ธีรยุทธ บุญมี
ธีรยุทธ บุญมี | |
---|---|
เกิด | 10 มกราคม พ.ศ. 2493 |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | ศาสตราจารย์, นักวิชาการ, นักเคลื่อนไหว |
ศาสตราจารย์ ธีรยุทธ บุญมี (เกิด 10 มกราคม พ.ศ. 2493) เป็นนักวิชาการ นักวิจารณ์การเมือง และนักเขียนรางวัลศรีบูรพา อดีตเลขาธิการ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา เคยเป็นอาจารย์ประจำ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ สาขามนุษยวิทยา ในปี พ.ศ. 2555[1] ด้วยวิธีพิเศษ[2]
ประวัติ
[แก้]ธีรยุทธ บุญมี เกิดในครอบครัวที่ยากจน มีบิดาเป็นทหาร[3] เขารับศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย บิดาชื่อนายฉิม บุญมี มารดาชื่อนางสมจิตร บุญมี มีนิสัยรักการอ่านมาแต่เด็ก หัวดี และเรียนเก่ง มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ ด้วยความสนใจเขาได้เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ส่งนิตยสารอย่างวิทยาสารและชัยพฤกษ์ตอนอยู่ ม.ศ. 4-5[ต้องการอ้างอิง] เขาได้รู้จักกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เช่น ศ.ดร. ระวี ภาวิไล ซึ่งเป็นรุ่นพี่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และ ศ.ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต และได้มีโอกาสสนทนากับนักวิทยาศาสตร์ทั้งสอง ส่วนด้านงานเขียนเขาก็สนิทสนมคลุกคลีกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ และ เสถียร จันทิมาธร ซึ่งเป็นนักเขียนแถวสยามรัฐ
ชีวิตนักศึกษา
[แก้]ธีรยุทธ บุญมี สมัครสอบเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย ปัญหาความยากจนของทางบ้าน เขาจึงเลือกที่เป็นวิศวกรแทนที่จะไปทางสายวิทยาศาตร์ที่ชอบเนื่องจากเขาสอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่หนึ่งของประเทศในสายวิทยาศาสตร์ ด้วยคะแนน 91.90 เปอร์เซนต์ในปี พ.ศ. 2511 เขาไม่สามารถสมัครสอบทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนต่อต่างประเทศเช่นเดียวกับผู้สอบได้อันดับหนึ่งคนอื่น ๆ ด้วยเหตุผลว่าอายุเกิน แต่เนื่องจากวิชาทางวิศวกรรมศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ทำให้เขาหันเหความสนใจไปด้านกิจกรรมตอนเป็นนิสิต จากกิจกรรมเชิงวิชาการ ขยับมาเป็นกิจกรรมด้านสังคม
ธีรยุทธ บุญมี เข้าเป็นสมาชิกศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนิสิตนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ และได้เป็นเลขาธิการเมื่อปี พ.ศ. 2515 ช่วงนั้น ศนท. มีบทบาททางการเมืองในการรณรงค์เรียกร้องต่าง ๆ เช่น การรณรงค์ให้ชื้อสินค้าไทยและไม่ซื้อสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น เรื่องการล่าสัตว์ป่าของกลุ่มนายทหารและตำรวจในทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นต้น
เหตุการณ์ 14 ตุลา
[แก้]ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ธีรยุทธ บุญมี เป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งกลุ่มเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจำนวน 100 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อขอรัฐธรรมนูญคืนจากรัฐบาลเผด็จการซึ่งนำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งวันนั้นเป็นวันเสาร์ สมาชิกกลุ่มจำนวน 25 คน ได้ไปถือโปสเตอร์ แจกใบปลิว หนังสือ และบัตรลงประชามติที่ตลาดนัดสนามหลวง ในวันนั้นเป็นหนึ่งใน 11 คนที่ถูกตำรวจสันติบาลจับกุม ตรวจค้นบ้านและยึดเอกสารใบปลิว
เมื่อมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม จนกระทั่งมีการเดินขบวนในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในที่สุด ธีรยุทธและผู้ที่ถูกจับกุมคนอื่น ๆ ก็ได้รับการปล่อยตัว และหลังจากนั้น ธีรยุทธยังได้เป็นหนึ่งในแกนนำของผู้ชุมนุมเข้าเจรจากับทางรัฐบาล จนได้ข้อสรุปเพียงพอที่จะยุติการชุมนุม แต่ทว่าสถานการณ์ในส่วนของผู้ชุมนุมเริ่มที่จะควบคุมความสงบไม่อยู่แล้ว เนื่องจากรอคอยผลการเจรจาเป็นเวลานาน ประกอบกับจำนวนผู้ชุมนุมที่มาก ทำให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสาร เมื่อทางธีรยุทธออกมา และพบกับสถานการณ์เช่นนี้ ก็ได้ขอผู้ที่ทำการนำผู้ชุมนุม ขึ้นรถปราศรัยชี้แจงกับผู้ชุมนุมด้วยตนเอง เพื่อที่จะให้ยุติการชุมนุมลงโดยสงบ แต่ทว่าในที่สุดก็เกิดการปะทะและนองเลือดกันในรุ่งเช้าวันต่อมา [4]
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา และชีวิตการทำงาน
[แก้]เมื่อปี พ.ศ. 2519 ได้เดินทางไปใช้ชีวิตในป่าแถบจังหวัดน่าน และเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ในฐานะเลขานุการประสานงานผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย เป็นเวลาถึงสี่ปีครึ่ง ก่อนจะเดินทางไปทำงานวิจัยในสาขาปรัญชาและสังคมวิทยาที่สถาบันสังคมศึกษา ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้วุฒิเทียบเท่าปริญญาโท และศึกษาต่อปริญญาเอกสาขาสังคมมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยไนเมเกน ประเทศเดียวกัน ใน แต่ไม่ได้สอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกก็เลิกเรียนเสียก่อน (ปัจจุบันจึงยังเป็น Phil.D. Candidate อยู่[5][6])
หลังจากเรียนจบ ก็สมัครทำงานเป็นวิศวกรของบริษัทเอกชนอยู่ระยะหนึ่ง เคยทำงานเป็นนักวิจัยที่สถาบันสังคมศึกษา ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และทำงานวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยบีเลเฟลท์ ประเทศเยอรมนี[7] เมื่อกลับเมืองไทยในปี พ.ศ. 2528 จึงเริ่มบทบาททางการเมือง ในฐานะนักคิด นักวิชาการ นักปรัชญา โดยทำการวิจารณ์การเมืองและสำรวจประชามติ เคยเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา
ปัจจุบัน ธีรยุทธเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดว่าตัวเองเป็นนักคิดมากกว่านักเขียน จึงเน้นการทำงานด้านวิชาการ โดยพยายามเขียนหนังสือ ตำรา และบทความทางวิชาการ พร้อมโจมตีการทำงานของรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ
งานทางวิชาการ
[แก้]ธีรยุทธ บุญมี มีผลงานเขียนและปาฐกถาวิจารณ์การเมืองจำนวนมาก เขาได้รับรางวัลศรีบูรพา ในปี พ.ศ. 2549 ร่วมกับเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตัวอย่างงานเขียนและบทวิเคราะห์ในช่วงเวลาไม่นานมานี้ เช่น สังคม วัฒนธรรมหลังการเลือกตั้ง ก.พ.2548 การเปลี่ยนแปลงสังคม วัฒนธรรม การเมือง ครั้งที่ 2 ของไทย เก็บถาวร 2007-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, อนาคตการเมืองไทยและนโยบายของรัฐบาลทักษิณ 2 เก็บถาวร 2006-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน และ รัฐธรรมนูญแบบภูมิปัญญาไทย ซึ่งสนับสนุนการทำรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549
ในช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน ปัญญาชนหลายฝ่ายวิจารณ์ธีรยุทธว่าเขาอาศัยสถานภาพนักวิชาการไปสนับสนุนการรัฐประหารจนเกินขอบเขตที่เหมาะสม ข้อเสนอของธีรยุทธเรื่อง โครงสร้างการเมืองแบบไทย และ รัฐธรรมนูญแบบภูมิปัญญาไทย ถูกวิจารณ์ว่าเป็นข้อเสนอที่มุ่งฟื้นฟูการเมืองแบบอำมาตยาธิปไตยผ่านบทบาทของศาลและชนชั้นนำกลุ่มอื่น ๆ ไม่ต่างกับแนวคิด "ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ" ที่เผด็จการทหารในช่วง 2519-2531 ใช้ในการอธิบายการเมืองไทย[ต้องการอ้างอิง]
ผลงานหนังสือ
[แก้]- แวน เดอ โพสต์, ลอเรนส์, ธีรยุทธ บุญมี [แปล]. บทเพลงปลาวาฬ. กรุงเทพฯ : วัลยา, [ม.ป.ป.]. ISBN 978-974-89060-5-8
- ธีรยุทธ บุญมี. ความคิดหลังตะวันตก. กรุงเทพฯ : สายธาร, [ม.ป.ป.]. ISBN 978-974-9609-28-6
- ธีรยุทธ บุญมี. ชาตินิยมและหลังชาตินิยม. กรุงเทพฯ : สายธาร, [ม.ป.ป.]. ISBN 978-974-9609-55-2
- ธีรยุทธ บุญมี. สังคมเข้มแข็ง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มิ่งมิตร, 2536. ISBN 974-89159-1-3
- ลามูร์, หลุยส์, ธีรยุทธ บุญมี [แปล]. ปรัชญาคาวบอยของหลุยส์ ลามูร์ : แผ่นดิน กาแฟ และผู้หญิง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มิ่งมิตร, 2537. ISBN 974-89203-6-4
- ธีรยุทธ บุญมี. ปรัชญาแห่งความเอื้ออาทร. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : วัลยา, 2537.
- ธีรยุทธ บุญมี. ปรัชญาแห่งการปฏิรูปการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : วัลยา, 2540. ISBN 974-89498-1-8
- ธีรยุทธ บุญมี. ภาพรวมการเมือง สังคม วัฒนธรรมไทย 2000. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2543.
- ธีรยุทธ บุญมี. สายไปเสียแล้ว. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อิมเมจ, 2544. ISBN 974-88384-5-5
- ธีรยุทธ บุญมี. ถอดรื้อปรัชญา และศิลปะแบบตะวันตกเป็นศูนย์กลาง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2546. ISBN 974-8468-93-3
- ธีรยุทธ บุญมี. พหุนิยม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2546.
- ธีรยุทธ บุญมี. ความหลากหลายของชีวิต : ความหลากหลายทางวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2547. ISBN 974-9609-49-2
- ธีรยุทธ บุญมี. ทิศทางประเทศไทย เมื่อโลกหยุดค้อมหัวให้ตะวันตก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547. ISBN 974-323-242-7
- ธีรยุทธ บุญมี. Road Map ประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2547. ISBN 978-974-9609-29-3
- ธีรยุทธ บุญมี. การเปลี่ยนแปลงสังคม วัฒนธรรม การเมือง ครั้งที่ 2 ของไทย. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2548. ISBN 974-9609-63-X
- ธีรยุทธ บุญมี. ฝ่ากรงขังสีเทา. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2548. ISBN 978-974-9609-85-9
- ธีรยุทธ บุญมี. ตุลาการภิวัฒน์. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2549. ISBN 974-288-449-8
- ธีรยุทธ บุญมี. การเดินทางในจิตใจ บทตริตรองชีวิตและธรรมชาติ. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2550. ISBN 978-974-09-5451-4
- ธีรยุทธ บุญมี. ขุนเขา ความงาม และมิ่งมิตร. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2550. ISBN 978-974-09-3689-3
- ธีรยุทธ บุญมี. ความคิด สองทศวรรษ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550. ISBN 978-974-02-0030-7
- ธีรยุทธ บุญมี. ฤๅษีเลี้ยงเต่า. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2550. ISBN 978-974-7170-31-3
- ธีรยุทธ บุญมี. การปฏิวัติสัญศาสตร์ของโซซูร์ เส้นทางสู่โพสต์โมเดอร์นิสม์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : วิภาษา, 2551. ISBN 978-974-518-433-6
- ธีรยุทธ บุญมี. มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : วิภาษา, 2551. ISBN 978-974-16-3795-9
- ธีรยุทธ บุญมี. โลก Modern & Post modern. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2552. ISBN 978-974-7056-08-1
หนังสือที่เกี่ยวกับธีรยุทธ
[แก้]- เริงศักดิ์ ปานเจริญ. ธีรยุทธ บุญมี กับ ณรงค์ กิตติขจร กุหลาบพันธุ์เดียวแต่ต่างสี. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จักรานุกูลการพิมพ์, 2517.
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2552 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[8]
- พ.ศ. 2548 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ อนุมัติ "ศ" 15 รายจาก ไทยรัฐ
- ↑ สาขามนุษย์วิทยา
- ↑ "ชีวประวัติ วีรชน 14 ตุลา" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-06-19. สืบค้นเมื่อ 2017-03-16.
- ↑ ประวัติศาสตร์การศึกษา วันมหาวิปโยค 14 ตุลา 16 - 6 ตุลา 19 โดย แปลก เข็มพิลา ISBN 974-7753-87-1
- ↑ "การศึกษา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2007-09-04.
- ↑ "การงาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-09. สืบค้นเมื่อ 2007-09-04.
- ↑ นักวิจัยจากต่างประเทศ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นตํ่ากว่าสายสะพาย ประจำปี ๒๕๕๒, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๓๗, ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๕๑, ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๓
- ข้อมูลบางชีวประวัติ
- ประสาร มฤคพิทักษ์, เรื่องดีๆ ของคนดีๆ
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2493
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- นักเคลื่อนไหวชาวไทย
- นักวิชาการชาวไทย
- นักเขียนชาวไทย
- ข้าราชการพลเรือนชาวไทย
- อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ - ศิลปศาสตร์ - มนุษยศาสตร์
- นิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา
- บุคคลจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
- ศาสตราจารย์
- บุคคลจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ม.