ข้ามไปเนื้อหา

หิ่งห้อย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หิ่งห้อย
ชนิด Lampyris noctiluca
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ชั้น: Insecta
อันดับ: Coleoptera
อันดับย่อย: Polyphaga
อันดับฐาน: Elateriformia
วงศ์ใหญ่: Elateroidea
วงศ์: Lampyridae
Latreille, 1817
วงศ์ย่อย

หิ่งห้อย หรือ ทิ้งถ่วง[1] เป็นแมลงปีกแข็งหลายชนิดหลายสกุลในวงศ์ Lampyridae ในอันดับ Coleoptera ทั่วทั้งโลกมีหิ่งห้อยประมาณ 2,000 ชนิด หิ่งห้อยกะพริบแสงเพื่อการผสมพันธุ์และสื่อสารซึ่งกันและกัน หรือส่งสัญญาณการป้องกันตัวจากสัตว์นักล่า แสงที่หิ่งห้อยสร้างเป็น "แสงเย็น" โดยทั่วไปจากช่องท้องส่วนล่างอาจเป็นสีเหลืองสีเขียวหรือสีแดงซีด ตำแหน่งของอวัยวะแสงยังแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด และเพศของหิ่งห้อยชนิดเดียวกัน

หิ่งห้อยพบได้ในเขตหนาว เขตอบอุ่นและเขตร้อน (ยกเว้นเขตขั้วโลกและกึ่งขั้วโลก) พบมากในหนองน้ำ ป่าโกงกาง หรือป่าริมธารน้ำ ซึ่งมีแหล่งอาหารมากมายสำหรับหิ่งห้อยระยะตัวอ่อน

ลักษณะทางชีววิทยา

[แก้]
ภาพประกอบ หิ่งห้อยชนิดต่าง ๆ ในเอกสารของ Georgiy Jacobson ปี 1905
หนอนของหิ่งห้อยกินหอยฝาเดียวเป็นอาหาร

หิ่งห้อยตัวเต็มวัยเพศผู้มีปีก ส่วนเพศเมียมีทั้งมีปีกและไม่มีปีก บางชนิดมีปีกสั้นมาก (Brachypterous) ชนิดที่ไม่มีปีกรูปร่างลักษณะคล้ายตัวหนอน หนอนของหิ่งห้อยเป็นตัวห้ำกินหอยฝาเดียว ไส้เดือน กิ้งกือ และแมลงตัวเล็ก ๆ เป็นอาหาร หิ่งห้อยมีลักษณะเด่น คือสามารถทำแสงได้ทั้งระยะหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ส่วนระยะไข่ทำแสงได้เฉพาะบางชนิดเท่านั้น

ขนาดของหิ่งห้อยนั้นมีลำตัวยาวตั้งแต่ 2–25 มิลลิเมตร ลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก[2]

หัว มีสีดำ หรือแถบสีอื่นปน เช่น เหลืองปนน้ำตาล และแดง มีตาโตสีดำ 1 คู่ หนวด 2 ข้างสีดำ[3]

อก ส่วนใหญ่มีลักษณะกว้างออกทางด้านข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บางชนิดมีอกขยายใหญ่คลุมส่วนหัวเอาไว้มองไม่เห็นส่วนหัวเมื่อมองลงมาทางด้านบน[3]

ปีก คลุมท้องมิด มองไม่เห็นอวัยวะส่วนท้อง ปีกของหิ่งห้อยมี 2 ปีก ปีกบนมีลักษณะ ทึบแสงและไม่แข็งมาก ปีกล่างมีลักษณะบางใสสีดำหรือสีชา สีของปีกมีลักษณะแตกต่างกันตามชนิด[3] หิ่งห้อยตัวเมียบางชนิดมีลำตัวยาวคล้ายหนอนมีปีกสั้นมาก หรือไม่มี

ท้อง ปล้องท้องตัวผู้มีปล้องท้องจำนวน 6 ปล้อง โดยท้องปล้องที่ 5 และ 6 เป็นที่ตั้งอวัยวะทำแสง ตัวเมียมีปล้องท้อง 7 ปล้อง โดยท้องปล้องที่ 5 หรือ 5 - 7 เป็นที่ตั้งอวัยวะทำแสง อวัยวะทำแสงมีสีขาวหรือขาวครีม[3]

ขา มี 6 ขา ขาเป็นข้อ 3 ข้อ ปลายขาของหิ่งห้อย จะเป็นขอเหนี่ยวไว้ยึดเกาะต้นไม้ใบไม้[3]

การให้แสง

[แก้]
ภาพเคลื่อนไหวของการให้แสงของหิ่งห้อย
หิ่งห้อยในป่าใกล้เนือร์นแบร์ค (ภาพถ่ายเปิดรับแสง 30 วินาที)
ตัวอ่อนของหิ่งห้อย อวัยวะทำแสงทำหน้าที่เป็นสัญญาณเตือนถึงสัตว์นักล่า
หิ่งห้อยโฟโตริส (Photuris) ทางตะวันออกของแคนาดา - ภาพบนถ่ายด้วยแฟลช ภาพล่างมีเพียงแสงที่เปล่งออกมาเอง

การให้แสงในหิ่งห้อยเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า การเรืองแสงทางชีวภาพ (bioluminescence) กระบวนการนี้เกิดขึ้นในอวัยวะที่เปล่งแสงโดยเฉพาะ แสงที่หิ่งห้อยสร้างเป็น "แสงเย็น" คือ ไม่มีความถี่แสงช่วงอินฟราเรดหรืออัลตราไวโอเลต แสงที่ผลิตเกิดจากปฏิกิริยาเคมีนี้จากช่องท้องส่วนล่างอาจเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือสีแดงอ่อน โดยมีความยาวคลื่น 510 ถึง 670 นาโนเมตร[4] หิ่งห้อยบางชนิด พบที่ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกาปล่อยแสงสีออกฟ้า (<490 นาโนเมตร)

ถึงปัจจุบันจากการศึกษา หิ่งห้อยตัวเต็มวัยเท่านั้นที่เรืองแสง และตำแหน่งของอวัยวะทำแสงแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดและระหว่างเพศของหิ่งห้อยชนิดเดียวกัน รูปแบบของหิ่งห้อยที่เปล่งแสงแตกต่างกันไปในแต่ละสปีชีส์ ตัวอย่างเช่น ในหิ่งห้อยหนอนเรืองแสง (Glowworm - Lampyris noctiluca) ที่พบในสหราชอาณาจักร ตัวเมียที่สังเกตเห็นได้ง่ายจากลักษณะที่คล้ายหนอนและบินไม่ได้[5][6] หิ่งห้อยกะพริบแสงเพื่อการเลือกคู่ครองผสมพันธุ์และสื่อสารซึ่งกันและกัน

โดยทั่วไปหิ่งห้อยมีอวัยวะทำแสงอยู่บริเวณส่วนท้องด้านล่าง เพศผู้มีอวัยวะทำแสง 2 ปล้อง เพศเมียมี 1–3 ปล้อง แต่บางชนิดตัวเต็มวัยเพศเมียมีรูปร่างลักษณะคล้ายหนอน มีอวัยวะทำแสงด้านข้างของลำตัว ภายในปล้องมีเซลล์ขนาดใหญ่เรียกว่าโฟโตไซต์ (photocytes) อยู่จำนวน 7,000–8,000 เซลล์เรียงกันอยู่เป็นกลุ่มรูปทรงกระบอก หลายกลุ่มภายใต้ผนังลำไส้ใส เซลล์โฟโตไซต์จะเป็นที่ทำให้เกิดแสง มีท่ออากาศและเส้นประสาท เข้าไปหล่อเลี้ยงจำนวนมาก[3] เกือบทุกปล้องแสงของหิ่งห้อยเกิดจากปฏิกิริยาของสารลูซิเฟอริน (luciferin) ที่อยู่ในอวัยวะทำแสงกับก๊าซออกซิเจน (O
2
) มีเอนไซม์ลูซิเฟอเรส (Luciferase) และ แมกนีเซียมไอออน (Mg2+
) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และมีสารอดีโนซีนไตรฟอสเฟต (Adenosine Triphosphate, ATP) เป็นตัวให้พลังงานทำให้เกิดแสง และผลที่ได้คือ ออกซีลูซิเฟอริน (oxyluciferin) ของเสียคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO
2
) อดีโนซีนโมโนฟอสเฟต (adenosine monophosphate, AMP) และไพโรฟอสเฟต (pyrophosphate, PP)

สมการเคมี การเรืองแสงทางชีวภาพ (bioluminescence) จากปฏิกิริยาของสารลูซิเฟอริน (Luciferin)

การให้สัญญาณโดยการทำแสงหรือการปล่อยสารเคมียังช่วยให้หิ่งห้อยสามารถระบุคู่ของสายพันธุ์ของมันเองได้ ลักษณะการสื่อสารด้วยแสงมีความแตกต่างในด้านระยะเวลา ช่วงเวลาของวัน สี และรูปแบบการกะพริบ และแตกต่างกันไปตามภูมิศาสตร์[7] ในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่การเลือกคู่ครองจะกระตุ้นให้เกิดความแตกต่างของรูปแบบการส่งสัญญาณที่มากขึ้น[7] เช่น หิ่งห้อยชนิด Luciola Aquatilis ที่ค้นพบโดย อัญชนา ท่านเจริญ นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีวิธีสื่อสารด้วยแสงได้ถึง 4 แบบ [8][9] หิ่งห้อยที่บินส่วนใหญ่มักเป็นตัวผู้ ส่วนหิ่งห้อยตัวเมียนั้นชอบเกาะนิ่งตามกิ่งไม้ เพื่อรอดูว่าตัวผู้ตัวไหนที่ทำแสงได้ดีกว่าตัวอื่นและเข้าไปหาเพื่อผสมพันธุ์[3]

หิ่งห้อยในเขตร้อนมักจะประสานแสงกะพริบในกลุ่มใหญ่โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเวลากลางคืนริมฝั่งแม่น้ำในป่าของมาเลเซียหิ่งห้อยจะประสานการกะพริบแสงอย่างแม่นยำ[10] สมมติฐานปัจจุบันเกี่ยวกับสาเหตุของพฤติกรรมนี้เกี่ยวข้องกับอาหาร การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และระดับความสูงเหนือน้ำทะเล ในฟิลิปปินส์สามารถพบเห็นหิ่งห้อยหลายพันตัวประสานการกะพริบแสงได้ตลอดทั้งปีในเมือง Donsol ในประเทศไทยสามารถพบหิ่งห้อยจำนวนมากที่กระพริบแสงพร้อมกันในเวลากลางคืน ในพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน ระหว่างหมู่บ้านศรีเมือง และบ้านปากลัด ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร[3]

ในตัวอ่อนของ Lampyrid การเรืองแสงจะทำหน้าที่แตกต่างจากในตัวเต็มวัย โดยเป็นสัญญาณเตือนถึงสัตว์นักล่า เนื่องจากตัวอ่อนของหิ่งห้อยหลายชนิดมีสารเคมีที่มีรสชาติไม่น่ากินหรือเป็นพิษ[11][12]

หิ่งห้อยจำนวนหลายชนิดไม่ทำแสง โดยปกติแล้วหิ่งห้อยชนิดเหล่านี้เป็นแบบใช้ชีวิตเวลากลางวัน ได้แก่ ในสกุล Ellychnia ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ที่มีเงาเป็นหลัก โดยจะเห็นการเรืองแสงใต้ต้นไม้หรือต้นไม้สูง หิ่งห้อยชนิดหนึ่งในสกุล Lucidota หิ่งห้อยที่ไม่เรืองแสงเลยแต่ใช้ฟีโรโมนในการส่งสัญญาณหาคู่[13]

หิ่งห้อยมีอายุการกระพริบแสงประมาณ 14–30 วันเท่านั้น[3]

ในวงการแพทย์ มีการสกัดเอนไซม์ลูซิเฟอเรส ในหิ่งห้อย ไปใช้ในการทดลองเพื่อประยุกต์เอนไซม์ลูซิเฟอเรสเป็นตัวตรวจวัดชีวภาพ (biosensor) เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรค[14][15]

วงจรชีวิต

[แก้]

หิ่งห้อยเป็นแมลงที่มีวัฏจักรชีวิตประกอบด้วย 4 ระยะ เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ฟองเดี่ยวตามดิน หรือที่ชื้นแฉะ ใบพืชน้ำ ไข่ใช้เวลา 4–12 วัน จึงฟักเป็นตัว ซึ่งช่วงตัวหนอนใช้เวลานานถึง 4–5 เดือน จากนั้นเจริญเติบโตและผ่านการลอกคราบขณะที่เป็นตัวหนอน 6–8 ระยะ จนกระทั่งเข้าดักแด้ และลอกคราบออกเป็นตัวเต็มวัย ช่วงโตเต็มวัยมีอายุประมาณ 20–30 วันเท่านั้น ซึ่งช่วงเวลาสำคัญเพื่อหาคู่ผสมพันธุ์เท่านั้น[16]

หิ่งห้อยมีรอบวงจรชีวิตอยู่ 3–12 เดือน แล้วแต่ละชนิด โดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 5–6 เดือน[16] หิ่งห้อยบกบางชนิดมีวงจรชีวิตนานถึง 1 ปี ในขณะที่หิ่งห้อยน้ำส่วนใหญ่มีวงจรชีวิตที่สั้นกว่า

นิเวศวิทยา

[แก้]

หิ่งห้อย มักจะออกหากินในเวลากลางคืน และหลบซ่อนตัวในเวลากลางวัน ส่วนใหญ่แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ หิ่งห้อยบกอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้ หรือตามพื้นที่ชุ่มชื้นใกล้หนองน้ำ หิ่งห้อยน้ำจืด อาศัยตามแหล่งน้ำ หรือลำธารที่มีน้ำสะอาดและเป็นน้ำนิ่ง เช่น หนอง บ่อ ท้องร่องสวน คลอง และหิ่งห้อยน้ำกร่อยอาศัยตามบริเวณป่าชายเลน ชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำที่มีพื้นที่ชายเลน[16] ในระยะตัวเต็มวัยหิ่งห้อยมักเกาะอยู่ตามต้นลำพู และต้นลำแพน โพทะเล ต้นจาก ต้นแสม ต้นสาคู และต้นเหงือกปลาหมอ โดยเฉพาะในป่าชายเลนที่มีแหล่งอาหารสมบูรณ์

หิ่งห้อย นับว่าเป็นแมลงที่มีคุณลักษณะพิเศษ คือสามารถบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์และสมดุลของธรรมชาติได้ โดยเฉพาะมีคุณสมบัติที่สามารถใช้เป็น “ตัวห้ำ” ในการควบคุมศัตรูพืชตามหลักการทางชีวภาพ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การเกษตรกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานวัฒนธรรมของคนไทย[8]

หิ่งห้อยในระยะที่เป็นตัวหนอนจะกินหอยเล็ก ๆ เป็นอาหาร ซึ่งหอยเหล่านั้นเป็นพาหะนำโรคหลายชนิดมาสู่มนุษย์และสัตว์ เช่น โรคพยาธิใบไม้ในลำไส้ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น นอกจากนั้น หิ่งห้อย ยังเป็นตัวห้ำ ทำลายหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญกัดกินทำลายต้นข้าวในระยะลงกล้าและระยะปักดำใหม่ ๆ[17][3] หิ่งห้อยจึงเป็นแมลงที่มีความสำคัญทั้งในด้านการสาธารณสุขและการเกษตร

อาหารของหิ่งห้อยแตกต่างกันไปตามชนิดของหิ่งห้อยนอกจากกินหอยแล้ว ยังกินกิ้งกือ ไส้เดือน และตัวอ่อนแมลงตัวเล็ก ๆ เป็นอาหารอีกด้วย ส่วนในระยะโตเต็มวัยหิ่งห้อยจะอาศัยกินเฉพาะน้ำค้าง[3] หรือน้ำหวานจากเกสรดอกไม้[18]

หิ่งห้อยกับต้นลำพู

[แก้]

การที่หิ่งห้อยชอบเกาะกับต้นลำพู สันนิษฐานว่าใบลำพูมีความอ่อนนุ่ม มีสีเขียวอ่อน และมีขนาดเล็ก ทำให้หิ่งห้อยตัวเมียมองเห็นแสงได้ง่าย แต่พันธุ์ไม้อื่น ๆ หิ่งห้อยก็เกาะเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะต้นที่อยู่โดดเดี่ยวจะมาเกาะกันมาก เช่นบริเวณป่าชายเลนบ้านท่าสอน อ.ขลุง จ.จันทบุรี พบว่าหิ่งห้อยพากันมาเกาะบนต้นโกงกางใบเล็กจำนวนมาก[3]

นอกจากนี้ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่หิ่งห้อยชอบเกาะอยู่ตามต้นไม้ในป่าชายเลน อาจมีปัจจัยจาก มีหอยบางชนิดที่เป็นอาหารของหิ่งห้อยอาศัยอยู่บริเวณโคนต้นเหล่านี้เป็นจำนวนมาก และน้ำที่ค่อนข้างนิ่งจากรากต้นไม้ที่ยาวและซ้อนหลายชั้นช่วยการซับแรงคลื่น

หิ่งห้อยในประเทศไทย

[แก้]

หิ่งห้อยที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นหิ่งห้อย 2 ชนิด คือ Luciola brahmina ซึ่งตัวอ่อนอาศัยอยู่บริเวณน้ำจืด หรือเรียกว่าหิ่งห้อยบก และ Pteroptyx malaccae ซึ่งตัวอ่อนอาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลน และฝั่งแม่น้ำที่น้ำทะเลท่วมถึง หรือเรียกว่าเป็นหิ่งห้อยน้ำกร่อย[19][3]

สันนิษฐานว่าในอดีตกรุงเทพมหานครมีต้นลำพูอยู่มากริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงคลองบางกอกน้อย โดยเฉพาะย่านบางลำพูซึ่งเป็นที่ราบลุ่มต่ำเหมาะแก่การเติบโตของไม้ที่ทนน้ำท่วมขังอย่างต้นลำพู ต่อมาเมื่อขุดลอกคลองเพื่อขยายพระนครในปี พ.ศ. 2326 คลองบางลำพูจึงเป็นส่วนหนึ่งของ คลองรอบกรุงทางตอนเหนือ หิ่งห้อยและต้นลำพูที่เคยมีเป็นจำนวนมากบริเวณปากคลองบางลำพู ก็หมดไปเมื่อวิถีชีวิตของความเป็นเมืองขยายตัวเข้าสู่พื้นที่แถบนี้ ทั้งย่านการค้าทางน้ำและบ้านเรือนริมคลอง[20] ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 กรมศิลปากรร่วมกับกรุงเทพมหานครได้บูรณะป้อมพระสุเมรุและบริเวณจัดสร้างเป็นสวนสันติชัยปราการ และสร้างพระที่นั่งสันติชัยปราการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าพักผ่อนหย่อนใจ โดยได้มีการปลูกต้นลำพูจำนวนหนึ่ง และเลี้ยงหิ่งห้อย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ เป็นการฟื้นฟูวิถีชีวิตบางลำพูในอดีตด้วย

สถานที่ชมหิ่งห้อยที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน เช่น ที่ริมคลองตลาดน้ำอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เกาะลัด อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา นิคมสร้างตนเอง ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คลองปากนคร ตำบลปากนคร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีมากในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ตุลาคม เวลาที่เหมาะกับการชมคือ ในคืนเดือนมืด และเป็นช่วงพลบค่ำ เพราะเห็นแสงของหิ่งห้อยได้อย่างชัดเจน

ชนิดของหิ่งห้อยที่สำรวจและรวบรวมได้จากภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย[3]

สกุล จำนวนชนิด แหล่งที่พบ
Diaphanes 2 จันทบุรี (น้ำตกคลองนารายณ์) และฉะเชิงเทรา

(เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า)

Lamprigera 3 นครนายก จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และลพบุรี

(เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา)

Luciola 38 กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ลพบุรี กาญจนบุรี

เพชรบุรี สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สระบุรี จันทบุรี

อุทัยธานี ปทุมธานี สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี

นนทบุรี สมุทรสงคราม และนครสวรรค์

Pteroptyx 2 สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี จันทบุรี และตราด
Pyrocoelia 7 ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี ชลบุรี

พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี และอุทัยธานี

Pyrophanes 1 จันทบุรี (เขาสอยดาว)
Rhagophthalmus 1 กรุงเทพฯ (บางเขน) และชลบุรี
Stenocladius 1 จันทบุรี (น้ำตกคลองนารายณ์) และอุทัยธานี (ห้วยขาแข้ง)

การอนุรักษ์

[แก้]

ประชากรหิ่งห้อยกำลังลดลงทั่วโลกด้วยเหตุผลหลายประการ[21] หิ่งห้อยเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ จำนวนมากได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน (เช่น การสูญเสียพื้นที่อาศัย และการเชื่อมต่อพื้นที่) ซึ่งถูกระบุว่าเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนแปลงความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศบนบก[22] นอกจากนี้สารกำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าวัชพืชยังถูกระบุว่าเป็นสาเหตุของการลดลงของหิ่งห้อย[23] และยังรวมถึงการท่องเที่ยวชมแสงหิ่งห้อยที่ไม่มีการจัดการที่ดี ซึ่งต้องการเน้นการให้ความรู้ที่เหมาะสมแก่นักท่องเที่ยว เช่น การใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาวในการชมหิ่งห้อยแทนการทายากันยุง ไม่ใช้ไฟฉายหรือมีแสงหรือเสียงรบกวนหิ่งห้อย เป็นต้น[16]

ความไวต่อมลภาวะทางแสง

[แก้]

หิ่งห้อยอาศัยแสงของมันเองในการแพร่พันธุ์[24] พวกมันจึงมีความไวต่อระดับแสงในสิ่งแวดล้อมมากและได้รับกระทบผลจากมลภาวะทางแสงด้วย[24][25] จากรายงานการศึกษาหลายชิ้นที่ได้วิจัยเชิงลึกถึงผลกระทบของแสงไฟกลางคืนที่มีต่อหิ่งห้อย[26][27]

หิ่งห้อยเป็นสัตว์ที่มีเสน่ห์ดึงดูด (ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่หายากในหมู่แมลง) และพบเห็นได้ง่าย การอนุรักษ์อาจทำได้จัดหาหิ่งห้อยสายพันธุ์ที่ดีเพื่อดึงดูดความสนใจของสาธารณชน อีกทั้งการศึกษาในหิ่งห้อยยังสามารถเป็นตัวอย่าวที่ดีสำหรับผลกระทบของแสงที่มีต่อสัตว์ป่าออกหากินเวลากลางคืน

การมีความอ่อนไหวสูงตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม จากการทดลองของภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าหิ่งห้อยที่อยู่ในห้องมืดสนิทจับคู่ผสมพันธุ์กันภายใน 30 นาที แต่หิ่งห้อยที่อยู่ในห้องมีแสงไฟเล็กน้อย กลับพบว่าตัวเมียไม่ยอมผสมพันธุ์ ส่วนตัวผู้ต้องใช้เวลาจับคู่นานถึง 5–7 ชั่วโมงกว่าจะผสมพันธุ์สำเร็จ ซึ่งอาจสรุปได้ว่า แสงไฟมีผลต่อพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อย โดยความเข้มแสงเพียง 0.3 ลักซ์นั้น ถือเป็นแสงที่มีความสว่างน้อยมาก เมื่อเทียบกับหลอดไฟที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งมีความเข้มแสงถึง 320–500 ลักซ์ ดังนั้นแสงไฟจากท้องถนน บ้านเรือน หรือแม้กระทั่งจากการนั่งเรือชมหิ่งห้อย ย่อมส่งผลกระทบต่อหิ่งห้อยอย่างมาก[28][29] หิ่งห้อยจึงสามารถเป็นตัวชี้วัดทางธรรมชาติที่ดีสำหรับวัดปริมาณแสงในเวลากลางคืนที่มนุษย์สร้างขึ้น[25][30]

วิวัฒนาการ

[แก้]

ผังวิวัฒนาการชาติพันธุ์ อ้างอิงจาก Martin et al. 2019

Lampyridae

อ้างอิง

[แก้]
  1. "พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
  2. หิ่งห้อยแมลงมหัศจรรย์ โครงการเยาวชนสร้างสรรค์ห้องสมุดดิจิทัล เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 สมศักดิ์ พิริยโยธา และคณะ. หิ่งห้อยในป่าชายเลน. กรุงเทพฯ: ส่วนส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. พิมพ์ครั้งที่ 4 สิงหาคม 2557.
  4. HowStuffWorks "How do fireflies light up?" Science.howstuffworks.com 19 มกราคม 2001. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  5. "The UK Glow worm survey home page". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กรกฎาคม 2018.
  6. "Enter a glow-worm record". 11 มิถุนายน 2015. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2018.
  7. 7.0 7.1 Stanger-Hall, Kathrin F.; Lloyd, James E (March 2015). "Flash signal evolution inPhotinusfireflies: Character displacement and signal exploitation in a visual communication system". Evolution. 69 (3): 666–682. doi:10.1111/evo.12606. ISSN 0014-3820. PMID 25627920. S2CID 26075485.
  8. 8.0 8.1 "นักวิจัย มก.พบหิ่งห้อยชนิดใหม่ กะพริบไฟสื่อภาษารักได้ 4 ท่า". ผู้จัดการออนไลน์. 24 กรกฎาคม 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 สิงหาคม 2011.
  9. "หิ่งห้อย-แสงมหัศจรรย์ กับการประชุมหิ่งห้อยโลกในเมืองไทย". ผู้จัดการออนไลน์. 21 สิงหาคม 2008.
  10. Murray, James D. (2002). 9.6 Phase Locking of Oscillations : Synchronisation in Fireflies. Mathematical Biology: I. An Introduction. 3rd ed. Springer. pp. 295–299. ISBN 978-0-387-95223-9.
  11. Lewis, Sara M.; Cratsley, Christopher K. (มกราคม 2008). "Flash Signal Evolution, Mate Choice, and Predation in Fireflies". Annual Review of Entomology. 53 (1): 293–321. doi:10.1146/annurev.ento.53.103106.093346. ISSN 0066-4170. PMID 17877452. S2CID 16360536. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2022.
  12. Branham, Marc A.; Wenzel, John W. (ธันวาคม 2001). "The Evolution of Bioluminescence in Cantharoids (Coleoptera: Elateroidea)". The Florida Entomologist. 84 (4): 565–586. doi:10.2307/3496389. ISSN 0015-4040. JSTOR 3496389.
  13. De Cock, R.; Matthysen, E. (ตุลาคม 2005). "Sexual communication by pheromones in a firefly, Phosphaenus hemipterus (Coleoptera: Lampyridae)". Animal Behaviour. Elsevier. 70 (4): 807–818. doi:10.1016/j.anbehav.2005.01.011. S2CID 53180940.
  14. "'หลงหิ่งห้อย' สร้างชื่อให้ไทย 'อัญชนา ท่านเจริญ' ผู้ 'หลงใหลแมลงเรืองแสง'". เดลินิวส์. 24 พฤษภาคม 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 มีนาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2020.
  15. พิมพ์ใจ ใจเย็น (15 กุมภาพันธ์ 2561). เอนไซม์ลูซิเฟอเรส (Bacterial luciferase; Lux) หน่วยวิจัยโครงสร้างและการทำงานของโปรตีน (CPSF) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 ท่านเจริญ, อัญชนา (25 มีนาคม 2020). "งานวิจัย พิสูจน์ภาษารักแห่งหิ่งห้อย". Research Café (Interview). สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2020.
  17. อัญชนา ท่านเจริญ (2007). The biology and mating behavior of an aquatic firefly species, Luciola aquatilis sp. nov. (Coleoptera: Lampyridae) (PDF) (วิทยานิพนธ์). Faculty of graduate studies. Mahidol University.[ลิงก์เสีย]
  18. สุทัศน์ ยกส้าน (2 มีนาคม 2555). หิ่งห้อยกับคอนเสิร์ตแสง ผู้จัดการออนไลน์.
  19. ยุวรินทร์ บุญทบ และอื่น ๆ (2551). ความหลากชนิดของหิ่งห้อยในเขตภาคใต้ของประเทศไทย. กลุ่มกีฏและสัตววิทยา, สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, กรมวิชาการเกษตร.
  20. สนุกท่องเที่ยว (14 พฤศจิกายน 2545) คลองบางลำพู สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2563.
  21. "Disappearing Fireflies". firefly.org.
  22. Sala, Osvaldo E; Chapin, F. Stuart III; Armesto, Juan J; Berlow, Eric; Bloomfield, Janine; Dirzo, Rodolfo; Huber-Sanwald, Elisabeth; Huenneke, Laura F; และคณะ (10 มีนาคม 2000). "Global Biodiversity Scenarios for the Year 2100". Science. 287 (5459): 1770–1774. doi:10.1126/science.287.5459.1770. ISSN 0036-8075. PMID 10710299.
  23. "How You Can Help", FireFly.org, citing (1) "Understanding Halofenozide (Mach 2) and Imidacloprid (Merit) Soil Insecticides," by Daniel A Potter. International SportsTurf Institute, Turfax, Vol. 6 No. 1 (Jan.–Feb. 1998) and (2) "Relative Toxicities of Chemicals to the Earthworm Eisenia foetida," by Brian L. Roberts and H. Wyman Dorough. published online: 20 Oct 2009. Environmental Toxicology and Chemistry, Vol. 3, No. 1 (Jan. 1984), pp. 67–78.
  24. 24.0 24.1 Lloyd, James E; Wing, Steven R; Hongtrakul, Tawatchai (1989). "Ecology, Flashes, and Behavior of Congregating Thai Fireflies". Biotropica. 21 (4): 373–376. doi:10.2307/2388290. JSTOR 2388290.
  25. 25.0 25.1 Viviani, Vadim Ravara; Rocha, Mayra Yamazaki; Hagen, Oskar (มิถุนายน 2553). Fauna de besouros bioluminescentes (Coleoptera: Elateroidea: Lampyridae; Phengodidae, Elateridae) nos municípios de Campinas, Sorocaba-Votorantim e Rio Claro-Limeira (SP, Brasil): biodiversidade e influência da urbanização. (ในภาษาโปรตุเกส). Biota Neotropica. 10 (2): 103–116. ISSN 1676-0603.
  26. Firebaugh, Ariel; Haynes, Kyle J (19 กันยายน 2016). "Experimental tests of light-pollution impacts on nocturnal insect courtship and dispersal". Oecologia. 182 (4): 1203–1211. Bibcode:2016Oecol.182.1203F. doi:10.1007/s00442-016-3723-1. ISSN 0029-8549. PMID 27646716. S2CID 36670391.
  27. Owens, Avalon Celeste Stevahn; Meyer-Rochow, Victor Benno; Yang, En-Cheng (7 กุมภาพันธ์ 2018). Christian Wegener (บ.ก.). "Short- and mid-wavelength artificial light influences the flash signals of Aquatica ficta fireflies (Coleoptera: Lampyridae)". PLOS ONE. 13 (2): e0191576. Bibcode:2018PLoSO..1391576O. doi:10.1371/journal.pone.0191576. ISSN 1932-6203. PMC 5802884. PMID 29415023.
  28. ไทยโพสต์ ห่วงหิ่งห้อยอัมพวา แนวโน้ม-สูญ สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2563.
  29. "ผลกระทบมลภาวะทางแสง". สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ.
  30. อมรศิริ ดวงดี (2012). "ความตระหนักของนักท่องเที่ยวที่มีต่อการอนุรักษ์หิ่งห้อย ในแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม". วารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
Wikiquote
Wikiquote
วิกิคำคมภาษาอังกฤษ มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ: Fireflies