ข้ามไปเนื้อหา

อีซาแบลแห่งอ็องกูแลม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อีซาแบลแห่งอ็องกูแลม
สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ
ระหว่าง24 สิงหาคม ค.ศ. 1200 -
19 ตุลาคม ค.ศ. 1216
เคาน์เตสแห่งอ็องกูแลม
ครองราชย์16 มิถุนายน ค.ศ. 1202 – 4 มิถุนายน 1246
ก่อนหน้าเอแมร์
ถัดไปอูก
เคาน์เตสแห่งลามาร์ช
ระหว่าง10 พฤษภาคม ค.ศ. 1220 – 4 มิถุนายน ค.ศ. 1246
ประสูติราว ค.ศ. 1188
สิ้นพระชนม์31 พฤษภาคม ค.ศ. 1246 (ประมาณ 58 พรรษา)
คู่อภิเษกพระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ (เสกสมรส 1200; สวรรคต 1216)
อูกที่ 10 แห่งลูซิญ็อง (สมรส 1220)
พระบุตรสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ
ราชวงศ์ไตย์แฟร์
พระบิดาเอแมร์ แตล์อีแฟร์ เคานต์แห่งอ็องกูแลม
พระมารดาอาลีส เดอ กูร์เตอแนย์

อีซาแบลแห่งอ็องกูแลม (ฝรั่งเศส: Isabelle d'Angoulême; อังกฤษ: Isabella of Angoulême) (ค.ศ. 1186[1]/1188[2] – 4 มิถุนายน ค.ศ. 1246) เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษโดยทรงเป็นพระมเหสีคนที่สองของพระเจ้าจอห์น ตั้งแต่ ค.ศ. 1200 กระทั่งพระเจ้าจอห์นเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1216 พระองค์ยังดำรงยศเป็นเคาน์เตสแห่งอ็องกูแลมตามสิทธิ์ของพระองค์เอง ตั้งแต่ ค.ศ. 1202 จนถึง ค.ศ. 1246

พระองค์มีพระโอรสธิดากับกษัตริย์แห่งอังกฤษ 5 คน หนึ่งในนั้นคือพระเจ้าเฮนรี่ที่ 3 ต่อมาในปี ค.ศ. 1220 อีซาแบลได้สมรสกับอูกที่ 10 แห่งลุยซีนญ็อง เคานต์แห่งลามาร์ช ทั้งคู่มีบุตรธิดาด้วยกัน 9 คน

ในปี ค.ศ. 1241 อีซาแบลถูกกล่าวหาว่าวางแผนสมคบคิดต่อต้านพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส หลังถูกบลังกาแห่งกัสติยา พระมารดาที่ทรงเกลียดจับใจของกษัตริย์ฝรั่งเศส[3] ดูแคลนต่อหน้าสาธารณชน ในปี ค.ศ. 1244 อีซาแบลถูกกล่าวหาว่าพยายามวางยาพิษกษัตริย์ เพื่อหลีกหนีการจับกุมพระองค์ได้ลี้ภัยไปบวชที่วิหารฟงเตฟรูและสิ้นพระชนม์ที่นั่นในอีกสองปีต่อมา แต่ยังไม่หลักฐานยืนยันว่าพระองค์วางยาพิษกษัตริย์จริงหรือไม่


สายตระกูล

[แก้]

อีซาแบลประสูติในฝรั่งเศสตอนใต้ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1188 ถึง ค.ศ. 1191 โดยทรงเป็นบุตรคนเดียวของมารดาคืออาลีส เดอ กูร์เตอแนย์ พระนัดดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศสและพระขนิษฐาของปิแอร์ที่ 2 แห่งกูร์เตอแนย์ จักรพรรดิแห่งคอนสแตนติโนเปิล กับบิดาคืออีย์มาร์ แตล์อีแฟร์ เคานต์แห่งอ็องกูแลม พระองค์จึงเป็นทายาทในดินแดนอ็องกูแลมอันร่ำรวยซึ่งตั้งอยู่ระหว่างสองอาณาเขตของราชวงศ์แพลนแทเจเนต คือ ปัวตีเยและบอร์โดซ์

การสมรสที่สร้างปัญหา

[แก้]

บิดาของอีซาแบลได้มองหาสามีมาให้ทายาทของตนโดยได้หมายตาอูกที่ 9 เคานต์แห่งลุยซีนญ็อง เพื่อนบ้านซึ่งเป็นพ่อม่ายและยินดีที่จะรับเด็กสาวที่มีสมบัติติดตัวมาอยู่ในการดูแล ทั้งยังเพิ่งได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษให้เป็นเคานต์แห่งลามาร์ช ทั้งคู่หมั้นหมายกันในปี ค.ศ. 1200 การสมรสเชื่อมสัมพันธไมตรีครั้งนี้จะสร้างปัญหาใหญ่ให้แก่พระเจ้าจอห์นเนื่องจากจะรบกวนสมดุลทางอำนาจระหว่างอากีแตน, ลุยซีนญ็อง, อ็องกูแลม และลามาร์ช และจะกลายเป็นภัยคุกคามดินแดนในฝรั่งเศสที่อยู่ในการครอบครองของพระองค์ แต่ด้วยวัยที่ยังเด็กของอีซาแบลจึงทำให้การสมรสถูกระงับไว้

ในตอนนั้นพระเจ้าจอห์นเพิ่งขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ผู้เป็นพระเชษฐา พระองค์สมรสกับอิซาเบลลาแห่งกลอสเตอร์ ลูกพี่ลูกน้องของพระองค์มาแล้วสิบปี การสมรสดังกล่าวไม่ได้รับการผ่อนผันจากสมเด็จพระสันตะปาปาซึ่งตามกฎแล้วต้องได้รับเนื่องจากทั้งคู่เป็นญาติกันในลำดับต้องห้าม พระเจ้าจอห์นจึงปลดปล่อยตนเองออกจากการสมรสครั้งนี้ได้ไม่ยาก พระองค์ได้ส่งราชทูตไปโปรตุเกสเพื่อเจรจาขอสมรสกับเจ้าหญิงโปรตุเกสและได้แวะไปหาอูกในลุยซีนญ็อง


พระองค์อาจต้องการจำกัดอำนาจของอูกจึงแย่งตัวเจ้าสาวของเขามา หรือไม่พระองค์ก็อาจจะถูกตาต้องใจอีซาแบลวัย 12 พรรษาผู้มีผมสีบลอนด์และดวงตาสีฟ้า ความงามของพระนางเป็นที่เลื่องลือ หรือไม่ก็อาจจะทั้งสองอย่าง ขณะที่ฝั่งพระเจ้าจอห์นเองก็มีในสิ่งที่อูกไม่มี นั่นคือราชบัลลังก์ ราชทูตที่ส่งไปโปรตุเกสถูกเรียกตัวกลับมา พระเจ้าจอห์นได้ทิ้งอิซาเบลลาแห่งกลอสเตอร์ พระมเหสีคนแรกในปี ค.ศ. 1199 ทรงพูดคุยกับบิดาของอีซาแบลในวันที่ 5 กรกฎาคมและได้อภิเษกสมรสกับพระนางในวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1200 ที่บอร์โดซ์ ทั้งคู่ข้ามช่องแคบมายังอังกฤษในช่วงต้นเดือนตุลาคม อีซาแบลได้รับการสวมมงกุฎเป็นพระราชินีแห่งอังกฤษในวันที่ 8 ตุลาคมที่วิหารเวสต์มินสเตอร์


อูกแห่งลุยซีนญ็องซึ่งถูกแย่งอีซาแบลไปต่อหน้าต่อตาต้องการให้พระเจ้าจอห์นชดใช้และได้ยื่นอุทธรณ์ต่อพระเจ้าฟีลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศส กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสได้ตอบสนองด้วยการเชิญพระเจ้าจอห์นมาที่ราชสำนักฝรั่งเศสทันที แต่กษัตริย์แห่งอังกฤษปฏิเสธที่จะทำตาม พระเจ้าฟีลิปจึงถือสิทธิ์ตามกฎศักดินาริบดินแดนทั้งหมดในฝรั่งเศสที่อยู่ภายใต้การครอบครองของพระเจ้าจอห์นในฐานะเคานต์แห่งปัวตีเยยกเว้นกัสกอญและทำการบุกนอร์ม็องดี ชาโตกียาร์ ปราสาทอันแข็งแกร่งของพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ถูกฝรั่งเศสดีแตกหลังถูกปิดล้อมอย่างยาวนานในปี ค.ศ. 1203 ตามด้วยดินแดนอื่นที่เหลือในนอร์ม็องดี พระเจ้าจอห์นถูกสถานการณ์บังคับให้หนีออกจากจักรวรรดิในฝรั่งเศสที่เคยยิ่งใหญ่ของพระบิดาซึ่งตอนนี้กลายเป็นซากปรักหักพัง

พระราชินีผู้ไม่เป็นที่นิยม

[แก้]

วันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1202 บิดาของอีซาแบลได้ถึงแก่กรรม พระนางจึงได้ดำรงยศเป็นเคาน์เตสแห่งอ็องกูแลมตามสิทธิ์ของตนเอง แม้จะได้ดินแดนของบรรพบุรุษของอีซาแบลมาอยู่ในการครอบครอง แต่กษัตริย์แห่งอังกฤษต้องเสียดินแดนของตนเองซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามากไป ทำให้ประชาชนเริ่มคลางแคลงใจว่ากษัตริย์ของพวกตนได้อะไรจากการสมรสครั้งที่สอง ทั้งยังว่ากันว่าพระเจ้าจอห์นทรงลุ่มหลงเจ้าสาววัยเยาว์ของตนจนไม่ยอมลุกจากเตียง พระนางจึงถูกโทษว่าเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายต่างๆ เช่นเดียวกับกษัตริย์ ถึงขั้นมีข่าวลือว่าพระนางใช้มนตราศาสตร์มืดทำให้พระเจ้าจอห์นหมกมุ่นอยู่บนเตียงนอนในขณะที่จักรวรรดิในฝรั่งเศสของพระองค์กำลังล่มสลาย

แทนที่จะสร้างครัวเรือนให้อีซาแบล พระเจ้าจอห์นกลับมีความคิดแผลงๆ ด้วยการให้พระนางอาศัยอยู่กับอิซาเบลลาแห่งกลอสเตอร์ พระมเหสีคนแรกของพระองค์ อีซาแบลยังอาศัยอยู่ที่มาร์ลโบโรช่วงหนึ่งในบ้านของอูก เดอ เนวีลล์ สามีของหญิงที่เป็นคนรักของจอห์น อีซาแบลกับพระเจ้าจอห์นมีเวลาอยู่ด้วยกันไม่มาก ชีวิตสมรสของทั้งคู่ไม่ค่อยราบรื่นนัก แม้พระเจ้าจอห์นลุ่มหลงชายาผู้อ่อนวัยและงดงามแต่มีบันทึกว่าทั้งคู่ต่างคบชู้และต่างเป็นคนอารมณ์รุนแรงจนส่งผลต่อชีวิตสมรส เมื่อพระเจ้าจอห์นสงสัยว่าอีซาแบลนอกใจ พระองค์จับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนรักของพระนางห้อยโตงเตงอยู่เหนือเตียงของพระนาง


หลังสมรสได้เจ็ดปีอีซาแบลได้ให้กำเนิดเฮนรี พระโอรสและทายาทในพระเจ้าจอห์นในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1207 ที่ปราสาทวินด์เซอร์ พระองค์ได้ให้กำเนิดพระโอรสธิดาให้แก่พระเจ้าจอห์น 5 คน คือ

  1. พระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ (ประสูติ ค.ศ. 1207)
  2. ริชาร์ด เอิร์ลแห่งคอร์นวอลล์และกษัตริย์ของชาวโรมัน (ประสูติ ค.ศ. 1209)
  3. โจน สมเด็จพระราชินีแห่งสกอตแลนด์ (ประสูติ ค.ศ. 1210) สมรสกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งสกอตแลนด์
  4. อิซาเบลลา จักรพรรดินีแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ประสูติ ค.ศ. 1214) สมรสกับจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
  5. เอเลนอร์ เคาน์เตสแห่งเพมโบรก (ประสูติ ค.ศ. 1215) สมรสครั้งแรกกับวิลเลียม มาร์แชล ต่อมาสมรสครั้งที่สองกับซิมง เดอ มงฟอร์


วันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1216 พระเจ้าจอห์นสิ้นพระชนม์ที่เนวาร์กในค่ำคืนที่พายุกระหน่ำ อีซาแบลในตอนนั้นมีพระชนมายุเพียง 30 พรรษา พระนางรีบเคลื่อนไหวเพื่อให้เฮนรี พระโอรสวัย 9 พรรษาซึ่งถูกบรรยายไว้ว่า "มีความเป็นอัศวินตัวน้อย" ได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์ต่อจากพระบิดา พระเจ้าเฮนรีที่ 3 ได้รับการสวมมงกุฎที่วิหารกลอสเตอร์ในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1216 โดยใช้รัดเกล้าของพระมารดาแทนมงกุฎซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชสมบัติที่หายไปในเดอะวอชในยุคของพระราชบิดา

พระราชชนนีผู้น่าอับอาย

[แก้]

วิลเลียม มาร์แชล เอิร์ลแห่งเพมโบรกผู้มากความสามารถถูกตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคู่กับอูแบร์ เดอ บะระ ในตอนที่พระเจ้าจอห์นสิ้นพระชนม์อังกฤษตกอยู่ในภาวะอนาธิปไตยและสงครามกลางเมือง กรุงลอนดอนและท่าเรือของช่องแคบส่วนใหญ่ตกอยู่ในการครอบครองของฝรั่งเศส มาร์แชลได้ประกาศตนว่าจะปกครองตามเงื่อนไขในแม็กนาคาร์ตา ผู้รุกรานฝรั่งเศสถูกขับไล่ออกไป สันติภาพกลับคืนสู่อังกฤษอีกครั้ง


ในรัชสมัยของพระเจ้าจอห์นอีซาแบลไม่มีทั้งเงินและอำนาจ หลังการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 สถานะของพระนางก็ยังคงเหมือนเดิม ในปี ค.ศ. 1217 หลังพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ราชาภิเษกได้ไม่ถึงหนึ่งปี อีซาแบลได้เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อไปแสดงสิทธิ์ในอ็องกูแลม มรดกที่พระนางได้รับมาจากบิดา โดยทิ้งพระโอรสไว้ในการดูแลของวิลเลียม มาร์แชล พระนางได้พาโจน พระธิดาคนโตเดินทางไปกับพระนางด้วย โดยเป้าหมายอย่างเป็นทางการของการเดินทางครั้งนี้คือเพื่อพาตัวโจนไปส่งให้แก่อูกที่ 10 แห่งลุยซียญ็อง เคานต์แห่งลามาร์ช ตามการคลุมถุงชนที่ได้ตระเตรียมไว้ โดยอูกนั้นเป็นบุตรชายของอูกที่ 9 อดีตคู่หมายของอีซาแบล โจนถูกพาตัวไปที่ราชสำนักลุยซีนญ็องเพื่อเตรียมตัวสมรสตามธรรมเนียมในยุคนั้น ทว่าเมื่อได้เห็นความงามที่ไม่เสื่อมคลายของอีซาแบล อูกกลับถูกใจพระมารดาของเด็กน้อยมากกว่า ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1220 อีซาแบลได้สมรสกับอูกที่ 10 แห่งลุยซีนญ็องโดยอ้างว่าทรงทำไปเพื่อช่วยพระธิดาจากความเสี่ยงในการสมรสและการตั้งครรภ์ในวัยที่ยังเด็กเกินไป พระองค์ได้เขียนจดหมายถึงพระโอรสในอังกฤษความว่า

"พระเจ้าทรงรู้ว่าเราทำเช่นนี้เพื่อเจ้า ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง"


การสมรสของอีซาแบลกับอูกเกิดขึ้นโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากสภากษัตริย์ซึ่งตามหลักการแล้วพระราชินีม่ายแห่งอังกฤษต้องได้รับการอนุญาตจากสภาก่อนทำการสมรสใหม่ สภาตอบโต้การฝ่าฝืนกฎครั้งนี้ด้วยการริบดินแดนนอร์ม็องดีซึ่งเป็นมรดกจากพระสวามีผู้ล่างลับและริบเบี้ยหวัดที่ได้รับในฐานะพระราชินีม่ายแห่งอังกฤษ สองสามีภรรยาใช้เจ้าหญิงโจนเป็นเครื่องต่อรองกับฝ่ายบริหารของอังกฤษโดยแจ้งว่าจะคืนตัวเจ้าหญิงให้ก็ต่อเมื่ออีซาแบลได้รับข้อตกลงด้านการเงินที่น่าพอใจ ไม่เช่นนั้นจะไม่ส่งตัวเจ้าหญิงโจนให้ไปสมรสกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ซึ่งเป็นคู่หมั้นคนใหม่ สมเด็จพระสันตะปาปาซึ่งอยู่ฝ่ายพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ข่มขู่ว่าจะตัดอีซาแบลกับอูกออกจากศาสนา แต่สุดท้ายอังกฤษก็ยอมจ่ายเงินชดเชยค่าดินแดนที่ยึดมาจากอีซาแบลและกลับมาจ่ายเบี้ยหวัดบางส่วนให้แก่พระนาง


ชีวิตสมรสของอีซาแบลกับอูกไม่ค่อยมั่นคงนักเนื่องจากอูกไม่ซื่อสัตย์ต่อพระนาง ทั้งคู่ทะเลาะกันบ่อยครั้งและข่มขู่ว่าจะเลิกกันหลายครั้ง แต่กระนั้นก็มีบุตรธิดาด้วยกันถึง 9 คน คือ

  1. อูกที่ 11 แห่งลุยซีนญ็อง (เกิด ค.ศ. 1221)
  2. อีย์มาร์ เดอ แวล็องส์ (เกิด ค.ศ. 1222) บิชอปแห่งวินเชสเตอร์
  3. แอนเญ็ส เดอ โชวีนญี (เกิด ค.ศ. 1224) สมรสกับกีโยมที่ 2 เดอ โชวีนญี
  4. อาลีส เดอ ลุยซีนญ็อง เคาน์เตสแห่งเซอร์รีย์ (เกิด ค.ศ. 1224) สมรสกับจอห์น เดอ วอเรนน์ เอิร์ลแห่งเซอร์รีย์
  5. กีย์ เดอ ลุยซีนญ็อง ถูกสังหารในสมรภูมิลูอิส
  6. จูฟเฟรย์ เดอ ลุยซีนญ็อง
  7. กีโยม เดอ แวล็องส์ เอิร์ล์ที่ 1 แห่งเพมโบรก
  8. มาร์เกอรีต เดอ ลุยซีนญ็อง เคาน์เตสแห่งตูลูส (เกิด ค.ศ. 1226) สมรสครั้งแรกกับแรมงที่ 7 เคานต์แห่งตูลูส ต่อมาสมรสกับอีย์มาร์ที่ 9 เดอ ตัวร์
  9. อีซาแบล เดอ แร็งกง (เกิด ค.ศ. 1234) สมรสครั้งแรกกับโมรีสที่ 4 เดอ คร็อง ต่อมาสมรสครั้งที่สองกับจูฟเฟรย์ เดอ แร็งกง


ความขัดแย้งกับราชวงศ์ฝรั่งเศส

[แก้]

เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศสมาเยือนฝรั่งเศสตอนใต้พร้อมกับพระมเหสีและพระราชมารดา อีซาแบลซึ่งเป็นพระราชินีม่ายของอดีตกษัตริย์อังกฤษย่อมคาดหวังว่าตนเองจะได้รับการปฏิบัติในระดับเดียวกับพระราชินีและพระราชชนนีแห่งฝรั่งเศส ทว่าสองขัตติยะนารีกลับทำเหมือนพระนางเป็นอากาศธาตุ อีซาแบลระอุไปด้วยความเดือดดาลเมื่อถูกปฏิบัติเหมือนเป็นข้าทาสและปฏิญาณว่าทั้งคู่จะต้องชดใช้ให้กับเรื่องนี้ เมื่อผู้มาเยือนย้ายเคลื่อนขบวนจากไปพระนางได้ขว้างปาข้าวของทุกอย่างที่คณะทิ้งไว้ออกไปนอกหน้าต่าง จากนั้นทรงขู่เข็ญสามีให้ก่อกบฏต่อกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส กองทัพร่วมของอีซาแบลและสามีกับแรมงที่ 7 แห่งตูลูส บุตรเขยที่สมรสกับมาร์เกอรีตแห่งลุยซีนญ็องก่อกบฏต่อกษัตริย์ฝรั่งแต่ประสบความล้มเหลว


ในปี ค.ศ. 1241 พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ตัดสินใจตั้งพระอนุชาเป็นเจ้าเหนือหัวผู้ปกครองแคว้นทางตอนใต้ อีซาแบลซึ่งถูกบรรยายไว้ว่า "หลงตัวเอง เอาแต่ใจ และน่ารำคาญ" ถูกเชิญตัวไปที่ราชสำนักฝรั่งเศสพร้อมกับสามีเพื่อถวายคำสัตย์แห่งความจงรักภักดีต่ออัลฟงส์ พระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ซึ่งถูกตั้งเป็นเคานต์แห่งปัวตีเย ที่ราชสำนักอีซาแบลได้เดินหนีพระเจ้าหลุยส์โดยลากตัวสามีของตนออกไปด้วย ในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1242 ทั้งคู่ถูกบีบบังคับให้คุกเข่าขอความเมตตาจากกษัตริย์ อนาคตของทั้งครอบครัวตกอยู่ภายใต้คมหอกคมดาบด้วยการกระทำที่สิ้นคิดของพระนาง

การหนีไปบวชชี

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1244 พ่อครัวของกษัตริย์สองคนถูกจับกุมตัวในข้อหาวางยากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส ในการสอบปากคำทั้งคู่สารภาพว่าได้รับการว่าจ้างจากอีซาแบล พระนางจึงหนีไปบวชที่วิหารฟงเตฟรู สองปีต่อมาด้วยความเป็นห่วงบุตรธิดาทั้งเก้าจากการสมรสครั้งที่สอง พระนางจึงเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ฝรั่งเศสขอให้ลูกๆ ได้สืบทอดทรัพย์สินที่ดินในฝรั่งเศส

รูปแกะสลักไม้เหนือหลุมฝังศพของอีซาแบลแห่งอ็องกูแลมที่วิหารฟงเตฟรู

อีซาแบลสิ้นพระชนม์ในวันที่ 4 มิถุนายน หรือไม่ก็ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1246 ร่างของพระนางถูกฝังในสุสานนอกวิหารตามคำขอของพระนางเพื่อแสดงถึงการสำนึกบาป อูก เดอ ลุยซีนญ็อง สามีคนที่สองของพระนางเสียชีวิตในอีกสามปีต่อมาในสงครามครูเสด อูกที่ 11 แห่งลุยซีนญ็องได้สืบทอดตำแหน่งเป็นเคานต์แห่งลา มาร์ชและเคานต์แห่งอ็องกูแลมในปี ค.ศ. 1249 เมื่อมองไม่เห็นหนทางในบ้านเกิด บุตรของอีซาแบลกับอูกส่วนใหญ่ได้เดินทางออกจากฝรั่งเศสไปหาที่ยืนในราชสำนักของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 พี่ชายต่างมารดาที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี


หลายปีต่อมาพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษได้ไปเยือนฟงเตฟรูและตกใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อทราบว่าพระมารดาของพระองค์ถูกฝังอยู่นอกวิหาร กษัตริย์แห่งอังกฤษสั่งให้ย้ายร่างของพระมารดามาไว้ในวิหาร ร่างของอีซาแบลถูกฝังใหม่เคียงข้างพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษและอาลีเยนอร์แห่งอากีแตน พระราชบิดามารดาของพระสวามีคนแรกของพระนาง กษัตริย์แห่งอังกฤษยังได้ว่าจ้างให้ทำรูปแกะสลักไม้เหนือหลุมฝังศพเป็นรูปพระนางในเครื่องแต่งกายแบบพระราชินี ไม่ใช่แม่ชี

อ้างอิง

[แก้]
  1. Bernadette Barrière, Limousin médiéval: le temps des créations, (Presses universitaires de Limoges), 384.
  2. Theodore Evergates, The Aristocracy in the County of Champagne, 1100-1300, (University of Pennsylvania Press, 2007), 226.
  3. Thomas B. Costain, The Magnificent Century, pp. 144–145, Doubleday and Company, Inc., Garden City, New York, 1959.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]