วิสุทธ์ บุษยกุล
ศาสตราจารย์วิสุทธิ์ บุษยกุล (เกิด: 8 พฤศจิกายน 2462, อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี; อนิจกรรม: 21 มกราคม 2554, กรุงเทพมหานคร (91 ปี 74 วัน)) บิดาเป็นชาวจังหวัดอุดรธานี มารดาเป็นชาวสมุทรสงคราม เนื่องจากบิดารับราชการในแผนกคลังจังหวัด เด็กชายวิสุทธิ์จึงต้องติดตามบิดาไปอยู่จังหวัดนครพนมตั้แต่อายุประมาณ 2-3ขวบ และได้เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงได้ย้ายไปศึกษาต่อที่ โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ได้เข้ารับราชการเป็นครูประชาบาลเมื่อ พ.ศ. 2478
ขณะเรียนมัธยมมีความสนใจในภาษาอังกฤษและภาษาไทย ต่อมาได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมและสอบได้วิชาครูประถม พ.ศ. 2480 จึงได้เข้าเป็นครูในโรงเรียนประจำจังหวัดสกลนคร ทำให้มีทุนทรัพย์พอจะหาทางศึกษาต่อระดับสูง ขณะนั้น มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นมหาวิทยาลัยเปิด สามารถสมัครเรียนได้โดยไม่ต้องมาเข้าเรียน อาจารย์วิสุทธิ์จึงได้สมัครเรียนวิชานิติศาสตร์ โดยอ่านตำราด้วยตนเองและลาเข้ามาสอบในกรุงเทพฯ ปีละครั้ง กระทั่งสอบได้ปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจารย์วิสุทธิ์ได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย และถูกส่งตัวไปอินเดียเพื่อฝึกการรับส่งวิทยุโทรเลขที่เมือง Poona ระหว่างอยู่ที่อินเดียได้พบเห็นวัฒนธรรมหลายประการ ทำให้เกิดความสนใจในเรื่องภาษาและศาสนาของชาวอินเดีย ทว่าอยู่ที่อินเดียไม่นานนักสงครามก็ยุติจึงได้กลับประเทศไทย ปี พ.ศ. 2490 ได้เข้ารับราชการในกรมสรรพากรจนถึงปีต่อมาได้ลาอุปสมบท 1 พรรษาที่จังหวัดสกลนคร เมื่อลาสิกขาแล้ว ได้ตัดสินใจสอบแข่งขันชิงทุนการศึกษาไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ปรากฏว่าสอบได้และได้รับทุนกระทรวงศึกษาธิการไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2492
ได้ศึกษาภาษาสันสกฤตที่ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เมืองฟิลาเดลเฟีย ได้ศึกษาด้านภาษาบาลี สันสกฤต นอกจากนี้ ยังสนใจศึกษาภาษาโบราณอื่น ๆ เช่น ภาษาอิหร่านและเปอร์เซียโบราณ ตลอดจนภาษาโขตานในเอเชียกลาง ระหว่างศึกษาและทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกิดล้มป่วยต้องเข้ารับการรักษาและมีโรคแทรกซ้อน จึงไม่สามารถศึกษาต่อจนจบปริญญาได้และต้องเดินทางกลับประเทศไทยในที่สุด เมื่อกลับมาแล้วได้เป็นอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์เกียรติคุณตามลำดับ
นอกจากนี้ศาสตราจารย์วิสุทธิ์ บุษยกุลดำรงตำแหน่งราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาตันติภาษา
ศาสตราจารย์วิสุทธิ์ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งปอดเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554 ยังกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 22-28 มกราคม พ.ศ. 2554 ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร และทรงรับศพอยู่ในพระราชานุเคราะห์โดยตลอด[1]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2550 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[2]
- พ.ศ. 2521 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
- พ.ศ. 2548 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)[3]
- พ.ศ. 2520 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[4]
- พ.ศ. 2521 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 4 (ภ.ป.ร.4)[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถานขอแสดงความเสียใจและอาลัย ศ.วิสุทธ์ บุษยกุล
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2010-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๘ ข หน้า ๑๐๕, ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2021-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๑, ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลา และเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๖๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๔๕๔, ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๑๐๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๕, ๒ ตุลาคม ๒๕๒๑
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2462
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2554
- เสียชีวิตจากมะเร็งปอด
- นักวิชาการชาวไทย
- ราชบัณฑิต
- ศาสตราจารย์
- อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ - ศิลปศาสตร์ - มนุษยศาสตร์
- บุคคลจากโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล
- บุคคลจากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล
- บุคคลจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- บุคคลจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- บุคคลจากอำเภอกุมภวาปี
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.จ. (ฝ่ายหน้า)
- ผู้ได้รับเหรียญจักรพรรดิมาลา
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ภ.ป.ร.4
- ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย