พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม อมาตยกุล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยามหาอำมาตยาธิบดี
(ป้อม อมาตยกุล)
เกิดพ.ศ. 2324
อาณาจักรธนบุรี
เสียชีวิตพ.ศ. 2391
อาณาจักรรัตนโกสินทร์

พระยามหาอำมาตยาธิบดี ชื่อเดิมว่า ป้อม เป็นขุนนางผู้มีบทบาทในการปกครองหัวเมืองภาคอีสานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นสกุล"อมาตยกุล"และเป็นบิดาของพระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด) เป็นแม่ทัพผู้มีบทบาทในการปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์และสงครามอานัมสยามยุทธ

ประวัติ[แก้]

ประวัติ[แก้]

บรรพบุรุษของพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม) นั้น สามารถสืบย้อนไปถึงพระเสนานนท์[1] ขุนนางอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระเสนานนท์มีบุตรชายคือนายบุญเกิด นายบุญเกิดสมรสกับคุณหญิงแป้น ซึ่งเป็นธิดาของพระยาราชสงคราม (ปาน) สมุหนายกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[1] นายบุญเกิดเข้ารับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ดำรงตำแหน่งเป็นจมื่นราชนาคา หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในพ.ศ. 2310 จมื่นราชนาคา (บุญเกิด) เดินทางลี้ภัยไปอยู่กับพระยานครราชสีมา (ขุนชนะ) ผู้เป็นอา[1]ที่เมืองนครราชสีมา ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนายบุญเกิดกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง ดำรงตำแหน่งเป็นพระยาสมบัติยาธิบาลเจ้ากรมพระคลังในขวา

พระยาสมบัติยาธิบาล (บุญเกิด) มีบุตรชายเกิดกับคุณหญิงแป้นชื่อว่านายเอม นายเอมเข้ารับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นขุนสมบัติภิรมย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเลื่อนขุนสมบัติภิรมย์ (เอม) ขึ้นเป็นหลวงพิพิธสมบัติ หลวงพิพิธสมบัติ (เอม) สมรสกับคุณดวงธิดาของเศรษฐีสำเภาจีน ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมคลองตลาดข้างสะพานหัวจระเข้ในพระนคร หลวงพิพิธสมบัติ (เอม) มีบุตรกับคุณดวงได้แก่

  • เจ้าจอมหุ่นในรัชกาลที่ 2
  • พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม)
  • พระจันทราทิตย์ (มารค)
  • ช. เผือก
  • เกณฑ์เมืองรั้ง เมืองอุทัยธานี (ม่วง)
  • หลวงพลอาไศรย (อิ่ม) บิดาของพระยามนูสารศาสตรบัญชา (ศิริ เอมะศิริ) ต้นสกุล"เอมะศิริ"

นายป้อมเป็นบุตรคนที่สองของหลวงพิพิธสมบัติ (เอม) กับคุณดวง เกิดเมื่อปีฉลู พ.ศ. 2324 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี นายป้อมสมรสกับนางสาวเย็น ธิดาของหลวงอุดมสมบัติหรือเจ๊สัวเหยี่ยว[1]ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในกรมพระคลังสินค้า นายป้อมอาศัยอยู่ที่บ้านของเจ๊สัวเหยี่ยวพ่อตาซึ่งอยู่ที่ริมแม่น้ำฝั่งธนบุรีบริเวณเหนือวัดระฆัง[1] ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นายป้อมถวายตัวเป็นมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายฉลองไนยนารถหุ้มแพร และต่อมาเลื่อนเป็นหลวงชิตภูบาลนายเวรมหาดเล็ก เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จทิวงคตในพ.ศ. 2360 หลวงชิตภูบาล (ป้อม) จึงย้ายเข้ามาสมทบกับข้าราชการฝ่ายพระราชวังหลวง ได้รับตำแหน่งเป็นพระณรงค์วิชิต

ในพ.ศ. 2362 เกิดกบฏอ้ายสาเกียดโง้งขึ้นที่เมืองจำปาศักดิ์ อ้ายสาเกียดโง้งนำกบฏชาวข่าขมุยกทัพเข้ายึดเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าหมาน้อยเจ้าเมืองจำปาศักดิ์หลบหนีออกจากเมือง พระยาพรหมภักดี (ทองอิน) ยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา และพระณรงค์วิชิต (ป้อม) ยกทัพเข้าปราบกบฏอ้ายสาเกียดโง้งแต่ค้นหาตัวอ้ายสาเกียดโง้งไม่พบ[2] พระณรงค์วิชิต (ป้อม) จึงนำตัวเจ้าหมาน้อยเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ลงมาไว้ที่กรุงเทพฯ ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์กษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ส่งโอรสคือเจ้าราชบุตร (โย้) ยกทัพไปติดตามพบตัวและสังหารอ้ายสาเกียดโง้งได้สำเร็จ

กบฏเจ้าอนุวงศ์[แก้]

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลื่อนพระณรงค์วิชิต (ป้อม) ขึ่นเป็นพระสุริยภักดี เจ้ากรมพระตำรวจสนมขวา ในพ.ศ. 2567 มีพระราชกำหนดให้สักเลกหัวเมืองลาวตะวันออก[2] พระสุริยภักดี (ป้อม) ไปตั้งกองสักเลกที่เมืองยโสธร ปีต่อมาพ.ศ. 2370 เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอุปราช (ติสสะ) อนุชาของเจ้าอนุวงศ์ ยกทัพจากเวียงจันทน์มาโจมตีกองสักเลขต่างๆที่เมืองสกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และสุวรรณภูมิ พระสุริยภักดี (ป้อม) ที่เมืองยโสธรไปพบกับเจ้าอุปราช (ติสสะ) เจ้าอุปราชกล่าวแก่พระสุริยภักดีว่าตนเองไม่เต็มใจเข้าร่วมการกบฏในครั้งนี้[3] ทั้งสองต่างออกอุบายเพื่อแจ้งข่าวการกบฏของเจ้าอนุวงศ์ให้แก่ทางกรุงเทพฯ โดยเจ้าอุปราช (ติสสะ) ให้พระสุริยภักดีนำจดหมายไปมอบให้แก่เจ้าอนุวงศ์ พระสุริยภักดี (ป้อม) เดินทางไปพบกับเจ้าอนุวงศ์ที่นครราชสีมา พระสุริยภักดีแสร้งทำกิริยานอบน้อมต่อเจ้าอนุวงศ์อย่างมาก เจ้าอนุวงศ์อ่านจดหมายของเจ้าอุปราช (ติสสะ) แล้วจึงยินยอมให้พระสุริยภักดีเดินทางผ่านไปกรุงเทพ พระสุริยภักดีเดินทางไปพบกับเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ที่ดงพญาไฟ เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ต้องการจับตัวพระสุริยภักดีไว้ แต่พระยาเชียงใต้ทัดทานว่าเจ้าอนุวงศ์มีคำสั่งให้ปล่อยตัวพระสุริยภักดีแล้ว หากจะจับซ้ำอีกจะไม่เคารพคำสั่งของเจ้าอนุวงศ์ พระสุริยภักดีจึงสามารถเดินทางไปยังกรุงเทพเพื่อแจ้งข่าวการกบฏของเจ้าอนุวงศ์ได้

พระสุริยภักดี (ป้อม) เดินทางมาถึงอยุธยาเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ กราบทูลฯความให้ทรงทราบ แล้วพระสุริยภักดีจึงเดินทางลงมายังพระนคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชโองการว่า พระสุริยภักดีเป็นผู้ที่รู้การงานที่เมืองลาวอยู่แล้ว[3] ให้เดินทางกลับขึ้นไปตามทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรฯ พระสุริยภักดีติดตามทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรฯไปจนถึงเมืองพานพร้าว (ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) ตรงข้ามกับเมืองเวียงจันทน์ริมแม่น้ำโขง เจ้าอุปราช (ติสสะ) เข้าสวามิภักดิ์ต่อกรมพระราชวังบวรฯที่เมืองพานพร้าว ทูลว่าตนเองนั้นไม่เห็นด้วยกับการกบฏของเจ้าอนุวงศ์แต่จำใจยอมทำตามคำสั่งของเจ้าอนุวงศ์เพื่อรักษาชีวิต โดยมีพระสุริยภักดี (ป้อม) เป็นพยานอยู่แล้ว หลังจากที่ยึดเมืองเวียงจันทน์ได้แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดฯให้มีตราราชสีห์ขึ้นไป เลื่อนตำแหน่งพระสุริยภักดี (ป้อม) ขึ้นเป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย

พระราชวรินทร์ (ป้อม) ติดตามเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์อีกครั้งในพ.ศ. 2371 หลังจากกลับจากเมืองลาวแล้ว พระราชวรินทร์ (ป้อม) ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระมหาเทพ เจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย ในพ.ศ. 2372

อานัมสยามยุทธ[แก้]

อุโบสถวัดขุนจันทร์ หรือวัดวรามาตยภัณฑสาราราม พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม) สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2380 เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชัยชนะเหนือเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์

ในสงครามอานัมสยามยุทธพ.ศ. 2376 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชโองการให้พระมหาเทพ (ป้อม) และพระราชวรินทร์ (ขำ ณ ราชสีมา) ยกทัพไปทางภาคอีสานเพื่อไปโจมตีอาณาจักรเมืองพวนและเมืองล่าน้ำหรือจังหวัดเหงะอานของเวียดนาม พระมหาเทพ (ป้อม) ยกทัพจากเมืองนครพนมขึ้นไปเมืองล่ำน้ำถึงด่านกีเหิบ[3]หรือกวี่เหิป (Quỳ Hợp) พระมหาเทพ (ป้อม) ไม่สามารถยกทัพไปต่อได้เนื่องจากเป็นทางแคบ จึงถอยลงมาแล้วไปโจมตีเมืองมหาไชยกองแก้ว (Mahaxay) เมืองพอง เมืองพะลาน (Phalan) และเมืองชุมพร (Champhon) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในแขวงคำม่วนแทน กวาดต้อนชาวลาว 6,000 คน มาไว้ที่เมืองนครราชสีมา[3]

ในรัชกาลที่ 3 มีการขยายวังของกรมขุนอิศรานุรักษ์ไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยา เจ๊สัวเหยี่ยนจึงต้องย้ายที่อาศัย พระมหาเทพ (ป้อม) ขอพระราชทานที่ดินบริเวณปากคลองตลาดมาเป็นที่อาศัยของตนเองและเจ๊สัวเหยี่ยน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯพระราชที่ดินบริเวณปากคลองตลาดให้เป็นวังของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระมหาเทพ (ป้อม) จึงย้ายไปอาศัยอยู่ที่หน้าวัดราชบูรณะในพ.ศ. 2384[1]

ในพ.ศ. 2380 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯ ให้เลื่อนพระมหาเทพ (ป้อม) ขึ้นเป็นพระยามหาอำมาตยาธิบดี เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม) สร้างวัดขุนจันทร์ขึ้นบริเวณตลาดพลู ใน พ.ศ. 2380 เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงชัยชนะเหนือเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ต่อมาวัดขุนจันทร์ได้รับพระราชทานนามว่าวัดวรามาตยภัณฑสาราราม ในปีเดียวกัน พ.ศ. 2380 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม) และพระพิเรนทรเทพ (ขำ ณ ราชสีมา) ไปสำรวจสำมะโนประชากรทำบัญชีเลกไพร่พลที่หัวเมืองลาวภาคอีสานและเขมรป่าดง[1][3] พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม) รับผิดชอบเดินทางไปทำบัญชีไพร่พลเมืองนครพนม ท่าอุเทน ไชยบุรี สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร เขมราฐ โขงเจียม เมืองสะเมียะ เมืองสาละวัน และเมืองคำทองใหญ่[3]

พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปีวอก พ.ศ. 2391[1] สิริอายุ 67 ปี ฌาปนกิจที่วัดทองนพคุณ ในคลองบางกอกน้อยฝั่งธนบุรี

ครอบครัว[แก้]

พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม) สมรสกับคุณหญิงเย็น ธิดาของหลวงอุดมสมบัติ (เจ๊สัวเหยี่ยว) มีบุตรธิดาดังนี้;[1]

ลำดับสาแหรก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 ประวัติบรรพบุรุษและสกุลวงศ์อมาตยกุล. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาปฏิภาณพิเศษ (อาเล็กแซนเดอร์ อมาตยกุล) ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2507
  2. 2.0 2.1 หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร). พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ. คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.