ละหมาด
ส่วนหนึ่งของ |
ศาสนาอิสลาม |
---|
|
ละหมาด หรือ นมาซ หรือเรียกกันในภาษามลายูปัตตานีว่า มาแย คือการนมัสการพระเจ้า อันเป็นศาสนกิจอย่างหนึ่งในศาสนาอิสลาม เพื่อแสดงถึงความเคารพสักการะ ความขอบคุณ และความภักดีต่ออัลลอฮ์[1][2] โดยทั่วไปการละหมาดคือการขอพร ส่วนทางศาสนาหมายถึงการกล่าวและการกระทำ[3] การละหมาดจะกระทำ 5 เวลา ได้แก่ ยามรุ่งอรุณ (ซุบฮี), ยามบ่ายช่วงตะวันคล้อย (ดุฮรี), ยามเย็น (อัศรี), ยามอาทิตย์ตกดิน (มัฆริบ) และยามค่ำคืน (อิชาอ์)[1] ซึ่งการละหมาดทุกครั้งจะต้องหันหน้าไปทางทิศกิบลัตในเมืองมักกะฮ์[1][3]
ศัพทมูลวิทยา
[แก้]คำว่า "ละหมาด" หรือ "นมาซ" เป็นคำยืมมาจากภาษาเปอร์เซียมาจากคำว่า "นมาซ" (เปอร์เซีย: نَماز namāz)
ภาษาอาหรับเรียกว่า "ศอลาต" (อาหรับ: صلاة ṣalāh หรือ gen: ṣalāt; พหูพจน์ صلوات ṣalawāt) มาจากรากศัพท์ที่ประกอบด้วย ศอด (ص) , ลาม (ل) , และวาว (و) ความหมายของรากศัพท์นี้ในภาษาอาหรับคลาสสิกคือ สวดมนต์ อ้อนวอน บูชา ร้องทุกข์ กล่าวสุนทรพจน์ ขอพร ตามไปอย่างใกล้ชิด หรือ ติดต่อ ความหมายที่เป็นรากฐานของคำนี้เกี่ยวข้องกับความหมายที่ใช้ในอัลกุรอานทั้งหมด
ส่วนภาษามลายูว่า "เซิมบะห์ยัง" (มลายู: Sembahyang) ที่เป็นคำที่ประกอบจากคำว่า 'เซิมบะห์' (sembah บูชา) และ 'ฮยัง' (hyang พระเจ้า) ซึ่งเพี้ยนเป็นภาษามลายูปัตตานีว่า "ซือมาแย" หรือ "สมาแย"[2] และสำเนียงสงขลาว่า "มาหยัง"[4]
เงื่อนไขของการละหมาด
[แก้]- ต้องเป็นมุสลิม
- มีเจตนาแน่วแน่ (นียะหฺ)
- หันหน้าไปทางทิศกิบลัต (ทิศตะวันตกของประเทศไทย) คือที่ตั้งของเมกกะ
- การประกาศบอกเวลาละหมาด (อะซาน)
- การประกาศให้ยืนขึ้นเพื่อละหมาด (อิกอมะหฺ)
- ความสะอาดของร่างกาย เสื้อผ้า สถานที่
ชนิดของการละหมาด
[แก้]- ละหมาดภาคบังคับ (ฟัรฎ) วันละ 5 เวลา (การละเว้นละหมาดชนิดนี้เป็นบาป) ประกอบด้วย
- ย่ำรุ่ง (ศุบฮิ) ประมาณ ตี 5 - 6 โมงเช้า
- บ่าย (ซุหฺริ) ประมาณ เที่ยงครึ่ง - บ่ายโมงกว่าๆ
- เย็น (อัศริ) ประมาณ บ่าย 3 ถึง 5 โมงเย็น
- พลบค่ำ (มัฆริบ) ประมาณ 6 โมงครึ่ง ถึง ทุ่มกว่า ๆ
- กลางคืน (อิชาอ์) ก่อนนอน ประมาณ 1 ทุ่มเป็นต้นไป
- ละหมาดวันศุกร์ (ญุมุอะหฺ) เป็นการละหมาดร่วมกันในเวลาบ่าย ก่อนละหมาดจะมีเทศนา (คุฏบะหฺ) เป็นข้อบังคับเฉพาะผู้ชาย
- ละหมาดอื่น ๆ ได้แก่ละหมาดในวันอีดิลฟิฏร์ และวันอีดิลอัฎฮา ละหมาดในเดือนรอมะฎอน (ในนิกายซุนนีเรียกว่า ตะรอวีฮฺ) ละหมาดเมื่อเกิดสุริยคราส (กุซูฟ) และจันทรคราส (คูซูฟ) ละหมาดขอฝน (อิสติสกออ์) ละหมาดให้ผู้ตาย (ญะนาซะหฺ) และละหมาดขอพรในกรณีต่าง ๆ
ความสะอาดกับการละหมาด
[แก้]ก่อนการละหมาด ผู้ละหมาดต้องอาบน้ำละหมาด (วุฎูอ์) ได้แก่การใช้น้ำชำระมือ ปาก จมูก ใบหน้า แขน ศีรษะ หู และเท้า พร้อมกับขอพร ถ้าไม่มีน้ำให้ชำระด้วยผงดิน (ตะยัมมุม) ในกรณีที่เพิ่งหมดประจำเดือน หลังคลอดบุตรหรือแท้งบุตร หรือผู้ที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หลั่งน้ำอสุจิ นอกจากอาบน้ำละหมาดแล้วต้องอาบน้ำทั่วร่างกาย (ญะนาบะหฺ) ด้วย
สิ่งที่ทำให้ความสะอาดเสียไป ซึ่งทำให้การละหมาดไม่มีผล ได้แก่ การผายลม การขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ มีเพศสัมพันธ์ หลั่งอสุจิ คลอดบุตร แท้งบุตร หลับ หรือเป็นลมหมดสติ
ขั้นตอนการละหมาด
[แก้]การละหมาดประกอบด้วยหน่วยย่อยเรียกร็อกอะหฺ (หรือร่อกอัต ร็อกอะห์) การละหมาดในโอกาสต่าง ๆ มีจำนวนร็อกอะห์ต่างกันไปเช่นละหมาดวันศุกร์มี 2 ร็อกอะหฺ ละหมาดเวลากลางคืนมี 4 ร็อกอะหฺ ละหมาดตะรอวีฮฺ ในคืนของเดือนถือศีลอดมี 40 ร็อกอะหฺ เป็นต้น
ละหมาด 1 ร็อกอะหฺประกอบด้วย
- มีเจตนาแน่วแน่
- ยกมือระดับบ่า กล่าวตักบีร อัลลอฮูอักบัรซึ่งเป็นการสดุดีอัลลอฮ์แล้วยกมือมากอดอก (ตามทัศนะซุนนีย์) หรือปล่อยมือลง (ตามทัศนะชีอะหฺ และซุนนีย์สำนักมาลิกีย์)
- ยืนตรง อ่านอัลกุรอาน ซูเราะหฺอัลฟาติฮะหฺ และบางบทตามต้องการ
- ก้มลง สองมือจับเข่า ศีรษะอยู่ในแนวตรงกับสันหลัง กล่าวว่า "ซุบฮานะ ร่อบบิยัลอะซีมิ วะบิฮัมดิหฺ" อย่างน้อย 3 ครั้ง
- ยืนตรง กล่าว "สะมิอัลลอหุ ลิมัน ฮะมิดะหฺ"
- ก้มกราบให้หน้าผากและจมูกจดพื้น มือวางบนพื้น ให้ปลายนิ้วสัมผัสพื้น หัวเข่าจดพื้น กล่าวว่า "ซุบฮานะ รอบบิยัล อะอฺลา วะบิฮัมดิฮฺ" อย่างน้อย 3 ครั้ง
- อ่านบทขอพร
- ก้มกราบครั้งที่ 2
การละหมาดที่มี 2 ร็อกอะหฺ เมื่อลุกขึ้นจากการกราบครั้งที่ 2 จะอ่านตะฮียะหฺ หรือเรียกว่า ตะชะหฺหุด ส่วนละหมาดที่มีมากกว่า 2 ร็อกอะหฺจะอ่านตะฮียะหฺอีกครั้งในร็อกอะหฺสุดท้าย เมื่อเสร็จสิ้นการกล่าวตะฮียะหฺจะเป็นการกล่าวสลาม คือกล่าวว่า "อัสลามุอะลัยกุม วะเราะฮฺมาตุลลอหฺ" พร้อมกับเหลียวไปทางขวาครั้งหนึ่ง กล่าวอีกพร้อมกับเหลียวไปทางซ้าย แล้วยกมือลูบหน้า เป็นอันเสร็จสิ้นการละหมาด
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 บรรจง บินกาซัน. อิสลามสำหรับผู้เริ่มสนใจอิสลาม. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสืออิสลาม, 2546, หน้า 35-37
- ↑ 2.0 2.1 แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง. ทักษะวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2552, หน้า 35.
- ↑ 3.0 3.1 "การละหมาดในศาสนาอิสลาม". สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 25 ธันวาคม 2549. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ประพนธ์ เรืองณรงค์. เรื่องเล่าจากปัตตานี. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2548, หน้า 17
- บุญมี แท่นแก้ว. ประวัติศาสนาต่าง ๆ และปรัชญาธรรม. โอเดียนสโตร์. 2546
- พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. 2548
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- [ http://www.islaminthailand.org : เพื่อความเข้าใจอิสลาม และมุสลิม]