ข้ามไปเนื้อหา

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปัญญา อินฺทปญฺโญ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์

(ปัญญา อินทปญฺโญ)
ส่วนบุคคล
เกิด8 ตุลาคม พ.ศ. 2465 (85 ปี)
มรณภาพ13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
นิกายมหานิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 6 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดไร่ขิง นครปฐม
อุปสมบท8 มิถุนายน พ.ศ. 2485
พรรษา65
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง
ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ นามเดิม ปัญญา ทิพย์มณฑา ฉายา อินทปญฺโญ (8 ตุลาคม พ.ศ. 2465 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551) อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง และผู้สร้างโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์

ประวัติ

[แก้]

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เดิมชื่อ ปัญญา ทิพย์มณฑา เป็นบุตรของนายไป๋และนางแช่ม ทิพย์มณฑา อาชีพกสิกรรม เกิดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2465 ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ขณะมีอายุได้ 12 ปี ณ วัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม พระครูปัจฉิมทิศบริหาร (เกิด) วัดงิ้วลาย ตำบลงิ้วลาย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาเมื่ออายุได้ 20 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเดิม เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2485 โดยมีพระพุทธวิถีนายก (เพิ่ม ปุญฺญวสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า "อินทฺปญฺโญ"

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ดำรงตำแหน่งในทางปกครองคณะสงฆ์ อาทิ เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14 เป็นต้น สำหรับสมณศักดิ์ชั้นสุดท้ายเป็นที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ เมื่อ พ.ศ. 2539 ตลอดชีวิตของท่าน ได้ทุ่มเทเวลาให้กับการพัฒนาด้านบริการชุมชนและสาธารณสุข โดยเฉพาะการสร้างโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการรักษาดวงตา

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปัญญา อินทปญฺโญ) มีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง และป่วยเรื้อรังมานานนับสิบปี ท่านได้เข้ารักษาตัวครั้งสุดท้ายที่โรงพยาบาลธนบุรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และมรณภาพเมื่อกลางดึกวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ด้วยอาการสงบจากอาการติดเชื้อที่ปอดและกระแสโลหิต สิริรวมอายุได้ 85 ปี 4 เดือน 5 วัน พรรษา 65 พรรษา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงศพและพระราชทานโกศแปดเหลี่ยม ตามสมณศักดิ์

สมณศักดิ์

[แก้]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2500 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูทักษิณานุกิจ[1]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2504 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปัญญาวิมลมุนี[2]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2511 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชปัญญาภรณ์ สุนทรธรรมวาที ศรีปริยัติกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2524 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวรเวที นรสีห์ธรรมานุนายก ตรีปิฎกวิภูษิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2533 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมมหาวีรานุวัตร พิพัฒนกิจโกศล โสภณธรรมสุธี ศรีปริยัติกิจจานุกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539 รับสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ญาณวิสุทธจริยาปริณายก ดิลกศีลาทิขันธสุนทร บวรธรรมภาณ สาธุการีธรรมากร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 74, ตอนที่ 107 ง, 17 ธันวาคม พ.ศ. 2500, หน้า 2959
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 78, ตอนที่ 104 ง ฉบับพิเศษ, 31 ธันวาคม พ.ศ. 2504, หน้า 6
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 85, ตอนที่ 122 ง ฉบับพิเศษ, 31 ธันวาคม พ.ศ. 2511, หน้า 2
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 98, ตอนที่ 206 ง ฉบับพิเศษ, 17 ธันวาคม พ.ศ. 2524, หน้า 1
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 107, ตอนที่ 242 ง ฉบับพิเศษ, 5 ธันวาคม พ.ศ. 2533, หน้า 2
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ (พระธรรมโสภณ และพระธรรมมหาวีรานุวัตร ขึ้นเป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง), เล่ม 113, ตอนที่ 23 ข, 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539, หน้า 6-10
ก่อนหน้า พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปัญญา อินฺทปญฺโญ) ถัดไป
พระวิสุทธิวงศาจารย์
(พลอย ญาณสํวโร)
เจ้าคณะภาค 14
(พ.ศ. 2544-2545)
พระพรหมดิลก
(เอื้อน หาสธมฺโม)
พระธรรมสิริชัย
(ชิต ชิตวิปุโล)
เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม
(พ.ศ. 2507-2517)
พระธรรมเสนานี
(ชุณห์ กิตฺติวณฺโณ)