พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้
上海科技馆 Shanghai Science and Technology Museum | |
มุมด้านนอกของพิพิธภัณฑ์ | |
ก่อตั้ง | 18 ธันวาคม พ.ศ. 2544 [1] |
---|---|
ที่ตั้ง | 2000 ถนนเซ็นจูรี, ผู่ตง, เซี่ยงไฮ้, ประเทศจีน[2] |
ประเภท | พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี |
ขนส่งมวลชน | สถานี SSTM ของรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้สาย 2[2] |
เว็บไซต์ | www |
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้ | |||||||||||||
ภาษาจีน | 上海科技馆 | ||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้ (จีน: 上海科技馆; พินอิน: Shànghǎi kējì guǎn; ช่างไห่เคอจี้กว่าน; อังกฤษ: Shanghai Science and Technology Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ในเขตผู่ตง นครเซี่ยงไฮ้ ตั้งอยู่ใกล้กับสวนเซ็นจูรี สวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในเขตชั้นในของเมือง[3] เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน
ประวัติ
[แก้]จตุรัสเซ็นจูรี (Century Square) ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) พร้อมกับแผนการสร้างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้บนฝั่งตะวันตกของจตุรัส เพื่อเป็นโครงการสำคัญสำหรับการเผยแพร่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี[4][4]และในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ราชการฮฺวามู่ (Huamu Civic Center) พิพิธภัณฑ์จึงมีจุดมุ่งหมายอีกประการเพื่อช่วยผลักดันการพัฒนาพื้นที่เมืองอย่างต่อเนื่องในเขตผู่ตงใหม่ เพื่อให้มีการพัฒนานอกเหนือไปจากลู่เจียจุ่ยและย่านอื่นๆ ริมแม่น้ำหวงผู่ฝั่งตะวันออก พิพิธภัณฑ์แล้วเสร็จโดยเฉพาะส่วนหอประชุมใหญ่และห้องประชุมทันเวลาการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเอเปกในวันที่ 20 และ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2544 โดยได้ต้อนรับเจียง เจ๋อหมิน ผู้นำสูงสุดของจีน, ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งโก๊ะ จ๊กตง นายกรัฐมนตรีของประเทศสิงคโปร์, จุนอิจิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสร็จสิ้นการก่อสร้างในเฟสแรก และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2544 หัวข้อการจัดแสดงในระยะเริ่มต้นคือ ความกลมกลืนของธรรมชาติ, มนุษยชาติ และเทคโนโลยี (จีน: 自然·人·科技; พินอิน: Zìrán, Rén, Kējì) และโถงนิทรรศการห้าห้องแรกจัดแสดง "สวรรค์และโลก", "ชีวิต", "ปัญญา", "ความคิดสร้างสรรค์" และ "อนาคต"
ระยะที่ 2 ของโครงการเปิดในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 และเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งแรกที่ผ่านการรับรองคุณภาพ ISO 9000/14000 และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม[4][4]]][4] ในปี พ.ศ. 2553 มีผู้เข้าชม 19.5 ล้านคน[4][4]]][4] แม้ว่าในระหว่างเดือนมกราคม–พฤษภาคม พ.ศ. 2553 พื้นที่สำหรับเด็กและนิทรรศการแสงแห่งปัญญา (Light of Wisdom) ได้รับการปรับปรุง ซึ่งเป็นช่วงก่อนงานเอ็กซ์โป 2010 ที่จัดขึ้นในปีนั้น ภายหลังการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้ได้รับการจัดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวโดยคณะกรรมการจัดระดับคุณภาพสถานที่ท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน (CNTA) จากระดับ AAAA เป็นระดับ AAAAA[5] และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 ประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐฯ ได้จัดการประชุมพบปะผู้บริหารระดับสูงกับนักศึกษาชาวเซี่ยงไฮ้ที่พิพิธภัณฑ์นี้ ระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการในฐานะรัฐอาคันตุกะ
การบริหาร
[แก้]พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้ ไม่ใช่สถาบันในกำกับของรัฐโดยตรง แต่ภายใต้การบริหารของมูลนิธิภายใต้การบริหารรัฐกิจ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากธุรกิจเอกชนในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งรวมถึงธนาคารเพื่อการพัฒนาผู่ตง, บรรษัทบริหารการลงทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้, ธุรกิจร่วมทุน Beijing Zhijin และ Top Group มูลนิธิฯ ยังดูแลพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อื่นๆ ในเซี่ยงไฮ้ เช่น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเซี่ยงไฮ้ และท้องฟ้าจำลองเซี่ยงไฮ้ที่เปิดใหม่ในปี 2563
สถาปัตยกรรม
[แก้]การออกแบบดั้งเดิมของพิพิธภัณฑ์ได้รับการจัดการโดย Creative Star Digital ซึ่งตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ โดยวางแผนไว้เพื่อการรองรับผู้เข้าชม 2–3 ล้านคนต่อปี มีมูลค่า 3.75 พันล้านหยวน (180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทางเดินหลักภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ถูกออกแบบให้เป็นทางลาดเกลียวห้าชั้น วัตถุประสงค์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลูกแก้วขนาดมหึมาที่ตั้งอยู่ตรงกลางอาคาร แสดงถึงชีวิตที่เริ่มเกิดขึ้นจากน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 42 ไร่ (16.8 เอเคอร์) พื้นที่ใช้สอยรวม 98,000 ตารางเมตร (1,050,000 ตารางฟุต) พื้นที่ใช้จัดแสดง 65,500 ตารางเมตร (705,000 ตารางฟุต) ระบบปรับอากาศของพิพิธภัณฑ์ทำงานในระบบดิจิทัล ซึ่งครั้งหนึ่งระบบปรับอากาศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้เคยได้รับการพิจารณาให้จัดแสดงเป็นนิทรรศการแยกต่างหาก
อาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ราชการฮฺวามู่ ของผู่ตง ซึ่งช่วยนำร่องการพัฒนาที่ดินทางตอนใต้สุดของถนนสายหลักของย่าน (ถนนเซ็นจูรี; Century Avenue) ซึ่งพื้นที่ 250,000 ตารางเมตร (2,700,000 ตารางฟุต) ของจตุรัสเซ็นจูรีในบริเวณข้างพิพิธภัณฑ์ฯ ทางฝั่งเหนือ ประกอบด้วยแหล่งช็อปปิ้งใต้ดิน และสถานีรถไฟใต้ดิน และเมื่อรวมสวนเซ็นจูรี่พาร์คที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ แล้ว พื้นที่พัฒนาร่วมนี้ช่วยสร้างภาพลักษณ์ของย่านฮฺวามู่และส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับหรูหราในบริเวณโดยรอบ
นิทรรศการ
[แก้]การจัดแสดงและกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทุ่มเทในการเผยแพร่วิทยาศาสตร์ โดยมีจุดมุ่งหมายในเรื่องความกลมกลืนของ "ธรรมชาติ มนุษยชาติ และเทคโนโลยี" ประกอบกับการออกแบบผังอาคารโดยรวม และการออกแบบการจัดแสดง มีนิทรรศการถาวรหลัก 14 แห่ง และโรงภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ 4 โรง ห้องนิทรรศการชั่วคราว 2 ห้อง ได้แก่
- สีสรรแห่งชีวิต (Spectrum of Life): นิทรรศการธรรมชาติที่จำลองทิวทัศน์ของมณฑลยูนนานและแสดงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต
- สำรวจโลก (Earth Exploration)
- บ่อเกิดแห่งการสร้างสรรค์ (Cradle of Design) ซึ่งผู้เข้าชมสามารถใช้ CAD/CAM เพื่อออกแบบและสร้างสิ่งละอันพันละน้อยได้
- ดินแดนสายรุ้งของเด็ก (Children's Rainbow Land)
- แสงแห่งปัญญา (Light of Wisdom)
- บ้านบนโลก (Home of Earth)
- ยุคสารสนเทศ (Information Era)
- โลกของหุ่นยนต์ (World of Robots)
- แสงแห่งการสำรวจ (Light of Exploration) เป็นนิทรรศการที่แสดงความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ในศตวรรษที่ 20
- มนุษย์กับสุขภาพ (Human and Health)
- การนำทางสู่อวกาศ (Space Navigation)
- โลกของสัตว์ (World of Animals)
- นิทรรศการแมงมุม (Spider Exhibition)
ห้องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโบราณของจีน (The Chinese Ancient Science and Technology Gallery) จัดแสดงสิ่งประดิษฐ์และผลงานของจีนโบราณ ห้องนักสำรวจ (The Explorers' Gallery) นำเสนอนักสำรวจชาวจีนและชาวต่างชาติ ห้องนักนักวิชาการ (Academicians' Gallery) มีนักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยจากประเทศจีนโดยเฉพาะจากเซี่ยงไฮ้
นิทรรศการก่อนหน้านี้ ได้แก่ "สวรรค์แห่งการค้นพบภาพและเสียง" จัดแสดงโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก, ป่าดิบชื้นขนาด 700 ตารางเมตร (7,500 ตารางฟุต), กรงแสดงนก, ห้องแสดงสัตว์น้ำ และศูนย์แผ่นดินไหว ที่รวมถึงแท่นทดลองการสั่นกับวิดีโอที่ช่วยให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสกับการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวจำลอง นิทรรศการเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ "แสดงถึงการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ที่ล้ำสมัย" โดยใช้ "วิธีการจัดแสดงที่เป็นนวัตกรรมและเป็นเอกลักษณ์" แต่ปัจจุบันหลายนิทรรศการยังไม่ได้รับการปรับปรุง อาจเกิดจากการให้สัมปทานกับบริษัทเอกชน ซึ่งขาดการจัดการในการบำรุงรักษาหรือปรับปรุงระยะยาวที่ดีพอ
ขณะที่พิพิธภัณฑ์เพิ่งเปิด มีโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ 2 โรง และเพิ่มอีกสองในภายหลัง ศูนย์ภาพยนตร์ประกอบด้วย
- โรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ 3 มิติ
- โรงละครโดมไอแมกซ์
- โรงละคร IWERKS
- โรงละครอวกาศ
ศูนย์ภาพยนตร์นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่ให้บริการการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย จากจำนวนรอบฉาย 10,000 รอบต่อปี
เวลาทำการ
[แก้]พิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการเวลา 09:00 น. - 17:15 น. ปิดให้บริการในวันจันทร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
การขนส่ง
[แก้]เดินทางด้วยรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้สาย 2 ไปยัง สถานีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้โดยตรง และอาจเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินสาย 4 ไปยังสถานีถนนผู่เตี้ยน ซึ่งอยู่ในระยะที่สามารถเดินไปถึงได้
รถเมล์ที่ให้บริการหลายเส้นทาง ได้แก่ สาย 794 และ สาย 640
สื่อ
[แก้]ปรากฏในวิดีโอสำหรับโปรโมต งานเอ็กซ์โป 2010 ได้ถ่ายทำหลายฉากในสถานที่ทั้งในและรอบๆ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รูปลักษณ์ที่ล้ำสมัยทำให้สื่อจีนกลายเป็นฉากทั่วไป มีหลายฉากที่ถ่ายทำที่พิพิธภัณฑ์ในภาพยนตร์จีนกังฟูดังค์ ศึกบาส ทะยานฟ้า ที่นำแสดงโดยโจว เจี๋ยหลุน
ภาพยนตร์อินเดีย Chandni Chowk ไปประเทศจีนยังถ่ายทำบางฉากที่นี่
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเป็นจุดหมายปลายทางในเลก 10 ของซึรีส์ทางโทรทัศน์รายการดิอะเมซิ่งเรซ 16
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Introduction
- ↑ 2.0 2.1 上海科技馆参观资讯 (ในภาษาจีน)
- ↑ 世纪公园-上海旅游景点 เก็บถาวร 2011-11-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ในภาษาจีน) "Century Park is the largest natural park setting within the Inner Ring Road in Shanghai."
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 Enc. Shang. (2010).
- ↑ "AAAAA Scenic Areas_National Tourism Administration of The People's Republic of China". web.archive.org. 2014-04-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-04. สืบค้นเมื่อ 2022-03-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)