ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี
ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี | |
ปกภาครีเมคในปี 2018 | |
銀河英雄伝説 (Ginga Eiyū Densetsu) | |
---|---|
แนว | สเปซโอเปร่า, การทหาร, การเมือง, วิทยาศาสตร์ |
นวนิยายชุด | |
เขียนโดย | โยชิกิ ทานากะ |
สำนักพิมพ์ | Tokuma Shoten |
วางจำหน่ายตั้งแต่ | 30 พฤจิกายน 1982 – 15 พฤจิกายน 1987 |
จำนวนเล่ม | 10 เล่ม |
โอวีเอ | |
Legend of the Galactic Heroes | |
กำกับโดย | โนโบรุ อิชิงูโระ |
ดนตรีโดย | วงดุริยางค์ซิมโฟนีวิทยุเบอร์ลิน |
สตูดิโอ | Artland |
ฉาย | ธันวาคม 1988 – มีนาคม 1997 |
ความยาว | 25 นาที (ตอนละ) |
ตอน | 110 ตอน |
อนิเมะโรง | |
| |
โอวีเอ | |
LOGH Gaiden | |
สตูดิโอ | J.C.Staff |
ฉาย | 1998 – 2000 |
ตอน | 24+28 |
อนิเมะนวนิพนธ์ | |
|
ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี (ญี่ปุ่น: 銀河英雄伝説, เยอรมัน: Die Legende der Sternhelden ,อังกฤษ: Legend of the Galactic Heroes) เรียกย่อว่า กินเอย์เด็น หรือ LOGH เป็นวรรณกรรมบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ แต่งโดยดร.โยชิกิ ทานากะ เริ่มตีพิมพ์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1982
ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซีเป็นนิยายที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับห้าของญี่ปุ่น[1] จุดเด่นและเอกลักษณ์ของเรื่องนี้อยู่ที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ ซึ่งถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบที่คล้ายกับการศึกษาพงศาวดารและบทวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นรูปแบบการนำเสนอที่ไม่มีนิยายเรื่องใดเคยนำเสนอมาก่อน
วรรณกรรมนี้ถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะวางจำหน่ายแบบวิดีโอเทประหว่างปี 1988 ถึง 1997 ซึ่งกลายเป็นโอวีเอที่มีความยาวที่สุดจนถึงปัจจุบัน[2] ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซีได้รับเรตติ้งเป็นอันดับหนึ่งในตารางของฐานข้อมูล AniDB[3]และได้รับการยกย่องโดยหลายสำนักให้เป็นอนิเมะที่ดีที่สุดตลอดกาลของแนวสเปซโอเปร่า[4][5][6] แนวการทหาร[7][8] และแนวการเมือง ซึ่งส่งอิทธิพลต่อการแต่งอนิเมะในเวลาถัดมาอย่างเช่น 12 อาณาจักรเทพยุทธ์ และ โค้ด กีอัส
การเมืองในตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี มักถูกสรุปว่าเป็นการปะทะระหว่างระบอบเผด็จการกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการสรุปแต่ผิวเผินและไม่ถูกต้องมากนัก แก่นแท้ของมันคือการปะทะระหว่างระบอบเผด็จการหลายรูปแบบ: เผด็จการอภิชนาธิปไตย, เผด็จการธรรมาธิปไตย, เผด็จการมวลชนาธิปไตย และเผด็จการเสนาธิปไตย โดยที่มีรัฐชาติทุนนิยมได้ประโยชน์จากความขัดแย้งดังกล่าว
การทหารในตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี อยู่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีสเตลธ์และการกวนคลื่นถูกพัฒนาถึงขีดสุด ปฏิบัติการสงครามจึงต้องกลับไปพึ่งกลวิธีโบราณ ตามแบบที่ปรากฏในพิชัยสงครามสมัยโบราณ หลักการทหารในตำนานวีรบุรุษกาแล็กซีแบ่งออกเป็นสองแนวคิดหลัก จักรวรรดิกาแล็กซีมีความโน้มเอียงไปทางแนวคิดของเคลาเซอวิทซ์ ซึ่งสนับสนุนการทำลายข้าศึกให้มากที่สุดโดยไม่แบกรับความเสี่ยงมากเกินไป ขณะที่เสรีพันธมิตรดาวเคราะห์มีความโน้มเอียงไปทางแนวคิดของซุนวู ซึ่งสนับสนุนการชนะศึกโดยไม่ต้องปะทะข้าศึก
ภูมิหลัง
[แก้]สงครามกาแล็กซีครั้งที่หนึ่ง
[แก้]มนุษยชาติรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวภายใต้รัฐบาลเอกภาพเมื่อคริสต์ศักราช 2129 โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่บริสเบน พวกเขาจัดตั้งกระทรวงอวกาศ และตั้งฐานสำรวจบนดาวเคราะห์ไอโอเมื่อปี 2166 ต่อมาเมื่อทฤษฎีการเดินทางเร็วกว่าแสงของดร.ยาโนเชอร์ได้รับการพิสูจน์ในปี 2360 ยุคแห่งการย้ายถิ่นฐานสู่ระบบดาวอื่นจึงเริ่มขึ้นในปี 2404 อย่างไรก็ตาม อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจยังคงถูกผูกขาดโดยดาวโลก บรรดาดาวนิคมต่างสั่งสมความไม่พอใจ และปะทุเป็นสงครามกาแล็กซีครึ่งที่หนึ่งระหว่างดาวโลก กับสหภาพดาวนิคมที่นำโดยระบบดาวซิริอุสในปี 2689 ถึง 2704 และจบลงด้วยชัยชนะของซิริอุส ดาวโลกหมดสิ้นอำนาจทางเศรษฐกิจ-การเมืองและกลายเป็นดาวเคราะห์ที่ถูกลืม กลุ่มทหารรับจ้างในสงครามครั้งนี้ก็ผันตัวเป็นสลัดอวกาศ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2706 นายพาล์มเกร็น ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งการปลดปล่อยและเป็นผู้นำสูงสุดของซิริอุส ป่วยตายกะทันหัน นายกรัฐมนตรีทาวเซนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่บิดาผู้สร้างชาติ กำจัดผู้สร้างชาติสองคนที่เหลือ และกลายเป็นเผด็จการ แต่ในปีถัดมา ทาวเซนต์ถูกลอบสังหารโดยระเบิดนิวตรอน การตายของทาวเซนต์ซึ่งผู้ขาดอำนาจทั้งหมด ส่งผลให้เกิดกลียุคแห่งการแก่งแย่งอำนาจและสงครามกลางเมืองยาวนานกว่าเก้าสิบปี
สหพันธ์กาแล็กซี
[แก้]ในปี 2801 มนุษยชาติผ่านพ้นกลียุคและสถาปนาสหพันธ์กาแล็กซี (Galactic Federation) โดยมีดาวหลักอยู่ที่เธโอเรีย ดาวเคราะห์ลำดับสองในระบบดาวอัลดิบาแรน[9] พร้อมประกาศใช้ปีอวกาศที่ 1 ถือเป็นการเริ่ม "ยุคทองแห่งมนุษยชาติ" อย่างไรก็ตาม เมื่อสหพันธ์กาแล็กซีดำรงอยู่สองร้อยกว่าปี ก็เกิดภาวะตกต่ำและชะงักงัน ความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของมนุษย์เสื่อมถอยลง พัฒนาการและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหดหาย
ยุคมืดกินเวลายาวนานเก้าทศวรรษ จนกระทั่งในปีอวกาศที่ 296 รูดอล์ฟ ฟอน โกลเดินบาม อดีตนายทหารยศพลตรีผู้มีชื่อเสียงจากการปราบสลัดอวกาศอย่างราบคาบ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสหพันธ์กาแล็กซี และสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จมากมาย นอกจากรูดอล์ฟจะเป็นนายกรัฐมนตรี ยังอาศัยช่องโหว่ในรัฐธรรมนูญ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีโดยการลงมติของสภาสหพันธ์ ถือเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ต่อมาในปีอวกาศที่ 308 รูดอล์ฟประกาศตนเป็น "กงสุลตลอดชีพ" ผู้มีอำนาจบริหารและตุลาการ
จักรวรรดิกาแล็กซี
[แก้]ปีอวกาศที่ 310 (ค.ศ. 3110) รูดอล์ฟแปรสภาพสหพันธ์กาแล็กซีเป็นจักรวรรดิกาแล็กซี เขาตั้งตัวเป็น "ไคเซอร์ผู้ศักดิ์สิทธิ์และละเมิดมิได้แห่งกาแล็กซี" และประกาศใช้ปีจักรวรรดิที่ 1 การปกครองของรูดอล์ฟมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง สามารถปราบการทุจริตโกงกินอย่างหมดจด รูดอล์ฟมีความเชื่อในหลักสุพันธุศาสตร์ เขามองว่าความอ่อนแอเป็นบาปที่มิอาจอภัยและเป็นต้นตอของความเสื่อมในสังคม สังคมควรจะถูกนำโดยผู้แข็งแรง ทำให้ในจักรวรรดิที่ 9 รูดอล์ฟประกาศใช้ "พ.ร.บ.ขจัดความบกพร่องทางพันธุกรรม" ผู้มีความบกพร่องทางพันธุกรรมและคนยากจนจะถูกบังคับทำหมัน มีการระงับนโยบายสังคมสงเคราะห์ ผู้ป่วยโรคจิตเวชถูกทำการุณยฆาต[9] กฎหมายฉบับนี้ทำให้สมาชิกสภาจักรวรรดิออกมาโจมตีรูดอล์ฟอย่างรุนแรง รูดอล์ฟจึงยุบสภาและปราบปรามผู้วิจารณ์ และตั้งกรมรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อตรวจหาและกำจัดผู้เห็นต่าง ก่อให้เกิดผู้เสียชีวิตกว่าสี่พันล้านคน นอกจากนี้ เขายังจัดตั้งระบบขุนนางเพื่อค้ำจุนราชวงศ์ โดยการเลือกสรรมอบอภิสิทธิ์แก่กลุ่มคนที่เขาคิดว่าเป็น "เลิศชน"
หลังรูดอล์ฟสวรรคตในปีอวกาศที่ 351 (ปีจักรวรรดิที่ 42) หลานตาของรูดอล์ฟได้ครองราชย์เป็นจักรพรรดิซีกิสมุนด์ที่ 1 และเกิดการลุกฮือของพวกสาธารณรัฐนิยมทั่วจักรวรรดิ แต่ก็ถูกทหารและข้าราชการที่รูดอล์ฟเลี้ยงดูปราบปรามราบคาบจนมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยล้านคน ด้วยเหตุนี้ ระบอบการปกครองของจักรวรรดิจึงมีความมั่นคง
เสรีพันธมิตรดาวเคราะห์
[แก้]ปีอวกาศที่ 473 (ปีจักรวรรดิที่ 164) ชายหนุ่มนักสาธารณรัฐนิยมที่ชื่อ อาร์เลอ ไฮเนสเซิน (Arle Heinessen) พร้อมพรรคพวกจำนวนสี่แสนคนหลบหนีจากดาวเคราะห์อัลแทร์ 7 ซึ่งเป็นเสมือนค่ายแรงงานของจักรวรรดิ พวกเขาสร้างยานอวกาศที่ชื่อว่า อีออน ฟาเซคัซท์ จากน้ำแข็งแห้งขนาด 122 กิโลเมตรที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนดาวดวงนี้ และทำการหลบหนีไปกบดานที่ดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง พวกเขารวบรวมวัสดุที่จำเป็นและสร้างกองเรืออพยพระหว่างระบบดาวจำนวนแปดสิบลำ แล้วจึงทำการหลบหนีออกจากอาณาเขตจักรวรรดิ พวกเขาร่อนเร่นานหลายปีจนไปถึงห้วงอวกาศส่วนที่ยังไม่เคยถูกพบ (ซึ่งต่อมาเรียกว่าระเบียงอีเซอร์โลน) และสามารถข้ามห้วงอวกาศส่วนนั้นจนไปถึงแขนคนยิงธนู–กระดูกงูเรือ
ในปีอวกาศที่ 527 (ปีจักรวรรดิที่ 218) หลังจากเดินทางกว่าครึ่งศตวรรษเป็นระยะทางกว่าหนึ่งหมื่นปีแสง กองเรืออพยพซึ่งมีประชากรเหลืออยู่หนึ่งแสนหกหมื่นคน ค้นพบดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่เอื้อต่อการตั้งลงหลักปักฐานในระบบดาวแห่งหนึ่ง พวกเขาตั้งชื่อดาวเคราะห์ดวงนั้นว่า "ไฮเนสเซิน" และประกาศสถาปนาเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ พวกเขาถือว่าตนเองคือรัฐผู้สืบทอดโดยธรรมของสหพันธ์กาแล็กซี จึงนำระบบปีอวกาศกลับมาใช้ ถือเป็นการเปิดฉากศตวรรษอันรุ่งโรจน์อีกครั้ง
สงครามกาแล็กซีครั้งที่สอง
[แก้]จักรวรรดิกาแล็กซีในรัชสมัยจักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 (รัชกาลที่ 20) ค้นพบระเบียงอวกาศแห่งหนึ่ง จึงข้ามระเบียงดังกล่าวไปถึงแขนคนยิงธนู–กระดูกงูเรือ และค้นพบการดำรงอยู่ของเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ จักรวรรดิจึงประกาศให้อีกฝ่ายเป็นกลุ่มกบฏและรีบจัดตั้งกองกำลังปราบปราม ทั้งสองเปิดฉากสู้รบกันในปีอวกาศที่ 640 (ปีจักรวรรดิที่ 331) ที่ระบบดาวดากอนซึ่งตั้งอยู่ในระเบียงดังกล่าว ในยุทธการครั้งนี้ แม้ว่าจักรวรรดิจะมีจำนวนมากกว่าแต่ก็พ่ายแพ้ยับเยินให้แก่กองทัพเสรีพันธมิตรที่เตรียมตัวรับมือเหตุการณ์เช่นนี้มาเป็นเวลานาน เมื่อข่าวความปราชัยแพร่ไปในจักรวรรดิ ประชาชนที่อดกลั้นต่อการปกครองของจักรวรรดิ ก็หลั่งไหลอพยพไปยังเสรีพันธมิตรหลายระลอก ส่งผลให้ประชากรของเสรีพันธมิตรขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
ในปีอวกาศที่ 682 (ปีจักรวรรดิที่ 373) พ่อค้าผู้มั่งคั่งชื่อว่าเลโอโพลด์ ลาพ จากดาวเทร์ร่า (ดาวโลก) เป็นผู้มีหัวคิดกว้างไกล เขาเดินสายโน้มน้าวและติดสินบนผู้มีอำนาจในจักรวรรดิ ทำให้สามารถก่อตั้งแคว้นปกครองตนเองเฟซานในระเบียงเฟซาน หนึ่งในสองเส้นทางที่ใช้ไปมาหาสู่กับเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ เขายอมรับพระราชอำนาจของไคเซอร์เหนือแคว้นเฟซาน แลกกับการได้อำนาจปกครองตนเองและสิทธิในการค้าขายกับจักรวรรดิและเสรีพันธมิตร อย่างไรก็ตาม เฟซานถือว่าเป็นรัฐบริวารที่มีอิสรภาพที่สุดในจักรวรรดิ มีอำนาจปกครองตนเองในทางพฤตินัยอย่างสมบูรณ์ เฟซานวางตัวเป็นกลางระหว่างจักรวรรดิและเสรีพันธมิตร และไม่มีกองทัพเป็นของตนเอง ตำแหน่งบริหารของเฟซานเรียกว่า "ลันเดสแฮร์" (Landesherr) หรือเจ้าแคว้น[9] เนื่องด้วยเฟซานไม่มีรายจ่ายทางทหาร และทำการค้าขายกับสองประเทศ จึงมีความร่ำรวยสะสมมหาศาล และพยายามครอบงำระบบเศรษฐกิจการคลังของทั้งสองประเทศ
ปราการอีเซอร์โลน
[แก้]สงครามที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสนอแนวคิดให้กองทัพเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ ก่อสร้างปราการขนาดใหญ่ไว้ในระเบียงอวกาศ เพื่อเป็นการป้องกันการรุกรานโดยจักรวรรดิ อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวถูกล้มเลิกโดยสมบูรณ์ในสมัยที่พลเอกบรูซ แอชบีย์ เป็นผู้บัญชาการกองเรืออวกาศ เพราะเขามองว่ามันมีราคาแพงเกินไป พลเอกแอชบีย์ตลอดจนคณะนายทหารของเขาได้พิสูจน์ให้เห็นในยุทธการหลายครั้ง ว่าลำพังกองเรือและกลยุทธ์ที่เหมาะสม ก็เพียงพอที่จะป้องกันประเทศ
ความพ่ายแพ้หลายครั้งของกองทัพจักรวรรดิในระเบียงอวกาศ ส่งผลให้จักรพรรดิออทฟรีดที่ 5 (รัชกาลที่ 35) ตัดสินใจอนุมัติให้กองทัพจักรวรรดิทำการก่อสร้างปราการอวกาศขนาดหกสิบกิโลเมตรไว้ที่ระบบดาวอาร์เตน่า ภายในระเบียงอวกาศแห่งดังกล่าวในปีอวกาศที่ 750 การก่อสร้างใช้ระยะเวลายาวนานและงบประมาณบานปลายกว่าที่คิด ในที่สุด ปราการอวกาศก็สร้างเสร็จในปีอวกาศที่ 766 ในสมัยของจักรพรรดิฟรีดริชที่ 4 และได้รับการตั้งชื่อว่า "ปราการอีเซอร์โลน"
นับแต่นั้นเป็นต้นมา กองทัพจักรวรรดิก็ใช้ปราการแห่งนี้เป็นฐานหน้าในการรุกรานเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ กองทัพเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์พยายามทำปฏิบัติการหลายครั้งเพื่อบุกยึดปราการแห่งนี้ แต่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ยับเยินทุกครั้ง
เปิดเรื่อง
[แก้]ยุทธการอัสทาร์ท
[แก้]มกราคม ปีอวกาศ 796 พลเอกอาวุโสไรน์ฮาร์ด ฟอน โลเอินกรัมม์ ผู้บัญชาการกำลังรบนอกไรช์ นำกองเรือ 21,328 ลำเข้ารุกรานระบบดาวอัสทาร์ทของเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ ในการนี้ กองทัพเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์จัดสามกองเรือออกต่อต้าน ซึ่งประกอบด้วยเรือรบทั้งหมด 40,436 ลำซึ่งมีจำนวนในภาพรวมมากกว่ากองเรือจักรวรรดิถึงเท่าตัว นอกจากนี้ สามกองเรือเสรีพันธมิตรยังเข้าหาเพื่อปิดล้อมกองเรือจักรวรรดิจากสามทิศทาง ซึ่งเป็นกลวิธีเคยสำเร็จในยุทธการดากอน คณะเสนาธิการของไรน์ฮาร์ดมองว่าข้าศึกได้เปรียบ และเสนอให้ถอนทัพ แต่ไรน์ฮาร์ดมองว่าแม้ข้าศึกมีจำนวนมากกว่าในภาพรวม แต่ถ้าเทียบกันกองเรือต่อกองเรือ กองเรือจักรวรรดิมีจำนวนมากกว่า ไรน์ฮาร์ดจึงตัดสินใจใช้กลวิธีทำลายทีละส่วนกับกองทัพเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ โดยเริ่มจากทำลายกองเรือที่ 4 ที่อยู่ใกล้สุด
แม้การสื่อสารกับกองเรือที่ 4 ขาดหาย ผู้บัญชาการกองเรือที่ 2 และผู้บัญชาการกองเรือที่ 6 ก็ยังคงยึดติดกับการมุ่งไปสนับสนุนกองเรือที่ 4 และเพิกเฉยคำแนะนำของนายทหารเสนาธิการที่เสนอให้สองกองเรือที่เหลือสนธิกำลังกัน ท้ายที่สุด กองเรือที่ 6 ก็ถูกกองเรือจักรวรรดิทำลาย และในขณะที่ข้าศึกเคลื่อนมาเผชิญกับกองเรือที่ 2 ซึ่งเป็นกองเรือสุดท้ายที่เหลืออยู่ เรือธงกองเรือที่ 2 ถูกปะทะ ผู้บัญชาการกองเรือได้รับบาดเจ็บหมดสติ พลจัตวาหยางเหวินหลี่ รองหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการฯจึงเข้าบัญชาการแทน เนื่องจากเป็นผู้มีลำดับอาวุโสสูงสุดในบรรดานายทหารที่ยังปลอดภัยบนเรือธง พลจัตวาหยางเหวินหลี่บัญชาการรบจนสามารถพลิกจากสภาพเสียเปรียบเป็นเสมอกัน และตกอยู่ในภาวะสงครามพร่ากำลัง ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะรบต่อในภาวะดังกล่าว จึงเลิกรบและผละออกจากกันในที่สุด
ชัยชนะของไรน์ฮาร์ด ทำให้เขาได้รับยศเป็นจอมพลแห่งจักรวรรดิและตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองเรืออวกาศจักรวรรดิ ทางด้านของหยางเหวินหลี่ที่สามารถกู้วิกฤต ก็ได้รับยศเป็นยศพลตรีและตำแหน่งผู้บัญชาการกองเรือที่ 13 ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่และมีกำลังเพียงครึ่งเดียวของกองเรือปกติ และภารกิจแรกที่หยางได้รับในฐานะผู้บัญชาการกองเรือ คือการบุกยึดปราการอีเซอร์โลนของจักรวรรดิ
ขั้วอำนาจ
[แก้]ประเทศ | จักรวรรดิกาแล็กซี Galaktisches Reich |
เสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ Free Planets Alliance |
แคว้นเฟซาน Fezzanland |
---|---|---|---|
ดาวหลัก | โอดิน (Odin) | ไฮเนสเซิน (Heinessen) | เฟซาน (Fezzan) |
เขตอิทธิพล | แขนนายพราน | แขนคนยิงธนู–กระดูกงูเรือ | ระเบียงเฟซาน |
ภาษาทางการ | เยอรมัน | อังกฤษ | เยอรมัน |
การปกครอง | สหพันธรัฐภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราช | ประชาธิปไตยภายใต้ระบบประธานาธิบดี | คณาธิปไตย |
ก่อตั้งเมื่อ | ปีอวกาศ 310 (ค.ศ. 3110) | ปีอวกาศ 527 (ค.ศ. 3327) | ปีอวกาศ 682 (ค.ศ. 3482) |
ประมุขแห่งรัฐ | ไคเซอร์ | ประธานคณะมนตรีสูงสุด | ไคเซอร์ |
หัวหน้ารัฐบาล | นายกรัฐมนตรี | ประธานคณะมนตรีสูงสุด | เจ้าแคว้น |
ประชากร (ปีอวกาศ 796) |
25,000 ล้าน | 13,000 ล้าน | 2,000 ล้าน |
สกุลเงิน | ไรชส์มาร์ค (Reichsmark) | ดีนาร์ (Dinar) | มาร์คเฟซาน (Fezzani Mark) |
ตัวละครหลัก
[แก้]- ไรน์ฮาร์ด ฟอน โลเอินกรัมม์ (เยอรมัน: Reinhard von Lohengramm) หรือชื่อเกิดคือ ไรน์ฮาร์ด ฟอน มือเซิล (Reinhard von Müsel)
- เป็นนายทหารจักรวรรดิกาแล็กซี เกิดในตระกูลขุนนางชั้นไรชส์ริทเทอร์ (Reichsritter) หลังจากที่พี่สาวถูกรับเข้าไปเป็นหม่อมในไคเซอร์ เขาก็ตัดสินใจเข้าเรียนเตรียมทหารเพื่อทวงคืนพี่สาว และยังเป็นคนชักชวนเคียร์ชไอส์เข้าเป็นทหารเหมือนเขาด้วย เขาเร่งสร้างผลงานและก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนได้เป็นจอมพลแห่งจักรวรรดิในวัยยี่สิบปี เป็นที่อิจฉาของนายทหารและขุนนางมากมาย
- หยาง เหวินหลี่ (จีน: Yang Wen-li)
- เป็นนายทหารเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ บิดาเป็นเจ้าของเรือพาณิชย์อวกาศลำหนึ่ง หยางเป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก เขาเคยคิดจะศึกษาต่อในภาควิชาประวัติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย แต่เมื่อบิดาเสียชีวิตโดยไม่ได้ทิ้งอะไรให้นอกจากหนี้ เขาจำต้องเข้าเรียนนายร้อยเพื่อที่จะทำให้เขาสามารถเรียนประวัติศาสตร์ได้ฟรี หยางเป็นคนขี้เกียจและเรียนไม่เก่ง วิชาเดียวที่เขาเก่งคือวิชายุทธคดีศึกษา เขาไม่เคยแพ้ศึกใดๆจนมีฉายาว่า "พ่อมดไร้พ่าย" และก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ความฝันของเขาคือการรีบเกษียณจากองทัพ แล้วเงินใช้บำนาญอย่างสุขสบาย
- ซีคฟรีด เคียร์ชไอส์ (เยอรมัน: Siegfried Kircheis)
- เป็นนายทหารจักรวรรดิกาแล็กซี เขามีบ้านอยู่ติดกับไรน์ฮาร์ด ทั้งสองจึงเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็ก ทั้งสองเรียนโรงเรียนสามัญแห่งเดียวกัน แต่เมื่อไรน์ฮาร์ดตัดสินใจย้ายไปโรงเรียนเตรียมทหาร ไรน์ฮาร์ดเป็นคนชักชวนเคียร์ชไอส์ให้เข้าโรงเรียนเตรียมทหารด้วย เคียร์ชไอส์คอยอยู่เคียงข้างไรน์ฮาร์ดเสมอ เมื่อไรน์ฮาร์ดประสบความสำเร็จทางหน้าที่การงานก็มักจะดึงเคียร์ชไอส์ตามขึ้นไปด้วยเป็นเงาตามตัว
อนิเมะฉบับดั้งเดิม
[แก้]อนิเมะฉบับดั้งเดิมมีจำนวนตอนภาคหลักถึง 110 ตอนและภาคเสริมอีก 52 ตอน บทเพลงประกอบของฉบับนี้ถูกคัดสรรจากบรรดาผลงานของคีตกวีชื่อก้องโลก ได้รับการบรรเลงและอัดเสียงโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีวิทยุเบอร์ลิน (Rundfunk-Sinfonieorchester Berlin) ถือเป็นบันเทิงคดีที่ใช้เพลงคลาสสิกเป็นเพลงประกอบมากที่สุดของโลก เพลงคลาสสิกประกอบเรื่องนี้มีจำนวนถึง 26 แผ่นซีดี
My Conquest is the Sea of Stars (1988)
[แก้]Legend of the Galactic Heroes: My Conquest is the Sea of Stars (銀河英雄伝説 わが征くは星の大海) เป็นอนิเมะฉบับแรกสุดของวรรณกรรมนี้ ฉายครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 1988 เนื้อเรื่องกล่าวถึงยุทธการที่เล็กนีซาในปีอวกาศที่ 795 ซึ่งเป็นการประมือครั้งแรกระหว่างพลเอกไรน์ฮาร์ด ฟอน มือเซิล (ก่อนได้ราชทินนามโลเอินกรัมม์) กับพลจัตวาหยางเหวินหลี่
Legend of the Galactic Heroes (1988–1997)
[แก้]Legend of the Galactic Heroes (銀河英雄伝説) เป็นอนิเมะฉบับที่สองของวรรณกรรมนี้และถือเป็นภาคหลัก วางจำหน่ายเป็นเทปวิดีโอดูที่บ้านระหว่างธันวาคม 1988 ถึงมีนาคม 1997 ภาคหลักนี้มีความยาวทั้งหมด 110 ตอน คิดเป็นระยะเวลารวมกว่า 2,800 นาที ถือเป็น OVA ที่มีความยาวมากที่สุดในอุตสาหกรรมอนิเมะของญี่ปุ่นจวบจนถึงปัจจุบัน ต่อมาถูกทำเป็นฉบับวีซีดี, ดีวีดี และบลูเรย์
Golden Wings (1992)
[แก้]Legend of the Galactic Heroes: Golden Wings (銀河英雄伝説外伝 黄金の翼) เป็นอนิเมะฉบับที่สามของวรรณกรรมนี้วางจำหน่ายเป็นม้วนวิดีโอดูที่บ้านในเดือนตุลาคม 1992 และเข้าโรงภาพยนตร์ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เนื้อเรื่องกล่าวถึงอดีตของไรน์ฮาร์ดตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก จนถึงช่วงที่เขาและเคียร์ชไอส์เข้ารับราชการทหารใหม่ๆ
Overture to a New War (1993)
[แก้]Legend of the Galactic Heroes: Overture to a New War (銀河英雄伝説外伝 新たなる戦いの序曲) เป็นอนิเมะฉบับที่สี่ของวรรณกรรมนี้ วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 1993 เนื้อเรื่องกล่าวถึงช่วงเวลาสามเดือนก่อนถึงยุทธการอัสทาร์ท ซึ่งไรน์ฮาร์ดพึ่งได้รับยศเป็นพลเอกอาวุโส และเป็นช่วงที่ฌ็อง รอแบร์ แลปป์ บอกหยางว่าเขากำลังจะขอหมั้นกับเจสสิก้า
Gaiden (1998–2000)
[แก้]Legend of the Galactic Heroes Gaiden (銀河英雄伝説 外伝) ภาคปรินิพนธ์ เป็นอนิเมะฉบับที่ห้าของวรรณกรรมนี้ แบ่งออกเป็นซีรีส์สองชุด ชุดแรกมี 24 ตอน และชุดที่สองมี 28 ตอน เป็นภาคที่รวมเอาเนื้อเรื่องสั้นส่วนปลีกย่อยในหลายช่วงเวลาเอาไว้ อาทิ ช่วงที่ไรน์ฮาร์ดและเคียร์ชไอส์ไต่ยศในกองทัพจักรวรรดิ, ยุทธการติอามัตครั้งที่สาม, อดีตของกรมทหารโรเซินริทเทอร์, วีรกรรมของหยางในยุทธการเอลฟาซีล เป็นต้น
อนิเมะฉบับ นวนิพนธ์
[แก้]Legend of the Galactic Heroes: Die Neue These (銀河英雄伝説 DIE NEUE THESE) ภาคนวนิพนธ์ เริ่มทำการผลิตโดย Production I.G ในปีค.ศ. 2017 กำกับโดยชุนซูเกะ ทาดะ และตรวจทานบทโดยโนโบรุ ทากางิ ปัจจุบันมีทั้งสิ้นสี่ซีซั่น ซีซั่นละสิบสองตอน ซีซั่นแรกออกอากาศทางโทรทัศน์เมื่อเดือนเมษายน 2018 ซีซั่นสองถูกทำเป็นภาพยนตร์ฉายโรงในปี 2019 ซีซั่นสามและสี่ถูกทำเป็นภาพยนตร์ฉายโรงในปี 2022
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 25 อันดับ LIGHT NOVEL ขายดีที่สุดตลอดกาล 13 สิงหาคม 2018
- ↑ Ginga Eiyuu Densetsu myanimelist.net
- ↑ Anime List anidb.net
- ↑ Best space opera anime anime-planet.com
- ↑ Top 10 Space Opera Anime [Best Recommendations] honeysanime.com
- ↑ Six of the Best 1980s Anime Space Operas Anime News Network
- ↑ Myanimelist.net Top 13 Best Military/War Anime of All Time 7 September 2016
- ↑ Adam Beach. Anime's 10 Best War Stories 15 June 2021.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี เล่ม 1. โยชิกิ ทานากะ
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- LOGH Wiki – สารานุกรมอย่างไม่เป็นทางการ (ไทย)
- LOGH Thailand – บล็อกอย่างไม่เป็นทางการ (ไทย)
- Ginga Eiyuu Densetsu Official Website – Official site of anime version (ญี่ปุ่น)
- Gineipaedia – Unofficial fan LOGH encyclopedia
- Nekomatagi Club เก็บถาวร 2016-06-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน – Official site of Katsumi Michihara, author of manga version (ญี่ปุ่น)[ลิงก์เสีย]
- ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี (อนิเมะ) ที่เครือข่ายข่าวอนิเมะ
- การ์ตูนญี่ปุ่น
- อนิเมะโอเอ็นเอ
- 1998 anime OVAs
- บทความที่มีลิงก์เสียตั้งแต่May 2018
- ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี
- บันเทิงคดีแนวอวกาศ
- อนิเมะที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2561
- ภาพยนตร์อนิเมะที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2536
- ภาพยนตร์อนิเมะที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2535
- ภาพยนตร์อนิเมะที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2562
- การก่อการร้ายในบันเทิงคดี
- การทหารในอนิเมะและมังงะ
- คู่แข่งสมมุติ