ข้ามไปเนื้อหา

น้ำอมฤต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตามตำนานปรัมปา กระต่ายขาว จาก ตำนานของจีน, กำลังปรุงน้ำอมฤตบนดวงจันทร์

น้ำอมฤต /อะมะริด, หรือ อะมะรึด/ หรือ ยาอายุวัฒนะ (อังกฤษ: elixir of life, elixir of immortality หรือ Dancing Water, อาหรับ: الإكسير, อัลอีกซีร์; เปอร์เซีย: آب حیات, อาบเอฮะยาต) เป็นยาน้ำหรือเครื่องดื่มซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้ผู้ดื่มเป็นอมตภาพหรือคงความเยาว์วัยแห่งรูปร่างไว้ชั่วกัลป์ บ้างก็ว่าสามารถคืนชีวิตหรือสร้างชีวิตใหม่ได้ เรียกว่าเป็นยาแก้สรรพโรคประเภทหนึ่ง นักเล่นแร่แปรธาตุ ตลอดช่วงเวลาและในหลากหลายวัฒนธรรม พยายามค้นหาวิธีการปรุงมันขึ้นมา

ประวัติความเป็นมา

[แก้]

ในเมโสโปเตเมียโบราณ

[แก้]

เรื่องราวเกี่ยวกับน้ำอมฤตปรากฏอยู่ใน มหากาพย์กิลกาเมช (Epic of Gilgamesh) ช่วง 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งกิลกาเมช (Gilgamesh) กษัตริย์ผู้ทรงอำนาจ เกิดความหวาดกลัวต่อความชราภาพหลังจาก เอ็นกิดู (Enkidu) เพื่อนรักผู้ซื่อสัตย์เสียชีวิต[1] เขาออกเดินทางเพื่อไปพบกับ อูตนาพิชทิม (Utnapishtim) ผู้มีลักษณะคล้ายกับ โนอาห์ (Noah) ในตำนานเมโสโปเตเมีย ซึ่งเล่าว่าเขาเป็นผู้รับใช้ของนักเล่นแร่แปรธาตุผู้ยิ่งใหญ่แห่งสายฝน ผู้ต่อมาได้รับพรให้เป็นอมตะ กิลกาเมช มุ่งหวังที่จะขอคำแนะนำจาก กษัตริย์เฮโรดแห่งดินแดนไฟ แต่กลับได้รับคำแนะนำจากอูตนาพิชทิม ให้ไปค้นหาพืชชนิดหนึ่งที่ก้นทะเล ซึ่งกิลกาเมชประสบความสำเร็จในการตามหา แต่ก่อนที่จะดื่มเองเขาต้องการทดลองกับชายชราคนหนึ่ง แต่ถูกงูแย่งไปกินเสียก่อน

ในประเทศจีน

[แก้]
ภาพวาดการเดินทางค้นหาน้ำอมฤตครั้งแรกของสฺวี ฝู ที่เดินทางไปยัง ภูเขาเผิงไหล โดย อูตางาวะ คูนิโยชิ.

ราชวงศ์ต่าง ๆ ของจีนโบราณจำนวนมากต่างก็แสวงหาน้ำอมฤตในตำนานเพื่อหวังจะบรรลุความเป็นอมตะ ในสมัยราชวงศ์ฉิน จิ๋นซีฮ่องเต้ ได้ส่งนักเล่นแร่แปรธาตุที่นับถือลัทธิเต๋าชื่อ สฺวี ฝู (จีน: 徐福; พินอิน: Xúfú) พร้อมกับชายหนุ่ม 500 คนและหญิงสาว 500 คน ออกเดินทางไปยังทะเลตะวันออก (จีน: 东海; พินอิน: dōnghǎi, ตงไห่) เพื่อค้นหาน้ำอมฤตที่ ภูเขาเผิงไหล ตามตำนาน แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ จิ๋นซีฮ่องเต้ จึงทรงส่ง สฺวี ฝู ออกเดินทางอีกเป็นครั้งที่สอง พร้อมกับเด็กหญิงและเด็กชายอีก 3,000 คน แต่ไม่มีใครกลับมาอีกเลย (บางตำนานเล่าว่าพวกเขาไปพบดินแดนญี่ปุ่นแทน)[2]

ชาวจีนโบราณเชื่อว่า การบริโภคแร่ธาตุที่มีความคงทนยาวนาน เช่น หยก ชาด หรือฮีมาไทต์ จะช่วยให้อายุยืนยาว จะช่วยส่งเสริมอายุยืนยาวให้แก่ผู้บริโภค[3] ทองคำ ถูกมองว่าทรงพลังเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นโลหะมีค่าที่ไม่หมองคล้ำ ความคิดเกี่ยวกับทองคำที่สามารถดื่มได้นั้น ปรากฏขึ้นในจีนราวปลายครัสต์ศตวรรษที่สาม ตำราเล่นแร่แปรธาตุที่โด่งดังที่สุดของจีน คือ ตำรา ตังจิงเหย่าจื้อ (จีน: 丹經要訣; พินอิน: Dānjīng yàojué, สูตรสำคัญของการเล่นแร่แปรธาตุคลาสสิก) ซึ่งเชื่อว่าเขียนโดยซุนซือเหมี่ยว (ประมาณ ค.ศ. 581 – 682)[4][5] แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอันดับหนึ่งที่ได้รับการยกย่องจากคนรุ่นหลังว่าเป็น "บิดาแห่งการแพทย์" ตำรานี้ยังกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างยาอายุวัฒนะ รวมถึงส่วนผสมที่เป็นพิษหลายชนิด (เช่น ปรอท กำมะถัน และสารหนู) ยาสำหรับรักษาโรคบางชนิด และการสังเคราะห์อัญมณี

วัตถุดิบหลายชนิดเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ไม่ได้ช่วยยืดอายุขัย แต่กลับส่งผลเป็นพิษร้ายแรง และนำไปสู่ภาวะ พิษจากน้ำอมฤตเล่นแร่แปรธาตุ เช่น จักรพรรดิเจียจิ้ง แห่งราชวงศ์หมิง สิ้นพระชนม์จากการดื่มปรอทในปริมาณมาก ซึ่งเป็นส่วนผสมของ น้ำอมฤต ที่เหล่านักเล่นแปรธาตุปรุงขึ้น

ในประเทศอินเดีย

[แก้]
โมหินี ร่างอวตารปางมนตรีของพระวิษณุทรงถือหม้อน้ำอมฤต และทรงแบ่งปันให้แก่เหล่าเทวดา โดยไม่ประทานให้อสูร ภาพปฏิมากรรมนี้ตั้งอยู่ที่ดาราสุรัม รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย

น้ำอมฤตที่ปรากฏ มาจาก การอวตารภาคหนึ่งของพระนารายณ์ในปาง กูรมาวตาร

ตำราศาสนาฮินดู (Hindu scriptures) ได้กล่าวถึง น้ำอมฤต ซึ่งเป็นยาอายุวัฒนะ ในคัมภีร์ปุราณะ เขียนไว้ว่า หลังจากเหล่าเทวดา ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ผู้แสวงหาพลังอำนาจ พ่ายแพ้ต่ออสูร พระวิษณุ ผู้เป็นเทพผู้พิทักษ์ ได้แนะนำให้เหล่าเทวดาทำการกวน สมุทรามัณฑนา (มหาสมุทรน้ำนม) เพื่อให้กลายเป็นน้ำอมฤต และนำมาเสริมพลังให้แก่ตนเอง[6]

ปรอท ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในกระบวนการเล่นแร่แปรธาตุ ปรากฏการกล่าวถึงครั้งแรกในคัมภีร์อรรถศาสตร์ (Arthashastra) ราวศตวรรษที่ 4-3 ก่อนคริสตกาล ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ปรอทถูกค้นพบในจีนและตะวันตกพอดี แนวคิดการแปรธาตุโลหะพื้นฐานให้กลายเป็นทองคำ ปรากฏหลักฐานในคัมภีพุทธศาสนาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2-5 ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ปรากฏในตะวันตกเช่นกัน

มีความเป็นไปได้ที่ศาสตร์การเล่นแร่แปรธาตุเพื่อการแพทย์และการแสวงหาความเป็นอมตะ อาจมีการถ่ายทอดระหว่างจีนกับอินเดีย ซึ่งไม่ว่าจะมาจากที่ใดก็ตาม เป้าหมายหลักของทั้งสองวัฒนธรรมนี้ คือ การแพทย์ มากกว่าการสร้างทองคำ สำหรับอินเดียแล้ว น้ำอมฤตนั้นไม่ได้มีความสำคัญมากนัก (เนื่องจากมีแนวทางอื่นในการบรรลุความเป็นอมตะ) ยาอายุวัฒนะของอินเดีย มักเป็นสูตรยาผสมแร่ธาตุที่ใช้รักษาโรคเฉพาะเจาะจง หรือเพื่อส่งเสริมอายุยืนยาวเท่านั้น

ในตะวันออกกลาง

[แก้]

คำว่า "น้ำอมฤต" ในภาษาอังกฤษคือ "elixir" (คำอ่าน: ɪˈlɪksər /อีลีกเซอร์/) เป็นคำที่รับมาจากคำในภาษาอาหรับว่า " آب حیات. " (/อัลอีกซีร์/) ซึ่งก็อาจมาจากคำว่า "Aab-e-Hayaat'" (/อาบเอฮะยาต/) ในภาษาเปอร์เซียอีกทอดหนึ่ง

ในยุคทองของอิสลาม บรรดานักรสายนเวททั้งชาวอาหรับและอิหร่านล้วนใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการค้นหาน้ำอมฤตกัน แต่ก็ไร้ผล หากกลับกลายว่าพวกเขาสามารถพัฒนาวงการแพทย์อิสลามให้รุ่งเรืองได้แทน

ในทวีปยุโรป

[แก้]
คำภีร์ เดลล์ เอลิกเซอร์ ไวต้า (Dell' elixir vitae), 1624

ในประเพณีการเล่นแร่แปรธาตุของยุโรป น้ำอมฤต มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการสร้างศิลานักปราชญ์ตามตำนาน นักเล่นแร่แปรธาตุบางคนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างน้ำอมฤต เช่น นิโคลัส เฟลมเมล และ แซ็ง-แฌร์แม็ง นอกจากนี้ผลงานของ ไมเคิล สก็อต (Michael Scot) ยังกล่าวถึงทองคำว่าเป็นน้ำอมฤตอีกด้วย[7]

ในประเทศญี่ปุ่น

[แก้]

ในบทกวีนิพนธ์ มังโยชู (ญี่ปุ่น: 万葉集โรมาจิMan'yōgana) ของญี่ปุ่น ซึ่งประพันธ์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่แปด กล่าวถึง น้ำชำระล้างฟื้นฟู (ญี่ปุ่น: 変若水โรมาจิochimizu) ว่าเป็นสิ่งของที่เทพเจ้าจันทรา สึกูโยมิ ทรงครอบครองอยู่

เรื่องเล่านี้มีความคล้ายคลึงกับนิทานพื้นบ้านจากหมู่เกาะรีวกีว ซึ่งเล่าว่าเทพเจ้าจันทราตัดสินใจมอบ น้ำอมตะ (มิยาโกะ: sïlimizï) ให้แก่มนุษย์ และมอบ "น้ำแห่งความตาย" (มิยาโกะ: sïnimizï) ให้แก่งู แต่ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้แบกน้ำลงมายังโลกนั้นรู้สึกเหนื่อยล้า จึงพักผ่อนระหว่างทาง ทำให้ งู ได้อาบน้ำอมตะ ส่งผลให้น้ำนั้นสูญเสียสรรพคุณ นิทานพื้นบ้านนี้เป็นที่มาของความเชื่อที่ว่า ทำไมงูจึงสามารถผลัดผิวเพื่อฟื้นฟูร่างกายได้ทุกปี ในขณะที่มนุษย์ต้องประสบชะตากรรมแก่เฒ่าและตายไปในที่สุด[8][9]

ชื่อของน้ำอมฤต

[แก้]

น้ำอมฤตมีชื่อเรียกมากมายหลายร้อยชื่อ (นักวิชาการประวัติศาสตร์จีนท่านหนึ่ง รายงานว่าพบชื่อเรียกมากกว่า 1,000 ชื่อ) ตัวอย่างเช่น

  • คีเมีย (Kimia) - ภาษากรีกโบราณ ใช้ในวรรณกรรมเปอร์เซียโบราณ หมายถึง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงและนำมาซึ่งชีวิต
  • อัมฤตรส (Amrit Ras) หรือ อมฤต (Amrita) - ภาษาอินเดีย แปลว่า น้ำอมตะ
  • อาบีฮายาต (Aab-i-Hayat) - ภาษาเปอร์เซีย แปลว่า น้ำแห่งชีวิต
  • มหาสระ (Maha Ras) - ภาษาอินเดีย แปลว่า น้ำวิเศษ
  • อาบีไฮวัน (Aab-Haiwan) - ไม่ทราบความหมายแน่ชัด
  • น้ำเต้นระบำ (Dancing Water)
  • ชัชมาอัลกาอุซัร (Chasma-i-Kausar) - ภาษาอาหรับ แปลว่า น้ำพุแห่งความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งชาวมุสลิมเชื่อว่าตั้งอยู่ในสวรรค์
  • มานสโรวระ หรือ สระน้ำอมฤต (Pool of Nectar) - ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ที่เชิงเขา เขาไกรลาส (Mount Kailash) ในทิเบต ใกล้กับต้นแม่น้ำคงคา
  • ศิลานักปราชญ์ (Philosopher's stone) - ยุโรป
  • โสมาส (Soma Ras) - ภาษาอินเดีย แปลว่า น้ำโสมา ต่อมา โสมา หมายถึง ดวงจันทร์

คำว่า elixir (อีลิค'เซอะ) เริ่มใช้ในศตวรรษที่ 7 หลังคริสต์ศักราช มีที่มาจากคำภาษาอาหรับ "อัล-อิคเซอ" (al-iksir) ซึ่งแปลว่า ยาพิเศษ

นอกจากนี้ ยังมีผู้มองว่า น้ำอมฤตเป็นสัญลักษณ์แทนจิตวิญญาณของพระเจ้า เช่น คำกล่าวที่ว่า "น้ำแห่งชีวิต" หรือ "น้ำพุแห่งชีวิต" โดยพระเยซูในคัมภีร์ไบเบิล (ยอห์น 4:14)

ชาวสก๊อตและชาวไอริช นำคำว่า "น้ำอมฤต" มาใช้เรียก "ทองคำเหลว" ของพวกเขา โดยคำว่า "วิสกี้" (whiskey) ในภาษาเกลิคแปลว่า "ยูอิชกี้ เบธา" (uisce beatha) ซึ่งแปลว่า น้ำแห่งชีวิต

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "The Epic of Gilgamesh: Enkidu". SparkNotes (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-12-27.
  2. Liu, Hong. The Chinese Overseas. Routledge Library of Modern China. Published by Taylor & Francis, [2006] (2006). ISBN 0-415-33859-X, 9780415338592.
  3. Johnson, Obed Simon. A Study of Chinese Alchemy. Shanghai, Commercial Press, 1928. rpt. New York: Arno Press, 1974. page 63
  4. Glick, T.F., Livesey, S.J., Wallis, F. Medieval Science, Technology And Medicine: An Encyclopedia. Routledge, 2005. p. 20
  5. "Tan chin yao chueh – occultism". britannica.com.
  6. Chaturvedi, B. K. (2006). Vishnu Purana (ภาษาอังกฤษ). Diamond Pocket Books (P) Ltd. p. 25. ISBN 978-81-7182-673-5.
  7. Multhauf, R.P. (1953). The Relationship Between Technology and Natural Philosophy, Ca. 1250-1650 as Illustrated by the Technology of the Mineral Acids. University of California. สืบค้นเมื่อ 2023-06-04.
  8. Nelly Naumann (2000). Japanese Prehistory: The Material and Spiritual Culture of the Jōmon Period. Otto Harrassowitz Verlag. p. 133. ISBN 978-3-447-04329-8.
  9. Nevsky, Nikolai (April 1971). Masao, Oka (บ.ก.). 月と不死 [Tsuki to fushi] (ภาษาญี่ปุ่น). 平凡社. ISBN 9784582801859. สืบค้นเมื่อ 17 December 2018.

เชิงอรรถ

[แก้]