สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
Art and Culture Center of Nakhon Ratchasima Rajabhat University
ข้อมูล
ชื่ออื่นสวธ มร.นม. / ACC.NRRU
สถาปนาพ.ศ. 2518
เขตการศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ผู้อำนวยการผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรขา อินทรกำแหง
เว็บไซต์http://www.koratculture.com/

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (ภาษาอังกฤษ: Art and Culture Center of Nakhon Ratchasima Rajabhat University) ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ ศิลปวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่น เป็นแหล่งอนุรักษ์ภูมิปัญญาหรือทรัพย์สินทางปัญญาของบรรพชนคนไทย ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาถึงชนรุ่นหลัง ให้ได้ช่วยกันสร้างสรรค์ จรรโลง สืบสานต่อกันมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นแหล่งการเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมของจังหวัดนครราชสีมา มีภารกิจในการ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมให้มีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้คนในท้องถิ่น โดยมีปรัชญาว่า

สืบสานมรดกวัฒนธรรม นำภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่วิถีชีวิตที่ดีงาม

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่อาคาร 10 (ตึกเดิมของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เลขที่ 340 ถนนสุรนารายณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000

อาคาร 2 ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาลัยครูนครราชสีมา ปัจจุบัน ได้ถูกรื้อถอนเพื่อสร้างอาคาร 9 เฉลิมพระเกียรติ
การย้ายอาคาร 1 และอาคาร 2 โดยการดีดทั้งอาคารใส่รางรถไฟ เพื่อย้ายไปทางทิศตะวันออกของสนามฟุตบอล และได้ยุบรวมอาคารทั้งสองและให้เป็นที่ตั้งสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2535
อาคาร 1 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ปัจจุบัน ได้ถูกรื้อถอนเพื่อทำการสร้างอาคารศูนย์รวมกิจการนักศึกษา และศูนย์ประชุมนานาชาติ
อาคาร 10 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ปัจจุบัน
ห้องสมัยอยุธยา พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา เริ่มเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการในเดือนมีนาคม 2557

ประวัติ[แก้]

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ก่อตั้งขึ้นเมื่อครั้งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมายังเป็นวิทยาลัยครูนครราชสีมา โดยในพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 มาตรา 5 ที่กำหนดฐานะและบทบาทของวิทยาลัยครูให้เป็นสถาบันการศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการและผลิตครูถึงระดับปริญญาตรี ทำการวิจัยเพื่อส่งเสริมวิชาชีพและวิทยฐานะของครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารการศึกษา ทำนุบำรุงวัฒนธรรม และวิชาการแก่สังคม จึงได้ก่อตั้ง “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม” เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการบำรุง รักษา พัฒนาและเผยแพร่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ทั้งส่วนของท้องถิ่นและของชาติมาตั้งแต่บัดนั้น

พ.ศ. 2519 กองวัฒนธรรม กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุมัติให้จัด “หน่วยประเคราะห์ของศูนย์ชุมนุมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย”

พ.ศ. 2522 ได้มีพระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมให้วิทยาลัยครูจึงเปลี่ยนจากหน่วยประเคราะห์ มาเป็น “ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา”

พ.ศ. 2523 วิทยาลัยครูนครราชสีมา ได้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมจังหวัด เพื่อปกป้องรักษาส่งเสริมเผยแพร่ ปรับปรุงและพัฒนาวัฒนธรรมของชาติ โดยจัดตั้งหอวัฒนธรรมขึ้นครั้งแรก โดยมีว่าที่ ร.ต. ถาวร สุบงกช เป็นหัวหน้าศูนย์ในขณะนั้น และใช้อาคาร 5 เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุต่างๆ ต่อมาเปลี่ยนแปลงไปเป็น “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม”

พ.ศ. 2528 ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ นาคประสิทธิ์ เป็นหัวหน้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ได้ย้ายสำนักงานของศูนย์มาอยู่ที่ชั้นล่างของห้อง 10.21 อาคาร 10 โดยใช้ห้อง 514-515 เป็นหอวัฒนธรรม เหมือนเดิม

พ.ศ. 2529 รศ.ดร. ทองคูณ หงส์พันธุ์ อธิการบดีวิทยาลัยครู ขณะนั้น ได้ย้ายศูนย์ศิลปวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ไปอยู่ที่ อาคาร 2 ซึ่งเป็นอาคารเก่าดั้งเดิมของสถาบัน

พ.ศ. 2531 สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ขอความร่วมมือตั้งหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดนครราชสีมา ในวิทยาลัยครูนครราชสีมา

พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวิทยาลัยครูว่า “สถาบันราชภัฏ” จากนั้นในปี พ.ศ. 2538 ได้มีการรื้อถอน อาคาร 1 ซึ่งเป็นอาคารที่ตั้งอยู่หน้าสถาบันและเคลื่อนย้ายไปทางทิศตะวันออกของสนามฟุตบอล โดยผศ. อุทัย เดชตานนท์ อธิการบดีในขณะนั้นมีดำริให้ย้ายสำนักศิลปวัฒนธรรมไปอยู่ที่อาคาร 1

พ.ศ. 2542 สถาบันราชภัฏนครราชสีมา ได้แบ่งส่วนราชการใหม่ตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 ตุลาคม 2542 และได้เปลี่ยนชื่อศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มาเป็น “สำนักศิลปวัฒนธรรม”

พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานนะสถาบันราชภัฏทั่วประเทศขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนส่วนราชการอีกครั้ง โดยในปี พ.ศ. 2548 ได้เปลี่ยนชื่อจากสำนักศิลปวัฒนธรรมเป็น “สำนักศิลปะและวัฒนธรรม” จวบจนปัจจุบัน

พ.ศ. 2555 ได้มีการรื้อถอนอาคาร 1 เพื่อดำเนินการก่อสร้างศูนย์รวมกิจการนักศึกษาและหอประชุมนานาชาติ ดังนั้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 จึงได้ย้ายมาตั้งสำนักงานชั่วคราว ณ อาคาร 31 อาคารเรียนรวม และในวันที่ 8 ตุลาคม 2555 ได้ย้ายมาตั้งสำนักงานถาวร ณ อาคาร 10 (อาคารของคณะวิทยาศาสตร์เดิม) จวบจนปัจจุบัน

พ.ศ. 2556 นางวิลาวัลย์ วัชระเกียรติศักดิ์ ผู้อำนวยการฯ ในขณะนั้น ได้รับอนุมัติงบประมาณจำนวน 4.3 ล้านบาท ให้ดำเนินการก่อสร้าง พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา บริเวณชั้น 2 อาคาร 10 แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2557

พ.ศ. 2558 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ในปัจจุบัน ได้เริ่มในจัดงานเทศกาลโคราชศิลปะและวัฒนธรรมนานาชาติ 2558 ขึ้นเป็นครั้งแรกในจังหวัดนครราชสีมา ภายใต้ชื่องาน Korat International Art and Culture Festival 2015 ระหว่างวันที่ 24 - 26 มกราคม 2558 ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อเป็นการเผยแพร่กิจกรรมด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมต่อสาธารณชน ในระดับชาติและนานาชาติ โดยมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมแสดงผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมประจำชาติของตน มากกว่า 10 ประเทศ และได้ดำเนินการจัดงานเทศกาลโคราชศิลปะและวัฒนธรรมนานาชาติ มาอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี

พ.ศ. 2559 ได้ทำการก่อสร้าง "ประตูชุมพลจำลอง" ซึ่งเป็นซุ้มประตูพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา และลานวัฒนธรรมบริเวณด้านหน้าตัวอาคารของสำนักฯ ภายใต้แนวคิด "โคราชประตูแห่งศิลปวัฒนธรรมอีสาน" และได้รับงบประมาณแผ่นดิน จากสำนักงบประมาณ จำนวน 1,029,000 บาท ในการจัดสร้างศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมและศูนย์สารสนเทศทางศิลปวัฒนธรรม

ตราสัญลักษณ์[แก้]

ตราสัญลักษณ์ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ตราสัญลักษณ์ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ในปี พ.ศ. 2556 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้เริ่มใช้ตราสัญญลักษณ์สำนักศิลปะและวัฒนธรรมขึ้น แนวคิดการออกแบบตราสัญลักษณ์สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ออกแบบโดยคำนึงถึงภารกิจในการเป็นหน่วยงานหลักของจังหวัดนครราชสีมาที่ทำหน้าที่อนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของจังหวัดนครราชสีมา จึงได้พิจารณานำเอาจุดเด่นของจังหวัดมาใช้เป็นสัญลักษณ์และคำนึงถึงความสะดวกต่อการใช้งาน โดยเลือกใช้ลายที่สร้างสรรค์จาก “ปรางค์ประธานปราสาทหินพิมาย” เนื่องจากปราสาทหินพิมายเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายานและเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นหลักฐานการพัฒนาการของสังคมมนุษย์ ในด้านการก่อสร้าง ศิลปะ ความเชื่อและศาสนา ศาสนสถานแห่งนี้ตั้งอยู่ ณ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ดินแดนอุดมสมบูรณ์ และมีอดีตอันรุ่งเรืองของชาวอีสานตอนล่าง

ส่วนการใช้สี ”สีแดงเลือดหมู” เนื่องจากเป็นสีของดินเทศที่มักปรากฏบนภาชนะดินเผา หรือภาพเขียนสีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่ได้มาจากแร่เฮมาไทด์ (Hematite) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงศิลปะ ความเชื่อ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของผู้คนบนดินแดนนครราชสีมาได้ดีที่สุด สืบเนื่องจากจังหวัดนครราชสมาสีมาเป็นคลังความรู้ด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ซึ่งมีการค้นพบแหล่งโบราณดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลากหลายแหล่ง ซึ่งฉายภาพให้เห็นความเจริญของอารยธรรมที่ต่อเนื่องยาวนานว่า 4,500 ปี ซึ่งในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้น มักใช้สีแดงเป็นองค์ประกอบอย่างแพร่หลาย นัยหนึ่งหมายถึงเลือด สัญลักษณ์ของชีวิตและพลัง อีกนัยหนึ่งเพื่อต้องการสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อการเกิดใหม่หรือการยึดเหนี่ยวทางสายเลือด มักวาดลงบนผนังถ้ำเพิงผา หรือบนภาชนะดินเผา

รายนามผู้บริหารสำนักศิลปะและวัฒนธรรม[แก้]

พ.ศ. 2518 – 2527 ว่าที่ ร.ต.ถาวร สุบงกช หัวหน้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรม

พ.ศ. 2527 – 2530 ผศ.ดร. เกียรติศักดิ์ นาคประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรม

พ.ศ. 2530 – 2534 ผศ. สนอง โกศัย หัวหน้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรม

พ.ศ. 2534 – 2542 ผศ. นฤมล ปิยวิทย์ หัวหน้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรม

พ.ศ. 2542 – 2546 ผศ. นฤมล ปิยวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม

พ.ศ. 2546 – 2547 ผศ. กมลทิพย์ กสิภาร์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม

พ.ศ. 2547 – 2556 นางวิลาวัลย์ วัชระเกียรติศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม (2 วาระ)

พ.ศ. 2556 - 2565 ผศ.ดร. ณัฐกิตติ์ อินทร์สวรรค์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม

พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน ผศ.เรขา อินทรกำแหง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]