ชิน โสภณพนิช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชิน โสภณพนิช

เกิด10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451
จังหวัดธนบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต4 มกราคม พ.ศ. 2531 (79 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตโรคหัวใจ โรคไต
อาชีพนักธุรกิจ นักการธนาคาร
คู่สมรสเล่ากุ่ยเอ็ง
บุญศรี โสภณพนิช
บุตร9 คน

นายชิน โสภณพนิช (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 - 4 มกราคม พ.ศ. 2531) นักธุรกิจ, นักการเงิน-การธนาคารชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีชื่อเสียง เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ

ชีวิตช่วงต้น[แก้]

นายชินเกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 มีบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋วอพยพ เกิดในบริเวณวัดไทร อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี เมื่ออายุได้ 5 ขวบ ต้องเดินทางกลับไปประเทศจีนพร้อมบิดา ได้ศึกษาชั้นประถมที่ประเทศจีน รวมทั้งช่วยบิดาทำนาด้วย เมื่อเวลาฝนตก บิดาต้องตามตัวกลับมาจากโรงเรียนเพื่อให้ช่วยไถนา นายชินอยู่ในประเทศจีนเป็นระยะเวลานานถึง 12 ปี จนกระทั่งอายุ 17 ปี จึงเดินทางกลับมาสู่ประเทศไทย มีความรู้อ่านออก เขียนได้ดี ทั้งภาษาจีนและภาษาไทย

นักธุรกิจ[แก้]

นายชิน เริ่มต้นอาชีพครั้งแรกด้วยการเป็นลูกจ้างในเรือโยงบรรทุกสินค้าทางการเกษตร ขึ้นล่องระหว่าง กรุงเทพ - อยุธยา จากนั้นจึงได้เปลี่ยนเป็นเสมียนของโรงไม้แห่งหนึ่งซึ่งเจ้าของก็คือนายเจียม ชัยเกียรติ ด้วยความที่นายชินเป็นคนเอาการเอางาน เรียนรู้ได้เร็ว ประกอบกับเป็นคนมีอัธยาศรัยดี นายเจียมจึงสอนการทำบัญชีให้แก่นายชิน รวมทั้งให้เป็นคนติดต่อลูกค้าให้ด้วย นายชินทำงานอยู่ที่นี่เป็นเวลา 3 ปี เมื่ออายุได้ 20 ปี นายเจียมได้ขยายกิจการ โดยไปเปิดร้านใหม่ จึงยกสาขาเดิมนี้ให้แก่นายชิน โดยยกตำแหน่งผู้จัดการให้แก่นายชินแต่หลังจากนี้กิจการของนายชินประสบปัญหา และเกิดไฟไหม้ ทำให้ต้องปิดกิจการลง

หลังจากนี้ นายชินได้เดินทางกลับสู่ประเทศจีนอีกครั้ง และได้ร่วมทำกิจการการเดินเรือระหว่างซัวเถากับเซี่ยงไฮ้ กับนักธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก ต่อมา นายชินได้กลับสู่ประเทศไทย จะได้รับการชักชวนจากนายแต้เก๋ง ฮุ้ง เจ้าของบริษัท เซียม เฮง ล้ง ซึ่งเป็นธุรกิจค้าขายวัสดุก่อสร้าง นายชินจึงตัดสินใจเข้าทำงานที่นี่ในปี พ.ศ. 2482 ซึ่งธุรกิจค้าขายวัสดุก่อสร้างนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากกล่าวกันว่าในครั้งนั้น ใครจะก่อสร้างอะไรทั้งภาครัฐและเอกชนก็ต้องมาซื้อของที่ เซียม เฮง ล้ง 

จากนั้น นายชินจึงตัดสินใจเก็บรวบรวมเงินทั้งหมด เปิดร้านขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างของตัวเอง แถวโรงภาพยนตร์พัฒนาการ ถนนเจริญกรุง และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่นาน จึงจดทะเบียนเป็นบริษัท เอเซีย จำกัด สินค้าที่ขายส่วนใหญ่เป็นเหล็ก ด้วยอายุเพียง 29 ปี ซึ่งสถานการในขณะนั้น รัฐบาลมีนโนบายส่งเสริมการค้าขายของคนไทย บริษัทของนายชินประสบความสำเร็จอย่างดี จึงขยายกิจการออกไปอีก 2 บริษัท เป็นบริษัทค้าขายเครื่องเขียน และขายเครื่องกระป๋อง

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ต้องมีการก่อสร้างซ่อมแซมสถานที่ต่าง ๆ ที่ปรักหักพัง นายชินจึงชักชวนเพื่อนพ่อค้าอีก 15 คน ร่วมหุ้นก่อตั้งบริษัท มหกิจ ขึ้นในปี พ.ศ. 2488 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยที่นายชินเป็นหนึ่งในสามของผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก จากนั้นนายชินจึงได้เริ่มทำกิจการใหม่ ๆ หลายอย่าง เช่น ค้าทองคำ ค้าข้าว และธุรกิจห้างสรรพสินค้า

ในปี พ.ศ. 2487 นายชิน ขณะที่มีอายุเพียง 34 ปี ได้รับการชักชวนจากเพื่อนฝูง 15 คน ร่วมหุ้นก่อตั้งธนาคารกรุงเทพขึ้น ในเดือนธันวาคม ธนาคารกรุงเทพสาขาแรกเป็นเพียงห้องแถวคูหาเล็ก ๆ 2 คูหา 2 ชั้น เลขที่ 235-237 ถนนราชวงศ์ ย่านสำเพ็ง โดยมีนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานในพิธีเปิด ในเวลาบ่าย 2 โมง มีพนักงานในระยะแรก 23 คน มีพ่อค้าวานิชต่าง ๆ ให้ความไว้วางใจนำเงินมาฝากในวันแรกที่เปิดกิจการถึง 9 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงมาก นายชินเริ่มงานที่ธนาคารกรุงเทพด้วยการเป็นคอมประโดร์ (นายหน้า) หาลูกค้า และพิจารณาการออกเงินกู้ ซึ่งการทำหน้าที่ของนายชินสามารถทำกำไรให้แก่ธนาคารอย่างมาก โดยในกลางปี พ.ศ. 2488 ยอดเงินฝากของธนาคารกรุงเทพ มีจำนวนทั้งสิ้น 10.2 ล้านบาท แต่เมื่อนายชินเข้ามาทำหน้าที่นี้ยอดเงินเพิ่มขึ้นเป็น 18.5 ล้านบาท ในปลายปี [1] จากนั้น กิจการธนาคารกรุงเทพได้เจริญเติบโตเป็นลำดับ และเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่มีสาขาเปิดในต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2495 นายชินได้ขึ้นผู้จัดการธนาคารและครอบครองตำแหน่งได้นานที่สุดถึง 25 ปี ในระหว่างปี พ.ศ. 2495 - พ.ศ. 2520 และเป็นที่รู้จักอย่างมากในแวดวงธุรกิจและสังคม และได้ร่วมงานกับนักธุรกิจชั้นแนวหน้ามากมายในประเทศไทย เช่น นายบุญชู โรจนเสถียร, นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์, เป็นต้น

ชีวิตส่วนตัวและบทบาททางสังคม[แก้]

ชีวิตส่วนตัว นายชินสมรส 2 ครั้ง ครั้งแรกกับนางเล่ากุ่ยเอ็ง (劉桂英) ชาวจีน มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 2 คน คือ

  1. นายระบิล โสภณพนิช (Robin Chan: ตั้งอู๋เข่ง : 陳有慶) ปัจจุบันถือสัญชาติฮ่องกง และพำนักอยู่ที่เขตปกครองตนเองพิเศษฮ่องกง สมรสกับนางซิ่ม ซี้ฮุง (沈時芬) มีบุตรคือ
    • นายสตีเฟน ตัน (Stephen Tan: ตั้งตี่บุ๊ง: 陳智文)
    • นายชาญวุฒิ โสภณพนิช (Bernard Chan: ตั้งตี่ซือ: 陳智思) สมาชิกสภาบริหารงานของฮ่องกง ปัจจุบันถือสัญชาติฮ่องกง
  2. นายชาตรี โสภณพนิช เสียชีวิต วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2561 (ตั้งอู๋ฮั้ง: 陳有漢) มีบุตร-ธิดา คือ
    • นายชาติศิริ โสภณพนิช (ตั้งตี่ชิม: 陳智深) กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ
    • นางสาวิตรี รมยะรูป
    • นายชาลี โสภณพนิช (ตั้งตี่ก่ำ: 陳智淦) ประธานบริษัทเอเชียอินเวสเม้นต์
    • นางสุชาดา ลีสวัสดิ์ตระกูล

นายชินสมรสครั้งที่ 2 กับนางบุญศรี โสภณพนิช (เอี๊ยบุ่งลี้: 姚文莉) มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 7 คน อาทิ

  1. นายโชติ โสภณพนิช (ตั้งย่งเกี๋ยง: 陳永建) สมรสกับ คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช (เล้งอ้วงฮง: 龍宛虹)
  2. นายหมวดตรีชัย โสภณพนิช (ตั้งย่งเต็ก: 陳永德)
  3. คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช (ตั้งหงเล้ง: 陳鳳翎)
  4. นายเชิดชู โสภณพานิช สมรสกับ กาญจนา โสภณพนิช

ชีวิตของนายชิน เป็นที่รับรู้และยอมรับจากสังคมทั่วไปว่า เป็นผู้สร้างฐานะตนเองจากเสื่อผืนหมอนใบ จนเป็นตำนานของนักธุรกิจในประเทศไทยเป็นที่กล่าวขานกันมาจนปัจจุบัน

ซึ่งนายชินมีแซ่ตั้ง มีชื่อเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "ตั้งเพียกชิ้ง" (จีน: 陳弼臣) ซึ่งคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยนิยมเรียกนายชินในชื่อนี้

ในทางสังคม ได้ก่อตั้ง มูลนิธิชิน โสภณพนิช ขึ้น รวมทั้งได้อนุเคราะห์หลายองค์การ หลายกิจการในสังคมด้วย อาทิ เช่น มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ซึ่งเจ้าของโรงเรียนเซนต์จอห์น เคยกล่าวว่า ถ้าไม่มีนายชิน ก็คงไม่มีเซนต์จอห์นในวันนี้ ในปี พ.ศ. 2523 นายชิน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)

นอกจากนี้แล้วในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา นายชินยังได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยด้วย โดยสังกัดอยู่ในสายของ พล.ต.หลวงสังวรยุทธกิจ มีหน้าที่จัดส่งเสบียงและให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จนถูกทหารญี่ปุ่นจับขังคุกมาแล้ว[1]

นายชิน โสภณพนิช เริ่มผ่องถ่ายกิจการให้แก่นายชาตรี บุตรชายคนที่ 2 ในปี พ.ศ. 2520 และถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2531 ด้วยโรคหัวใจและโรคไต ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า จากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานโกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจา ตั้งประดับเกียรติยศ ปี่ กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน กำหนด 3 คืน รวมทั้งได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2531[2]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ประวิทย์ พันธุ์วิโรจน์. เสน่ห์เมืองจิ๋ว ทำเลมังกรทอง. กรุงเทพฯ : แปลน พริ้นท์ติ้ง, 2545. 216 หน้า. หน้า 72-74. ISBN 974-7041-27-8
  2. ถึงแก่อสัญกรรมเก็บถาวร 2005-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นายชิน โสภณพนิช
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๑๘๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๓, ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๒๖๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๖, ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๘