อิลราชคำฉันท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อิลราชคำฉันท์
ชื่ออื่น-
กวีมหาเสวกตรี พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ)
ประเภทนิทาน
คำประพันธ์คำฉันท์
ความยาว329 บท
ยุครัตนโกสินทร์
ปีที่แต่งพ.ศ. 2456
ลิขสิทธิ์-
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

อิลราชคำฉันท์[1] เป็น วรรณคดี คำฉันท์ที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี มีความไพเราะ และนิยมใช้เป็นแบบอย่างในการแต่งคำฉันท์มาช้านาน แม้จะมีความยาวเพียง 329 บท ตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็กเพียง 36 หน้ากระดาษเท่านั้น นับเป็นคำฉันท์อีกเรื่องหนึ่งที่นักศึกษาวรรณคดีเอ่ยถึงเสมอ

ผู้ประพันธ์อิลราชคำฉันท์คือ มหาเสวกตรี พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) แต่งเมื่อครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสารประเสริฐ

ประวัติ[แก้]

ในสมัยรัชกาลที่ 6 นับว่าเป็นยุคทองของวรรณคดีไทยอีกยุคหนึ่ง ด้วยองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกวี ขณะเดียวกันการศึกษาในประเทศก็กว้างขวางมากขึ้น อีกทั้งยังมีนักเรียนไทยได้รับทุนการศึกษาไปเรียนในต่างประเทศ วงการวรรณกรรมจึงมีความคึกคักและเปลี่ยนไหวมากเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วงว่า ธรรมเนียมการแต่งคำประพันธ์อันงดงามแบบเดิมนั้น กำลังจะเลือนหายไป เพราะผู้คนจำนวนมากมองว่าเก่าคร่ำครึ ล้าสมัย จึงทรงแนะนำให้หลวงสารประเสริฐ (ในเวลานั้น) ได้แต่งหนังสือตามธรรมเนียมดั้งเดิมไว้บ้าง เพื่อเพิ่มพูนและผดุงรักษาวรรณศิลป์อย่างเดิมเอาไว้

หลวงสารประเสริฐยังไม่ได้แต่งหนังสือตามรับสั่ง เพราะยังหาเรื่องไม่ได้ แต่ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง "บ่อเกิดรามเกียรติ์" หลวงสารประเสริฐได้อ่าน นิทานเรื่องอิลราช ในอุตตรกัณฑ์แห่งรามายณะ ก็ชอบใจ และเอามาเป็นเนื้อหาที่จะแต่งหนังสือตามรับสั่งดังกล่าว

เนื้อเรื่อง[แก้]

ในนครพลหิกา มีกษัตริย์ครองนคร ทรงพระนามว่า ท้าวอิลราช เป็นกษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม วันหนึ่งในวสันตฤดู ทรงออกป่าล่าสัตว์พร้อมบริวาร จนถึงตำบลที่กำเนิดของพระขันทกุมาร ในเวลานั้น พระอิศวรกำลังล้อเล่นกับพระอุมา ชายา ทรงจำแลงกายเป็นสตรี และบันดาลให้ทุกสิ่งในนั้นเป็นสตรีทั้งหมด ครั้นเมื่อท้าวอิลราชและข้าราชบริพารผ่านเข้าไปในป่าดังกล่าว ก็กลายเป็นสตรีไปทั้งหมด

ครั้นเมื่อท้าวอิลราชกลายเป็นสตรี ก็ตกใจ ทูลขออภัยจากพระอิศวร พระอิศวรไม่ทรงยอม แต่พระอุมาเทวีประทานพรให้กึ่งหนึ่ง คือเป็นบุรุษและสตรีสลับกันไปเดือนละเพศ เมื่อเป็นบุรุษ ชื่อ อิลราช เมื่อเป็นสตรี ชื่อนางอิลา

เมื่อถึงเดือนที่เป็นสตรี นางอิลาและบริวารสตรีพากันไปเที่ยวเล่นในป่า และเผอิญพบกับพระพุธ ที่กำลังบำเพ็ญตนในป่า นางอิลาได้อยู่เป็นชายาของพระพุธ จนครบเดือน เมื่อเป็นบุรุษ ก็ลืมความเป็นไปในภาคสตรีเพศ และเป็นเช่นนี้กระทั่งเก้าเดือน นางอิลาก็ให้ประสูติกุมารองค์หนึ่ง พระพุธให้นามว่า ปุรุรพ

เมื่อท้าวอิลราชคืนมาเป็นบุรุษ พระพุธเห็นใจ จึงประชุมมหาฤษีเพื่อหาทางแก้ไขคำสาปให้แก่ท้าวอิลราช ในที่สุดที่ประชุมตกลงทำพิธีอัศวเมธ ทำให้ท้าวอิลราชคืนมาเป็นเพศบุรุษอีกครั้ง

คำประพันธ์[แก้]

อิลราชคำฉันท์ แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทฉันท์ ประกอบด้วยฉันท์ชนิดต่าง ๆ 15 ชนิด เป็นกาพย์ 2 ชนิด คือ;

ส่วนฉันท์ในเรื่องนี้ ได้แก่;

  • กมลฉันท์
  • โตฏกฉันท์
  • ภุชงคประยาตฉันท์
  • มาณวกฉันท์
  • มาลินีฉันท์
  • วสันตดิลกฉันท์
  • สัททุลวิกกีฬิตฉันท์
  • สัทธราฉันท์
  • สาลินีฉันท์
  • อินทรวิเชียรฉันท์
  • อินทวงศ์ฉันท์
  • อีทิสังฉันท์
  • อุปชาติฉันท์
  • อุปัฏฐิตาฉันท์
  • อุเปนทรวิเชียรฉันท์

บางตอนจากอิลราชคำฉันท์[แก้]

วสันตดิลก

เรืองรองพระมนทิรพิจิตร กลพิศพิมานบน
ก่องแก้วและกาญจนระคน รุจิเรขอลงกรณ์
ช่อฟ้าก็เฟื้อยกลจะฟัด ดลฟากทิฆัมพร
บราลีพิไลพิศบวร นภศูลสล้างลอย
เชิงบัทม์พระบัญชรเขบ็จ มุขเด็จก็พราวพลอย
เพดานก็ดารกพะพรอย พิศเพียงนภาพพลาม
สิงหาสน์จรูญจตุรมุข บมิแผกพิมานงาม
พื้นภาพอำพนพิพิธตาม ตะละเนื่องพนังนอง

ฉบัง

คล่ำคล่ำส่ำรถอลง- กตแก้วกำกง
ประกอบกนกแนมงอน
ริ้วริ้วทิวธงสลอน ลิ่วลิ่วเล็งงอน
ก็เงื้อมสง่าโง้งงาม
ครึกครื้นตื้นไพรไต่ตาม พ้นพนาราม
บรรลุณแหล่งพลหินท์

อ้างอิง[แก้]