ลำดับเวลารัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ลำดับเวลาของ รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549

ก่อนรัฐประหาร[แก้]

  • ตอนสายของวันที่ 9 กันยายน - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี​รักษาการในขณะนั้น ขึ้นเครื่องที่ บน.6 เพื่อเดินทางไปประเทศทาจิกิสถาน ท่ามกลางการอารักขาของหน่วยทหารพร้อมอาวุธสงคราม เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่นานมีความพยายามลอบสังหารรักษาการนายกรัฐมนตรี (ระเบิดติดรถ)[1]
  • 10 กันยายน - พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางถึงกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เพื่อเข้าร่วมประชุมอาเซม มีข่าวลือเรื่องปฏิวัติหนาหูขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ บอกกับนักข่าวว่าเป็นเพียงการปล่อยข่าว ในขณะที่เมืองไทย รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ. บรรณวิทย์ เก่งเรียน แสดงความไม่พอใจอย่างมากต่อการแทรกแซงโผย้ายทหารของรัฐบาลและ พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา[1]
  • 11 กันยายน - พ.ต.ท.ทักษิณ และคณะ เดินทางไปพักผ่อนที่อังกฤษ เนื่องจากเกิดเป็นไข้ขึ้นมากะทันหัน หลังเสร็จการประชุมอาเซมที่ประเทศฟินแลนด์ เพื่อเตรียมตัวร่วมประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่ประเทศคิวบา[1]
  • 13 กันยายน - พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ว่าทหารไม่คิดปฏิวัติ[1]
  • 15 กันยายน - พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์นักข่าวระหว่างเดินทางไปประเทศคิวบาว่าอาจจะเว้นวรรคทางการเมือง[1]

วันที่ 19 กันยายน[แก้]

เช้าวันที่ 19 กันยายน มีคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเตรียมเข้าประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาตินครนิวยอร์ก เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วม โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. อ้างว่ากระชั้นชิดเกินไป ยกเว้น พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ทำให้มีกระแสข่าวลือการปฏิวัติรัฐประหารแพร่สะพัดไปทั่วทำเนียบรัฐบาล และกระจายสู่ภายนอกโดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย[2]

เวลา 18.00 น. นายสมชาย มีเสน ผู้จัดรายการวิทยุ เอฟ.เอ็ม. 92.25 เมกกะเฮิร์ซ นัดผู้ฟังรายการจำนวนหนึ่งเข้าพบ พล.อ.สนธิ ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เพื่อขอให้ทหารให้ความคุ้มครองกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จะชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ วันพรุ่งนี้

ช่วงพลบค่ำมีข่าวว่า กำลังทหารหน่วยรบพิเศษ จากจังหวัดลพบุรี เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ข่าวระบุว่าเป็นเรื่องการทำบุญ หม่อมหลวงบัว กิติยากร หลังจากนั้นประมาณครึ่งชั่วโมง สำนักข่าวไทยรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศเลื่อนเดินทางกลับประเทศไทยเร็วขึ้นจากวันที่ 22 กันยายน เป็นเวลา 05.00 น. ของวันที่ 21 กันยายน[2]

ประมาณ 21.00 น. กำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยสงครามพิเศษลพบุรี เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก จากนั้นอีกครึ่งชั่วโมงสถานการณ์เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ได้ยุติรายการปกติและเปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี มีข่าวลืออีกว่าทหารเข้าควบคุมตัว พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการ รมว.กลาโหม อีกกระแสข่าวบอกว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางไปประเทศอังกฤษตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน[2]

ช่วงนั้น น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางมายังบริเวณหลังตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ไล่เลี่ยกัน พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม ที่เดินทางตามเข้ามา แต่ไม่ได้ลงจากรถ ก่อนที่ น.พ.พรหมินทร์ จะหอบเอกสารปึกใหญ่ ขึ้นรถ พล.ต.อ.ชิดชัย และเคลื่อนออกไปจากทำเนียบรัฐบาลด้วยกัน กำลังคอมมานโดตำรวจกองปราบปราม เดินทางไปรักษาความปลอดภัยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า[2]

เวลา 22.00 น. ขบวนรถถังเคลื่อนเข้าคุมเชิงที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และถนนราชดำเนิน สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นรายงานข่าวด่วน สถานการณ์ในประเทศไทย หลังมีผู้เห็นกองกำลังทหารตามสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ รักษาการนายกรัฐมนตรี โทรศัพท์สั่งการไปยังสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เตรียมการถ่ายทอดเสียงผ่านทางโทรศัพท์ แต่ขณะที่กำลังรอสาย ทหารเข้าควบคุมสถานีฯ ได้เสียก่อน[2]

สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ แพร่สัญญาณเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อเวลา 22.15 น. ออกประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง เพื่อควบคุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยสั่งให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และให้รายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย รวมถึงแต่งตั้ง พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส. เป็นผู้มีอำนาจแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน[2]

ไม่กี่นาทีต่อมา ทหารจำนวนมาก ออกมาตรึงกำลังตามถนนต่าง ๆ ตั้งแต่แยกเกียกกาย ผ่านมาถึง ถ.ราชสีมา บริเวณสวนรื่นฤดี สี่แยกราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) โดยมีทหารแต่งกายลายพรางเต็มยศเป็นผู้ควบคุมกำลัง จากนั้นสัญญาณของสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ถูกตัดลง มีรายงานว่า เนื่องจากทหารตัดไฟฟ้าที่เข้าสู่สถานีฯ ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนจะตัดเข้าโฆษณา และเข้าสู่รายการปกติ โดยมีรายงานข่าวว่า กำลังทหารบุกเข้าควบคุม ที่ห้องส่งสัญญาณออกอากาศ พร้อมควบคุมตัวนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ กก.ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท (ภายหลังนายมิ่งขวัญชี้แจงว่า ตนไม่ได้อยู่ที่สถานีในขณะนั้น และไม่ได้ถูกจับกุม[3])

เวลาประมาณ 22.25 น. สถานีโทรทัศน์เกือบทุกช่องตัดเข้ารายการเพลง เปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี ยกเว้นช่อง 9 และช่อง 3 ที่นำเสนอรายการปกติ โดยมีรายงานข่าวว่ามีกำลังทหารเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง โดยเฉพาะ โมเดิร์นไนน์ ทีวี และไอทีวี หลังจากนั้นสถานีโทรทัศน์ทุกช่องเริ่มเชื่อมสัญญาณกับ ททบ.5 และเปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี ยกเว้นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอย่างเอเอสทีวี และ เนชั่นแชนนัล ทางสถานีโทรทัศน์ไททีวี ช่อง 1 ที่ยังคงรายงานสถานการณ์ได้ตามปกติ กำลังทหารส่วนหนึ่งได้เข้าควบคุมตัว พล.ต.ต.วินัย ทองสอง ผบก.กองปราบปรามและ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต (เสธ.ไอซ์) ที่ปรึกษากองทัพบก[2]

เวลา 22.54 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ออกอากาศทางสถานีทุกช่อง ขึ้นคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมขออภัยในความไม่สะดวก และเปิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ประกอบ ด้านสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีเผยแพร่ข่าวรถถังและกำลังทหารควบคุมสถานการณ์ภายใน กทม. ช่วงหนึ่งได้แพร่ภาพกลุ่มชาวบ้านใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปทหารเหล่านั้น โดยไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวแต่อย่างใด มีกำลังทหารจำนวนหนึ่งพร้อมอาวุธครบมือบุกเข้ายึดอาคารชินวัตร เนื่องจากเป็นจุดสำคัญในการส่งสัญญาณสื่อสาร รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวีและบ้านจันทร์ส่องหล้า[2]

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศทางเอเอสทีวี ยกเลิกการชุมนุมใหญ่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 กันยายน เวลา 17.00 น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น และเนื่องจากอยู่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก

เวลา 23.15 น. พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อดีตโฆษก ททบ.5 อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่แสดงไว้ในหน้าจอก่อนหน้านี้ซ้ำถึงสองครั้ง จากนั้นทหารจาก ป.พัน 21 สังกัด ร.21 ประมาณ 30 นาย พร้อมอาวุธครบมือเดินทางไปยังสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล ที่อาคารเนชั่นทาวเวอร์ โดยยืนยันว่า มาดูแลความสงบเรียบร้อยทั่วไป[2]

เวลาประมาณ 23.30 น. คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ควบคุมตัว พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งนายดุสิต ศิริวรรณ อดีตผู้ดำเนินรายการผู้สนับสนุนคนสำคัญ มากักตัวไว้ที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) กองบัญชาการทหารสูงสุด[4] เกือบเที่ยงคืน ผู้บัญชาทหารทุกเหล่าทัพเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

วันที่ 20 กันยายน[แก้]

  • พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อ่านประกาศคณะปฏิรูปฯ
  • เวลา 01.13 น. ทหารได้กันพื้นที่ไม่ให้ประชาชนผ่านโดยมีรถถังคุมบริเวณสี่จุดรอบเขตพระนครดังนี้
    • จุดที่ 1 บริเวณสนามม้านางเลิ้ง 1 คัน
    • จุดที่ 2 บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า 2 คัน ซึ่งมีขนาดใหญ่ติดอาวุธครบถ้วน
    • จุดที่ 3 บริเวณสวนจิตรลดา 1 คัน
    • จุดที่ 4 บริเวณเชิงสะพานปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี 1 คัน ซึ่งเป็นรถยานเกราะ ไม่มีอาวุธ
  • เวลา 01.24 น. พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อ่านประกาศคณะปฏิรูปฯ
    • ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 4/2549 เรื่อง อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ให้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินแก่หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ
  • เวลา 05.30 น. น.ส.ทวินันท์ คงคราญ หัวหน้า ปชส. ททบ.5 อ่านคำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 3/2549 แต่งตั้งให้แม่ทัพภาค 1 แม่ทัพภาค 2 แม่ทัพภาค 3 และแม่ทัพภาค 4 เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่แต่ละกองทัพภาค
  • เวลา 08.00 น. พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค แถลงว่า พล อ.สนธิ บุญยรัตกลิน จะออกแถลงการณ์ในเวลา 9.00 น. และให้สถานีโทรทัศน์ออกรายการตามปกติของแต่ละสถานี
  • เวลา 08.12 น. โทรทัศน์เริ่มออกอากาศรายการตามปกติ
  • เวลา 09.20 น. พล อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อ่านประกาศแถลงการณ์ คณะปฏิรูปฯ พร้อมด้วยผู้นำเหล่าทัพ
  • เวลา 10.45 น. น.ส.ทวินันท์ คงคราญ อ่านประกาศคณะปฏิรูปฯ
    • ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 5/2549 เรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษา
    • ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 6/2549 เรื่อง ความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ชาวไร่
    • ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 7/2549 เรื่อง ห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมือง
    • ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 8/2549 เรื่อง ห้ามการกักตุนสินค้าและขึ้นราคาสินค้า
    • ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 9/2549 เรื่อง เรื่องนโยบายต่างประเทศ
    • ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 10/2549 เรื่อง การขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสาร
  • เวลา 11.00 น. พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อ่านประกาศและคำสั่งคณะปฏิรูปฯ
    • ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 11/2549 เรื่อง แต่งตั้งผู้มีอำนาจในคณะปฏิรูปฯ
    • คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 4/2549 เชิญเอกอัครราชทูต มาชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เวลา 13.00 น. และจะเปิดแถลงข่าวต่อสื่อไทยและต่างประเทศ และให้โอกาสซักถามข้อสงสัย เวลา 14.00 น.
    • คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 5/2549 เรื่อง ให้กระทรวง ICT ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
  • เวลา 14.00 น. กลุ่มนักศึกษาล้อการเมืองธรรมศาสตร์ ขึ้นป้าย CUT OUT ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร ของพลเอก สนธิฯ
  • เวลา 18.00 น. ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 12/2549 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้ คตง. พ้นจากตำแหน่ง และ ผู้ว่า สตง. (คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา) คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป และให้มีอำนาจของ คตง.
  • เวลา 19.00 น. ประกาศคณะปฏิรูปฯ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกาศ ณ วันที่ 20 กันยายน 2549 เป็นปีที่ 61 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก
  • เวลา 21.30 น. คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 9/2549 ให้นายยงยุทธ ติยะไพรัช และนายเนวิน ชิดชอบ ไปรายงานตัวที่กองทัพบก ภายในวันที่ 21 กันยายน
  • เวลา 21.30 น. ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 13/2549 ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กรรมการการเลือกตั้ง มีผลใช้บังคับต่อไป ให้ กกต.ทั้ง 5 คน เป็นผู้มีอำนาจควบคุมและจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น

วันที่ 21 กันยายน[แก้]

  • เวลา 16.20 น. ประกาศคณะปฏิรูปฯ
    • ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 14/2549 ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา มีผลใช้บังคับต่อไป
    • ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 15/2549 ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับต่อไป และห้ามพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุม หรือ ดำเนินการใด ๆ ในทางการเมือง

วันที่ 22 กันยายน[แก้]

  • เวลา 12.00 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถ่ายทอดเทปบันทึกภาพ พิธีรับสนองพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็น หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข‎

วันที่ 1 ตุลาคม[แก้]

วันที่ 2 ตุลาคม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 โฟกัส : ย้อนรอย 11 วันก่อนจะเป็น'นายกฯเร่ร่อน' เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 20 กันยายน 2549
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 ลำดับนาทีต่อนาที รัฐประหารทักษิณ, 20 กันยายน 2549
  3. มติชน, "มิ่งขวัญ"ปัดไม่ได้อยู่ใน"อสมท" ช่วง"ทักษิณ"ออกประกาศฉุกเฉิน, 21 กันยายน 2549
  4. คมชัดลึก, คุมตัวชิดชัย-มิ้ง-ตท.10เนวินบินสมทบทักษิณ, 20 กันยายน 2549

ดูเพิ่ม[แก้]