พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ)
มหาเสวกตรี พระยาศรีสุนทรโวหาร (24 มิถุนายน พ.ศ. 2424 — 6 สิงหาคม พ.ศ. 2466) นามเดิม ผัน สาลักษณ เป็นเจ้ากรมพระอาลักษณ์ องคมนตรี[1]
ปฐมวัย
[แก้]มหาเสวกตรี พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) เป็นบุตรของมหาเสวกโท พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) สมุหพระอาลักษณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับคุณหญิง (พึ่ง) ศรีภูริปรีชา และยังเป็นหลานของพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับคุณหญิงอิ่ม เกิดเมื่อวันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2424 ปีมะเส็ง ที่เคหาสน์ของพระคชภักดี (ท้วม คชนันท์) ผู้เป็นตา ตำบลถนนเฟื่องนคร จังหวัดพระนคร
การศึกษา
[แก้]พระยาศรีสุนทรโวหารได้เข้ารับการศึกษาตามลำดับ ดังนี้
- พ.ศ. 2433 ศึกษาวิชาหนังสือไทยที่โรงเรียนวัดราชบพิธ (อายุ 9 ขวบ)
- พ.ศ. 2435 ย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง (อายุ 11 ขวบ)
- พ.ศ. 2438 บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ซึ่งเป็นการศึกษาในทางธรรมและภาษาบาลี โดยตั้งต้นศึกษาวิชาสำหรับนวกะ จนกระทั่งสอบไล่วิชาธรรมกถา และเข้าศึกษาวิชาภาษาไทยและภาษาบาลีต่อในโรงเรียนมหามกุฎราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยในปัจจุบัน)
- พ.ศ. 2439 สอบไล่วิชาภาษาไทยได้ชั้นนักเรียนที่ 3
- พ.ศ. 2440 สอบไล่วิชาภาษาบาลีได้ชั้นนักเรียนตรี
- พ.ศ. 2441 สอบไล่วิชาภาษาไทยได้ชั้นนักเรียนที่ 2 โดยได้รับรางวัลชั้นที่ 2 นอกจากนั้น มหาเสวกตรี พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) ยังได้รับการศึกษาวิชาภาษามคธชั้นธรรมบทโดยตรงจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (เมื่อครั้นยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นฯ) เป็นกรณีพิเศษ
- พ.ศ. 2443 ลาสิกขาบทเพื่อเข้ารับราชการ
ชีวิตราชการ
[แก้]- พ.ศ. 2443 รับราชการเป็นเสมียนเอกในกรมราชเลขานุการ
- พ.ศ. 2445 ย้ายไปรับราชการในกระทรวงนครบาล ในตำแหน่งสารวัตรตรวจหัวเมือง
- พ.ศ. 2447 ย้ายไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอดุสิต[2]
- 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2451 ย้ายไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอพระนคร[3]
- 5 สิงหาคม พ.ศ. 2452 รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิทักษ์เทพนคร ถือศักดินา ๖๐๐[4][5]
- พ.ศ. 2454 เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเสมียนตรา
- 27 สิงหาคม พ.ศ. 2454 รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก[6]
- พ.ศ. 2455 ย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขานุการของกระทรวงนครบาล
- พ.ศ. 2456 เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นข้าหลวงตรวจการศึกษาเป็นพิเศษ
- พ.ศ. 2456 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมารับราชการในกระทรวงมุรธาธรเพื่อเป็นทางสืบตระกูลในหน้าที่อาลักษณ์
- 1 มกราคม พ.ศ. 2456 รับพระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นหลวงสารประเสริฐ ถือศักดินา ๑๖๐๐[7]ตำแหน่งปลัดกรมพระอาลักษณ์
- 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นอำมาตย์ตรี[8]
- 16 ธันวาคม พ.ศ. 2458 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระสารประเสริฐ[9]
- 20 ธันวาคม พ.ศ. 2458 เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์[10]
- 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศเป็นเสวกเอก[11]
- 30 ธันวาคม พ.ศ. 2459 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนาถนิตยภักดี พิริยพาหะ เจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือศักดินา ๓๐๐๐[12]
- 30 ธันวาคม พ.ศ. 2464 โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นมหาเสวกตรี[13]
ราชการพิเศษ
[แก้]- องคมนตรี
- เลขาธิการราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม
ยศ
[แก้]- 11 พฤศจิกายน 2459 – เสวกเอก[14]
- มหาเสวกตรี (ยศในพระราชสำนัก)
ยศเสือป่า
[แก้]- 3 มกราคม 2456 – นายหมู่ตรี[15]
- 27 กุมภาพันธ์ 2458 – นายหมู่โท[16]
- 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 นายหมวดเอกเสือป่า[17]
- 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 นายกองตรี ตำแหน่งสัสดี กองเสนาหลวงรักษาพระองค์ (ยศในกองเสือป่า)[18]
ผลงานทางด้านการประพันธ์
[แก้]นอกจากหน้าที่ราชการในฐานะเจ้ากรมพระอาลักษณ์แล้ว พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) ยังได้สนองพระเดชพระคุณในการประพันธ์ฉันท์ กาพย์ และกลอน กับคิดนามสกุลให้แก่ข้าราชการ นามหม่อมเจ้าและบุตรข้าราชการอีกเป็นอันมาก จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณนับให้อยู่ในพวกเพื่อนกวีด้วยผู้หนึ่ง[ต้องการอ้างอิง] ดังจะเห็นได้จากผลงานต่างๆ อันประกอบไปด้วย
- อิลราชคำฉันท์ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานคำนำแห่งหนังสือ และกระทรวงศึกษาธิการได้อนุญาตให้หนังสือเล่มดังกล่าว เป็นแบบสอนอ่านใช้ภายในโรงเรียนอีกด้วย)
- ปัญจสิงขร
- คำกลอน ฉันท์ และกลอนเบ็ดเตล็ดต่างๆ
ชีวิตครอบครัวและชีวิตในบั้นปลาย
[แก้]มหาเสวกตรี พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) ได้ตั้งเคหสถานยังที่พระราชทาน ณ ถนนเพชรบุรี จังหวัดพระนคร และสมรสกับคุณหญิงวงศ์ มีบุตรธิดาจำนวนทั้งสิ้น 4 คน แต่เหลือเพียงบุตรชายใหญ่เพียงคนเดียว คือ ขุนปฏิภาณพิจิตร (กมลวงศ์ สาลักษณ) ต.จ. รับราชการสืบตระกูลอยู่ในกระทรวงมุรธาธร
นอกจากนั้น ยังได้สมรสกับนางแย้มอนุภรรยา มีบุตรธิดารวมจำนวน 4 คน อันได้แก่
- นายพงศ์สุนทร สาลักษณ
- นายพรพัจน์ สาลักษณ
- นางสาวชัชศรี สาลักษณ
- นายมณีวรรณ สาลักษณ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2464 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[19]
- พ.ศ. 2465 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)[20]
- พ.ศ. 2462 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[21]
- พ.ศ. 2463 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 3 (ว.ป.ร.3)[22]
- พ.ศ. 2458 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 4 (ว.ป.ร.4)[23]
- พ.ศ. 2459 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 6 (ร.จ.ท.6)[24]
ถึงแก่อนิจกรรม
[แก้]พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) ถึงแก่อนิจกรรมในเช้าวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2466 ณ บ้านพักถนนเพชรบุรี สิริรวมอายุได้ 43 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ เป็นพิเศษส่วนพระองค์พระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2467 ณ วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร พระราชทานเงิน 2,000 สตางค์ ผ้าไตร 1 ไตร ผ้าขาว 4 พับ และพระราชทานหีบทองชั้นข้าราชการพานทอง กลองชนะเขียวประโคม 8 จ่าปี่ 1 เป็นเกียรติยศพิเศษ[25]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ เจ้ากรมพระอาลักษณ์ องคมนตรี
- ↑ ตำแหน่งข้าราชการ กระทรวงนครบาล
- ↑ แจ้งความกระทรวงนครบาล
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
- ↑ ตำแหน่งข้าราชการ กระทรวงนครบาล
- ↑ ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานยศ แก่ข้าราชการกระทรวงนครบาล (หน้า ๑๑๕๗)
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
- ↑ พระราชทานยศและเลื่อนยศ
- ↑ ตั้งและเลื่อนบรรดาศักดิ์ (หน้า ๒๑๗๑)
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
- ↑ พระราชทานยศ (หน้า ๒๙๓๐)
- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ เลื่อนและตั้งยศนายกองนายหมู่เสือป่า
- ↑ พระราชทานยศเสือป่า
- ↑ พระราชทานยศนายเสือป่า (หน้า ๓๗๕๓)
- ↑ พระราชทานยศเสือป่า
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๘๖, ๒๙ มกราคม ๒๔๖๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายพระนามและนาม สมาชิกสมาชิกา เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า พระราชทานในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๕ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๒๘๕, ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๖๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๒๙๗, ๒๕ มกราคม ๒๔๖๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๗๒๘, ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๓
- ↑ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบัน
- ↑ พระราชทานเหรียญราชรุจิ
- ↑ พระราชทานเพลิงศพ วันที่ ๒๒ มีนาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๗. (๒๔๖๗, ๒๙ มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๔๑ หน้า ๔,๖๑๗.