วัดศรีโคมคำ
วัดศรีโคมคำ | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดพระเจ้าตนหลวง, วัดหลวง |
ที่ตั้ง | 692 ถนนพหลโยธิน ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ประเทศไทย 56000 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
พระประธาน | พระเจ้าตนหลวง |
เจ้าอาวาส | พระราชปริยัติ (ณษิกรณ์ อรินฺทโม ป.ธ.๙ ,ดร.) |
ความพิเศษ | พระอารามหลวงประจำจังหวัด ใน จังหวัดพะเยา |
จุดสนใจ | หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ จุดชมทัศนียภาพริมกว๊านพะเยา |
กิจกรรม | สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพะเยา แห่งที่ 1 |
การถ่ายภาพ | งดใช้แสงแฟลชในการถ่ายภาพขณะพระสงฆ์ปฏิบัติศาสนกิจในพระอุโบสถ งดใช้เสียงดัง |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดศรีโคมคำ หรือ วัดพระเจ้าตนหลวง พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดมหานิกาย ภายในวิหารประดิษฐานพระเจ้าตนหลวงเป็นพระประธาน สร้างขึ้นในรัชสมัยของพญายอดเชียงราย กษัตริย์ลำดับที่ 10 แห่งราชวงศ์มังราย
วัดศรีโคมคำ ตั้งอยู่ริมกว๊านพะเยา เขตเทศบาลเมืองพะเยา เลขที่ 692 ถนนพหลโยธิน หมู่ที่ 1 ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เนื้อที่รวมทั้งสิ้น ประมาณ 74 ไร่
ประวัติ
[แก้]ตัววัดมี ตัววิหารหลังเดิม ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าผู้ใดสร้าง เนื่องจากเมืองพะเยามีการอพยพผู้คนจากภัยสงคราม ทำให้ตัวเมืองถูกปล่อยร้าง จนกระทั่งมีการฟื้นฟูเมืองขึ้นมาใหม่ หลังยุคที่กรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ตีเอาล้านนามาจากพม่า มาจนถึงช่วงที่พระยาประเทศอุดรทิศ เป็นผู้ครองเมืองพะเยาคนสุดท้าย ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนระบบการปกครองแบบหัวเมือง มาเป็นมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงสมัยนี้ เริ่มมีการบูรณะวัดศรีโคมคำและพระเจ้าตนหลวงขึ้นมาอีกครั้ง หลังตัววัดและองค์พระมีสภาพทรุดโทรมมาเกือบ 60 ปี
การบูรณะวัดศรีโคมคำ เป็นการบูรณะไปทีละส่วน เนื่องจากขาดงบประมาณ ทำให้เกิดความล่าช้า จนเมื่อ ปี พ.ศ. 2465 ชาวเมืองพะเยา ภายใต้การนำของพระยาประเทศอุดรทิศได้อาราธนาครูบาศรีวิชัยจากเมืองลำพูน เข้ามาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ การบูรณะวัด ปี พ.ศ. 2466 ภายใต้การนำของครูบาศรีวิชัย ได้มีการรื้อวิหารหลังเก่าที่ครอบพระเจ้าตนหลวงออกแล้วสร้างหลังใหม่ขึ้นมาแทน มีการสร้างศาลาราย โบสถ์ วิหารพระพุทธบาทจำลอง ทั้งหมดแล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี จนเมื่อปี พ.ศ. 2467 ก็ได้มีการทำบุญฉลองวัดที่บูรณะขึ้นมาใหม่ เป็นระยะเวลานานกว่าหนึ่งเดือน
เทศกาลแปดเป็ง นมัสการพระเจ้าตนหลวง
[แก้]วัดศรีโคมคำ เป็นวัดที่มีความแปลก ต่างจากวัดอื่น เนื่องจากเริ่มสร้างวิหารหลังแรก ภายหลังการขึ้นโครง ก่ออิฐ เพื่อก่อสร้างองค์พระเจ้าตนหลวง ซึ่งแล้วเสร็จในวันเพ็ญเดือนแปด (ปฏิทินจันทรคติแบบล้านนา) ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือนหกของไทย มีการฉลององค์พระครั้งแรก เรียกว่า เทศกาลแปดเป็ง
เทศกาลแปดเป็ง จัดขึ้นทุกปี ในช่วงเดือนพฤษภาคม ช่วงสัปดาห์วันวิสาขบูชา ในงาน มีการทำบุญฉลององค์พระช่วงกลางวัน และมีงานมหรสพ การออกร้านของกาชาดจังหวัด เครื่องเล่น และร้านขายสินค้าที่ระลึกในช่วงกลางคืน
พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
[แก้]วัดศรีโคมคำ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2523 ถือเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกและแห่งเดียวในจังหวัดพะเยา
จุดที่น่าสนใจบริเวณวัดและใกล้เคียง
[แก้]- อุโบสถกลางน้ำ ศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 ตัวอุโบสถสร้างยื่นเข้าไปในกว๊านพะเยา ด้านหน้ามีทางเดินเชื่อม ภายในมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ
- หอวัฒนธรรมนิทัศน์[1] เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงโบราณวัตถุ เอกสาร ข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดพะเยา เช่น ความเป็นมา วรรณกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพะเยา พิพิธภัณฑ์ เปิดทำการ เวลา 09.00 - 16.00 น. หยุดวันจันทร์และอังคาร
- จุดชมพระอาทิตย์ตกดินริมกว๊านพะเยา อยู่ด้านหลังวัดศรีโคมคำ ติดกับกว๊านพะเยา จากจุดนี้ สามารถมองเห็นทิวเขาผีปันน้ำทอดตัวเป็นแนวยาวอยู่ด้านหลังกว๊านพะเยาได้อย่างชัดเจน จุดชมพระอาทิตย์ตกด้านหลังวัดศรีโคมคำนี้ เป็นหนึ่งในสถานที่ ที่สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ตกดิน นกน้ำ กว๊านพะเยา และทิวเขา ได้สวยงามที่สุดของจังหวัดพะเยา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-11. สืบค้นเมื่อ 2013-08-23.