฎหมายฉบับเริ่มแรกที่สุดฉบับหนึ่งของจีนที่เชื่อกันว่าเป็นของแท้ คือ ประมวลพระราชโองการของพระเจ้าโจวอู่หวังที่มีไปถึงเจ้าฟ้าชายพระองค์น้อยสำหรับเป็นแนวทางในการจัดระเบียบศักดินา ชื่อว่า "คังเก้า" (จีน: 康誥; พินอิน: kānggào; "พระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม")

ต่อมาในระหว่างช่วงหกศตวรรษก่อนคริสต์ศาสนา แคว้นต่าง ๆ ที่พากันแยกตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อราชวงศ์โจว ได้จัดทำประมวลกฎหมายอาญาเป็นของตนและจารึกไว้บนกาน้ำสาริดซึ่งหลงเหลือซากมาถึงทุกวันนี้ เช่น ประมวลกฎหมายอย่างน้อยสองฉบับของแคว้นเจิงที่มีอายุราว 536-504 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยฉบับแรกปรากฏบนกาน้ำ และอีกฉบับบนไม้ไผ่ ในจำนวนประมวลกฎหมายที่ตราขึ้น ณ ช่วงนี้ ชุดประมวลกฎหมายแห่งแคว้นเว่ยซึ่งร่างโดยลี้กุย (จีน: 李悝; พินอิน: Lǐ Kuī;; เวด-ไจลส์: Li K'uei) นับว่ามีชื่อเสียงที่สุด การจัดทำประมวลกฎหมายดังกล่าวเป็นกระบวนการที่ชนชั้นปกครองพยายามจะปฏิรูปอำนาจการปกครองของส่วนกลางให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐบุรุษหลายคน เช่น ขงจื้อ ว่าทำให้ระบบชนชั้นวรรณะเสื่อมลง

ความนิยมกฎหมายในแคว้นฉิน

[แก้]

221 ปีก่อนคริสต์ศักราช แคว้นฉินปราบแคว้นทั้งหลายได้แล้วจัดการรวมเข้าเป็นสุวรรณปฐพีอันหนึ่งอันเดียวกัน พร้อมสถาปนาราชวงศ์ฉินขึ้นเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ความสำเร็จของราชวงศ์ฉินในครั้งนี้เป็นผลมาจากการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายปกครองฉบับเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเมื่อ 4 พันปีก่อนคริสต์ศักราช ตามคำแนะนำของรัฐบุรุษชางยาง (จีน: 商鞅; พินอิน: Shāng Yāng; เวด-ไจลส์: Shang Yang) สาระสำคัญเป็นการกำหนดโทษหนักสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่รัฐมอบหมายให้ และโทษอื่น ๆ ตามแต่ชั้นความผิด กฎหมายในชั้นนี้ล้วนแต่ได้รับการผลิตขึ้นตามเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ที่มีความนิยมกฎหมาย ซึ่งเจตนารมณ์เช่นนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อมโนทัศน์ของลัทธิขงจื้อเกี่ยวกับค่านิยมทางจริยธรรมต่าง ๆ

ฝ่ายนิยมกฎหมาย เช่น นักคิดนักเขียนหันเฟย์ (จีน: 韩非; พินอิน: Hán Fēi; เวด-ไจลส์: Han Fei) นั้นยืนยันว่า ชนชั้นปกครองต้องใช้บทลงโทษอันเฉียบขาดในการดำเนินการปกครอง โดยไม่ต้องคำนึงค่านิยมทางจริยธรรมต่าง ๆ เลย แต่ชนชั้นปกครองต้องจัดให้มีความเสมอภาคกันภายในกฎหมาย และกฎหมายนั้นต้องตราขึ้นโดยมีความชัดเจนเพื่อให้คนทั่วไปอ่านแล้วก็เข้าใจ กับทั้งต้องตราขึ้นโดยเชื่อมโยงกับคนทั่วไปอย่างเหมาะสมด้วย

กฎหมายราชสำนัก

[แก้]

ภายหลังจากที่ราชวงศ์ฮั่นเข้าแทนที่ราชวงศ์ฉิน มโนทัศน์ตามความนิยมกฎหมายข้างต้นก็หลงเหลืออยู่อย่างเบาบาง เพราะชนชั้นปกครองต่างสำเหนียกได้ว่า ควรปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายปกครองให้มีโครงสร้างเจาะลึกยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้การปกครองแผ่นดินเป็นไปอย่างราบรื่นผ่านการกระจายอำนาจสู่กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ แต่ต้องรับผิดชอบต่อสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์เดียว ซึ่งกฎหมายยังคงได้รับการผลิตภายในมโนทัศน์ที่นิยมกฎหมายที่ว่า กฎหมายจะต้องมีความชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำความเข้าใจ และจะต้องมีการกำหนดโทษสำหรับผู้ละเมิดฝ่าฝืนไม่ว่าได้กระทำโดยความจงใจหรือไม่ แต่ก็รับเอามโนทัศน์ของลัทธิขงจื้อเกี่ยวกับค่านิยมทางจริยธรรมเข้ามาประกอบให้กฎหมายมีความเหมาะสมยิ่งขึ้นด้วย เพราะเหตุที่การปฏิรูปกฎหมายเกิดขึ้นจากราชสำนัก กฎหมายจีนในช่วงนี้จึงได้ชื่อว่า "กฎหมายราชสำนัก" (อังกฤษ: imperial laws)

การตรากฎหมายภายในมโนทัศน์ดังกล่าวดำเนินเรื่อย ๆ ต่อมาในราชวงศ์หลัง ๆ และได้รับการเชิดชูอย่างถึงที่สุดในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งมีการประสานมโนทัศน์ตามความนิยมกฎหมายและตามลัทธิขงจื้อซึ่งนิยมจริยธรรมเข้าด้วยกัน และผลิตออกมาเป็น "ประมวลกฎหมายราชวงศ์ถัง" (จีน: 唐律; พินอิน: Táng lǜ, ถังลู้) อันประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 1167 โดยพระเจ้าถังเกาจู่ ปฐมฮ่องเต้ราชวงศ์ถัง ประมวลกฎหมายราชวงศ์ถังนี้เป็นถือว่าแบบอย่างในเรื่องการใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนและโครงสร้างอันเป็นระบบระเบียบ เนื่องจากร่างขึ้นโดยมีประมวลกฎหมายแห่งราชวงศ์โจวตะวันออก (พินอิน: , เป่ย์โจวลู้) เป็นแม่แบบ ซึ่งประมวลกฎหมายแห่งราชวงศ์โจวเหนือนี้ก็ร่างขึ้นโดยมีประมวลกฎหมายที่เคยประกาศใช้มาแล้วเป็นแม่แบบเช่นกัน คือ ประมวลกฎหมายแห่งวุยก๊ก และประมวลกฎหมายแห่งราชวงศ์จิ้นตะวันตก กระนั้น มโนทัศน์ตามลัทธิขงจื้อก็ยังไม่มีอิทธิพลต่อการผลิตกฎหมายควบคุมความสงบเรียบร้อยของสังคมมากนัก

นอกจากนี้ ในปลายสมัยราชวงศ์โฮ่วจิ้น พ.ศ. 1488 รัฐบาลจีนยังจัดให้มีการประมวลคตินิยมของจีนเท่าที่มีมาในประวัติศาสตร์ โดยปรากฏว่ามีการกล่าวถึงโทษและกฎหมายในบทสุดท้ายแห่งประมวลคตินิยมดังกล่าวอีกด้วย ตามลำดับดังนี้ เจ็ดบทแรกว่าด้วยเรื่องพิธีกรรม, ต่อมาเป็นบทที่ว่าด้วยเรื่องสุนทรียศาสตร์จำนวนสี่บท, ว่าด้วยปฏิทินจำนวนสามบท, ว่าด้วยดาราศาสตร์และโหราศาสตร์จำนวนสองบท, ว่าด้วยศาสตร์ทางฟิสิกส์จำนวนหนึ่งบท, ว่าด้วยภูมิศาสตร์จำนวนสี่บท, ว่าด้วยลำดับชั้นบังคับบัญชาจำนวนสามบท, ว่าด้วยการคมนาคมและการแต่งกายจำนวนหนึ่งบท, ว่าด้วยพระสูตรและปกรณ์ต่าง ๆ จำนวนสองบท, ว่าด้วยโภคภัณฑ์จำนวนสองบท และปิดท้ายด้วยบทว่าด้วยโทษและกฎหมายจำนวนหนึ่งบท

ประมวลพิธีกรรมตามลัทธิขงจื้อ แม้มิใช่กฎหมาย แต่ก็จัดทำขึ้นภายในความคาดหวังให้เป็นที่ควบคุมพฤติกรรมประชาชนให้มีอารยธรรมแล้ว ซึ่งตามมโนทัศน์ของลัทธินี้แล้วเห็นว่า หลักนิติธรรมควรนำมาใช้แก่ผู้มีพฤติกรรมนอกขอบเขตของอารยธรรมแล้วเท่านั้น บุคคลที่ได้ชื่อว่ามีอารยธรรมมีหน้าที่ปฏิบัติตามพิธีกรรมโดยสมควร และโดยที่ลัทธิขงจื้อให้ความสำคัญเรื่องชนชั้นวรรณะ จึงมีความเห็นอีกว่ากฎหมายนั้นมีไว้สำหรับควบคุมพฤติกรรมของชนชั้นจัณฑาลหรือบุคคลสังคมรังเกียจเท่านั้น ทางลัทธิยังเห็นว่าหลักนิติธรรมเป็นจุดเริ่มต้นของคนป่าคนดอยไร้อารยธรรม เมื่อเขาเหล่านั้นเข้ามาปฏิบัติพิธีกรรมตามลัทธิขงจื้อแล้วจึงจะชื่อว่ามีอารยธรรม ตามมโนทัศน์ของลัทธินี้ ความถูกกฎหมายจึงไม่จำเป็นจะต้องถูกต้องตามจริยธรรมหรือมีความยุติธรรม

ภายในการกำกับดูแลของฟางซวนหลิง () รัฐมนตรีแห่งราชวงศ์ถังผู้นิยมลัทธิขงจื้อ กฎหมายโบราณที่มีกว่าห้าร้อยมาตราก็ได้รับการประมวลเและตราเป็น "ประมวลกฎหมายราชวงศ์ถัง" อย่างลุล่วงเรียบร้อย โดยประมวลกฎหมายนี้ประกอบด้วย 12 ภาค ดังต่อไปนี้

  1. ภาค 1 - บทอธิบายศัพท์
  2. ภาค 2 - ความมั่นคงและข้อห้าม
  3. ภาค 3 - ตำแหน่งและการสืบทอดตำแหน่ง
  4. ภาค 4 - กิจการในครอบครัวและการสมรส
  5. ภาค 5 - การปศุสัตว์และการคลังสินค้า
  6. ภาค 6 - การตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐและการเลื่อนตำแหน่ง
  7. ภาค 7 - การลักทรัพย์และการปล้นทรัพย์
  8. ภาค 8 - การฟ้องร้องและการต่อสู้คดี
  9. ภาค 9 - การลวงและการปลอม
  10. ภาค 10 - ปกิณกบท
  11. ภาค 11 - การจับกุมและการหลบหนีการจับกุม
  12. ภาค 12 - การตัดสินดคีและการจำคุก

ตามประมวลกฎหมายถังแล้ว กำหนดโทษทางอาญาไว้ห้าสถาน ดังต่อไปนี้

  1. การโบย
  2. การเฆี่ยน
  3. การจำคุก
  4. การเนรเทศ
  5. การประหารชีวิต

นอกจากนี้ยังมีการกำหนด "ข้อพิจารณาแปดประการ" เพื่อเป็นเหตุสำหรับปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาด้วย ดังต่อไปนี้

  1. ความสัมพันธ์ทางสาโลหิต
  2. มูลเหตุชักจูงใจในการกระทำความผิด
  3. ความมีศีลธรรมของผู้กระทำความผิด
  4. ความสามารถของผู้กระทำความผิด
  5. คุณงามความดีแต่หนหลังของผู้กระทำความผิด
  6. บรรดาศักดิ์
  7. มิตรภาพ
  8. ความขยันหมั่นเพียนเอาการเอางานของผู้กระทำความผิด

ประเภท

[แก้]

กฎหมายอาญา

[แก้]

กฎหมายปกครอง

[แก้]

กฎหมายแพ่ง

[แก้]

วิธีพิจารณาความ

[แก้]

ศีลธรรมกับกฎหมาย

[แก้]

นิติวิธี

[แก้]

ลักษณะเฉพาะ

[แก้]

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

[แก้]

ทั่วไป

[แก้]
  • Bodde, Derk, "Basic concepts of Chinese law: The genesis and evolution of legal thought in traditional China," Essays on Chinese civilisation, ed. Charles Le Blanc and Dorothy Borei. Princeton: Princeton University Press, 1981.
  • Ch'ü T'ung-tsu, Law and society in traditional China. Paris and The Hague: Mouton, 1961.
  • Escarra, Jean. Le droit chinois: Conception et evolution. Institutions legislatives et judicaires. Science et enseignement. Pekin: Henri Veitch, 1936.
  • Huang, Philip, Civil Justice in China: Representation and Practice in the Qing Stanford, California, Stanford University Press, 1996.

กฎหมายจีนช่วงแรก

[แก้]
  • Hulsewé, Anthony F. P. "The Legalist and the laws of Ch'in," Leyden studies in Sinology, ed. W. L. Idema. Leiden: E. J. Brill, 1981.
  • Hulsewé, Anthony F. P. Remnants of Han Law. Vol. 1. Leiden: E.J. Brill, 1955
  • Hulsewé, Anthony F. P. Remnants of Ch'in Law: An annotated translation of the Ch'in legal and administrative rules of the 3rd century B.C. discovered in Yünmeng Prefecture, Hu-pei Province in 1975. Vol. 1. Leiden: E.J. Brill, 1985
  • Uchida Tomoo (內田智雄), Kanjo keishō shi (漢書刑法志). Kyoto: Dōshishia University, 1958.

บันเทิงคดี

[แก้]
  • Van Gulik, Robert. Celebrated Cases of Judge Dee. New York: Dover Publications, 1976.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]