คริสตจักรที่ 1 สำเหร่
คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ | |
---|---|
First Presbyterian Church, Samray | |
บริเวณด้านหน้าวัด มุมหันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา | |
ที่ตั้ง | เลขที่ 37 ซอยเจริญนคร 59 ถนนเจริญนคร แขวงสำเหร่ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ประเทศไทย |
นิกาย | โปรเตสแตนต์ |
ประวัติ | |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2403 |
ผู้ก่อตั้ง | คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน |
สถาปัตยกรรม | |
ประเภทสถาปัตย์ | ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูน |
รูปแบบสถาปัตย์ | นีโอคลาสสิก โคโลเนียล |
ปีสร้าง | พ.ศ. 2453 |
โครงสร้าง | |
จำนวนชั้น | 1 |
การปกครอง | |
มุขมณฑล | คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน |
คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ (อังกฤษ: The First Presbyterian Church of Bangkok) เป็นโบสถ์คริสต์ของนิกายโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 37 ซอยเจริญนคร 59 ถนนเจริญนคร แขวงสำเหร่ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เป็นคริสตจักรแห่งแรกของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน (The American Presbyterian Mission) ซึ่งมิชชันนารีคณะนี้ได้เริ่มวางรากฐานการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทยตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
โบสถ์คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี พ.ศ. 2547 จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ[1]
มิชชันนารีโปรเตสแตนท์ยุคบุกเบิกรุ่นแรก
[แก้]ค.ศ. 1828 ศาสนาจารย์นายแพทย์ คาร์ล เฟรเดอริค ออกัสตัส กุ๊ตสลาฟ (Dr.Karl Frederick Augustus Gustaff) และศาสนาจารย์จาคอบ ทอมลิน (Rev. Jacob Tomlin) เป็นมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ 2 ท่านแรกที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย จากนั้นเป็นต้นมามิชชันนารีจากคณะอื่น ๆ เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง คือคณะอเมริกันแบ๊บติสต์ได้ส่ง ศจ.เทเลอร์ โจนน์ เข้ามาในปี ค.ศ. 1833 คณะอเมริกันบอร์ด ได้ส่ง ศจ .ชาร์ล โรบินสัน และ ศจ.สตีเฟน จอห์สัน เข้ามาในปี ค.ศ. 1834 แต่การประกาศศาสนาในประเทศไทยขณะนั้นยังมีความยากลำบากต้องประสบกับการต่อต้านต่าง ๆ นานา มิชชันนารีบางท่านเจ็บป่วยด้วยโรคในเขตร้อน เช่น อหิวาตกโรค ทำให้หลายคณะต้องล้มเลิกการประกาศศาสนาในประเทศไทย
การเข้ามาของมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน
[แก้]ค.ศ. 1840 คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้ส่ง ศจ.วิลเลียม พี บูแอล (William P. Buell) และภรรยาเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแต่มาพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ไม่นานภรรยาท่านก็เจ็บป่วยทำให้ต้องเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา งานของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้เริ่มวางฐานรากอย่างถาวรและจริงจัง โดยการเข้ามาของ ศจ.สตีเฟน แมตตูน (Rev. Stephen Mattoon, D.D.)[2] และภรรยา (Mary Lourie Mattoon) กับ ศจ. ซามูแอล เรโนล์ เฮาส์ (Rev. Samuel Reynolds House, M.D.)[3] ในปี ค.ศ.1847 ชาวไทยเรียกหมอแมตตูนว่า “หมอมะตูม” และหมอเฮาส์ว่า “หมอเหา” มิชชันนารีกลุ่มนี้ยังพักอาศัยร่วมอยู่กับมิชชันนารีกลุ่มอื่นที่บริเวณปากคลองบางหลวงและยังไม่ได้สร้างพระวิหารสำหรับนมัสการแต่ประการใด ค.ศ. 1849 ศจ.สตีเฟน บุช (Rev.Stephen Bush)และภรรยาเดินทางมาสบทบ
การตั้งคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1 กรุงเทพ
[แก้]ในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1849[4] คณะมิชชันนารี 5 คน ประกอบด้วย ศจ. สตีเฟน แมตตูนและภรรยา ศจ. สตีเฟน บุช และภรรยา และศจ. ซามูเอล เรโนล์ เฮาส์ ได้ประชุมอธิษฐานร่วมกันก่อตั้งคริสตจักรขึ้น เรียกว่าคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1 กรุงเทพฯ โดยให้บ้านพักของมิชชั่นนารีบริเวณกุฎีจีน (หลังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร) เป็นสถานที่นมัสการ โดยมี ศจ. สตีเฟน แมตตูน เป็นศิษยาภิบาลคนแรกของคริสตจักรแห่งนี้
หลังจากตั้งคริสตจักรไม่กี่วัน คณะมิชชั่นก็ได้มีโอกาสต้อนรับสมาชิกคนแรก (Chinese Christian) คือ ท่านซินแส กีเอ็ง ก๊วยเซียน (Quasien Kieng) เดิมท่านซินแส เป็นคริสเตียนในสังกัดของคณะอเมริกันบอร์ด (A.B.C.F.M.) ต่อมามิชชั่นคณะนั้นได้โยกย้ายจากสยามไปทำงานในประเทศจีน ท่านซินแสจึงย้ายสมาชิกภาพเข้ามาสังกัดคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน (ท่านเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนชายสมัยนั้น ที่ต่อมาคือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย)[5]
ย้ายมาสำเหร่
[แก้]ค.ศ.1857 ได้ย้ายบ้านพักมิชชันนารี โรงเรียน สถานที่ทำงาน จากกุฎีจีนมาที่สำเหร่เพราะมีอาณาเขตกว้างขวางกว่าและเพื่อรองรับการขยายการทำงานในอนาคต วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1859 “นายชื่น” เป็นคนไทยคนแรกที่รับเชื่อโดยการประกาศของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน[6]
สร้างพระวิหารหลังแรก
[แก้]ค.ศ. 1860 ได้เริ่มสร้างพระวิหารหลังแรกโดยการเรี่ยไรเงินจากพ่อค้ากะลาสี ทูต และชาวต่างประเทศที่พำนักในประเทศไทย และยังได้เรี่ยไรประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ใช้เงินในการก่อสร้าง 700 ดอลลาร์ และมีพิธีมอบถวายในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1862 นับนั้นเป็นต้นมาคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ก็เป็นศูนย์กลางการทำงานของมิชชั่นนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ค.ศ. 1890 ศาสนาจารย์จอห์น เอ. เอกิ้น ได้ย้ายโรงเรียนของท่านจากกุฎีจีนมารวมกับโรงเรียนของมิชชั่นที่สำเหร่ และใช้ชื่อว่า “โรงเรียนสำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูล” ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1902 โรงเรียนนี้ย้ายมาที่ถนนประมวญและเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” ในเวลาต่อมา
ศิษยาภิบาลคนไทยคนแรกของคริสตจักร
[แก้]วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1896 คริสตจักรได้สถาปนา ศบ.ย่วญ เตียงหยก เป็นศิษยาภิบาลประจำคริสตจักรนับเป็นศิษยาภิบาลคนไทยคนแรกของคริสตจักร ค.ศ. 1902 ผป.ปลีก อุนยะวงษ์ ก่อตั้งคณะ King’s Daughters หรือคณะราชธิดาแห่งคริสตจักร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคณะสตรีคริสเตียนของคริสตจักรในเวลาต่อมา
สร้างพระวิหารหลังปัจจุบัน
[แก้]ค.ศ. 1910 สร้างพระวิหารปัจจุบัน โดยรื้อพระวิหารหลังเดิมลงและสร้างบนที่เดิม แต่ยังคงรูปแบบสถาปัตยากรรมของพระวิหารหลังแรกไว้ เงินที่ใช้ในการก่อสร้างมาจากการเรี่ยไรสมาชิกของคริสตจักรใช้เงินก่อสร้างมากกว่า 7,000 บาท มีพิธีมอบถวายในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1910 ซึ่งพระวิหารนี้ยังคงใช้นมัสการพระเจ้ามาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ค.ศ. 1912 สร้างหอระฆัง ค.ศ. 1963 สร้างศาลาเตียงหยก ค.ศ. 1988 ขยายพระวิหารให้ยาวกว่าเดิม 3.50 เมตร ส่วนบริเวณธรรมาสน์ได้ขยายออกไปอีก 4.50 เมตร เพื่อรองรับจำนวนผู้มานมัสการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
คริสตจักรในปัจจุบัน
[แก้]ในปัจจุบันคริสตจักรได้มีการพัฒนาขึ้นในหลาย ๆ ด้าน อาทิเช่น ได้มีการพัฒนาเรื่องของอาคารสถานที่ ด้านการประกาศ การเลี้ยงดูสมาชิก และการสร้างสาวก เป็นต้น ปัจจุบันคริสตจักรมีศิษยาภิบาล คือศาสนาจารย์ ประยูร คาระวานนท์ ผู้ปกครองประจำการ 11 คน มัคนายก 7 คน และกรรมการพันธกิจต่าง ๆ อีก 7 ด้านคือ คริสเตียนศึกษา การประกาศ ดนตรี บ้านและครอบครัว ปฏิคม เยี่ยมเยียน และประชาสัมพันธ์ ปัจจุบันคริสตจักรมีสมาชิกจำนวน 205 คน ปัจจุบัน คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ อยู่ในสังกัดคริสตจักรภาคที่ 6 ของสภาคริสตจักรในประเทศไทย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ The Cloud. (2564). คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำ. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564
- ↑ "Sketch of the life of Rev. Stephen Mattoon, D.D. Digital Collection History of Johnson C. Smith University Page 10".
- ↑ "Samuel Reynolds House of Siam Pioneer Medical Missionary 1847-1876 by George Haws Feltus".
- ↑ "Samuel Reynolds House of Siam, pioneer medical missionary, 1847-1876, by George Haws Feltus. Page 76".
- ↑ "Samuel Reynolds House of Siam, pioneer medical missionary, 1847-1876, by George Haws Feltus. Page 77".
- ↑ "Sketch of the life of Rev. Stephen Mattoon, D.D. Digital Collection History of Johnson C. Smith University Page 39".
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ คริสตจักรที่ 1 สำเหร่
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
13°42′19″N 100°29′39″E / 13.705292°N 100.494071°E