ชาวไทยในประเทศปากีสถาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ปากีสถานเชื้อสายไทย)
ชาวไทยในประเทศปากีสถาน
ประชากรทั้งหมด
กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวร ประมาณ 200[1]–2,000 คน (พ.ศ. 2554)[2]
นักศึกษาสัญชาติไทย ประมาณ 300[1]–600 คน (พ.ศ. 2561)[3][4]
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
บัตตากราม[5] การาจี[6] อิสลามาบาด[6]
ปากีสถาน ประเทศปากีสถาน
ภาษา
ปาทาน, อูรดู, มลายูปัตตานี,[7][8] อาหรับ[9]
มีส่วนน้อยที่สามารถใช้ภาษาไทย[10]
ศาสนา
อิสลาม[11]

ชาวไทยในประเทศปากีสถาน คือกลุ่มชนผู้มีเชื้อสายไทยหรือมีสัญชาติไทย มีถิ่นพำนักอาศัยอยู่ในประเทศปากีสถาน ทั้งอย่างถาวรหรือชั่วคราว ชาวไทยในปากีสถานนี้อาศัยกระจายอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ๆ เช่น อิสลามาบาด ลาฮอร์ หรือการาจี และมีชาวไทยจำนวนมากเฉพาะที่บัตตากรามในแคว้นแคบาร์ปัคตูนควา ซึ่งเข้าไปตั้งถิ่นฐานนานหลายสิบปีมาแล้ว

ประวัติ[แก้]

ชุมชนไทยในบัตตากราม เริ่มเกิดขึ้นโดยชาวปาทานจากปากีสถานรุ่นแรก ๆ อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองไม่นานนัก โดยเดินทางลัดจากปากีสถานผ่านประเทศอินเดีย (แต่เดิมยังรวมกับปากีสถานเป็นประเทศเดียวกัน) ตัดเข้าประเทศพม่าในปัจจุบัน และเข้าไทยทางด่านแม่สอด จังหวัดตาก พวกเขาตั้งรกรากในจังหวัดลพบุรีและสระบุรี เมื่อมาอยู่เมืองไทยก็แต่งงานมีครอบครัวกับคนไทย ครั้นเมื่อพวกเขาอพยพกลับประเทศปากีสถานเพื่อรับมรดกที่ดิน ก็ได้นำครอบครัวชาวไทยไปอาศัยในประเทศปากีสถานด้วยกันจนเกิดชุมชนคนเชื้อสายไทยที่นั่น[12]

ปัจจุบันชุมชนมีไทยตามหัวเมืองสำคัญ เช่น อิสลามาบาด ลาฮอร์ หรือการาจี แต่ที่เมืองบัตตากราม (ปาทาน: بٹگرام) ในแคว้นแคบาร์ปัคตูนควา (ปาทาน: خیبر پښتونخوا) มีครอบครัวเชื้อสายไทยอยู่ประมาณ 300 หลังคาเรือน[13] ในบัตตากรามเองก็มีโรงแรมชื่อ "ไทยโฮเต็ล" ซึ่งในโรงแรมเองก็มีการบริการอาหารไทยด้วย[12] และอสังหาริมทรัพย์เกือบครึ่งของเมืองเป็นของบุคคลที่มีเชื้อสายไทย[14] หลายคนถือสองสัญชาติคือทั้งไทยและปากีสถาน ทว่ารูปพรรณนั้นมีลักษณะอย่างชาวเอเชียใต้มากกว่าไทย[13]

นอกจากกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานระยะยาวในบัตตากราม ก็ยังมีชาวไทยพำนักอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ โดยมากเป็นนักศึกษา รองลงมาเป็นแรงงาน ในปี พ.ศ. 2544 มีชาวไทยอาศัยอยู่ในปากีสถาน 363 คน[15] ใน พ.ศ. 2554 เฉพาะเมืองการาจีแห่งเดียวก็มีนักศึกษาไทยอยู่ 120 คน[8] ใน พ.ศ. 2553 เฉพาะกลุ่มนักศึกษาไทยในปากีสถานมีจำนวน 415 คน[16] และในปี พ.ศ. 2554 จนถึง 2561 เฉพาะกลุ่มนักศึกษาไทยในปากีสถานมีอยู่ราว 600 คน[3][4] พ.ศ. 2563 มีชาวไทยที่เข้าไปทำงานในปากีสถานราว 40–50 คน[13]

วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561 นักศึกษาไทยมุสลิมในปากีสถานจำนวนห้าคนถูกจับกุมในท่าอากาศยาน เพราะพยายามลอบนำอาวุธปืนขึ้นเครื่องบินกลับประเทศไทย[17]

ภาษา[แก้]

การใช้ภาษาของชาวปากีสถานเชื้อสายไทยที่บัตตากรามก่อน พ.ศ. 2551 พบว่ากลุ่มคนรุ่นแรกที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปยังพูดภาษาไทยได้ แต่สำเนียงแปร่ง[10][14] และไม่นิยมใช้สื่อสารกัน ส่วนคนรุ่นหลังที่เป็นลูกหลานของคนกลุ่มแรก ๆ ที่เกิดในประเทศปากีสถาน จะพูดไทยได้น้อย และหลายคนพูดไทยไม่ได้เลย[12] บางคนพูดภาษาจากท้องถิ่นดั้งเดิมของตนได้ เช่น ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษาไทยถิ่นอีสาน[13] แต่โดยส่วนมากใช้ภาษาปาทาน เนื่องจากสืบเชื้อสายจากชาวปาทานอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังพูดภาษาอูรดูซึ่งเป็นภาษาราชการของประเทศ รวมทั้งสามารถใช้ภาษาอาหรับได้เพราะเป็นภาษาทางศาสนา พบมากในกลุ่มนักศึกษา[9]

ส่วนกลุ่มนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในปากีสถาน[9][18] ร้อยละ 75 มาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้[11] ซึ่งใช้ภาษามลายูปัตตานีในชีวิตประจำวัน[8] แต่พวกเขาก็ไม่สันทัดการใช้ภาษาไทย และเคอะเขินที่จะพูดภาษาไทยเพราะเกรงว่าจะไม่ชัด[1]

วัฒนธรรม[แก้]

ชาวปากีสถานเชื้อสายไทยในบัตตากรามจะสวมชุดแต่งกายประจำชาติของประเทศปากีสถาน ทุกคนยังรู้การทักทายด้วยการไหว้แบบไทย แม้ว่าในปัจจุบันชาวไทยกลุ่มนี้อยู่ภายใต้วัฒนธรรมปาทานและมีรูปลักษณ์อย่างชาวเอเชียใต้มากกว่าไทย[13] โดยตามธรรมเนียมของปาทาน สุภาพสตรีจะอยู่แต่ในบ้าน ไม่ค่อยออกมาพบปะคนแปลกหน้า[19] โดยสตรีจะมีทางเข้า-ออกเป็นสัดส่วนต่างหาก[20] และชาวไทยกลุ่มนี้จะเคร่งครัดในศาสนาอิสลาม

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 พิษณุ จันทร์วิทัน. ใต้ฟ้าปากีฯ. หน้า 286
  2. "ข้อเสนอแนะสำหรับคนไทยเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน". สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบาด. 22 กรกฎาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 "ความสัมพันธ์กับไทย". ศูนย์ให้บริการข้อมูลธุรกิจไทยในปากีสถาน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-16. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 ชนัดดา ชินะโยธิน (23 มกราคม 2561). "คุยกับทูต อะศิม อะห์มัด ไปดูกันว่าไทย-ปากีสถาน เป็นหุ้นส่วนอะไรกันบ้าง ?". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. พิษณุ จันทร์วิทัน. ใต้ฟ้าปากีฯ. หน้า 287
  6. 6.0 6.1 พิษณุ จันทร์วิทัน. ใต้ฟ้าปากีฯ. หน้า 142
  7. พิษณุ จันทร์วิทัน. ใต้ฟ้าปากีฯ. หน้า 144
  8. 8.0 8.1 8.2 แวลีเมาะ ปูซู (8 พฤษภาคม 2554). "เปิดฟ้าปากีสถาน (1) สัมผัส นศ.มุสลิมไทย เรียนศาสนาไม่ใช่ก่อการร้าย!". อิศรา. สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 9.2 "'อับบาส' กับชีวิตนักศึกษาไทยในปากีสถาน". คมชัดลึก. 25 มิถุนายน 2558. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. 10.0 10.1 พิษณุ จันทร์วิทัน. ใต้ฟ้าปากีฯ. หน้า 290
  11. 11.0 11.1 พิษณุ จันทร์วิทัน. ใต้ฟ้าปากีฯ. หน้า 143
  12. 12.0 12.1 12.2 พิษณุ จันทร์วิทัน. ใต้ฟ้าปากีฯ. หน้า 291
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 "สอท.-สกญ.ไทยในปากีสถาน เร่งช่วยคนไทยสู้ภัย'โควิด'". มติชนออนไลน์. 25 พฤษภาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. 14.0 14.1 นิติภูมิ นวรัตน์ (4 สิงหาคม 2552). "เรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. "สถานการณ์ของคนไทยในปากีสถานและอุซเบกิสถาน". อาร์วายทีไนน์. 16 ตุลาคม 2544. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. "อุทกภัยในปากีสถานไม่มีคนไทยเสียชีวิต". การคุ้มครองคนไทย. 3 สิงหาคม 2553. สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. "5 นศ.ไทยถูกจับที่ปากีสถาน ซุกปืนเข้าสนามบิน". วอยซ์ทีวี. 11 มิถุนายน 2561. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. การดูแลคนไทยในปากีสถานภายหลังการปฏิบัติการทางทหารในอัฟกานิสถาน
  19. พิษณุ จันทร์วิทัน. ใต้ฟ้าปากีฯ. หน้า 293
  20. พิษณุ จันทร์วิทัน. ใต้ฟ้าปากีฯ. หน้า 294
บรรณานุกรม
  • พิษณุ จันทร์วิทัน. ใต้ฟ้าปากีฯ. ฉะเชิงเทรา : เอ เปเปอร์ แอนด์ สเตชันเนอรี่ จำกัด, 2551