ข้ามไปเนื้อหา

คางทูม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คางทูม
(Mumps)
ชื่ออื่นEpidemic parotitis
เด็กป่วยคางทูม
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ
อาการไข้, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดศีรษะ, อ่อนเพลีย, ต่อมน้ำลายพาโรทิดอักเสบ[1]
ภาวะแทรกซ้อนเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ตับอ่อนอักเสบ, สูญเสียการได้ยิน, เป็นหมัน (เพศชาย)[1]
การตั้งต้น~17 วันหลังได้รับเชื้อ[1][2]
ระยะดำเนินโรค7–10 วัน[1][2]
สาเหตุไวรัสโรคคางทูม[2]
วิธีวินิจฉัยการเพาะเชื้อไวรัส, การตรวจแอนติบอดีในเลือด[2]
การป้องกันวัคซีนโรคคางทูม[1]
การรักษาการรักษาประคับประคอง[3]
ยายาแก้ปวด, การรักษาด้วยอิมมูโนกลอบูลิน[4]
พยากรณ์โรคอัตราเสียชีวิตประมาณ 1 ใน 10,000[1]
ความชุกพบได้บ่อยกว่าในประเทศกำลังพัฒนา[5]

คางทูม (อังกฤษ: mumps) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสคางทูม[2] อาการแรกเริ่มของผู้ป่วยได้แก่มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และรู้สึกอ่อนเพลีย[1][6] จากนั้นจึงมีต่อมน้ำลายพาโรทิดบวมโตและเจ็บ อาจโตข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง[4][6] อาการเหล่านี้มักเริ่มเป็นหลังจากได้รับเชื้อมาแล้ว 16-18 วัน[1][2] และเมื่อเป็นแล้วมักหายได้เองในเวลา 7-10 วัน[1][2] ผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่มักมีอาการรุนแรงกว่าผู้ป่วยวัยเด็ก[1] คนที่รับเชื้อนี้ประมาณหนึ่งในสามจะมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลย[1] ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (15%) ตับอ่อนอักเสบ (4%) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สูญเสียการได้ยิน และอัณฑะอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เป็นหมันได้ แต่พบได้น้อย[1][6] ผู้ป่วยเพศหญิงอาจมีการอักเสบของรังไข่ แต่จะไม่ทำให้เป็นหมัน[4]

คางทูมเป็นโรคติดต่อที่ติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วในกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิด[7] โดยจะติดต่อผ่านทางฝอยละอองจากสารคัดหลั่งทางเดินหายใจหรือการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย[2] โรคนี้ติดต่อได้กับมนุษย์เท่านั้น[1] ผู้ป่วยที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ 7 วันก่อน และ 8 วันหลังเริ่มมีอาการต่อมน้ำลายบวม[8] คนที่หายจากโรคนี้แล้วมักมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต[1] การติดเชื้อซ้ำนั้นพบได้บ้างแต่ผู้ป่วยก็มักจะมีอาการเพียงเล็กน้อย[9] การวินิจฉัยส่วนใหญ่อาศัยจากการตรวจพบต่อมน้ำลายพาโรทิดบวม การตรวจยืนยันทำได้โดยการตรวจหาเชื้อไวรัสจากการป้ายสารคัดหลั่งจากรูเปิดของต่อมน้ำลายพาโรทิด[2] การตรวจหาสารแอนติบอดีชนิดไอจีเอ็มในเลือดเป็นการตรวจที่ทำได้ง่ายกว่าแต่อาจให้ผลลบลวงได้โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นคนที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน[2]

การป้องกันทำได้โดยรับวัคซีนโรคคางทูมรวมสองครั้ง[1] ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีวัคซีนนี้ให้บริการเป็นวัคซีนมาตรฐานในโครงการระดับชาติ ส่วนใหญ่จะให้ร่วมกันกับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน และวัคซีนโรคหัด เป็นวัคซีนรวมสามโรค และอาจให้ร่วมกันกับวัคซีนโรคอีสุกอีใสอีก เป็นวัคซีนรวมสี่โรค[1] ประเทศที่มีอัตราการรับวัคซีนต่ำอาจมีรายงานผู้ป่วยในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มนี้หากเป็นโรคแล้วอาจมีผลการรักษาที่ออกมาไม่ดีได้[4] โรคนี้ยังไม่มีการรักษาจำเพาะ[1] การรักษาหลัก ๆ คือการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ใช้ยาแก้ปวดลดไข้เช่นพาราเซตามอล[4] ในบางรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอาจได้ประโยชน์จากการรักษาด้วยอิมมูโนกลอบูลิน[4] รายที่มีภาวะแทรกซ้อนเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือตับอ่อนอักเสบอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน[7][9] อัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 10,000 ของผู้ป่วย[1]

ในแต่ละปีหากไม่มีการให้วัคซีนจะมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 0.1-1% ของประชากร[1] ก่อนที่จะมีการใช้วัคซีนอย่างกว้างขวางโรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในผู้ป่วยเด็กทั่วโลก[1] การให้วัคซีนอย่างทั่วถึงทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคนี้ลดลงกว่า 90%[1] โรคคางทูมพบได้บ่อยกว่าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอัตราการรับวัคซีนยังต่ำอยู่[5] อย่างไรก็ดียังมีการระบาดเป็นครั้ง ๆ แม้ในกลุ่มประชากรที่รับวัคซีนแล้ว[4] ซึ่งจะมีการระบาดขนาดใหญ่เกิดขึ้นประมาณทุก ๆ 2-5 ปี[1] โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอายุ 5-9 ปี[1] หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่เคยได้รับวัคซีนแล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นคนอายุ 20 ปีต้น ๆ[4] ในประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรจะพบโรคนี้ได้ตลอดปี ส่วนประเทศนอกเขตนี้มักพบได้ในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ[1] มีการกล่าวถึงอาการต่อมน้ำลายพาโรทิดและอัณฑะบวมเจ็บไว้ตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสตกาล โดยแพทย์กรีกชื่อฮิปโปเครตีส[2][10]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

มนุษย์รู้จักโรคคางทูมมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีการกล่าวถึงโรคนี้อยู่ในหนังสือ Of the Epidemic (ว่าด้วยโรคระบาด) เขียนโดยแพทย์กรีกฮิปโปเครตีสตั้งแต่เมื่อ 400 ปีก่อนคริสตกาล โดยได้กล่าวถึงโรคที่ทำให้มีการบวมและเจ็บที่ต่อมน้ำลายพาโรทิดและอัณฑะเอาไว้[2][11] การบรรยายถึงโรคนี้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายคริสตทศวรรษ 1790 โดยรอเบิร์ต แฮมิลตัน แพทย์ชาวอังกฤษ (1721-1793) ได้เขียนไว้ใน Transaction of the Royal Society of Edinburgh[11][12] นอกจากนี้ยังเป็นโรคที่มีบทบาทสำคัญมากโรคหนึ่งในกองทัพที่ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง[11] ในช่วงหนึ่งความพยายามที่จะพิสูจน์ว่าโรคคางทูมเป็นโรคติดต่อต้องพบกับความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง จนถึง ค.ศ. 1934 เมื่อ คล็อด ดี. จอห์นสัน และเออร์เนสต์ วิลเลียม กูดปาสเจอร์ สามารถพิสูจน์ได้ว่าโรคคางทูมเป็นโรคติดต่อ โดยมีเชื้อก่อโรคเป็นเชื้อไวรัสที่สามารถกรองออกมาได้[11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 "Mumps virus vaccines" (PDF). Weekly Epidemiological Record. 82 (7): 49–60. 16 กุมภาพันธ์ 2007. PMID 17304707. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 16 มีนาคม 2015.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 Atkinson, William (พฤษภาคม 2012). Mumps Epidemiology and Prevention of Vaccine-Preventable Diseases (12th ed.). Public Health Foundation. pp. Chapter 14. ISBN 978-0-9832631-3-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2016.
  3. Davis NF, McGuire BB, Mahon JA, Smyth AE, O'Malley KJ, Fitzpatrick JM (April 2010). "The increasing incidence of mumps orchitis: a comprehensive review". BJU International. 105 (8): 1060–5. doi:10.1111/j.1464-410X.2009.09148.x. PMID 20070300.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 Hviid A, Rubin S, Mühlemann K (March 2008). "Mumps". The Lancet. 371 (9616): 932–44. doi:10.1016/S0140-6736(08)60419-5. PMID 18342688.
  5. 5.0 5.1 Junghanss, Thomas (2013). Manson's tropical diseases (23rd ed.). Oxford: Elsevier/Saunders. p. 261. ISBN 978-0-7020-5306-1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 พฤษภาคม 2016.
  6. 6.0 6.1 6.2 Bailey's head and neck surgery—otolaryngology. Johnson, Jonas T., Rosen, Clark A., Bailey, Byron J., 1934- (5th ed.). Philadelphia: Wolters Kluwer Health /Lippincott Williams & Wilkins. 2013. ISBN 9781609136024. OCLC 863599053.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  7. 7.0 7.1 Gupta, RK; Best, J; MacMahon, E (14 May 2005). "Mumps and the UK epidemic 2005". BMJ (Clinical Research Ed.). 330 (7500): 1132–5. doi:10.1136/bmj.330.7500.1132. PMC 557899. PMID 15891229.
  8. Kutty PK, Kyaw MH, Dayan GH, Brady MT, Bocchini JA, Reef SE, Bellini WJ, Seward JF (15 June 2010). "Guidance for isolation precautions for mumps in the United States: a review of the scientific basis for policy change". Clinical Infectious Diseases. 50 (12): 1619–28. doi:10.1086/652770. PMID 20455692.
  9. 9.0 9.1 Sen2008 SN (2008). "Mumps: a resurgent disease with protean manifestations". Med J Aust. 189 (8): 456–9. PMID 18928441. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 ธันวาคม 2014.
  10. Hippocrates. "Of the Epidemics". Wikisource.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 Samal, Siba K. (2011). The Biology of Paramyxoviruses. Horizon Scientific Press. p. 5. ISBN 978-1-904455-85-1. สืบค้นเมื่อ 18 March 2019.
  12. "Mumps". World of Microbiology and Immunology, in Encyclopedia.com. 1 March 2019. สืบค้นเมื่อ 18 March 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก