แปะเฉีย
แปะเฉีย | |||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ภาพวาดแปะเฉียในยุค ราชวงศ์ชิง | |||||||||||
ชื่อภาษาจีน | |||||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 呂伯奢 | ||||||||||
อักษรจีนตัวย่อ | 吕伯奢 | ||||||||||
|
แปะเฉีย หรือ ลิแปะเฉีย มีชื่อในสำเนียงจีนกลางว่า ลฺหวี่โป๋เชอ (จีน: 呂伯奢; พินอิน: Lǚ Bóshē) เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก เป็นคนรู้จักของโจโฉ ขุนศึกผู้ขึ้นมามีอำนาจในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและสร้างรากฐานในการสถาปนาวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน ตามแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โจโฉสังหารครอบครัวของแปะเฉียในปี ค.ศ. 189 หรือ 190 เมื่อผ่านบ้านของแปะเฉียขณะที่เดินทางจะไปเมืองตันลิว (陳留 เฉินหลิว; ปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองไคเฟิง มณฑลเหอหนาน) หลังจากหลบหนีออกจากเมืองหลวงลกเอี๋ยง แรงจูงใจในการฆ่าของโจโฉนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด แหล่งข้อมูลหนึ่งได้อ้างว่าที่โจโฉสังหารครอบครัวของแปะเฉียเพื่อป้องกันตัวเอง ขณะที่อีกสองแหล่งข้อมูลระบุว่าโจโฉสงสัยว่าครอบครัวของแปะเฉียวางแผนทำร้าย โจโฉจึงชิงลงมือสังหารครอบครัวของแปะเฉียเสียก่อน เหตุการณ์นี้ได้มีการกล่าวถึงในวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก โดยระบุว่าตัวแปะเฉียก็ถูกโจโฉสังหารเช่นกัน
ในบันทึกทางประวัติศาสตร์
[แก้]มีบันทึกทางประวัติศาสตร์สามแหล่งที่บันทึกถึงการสังหารครอบครัวของแปะเฉีย
เว่ยชู (魏書) บันทึกไว้ว่า:
โจโฉเห็นว่าตั๋งโต๊ะมีแนวโน้มจะล้มเหลวจึงปฏิเสธตำแหน่งที่ตั๋งโต๊ะจะแต่งตั้งให้แล้วหนีกลับบ้านเกิดโดยมีทหารม้าติดตามมาสองสามคน ระหว่างทางได้ผ่านมาทางเฉิงเกา (成臯; ปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองสิงหยาง มณฑลเหอหนาน) โจโฉเข้าพักแรมในบ้านของแปะเฉียที่เป็นคนรู้จักของโจโฉ ขณะนั้นแปะเฉียไม่อยู่ที่บ้าน บุตรชายของแปะเฉียและแขกคนอื่นพยายามปล้นม้าและข้าวของของโจโฉ โจโฉจึงฆ่าคนเหล่านั้นตายไปหลายคน [1]
ชื่ออฺวี่ (世語) บันทึกไว้ว่า:
โจโฉผ่านมาทางบ้านของแปะเฉีย แปะเฉียออกไปข้างนอกเหลือเพียงบุตรชายห้าคนอยู่ที่บ้าน บุตรชายของแปะเฉียต้อนรับโจโฉดังแขกและจัดงานเลี้ยงให้โจโฉ ขณะนั้นโจโฉหลบหนีจากตั๋งโต๊ะและสงสัยว่าบุตรชายของแปะเฉียวางแผนทำร้าย คืนนั้นโจโฉจึงสังหารคนในบ้านแปะเฉียไปแปดคนแล้วหลบหนีไป [2]
สาจี้ (雜記) บันทึกไว้ว่า:
โจโฉได้ยินเสียงเครื่องครัว (อาจเป็นมีด) และสงสัยว่าคนเหล่านั้น (ครอบครัวของแปะเฉีย) วางแผนทำร้าย คืนนั้นโจโฉจึงสังหารคนเหล่านั้นแล้วหลบหนีไป หลังจากนั้นโจโฉก็พูดด้วยความเสียใจว่า "ข้ายอมทำผิดต่อผู้อื่นดีกว่าจะให้ผู้อื่นทำผิดต่อข้า!" (寧我負人,毋人負我!) จากนั้นจึงออกเดินทางต่อไป[3]
ในวรรณกรรม สามก๊ก
[แก้]เหตุการณ์การสังหารครอบครัวของแปะเฉียปรากฏปรากฏในวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ตอนที่ 4 ตรงกับใน สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 4
ในวรรณกรรม แปะเฉียเป็นพี่น้องร่วมสาบานกับโจโก๋ บิดาของโจโฉ โจโฉจึงนับถือแปะเฉียเป็นลุง โจโฉและตันก๋งผ่านมาทางบ้านของแปะเฉียระหว่างเดินทางไปยังบ้านเกิดของโจโฉหลังจากโจโฉหนีออกจากเมืองลกเอี๋ยงเพราะลอบสังหารตั๋งโต๊ะไม่สำเร็จ แปะเฉียให้การต้อนรับเป็นอย่างดีแล้วบอกครอบครัวกับคนรับใช้ให้ปฏิบัติต่อแขกเป็นอย่างดี ตัวแปะเฉียเดินทางเข้าเมืองเพื่อซื้อสุรามาเพิ่มในงานเลี้ยง ระหว่างที่โจโฉพักในบ้านของแปะเฉีย โจโฉได้ยินเสียงลับมีดและเสียงคนรับใช้ของแปะเฉียพูดว่า "เราจะมัดก่อนหรือ หรือจะฆ่าทีเดียว" โจโฉจึงสงสัยว่าแปะเฉียแสร้งทำเป็นใจดีด้วย แต่แท้จริงแล้วคิดทำร้าย โจโฉและตันก๋งจึงออกมาสังหารทุกคนในบ้านของแปะเฉีย ภายหลังโจโฉและตันก๋งก็ได้รู้ความจริงว่าที่คนรับใช้พูดนั้นแท้จริงแล้วกำลังพูดถึงการฆ่าหมูสำหรับงานเลี้ยง เมื่อเห็นว่าพวกตนสังหารผู้บริสุทธิ์ โจโฉและตันก๋งจึงรีบเก็บข้าวของแล้วออกจากบ้านของแปะเฉีย ระหว่างทางได้พบกับแปะเฉียที่เดินทางกลับจากการซื้อสุรา แปะเฉียชวนให้โจโฉพักอยู่ที่บ้านก่อน ฝ่ายโจโฉถามแปะเฉียว่า "มีใครอยู่ข้างหลังท่าน" เมื่อแปะเฉียหันกลับไป โจโฉจึงใช้กระบี่แทงแปะเฉียจากด้านหลังและฆ่าแปะเฉียตาย ตันก๋งตกใจถามโจโฉว่า "เมื่อกี้ท่านฆ่าคนเหล่านั้นด้วยความเข้าใจผิด แล้วเหตุใดจึงฆ่าแปะเฉียอีกเล่า" โจโฉตอบว่า "ถ้าแปะเฉียกลับไปบ้านและเห็นคนครอบครัวตายกันหมด ท่านคิดว่าแปะเฉียจะปล่อยเราไว้หรือ แปะเฉียต้องพาทหารมาไล่ตามเรา เมื่อนั้นเราจะเดือดร้อน" ตันก๋งพูดว่า "ที่ท่านฆ่าคนเช่นนี้ผิดนัก" โจโฉตอบว่า "ข้ายอมทำผิดต่อโลก แต่จะไม่ยอมให้โลกทำผิดต่อข้า" (寧教我負天下人,休教天下人負我) ตันก๋งไม่ได้ว่าประการใด คืนนั้นตันก๋งก็เดินทางแยกตัวจากโจโฉไป [4][5]
วิเคราะห์
[แก้]ล่อกวนตง ผู้เขียนวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ได้บิดเบือนคำพูดของโจโฉที่พูดหลังจากสังหารครอบครัวของแปะเฉีย การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนคำว่า "ผู้อื่น" (人; ความหมายตามตัวอักษรคือ "คน") เป็นคำว่า "โลก" (天下人; ความหมายตามตัวอักษรคือ "คนในใต้ฟ้า"). อี้ จงเทียน ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมินได้สันนิษฐานว่าโจโฉอาจจะพยายามปลอบใจตัวเองด้วยความสำนึกผิดหลังสังหารครอบครัวของแปะเฉีย อี้ จงเทียนเชื่อว่าล่อกวนตงจงใจเปลี่ยนคำในคำพูดของโจโฉเพื่อสะท้อนว่าโจโฉไม่มีความรู้สึกสำนึกผิด เพราะคำว่า "โลก" มีความหมายที่หนักหน่วงกว่าคำว่า "ผู้อื่น" จึงเป็นการเพิ่มภาพลักษณ์ตัวร้ายของโจโฉในวรรณกรรม [6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ (魏書曰:太祖以卓終必覆敗,遂不就拜,逃歸鄉里。從數騎過故人成臯呂伯奢;伯奢不在,其子與賔客共劫太祖,取馬及物,太祖手刃擊殺數人。) อรรถาธิบายจากเว่ยชู ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
- ↑ (世語曰:太祖過伯奢。伯奢出行,五子皆在,備賔主禮。太祖自以背卓命,疑其圖己,手劔夜殺八人而去。) อรรถาธิบายจากชื่ออฺวี่ ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
- ↑ (孫盛雜記曰:太祖聞其食器聲,以為圖己,遂夜殺之。旣而悽愴曰:「寧我負人,毋人負我!」遂行。) อรรถาธิบายจากสาจี้ ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
- ↑ สามก๊ก (ซันกั๋วเหยี่ยนอี้) ตอนที่ 4
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 4
- ↑ Yi (2006).
- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ).
- ล่อกวนตง (ศตวรรษที่ 14). สามก๊ก (ซันกั๋วเหยี่ยนอี้).
- เผยซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อจู้).
- เจ้าพระยาพระคลัง (หน). สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)
- อี้, จงเทียน (2006). Huang, Tingting (บ.ก.). 品三國 [Pin San Guo] (ภาษาจีน). ฮ่องกง: Joint Publishing (H.K.) Co., Ltd. ISBN 978-962-04-2609-4.