อาชญากรรมสงครามของรัสเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หญิงชาวจอร์เจียที่บาดเจ็บนั่งอยู่กับซากความเสียหายหลังจากที่รัสเซียทิ้งระเบิดใส่เมืองกอรีระหว่างสงครามรัสเซีย-จอร์เจีย ค.ศ. 2008

อาชญากรรมสงครามของรัสเซีย เป็นการละเมิดกฎหมายอาญาระหว่างประเทศที่ครอบคลุมถึงอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[1] ซึ่งกองกำลังติดอาวุธทางการและกองกำลังรบกึ่งทหารของรัสเซียถูกกล่าวโทษว่าก่อขึ้นตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1991 ข้อกล่าวโทษนี้ยังหมายรวมถึงการช่วยเหลือและการสนับสนุนอาชญากรรมที่ก่อขึ้นโดยรัฐหุ่นเชิดหรือหน่วยการเมืองคล้ายรัฐที่ได้รับอาวุธและเงินทุนจากรัสเซียซึ่งรวมถึงสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์และสาธารณรัฐประชาชนดอแนตสก์ อาชญากรรมสงครามเหล่านี้ได้แก่การฆ่าคน การทรมาน การก่อการร้าย การเนรเทศหรือการบังคับให้พลัดถิ่น การลักพาตัว การข่มขืนกระทำชำเรา การฉกชิงทรัพย์ การกักขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การโจมตีทางอากาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือการโจมตีวัตถุพลเรือน และการทำลายล้างโดยขาดความยับยั้งชั่งใจ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรตส์วอตช์ได้บันทึกอาชญากรรมสงครามของรัสเซียในเชชเนีย[2][3][4] จอร์เจีย[5][6] ยูเครน[7][8][9][10] และซีเรีย[11][12][13][14] องค์การแพทย์ไร้พรมแดนยังได้บันทึกอาชญากรรมสงครามในเชชเนียด้วย[15] ใน ค.ศ. 2017 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) รายงานว่ารัสเซียใช้ระเบิดลูกปรายและอาวุธเพลิงในซีเรีย ซึ่งก่อให้เกิดอาชญากรรมสงครามจากการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมายในพื้นที่ที่มีพลเรือนอาศัยอยู่[16] โอเอชซีเอชอาร์ยังพบว่ารัสเซียกระทำความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครนใน ค.ศ. 2022[17] และ 2023[18] เมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 2022 องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) เผยแพร่รายงานที่พบว่ารัสเซียกระทำความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงครามจากการโจมตีทางอากาศใส่โรงพยาบาลในเมืองมารีอูปอล ในขณะที่การฆ่าโดยเลือกเป้าหมายและการบังคับให้สูญหายหรือการลักพาตัวพลเรือน (รวมถึงนักข่าวและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น) ที่รัสเซียก่อขึ้นอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วย[19]

เมื่อถึง ค.ศ. 2009 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ออกคำตัดสินในคดี 115 คดี (รวมถึงคำตัดสินในคดีระหว่างไบซาเยวากับรัสเซีย) โดยตัดสินว่ารัฐบาลรัสเซียมีความผิดฐานบังคับให้สูญหาย ฆ่าคน ทรมาน และไม่สอบสวนอาชญากรรมเหล่านั้นอย่างเหมาะสมในเชชเนีย[20] ใน ค.ศ. 2021 ศาลฯ ยังตัดสินให้รัสเซียมีความผิดฐานฆ่าคน ทรมาน ฉกชิงทรัพย์ และทำลายบ้านเรือนในจอร์เจีย รวมทั้งขัดขวางไม่ให้ชาวจอร์เจียพลัดถิ่นจำนวน 20,000 คนกลับไปยังดินแดนของตน[21][22][23]

บรรดาประเทศตะวันตกได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศในวงกว้างต่อเจ้าหน้าที่รัสเซียสองครั้งใน ค.ศ. 2014 และ 2022 อันเป็นผลมาจากการที่รัสเซียเข้าไปมีส่วนพัวพันกับสงครามในยูเครน[24][25] ใน ค.ศ. 2016 รัสเซียถอนการลงนามของตนออกจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) เมื่อไอซีซีเริ่มสอบสวนการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการผนวกไครเมียเข้ากับรัสเซีย[26][27] จากนั้นใน ค.ศ. 2022 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติผ่านข้อมติที่ อีเอส-11/3 ให้ระงับรัสเซียจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) อย่างเป็นทางการเนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบของรัสเซียในยูเครน เจ้าหน้าที่รัสเซียหลายคนถูกศาลท้องถิ่นตัดสินว่ามีความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงครามทั้งในเชชเนียและยูเครน ในที่สุดใน ค.ศ. 2023 ไอซีซีออกหมายจับวลาดีมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน

เชชเนีย[แก้]

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1991 เชชเนียประกาศเอกราชจากรัสเซีย รัสเซียไม่ยอมรับการประกาศเอกราชดังกล่าวและพยายามกลับเข้าไปควบคุมเชชเนียอีกครั้ง จุดประกายความตึงเครียดซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบเมื่อทหารรัสเซีย 25,000 นายข้ามเข้าสู่เชชเนียเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1994[28] สงครามสิ้นสุดลงด้วยความเป็นอิสระโดยพฤตินัยของเชชเนียและการถอนทหารของรัสเซียใน ค.ศ. 1996 อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับเชชเนียยังคงปรากฏอยู่และบานปลายต่อไปจนกระทั่งสงครามครั้งที่สองปะทุขึ้นใน ค.ศ. 1999 รัสเซียปราบปรามการก่อความไม่สงบจนกระทั่ง ค.ศ. 2009 สงครามจึงสิ้นสุดเมื่อรัสเซียสามารถควบคุมเชชเนียได้อย่างสมบูรณ์และจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นที่สนับสนุนรัสเซีย ระหว่างนี้เกิดอาชญากรรมสงครามขึ้นหลายครั้งซึ่งส่วนใหญ่กองทัพรัสเซียเป็นผู้ก่อ[29][30] นักวิชาการบางคนประเมินว่าความโหดร้ายของการโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดเล็กเช่นนั้นถือเป็นอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[31][32]

ระหว่างสงครามทั้งสองครั้ง ชาวเชเชนถูกลดทอนความเป็นมนุษย์และโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียเรียกพวกเขาว่า "พวกไอ้มืด" "พวกโจรเถื่อน" "พวกก่อการร้าย" "พวกแมลงสาบ" และ "พวกเรือด" กองทัพรัสเซียก่ออาชญากรรมสงครามจำนวนมากในเชชเนีย[33]

สงครามเชเชนครั้งที่หนึ่ง[แก้]

กองทหารรัสเซียกำลังฝังศพในเชชเนียระหว่างสงครามเชเชนครั้งที่สอง

ตลอดช่วงสงครามเชเชนครั้งที่หนึ่ง องค์การสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ กล่าวโทษกองกำลังรัสเซียว่าเริ่มทำสงครามอันโหดร้ายโดยปราศจากการคำนึงถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้พลเรือนเชเชนได้รับบาดเจ็บโดยไม่จำเป็นนับหมื่นคน กลยุทธ์หลักในความพยายามทำสงครามของรัสเซียคือการใช้ปืนใหญ่หนักและการโจมตีทางอากาศซึ่งนำไปสู่การโจมตีพลเรือนโดยไม่เลือกเป้าหมายหลายครั้ง รายงานของฮิวแมนไรตส์วอตช์ระบุว่า การรบครั้งนี้ "เหนือกว่าการรบครั้งใด ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งในแง่ขอบข่ายและในแง่การทำลายล้าง ตามมาด้วยการโจมตีพลเรือนทั้งโดยเจาะจงและไม่เจาะจงเป้าหมายเป็นเวลาหลายเดือน"[34]

อาชญากรรมเหล่านั้นรวมถึงการใช้อาวุธต้องห้ามอย่างระเบิดลูกปรายในการโจมตีเมืองชาลี ค.ศ. 1995 ซึ่งกำหนดเป้าหมายไปที่ตลาด สถานีบริการน้ำมัน และโรงพยาบาล[35][36][37] และในการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านซามัชกีในเดือนเมษายน ค.ศ. 1995 ซึ่งมีการประเมินไว้ว่ามีพลเรือนเสียชีวิตระหว่างการโจมตีมากถึง 300 คน[38] กองกำลังรัสเซียดำเนินปฏิบัติการซาชิสต์กาหรือการตรวจค้นบ้านเรือนหลังต่อหลังทั่วทั้งหมู่บ้าน ทหารของรัฐบาลกลางโจมตีพลเรือนและที่อยู่อาศัยของพลเรือนในซามัชกีอย่างจงใจและตามอำเภอใจโดยยิงชาวบ้านและเผาบ้านเรือนด้วยเครื่องพ่นไฟ พวกเขาเปิดฉากยิงหรือขว้างระเบิดมือเข้าไปในห้องใต้ดินซึ่งมีชาวบ้าน (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คนชรา และเด็ก) ซ่อนตัวอยู่[39] กองทหารรัสเซียยังจงใจเผาศพจำนวนมากทั้งโดยการโยนศพเข้าไปในบ้านที่กำลังลุกไหม้และการจุดไฟเผาโดยตรง[40]

ระหว่างยุทธการที่เมืองกรอซนืยครั้งที่หนึ่ง การโจมตีทางอากาศและการยิงระเบิดจากปืนใหญ่ของรัสเซียได้รับการอธิบายว่าเป็นปฏิบัติการทิ้งระเบิดที่หนักหน่วงที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่การทิ้งระเบิดที่เดรสเดินในสงครามโลกครั้งที่สอง[41] ดมีตรี วอลโคโกนอฟ นักประวัติศาสตร์และนายพลชาวรัสเซีย กล่าวว่าการโจมตีกรอซนืยของกองทัพรัสเซียได้คร่าชีวิตพลเรือนไปประมาณ 35,000 คน ในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ 5,000 คน[42] พฤติการณ์นี้ส่งผลให้แหล่งข่าวจากโลกตะวันตกและจากเชชเนียบรรยายยุทธวิธีของรัสเซียว่าเป็นการใช้ระเบิดข่มขวัญโดยเจตนา[43] การสังหารนองเลือดในกรอซนืยทำให้ทั้งรัสเซียและโลกภายนอกตกตะลึง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์สงครามอย่างรุนแรง ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศจากองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) บรรยายภาพเหตุการณ์ดังกล่าวว่าไม่ต่างอะไรจาก "หายนะที่ไม่อาจจินตนาการได้" ในขณะที่มีฮาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต เรียกสงครามครั้งนี้ว่าเป็น "เหตุนองเลือดที่น่าอดสู" ส่วนเฮ็ลมูท โคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เรียกสงครามครั้งนี้ว่าเป็น "ความบ้าคลั่งล้วน ๆ"[44]

ในรายงานเดือนมีนาคม ค.ศ. 1996 คณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกล่าวโทษกองทหารรัสเซียว่ายิงสังหารพลเรือนที่จุดตรวจพลเรือนและประหารชีวิตทั้งพลเรือนและเชลยศึกเชเชนอย่างรวบรัด[30] มีสองกรณีที่เกี่ยวข้องกับการที่ทหารรัสเซียยิงสังหารเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่พยายามช่วยชีวิตพลเรือนจากการถูกประหารบนถนนสายหนึ่งในกรอซนืย เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองกำลังกระทรวงมหาดไทยรัสเซียยิงใส่ทหารกลุ่มหนึ่งที่ปฏิเสธที่จะฆ่าประชากรพลเรือน[30]

สงครามเชเชนครั้งที่สอง[แก้]

อาคารที่ได้รับความเสียหายระหว่างสงครามในเมืองกรอซนืย

สงครามเชเชนครั้งที่สองซึ่งเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1999 นั้นมีความโหดร้ายยิ่งกว่าสงครามครั้งก่อน[45][46] นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนรายงานว่ากองทัพรัสเซียก่ออาชญากรรมต่าง ๆ ในเชชเนียอย่างเป็นระบบ ได้แก่ การทำลายเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรด้านความจำเป็นทางทหาร, การยิงและการทิ้งระเบิดใส่ถิ่นฐานที่ไม่มีระบบป้องกันภัย, การประหารชีวิตอย่างรวบรัดนอกกระบวนการยุติธรรมและการฆ่าพลเรือน, การทรมาน การปฏิบัติอย่างทารุณ และการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, การก่ออันตรายทางร่างกายอย่างร้ายแรงโดยเจตนาต่อบุคคลที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสู้รบโดยตรง, การจงใจโจมตีประชากรพลเรือนรวมทั้งยานพาหนะของพลเรือนและทางการแพทย์, การกักขังประชากรพลเรือนอย่างผิดกฎหมาย, การบังคับบุคคลให้สูญหาย, การฉกชิงทรัพย์และการทำลายทรัพย์สินของพลเรือนและสาธารณะ, การกรรโชก, การจับตัวประกันเรียกค่าไถ่ และการค้าศพ[47][48][49] นอกจากนี้ยังมีการข่มขืนกระทำชำเรา[50][51][52] โดยมีผู้เสียหายเป็นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย[53][54][55][56][57][58]

อาชญากรรมบางประการที่รัสเซียก่อขึ้นต่อประชากรพลเรือนในเชชเนีย ได้แก่ การโจมตีพลเรือนในหมู่บ้านเอลิสตันจีด้วยระเบิดลูกปรายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1999 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก;[59][60] การโจมตีเมืองกรอซนืยด้วยขีปนาวุธทิ้งตัวเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม กองทัพอากาศรัสเซียยิงขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง 10 ลูกใส่เมืองโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าและพุ่งเป้าไปที่โรงพยาบาลผดุงครรภ์ ที่ทำการไปรษณีย์ มัสยิด และตลาดที่มีผู้คนพลุกพล่าน[61][62][63] ประมาณกันว่าการโจมตีครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คนในทันที และบาดเจ็บอีกถึง 400 คน; การทิ้งระเบิดใส่ทางหลวงสายบากู–รอสตอฟเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม กองทัพอากาศรัสเซียโจมตีกระหน่ำด้วยจรวดใส่ขบวนรถผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ที่พยายามเดินทางสู่อิงกูเชเตียโดยใช้ "ทางออกที่ปลอดภัย";[64] เหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1999 เมื่อทหารรัสเซียเปิดฉากยิงใส่ขบวนรถผู้ลี้ภัยขบวนหนึ่งที่ติดธงขาว[65]

ระหว่างการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านอัลคัน-ยูร์ต ทหารรัสเซียก่อเหตุไล่ฆ่าชาวบ้านอย่างบ้าคลั่ง รวมทั้งประหารชีวิตอย่างรวบรัด ข่มขืนกระทำชำเรา ทรมาน ฉกชิงทรัพย์ เผาทำลาย และฆ่าใครก็ตามที่ขวางทางพวกเขา การสังหารเกือบทั้งหมดกระทำโดยทหารรัสเซียที่กำลังฉกชิงทรัพย์สิน[66] ความพยายามของพลเรือนที่จะหยุดยั้งความบ้าคลั่งมักต้องพบกับความตาย[67] ทางการรัสเซียไม่มีความพยายามอย่างจริงจังที่จะนำตัวผู้ก่ออาชญากรรมที่อัลคัน-ยูร์ตเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คำให้การของพยานที่น่าเชื่อถือบ่งชี้ว่าผู้นำรัสเซียในพื้นที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแต่เลือกที่จะเพิกเฉยเสีย[66] ผู้นำทหารรัสเซียมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียง "เทพนิยาย" โดยอ้างว่าศพถูกนำไปวางไว้และอ้างว่าเหตุไล่ฆ่าคนที่นั่นเป็นเรื่องที่กุขึ้นเพื่อทำลายชื่อเสียงของกองทัพรัสเซีย[68] วลาดีมีร์ ชามานอฟ นายพลของรัสเซีย ปฏิเสธความคิดที่จะให้ทหารในบังคับบัญชารับผิดชอบต่อการล่วงละเมิดในอัลคัน-ยูร์ตโดยกล่าวกับนักข่าวว่า "อย่าบังอาจแตะต้องทหารกับเจ้าหน้าที่กองทัพรัสเซีย การกระทำของพวกเขาทุกวันนี้เป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์นั่นคือการปกป้องรัสเซีย และอย่าบังอาจทำให้ทหารรัสเซียแปดเปื้อนด้วยมือสกปรก [เจตนาไม่บริสุทธิ์] ของพวกคุณ!"[66]

ศพทหารเชเชน

ในการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านโนวืยเยอัลดืยซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดระหว่างสงคราม กองกำลังรัสเซียดำเนินปฏิบัติการกวาดล้างหมู่บ้านซึ่งประกอบด้วยการฉกชิงทรัพย์ การลอบวางเพลิง การประหารชีวิตอย่างรวบรัด การฆ่า และการข่มขืนกระทำชำเราพลเรือนเชเชน[69][70][71] โดยหนึ่งวันก่อนหน้านั้น ทหารรัสเซียได้โจมตีหมู่บ้านด้วยระเบิดลูกปรายแล้วบอกให้ชาวบ้านออกจากห้องใต้ดินในวันรุ่งขึ้นเพื่อเข้ารับการตรวจเอกสารประจำตัว[72] แต่เมื่อเข้าไปในหมู่บ้าน ทหารรัสเซียกลับยิงชาวบ้านในระยะเผาขนอย่างเลือดเย็นด้วยอาวุธอัตโนมัติ เหยื่อมีตั้งแต่ทารกชายอายุ 1 ปีไปจนถึงหญิงชราอายุ 82 ปี[70] เหยื่อบางรายถูกทหารรัสเซียเรียกเอาเงินหรือเครื่องประดับซึ่งถูกใช้เป็นข้ออ้างในการประหารหากจำนวนที่ได้มาไม่เพียงพอ ทหารรัฐบาลกลางเลาะฟันทองและฉกชิงทรัพย์สินอื่น ๆ จากศพเหยื่อ การสังหารเกิดขึ้นร่วมกับการเผาศพเพื่อทำลายหลักฐานการประหารชีวิตอย่างรวบรัดและการสังหารประเภทอื่น ๆ มีการข่มขืนกระทำชำเราหลายกรณี ในกรณีหนึ่ง ทหารรัสเซียรุมโทรมหญิงหลายรายก่อนจะบีบคอพวกเธอจนเสียชีวิต[70] การปล้นสะดมขนานใหญ่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน โดยทหารรัสเซียบุกปล้นบ้านพลเรือนในเวลากลางวันแสก ๆ ความพยายามใด ๆ ที่จะทำให้ทางการรัสเซียรับผิดชอบต่อเหตุสังหารหมู่ครั้งนี้ถูกปฏิเสธอย่างขุ่นเคือง ฮิวแมนไรตส์วอตช์บรรยายลักษณะการตอบสนองของทางการรัสเซียว่า "เป็นไปตามสูตร" โฆษกคนหนึ่งของกระทรวงกลาโหมรัสเซียประกาศว่า "คำกล่าวยืนยันเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องเสริมแต่งที่ไม่มีข้อเท็จจริงหรือหลักฐานใด ๆ มาสนับสนุน ... [และ] ควรถูกมองว่าเป็นการยั่วยุโดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความเสื่อมเสียแก่ปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้ายในเชชเนียของกองกำลังรัฐบาลกลาง"[72][70] พยานผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งยังกล่าวอีกว่าเจ้าหน้าที่สืบสวนจากหน่วยความมั่นคงกลางของรัสเซียบอกเธอว่าผู้ก่อเหตุสังหารหมู่ครั้งนี้น่าจะเป็นนักรบเชเชน "ที่ปลอมตัวเป็นทหารของรัฐบาลกลาง"[73]

หญิงชาวเชเชนกับเด็กที่ได้รับบาดเจ็บ

ระหว่างการสังหารหมู่ที่เขตสตาโรโปมึสลอฟสกีของเมืองกรอซนืยตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1999 ถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 2000 เป็นที่ปรากฏชัดว่าทหารรัสเซียได้ก่ออาชญากรรมอย่างบ้าคลั่ง โดยต้อนจับพลเรือนและประหารชีวิตพวกเขาอย่างรวบรัด[74][75] อาชญากรรมที่เกิดขึ้นยังรวมถึงการฉกชิงทรัพย์และการลอบวางเพลิงอย่างกว้างขวาง ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อรวมถึงสมาชิกทั้งเก้าของทั้งครอบครัวซูบาเยฟซึ่งมีรายงานว่าถูกยิงเสียชีวิตบนถนนด้วยปืนกลหนัก (น่าจะมาจากยานพาหนะหุ้มเกราะ)[76] ในกรณีหนึ่ง ทหารรัสเซียกราดยิงพลเรือนที่หลบซ่อนอยู่ในห้องใต้ดิน ผู้รอดชีวิตรายหนึ่งเล่าว่า หลังจากที่พลเรือนตะโกนบอกทหารว่า "อย่ายิงพวกเรา พวกเราเป็นชาวบ้าน" ทหารก็สั่งให้พวกเขาออกจากห้องใต้ดินโดยยกมือขึ้น แต่เมื่อออกมาแล้วทหารก็สั่งให้พวกเขากลับลงไปอีก จากนั้นทหารก็ปาระเบิดมือหลายลูกใส่พวกเขา ผู้ที่รอดชีวิตถูกสั่งให้ออกมาจากห้องใต้ดินอีกครั้ง จากนั้นทหารรัสเซียก็ใช้ปืนกลกราดยิงพวกเขาในระยะเผาขน[74][76][75] ผู้มีส่วนร่วมในการก่อเหตุครั้งนี้ไม่ได้รับการลงโทษใด ๆ จากทางการรัสเซีย

การล้อมและการทิ้งระเบิดใส่เมืองกรอซนืยใน ค.ศ. 1999–2000 ทำให้พลเรือนหลายหมื่นคนเสียชีวิต[77] กองทัพรัสเซียยื่นคำขาดระหว่างการปิดล้อมโดยเรียกร้องให้ชาวเชเชนออกจากเมืองไม่เช่นนั้นจะถูกโจมตีอย่างไม่ปรานี[78] มีผู้เสียชีวิตประมาณ 300 คนขณะพยายามหลบหนีในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1999 ร่างของพวกเขาถูกฝังในหลุมศพหมู่แห่งหนึ่งในเวลาต่อมา[79] วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ให้คำมั่นว่ากองทัพจะไม่หยุดทิ้งระเบิดใส่กรอซนืยจนกว่าทหารรัสเซียจะ "ปฏิบัติภารกิจของตนให้เสร็จสิ้น" ใน ค.ศ. 2003 สหประชาชาติขนานนามกรอซนืยว่าเป็นเมืองที่ถูกทำลายมากที่สุดในโลก[80] ระเบิดที่ใช้โจมตีกรอซนืยรวมถึงระเบิดที่ถูกห้ามใช้อย่างระเบิดแรงกดดันพลังความร้อนและระเบิดเชื้อเพลิงทางอากาศซึ่งจุดชนวนอากาศของพลเรือนที่ซ่อนตัวอยู่ในห้องใต้ดิน[81][82] นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้อาวุธเคมีที่ถูกห้ามใช้ตามกฎหมายเจนีวาด้วย[83]

มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศถูกทหารรัสเซียฆ่าระหว่างสงครามในเชชเนียด้วย เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1996 ผู้แทน 6 คนจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศถูกกลุ่มมือปืนสวมหน้ากากยิงสังหารขณะนอนหลับที่โรงพยาบาลสนามของคณะกรรมการฯ ในเมืองโนวืยเย-อะตากีใกล้เมืองกรอซนืย[84] ใน ค.ศ. 2010 พันตรี อะเลคเซย์ โปติออมกิน เจ้าหน้าที่กองกำลังพิเศษของรัสเซีย อ้างว่าผู้ก่อเหตุฆาตกรรมดังกล่าวคือเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงกลาง[85] รายงานฉบับหนึ่งใน ค.ศ. 2004 ระบุว่าทหารรัสเซียใช้การข่มขืนกระทำชำเราเป็นเครื่องมือในการทรมานชาวเชเชน[86] หมู่บ้าน 380 แห่งจากทั้งหมด 428 แห่งในเชชเนียถูกโจมตีด้วยระเบิดระหว่างการสู้รบ ส่งผลให้ครัวเรือนร้อยละ 70 ถูกทำลาย[87]

ยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด[แก้]

ทหารรัสเซียยืนอยู่บนหลุมศพชาวเชเชนที่ถูกสังหารหมู่ในหมู่บ้านคอมโซมอลสโกเยระหว่างสงครามเชเชนครั้งที่สอง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเมินว่าพลเรือน 20,000–30,000 คนถูกฆ่าไปแล้วเฉพาะในสงครามเชเชนครั้งที่หนึ่งเพียงสงครามเดียว โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมายของกองกำลังรัสเซียในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น[88] และประเมินว่าพลเรือนอีก 25,000 คนเสียชีวิตในสงครามเชเชนครั้งที่สอง[89] แหล่งข้อมูลอีกแหล่งหนึ่งสันนิษฐานว่ามีพลเรือน 40,000–45,000 คนเสียชีวิตในความขัดแย้งครั้งที่สอง[90] ในขณะเดียวกัน ใน ค.ศ. 1996 อะเลคซันดร์ เลเบด เลขาธิการสภาความมั่นคงรัสเซียในขณะนั้น กล่าวว่ามีผู้เสียชีวิต 80,000 คนในสงครามครั้งแรก[91] เมื่อรวมกับกองกำลังทหารแล้ว นักประวัติศาสตร์ประเมินว่าประชากรเชเชนมากถึงหนึ่งในสิบเสียชีวิตในสงครามครั้งแรก[92] (กล่าวคือ 100,000 คนจาก 1,000,000 คน)[93] การประมาณการอย่างรัดกุมสันนิษฐานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100,000–150,000 คนระหว่างความขัดแย้งทั้งสองครั้ง[94] ในขณะที่การประมาณการโดยเจ้าหน้าที่เชเชนและชาวเชเชนสันนิษฐานว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 200,000–300,000 คนในสงครามทั้งสองครั้ง[95][96]

นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง มีหลุมศพหมู่ในเชชเนียที่ได้รับการบันทึกไว้ถึง 57 แห่ง[97]

นอกจากนี้ ฮิวแมนไรตส์วอตช์ยังได้บันทึกกรณีบังคับบุคคลให้สูญหายในเชชเนียระหว่าง ค.ศ. 1999–2005 ไว้ถึง 3,000–5,000 กรณี และจัดว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

สมาคมเพื่อผู้คนที่ถูกคุกคามซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐที่ตั้งอยู่ในเยอรมนีกล่าวโทษทางการรัสเซียว่าได้ดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรายงานว่าด้วยเชชเนียของสมาคมฯ เมื่อ ค.ศ. 2005[98]

จอร์เจีย[แก้]

จรวดขับเคลื่อนขีปนาวุธรัสเซียที่ตกใส่ห้องนอนบ้านหลังหนึ่งในเมืองกอรี เป็นตัวอย่างหนึ่งของการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมายในพื้นที่พลเรือน

ภายหลังการยกระดับความรุนแรงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 2008 ระหว่างจอร์เจียกับเซาท์ออสซีเชียซึ่งประกาศแยกตัวเป็นอิสระ กองกำลังรัสเซียได้บุกข้ามพรมแดนระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม และโจมตีทหารจอร์เจียเพื่อสนับสนุนเซาท์ออสซีเชีย[99][100][101] ทหารรัสเซียยังบุกข้ามพรมแดนมายังอับคาเซียซึ่งเป็นอีกภูมิภาคที่ประกาศแยกตัวจากจอร์เจียและบุกยึดครองเมืองต่าง ๆ ของจอร์เจียนอกเขตพิพาทได้จำนวนหนึ่ง สงครามสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ด้วยข้อตกลงหยุดยิงที่มีนักการทูตระหว่างประเทศเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย รัสเซียถอนทหารออกจากจอร์เจียนอกเขตพิพาทและดำเนินการรับรองเซาท์ออสซีเชียและอับคาเซียเป็นประเทศเอกราช แต่นักวิชาการบางคนอธิบายว่าแท้จริงแล้วทั้งสองภูมิภาคได้กลายเป็นดินแดนในอารักขาของรัสเซียเท่านั้น[102]

ฮิวแมนไรตส์วอตช์รายงานว่าไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่ากองทัพจอร์เจียจงใจโจมตีผู้ไม่มีหน้าที่ทำการรบในความขัดแย้งครั้งนี้[103]

เครื่องบินรบของรัสเซียทิ้งระเบิดใส่ศูนย์กลางประชากรทั้งในจอร์เจียนอกเขตพิพาทและในหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์จอร์เจียที่เซาท์ออสซีเชีย[5] กองกำลังติดอาวุธออสซีเชียมีส่วนร่วมในการปล้นทรัพย์ การลอบวางเพลิง และการลักพาตัวพลเรือนชาติพันธุ์จอร์เจียในพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้พลเรือนชาติพันธุ์จอร์เจียต้องหนีออกจากบ้านเรือนของพวกเขา[5] แต่รัสเซียก็ยังโจมตีขบวนรถพลเรือนที่พยายามหลบหนีจากพื้นที่สู้รบในเซาท์ออสซีเชียและเขตเทศบาลกอรีของจอร์เจีย[5]

การใช้ระเบิดลูกปรายของทหารรัสเซียทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต[104] แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวโทษรัสเซียว่าจงใจทิ้งระเบิดและโจมตีพื้นที่พลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานพลเรือนซึ่งถือเป็นอาชญากรรมสงคราม[6] แต่รัสเซียปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้ระเบิดลูกปราย[105] พลเรือนชาวจอร์เจีย 228 คนเสียชีวิตในความขัดแย้งครั้งนี้[101]

นอกจากนี้ กองทัพรัสเซียยังไม่ดำเนินมาตรการใด ๆ เพื่อยับยั้งการล้างชาติพันธุ์จอร์เจียในเซาท์ออสซีเชียส่วนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของตน[106][107]

ยูเครน[แก้]

ค.ศ. 2014–2021[แก้]

อาคารที่ได้รับความเสียหายในเมืองลือซือชันสก์ ค.ศ. 2014
อาคารที่ได้รับความเสียหายในเมืองกูราคอแว วันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 2014
ผนังไว้อาลัยทหารและตำรวจยูเครนที่เสียชีวิตระหว่างเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ค.ศ. 2014 "เพื่อปกป้องเอกภาพยูเครน" ในกรุงเคียฟ

หลังการปฏิวัติยูเครนใน ค.ศ. 2014 วิกตอร์ ยานูกอวึช ประธานาธิบดียูเครนที่นิยมรัสเซีย ถูกขับออกจากตำแหน่งและหลบหนีไปยังรัสเซีย และรัฐบาลยูเครนชุดใหม่แสดงจุดยืนสนับสนุนการรวมกลุ่มสหภาพยุโรป รัสเซียตอบโต้ด้วยการผนวกไครเมียซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อมติที่ 68/262[108] ส่วนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่นิยมรัสเซียก็ประกาศจัดตั้งหน่วยการเมืองคล้ายรัฐโนโวรอสซียาซึ่งไม่มีชาติใดรับรองโดยมีเจตนาแยกตัวออกจากยูเครน จุดประกายการก่อการกำเริบซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่สงครามในภูมิภาคดอนบัสทางตะวันออกของยูเครน รัสเซียปฏิเสธว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามในดอนบัส แต่หลักฐานหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่ารัสเซียคอยหนุนหลังกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่นิยมรัสเซีย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวโทษรัสเซียว่า "สุมไฟให้เกิดอาชญากรรมโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดน" และเรียกร้องให้ "ทุกฝ่ายรวมทั้งรัสเซียหยุดการละเมิดกฎแห่งสงคราม"[8]

ฮิวแมนไรตส์วอตช์ระบุว่ากลุ่มผู้ก่อการกำเริบที่นิยมรัสเซีย "ล้มเหลวในการใช้มาตรการป้องกันที่เป็นไปได้ทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงการวางกำลังในพื้นที่พลเรือน" และในกรณีหนึ่ง "พวกเขายังเคลื่อนกำลังเข้าไปใกล้พื้นที่ที่มีประชากรมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการยิงของกองกำลังรัฐบาล"[109] ฮิวแมนไรตส์วอตช์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเลิกใช้ระบบยิงจรวดกราดซึ่ง "ขึ้นชื่อเรื่องความไม่แม่นยำ"[109]

รายงานอีกฉบับหนึ่งของฮิวแมนไรตส์วอตช์กล่าวว่ากลุ่มผู้ก่อการกำเริบ "มีพฤติการณ์บ้าคลั่ง ... จับตัว ทุบตี และทรมานตัวประกัน รวมทั้งข่มขู่และทุบตีผู้นิยมยูเครนอย่างไม่ยั้งมือ"[110] รายงานฉบับเดียวกันยังกล่าวด้วยว่ากลุ่มผู้ก่อการกำเริบได้ทำลายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ข่มขู่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และยึดครองโรงพยาบาล สมาชิกคนหนึ่งของฮิวแมนไรตส์วอตช์ร่วมเป็นสักขีพยานในการขุดศพขึ้นจาก "หลุมศพหมู่" แห่งหนึ่งในเมืองสลอวิยันสก์ซึ่งได้รับการเปิดเผยหลังจากที่ผู้ก่อการกำเริบถอยออกจากเมือง[110]

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 2014 ซึ่งเป็นวันเอกราชยูเครน กลุ่มผู้ก่อการกำเริบที่มีปืนเล็กยาวติดดาบปลายปืนบังคับให้เชลยศึกยูเครนหลายสิบคนเดินขบวนไปตามถนนสายต่าง ๆ ในเมืองดอแนตสก์[111][112] เชลยศึกถูกมัดมือไพล่หลัง เนื้อตัวมีรอยฟกช้ำ ตลอดการเดินขบวนมีการเล่นเพลงชาตินิยมรัสเซียจากลำโพงขยายเสียงและมีคนในฝูงชนตะโกนเย้ยหยันเชลยศึกด้วยคำเสื่อมเสียอย่าง "ไอ้พวกฟาสซิสต์" หลังขบวนเชลยศึกมีรถทำความสะอาดถนนขับตามเพื่อ "ชำระล้าง" พื้นถนนที่พวกเขาเพิ่งเดินเหยียบไป[111] ฮิวแมนไรตส์วอตช์กล่าวว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดมาตรา 3 ร่วมของอนุสัญญาเจนีวาอย่างชัดเจน มาตราดังกล่าวห้าม "การประทุษร้ายต่อศักดิ์ศรีของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้อับอายหรือการปฏิบัติที่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ฮิวแมนไรตส์วอตช์ยังกล่าวด้วยการเดินขบวนดังกล่าว "อาจถือเป็นอาชญากรรมสงคราม" ด้วย[111]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2014 หน่วยความมั่นคงยูเครน (แอสแบอู) เผยแพร่แผนที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนก่อขึ้นซึ่งเรียกว่า "แผนที่แห่งความตาย"[113][114][115] กรณีการละเมิดที่มีรายงานไว้ในแผนที่ดังกล่าวรวมถึงค่ายกักกันและหลุมศพหมู่ ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม แอสแบอูเปิดคดีว่าด้วย "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ที่เกิดจากกองกำลังของผู้ก่อการกำเริบ[116]

รายงานฉบับหนึ่งที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ค.ศ. 2014 ได้บันทึกกรณีการประหารชีวิตอย่างรวบรัดโดยกองกำลังนิยมรัสเซีย[117] รายงานฉบับหนึ่งของฮิวแมนไรตส์วอตช์ได้บันทึกการใช้ระเบิดลูกปรายโดยกองกำลังต่อต้านรัฐบาลยูเครน[118]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2014 อะเลคเซย์ มอซโกวอย ผู้บัญชาการกองพลน้อยปริซรัคของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ได้จัดตั้ง "ศาลประชาชน" ขึ้นในเมืองอัลแชวสก์ซึ่งตัดสินประหารชีวิตชายคนหนึ่งที่ถูกกล่าวโทษว่าข่มขืนกระทำชำเราโดยให้ฝูงชนยกมือออกเสียง[119]

ในงานแถลงข่าวที่กรุงเคียฟเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 2015 อิวัน ชิมอนอวิช ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน ระบุว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นระหว่างความขัดแย้งครั้งนี้ส่วนใหญ่ก่อขึ้นโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดน[120]

เมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 2015 หนังสือพิมพ์ คีฟโพสต์ ได้เผยแพร่คลิปเสียงการสนทนาทางโทรศัพท์กับชายคนหนึ่งซึ่งทางหนังสือพิมพ์ระบุว่าเป็นอาร์เซน ปัฟลอฟ ผู้บัญชาการกองพันสปาร์ตาของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ชายในคลิปกล่าวว่าตนได้ฆ่าเชลยศึกยูเครนไป 15 คน และไม่สนใจว่าตนจะถูกกล่าวโทษว่าอย่างไร[121] ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานว่าพบ "หลักฐานใหม่" ของการฆ่าทหารยูเครนอย่างรวบรัด โดยจากการตรวจสอบคลิปวิดีโอและภาพถ่ายพบว่าทหารยูเครนอย่างน้อย 4 นายถูกกลุ่มติดอาวุธที่นิยมรัสเซียยิง "ในลักษณะประหารชีวิต"[122] เดนิส ครีโวเชเยฟ รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำยุโรปและเอเชียกลาง กล่าวว่า "หลักฐานใหม่ของการฆ่าอย่างรวบรัดเหล่านี้ได้ยืนยันสิ่งที่เราสงสัยมานาน"[122] แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังกล่าวถึงคลิปเสียงที่ คีฟโพสต์ นำมาเผยแพร่ว่าเป็น "คำสารภาพที่น่าขนลุก" และเน้นย้ำถึง "ความจำเป็นเร่งด่วนของการสอบสวนโดยอิสระเกี่ยวกับกรณีนี้และข้อกล่าวโทษว่ามีการละเมิดอื่น ๆ ทั้งหมด"[122] การกระทำต่าง ๆ ของรัสเซียในยูเครนได้รับการบรรยายว่าเป็นอาชญากรรมต่อสันติภาพและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (เช่น การยิงเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 17)[123]

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 2018 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรองข้อมติที่ 73/194 โดยส่วนใหญ่เห็นพ้องและระบุว่าไครเมียอยู่ภายใต้ "การยึดครองชั่วคราว"[124] ระหว่างการปราศรัยที่สหประชาชาติในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2019 แปตรอ ปอรอแชนกอ ประธานาธิบดียูเครน ระบุว่าดินแดนยูเครนร้อยละ 7 กำลังถูกยึดครองชั่วคราว[125]

สหประชาชาติบันทึกว่าเมื่อถึง ค.ศ. 2018 สงครามในดอนบัสได้คร่าชีวิตพลเรือนไปแล้วกว่า 3,000 คน[126]

ค.ศ. 2022–ปัจจุบัน[แก้]

พลเรือนที่ถูกสังหารในการสังหารหมู่ที่เมืองบูชา เดือนมีนาคม ค.ศ. 2022

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 กองกำลังรัสเซียบุกโจมตียูเครนจากทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ การกระทำดังกล่าวถูกตีความว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของอุดมการณ์เรียกร้องดินแดนของชนชาติรัสเซีย[127][128] ฮิวแมนไรตส์วอตช์และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวโทษรัสเซียว่าใช้ระเบิดลูกปรายซึ่งไม่แม่นยำต่อเป้าหมายในพื้นที่พลเรือนรวมถึงพื้นที่ใกล้กับโรงพยาบาลและโรงเรียน ซึ่งถือเป็นการโจมตีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยอาวุธที่ฆ่าและทำให้ทุพพลภาพโดยไม่เลือกเป้าหมาย[129][130] ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประณามการกระทำทางทหารของรัสเซียว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ[131] แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่าเป็นการกระทำอันรุกรานซึ่งถือเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ[9] มีการบันทึกอาชญากรรมสงครามจำนวนมากซึ่งรวมถึงการฆ่าคน การทรมาน การลักพาตัว การเนรเทศ การฉกชิงทรัพย์ การข่มขืนกระทำชำเราหญิงชาวยูเครน การก่อการร้าย การโจมตีพลเรือน การโจมตีทางอากาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือการโจมตีวัตถุพลเรือน การทำลายล้างโดยขาดความยับยั้งชั่งใจ การกักขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง และการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมต่อเชลยศึก[132]

หนึ่งในเป้าหมายของการโจมตีทางอากาศของรัสเซียคือกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรประมาณ 3 ล้านคน[133] โรงเรียนอนุบาลและสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าก็ถูกยิงใส่เช่นกัน[134] กองกำลังรัสเซียถูกกล่าวโทษว่าดำเนินการรณรงค์ขู่ขวัญชาวยูเครน[135] เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 2022 มีรายงานว่ากองกำลังรัสเซียได้ปล้นสะดมทั่วเมืองแคร์ซอน[136] ระหว่างการปิดล้อมเมืองมารีอูปอล เมืองถูกทำลายจากกระสุนปืนใหญ่และถูกตัดขาดจากไฟฟ้า อาหาร และน้ำ มีรายงานว่าเด็กหญิงอายุ 6 ปีคนหนึ่งเสียชีวิตจากภาวะขาดน้ำใต้ซากปรักหักพังของบ้านเธอเองในมารีอูปอลเมื่อวันที่ 8 มีนาคม[137] ระหว่างการโจมตีเมืองอีร์ปิญ กองกำลังรัสเซียระดมยิงใส่กลุ่มผู้ลี้ภัยที่วิ่งออกจากใต้สะพานข้ามแม่น้ำเพื่อหนีเข้ากรุงเคียฟโดยไม่เลือกหน้า ผู้ลี้ภัยกลุ่มหนึ่งที่ประกอบด้วยสามแม่ลูกและเพื่อนของครอบครัวถูกกระสุนปืนครกรัสเซียสังหารกลางทาง[138][139]

ระหว่างยุทธการที่เมืองคาร์กิว เมืองถูกทำลายจากการยิงปืนใหญ่ของรัสเซีย รวมถึงโรงเรียนประจำสอนคนตาบอดแห่งหนึ่งด้วย จากจำนวนประชากร 1.8 ล้านคน เหลือเพียง 500,000 คนเท่านั้นที่ยังคงอยู่ในเมืองเมื่อถึงวันที่ 7 มีนาคม[140] เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 การโจมตีด้วยระเบิดลูกปรายของรัสเซียได้คร่าชีวิตพลเรือน 9 คนและทำให้มีพลเรือนบาดเจ็บอีก 37 คนในคาร์กิว[141][142] เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พลเรือน 47 คนถูกสังหารในเมืองแชร์นีฮิว ส่วนใหญ่ในจำนวนนี้กำลังยืนต่อแถวหน้าร้านขายอาหารเพื่อรอซื้อขนมปัง เมื่อรัสเซียโจมตีทางอากาศด้วยระเบิดไม่นำวิถี 8 ลูกใส่พวกเขา[143] ระหว่างการโจมตีทางอากาศใส่โรงพยาบาลในเมืองมารีอูปอล มีผู้เสียชีวิต 4 คนซึ่งมีเด็กหญิง 1 คนรวมอยู่ด้วย[144] ในขณะที่การโจมตีทางอากาศใส่โรงละครซึ่งใช้เป็นที่หลบภัยในเมืองเดียวกันส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน[145] หลังจากที่กองทัพรัสเซียถอนกำลังออกจากทางหลวงสาย E-40 รอบนอกกรุงเคียฟ บีบีซีนิวส์พบศพ 13 ศพอยู่บนช่วงหนึ่งของทางหลวง มีเพียง 2 ศพเท่านั้นที่สวมเครื่องแบบทหารยูเครน มีหลักฐานบ่งชี้ว่าทหารรัสเซียได้ฆ่าพลเรือนที่พยายามหลบหนีเหล่านี้[146]

เมื่อรัสเซียถอยทัพออกจากเมืองบูชาหลังจากที่ยึดครองไว้ตลอดหนึ่งเดือน ในช่วงวันที่ 1–3 เมษายน ก็ปรากฏภาพถ่ายและวิดีโอเผยให้เห็นศพชาวเมืองที่ถูกสังหารหลายร้อยศพกระจัดกระจายตามท้องถนนหรือในหลุมศพหมู่ เหตุการณ์นี้ได้รับการรายงานในสื่อต่าง ๆ ในชื่อการสังหารหมู่ที่เมืองบูชา และกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาจากนานาชาติอย่างกว้างขวาง[147]

ร่างของลีซา ดมือตรีแยวา เด็กหญิงอายุ 4 ปี (ซ้าย) และส่วนขาที่ขาดกระเด็นของผู้ใหญ่ (ขวา) หลังจากที่รัสเซียยิงขีปนาวุธโจมตีเมืองวินนึตเซียในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2022 ลีซากลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความโหดร้ายของรัสเซียในยูเครน[148]

พลเรือนหลายพันคนถูกสังหารจากการโจมตีพื้นที่พลเรือนด้วยกระสุนปืนใหญ่และขีปนาวุธโดยไม่เลือกเป้าหมายของรัสเซีย เช่นที่นิคมบอรอเดียนกา[149] เมืองกรามาตอสก์[150] เมืองวินนึตเซีย[151] เมืองชาซิวยาร์[152] นิคมแซร์ฮียิวกา[153] เป็นต้น เจ้าหน้าที่ยูเครนคนหนึ่งกล่าวว่ารัสเซียใช้เตาเผาศพเคลื่อนที่ในการกำจัดศพในเมืองมารีอูปอลเพื่อปกปิดหลักฐานอาชญากรรมสงครามและจำนวนผู้เสียชีวิต[154] เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2022 การทิ้งระเบิดใส่โรงเรียนในนิคมบีลอฮอริวกาได้คร่าชีวิตผู้คนหลายสิบคนที่กำลังหลบภัยอยู่ในห้องใต้ดิน[155] เมืองออแดซาถูกทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน[156] เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2022 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานที่ว่ามีเด็กชาวยูเครนถูกบังคับให้ย้ายถิ่นไปยังรัสเซียที่ซึ่งพวกเขาถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวบุญธรรมอย่างรีบเร่ง สำนักงานฯ ระบุว่าพฤติการณ์เหล่านี้ "ดูจะไม่เป็นไปตามขั้นตอนการรวมญาติหรือไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก" ยูนิเซฟประกาศในทำนองเดียวกันว่า "การรับบุตรบุญธรรมไม่ควรเกิดขึ้นระหว่างหรือหลังเกิดเหตุฉุกเฉินทันที"[157]

ตลอดช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ประชาชนยูเครนต้องทนทุกข์กับความสยดสยองที่ไม่อาจจินตนาการได้ระหว่างสงครามการรุกรานครั้งนี้ ขอให้เข้าใจให้ชัดเจน: มือของวลาดีมีร์ ปูติน และกองทัพของเขาเปื้อนไปด้วยเลือด

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023[158]

รัสเซียได้ตั้งค่ายคัดกรองขึ้นเพื่อกักขังหน่วงเหนี่ยว สอบปากคำ และทรมานชาวยูเครนที่ต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลยูเครน[159] เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2022 องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งที่พบว่ารัสเซียมีความผิดฐานฆ่า ข่มขืนกระทำชำเรา ลักพาตัว และเนรเทศพลเรือนยูเครน รวมทั้งส่งเด็ก 2,000 คนจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าและสถาบันต่าง ๆ ไปยังรัสเซียทั้งที่เด็กหลายคนก็มีญาติอยู่ในยูเครน การกระทำเหล่านี้จัดว่าเป็นการโจมตีประชากรพลเรือนอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ และจัดเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ[160]

วิดีโอการตัดศีรษะเชลยศึกชาวยูเครนคนหนึ่งในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 2022[161] และวิดีโอการตอนอวัยวะเพศเชลยศึกชาวยูเครนอีกคนหนึ่งในเมืองปรือวิลเลีย[162] ถูกประชาคมระหว่างประเทศประณามอย่างกว้างขวาง นักวิชาการหลายคนประกาศว่ารัสเซียกำลังดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยูเครน[163] คำกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนจากรายงานร่วมระหว่างสถาบันเพื่อยุทธศาสตร์และนโยบายนิวไลนส์กับศูนย์สิทธิมนุษยชนรออุล วัลเลินแบร์ย ซึ่งสรุปว่ารัสเซียได้ละเมิดมาตรา 2 มาตราของอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ค.ศ. 1948[164]

การขุดศพขึ้นจากหลุมศพหมู่ที่เมืองอีซุม เดือนกันยายน ค.ศ. 2022

เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2022 ทางการยูเครนพบหลุมศพหมู่ที่มีศพ 440 ศพในเมืองอีซุมหลังจากที่กองทัพรัสเซียถอนกำลังออกจากพื้นที่[165] เหตุการณ์นี้ได้รับการบรรยายว่าเป็นการสังหารหมู่ที่เมืองอีซุม ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 กองกำลังรัสเซียใช้ขีปนาวุธและโดรนโจมตีโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าของยูเครนอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้พลเรือนหลายล้านคนขาดระบบทำความร้อน ไฟฟ้า น้ำ หรือสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ๆ ในฤดูหนาว การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของพลเรือนเหล่านี้ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและถือเป็นอาชญากรรมสงคราม[166][167] การจ่ายไฟและน้ำประปาให้แก่บ้านเรือนชาวยูเครน 10,700,000 หลังต้องหยุดชะงัก ณ ช่วงเวลาหนึ่งในฤดูหนาว[10] เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2023 รัสเซียยิงขีปนาวุธใส่อาคารพักอาศัยสูง 9 ชั้นในเมืองดนีปรอ คร่าชีวิตพลเรือนไปกว่า 40 คน และทำให้ผู้คนมากกว่า 1,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย[168] เมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 2023 ขีปนาวุธเอส-300 ของรัสเซียโจมตีอาคารอยู่อาศัยในเมืองสลอวิยันสก์ในวันศุกร์อีสเตอร์ ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิต 15 คน[169] เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 2023 รัสเซียโจมตีสถานีรถไฟและซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองแคร์ซอนในช่วงเวลาเร่งด่วนที่สุดของวัน คร่าชีวิตพลเรือนไปกว่า 20 คน[170]

กองทัพรัสเซียยังก่อเหตุทำลายเมืองต่าง ๆ ของยูเครนและทำลายวัฒนธรรมอย่างขาดความยับยั้ง เช่น ยึดและเผาหนังสือและจดหมายเหตุของยูเครน สร้างความเสียหายแก่แหล่งมรดกของยูเครนกว่า 240 แห่ง[171] มีการบรรยายพฤติการณ์ดังกล่าวว่าเป็น "นครฆาต"[172] ร้อยละ 90 ของเมืองมารีอูปอลถูกทำลายจากการปิดล้อมของรัสเซียใน ค.ศ. 2022[173] เมืองมาริยินกาและเมืองปอปัสนาถูกทำลายโดยสิ้นเชิงในทำนองเดียวกันและถูกบรรยายว่าเป็น "แดนรกร้างหลังหายนะ" และ "เมืองร้าง"[174][175] สหประชาชาติระบุว่าการทิ้งระเบิดใส่แหล่งมรดกโลกยูเนสโกในเมืองออแดซาโดยรัสเซียอาจเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม[176] การทำลายเขื่อนกาคอว์กาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2023 ก่อให้เกิดน้ำท่วมและหายนะต่อสิ่งแวดล้อม บางคนกล่าวโทษรัสเซียว่าได้กระทำ "นิเวศฆาต"[177][178]

พลเรือนที่ถูกสังหารและรถยนต์ที่ลุกไหม้จากการโจมตีกรุงเคียฟด้วยขีปนาวุธ เดือนตุลาคม ค.ศ. 2022

ผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติประจำยูเครนประณามการโจมตีด้วยระเบิดของรัสเซียหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงในเมืองกรามาตอสก์[179] และเมืองแชร์นีฮิว[180] ใน ค.ศ. 2023 ฮิวแมนไรตส์วอตช์ประณามการโจมตีเมืองลือมันด้วยระเบิดลูกปรายว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม[181]

เมื่อถึงวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2022 สหประชาชาติรายงานว่ามีผู้ลี้ภัย 4 ล้านคนหนีออกจากยูเครน โรงพยาบาล 50 แห่งในประเทศตกเป็นเป้าการโจมตี และรัสเซียใช้ระเบิดลูกปราย (ซึ่งถูกห้ามใช้) อย่างน้อยใน 24 กรณี[182] การโจมตียูเครนโดยรัสเซียส่งผลให้ผู้คน 14 ล้านคนต้องหนีออกจากบ้านเรือน โดย 7.8 ล้านคนในจำนวนนี้หนีออกนอกประเทศ[183] ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 21[184] เมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 2022 สหประชาชาติบันทึกว่ามีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 2,343 คน โดยร้อยละ 92.3 ในจำนวนนี้เป็นผลจากการกระทำของกองทัพรัสเซีย[185] เมื่อถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 ซึ่งครบรอบหนึ่งปีของการรุกรานยูเครน สหประชาชาติบันทึกว่ามีพลเรือนเสียชีวิต 8,006 คน รวมถึงเด็ก 487 คน[186] เมื่อถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 2023 จำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตที่สหประชาชาติบันทึกไว้มีมากกว่า 9,500 คน[187] ในขณะที่แหล่งข้อมูลในยูเครนรายงานว่ามีพลเรือนเสียชีวิต 16,500 คน[188] สถาบันวิจัยสันติภาพออสโลประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 81,000 คนใน ค.ศ. 2022[189]

ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2033 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประเมินว่าการเสียชีวิตของพลเรือนร้อยละ 90.5 เป็นผลมาจากอาวุธระเบิดที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และร้อยละ 84.2 เกิดขึ้นในดินแดนที่ยูเครนควบคุม[190]

ณ วันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 2023 มีการย้ายเด็กจากพื้นที่ความขัดแย้งในยูเครนไปยังดินแดนรัสเซียแล้วประมาณ 700,000 คน ตามคำกล่าวของสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งของรัสเซีย ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการบังคับให้พลัดถิ่นและการเนรเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย[191]

ซีเรีย[แก้]

อากาศยานรัสเซียทิ้งระเบิดเพลิงทางตอนเหนือของเมืองอะเลปโปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2016

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 2015 กองทัพรัสเซียเข้าแทรกแซงโดยตรงในสงครามกลางเมืองซีเรียเพื่อหนุนหลังรัฐบาลบัชชาร อัลอะซัด ซึ่งสนับสนุนรัสเซีย ตามข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 เครื่องบินรบของรัสเซียดำเนินปฏิบัติการทิ้งระเบิดโดยมุ่งเป้าไปที่พลเรือนและเจ้าหน้าที่กู้ชีพฉุกเฉิน[192] กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้บันทึกเหตุโจมตีโรงเรียน โรงพยาบาล และบ้านเรือนของพลเรือน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังกล่าวด้วยว่า "รัสเซียกระทำความผิดในคดีอาชญากรรมสงครามที่ร้ายแรงที่สุดบางคดี" เท่าที่องค์การพบเห็นมาในรอบหลายทศวรรษ ทิรานา ฮัสซาน ผู้อำนวยการโครงการตอบโต้วิกฤตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าหลังจากทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายพลเรือนแล้ว เครื่องบินรบของรัสเซียจะ "บินวน" กลับมาโจมตีครั้งที่สองโดยพุ่งเป้าไปที่ผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมและพลเรือนที่กำลังพยายามช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บจากการถูกโจมตีครั้งแรก[192]

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 ฮิวแมนไรตส์วอตช์รายงานว่าซีเรียและรัสเซียใช้ระเบิดลูกปรายอย่างกว้างขวาง ถือเป็นการละเมิดข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2139 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 ซึ่งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติ "การใช้อาวุธแบบไม่เลือกเป้าหมายในพื้นที่ที่มีประชากร" ฮิวแมนไรตส์วอตช์กล่าวว่า "กองกำลังรัสเซียหรือซีเรียต้องรับผิดชอบต่อการโจมตีในลักษณะดังกล่าว" และกล่าวว่าระเบิดลูกปรายเหล่านั้น "ผลิตขึ้นในอดีตสหภาพโซเวียตหรือรัสเซีย" โดยที่บางส่วนในจำนวนนั้นเป็นชนิดที่ "ไม่มีการบันทึกว่าเคยใช้ในซีเรีย" มาก่อนที่รัสเซียจะเข้ามามีส่วนร่วมในสงคราม ฮิวแมนไรตส์วอตช์จึงสันนิษฐานว่า "อากาศยานรัสเซียเป็นผู้ทิ้งระเบิดเหล่านั้น หรือไม่ทางการรัสเซียก็เพิ่งจัดหาระเบิดลูกปรายเพิ่มเติมให้แก่รัฐบาลซีเรีย หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง"[12] ฮิวแมนไรตส์วอตช์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าแม้ทั้งรัสเซียและซีเรียจะไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปราย แต่การใช้อาวุธดังกล่าวขัดแย้งกับแถลงการณ์ของรัฐบาลซีเรียที่ระบุว่าพวกเขาจะงดเว้นจากการใช้อาวุธเหล่านั้น[12] การโจมตีพลเรือนแบบไม่เลือกเป้าหมายของรัสเซียโดยใช้ระเบิดลูกปรายหรือระเบิดเพลิงมักถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างยุทธการที่เมืองอะเลปโป[13][14] และการล้อมย่านฆูเฏาะฮ์ตะวันออก[193] มีการเปรียบเทียบให้เห็นความคล้ายคลึงกันหลายประการระหว่างการทำลายล้างเมืองอะเลปโปใน ค.ศ. 2016 กับการทำลายล้างเมืองกรอซนืยใน ค.ศ. 2000[81] ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนอธิบายว่าเป็นตัวบ่งชี้ถึงนโยบาย "ไม่จับเชลย"[82] ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ค.ศ. 2019 การทิ้งระเบิดอย่างหนักของรัสเซียได้ค่ราชีวิตพลเรือนไป 544 คนระหว่างการโจมตีเมืองอิดลิบ[194] เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 การทิ้งระเบิดใส่ตลาดในเมืองมะอัรเราะตุนนัวะอ์มานได้คร่าชีวิตพลเรือนไป 43 คน[195] และเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 2019 เครื่องบินรบรัสเซียยังทิ้งระเบิดใส่ค่ายผู้ลี้ภัยใกล้กับเมืองฮาสส์ ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต 20 คน[196][197]

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 2018 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งที่ยืนยันว่าผู้ก่อเหตุทิ้งระเบิดใส่ตลาดในเมืองอะตาริบคือกองทัพรัสเซีย อากาศยานปีกติดลำตัวของรัสเซียที่ใช้อาวุธไม่นำวิถี (ซึ่งรวมถึงอาวุธระเบิด) ถูกนำมาใช้โจมตีตลาดแห่งนั้น รายงานฉบับดังกล่าวสรุปว่าการใช้อาวุธหนักเช่นนั้นในพื้นที่ที่มีพลเรือนจำนวนมากอาจเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม[198][199] เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเผยแพร่รายงานว่าด้วยยุทธการที่เมืองอะเลปโป โดยยืนยันว่ารัสเซียใช้ระเบิดลูกปรายและอาวุธเพลิงและสรุปว่าการใช้อาวุธดังกล่าวในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นทางตะวันออกของอะเลปโป "ถือเป็นการใช้อาวุธแบบไม่เลือกเป้าหมายโดยธรรมชาติ ก่อให้เกิดอาชญากรรมสงครามจากการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมายในพื้นที่ที่มีพลเรือนอาศัยอยู่"[16]

องค์การสังเกตการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนซีเรียอ้างว่าการโจมตีทางอากาศและการโจมตีด้วยปืนใหญ่ของรัสเซียได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 18,000 คน ซึ่งรวมถึงพลเรือนเกือบ 8,000 คนในซีเรียเมื่อถึงวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2018[200]

ลิเบีย[แก้]

ตามรายงานของบีบีซีนิวส์ กลุ่มกำลังรบกึ่งทหารวากเนอร์ของรัสเซียตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าฆ่าพลเรือน 3 คนอย่างรวบรัดเมื่อวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 2019 ในหมู่บ้านอัสบีอะฮ์ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงตริโปลี (เมืองหลวงของลิเบีย) ไปทางทิศใต้ 45 กิโลเมตร[201] นอกจากนี้ยังมีหลักฐานบ่งชี้ว่าพลเรือนประมาณ 10 คนอาจถูกสมาชิกกลุ่มวากเนอร์ฆ่าระหว่างยุทธการที่ตริโปลีในสงครามกลางเมืองลิเบียครั้งที่ 2 ด้วย[201]

สาธารณรัฐแอฟริกากลาง[แก้]

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 2021 ผู้เชี่ยวชาญของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเตือนว่ากลุ่มวากเนอร์ "ก่อกวนและข่มขู่โดยใช้ความรุนแรงกับพลเรือนซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ นักข่าว เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือ และชนกลุ่มน้อยในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง" คณะมนตรีฯ เรียกร้องให้รัฐบาลสาธารณรัฐแอฟริกากลางตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดกับกลุ่มวากเนอร์[202][203]

ตัวอย่างอาชญากรรมที่เชื่อกันว่าสมาชิกกลุ่มวากเนอร์ได้ก่อขึ้นในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ได้แก่ การสังหารหมู่ที่หมู่บ้านอาอีกบาโดระหว่างวันที่ 16–17 มกราคม ค.ศ. 2022,[204] การฆ่าชายไม่มีอาวุธ 13 คนใกล้เมืองบอซ็องกออาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 และการทุบตีและการกักขังผู้ต้องสงสัยว่าเป็นกบฏในสภาพไร้มนุษยธรรมในหลุมเปิดที่ฐานทัพแห่งหนึ่งในเมืองอาลีนดาโอระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ค.ศ. 2021[205]

มาลี[แก้]

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2022 ฮิวแมนไรตส์วอตช์รายงานว่าทหารรับจ้างชาวรัสเซียซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสมาชิกกลุ่มวากเนอร์ได้ร่วมกับสมาชิกกองทัพมาลีก่อเหตุรุนแรงโหดร้ายต่อพลเรือนหลายร้อยคนในมาลี ตามรายงานของโครงการข้อมูลเหตุการณ์และตำแหน่งที่ตั้งการขัดกันด้วยอาวุธ (องค์การนอกภาครัฐ) มีพลเรือนมากถึง 456 คนเสียชีวิตในเหตุการณ์ 9 เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังมาลีและนักรบวากเนอร์ระหว่างเดือนมกราคมถึงกลางเดือนเมษายน ค.ศ. 2022 เหตุรุนแรงโหดร้ายครั้งใหญ่ที่สุดที่กองกำลังรัสเซียและมาลีก่อขึ้นคือการสังหารหมู่ที่เมืองมูราซึ่งคร่าชีวิตพลเรือนไปประมาณ 300 คนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2022[206][207][208]

กระบวนพิจารณาตามกฎหมาย[แก้]

ระดับภูมิภาคและท้องถิ่น[แก้]

ใน ค.ศ. 2022 อีกอร์ กีร์กิน อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงกลาง ถูกศาลเนเธอร์แลนด์พิพากษาจำคุกตลอดชีวิตฐานมีส่วนร่วมในการยิงเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 17

รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธพันธะรับผิดชอบในศาลท้องถิ่นของตน แม้จะมีการสอบสวนคดีอาชญากรรมหลายพันคดี แต่ก็มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ถูกพิพากษาลงโทษในความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อชาวเชเชนระหว่างสงครามเชเชนทั้งสองครั้ง เช่น ยูรี บูดานอฟ ซึ่งถูกศาลรัสเซียตัดสินจำคุก 10 ปีใน ค.ศ. 2003 ในความผิดฐานลักพาตัวและฆ่าเอลซา คุนกาเอวา หญิงชาวเชเชน;[209] เซียร์เกย์ ลาปิน ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 11 ปีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2005 ในความผิดฐานทรมานเซลิมคัน มูร์ดาลอฟ นักศึกษาชาวเชเชนที่หลังจากนั้นหายตัวไปขณะที่ถูกตำรวจคุมขัง;[210] ร้อยโท เยฟเกนี คูเดียคอฟ และร้อยโท เซียร์เกย์ อะรัคเชเยฟ ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 17 และ 15 ปีในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2007 ในความผิดฐานฆ่าคนงานก่อสร้างชาวเชเชน 3 คนใกล้จุดตรวจพลเรือนที่เมืองกรอซนืยในเดือนมกราคม ค.ศ. 2003 เป็นต้น[211] การนำตัวผู้กระทำความผิดมารับผิดชอบน้อยครั้งเช่นนี้ทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สรุปในรายงานเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2007 ว่า "ไม่มีการรับผิดรับชอบ" และ "การขาดการดำเนินคดีอย่างมีประสิทธิผล [ของรัสเซีย] ส่งผลให้เกิดบรรยากาศของการไม่ต้องถูกลงโทษ"[212]

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 หลังจากการสอบสวนเปรียบเทียบอย่างกว้างขวาง ทีมสืบสวนร่วมของเนเธอร์แลนด์ได้ข้อสรุปว่าขีปนาวุธบุคที่ใช้ยิงเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 17 ตกในภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อ ค.ศ. 2014 นั้นมาจากกองพลน้อยขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานที่ 53 ในเมืองคูสค์ของรัสเซีย[213] ในแถลงการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2017 มีการประกาศว่าหลายประเทศจะดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยคนใดก็ตามที่ถูกระบุตัวตนจากเหตุดังกล่าวในเนเธอร์แลนด์และตามกฎหมายของเนเธอร์แลนด์[214] สนธิสัญญาในอนาคตระหว่างเนเธอร์แลนด์กับยูเครนจะทำให้เนเธอร์แลนด์สามารถพิจารณาคดีของผู้เสียชีวิตทั้ง 298 คนได้ไม่ว่าผู้เสียชีวิตคนนั้นจะมีสัญชาติใด สนธิสัญญานี้ลงนามเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 2017[215] เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2019 อัยการเนเธอร์แลนด์ตั้งข้อหาฆาตกรรมกับชาย 4 คนจากการมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุดังกล่าว ประกอบด้วยชาวรัสเซีย 3 คน คือ อีกอร์ กีร์กิน อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงกลางของรัสเซีย, เซียร์เกย์ ดูบินสกี และโอเลก ปูลาตอฟ อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยอำนวยการข่าวกรองหลักของรัสเซีย และชาวยูเครน 1 คน คือ แลออนิด คาร์แชนกอ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนดอแนตสก์[216][217][218] เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 ศาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินว่ากีร์กิน, ดูบินสกี และคาร์แชนกอมีความผิดฐานฆาตกรรมและพิพากษาลับหลังให้จำคุกตลอดชีวิต[219]

วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย (ขวา) และเซียร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย (ซ้าย) ต่างถูกกล่าวโทษว่าได้ก่ออาชญากรรมสงคราม[220]

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 2003 ศาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินว่าการสังหารหมู่ชาวเชเชน 250 คนที่หมู่บ้านซามัชกีเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ[221] เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2021 ทางการยูเครนจับกุมเดนิส คูลีคอฟสกี ผู้คุมอาวุโสของศูนย์กักกันอีซอเลียตซียาในสาธารณรัฐประชาชนดอแนตสก์ ซึ่งเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่มีการทรมานนักโทษ[222]

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 2022 วุฒิสภาสหรัฐมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศว่าวลาดีมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เป็นอาชญากรสงคราม[223]

ใน ค.ศ. 2022 รัฐสภาของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และไอร์แลนด์ ประกาศว่ากำลังเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นในยูเครน[224]

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 2022 ทางการยูเครนเริ่มการพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามคดีแรกที่เกี่ยวข้องกับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ค.ศ. 2022 เมื่อวาดิม ชีชีมาริน ทหารรัสเซีย ถูกฟ้องในข้อหาฆ่าพลเรือนที่ไม่มีอาวุธในแคว้นซูมือ เขาถูกตัดสินจำคุก 15 ปี[225] เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ศาลในกรุงเคียฟพิพากษาจำคุกทหารรัสเซีย 2 นายคนละ 11 ปีครึ่ง ในความผิดฐานยิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้าน 2 แห่งในแคว้นคาร์กิว[226] เมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 2022 ร้อยโท เซียร์เกย์ ชไตเนอร์ ของรัสเซีย ถูกศาลยูเครนพิพากษาลับหลังให้จำคุก 9 ปี ในความผิดฐานฉกชิงทรัพย์และทำลายทรัพย์สินพลเรือนในหมู่บ้านลูกิยานิวกา[227] เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 2022 ศาลยูเครนพิพากษาจำคุกทหารรัสเซีย 4 นายคนละ 11 ปี ในความผิดฐานลักพาตัวและทรมานชาวนิคมบอรอวา 3 คนที่จัดตั้งหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย[228] เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 2023 ศาลยูเครนพิพากษาจำคุกนักบินรัสเซีย 12 ปี ในความผิดฐานทิ้งระเบิด 8 ลูกใส่สถานีโทรทัศน์และวิทยุคาร์กิว[229] เมื่อถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 ยูเครนได้ระบุตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากรสงครามได้มากกว่า 600 คนจากรัสเซีย ซึ่งรวมถึงเซียร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย[230]

ระดับนานาชาติ[แก้]

รัฐบาลรัสเซียได้พยายามปิดกั้นหรือขัดขวางการฟ้องร้องระหว่างประเทศต่อบทบาทของตนในอาชญากรรมสงครามต้องสงสัย โดยใช้ที่นั่งของตนในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการยับยั้งมติที่เรียกร้องให้มีการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบต่อการยิงเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 17[231] และเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมในซีเรีย[232] โดยรัฐบาลรัสเซียปฏิเสธว่าไม่มีการโจมตีด้วยสารเคมีเกิดขึ้นในเมืองดูมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 2018 แต่เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการยืนยันว่าเกิดขึ้นจริงในรายงานขององค์การห้ามอาวุธเคมีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ[233]

เมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 2022 ข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ อีเอส-11/3 ได้ระงับสมาชิกภาพของรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบที่รัสเซียก่อขึ้นในยูเครน[234]

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 รัฐสภายุโรปกำหนดให้รัสเซียเป็นรัฐสนับสนุนการก่อการร้าย โดยประกาศว่าการโจมตีทางทหารอย่างกว้างขวางของรัสเซียต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน โรงพยาบาล โรงเรียน และที่พักพิงของยูเครนเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นอันตรายต่อพลเรือนยูเครนในฤดูหนาว[235] เมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 2023 รัฐสภายุโรปยังมีมติเสนอแนะให้จัดตั้งศาลระหว่างประเทศเพื่อดำเนินคดีกับวลาดีมีร์ ปูติน และอาเลียกซันดร์ ลูกาแชนกา ประธานาธิบดีเบลารุส ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม[236]

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป[แก้]

เนื่องจากทหารรัสเซียที่ก่ออาชญากรรมแทบไม่ถูกลงโทษในรัสเซีย ผู้เสียหายจากการละเมิดหลายร้อยคนจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป เมื่อถึง ค.ศ. 2009 ศาลฯ ได้ออกคำตัดสินในคดี 115 คดี (รวมถึงคำตัดสินในคดีระหว่างไบซาเยวากับรัสเซีย) ที่ระบุว่ารัสเซียมีความผิดฐานบังคับให้สูญหาย สังหารนอกกระบวนการยุติธรรม และทรมาน ทั้งยังไม่สอบสวนอาชญากรรมดังกล่าวในเชชเนียอย่างเหมาะสม[20]

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 2021 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปยังตัดสินแยกว่ารัสเซียมีความผิดฐานฆ่าคน ทรมาน ฉกชิงทรัพย์ และทำลายบ้านเรือนในจอร์เจีย รวมทั้งขัดขวางไม่ให้ชาวจอร์เจียพลัดถิ่น 20,000 คนกลับคืนสู่ดินแดนของพวกเขา[21][22][23]

ศาลอาญาระหว่างประเทศ[แก้]

อาคารศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮก

เมื่อศาลอาญาระหว่างประเทศเริ่มสอบสวนการผนวกไครเมียเข้ากับรัสเซียว่าอาจเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ รัสเซียก็ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016[26] ถึงกระนั้น ในรายงานเบื้องต้นที่เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 2017 ศาลฯ พบว่า "สถานการณ์ภายในดินแดนไครเมียและแซวัสตอปอลอาจเทียบเท่ากับการขัดกันด้วยอาวุธระหว่างประเทศระหว่างยูเครนกับสหพันธรัฐรัสเซีย" และ "ตามข้อเท็จจริงก็เทียบเท่ากับสถานะการยึดครองที่ยังคงดำเนินอยู่"[237] นอกจากนี้ ศาลฯ ยังพบอีกว่ามีหลักฐานน่าเชื่อถือว่ามีคนอย่างน้อย 10 คนได้หายตัวไปและเชื่อว่าถูกฆ่าในไครเมียเนื่องจากคัดค้านการเปลี่ยนสถานะดินแดน[238] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2016 ศาลฯ ยังเปิดการสอบสวนเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสงครามรัสเซีย-จอร์เจียใน ค.ศ. 2008 ด้วย[239]

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 คารีม อาห์มัด คาน อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ ประกาศว่าเขาจะเริ่มการสอบสวนข้อกล่าวโทษเรื่องอาชญากรรมสงครามในยูเครน[240] เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 2023 ศาลฯ ได้ออกหมายจับวลาดีมีร์ ปูติน และมารียา ลโววา-เบโลวา กรรมาธิการสิทธิเด็กของรัสเซีย ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามด้วยการเนรเทศและการโยกย้ายพลเรือน (เด็ก) จากพื้นที่ยึดครองในยูเครนไปยังรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย[241] ฮิวแมนไรตส์วอตช์แสดงความยินดีกับการฟ้องร้องครั้งนี้โดยระบุว่าเป็น "ก้าวแรกไปสู่ความยุติธรรม"[242] แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยกย่องการตัดสินใจของศาลฯ เช่นกันโดยแนะนำว่าควรขยายคำฟ้องให้ครอบคลุมอาชญากรรมสงครามอื่น ๆ อีกหลายคดีด้วย[243]

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 2023 มีรายงานว่าโจ ไบเดิน ประธานาธิบดีสหรัฐ อนุญาตให้สหรัฐร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศในการแบ่งปันหลักฐานอาชญากรรมสงครามของรัสเซียในยูเครน[244]

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ[แก้]

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ยูเครนยื่นฟ้องรัสเซียต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) หลังการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย และเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 2022 ศาลฯ ตัดสินว่ารัสเซียต้อง "ระงับปฏิบัติการทางทหารทันที" ในยูเครน[245]

คณะกรรมการสอบสวนอิสระระหว่างประเทศในยูเครน[แก้]

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 2022 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติลงมติเห็นชอบ 32 เสียง (ไม่เห็นด้วย 2 เสียง และงดออกเสียง 13 เสียง) ในการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระระหว่างประเทศในยูเครนซึ่งเป็นคณะกรรมการอิสระระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน 3 คน โดยมีหน้าที่สืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในบริบทของการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียใน ค.ศ. 2022[246]

อ้างอิง[แก้]

  1. Oksana Dudko (2022). "A conceptual limbo of genocide: Russian rhetoric, mass atrocities in Ukraine, and the current definition's limits". Revue Canadienne des Slavistes. 64 (2–3): 133–145. doi:10.1080/00085006.2022.2106691. Sergeitsev’s article is a significant example of how the Kremlin’s claims that it is preventing genocide against Russian Ukrainians have transformed into open admissions about perpetrating genocide in Ukraine. As Susan Smith-Peter points out, we have now encountered a kind of twenty-first-century “postmodern genocide”: while accusing Ukraine of perpetrating genocide, Russia uses genocidal rhetoric and commits genocidal crimes itself, and, moreover, it “does not feel the need to hide [them].” Indeed, Sergeitsev’s explicit call for Russians to destroy Ukraine is shocking. Siding with Russia’s state propaganda rhetoric about “Nazi Ukraine,” Sergeitsev proposes to liquidate Ukraine as a state, including the very usage of the name “Ukraine,” because “Ukraine, as history has shown, is impossible as a nation-state, and attempts to ‘build’ one naturally lead to Nazism.
  2. "No progress in Chechnya without accountability". Amnesty International. 17 April 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2018. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  3. "Worse Than a War: "Disappearances" in Chechnya—a Crime Against Humanity". Human Rights Watch. March 2005. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 March 2020. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  4. "NO HAPPINESS REMAINS" CIVILIAN KILLINGS, PILLAGE, AND RAPE IN ALKHAN-YURT, CHECHNYA เก็บถาวร 13 มีนาคม 2022 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Human Rights Watch investigation report, April 2000
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "Georgia: International Groups Should Send Missions". Human Rights Watch. 18 August 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 October 2014. สืบค้นเมื่อ 25 December 2018.
  6. 6.0 6.1 Amnesty International 2009, p. 25—26.
  7. "Ukraine: Rebel Forces Detain, Torture Civilians – Dire Concern for Safety of Captives". Human Rights Watch. 28 August 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 January 2022. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  8. 8.0 8.1 "Ukraine: Mounting evidence of war crimes and Russian involvement". Amnesty International. 7 September 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 January 2016. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  9. 9.0 9.1 "Russia/Ukraine: Invasion of Ukraine is an act of aggression and human rights catastrophe". Amnesty International. 1 March 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 March 2022. สืบค้นเมื่อ 9 March 2022.
  10. 10.0 10.1 Hugh Williamson (23 February 2023). "Ukraine: Human Cost of Brutal Russian Invasion". Human Rights Watch.
  11. "Syria: Russia's shameful failure to acknowledge civilian killings". Amnesty International. 23 December 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 April 2019. สืบค้นเมื่อ 20 December 2016.
  12. 12.0 12.1 12.2 "Russia/Syria: Extensive Recent Use of Cluster Munitions | Human Rights Watch". Hrw.org. 20 December 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 September 2020. สืบค้นเมื่อ 28 February 2016.
  13. 13.0 13.1 "Syria/Russia: Incendiary Weapons Burn in Aleppo, Idlib". Human Rights Watch. 16 August 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 December 2016. สืบค้นเมื่อ 14 December 2016.
  14. 14.0 14.1 "Russia/Syria: War Crimes in Month of Bombing Aleppo". Human Rights Watch. 1 December 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 May 2019. สืบค้นเมื่อ 14 December 2016.
  15. Binet 2016, p. 29—31, 97, 136.
  16. 16.0 16.1 OHCHR & 2 February 2017, p. 12... «Between July and December 2016, Syrian and Russian forces carried out daily air strikes, claiming hundreds of lives and reducing hospitals, schools and markets to rubble... Syrian and Russian air forces conducted daily air strikes in Aleppo throughout most of the period under review, exclusively employing, as far as the Commission could determine, unguided air-delivered munitions»...
  17. "War crimes have been committed in Ukraine conflict, top UN human rights inquiry reveals". UN News. 23 September 2022.
  18. "War crimes, indiscriminate attacks on infrastructure, systematic and widespread torture show disregard for civilians, says UN Commission of Inquiry on Ukraine". Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights (OHCHR). 16 March 2023.
  19. Madeline Halpert (13 April 2022). "Russia Committed 'Clear' Violations Of Humanitarian Law And War Crimes, OSCE Says". Forbes. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 April 2022. สืบค้นเมื่อ 18 April 2022.
  20. 20.0 20.1 ""Who Will Tell Me What Happened to My Son?" – Russia's Implementation of European Court of Human Rights Judgments on Chechnya". Human Rights Watch. 27 September 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 September 2019. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  21. 21.0 21.1 Harding, Luke (21 January 2021). "Russia committed human rights violation in Georgia war, ECHR rules". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 January 2021. สืบค้นเมื่อ 23 January 2021.
  22. 22.0 22.1 "Court Condemns Russia for Violating Human Rights After 2008 Georgia War". The Moscow Times. 21 January 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 January 2021. สืบค้นเมื่อ 23 January 2021.
  23. 23.0 23.1 "European court: Russia must answer for abuses in 2008 Georgia war". Reuters. 21 January 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 January 2021. สืบค้นเมื่อ 23 January 2021.
  24. "EU restrictive measures in response to the crisis in Ukraine". Council of the European Union. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 August 2019. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  25. Michelle Toh, Junko Ogura, Hira Humayun, Isaac Yee, Eric Cheung, Sam Fossum, Ramishah Maruf (28 February 2022). "The list of global sanctions on Russia for the war in Ukraine". CNN Business. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 April 2022. สืบค้นเมื่อ 19 April 2022.{{cite news}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  26. 26.0 26.1 "Russia withdraws from International Criminal Court treaty". BBC News. 16 November 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2018. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  27. "Russia's withdrawal from International Criminal Court statute is 'completely cynical'". Amnesty International. 16 November 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2018. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  28. Binet 2016, p. 19.
  29. "War Crimes In Chechnya and the Response of the West". Human Rights Watch. 29 February 2000. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 January 2019. สืบค้นเมื่อ 18 November 2018.
  30. 30.0 30.1 30.2 The situation of human rights in the Republic of Chechnya of the Russian Federation – Report of the Secretary-General UNCHR (26 March 1996) เก็บถาวร 20 กรกฎาคม 1997 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  31. Haque, Mozammel (1999). "Genocide in Chechnya and the World Community". Pakistan Institute of International Affairs. 52 (4): 15–29. JSTOR 41394437.
  32. Jones, Adam (2011). "Let Our Fame Be Great: Journeys Among the Defiant People of the Caucasus". Journal of Genocide Research. 13 (1): 199–202. doi:10.1080/14623528.2011.554083. S2CID 71276051.
  33. Gilligan 2009, p. 6.
  34. "Human Rights Developments". Human Rights Watch. สืบค้นเมื่อ 14 May 2022.
  35. Russia: Three Months of War in Chechnya เก็บถาวร 10 มกราคม 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Human Rights Watch, February 1995
  36. Yeltsin Orders Bombing Halt On Rebel City เก็บถาวร 16 มีนาคม 2022 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The New York Times, 5 January 1995
  37. 'These People Can Never Be Pacified': A Report From The Besieged City, Where Russian Bombs Haven't Dented Chechen Resolve เก็บถาวร 16 ตุลาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Newsweek, 16 January 1995
  38. "Mothers' March to Grozny". War Resisters' International. 1 June 1995. สืบค้นเมื่อ 14 May 2022.
  39. The situation of human rights in the Republic of Chechnya of the Russian Federation – Report of the Secretary-General UNCHR เก็บถาวร 11 กุมภาพันธ์ 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  40. DETAILS OF SAMASHKI MASSACRE EMERGE., The Jamestown Foundation, 5 May 1995 เก็บถาวร 25 มิถุนายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  41. Williams, Bryan Glyn (2001).The Russo-Chechen War: A Threat to Stability in the Middle East and Eurasia? เก็บถาวร 16 มีนาคม 2022 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Middle East Policy 8.1.
  42. Faurby, Ib; Märta-Lisa Magnusson (1999). "The Battle(s) of Grozny". Baltic Defence Review (2): 75–87. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 July 2011.
  43. Blank, Stephen J. "Russia's invasion of Chechnya: a preliminary assessment" (PDF). dtic.mil. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 8 March 2008.
  44. "The First Bloody Battle". The Chechen Conflict. BBC News. 16 March 2000.
  45. Obrecht, Th. (2006). Russie, la loi du pouvoir: Enquête sur une parodie démocratique (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: Autrement. pp. 71, 104. ISBN 2-7467-0810-8.
  46. Allaman 2000, pp. 2, 59.
  47. Le Huérou, A.; Regamey, A. (11 October 2012). "Massacres de civils en Tchétchénie". SciencesPo (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 8 August 2022.
  48. Divac Öberg, M. (2004). "Le suivi par le Conseil de l'Europe du conflit en Tchétchénie". Annuaire français de droit international (ภาษาฝรั่งเศส). Vol. 50. Paris: CNRS Éditions. pp. 758–759, 762.
  49. Дмитриевский, С. М.; Гварели, Б. И.; Челышева, О. А. (2009b). Международный трибунал для Чечни: Правовые перспективы привлечения к индивидуальной уголовной ответственности лиц, подозреваемых в совершении военных преступлений и преступлений против человечности в ходе вооруженного конфликта в Чеченской Республике (PDF) (ภาษารัสเซีย). Vol. 2. Нижний Новгород. pp. 16–17, 22–26, 29–35, 55–56, 58–60, 62–65, 67, 104–105, 113, 130, 161, 175, 206, 226, 230, 339, 349–350, 378, 380, 388, 405, 474–475, 508.
  50. Дмитриевский, Гварели & Челышева 2009b, pp. 23, 71, 73, 74, 76, 325–329, 339.
  51. Baiev, Kh.; และคณะ (with Ruth et Nicholas Daniloff) (2005). Le serment tchétchène: Un chirurgien dans la guerre (ภาษาฝรั่งเศส). แปลโดย Baranger, L. Paris: Jean-Claude Lattès. pp. 167, 312–313, 325, 413. ISBN 2-7096-2644-6.
  52. Чечня: без средств для жизни: Оценка нарушения экономических, социальных и культурных прав в Чеченской республике (PDF) (ภาษารัสเซีย). Женева: Всемирная организация против пыток. 2004. p. 35. ISBN 2-88477-070-4.
  53. Мандевиль, Л. (25 March 2002). "Глухое молчание Запада в ответ на геноцид чеченского народа: Запад изменяет отношение к Чечне". ИноСМИ (ภาษารัสเซีย). สืบค้นเมื่อ 8 August 2022.
  54. Sylvaine, P.; Alexandra, S. (23 March 2000). "Grozny, ville fantôme". L'Express (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 8 August 2022.
  55. Allaman, J. (2000). La guerre de Tchétchénie ou l'irrésistible ascension de Vladimir Poutine (ภาษาฝรั่งเศส). Genève: Georg Éditeur. p. 114. ISBN 2-8257-0703-1.
  56. Бовкун, Е. (25 February 2000). "Видеозапись зверств российских войск в Чечне и реакция на неё в Германии". Радио Свобода (ภาษารัสเซีย). สืบค้นเมื่อ 8 August 2022.
  57. Политковская, А. (6 February 2001). "Концлагерь с коммерческим уклоном: Отчёт о командировке в зону". Новая газета (ภาษารัสเซีย). สืบค้นเมื่อ 8 August 2022.
  58. Бабицкий, А. (6 August 2001). "Кавказские хроники". Радио Свобода (ภาษารัสเซีย). สืบค้นเมื่อ 8 August 2022.
  59. CARPET BOMBARDMENT OF THE ELISTANJI VILLAGE, OCTOBER 7, 1999 เก็บถาวร 29 กรกฎาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Memorial, 26 October 1999
  60. The attack on the village of Elistanzhi (7 October), Amnesty International, 1 December 1999
  61. Russians at odds over market attack, BBC News, 22 October 1999
  62. Russians in disarray over Grozny strike เก็บถาวร 24 สิงหาคม 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Guardian, 23 October 1999
  63. Russian rockets hit Grozny market, The Guardian, 22 October 1999
  64. Russian Federation (Chechnya): For the motherland: Reported grave breaches of international humanitarian law. Attack on a civilian convoy near Shami-Yurt (29 October) เก็บถาวร 11 พฤษภาคม 2005 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Amnesty International, 1 December 1999
  65. 'Russians fired on refugees' เก็บถาวร 24 กุมภาพันธ์ 2022 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน BBC News, 4 December 1999
  66. 66.0 66.1 66.2 "NO HAPPINESS REMAINS" CIVILIAN KILLINGS, PILLAGE, AND RAPE IN ALKHAN-YURT, CHECHNYA". Human Rights Watch. สืบค้นเมื่อ 10 December 2022.
  67. Bush Meets Russian Faulted For Atrocities เก็บถาวร 15 มิถุนายน 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Washington Post, 29 March 2007
  68. "Bush Meets Russian Faulted For Atrocities". Washington post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2021. สืบค้นเมื่อ 12 December 2022.
  69. "Russia Condemned for Chechnya Killings". Human Rights Watch. 12 October 2006. สืบค้นเมื่อ 12 December 2022.
  70. 70.0 70.1 70.2 70.3 "February 5: A Day of Slaughter in Novye Aldi". Human Rights Watch. สืบค้นเมื่อ 15 May 2022.
  71. European court assails Russia over killings in Chechnya, International Herald Tribune, 26 July 2007
  72. 72.0 72.1 "Russian atrocities in Chechnya detailed". Reliefweb. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 April 2007. สืบค้นเมื่อ 12 December 2022.
  73. Witness to Aldi Massacre Tells Story of Terror, The Moscow Times, 11 July 2000
  74. 74.0 74.1 "Russian Forces Execute Grozny Residents". Human Rights Watch. สืบค้นเมื่อ 13 December 2022.
  75. 75.0 75.1 Civilian killings in Staropromyslovski district of Grozny เก็บถาวร 14 ธันวาคม 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Human Rights Watch / United Nations High Commissioner for Refugees report, February 2000
  76. 76.0 76.1 Putin Urged to Act on Summary Executions: Deaths of Sixteen More Civilians Confirmed, Total now Thirty-Eight เก็บถาวร 17 กุมภาพันธ์ 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Human Rights Watch, 10 February 2000
  77. "What Putin's destruction of Grozny in 1999 means for Ukraine now". wbur. สืบค้นเมื่อ 13 December 2022.
  78. "Russia Warns Civilians in Chechnya". AP NEWS (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2 March 2022.
  79. Watchdog alleges mass grave in Russia's Chechnya, Reuters, 1 July 2008
  80. Scars remain amid Chechen revival, BBC News, 3 March 2007
  81. 81.0 81.1 "Grozny and Aleppo: a look at the historical parallels". The National. 24 November 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2018. สืบค้นเมื่อ 18 November 2018.
  82. 82.0 82.1 Galeotti, Mark (29 September 2016). "Putin Is Playing by Grozny Rules in Aleppo". Foreign Policy. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 October 2016. สืบค้นเมื่อ 18 November 2018.
  83. "Welcome to Chechnya. Welcome to hell". The Guardian. 10 December 1999. สืบค้นเมื่อ 13 December 2022.
  84. "17 December 1996 : Six ICRC delegates assassinated in Chechnya". International Committee of the Red Cross. 30 April 1997. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2018. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  85. Nicoll, Ruaridh (25 November 2010). "How the Chechnyan Red Cross murders affected central Africa". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2018. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  86. Parfitt, Tom (2004). "Russian soldiers blamed for civilian rape in Chechnya". The Lancet. 363 (9417): 1291. doi:10.1016/S0140-6736(04)16036-4. PMID 15101379. S2CID 30551028.
  87. Callaway & Harrelson-Stephens 2010, p. 85.
  88. "Brief summary of concerns about human rights violations in the Chechen Republic" (PDF). Amnesty International. April 1996. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 18 November 2018. สืบค้นเมื่อ 18 November 2018.
  89. "Russian Federation: What justice for Chechnya's disappeared?" (PDF). Amnesty International. 2007. p. 1. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 30 October 2021. สืบค้นเมื่อ 29 October 2021.
  90. Kramer, Mark (2005). "Guerrilla Warfare, Counterinsurgency and Terrorism in the North Caucasus: The Military Dimension of the Russian-Chechen Conflict". Europe-Asia Studies. 57 (2): 210. doi:10.1080/09668130500051833. JSTOR 30043870. S2CID 129651210.
  91. Michael R. Gordon (4 September 1996). "Chechnya Toll Is Far Higher, 80,000 Dead, Lebed Asserts". New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 May 2021. สืบค้นเมื่อ 17 September 2020.
  92. Moorcraft & Taylor 2008, p. 145.
  93. Reardon & Hans 2018, p. 201.
  94. Hawkins 2016, p. 27.
  95. "200,000 killed in Chechnya in 10 years". Unrepresented Nations and Peoples Organization. 29 November 2004. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 May 2021. สืบค้นเมื่อ 3 September 2020.
  96. "Official: Chechen wars killed 300,000". Al Jazeera. 26 June 2005. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 August 2020. สืบค้นเมื่อ 3 September 2020.
  97. "Russia: Chechen Mass Grave Found". New York Times. Agence France-Presse. 21 June 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 October 2015. สืบค้นเมื่อ 21 September 2020.
  98. Sarah Reinke: Schleichender Völkermord in Tschetschenien. Verschwindenlassen – ethnische Verfolgung in Russland – Scheitern der internationalen Politik. Gesellschaft für bedrohte Völker, 2005, page 8 (PDF เก็บถาวร 12 สิงหาคม 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน)
  99. Karlsson, Håkan (22 January 2017). "Competing Powers: U.S.-RussianRelations, 2006–2016" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 22 January 2017. สืบค้นเมื่อ 9 April 2021.
  100. CHIFU, Nantoi, Sushko, Iulian, Oazu, Oleksandr (2009). The Russian Georgian War A trilateral cognitive institutional approach of the crisis decision-making process.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  101. 101.0 101.1 "2008 Georgia Russia Conflict Fast Facts". CNN. 3 April 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 December 2018. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  102. Gerrits, Andre W. M.; Bader, Max (2016). "Russian patronage over Abkhazia and South Ossetia: implications for conflict resolution". East European Politics. 32 (3): 297–313. doi:10.1080/21599165.2016.1166104.
  103. "Executive Summary". Up in Flames. Human Rights Watch. 23 January 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2012. สืบค้นเมื่อ 25 December 2018.
  104. Thomas Hammarberg (8 September 2008). "Human Rights in Areas Affected by the South Ossetia Conflict. Special Mission to Georgia and Russian Federation". Council of Europe. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 October 2009. สืบค้นเมื่อ 25 December 2018.
  105. "The human cost of war in Georgia". Amnesty International. 1 October 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 October 2008.
  106. Kim Sengupta, Shaun Walker (20 August 2008). "Georgians tell of ethnic cleansing". The Independent. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 March 2022. สืบค้นเมื่อ 10 May 2020.
  107. "Resolution 1647 (2009) – Implementation of Resolution 1633 (2008) on the consequences of the war between Georgia and Russia". Council of Europe. 22 November 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 November 2009.
  108. Crawford, Emily (2014). "Introductory Note to United Nations General Assembly Resolution on the Territorial Integrity of Ukraine". International Legal Materials. 53 (5): 927–932. doi:10.5305/intelegamate.53.5.0927. JSTOR 10.5305/intelegamate.53.5.0927. S2CID 218720652.
  109. 109.0 109.1 "Ukraine: Unguided Rockets Killing Civilians" (Press release). Human Rights Watch. 24 July 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 July 2014. สืบค้นเมื่อ 27 July 2014.
  110. 110.0 110.1 "Ukraine: Russia Must Recognize Ukraine Rebels' Human Rights Abuses" (Press release). Human Rights Watch. 6 August 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 August 2014. สืบค้นเมื่อ 7 August 2014.
  111. 111.0 111.1 111.2 "Marking Ukrainian Independence Day with a Laws-of-War Violation" (Press release). Human Rights Watch. 24 August 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 August 2014. สืบค้นเมื่อ 25 August 2014.
  112. "In Eastern Ukraine, Rebel Mockery Amid Independence Celebration". The New York Times. 24 August 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 August 2014. สืบค้นเมื่อ 25 August 2014.
  113. СБУ показала карту преступлений российских боевиков в Донбассе [SBU published a list of war crimes of Russian insurgents in Donetsk] (ภาษารัสเซีย). Liga.net. 3 October 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 October 2014. สืบค้นเมื่อ 3 October 2014.
  114. Злочини проти людяності на території Луганської та Донецької областей з 14 квітня по 1 жовтня 2014 року [Crimes against humanity in the Luhansk and Donetsk regions from April 14 to October 1, 2014] (ภาษายูเครน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 January 2015. สืบค้นเมื่อ 5 March 2015.
  115. "Security Service to Create "Death Map" of Mass Graves and Terrorist Concentration Camps". Censor.net. 3 October 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 October 2014. สืบค้นเมื่อ 13 June 2015.
  116. СБУ розслідує злочини терористів проти людяності [SBU is investigating terrorist crimes against humanity]. Ukrayinska Pravda (ภาษายูเครน). 15 October 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 September 2015. สืบค้นเมื่อ 13 June 2015.
  117. "Eastern Ukraine conflict: Summary killings, misrecorded and misreported" (Press release). Amnesty International. 20 October 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 April 2022. สืบค้นเมื่อ 20 October 2014.
  118. "Ukraine: Widespread Use of Cluster Munitions" (Press release). Human Rights Watch. 20 October 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 December 2016. สืบค้นเมื่อ 21 October 2014.
  119. "Rebels in Ukraine 'post video of people's court sentencing man to death'". Telegraph. 31 October 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 April 2018. สืบค้นเมื่อ 5 November 2014.
  120. "UN accuses Ukraine forces, pro-Russia rebels of 'torture'". Yahoo News. 15 December 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2018. สืบค้นเมื่อ 22 December 2018.
  121. Oleg Sukhov (6 April 2015). "Russian fighter's confession of killing prisoners might become evidence of war crimes (AUDIO)". Kyiv Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 April 2015. สืบค้นเมื่อ 25 December 2018.
  122. 122.0 122.1 122.2 "New evidence of summary killings of Ukrainian soldiers must spark urgent investigations" (Press release). Amnesty International. 9 April 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 October 2016. สืบค้นเมื่อ 9 April 2015.
  123. Merezhko 2018, p. 118.
  124. "General Assembly Adopts Resolution Urging Russian Federation to Withdraw Its Armed Forces from Crimea, Expressing Grave Concern about Rising Military Presence". United Nations. 17 December 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 April 2019. สืบค้นเมื่อ 19 May 2019.
  125. "Speakers Urge Peaceful Settlement to Conflict in Ukraine, Underline Support for Sovereignty, Territorial Integrity of Crimea, Donbas Region". United Nations. 20 February 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 February 2022. สืบค้นเมื่อ 16 May 2019.
  126. "Ukraine: Temperatures plunge amid rising humanitarian needs". UN News. 15 November 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 December 2018. สืบค้นเมื่อ 22 December 2018.
  127. Andrew Lichterman (2022). "The Peace Movement and the Ukraine War: Where to Now?". Journal for Peace and Nuclear Disarmament. 5: 185–197. doi:10.1080/25751654.2022.2060634. S2CID 248116270.
  128. Illia Ilin, Olena Nihmatova (2023). "The "Brotherly People" Metaphor and the Russian-Ukrainian Irredentist War: A Corpus-Based Study". Czech Journal of International Relations. 58 (2). doi:10.32422/mv-cjir.504. S2CID 257448711.
  129. "Ukraine: Russian Cluster Munition Hits Hospital". Human Rights Watch. 25 February 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 February 2022. สืบค้นเมื่อ 26 February 2022.
  130. "Russian military commits indiscriminate attacks during the invasion of Ukraine". Amnesty International. 25 February 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 February 2022. สืบค้นเมื่อ 26 February 2022.
  131. "Press briefing notes on Ukraine". OHCHR. 25 February 2022. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 February 2022. สืบค้นเมื่อ 26 February 2022.
  132. "Ukraine: Apparent War Crimes in Russia-Controlled Areas: Summary Executions, Other Grave Abuses by Russian Forces". Human Rights Watch. 3 April 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2022. สืบค้นเมื่อ 18 April 2022. "Ukraine: Russian forces extrajudicially executing civilians in apparent war crimes – new testimony". Amnesty International. 7 April 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 April 2022. สืบค้นเมื่อ 18 April 2022. "Ukraine: Russian forces must face justice for war crimes in Kyiv Oblast". Amnesty International. 6 May 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 May 2022. สืบค้นเมื่อ 6 May 2022. "Ukraine: UN rights office probe spotlights harrowing plight of civilians". UN News. 12 May 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 May 2022. สืบค้นเมื่อ 10 May 2022. "UN's Bachelet concerned over Ukraine orphans 'deported' to Russia for adoption". UN News. 15 June 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2022. สืบค้นเมื่อ 20 June 2022. ""We Had No Choice": "Filtration" and the Crime of Forcibly Transferring Ukrainian Civilians to Russia". Human Rights Watch. 1 September 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 September 2022. สืบค้นเมื่อ 15 September 2022.
  133. Joshua Zitser, Sophia Ankel, Bill Bostock, Bethany Dawson (24 February 2022), "People in Ukraine describe the moment they awoke in a war zone as Russian forces bombed the cities where they live", Business Insider, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 March 2022, สืบค้นเมื่อ 28 February 2022{{citation}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  134. Claire Gilbody-Dickerson (25 February 2022), "Russia accused of war crimes in Ukraine after 'shelling kindergarten and orphanage' during invasion", i news, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 March 2022, สืบค้นเมื่อ 28 February 2022
  135. Natalia Liubchenkova (27 February 2022), "Ukraine war: Distress and destruction as Russia continues its assault", Euronews, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 February 2022, สืบค้นเมื่อ 28 February 2022
  136. Liza Rozovsky (3 March 2022). "Panic in First Captured Ukrainian City: 'Russians Are Entering Houses, There's Looting'". Haaretz. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 March 2022. สืบค้นเมื่อ 6 March 2022.
  137. AFP (8 March 2022). "Ukrainian Girl Dies of Thirst Under Rubble of Home: Mayor". The Moscow Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 March 2022. สืบค้นเมื่อ 9 March 2022.
  138. Lynsey Addario, Andrew E. Kramer (6 March 2022). "Ukrainian Family's Dash for Safety Ends in Death". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 March 2022. สืบค้นเมื่อ 9 March 2022.
  139. "Ukraine: Russian Assault Kills Fleeing Civilians". Human Rights Watch. 8 March 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 March 2022. สืบค้นเมื่อ 9 March 2022.
  140. Yulia Gorbunova (7 March 2022). "Under Shelling in Kharkiv: People with Disabilities Need to Evacuate Safely". Human Rights Watch. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 March 2022. สืบค้นเมื่อ 9 March 2022.
  141. "Civilian casualty report" (PDF). Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights. 1 March 2022. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2 March 2022. สืบค้นเมื่อ 29 March 2022.
  142. "Ukraine: Cluster Munitions Launched Into Kharkiv Neighborhoods". Human Rights Watch. 4 March 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 March 2022. สืบค้นเมื่อ 29 March 2022.
  143. "Ukraine: Russian 'dumb bomb' air strike killed civilians in Chernihiv – new investigation and testimony". Amnesty International. 3 March 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 March 2022. สืบค้นเมื่อ 9 March 2022.
  144. AFP (10 March 2022). "EU condemns Russian bombing of Mariupol maternity hospital as a 'war crime'". Times of Israel. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 March 2022. สืบค้นเมื่อ 11 March 2022.
  145. "Ukraine fears 300 people were killed in Mariupol theatre bombed by Russia as families sheltered". The Independent. 25 March 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 March 2022. สืบค้นเมื่อ 25 March 2022.
  146. "Ukraine war: Gruesome evidence points to war crimes on road outside Kyiv". BBC News. 1 April 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 May 2022. สืบค้นเมื่อ 1 April 2022.
  147. "Ukraine calls Bucha killings a 'massacre'". The Hindu. 4 April 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2022. สืบค้นเมื่อ 4 April 2022. Bill Bostock (4 April 2022). "Zelenskyy visited Bucha, town reclaimed from Russia where 300 civilians were killed". Business Insider. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 April 2022. สืบค้นเมื่อ 4 April 2022. Ido Efrati (4 April 2022). "Israeli Minister Visits Ukraine, Decries 'Russian War Crimes'". Haaretz. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 April 2022. สืบค้นเมื่อ 4 April 2022. Siladitya Ray (4 April 2022). "World Leaders Condemn Alleged Civilian Massacre By Russian Forces In Bucha". Forbes. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 April 2022. สืบค้นเมื่อ 5 April 2022. "Russia's Bucha 'Facts' Versus the Evidence". bellingcat. 4 April 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 April 2022. สืบค้นเมื่อ 4 April 2022.
  148. Peter Beaumont (14 July 2022). "Social media posts chart life and death of girl in Russian strike". Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 July 2022. สืบค้นเมื่อ 18 September 2022.
  149. Prentice, Alessandra; Zinets, Natalia (17 April 2022). "Ukrainian soldiers hold out in Mariupol, pope laments 'Easter of War'". Reuters. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 April 2022. สืบค้นเมื่อ 17 April 2022.
  150. John Sparks (9 April 2022). "Ukraine war: Kramatorsk railway station attack survivors and witnesses describe terror on the platforms". Sky News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 July 2022. สืบค้นเมื่อ 19 April 2022.
  151. Wright, George. "Ukraine war: 22 killed in Russian rocket attack on Vinnytsia". BBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 July 2022. สืบค้นเมื่อ 14 July 2022.
  152. Ebel, Francesca (10 July 2022). "Ukraine: 15 dead in rocket attack on apartment building". Washington Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 July 2022. สืบค้นเมื่อ 10 July 2022.
  153. "Russian missiles kill at least 21 in Ukraine's Odesa region". ABC News (ภาษาอังกฤษ). 2 July 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2022. สืบค้นเมื่อ 2 July 2022.
  154. "Donestk official: Russia using mobile crematoriums to dispose of bodies". The hill. 11 April 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 April 2022. สืบค้นเมื่อ 12 April 2022.
  155. "Up to 60 feared dead after Russia bombs school in eastern Ukraine". Washington Post. 7 May 2022. ISSN 0190-8286. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 May 2022. สืบค้นเมื่อ 8 May 2022.
  156. "Several killed in Russian missile strike on Ukraine's Odesa". France24. 23 April 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 May 2022. สืบค้นเมื่อ 12 May 2022.
  157. "UN's Bachelet concerned over Ukraine orphans 'deported' to Russia for adoption". UN News. 15 June 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 June 2022. สืบค้นเมื่อ 20 June 2022.
  158. "Ukraine: One year after full-scale Russian invasion, victims' rights must be at the heart of all justice efforts". Amnesty International. 22 February 2022.
  159. "Accounts of interrogations, strip-searches emerge from Russian 'filtration' camps in Ukraine". France24. 9 June 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 June 2022. สืบค้นเมื่อ 20 June 2022.
  160. Jeremy Herb, Ellie Kaufman, Kylie Atwood (14 July 2022). "Experts document alleged crimes against humanity committed by Russian forces in Ukraine". CNN.{{cite news}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  161. Olga Robinson, Shayan Sardarizadeh, Adam Robinson (13 April 2023). "Ukraine war: President Zelensky condemns beheading video". BBC News. สืบค้นเมื่อ 11 July 2023.{{cite news}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  162. "Ukraine: Russian soldiers filmed viciously attacking Ukrainian POW must face justice". Amnesty International. 29 July 2022. สืบค้นเมื่อ 11 July 2023.
  163. Alexander Etkind (2022). "Ukraine, Russia, and Genocide of Minor Differences". Journal of Genocide Research: 1. doi:10.1080/14623528.2022.2082911. S2CID 249527690. Scott Straus (2022). "Ukraine and the politics of political violence". Violence. 3 (1): 3–10. doi:10.1177/26330024221105767. S2CID 249252280. Martin McKee, Amir Attaran, Jutta Lindert (2022). "How can the international community respond to evidence of genocide in Ukraine?". The Lancet. 17 (100404): 100404. doi:10.1016/j.lanepe.2022.100404. PMC 9198961. PMID 35721696. S2CID 248592550.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) Ian Gardner (2022). ""We've Got to Kill Them": Responses to Bucha on Russian Social Media Groups". Journal of Genocide Research (1): 1–8. doi:10.1080/14623528.2022.2074020. S2CID 248680376. Snyder, Timothy D. (8 April 2022). "Russia's genocide handbook". Substack. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 April 2022. สืบค้นเมื่อ 9 April 2022. Buncombe, Andrew (5 April 2022). "Killings in Ukraine amount to genocide, Holocaust expert says". The Independent. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 April 2022. สืบค้นเมื่อ 12 April 2022. Finkel, Eugene (5 April 2022). "Opinion: What's happening in Ukraine is genocide. Period". The Washington Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 April 2022. สืบค้นเมื่อ 12 April 2022.
  164. Julian Borger (27 May 2022). "Russia is guilty of inciting genocide in Ukraine, expert report concludes". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 June 2022. สืบค้นเมื่อ 29 May 2022.
  165. "Hundreds of graves discovered after Russians leave Ukraine city". The Economic Times. 16 September 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 September 2022. สืบค้นเมื่อ 18 September 2022.
  166. "'Catastrophic' winter in store for Ukraine, warns UN peacebuilding chief, following Russian strikes on critical infrastructure". UN News. 3 November 2022. สืบค้นเมื่อ 29 November 2022.
  167. "Ukraine: Russian attacks on critical energy infrastructure amount to war crimes". Amnesty International. 20 October 2022. สืบค้นเมื่อ 29 November 2022.
  168. "Ukraine: Civilian attacks 'must end immediately' says UN, as search for Dnipro survivors continues". UN News. 16 January 2023. สืบค้นเมื่อ 21 January 2023.
  169. "Ukraine war: Civilians killed in Russian strike on Ukraine homes". BBC News. 15 April 2023. สืบค้นเมื่อ 30 April 2023.
  170. "UN in Ukraine 'appalled and saddened' at deadly airstrikes and attacks". UN News. 3 May 2023. สืบค้นเมื่อ 21 January 2023.
  171. "Ukraine: deliberate destruction of culture must stop, say rights experts". UN News. 22 February 2023. สืบค้นเมื่อ 27 February 2023.
  172. Aaron Clements-Hunt (7 June 2022). "Russia's Campaign of Urbicide in Ukraine". New Lines Institute. สืบค้นเมื่อ 27 February 2023.
  173. Emily Atkinson (19 March 2022). "Mariupol from above: Drone footage captures crumbling city razed by relentless Russian bombardment". The Independent. สืบค้นเมื่อ 6 May 2023.
  174. Sophia Ankel (7 March 2023). "Before-and-after photos show how Russia's invasion reduced a Ukrainian city to a post-apocalyptic wasteland". Business Insider. สืบค้นเมื่อ 6 May 2023.
  175. Tim Lister, Paul P. Murphy (5 May 2022). "Drone footage shows how Russians destroyed one Ukrainian town in savage battle". CNN. สืบค้นเมื่อ 6 May 2023.
  176. "UN strongly condemns Russian strikes in Odesa, Ukraine". UN News. 24 July 2023. สืบค้นเมื่อ 24 July 2023. Furthermore, the attacks contradict recent statements by Russian authorities concerning precautions taken to spare World Heritage sites in Ukraine, including their buffer zones, the agency said, adding that intentional destruction of cultural sites may amount to a war crime.
  177. Clara Gutman-Argemí, Ashley Ahn, Brawley Benson (9 June 2023). "Ukrainians Are Accusing Russia of Ecocide. What Does That Mean?". Foreign Policy. สืบค้นเมื่อ 11 June 2023.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  178. "Thunberg criticises Russia over Ukraine dam 'ecocide'". Reuters. 9 June 2023. สืบค้นเมื่อ 11 June 2023.
  179. "Statement by the Humanitarian Coordinator for Ukraine, Denise Brown, on the attack on Kramatorsk". United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs. 27 June 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 July 2023. สืบค้นเมื่อ 28 June 2023.
  180. "UN condemns fatal Russian attack on Ukraine's Chernihiv". Hindustan Times. 19 August 2023. สืบค้นเมื่อ 20 August 2023.
  181. "Ukraine: Apparent Russian Cluster Munition Attack". Human Rights Watch. 4 August 2023. สืบค้นเมื่อ 17 August 2023.
  182. "Ukraine war: Russia used cluster weapons at least 24 times, says UN's Bachelet". UN News. 30 March 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 May 2022. สืบค้นเมื่อ 1 April 2022.
  183. "Ukraine: 'Senseless war' has triggered 'colossal torment': Griffiths to Security Council". UN News. 7 December 2022. สืบค้นเมื่อ 7 December 2022.
  184. Beaumont, Peter (6 March 2022). "Ukraine has fastest-growing refugee crisis since second world war, says UN". The Guardian (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 March 2022. สืบค้นเมื่อ 8 March 2022.
  185. "UN's Bachelet condemns 'horrors' faced by Ukraine's civilians". UN News. 22 April 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 April 2022. สืบค้นเมื่อ 24 April 2022.
  186. "UN rights chief deplores Ukraine death toll one year after Russian invasion". UN News. 21 February 2023. สืบค้นเมื่อ 27 February 2023.
  187. "Ukraine: Civilian casualties 28 August 2023". OHCHR. 28 August 2023.
  188. "Over 16,500 civilians killed in Ukraine since Russia's full-scale invasion". Yahoo! Sports. 11 January 2023. สืบค้นเมื่อ 11 July 2023.
  189. "New figures show conflict-related deaths at 28-year high, largely due to Ethiopia and Ukraine wars". Peace Research Institute Oslo. 7 June 2023. สืบค้นเมื่อ 6 August 2023.
  190. "Ukraine: Civilian casualties – 24 February 2022 to 30 June 2023". OHCHR. 7 July 2023. สืบค้นเมื่อ 11 July 2023.
  191. Belam, Martin; Fulton, Adam (2023-07-03). "Russia-Ukraine war live: Moscow has removed 700,000 children from Ukraine, says Russian MP". The Guardian (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-07-03.
  192. 192.0 192.1 Peter Yeung. "Russia committing war crimes by deliberately bombing civilians and aid workers, says Amnesty International | Middle East | News". The Independent. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 November 2020. สืบค้นเมื่อ 28 February 2016.
  193. "Syria: Relentless bombing of civilians in Eastern Ghouta amounts to war crimes". Amnesty International. 20 February 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 September 2020. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  194. Suleiman Al-Khalidi (7 July 2019). "Russian-led assault in Syria leaves over 500 civilians dead: rights groups, rescuers". Reuters. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2022. สืบค้นเมื่อ 23 January 2021.
  195. United Nations Human Rights Council 2020, p. 6.
  196. "Syria-Russia Attack on Refuge an Apparent War Crime". Human Rights Watch. 18 October 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 March 2020. สืบค้นเมื่อ 15 January 2020.
  197. Malachy Browne, Christiaan Triebert, Evan Hill and Dmitriy Khavin (1 December 2019). "A Civilian Camp in Syria Was Bombed. Here's How We Traced the Culprit". New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 March 2020. สืบค้นเมื่อ 15 January 2020.{{cite news}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  198. "Report of the Independent International Commission of Inquiry on the Syrian Arab Republic" (PDF). United Nations Human Rights Council. 1 February 2018. p. 17. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 7 March 2018. สืบค้นเมื่อ 8 March 2018.
  199. Nick Cumming-Bruce (6 March 2018). "U.N. Panel Links Russia to Potential War Crime in Syria". New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 April 2019. สืบค้นเมื่อ 8 March 2018.
  200. Daragahi, Borzou (1 October 2018). "Russia has killed at least 18,000 people since it intervened militarily in Syria three years ago, says monitoring group". The Independent. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 October 2018. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  201. 201.0 201.1 Ibrahim, Nader; Barabanov, Ilya (11 August 2021). "Wagner Group : les secrets de l'intervention russe en Libye dévoilés par une tablette". BBC News (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 21 December 2021.
  202. "CAR: Russian Wagner Group harassing and intimidating civilians – UN experts". Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights. Geneva. 27 October 2021. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 October 2021. สืบค้นเมื่อ 29 October 2021.
  203. "UN urges CAR to cut ties with Russia's Wagner mercenaries over rights abuses". France24. 28 October 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 October 2021. สืบค้นเมื่อ 29 October 2021.
  204. Philip Obaji Jr. (31 January 2022). "Survivors Say Russian Mercenaries Slaughtered 70 Civilians in Gold Mine Massacre". The Daily Beast. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 April 2022. สืบค้นเมื่อ 6 May 2022.
  205. "Central African Republic: Abuses by Russia-Linked Forces". Human Rights Watch. 3 May 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 May 2022. สืบค้นเมื่อ 6 May 2022.
  206. "Russian mercenaries and Mali army accused of killing 300 civilians". TheGuardian.com. 4 May 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 May 2022. สืบค้นเมื่อ 4 May 2022.
  207. "Mali: Massacre by Army, Foreign Soldiers". 5 April 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 April 2022. สืบค้นเมื่อ 4 May 2022.
  208. "Russian mercenaries linked to civilian massacres in Mali". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 May 2022. สืบค้นเมื่อ 4 May 2022.
  209. Wei, Fred (26 July 2003). "Russian officer is finally jailed for murder of Chechen". The Independent. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2018. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  210. "Sergei Lapin". Trianinternational.org. 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2018. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  211. "Russia jails troops over Chechnya". BBC News. 27 December 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2018. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
  212. Amnesty International 2007, p. 17.
  213. "Update in criminal investigation MH17 disaster". Openbaar Ministerie. 24 May 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 May 2018. สืบค้นเมื่อ 24 May 2018.
  214. "Statement by the minister of Foreign Affairs on MH17, 5 July 2017". Government of the Kingdom of the Netherlands. Ministry of Foreign Affairs. 7 July 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 July 2017. สืบค้นเมื่อ 25 December 2018.
  215. "JIT-landen kiezen Nederland voor vervolging neerhalen MH17". Government of the Kingdom of the Netherlands (ภาษาดัตช์). Ministry of Security and Justice. 7 July 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 October 2017. สืบค้นเมื่อ 25 December 2018.
  216. "Three Russians and one Ukrainian to face MH17 murder charges". Guardian. 19 June 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 April 2021. สืบค้นเมื่อ 19 June 2019.
  217. "Investigators officially accuse 4 pro-Russian military officers of missile attack that shot down MH17". Business Insider. 19 June 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 June 2019. สืบค้นเมื่อ 19 June 2019.
  218. Troianovski, Anton; Schemm, Paul; Murphy, Brian (19 June 2019). "Investigators in downing of jet over Ukraine charge 4 suspects with ties to Russian intelligence, pro-Moscow militia". The Washington Post. Moscow; Addis Ababa. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 September 2020. สืบค้นเมื่อ 19 June 2019.
  219. Anna Holligan & Kate Vandy (17 November 2022). "MH17: Three guilty as court finds Russia-controlled group downed airliner". BBC News.
  220. Mercer, David (3 March 2022). "Ukraine invasion: Could Putin stand trial for war crimes and what punishment could he face?". Sky News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 June 2022. สืบค้นเมื่อ 17 June 2022.
  221. Dubler & Kalyk 2018, p. 609.
  222. Yulia Gorbunova (9 November 2021), "Ukraine War Crimes Arrest a Step Toward Justice", Human Rights Watch, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 February 2022, สืบค้นเมื่อ 28 February 2022
  223. "U.S. Senate unanimously condemns Putin as war criminal". Reuters. 15 March 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 March 2022. สืบค้นเมื่อ 30 March 2022.
  224. Elizabeth Whatcott (20 May 2022). "Compilation of Countries' Statements Calling Russian Actions in Ukraine "Genocide"". Just Security. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 June 2022. สืบค้นเมื่อ 15 June 2022.
  225. "Ukraine Reduces Russian Soldier's Life Sentence to 15 Years". The Moscow times. 29 July 2022.
  226. "Ukrainian court jails two Russian soldiers for 11 years for firing at civilians". Times of Israel. 31 May 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 May 2022. สืบค้นเมื่อ 1 June 2022.
  227. Iryna Domaschenko (29 September 2022). "First Verdict in Absentia for Russian War Crimes". Justiceinfo.net.
  228. "Four Russian soldiers sentenced to 11 years in prison for torturing ATO servicemen". Yahoo! News. 23 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
  229. "Russian pilot who bombed Kharkiv gets 12-year prison term in Ukraine". Meduza. 3 March 2023.
  230. "Evidence of Russian crimes mounts as war in Ukraine drags on". Associated Press. 30 December 2022.
  231. "Security Council fails to adopt proposal to create tribunal on crash of Malaysian Airlines flight MH17". UN News. 29 July 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2018. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  232. "Russia, China block Security Council referral of Syria to International Criminal Court". UN News. 22 May 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2018. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  233. "Security Council discusses chemical weapons use in Syria following latest global watchdog report". UN News. 6 March 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 July 2019. สืบค้นเมื่อ 13 July 2019.
  234. "UN General Assembly votes to suspend Russia from the Human Rights Council". UN News. 16 March 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 April 2022. สืบค้นเมื่อ 18 April 2022.
  235. "European Parliament declares Russia a state sponsor of terrorism". Reuters. 23 November 2022. สืบค้นเมื่อ 24 November 2022.
  236. "EU Parliament Calls for Special Tribunal to Punish Russian War Crimes in Ukraine". The Moscow Times. 19 January 2023. สืบค้นเมื่อ 21 January 2023.
  237. International Criminal Court 2017, p. 20.
  238. International Criminal Court 2017, p. 22.
  239. "ICC authorises Russia-Georgia war crimes investigation". BBC News. 27 January 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2018. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  240. Julian Borger (28 February 2022). "ICC prosecutor to investigate possible war crimes in Ukraine". Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 February 2022. สืบค้นเมื่อ 21 December 2018.
  241. "Russia: International Criminal Court issues arrest warrant for Putin". UN News. 17 March 2023.
  242. "Ukraine: ICC Warrants Advance Justice". Human Rights Watch. 17 March 2023.
  243. "Russia: ICC's arrest warrant against Putin a step towards justice for victims of war crimes in Ukraine". Amnesty International. 17 March 2023.
  244. Natasha Bertrand, Jennifer Hansler (27 July 2023). "Biden to allow US to share evidence of Russian war crimes with International Criminal Court". CNN.
  245. "International Court orders Russia to 'immediately suspend' military operations in Ukraine". UN News. 16 March 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2022. สืบค้นเมื่อ 18 April 2022.
  246. "Human Rights Council to establish Commission of Inquiry on Ukraine". UN News. 3 March 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2022. สืบค้นเมื่อ 15 May 2022.

สิ่งพิมพ์เผยแพร่[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

รายงานขององค์การระหว่างประเทศและองค์การนอกภาครัฐ