ข้ามไปเนื้อหา

วัดพร้าว (จังหวัดสุพรรณบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพร้าว
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพร้าว
ที่ตั้งเลขที่ 179 หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี 7200
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
ก่อตั้งสมัยอยุธยา
เจ้าอาวาสพระครูจันทสุวรรณเทพ (ทองดำ จนฺทเทโว)
มหามงคล- รูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส
- รอยพระพุทธบาทจำลอง
จุดสนใจ- มณฑป
- อุโบสถ
- ศาลาบูรพาจารย์
- หอไตรกลางสระน้ำ
- ตู้พระธรรมลายรดน้ำ
- เสาอัดใบลาน
กิจกรรม- ปิดทองไหว้พระ
- ปฏิบัติธรรม
- ชมค้างคาวแม่ไก่
- ให้อาหารปลา
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดพร้าว ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
ขึ้นเมื่อ23 มิถุนายน พ.ศ. 2548
เป็นส่วนหนึ่งของรายชื่อโบราณสถานในจังหวัดสุพรรณบุรี
เลขอ้างอิง0006338
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพร้าว ตั้งอยู่เลขที่ 179 หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดราษฎร์ คณะสงฆ์มหานิกาย เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี คณะสงฆ์ ภาค 14

ประวัติ

[แก้]

วัดพร้าว สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน สันนิษฐานว่าสร้างราว พ.ศ. 2240[1] อันอยู่ในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

ในอดีตชื่อว่า วัดโพพระ เป็นชื่อเรียกตามหมู่บ้านซึ่งเป็นสถานที่ตั้งวัด ต่อมาสมัยพระอุปัชฌาย์แก้วเป็นเจ้าอาวาส เปลี่ยนชื่อเป็น วัดแก้วพร้าว[2] และแปลงเป็นภาษาบาลีว่า วัดมณีนาฬิการาม แต่นิยมเรียกว่า วัดพร้าว และใช้ชื่อนี้ถึงปัจจุบัน

ที่ดินตั้งวัดมีพื้นที่จำนวน 32 ไร่ 2 งาน ได้รับอนุญาตตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2240 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2455[3] เขตวิสุงคามสีมากว้าง 14.10 เมตร ยาว 25 เมตร[1]

เป็นวัดซึ่งในอดีตมีพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะอำเภอ มีอดีตเจ้าอาวาสและเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชน วัตถุมงคลของท่านได้รับความนิยม

เป็นโบราณสถาน หมายเลขทะเบียน 0006338 ของกรมศิลปากรที่ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2548[4]

ทำเนียบเจ้าอาวาส

[แก้]

ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดพร้าว อดีตถึงปัจจุบัน เท่าที่พบข้อมูล[2]

ลำดับ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
1 พระอุปัชฌาย์ม่วง ราว พ.ศ. 2330 ราว พ.ศ. 2372 มรณภาพ
2 พระอุปัชฌาย์แก้ว ราว พ.ศ. 2372 ราว พ.ศ. 2440 มรณภาพ
3 พระครูปลื้ม ราว พ.ศ. 2440 พ.ศ. 2470 มรณภาพ
4 พระครูสังฆภาณโสภณ (เซ้ง อินฺทโชโต) พ.ศ. 2471 พ.ศ. 2505 มรณภาพ
5 พระครูสังฆรักษ์ เชื้อ สุวณฺโณ พ.ศ. 2506 พ.ศ. 2519 มรณภาพ
6 พระครูจันทสุวรรณเทพ (ทองดำ จนฺทเทโว) พ.ศ. 2520 - ปัจจุบัน

ปูชนียวัตถุ และปูชนียสถาน

[แก้]

มณฑป

[แก้]

มณฑป รูปแบบสถาปัตยกรรมทรงไทยโบราณ (ลักษณะคล้ายสถาปัตยกรรมพม่า) จำนวน 2 หลัง สร้างสมัยพระครูปลื้มเป็นเจ้าอาวาส ปัจจุบันกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้ว[4]

มณฑปหลังเล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2448 ภายในประดิษฐาน พระจุฬามณีเจดีย์ พระพุทธรูปปางต่างๆ องค์ปางปาลิไลยก์ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "หลวงพ่อวัดป่า" หรือ "หลวงพ่อโต" สร้างจำลองจากพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ (หลวงพ่อโต) ที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จังหวัดสุพรรณบุรี และยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองหนึ่งรอย แกะสลักจากหิน เมื่อ พ.ศ. 2448[2]

มณฑปหลังใหญ่ เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2466 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2472 โดยพระอาจารย์เซ้ง อินฺทโชโต (ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูสังฆภาณโสภณ) ภายในประดิษฐาน พระจุฬามณีเจดีย์ พระพุทธรูปปางต่างๆ และรอยพระพุทธบาทจำลองสี่รอย แกะสลักจากหิน เมื่อ พ.ศ. 2448[2]

อุโบสถ

[แก้]

อุโบสถหลังเก่าสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาชำรุดทรุดโทรม สมัยพระครูปลื้มเป็นเจ้าอาวาสจึงรื้อและดำเนินการสร้างใหม่ในพื้นที่เดิมเมื่อ พ.ศ. 2454 กระทั่งแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2457 โดยปรับขนาดให้ใหญ่กว่าเดิม[2] ส่วนใบเสมานั้นยังคงเป็นของเดิม มีลักษณะเป็นใบเสมาคู่ ทำจากวัสดุหินทรายแดง รูปแบบศิลปกรรมและอายุสมัยกรุงศรีอยุธยา

ศาลาบูรพาจารย์

[แก้]

ศาลาบูรพาจารย์ ลักษณะอาคารไม้ ทรงไทย เป็นสถานที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุต่างๆ ได้แก่

  • พระพุทธรูปทรงเครื่อง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ปางประจำวันต่างๆ
  • พระแม่ธรณีบีบมวยผม ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์
  • รูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส ได้แก่ พระอุปัชฌาย์ม่วง พระครูปลื้ม พระครูสังฆภาณโสภณ (เซ้ง อินฺทโชโต) พระครูสังฆรักษ์ เชื้อ สุวณฺโณ
  • รอยพระพุทธบาทจำลอง

สิ่งน่าสนใจ

[แก้]

หอไตรกลางสระน้ำ

[แก้]

หอไตรกลางสระน้ำ สร้างราว พ.ศ. 2440 กว่าๆ สมัยพระครูปลื้มเป็นเจ้าอาวาส ในอดีตเป็นสถานที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก คำภีร์และตำราต่างๆ ส่วนสาเหตุที่ต้องสร้างอยู่กลางสระน้ำเนื่องจากเป็นภูมิปัญญาในการเก็บรักษา เพื่อป้องกันมด ปลวก หนูที่จะกัดทำลาย[2] ปัจจุบันหอไตรนี้ไม่ได้ใช้งาน กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้ว[4]

ตู้พระธรรมลายรดน้ำ

[แก้]

ตู้พระธรรม ศิลปะรัตนโกสินทร์ ชนิดไม้ลงรักปิดทองลายรดน้ำ เก็บรักษาไว้ที่หอสวดมนต์ ปัจจุบันกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุแล้ว[5]

เสาอัดใบลาน

[แก้]

เสาอัดใบลาน เป็นเครื่องมือใช้อัดใบลานให้เป็นแผ่นเรียบแบนและอยู่ตัว ก่อนนำไปใช้จารึกอักขระต่างๆ ปัจจุบันหมดความนิยม ไม่ใช้งานกันแล้ว จึงพบเห็นได้น้อยมาก ทางวัดเก็บรักษาไว้ที่ศาลาบริเวณริมสระหอไตรกลางน้ำ ปัจจุบันกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุแล้ว[5]

กิจกรรม

[แก้]

สถานปฏิบัติธรรม

[แก้]

ภายในบริเวณวัดมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น เป็นสถานที่วิเวก มีสถานปฏิบัติธรรม สำหรับเจริญสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน

วังค้างคาว

[แก้]

ภายในบริเวณวัดมีต้นยาง ต้นไม้ขนาดใหญ่เป็นที่อาศัยของค้างคาวแม่ไก่จำนวนมาก สามารถเดินชมได้

แพน้ำ

[แก้]

ตั้งอยู่บริเวณวัด ริมแม่น้ำท่าจีนสายเก่า เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด มีอาหารปลาจำหน่าย สามารถลงไปให้อาหารได้

การศึกษา

[แก้]

เทศกาล และงานประจำปี

[แก้]
  • งานปิดทองไหว้พระ สักการะพระจุฬามณีเจดีย์และรอยพระพุทธบาท วันขึ้น 8 ค่ำ และวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี
  • งานปิดทองไหว้พระ สักการะพระจุฬามณีเจดีย์และรอยพระพุทธบาท วันขึ้น 8 ค่ำ และวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี
  • พิธีทำบุญอายุวัฒนมงคลพระครูจันทสุวรรณเทพ (ทองดำ จนฺทเทโว) วันที่ 18 เมษายน ของทุกปี

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. (2545). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 พระมหาสมชาย ญาณวีโร, ปกิจ กลิ่นสุคนธ์ และสนิท ทองคำใส. (2545). วัดพร้าว อดีต...สู่ปัจจุบัน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์
  3. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุพรรณบุรี. (2535). ทำเนียบวัดและโบราณสถานจังหวัดสุพรรณบุรี. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
  4. 4.0 4.1 4.2 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน [โบราณสถานวัดไก่เตี้ย โบราณสถานวัดไทรย์ โบราณสถานวัดพร้าว โบราณสถานวัดหนองผักนาก], เล่ม 122, ตอนพิเศษ 98 ง, 22 กันยายน 2548, หน้า 1
  5. 5.0 5.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ [รวม ๓๔ แห่ง จำนวน ๓๖๘ รายการ ๑. วัดปฐมพานิช ฯลฯ] , เล่ม 139, ตอนพิเศษ 117 ง, 22 กันยายน 2548, หน้า 19