สวนลุมไนท์บาซาร์
Suam Lum Night Bazaar | |
สวนลุมไนท์บาซาร์ในปี พ.ศ. 2549 | |
ที่ตั้ง | แยกวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร |
---|---|
เปิดให้บริการ | พ.ศ. 2544 |
ปิดให้บริการ | พ.ศ. 2554 |
ผู้พัฒนา | พี.คอน. ดีเวล็อปเมนท์ |
ผู้บริหารงาน | ไพโรจน์ ทุ่งทอง |
เจ้าของ | สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ |
สวนลุมไนท์บาซาร์ เป็นตลาดกลางคืนแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร[1] ตั้งอยู่บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริเวณหัวมุมทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสี่แยกวิทยุ บริเวณถนนพระรามที่ 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และยังมีพื้นที่ติดกับสวนลุมพินีทางทิศตะวันตก โดยมีถนนวิทยุเป็นเส้นแบ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเตรียมทหารเดิม สวนลุมไนท์บาซาร์พัฒนาโดย พี.คอน. ดีเวล็อปเมนท์ เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2544 และได้ปิดเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2554 เนื่องจากหมดสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยได้ย้ายไปสร้างสวนลุมไนท์บาซาร์แห่งใหม่บริเวณสี่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ส่วนที่ตั้งของสวนลุมไนท์บาซาร์เดิมนั้นในปัจจุบันเป็นโครงการ วัน แบงค็อก[2]
ปกติ สวนลุมไนท์บาซาร์จะเปิดตั้งแต่ 21:00 น. แต่มีร้านค้าบางร้านเปิดภายหลัง สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นของขวัญ เสื้อผ้า อัญมณี ผลไม้ แผ่นคอมแพ็คลามิเนต รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทำมือ เช่น ผ้าทอ และศิลปกรรม เช่น ภาพวาด และประติมากรรม ภายในสวนลุมไนท์บาซาร์ยังมีลานเบียร์ขนาดใหญ่พร้อมอาหารหลากหลายชนิด และความบันเทิงแบบครบวงจร ส่วนด้านนอกของตลาดมีพื้นที่ที่เงียบสงบ มีร้านอาหารที่ให้บริการทุกที่นั่งทั้งด้านในและด้านนอกของตลาด
ภายในสวนลุมไนท์บาซาร์ยังมี บางกอกฮอลล์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ บีอีซี-เทโร ฮอลล์ ตามชื่อเจ้าของในขณะนั้น (ปัจจุบันคือเทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์) ซึ่งเป็นศูนย์ประชุมที่ใช้จัดกิจกรรมความบันเทิงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะคอนเสิร์ต มีความจุ 6,000 ที่นั่ง และยังมีโรงละครโจหลุยส์ของคณะนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก คณะละครหุ่นกระบอกแบบไทยเดิม ซึ่งจะทำการแสดงละครเวทีเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นวรรณคดีแห่งชาติของประเทศไทย โดยหลังจากสวนลุมไนท์บาซาร์ปิดลง โรงละครโจหลุยส์จึงได้ย้ายมาอยู่ที่ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนต์ แทนมาจนถึงปัจจุบัน[3]
การปิดสวนลุมไนท์บาซาร์
[แก้]หลังจากที่ พี.คอน. ดีเวล็อปเมนท์ ผู้ก่อสร้างสวนลุมไนท์บาซาร์ได้เช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และสร้างขึ้นเป็นสวนลุมไนท์บาซาร์แล้ว ในสัญญาได้ระบุไว้ว่าจะต้องปิดสวนลุมไนท์บาซาร์ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2549 และให้ย้ายออกจากพื้นที่เช่าก่อนสิ้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 แต่จนถึงปลายปี พ.ศ. 2553 ผู้ค้าจำนวนมากก็ยังคงเปิดให้บริการอยู่ แต่ในที่สุด สวนลุมไนท์บาซาร์ก็ได้ปิดอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2554 โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้นำพื้นที่นี้ออกประมูลให้เอกชน โดยกำหนดขอบเขตเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสม ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก ที่อยู่อาศัย และสถานบันเทิง[4] จนกระทั่งบริษัทในกลุ่มทีซีซีชนะการประมูล จึงเข้าพัฒนาพื้นที่และเป็นโครงการ วัน แบงค็อก ในปัจจุบัน[2]
สวนลุมไนท์บาซาร์แห่งใหม่
[แก้]หลังจากพื้นที่สวนลุมไนท์บาซาร์เดิมหมดสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์แล้ว พี.คอน. ดีเวล็อปเมนท์ ได้ลงทุนซื้อที่ดินแปลงใหญ่บริเวณหัวมุมทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของสี่แยกรัชดา-ลาดพร้าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของตลาดกลางคืนรัชดา โดยที่ผู้ขายส่วนใหญ่ของตลาดกลางคืนรัชดาได้ย้ายไปขายที่อื่น และในปัจจุบันได้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จและเปิดเป็นสวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก เป็นที่เรียบร้อย
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สวนลุมไนท์บาซาร์". ดูเอเชีย. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2019.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 2.0 2.1 LADY (4 เมษายน 2017). ""One Bangkok" จุดหมายปลายทางแลนด์มาร์คระดับโลกแห่งใหม่ใจกลางเมือง". unlockmen. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2019.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ASEAN Enchanting Puppet with Joe Louis Theater". compasscm.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2019.
- ↑ "ตัวเลือกสำหรับการพัฒนาที่ดินเดิมของสวนลุมไนท์บาซาร์ในกรุงเทพมหานคร". Property-report.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มีนาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2014.