ข้ามไปเนื้อหา

พระเทวัญอำนวยเดช (เสรี สุวรรณานุช)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นาวาอากาศโท พระเทวัญอำนวยเดช

นาวาอากาศโท พระเทวัญอำนวยเดช (เสรี สุวรรณานุช) เป็นนายทหารนักบินไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1 และอธิบดีกรมสหกรณ์ที่ดินคนแรก เดิมชื่อ "หลี" เกิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช 2438 ณ บ้านเลขที่ 6 ตำบลบางเลน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนบุตรธิดาทั้งหมด 4 คน ของนายคำและนางยวง สุวรรณานุช

ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกในปีพุทธศักราช 2457 ได้รับพระราชทานยศให้เป็นนายร้อยตรีแล้ว ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งผู้บังคับหมวดในกองร้อยที่ 1 กรมทหารราบที่ 3

พุทธศักราช 2460 ได้สมัครเข้าเป็นกองทหารอาสาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในตำแหน่งนายร้อยโท ผู้บังคับหมวดในกองย่อยรถยนต์ กองใหญ่รถยนต์ที่ 4

พุทธศักราช 2461 เดินทางไปราชการในสงครามโลกครั้งที่ 1 ประจำการ ณ ประเทศฝรั่งเศส และด้วยที่มีใจรักทางการบิน จึงเข้าฝึกเป็นนักบินในโรงเรียนการบินทหารบกและโรงเรียนการทิ้งระเบิดแห่งประเทศฝรั่งเศส

พุทธศักราช 2462 สำเร็จการฝึกเป็นนักบิน เข้าประจำการในกองทัพยึดดินแดนเมืองนอยสตาดท์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทำหน้าที่เป็นนักบินและผู้ทิ้งลูกระเบิด โดยปฏิบัติการอยู่ประมาณ 4 เดือน เมื่อสงครามสงบได้เดินทางกลับประเทศไทยแล้วย้ายสังกัดไปอยู่ กรมอากาศยานทหารบก ในตำแหน่งผู้บังคับหมวด กองศึกษาและฝึกหัด กองบินใหญ่ที่ 3 ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งกรมอากาศยานทหารบกนี้ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมอากาศยาน” และได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนขยายหน่วยงานจนได้รับการยกฐานะเป็น “กองทัพอากาศ” ในปัจจุบัน

พุทธศักราช 2464 ได้รับพระราชทานยศให้เป็นเรืออากาศเอก ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บังคับกองศึกษาและฝึกหัด กองบินใหญ่ที่ 3

พุทธศักราช 2467 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงเทวัญอำนวยเดช” และเป็นผู้รั้งตำแหน่งปลัดกองบินใหญ่ที่ 3

พุทธศักราช 2468 เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้บังคับกองบินใหญ่ที่ 3

พุทธศักราช 2469 เป็นผู้บังคับกองบินน้อยที่ 2 กองบินใหญ่ที่ 3

ปีพุทธศักราช 2470 ได้รับพระราชทานยศให้เป็นนาวาอากาศตรี และเป็นผู้บังคับกองบินน้อยที่ 1 กองบินใหญ่ที่ 2

พุทธศักราช 2473 ประจำกองอากาศยานเพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

พุทธศักราช 2474 ได้รับพระราชทานยศให้เป็นนาวาอากาศโท

พุทธศักราช 2475 เข้าศึกษาในโรงเรียนการบินขั้นสูง และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระเทวัญอำนวยเดช”

พุทธศักราช 2476 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้ากรมอากาศยาน ฝ่ายธุรการ และได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองกรณี “กบฏบวรเดช” มีการใช้กำลังทหารต่อสู้กันระหว่างฝ่ายของ พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กับฝ่ายรัฐบาลของคณะราษฎร เป็นผลให้นาวาอากาศโท พระเทวัญอำนวยเดช ต้องพ้นจากราชการ และเปลี่ยนฐานะเป็น “นักโทษการเมือง”

ต่อมา พุทธศักราช 2480 ได้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองในกรณีดังกล่าว และพิจารณาให้กลับเข้ารับราชการ โดยให้ไปเป็นข้าราชการพลเรือนปฏิบัติงานในกระทรวงทบวงกรมอื่น

พุทธศักราช 2481 ได้รับบรรจุเป็นเสมียนพนักงาน กองสหกรณ์ภาคใต้ กรมสหกรณ์ แล้วเข้าศึกษาในโรงเรียนการอบรมกรมสหกรณ์ที่ดิน หลังจากนั้นได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพนักงานสหกรณ์จัตวา กองควบคุมสหกรณ์ กรมสหกรณ์

พุทธศักราช 2482 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพนักงานสหกรณ์ตรี กองควบคุมสหกรณ์ กรมสหกรณ์ ปฏิบัติหน้าที่ประจำเขตอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

พุทธศักราช 2489 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองขยายการสหกรณ์ กรมสหกรณ์

พุทธศักราช 2494 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองสหกรณ์นิคม กรมสหกรณ์

พุทธศักราช 2495 ได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศปรับปรุงการจัดตั้งกระทรวงทบวงกรม ให้มีการจัดตั้งกระทรวงการสหกรณ์ขึ้น และมี กรมสหกรณ์ที่ดิน เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัด โดย นาวาอากาศโท พระเทวัญอำนวยเดช ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งอธิบดี

พุทธศักราช 2496 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสหกรณ์ที่ดิน โดยนับเป็นอธิบดีคนแรกเมื่อมีการประกาศแบ่งส่วนราชการนี้ขึ้น (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น "กรมส่งเสริมสหกรณ์" สังกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

พุทธศักราช 2501 เกษียณอายุราชการเพื่อรับบำนาญ

ในตอนปลายของชีวิต นาวาอากาศโท พระเทวัญอำนวยเดช ใช้เวลาอยู่กับการปลูกและดูแลต้นไม้ซึ่งเป็นสิ่งที่รักเป็นชีวิตจิตใจ ต่อมาสุขภาพทรุดโทรมลง และเริ่มมีอาการป่วยจนถึงแก่กรรมในที่สุดจากเหตุตับวาย ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พุทธศักราช 2514 เวลา 19.05 นาฬิกา สิริอายุ 76 ปี 6 เดือน จัดการพระราชทานเพลิงศพ ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2516

ประวัติการศึกษา

[แก้]

ผลงาน

[แก้]
  • พุทธศักราช 2460 ได้รับรางวัลอินทรธนูทองคำหนัก 3 บาท เป็นอินทรธนูใหญ่ อักษร ร.3 จากกรมทหารราบที่ 3 ในฐานะที่ทำการฝึกและอบรมทหารได้ยอดเยี่ยมเป็นปีที่ 2
  • พุทธศักราช 2463 ได้คิดประดิษฐ์ลูกระเบิดฝึกขึ้นใช้ในกรมอากาศยานเป็นครั้งแรก เพื่อใช้ฝึกหัดนักบินทิ้งระเบิด โดยใช้ซีเมนต์ โลหะ และดินระเบิดควัน มาผสมกัน เมื่อทิ้งจากเครื่องบินสามารถระเบิดได้ ทำการทดลองครั้งแรกที่บริเวณกองบินใหญ่ที่ 3 ต่อหน้าพระพักตร์ พลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี กรมหลวงอดิศรอุดมเดช พร้อมด้วยเหล่าทหารม้า และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ลูกระเบิดฝึกหัดนี้ได้ถูกนำไปใช้งานในกรมอากาศยานอยู่เป็นเวลานาน
  • พุทธศักราช 2464 ได้รับรางวัลของกระทรวงกลาโหมจากผลงานการเรียบเรียงตำรา เรื่อง สมุดคำแนะนำการทิ้งลูกระเบิด และได้แสดงการบินทิ้งลูกระเบิดฝึกที่ประดิษฐ์ขึ้นที่บริเวณสนามบินดอนเมืองหน้าที่ประทับ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ให้ทอดพระเนตรสองครั้ง โดยครั้งแรกมีข้าหลวงเทศาภิบาลและสมุหเทศาภิบาลทุกมณฑลเข้าร่วมชม และครั้งที่สองมีพ่อค้าประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชม ต่อมา ได้แสดงการบินทิ้งระเบิดโดยใช้ลูกระเบิดฝึกที่กองบินใหญ่ที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา หน้าที่ประทับจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรฯ อีกครั้งหนึ่ง แล้วได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้แสดงการบินทิ้งระเบิดในระยะสูง 1,000 เมตร เฉพาะหน้าพระพักตร์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สถานที่เดียวกันนี้อีก
  • พุทธศักราช 2465 เป็นหัวหน้านักบินนำเครื่องบินไปบินแสดงและรับผู้โดยสาร เพื่อประชาสัมพันธ์กิจการบิน ในจังหวัดภาคอีสาน ยกเว้น 5 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และสุรินทร์ เนื่องจากจังหวัดดังกล่าวยังไม่มีสนามบิน หรือมี แต่ประชาชนคุ้นเคยกับการบินดีอยู่แล้ว เครื่องบินที่จัดไปบินแสดง มีอาทิ เครื่องแบบเบรเกต์ ชื่อ หญิงขอนแก่น 1 ซึ่งเป็นเครื่องบินพยาบาลและบรรทุกผู้โดยสาร ที่สุภาพสตรีในจังหวัดขอนแก่นได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์ประมาณ 50,000 บาท มอบให้กรมอากาศยานจัดหาไว้ใช้งาน
  • พุทธศักราช 2470 ได้ทำการบินเดินทางในเวลากลางคืนในเส้นทางจากสนามบินดอนเมือง บินเหนือกรุงเทพ ฯ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากยังไม่มีระบบนำร่องและเครื่องช่วยเดินอากาศที่เหมาะสม แต่ก็ได้ทำการบินจนเป็นผลสำเร็จ นับเป็นนักบินไทยคนแรกที่ขึ้นทำการบินในเวลากลางคืนในเส้นทางที่กล่าวถึงนี้ โดยในช่วงเวลานั้น ยังมีนายทหารนักบินคนอื่น ๆ ทำการบินในเวลากลางคืนในเส้นทางอื่น ๆ อีกเช่นกัน ทั้งก่อนหน้าและภายหลังที่ นาวาอากาศโท พระเทวัญอำนวยเดช ได้ทำการบินในเส้นทางนี้
  • พุทธศักราช 2471 ทำการบินจากสนามบินดอนเมืองไปยังจังหวัดเชียงราย ในการปฏิบัติภารกิจบินถ่ายรูปทำแผนที่โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อประกอบการทำอนุสัญญาปักปันแนวเส้นเขตแดนและการแบ่งเกาะแก่งต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง ให้ถูกต้องตามหลักสากล โดยเริ่มจากตำบลสบรวกซึ่งเป็นเขตแดนรอยต่อระหว่างไทยกับอาณานิคมของฝรั่งเศสและอังกฤษ จนถึงอำเภอปากท่า ในเขตของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน

หน้าที่พิเศษ

[แก้]
  • พุทธศักราช 2484 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น และกองทัพญี่ปุ่นบุกขึ้นฝั่งประเทศไทย ในเช้าวันที่ 8 ธันวาคม รัฐบาลไทยได้ทำสัญญาสงบศึกและลงนามในสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับกองทัพญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร นาวาอากาศโท พระเทวัญอำนวยเดช ขณะรับราชการเป็นพนักงานสหกรณ์ กองควบคุมสหกรณ์ กรมสหกรณ์ ปฏิบัติหน้าที่ประจำเขตอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี จึงได้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษเป็นกรรมการอำนวยการป้องกันภัยทางอากาศ เทศบาลอำเภอโพธาราม และเป็นหัวหน้าหน่วยดับเพลิง อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
  • ปีพุทธศักราช 2488 เมื่อมีการแพร่ขยายของขบวนการเสรีไทย ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่พิเศษโดยรับเป็นที่ปรึกษาการปฏิบัติการตามแผนการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในเขตอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการรวมกำลังกันระหว่างกองทหารญี่ปุ่นจากเขตอำเภอบ้านโป่งและอำเภอเมือง แต่ยังไม่ทันลงมือปฏิบัติการ กองทัพญี่ปุ่นก็ยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเสียก่อน

อ้างอิง

[แก้]
  • กลาโหม, กระทรวง. การทหารสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร : mod.go.th, 2547. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2547, จาก http://www1.mod.go.th/heritage/nation/military[ลิงก์เสีย] /military1/index10.htm.
  • ตรวจบัญชีสหกรณ์, กรม. ประวัติความเป็นมาของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์. กรุงเทพมหานคร : cad.go.th, 2547. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2547, จาก http://www.cad.go.th เก็บถาวร 2021-01-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน /king_50/page4-2.html.
  • “เทวัญอนุสรณ์.” ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาอากาศโท พระเทวัญอำนวยเดช ท.ช. (เสรี สุวรรณานุช). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2516.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]