ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าชายกุสตาฟ อดอล์ฟ ดยุกแห่งเวสเตร์บอตเติน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าชายกุสตาฟ อดอล์ฟ
ดยุกแห่งเวสเตร์บอตเติน
เจ้าชายกุสตาฟ อดอล์ฟเมื่อ ค.ศ. 1932
ประสูติ22 เมษายน ค.ศ. 1906(1906-04-22)
สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
สวรรคต26 มกราคม ค.ศ. 1947(1947-01-26) (40 ปี)
โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
ฝังพระศพ4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947
สุสานหลวงโซลนา ประเทศสวีเดน
พระชายาเจ้าหญิงซิบิลลาแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (2475–90)
พระนามเต็ม
กุสตาฟ อดอล์ฟ ออสการ์ เฟรดิก อาร์ตูร์ เอดมุนด์
พระบุตร5 พระองค์
ราชวงศ์แบร์นาด็อต
พระบิดาสมเด็จพระเจ้ากุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟแห่งสวีเดน
พระมารดาเจ้าหญิงมาร์กาเรตแห่งคอนน็อต
ธรรมเนียมพระยศของ
ดยุกแห่งเวสเตร์บอตเติน
ตราประจำพระอิสริยยศ
การทูลHis Royal Highness
(ใต้ฝ่าพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า'
การขานรับYour Royal Highness
(พะย่ะค่ะ/เพคะ)

เจ้าชายกุสตาฟ อดอล์ฟ ดยุกแห่งเวสเตร์บอตเติน (22 เมษายน ค.ศ. 1906 – 26 มกราคม ค.ศ. 1947) เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟแห่งสวีเดน กับเจ้าหญิงมาร์กาเรตแห่งคอนน็อต และเป็นพระราชชนกในสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน และเป็นพระมาตุลาในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และสมเด็จพระราชินีอันเนอ-มารีแห่งกรีซ

พระประวัติ

[แก้]

เจ้าชายกุสตาฟ อดอล์ฟเป็นพระราชบุตรพระองค์ใหญ่จากทั้งหมดห้าพระองค์ ในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์จะเรียกพระองค์อย่างลำลองว่า เอดมุนด์ เสกสมรสกับเจ้าหญิงซิบิลลาแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา พระธิดาในเจ้าชายคาร์ล เอดูอาร์ท ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา และเป็นพระราชปนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 19-20 ตุลาคม ค.ศ. 1932 มีพระโอรส-ธิดาด้วยกัน 5 พระองค์ ได้แก่

  1. เจ้าหญิงมาร์กาเรธา (31 ตุลาคม ค.ศ. 1934) เสกสมรสกับจอห์น อัมเบลอร์ มีพระบุตรด้วยกันสามคน
  2. เจ้าหญิงบีร์กิตตา (19 มกราคม ค.ศ. 1937 – 4 ธันวาคม ค.ศ. 2024) เสกสมรสกับเจ้าชายโยฮันน์ จอร์จแห่งโฮเฮนซอลเลิร์น มีพระบุตรด้วยกันสามองค์
  3. เจ้าหญิงเดซีเร (2 มิถุนายน ค.ศ. 1938) เสกสมรสกับบารอนนิลส์ ออกุสต์แห่งซิลฟ์เวอร์ชิล์ด มีพระบุตรด้วยกันสามคน
  4. เจ้าหญิงคริสตีนา (3 สิงหาคม ค.ศ. 1943) เสกสมรสกับโทร์ด มาญูซน มีพระบุตรด้วยกันสามคน
  5. สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ (30 เมษายน ค.ศ. 1946) อภิเษกสมรสกับซิลเวีย ซอมแมร์ลัท มีพระราชบุตรด้วยกันสามพระองค์

สิ้นพระชนม์

[แก้]

เจ้าชายกุสตาฟ อดอล์ฟ ดยุกแห่งเวสเตร์บอตเติน สิ้นพระชนม์จากเหตุเครื่องบินพระที่นั่งตกเมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1947 ณ สนามบินเคสทรุป โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก[1] พร้อมพระสหายสองคนขณะกำลังเดินทางกลับสต็อกโฮล์มหลังทรงล่าสัตว์และเข้าเฝ้าเจ้าฟ้าหญิงยูเลียนา มกุฎราชกุมารีแห่งเนเธอร์แลนด์กับเจ้าชายแบร์นฮาร์ดแห่งเนเธอร์แลนด์ พระองค์โดยสารเครื่องบินเคแอลเอ็มที่ล่าช้าจากอัมสเตอร์ดัมลงที่โคเปนเฮเกน แล้วทรงต่อเครื่องไปสต็อกโฮล์มด้วยเครื่องดักลาส ดีซี-3 ครั้นเมื่อเครื่องบินออกและขึ้นไต่ระดับได้ 50 เมตร เครื่องก็สูญเสียการทรงตัวและดิ่งพสุธา ทำให้ผู้โดยสาร 16 คน และลูกเรือ 6 คนเสียชีวิต ซึ่งรวมไปถึงพระองค์และเกรซ มัวร์ นักแสดงและนักร้องหญิงอเมริกัน[1] จากการสอบสวนพบว่าเป็นความผิดพลาดของกัปตันที่เลินเล่อไม่ปลดกัสต์ล็อก (Gust lock) จนทำให้เครื่องเร่งไม่ขึ้นและตก[2]

ความสนพระทัย

[แก้]
กีฬา

พระองค์เป็นนักกีฬาขี่ม้า เคยลงแข่งกีฬาขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวางในโอลิมปิกฤดูร้อน 1936 แต่ทรงตกรอบก่อนถึงรอบสุดท้าย หลังจากนั้นก็ทรงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสวีเดนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์[3][4]

กิจการลูกเสือ

พระองค์ทรงเข้าร่วมเป็นลูกเสือสำรองและสามัญ พระองค์รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ ณ อุทยานกิลเวล ประเทศอังกฤษ เมื่อมีการก่อตั้งกองลูกเสือขึ้นในสวีเดน พระองค์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะลูกเสือ เป็นผู้นำลูกเสือสวีเดนในการชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 5 ในปี ค.ศ. 1937 และทรงเข้าร่วมงานชุมนุมลูกเสือวิสามัญโลก ในปี ค.ศ. 1938 ทั้งนี้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการลูกเสือโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1938 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์[5][6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Prince and opera star killed in plane crash". Ottawa Citizen. Associated Press. 14 March 1954. สืบค้นเมื่อ 1 June 2014.
  2. "Douglas DC-3C (C-47A-30-DK) PH-TCR Kobenhavn-Kastrup Airport". Aviation Safety Network. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-02. สืบค้นเมื่อ 1 June 2014.
  3. Prince Gustaf Adolf เก็บถาวร 2015-01-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. sports-reference.com
  4. Gustaf Adolf Bernadotte. Swedish Olympic Committee
  5. Kroonenberg, Piet J. (1998). The Undaunted- The Survival and Revival of Scouting in Central and Eastern Europe. Geneva: Oriole International Publications. p. 31. ISBN 2-88052-003-7.
  6. Kroonenberg, Piet J. (2003). The Undaunted II–The Survival and Revival of Scouting in Eastern Europe and Southeast Asia. Las Vegas: Las Vegas International Scouting Museum. p. 77. ISBN 0-9746479-0-X.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]