หูดข้าวสุก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Molluscum contagiosum)
หูดข้าวสุก
(Molluscum contagiosum)
รอยโรครูปร่างเป็นตุ่มนูนโค้ง สีสด คล้ายไข่มุก
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10B08.1
ICD-9078.0
DiseasesDB8337
MedlinePlus000826
eMedicinederm/270

หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) คือโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Molluscum contagiosum virus (MCV) ทำให้เกิดเป็นตุ่มนูนบนผิวหนัง ขนาดประมาณ 2-5 มิลลิเมตร จะพบมากขึ้นในรายที่มีการติดเชื้อ HIV

สาเหตุ[แก้]

เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ Molluscum contagiosum virus (MCV) ซึ่งเป็นเชื้อในตระกูล poxvirus จำแนกอยู่ในจีนัส Molluscipoxvirus

อาการและอาการแสดง[แก้]

หูดข้าวสุกมีลักษณะเป็นตุ่มนูนบนผิวหนัง ขนาดประมาณ 2-5 มิลลิเมตร มีลักษณะเฉพาะตัวคือมีรอยบุ๋มตรงกลาง มีการอักเสบและการตายของเนื้อเยื่อที่เป็นโรคน้อย เมื่อเทียบกับโรคที่เกิดจาก poxvirus ชนิดอื่น ๆ ลักษณะการกระจายของตุ่มมีทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม พบได้ทั่วร่างกาย ยกเว้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า

การดำเนินโรค[แก้]

หูดข้าวสุกติดต่อได้โดยการสัมผัสและทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้โดยการใช้สระว่ายน้ำร่วมกัน หากมีโรคภูมิแพ้ของผิวหนังอยู่ก่อนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้น

ระยะฟักตัวของโรคใช้เวลา 2 สัปดาห์ถึง 6 เดือน (เฉลี่ยอยู่ที่ 2-7 สัปดาห์) ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติโรคนี้สามารถหายได้เอง ภายในเวลา 3-4 เดือนโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่รอยโรคที่ผิวหนังอาจจะคงอยู่ได้นาน 3-5 ปี

หูดข้าวสุกจะพบมากขึ้นในรายที่มีการติดเชื้อ HIV ในระยะที่ภูมิคุ้มกันเริ่มต่ำ พบได้ 5-18% ในผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งมักจะเป็นทั่วทั้งตัวและคงอยู่นานในรายที่อยู่ในระยะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS) แล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าโรคหูดข้าวสุกมีความสัมพันธ์กับภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแบบอื่น ๆ ด้วย

การวินิจฉัยโรค[แก้]

โดยทั่วไปวินิจฉัยจากอาการและอาการแสดงข้างต้น สามารถวินิจฉัยยืนยันได้จากการตรวจทางพยาธิวิทยาซึ่งจะพบ Cytoplasmic eosinophilic inclusions หรือที่เรียกว่า molluscum bodies ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่บ่งบอกถึงการแบ่งตัวของ poxvirus

การรักษา[แก้]

ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับโรคนี้ แต่สามารถรักษาด้วยการทำลายที่รอยโรคโดยตรงได้ ในผู้ติดเชื้อ HIV หากได้รับการรักษาด้วย Highly Active AntiRetroviral Therapy (HAART) อย่างมีประสิทธิภาพ หูดข้าวสุกก็สามารถหายได้เองเหมือนในรายที่มีภูมิคุ้มกันปกติ

มีบางกรณีศึกษา พบว่าการให้ Cidofovir ในรูปยาทาหรือยาฉีดมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคในรายที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง