ชวลิต วิชยสุทธิ์
ชวลิต วิชยสุทธิ์ | |
---|---|
ชวลิต ใน พ.ศ. 2562 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 17 มีนาคม พ.ศ. 2495 |
ศาสนา | พุทธ |
พรรคการเมือง | ความหวังใหม่ ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ไทยสร้างไทย |
คู่สมรส | วชิราพร วิชยสุทธิ์ |
ชวลิต วิชยสุทธิ์ เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม 5 สมัย ได้รับเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 สังกัดพรรคความหวังใหม่
ประวัติ
[แก้]ชวลิต วิชยสุทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2495 สมรสกับนางวชิราพร วิชยสุทธิ์ มีบุตร 2 คน
ชวลิต วิชยสุทธิ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และระดับปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผ่านการศึกษาอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรโรงเรียนนายอำเภอ และหลักสูตรนักปกครองระดับสูง จากวิทยาลัยการปกครอง นอกจากนั้นได้รับปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
การทำงาน
[แก้]ชวลิต วิชยสุทธิ์ เคยรับราชการในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอท่าอุเทน อำเภอเมืองนครพนม อำเภอเมืองยโสธร[1] ต่อมาหันมาลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 พื้นที่จังหวัดนครพนม สังกัดพรรคความหวังใหม่ เคยเป็นคณะทำงานของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 จึงย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย
กระทั่งในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 นายชวลิต ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบสัดส่วน สังกัดพรรคพลังประชาชน และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 เขาลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 67 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[2] แทนนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งลาออกหลังจากได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายหลายปีติดต่อกัน และเคยเป็นประธานอนุกรรมาธิการพิจารณางบจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 2 ปีติดต่อกันด้วย (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2557)
ในปี 2562 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เขตเลือกตั้งที่ 4 และได้รับเลือกตั้งอีกสมัย ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญถึง 2 คณะในสภาผู้แทนราษฎร คือ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....[3]
งานสังคม
[แก้]นายชวลิต เคยเป็นกรรมการอำนวยการในโครงการเสนอองค์พระธาตุพนมเป็นมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโก เคยเป็นกรรมการในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนครพนม เป็นสมาชิกในกลุ่มริเริ่มโครงการแลนด์มาร์ค "พญาศรีสัตตนาคราช" ณ บริเวณเขื่อนริมแม่น้ำโขง ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม
นายชวลิต เป็นผู้ริเริ่มโครงการหมู่บ้านมิตรภาพไทย-เวียดนาม และพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ ณ บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม จนนำไปสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนาม ที่จังหวัดนครพนม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นผลงานสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ และนำไปสู่การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ ที่ชาวเวียดนามและนักท่องเที่ยวทั่วไปมาเยี่ยมชมสถานที่ที่ครั้งหนึ่งประธานโฮจิมินห์ได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารประเทศไทย เพื่อกอบกู้ชาติจากนักล่าอาณานิคมในยุคนั้น
นายชวลิต เป็นผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ปลาน้ำจืดลุ่มน้ำโขง(Aquarium) เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ปลาน้ำจืดในแม่น้ำโขง จัดแสดงอยู่ ณ ริมอ่างเก็บน้ำหนองญาติ บริเวณใกล้เคียงกับหอเฉลิมพระเกียรติพระราชวงศ์จักรี ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดนครพนม
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2554 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[4]
- พ.ศ. 2551 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[5]
- พ.ศ. 2531 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2 (ส.ช.)[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ‘ชวลิต’ อดีต ส.ส.ดาวสภา ยัน จาก ‘ปาร์ตี้ลิสต์’ ลง ‘เขต’ ไม่ใช่เรื่องแปลก มั่นใจ พื้นที่ เขต 4 เพื่อไทยยังแน่น
- ↑ ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง ราชกิจจานุเบกษา
- ↑ ‘ชวลิต’ ลั่นไม่ขายตัวย้ายซบฝั่งตรงข้าม ยันอยู่ 'เพื่อไทย' จนสภาฯ ครบวาระ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2012-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๒, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2009-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๙, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๑๙๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑๓, ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๑
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ประวัติสมาชิกพรรคเพื่อไทย เก็บถาวร 2013-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2495
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลจากจังหวัดนครพนม
- ข้าราชการพลเรือนชาวไทย
- นักการเมืองไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยแบบบัญชีรายชื่อ
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยแบบสัดส่วน
- พรรคความหวังใหม่
- นักการเมืองพรรคไทยรักไทย
- พรรคพลังประชาชน (พ.ศ. 2541)
- นักการเมืองพรรคเพื่อไทย
- พรรคไทยสร้างไทย
- บุคคลจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- บุคคลจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.