สัญประกาศ
◌̲ ◌̳ | |
---|---|
สัญประกาศ | |
สัญประกาศ เป็นเครื่องหมายวรรคตอนชนิดหนึ่ง เป็นการขีดเส้นใต้ข้อความสำคัญหรือข้อความที่ควรสังเกตพิเศษ อาจจะมีหนึ่งเส้นหรือสองเส้น ตัวอย่างการใช้เช่น
- ประโยคนี้ สำคัญน้อยกว่า ประโยคนี้
- ข้อใดต่อไปนี้ ไม่ใช่ การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ
สัญประกาศแต่เดิมใช้กับเอกสารที่เขียนด้วยลายมือหรือเครื่องพิมพ์ดีดสำหรับการเน้นข้อความ ในการตรวจเรียงพิมพ์เอกสารลายมือ สัญประกาศถูกใช้เพื่อแสดงว่าข้อความที่ขีดเส้นใต้ควรใช้ไทป์เฟซพิเศษสำหรับเน้นข้อความ เช่นตัวเอนเป็นต้น แต่ในปัจจุบัน เราสามารถเลือกใช้ไทป์เฟซแบบตัวหนาหรือตัวเอนแทนได้ในคอมพิวเตอร์โดยตรง สัญประกาศจึงลดบทบาทความสำคัญลง
บางครั้งสัญประกาศถูกใช้เป็นเครื่องหมายเสริมสัทอักษร เพื่อแสดงว่าอักษรตัวนั้นออกเสียงแตกต่างออกไปจากปกติ
การใช้ในคอมพิวเตอร์
[แก้]ในเว็บเบราว์เซอร์ทั่วไป การเชื่อมโยงหลายมิติจะถูกแสดงให้มีขีดเส้นใต้โดยปกติ แต่ทั้งผู้เยี่ยมชมและผู้สร้างเว็บไซต์ สามารถเปลี่ยนแปลงการแสดงผลการเชื่อมโยงหลายมิติบางส่วนหรือทั้งหมดให้แตกต่างไปจากเดิมได้
แท็กของ HTML คือ <ins>
ซึ่งใช้สำหรับระบุว่าเป็นข้อความที่แทรกเพิ่มเข้ามา มักจะถูกแสดงผลให้เป็นข้อความขีดเส้นใต้ และแท็ก <u>
ซึ่งใช้สำหรับนำเสนอว่าข้อความจะต้องขีดเส้นใต้ ก็เป็นแท็กที่ล้าสมัยเนื่องจากสามารถใช้สไตล์ชีตแทนได้ นั่นคือ {text-decoration: underline}
แต่แท็กเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ในภาษามาร์กอัพอื่นๆ รวมทั้งในมีเดียวิกิ
ในแฟ้มข้อความธรรมดา รวมทั้งข้อความอีเมลแบบแอสกี การขีดเส้นใต้ไม่สามารถกระทำได้ในข้อความ จึงเปลี่ยนไปใช้อักขระอันเดอร์สกอร์ (_) คลุมที่ข้อความแทนการขีดเส้นใต้ เช่น "You must use an _emulsion_ paint on the ceiling."
ในยูนิโคดมีอักขระชื่อว่า "เส้นล่างแบบผสาน" (combining low line) ที่ U+0332 (◌̲) และ "เส้นล่างคู่แบบผสาน" (combining double low line) ที่ U+0333 (◌̳) ซึ่งจะทำให้เกิดผลลัพธ์คล้ายการขีดเส้นใต้เมื่อใส่อักขระนี้ต่อท้ายตัวอักษรสลับกันไป เช่น u̲n̲d̲e̲r̲l̲i̲n̲e̲ (ความตรงของเส้นขึ้นอยู่กับไทป์เฟซ) อักขระตัวนี้ไม่ควรสับสนกับ "มาครอนใต้แบบผสาน" (combining macron below) ซึ่งเป็นเส้นที่สั้นกว่า
สัญประกาศในภาษาอื่น
[แก้]เดิมภาษาจีนไม่มีการใช้สัญประกาศ เนื่องจากงานเขียนโบราณของจีนล้วนใช้พู่กัน แต่เมื่อมีการพัฒนาเทคนิคการพิมพ์ขึ้น จึงเริ่มมีการใช้สัญประกาศ แต่ไม่ได้ใช้สำหรับการเน้นข้อความ
สัญประกาศในภาษาจีนมีสองแบบคือ "เครื่องหมายชื่อเฉพาะ" (จีนตัวย่อ: 专名号; จีนตัวเต็ม: 專名號; พินอิน: zhuānmínghào จวานหมิงเฮ่า) เป็นเส้นตรงเหมือนขีดเส้นใต้ธรรมดา (_) ใช้สำหรับกำกับที่ข้อความที่เป็นวิสามานยนาม อาทิชื่อบุคคลหรือสถานที่ อีกแบบหนึ่งคือ "เครื่องหมายชื่อหนังสือ" (จีนตัวย่อ: 书名号; จีนตัวเต็ม: 書名號; พินอิน: shūmínghào ซูหมิงเฮ่า) เส้นจะมีลักษณะเป็นคลื่น (﹏) ใช้กำกับชื่อหนังสือเท่านั้น (ปัจจุบันนิยมใช้วงเล็บแหลม 《》〈〉 คร่อมชื่อหนังสือแทน)
ในกรณีที่มีชื่อเฉพาะอยู่ติดกันสองตัวขึ้นไป ชื่อเฉพาะแต่ละชื่อจะเขียนสัญประกาศแยกกัน ดังนั้นในการพิมพ์จึงมีการใส่ช่องว่างแคบๆ คั่นระหว่างชื่อเฉพาะเหล่านั้น และถ้าหากหนังสือเขียนในแนวตั้ง สัญประกาศก็จะเขียนในแนวตั้งกำกับไว้ที่ด้านข้างของอักษรแทน (︳︴)