บุญเกิด กฤษบำรุง
บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง | |
---|---|
บาทหลวงและมรณสักขี | |
เกิด | 31 มกราคม พ.ศ. 2438 จังหวัดนครปฐม ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 12 มกราคม พ.ศ. 2487 (48 ปี) เรือนจำกลางบางขวาง อำเภอนนทบุรี จังหวัดพระนคร ประเทศไทย[a] |
นิกาย | โรมันคาทอลิก |
เป็นบุญราศี | 5 มีนาคม พ.ศ. 2543 มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 |
วันฉลอง | 12 มกราคม |
บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง (31 มกราคม พ.ศ. 2438 – 12 มกราคม พ.ศ. 2487) เป็นบาทหลวงชาวนครปฐม สังกัดมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ เมื่อรับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงแล้วได้ทำงานแพร่ธรรมในหลายจังหวัด จนกระทั่งเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนขึ้น บาทหลวงบุญเกิดถูกตำรวจจับในข้อหา "กบฏภายนอกราชอาณาจักร" ศาลตัดสินให้จำคุก 15 ปีที่เรือนจำกลางบางขวาง และถึงแก่มรณกรรมด้วยวัณโรคหลังจากติดคุกได้ 3 ปี
บาทหลวงบุญเกิดได้รับยกย่องจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกว่าเป็นมรณสักขี และได้รับการประกาศเป็นบุญราศีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2543 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 คริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทยกำหนดให้วันที่ 12 มกราคม ของทุกปีเป็นวันระลึกถึงบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง[1]
ประวัติ
[แก้]บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2438 ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีนามเดิมว่า "ชุนกิม" เป็นบุตรคนโตของครอบครัว บิดามารดาชื่อ ยอแซฟ โปชัง และอักแนส เที่ยง กฤษบำรุง ได้รับศีลล้างบาปที่โบสถ์นักบุญเปโตร สามพราน ได้รับศาสนนามว่า “เบเนดิกโต”
ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลในจังหวัดนครปฐม แล้วย้ายไปเรียนที่เซมินารีพระหฤทัยของพระเยซู บางช้าง เป็นเวลา 8 ปี แล้วย้ายไปเรียนที่วิทยาลัยกลาง เมืองปีนังอีก 6 ปี ในช่วงนั้นได้รับอนุกรมน้อยขั้นอุปพันธบริกรเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2468 และเป็นพันธบริกรเมื่อวันที่ 24 กันยายน ปีเดียวกัน แล้วกลับมารับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2469[2] ขณะมีอายุได้ 31 ปี
เมื่อเป็นบาทหลวงแล้วบาทหลวงบุญเกิดได้ปฏิบัติศาสนกิจในหลายท้องที่ ดังนี้[3]
- เป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์บางนกแขวก (ปัจจุบันคืออาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก) (2469-2471)
- เป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์เซนต์นิโกลาส พิษณุโลก (2472-2473)
- เป็นมิชชันนารีแพร่ธรรมที่ภาคเหนือของประเทศไทย (2473-2480)
- เป็นอธิการโบสถ์โคราช (ปัจจุบันคืออาสนวิหารแม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด นครราชสีมา) และโบสถ์นักบุญเทเรซา โนนแก้ว (2480-2481)
ในช่วงนี้ได้เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนขึ้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส คริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทยซึ่งอยู่ในความดูแลของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส จึงถูกตั้งข้อรังเกียจไปด้วย การเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศ บาทหลวงบุญเกิดซึ่งทำงานแพร่ธรรมอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาถูกตำรวจจับเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2484 โดยตั้งข้อหาเป็น แนวที่ 5 ของฝรั่งเศส[4]
การเป็นมรณสักขี
[แก้]บาทหลวงบุญเกิดถูกตัดสินจำคุก 15 ปีในข้อหากบฏภายนอกราชอาณาจักร[2] ที่เรือนจำกลางบางขวาง ในระหว่างนี้ท่านยังคงทำงานแพร่ธรรมแก่นักโทษ จนสามารถโปรดศีลล้างบาปแก่นักโทษได้ถึง 66 คน ต่อมาท่านถูกย้ายไปอยู่แดนผู้ป่วยวัณโรค จนติดวัณโรคและถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2487 ศพของท่านถูกนำไปฝังไว้ที่วัดบางแพรกซึ่งอยู่ใกล้กับเรือนจำ ต่อมาพระคุณเจ้าเรอเน แปรอส ประมุขมิสซังกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ได้ขอนำศพท่านมาฝังที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ (ปัจจุบันร่างของท่านถูกนำไปเก็บไว้ที่สักการสถานบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม)
มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ ได้ยื่นเรื่องการเป็นมรณสักขีของบาทหลวงบุญเกิดต่อสันตะสำนักในปี พ.ศ. 2535 การสอบสวนดำเนินมาจนถึงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2543 บาทหลวงบุญเกิดจึงได้รับการประกาศเป็นบุญราศีโดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน กรุงโรม
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ใน พ.ศ. 2486 จังหวัดนนทบุรีก็ถูกยุบลงเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณราชการ และอำเภอเมืองนนทบุรีจึงย้ายไปขึ้นกับจังหวัดพระนครและได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอนนทบุรี" จนกระทั่งวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดนนทบุรีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประวัตินักบุญตลอดปี: บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เก็บถาวร 2011-08-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, เรียกข้อมูลวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556
- ↑ 2.0 2.1 ประวัติบุญราศีคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระสงฆ์, เรียกข้อมูลวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556
- ↑ ประมวลประวัติชีวิต เก็บถาวร 2010-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์สักการสถานนักบุญนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง, เรียกข้อมูลวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556
- ↑ การเบียดเบียนศาสนาในประเทศไทย เก็บถาวร 2011-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์สักการสถานนักบุญนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง, เรียกข้อมูลวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556